ขนบธรรมเนียมประเพณีชาวภูเก็ต
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
เสาร์, 09 กุมภาพันธ์ 2008

๓.๒.๖ ขนบธรรมเนียมประเพณี


๓.๒.๖(๑)การแต่งกาย

 เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ จึงเป็นสิ่งจูงใจให้คนในภูมิภาคต่าง ๆ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนนี้เป็นจำนวนมาก แต่ละพวกแต่ละกลุ่มต่างมีขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นของตนเอง ฉะนั้นจังหวัดภูเก็ตจึงจัดเป็นพหุสังคม มีวัฒนธรรมผสมผสานในหลายรูปแบบ แต่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ไม่มีปัญหาระหว่างกลุ่มชน ทุกคนต่างก็ร่วมแรงร่วมใจในการพัฒนาภูเก็ตให้เจริญก้าวหน้า และพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนี้


อันเนื่องมาจากความหลากหลายของกลุ่มชนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดภูเก็ต ทำให้วัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตของคนในสังคมมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะพื้นฐานดั้งเดิมของชนกลุ่มนั้น เช่น กลุ่มชนชาวจีนที่อาศัยบริเวณถนนถลาง บางเหนียว และที่อำเภอกะทู้ กลุ่มชาวจีนบริเวณนี้จะมีวิถีชีวิตแบบคนจีน มีภาษาพูด มีประเพณีและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาวจีนโดยเฉพาะ กลุ่มคนไทย กลุ่มคนไทยในจังหวัดภูเก็ตมองดูโดยผิวเผินแล้วเห็นว่ามีจำนวนน้อยกว่ากลุ่มคนจีน แต่แท้จริงแล้วกลุ่มคนไทยได้กระจายออกไปตามท้องที่ต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ตปะปนอยู่ในหมู่คนจีนบ้างและที่อยู่เป็นกลุ่มเป็นพวก เช่น คนไทยที่บ้านตะเคียน บ้านดอน สาคู และบ้านเหรียงเป็นต้น 


ชาวไทยมุสลิมที่อาศัยบริเวณอ่าวมะขาม เชิงทะเล กมลา ฯลฯ ตลอดจนชาวเลบริเวณราไวย์ และเกาะสิเหร่ ฉะนั้นการศึกษาถึงลักษณะการแต่งกายของชาวภูเก็ตจะเป็นไปในรูปแบบใดที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนเพียงอย่างเดียวนั้นคงจะเป็นการยากที่จะเจาะจงลงไป หากจะกำหนดการแต่งกายของชาวภูเก็ตก็จะต้องนำเอาการแต่งกายของกลุ่มคนชาวภูเก็ตก็จะต้องนำเอาการแต่งกายของกลุ่มคนชาวภูเก็ตมาประยุกต์เป็นแบบใหม่ที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน


 ความเป็นมาของการแต่งกายของชาวภูเก็ต ซึ่งจำแนกตามกลุ่มคนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานได้ดังนี้
 ๑. กลุ่มชาวจีน ชาวจีนในจังหวัดภูเก็ตกลุ่มแรกนั้นเป็นจีนโพ้นทะเลซึ่งอพยพมาจากประเทศจีนทางตอนใต้ เนื่องจากความแห้งแล้งจากภัยธรรมชาติ และสงครามกลางเมืองในจีน (ราวปลายศตวรรษที่ ๑๘ ต้นศตวรรษที่ ๑๙) ชาวจีนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่ออกมาแสวงโชค ชาวจีนที่เข้ามาทางภาคใต้ฝั่งตะวันตก เป็นกลุ่มชาวจีนฮกเกี้ยนจากเมืองเอ้หมึงมาตั้งถิ่นฐานบริเวณภูเก็ต ตรัง ระนอง เข้ามาในฐานะกุลีรับจ้างทั่วไป ส่วนใหญ่จะเป็นกุลีเหมือง บ้างก็ประกอบอาชีพประมง การแต่งกายในยุคนี้ก็เป็นการแต่งกายของชาวจีนเหมืองทั่วไป


----------------------------------------------------
 (ภาพจีนเหมืองใส่กางเกงขาก๊วย เสื้อผ่าหน้า
ผูกเชือกคล้ายเสื้อม่อฮ่อม สีเทา)
-----------------------------------------------------


เนื่องจากชาวจีนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้นำครอบครัวมาด้วย เมื่อมีที่อยู่ที่มั่นคงขึ้น ส่วนหนึ่งจึงสมรสกับผู้หญิงไทยในภูเก็ต บ้างก็เดินทางไปรับครอบครัวมาจากเมืองจีนมาตั้งถิ่นฐานถาวรในภูเก็ต ผู้หญิงในระยะนี้จะแต่งกายเหมือนผู้หญิงจีนมาก คือ นุ่งกางเกงแพรสีดา เสื้อคอจีนป้ายข้าง กระดุมขัดทำด้วยผ้า (กระดุมป้อหลิว) สวมกำไลหยก มีบางคนที่เคร่งครัดต่อประเพณีจีนมากก็จะผูกเท้าให้เล็ก ชาวภูเก็ตจะเรียกว่า “ตีนตุก” เจ้าสาวยังคลุมหน้าแบบจีนโบราณ แต่ถ้าเป็นหญิงสาวชาวภูเก็ตที่แต่งงานกับชาวจีนไม่นิยมผูกเท้า


---------------------------
 (ภาพผู้หญิงจีนแต่งกายด้วยกางเกงแพรจีน สวมกำไลหยก ไว้มวย รองเท้าเล็ก ๆ ผูกเท้า)
---------------------------
 (ภาพเจ้าสาวคลุมหน้า) 
---------------------------


ชาวจีนเหล่านี้ต่อมาส่วนหนึ่งได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นเป็นนายเหมือง (หลังจากเจ้าเมืองหมดอำนาจในการผูกขาดแร่ดีบุก) บ้างก็ประกอบอาชีพค้าขาย ติดต่อค้าขายกับปีนัง สิงคโปร์ ในช่วงนี้เป็นระยะเวลาที่ชาวจีนปีนังอพยพเข้ามาในภูเก็ตมากขึ้น   ตามนโยบายของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ สมุหเทศาภิบาลมณฑล(ระหว่างพ.ศ....... ถึง....... )ธุรกิจเหมืองแร่เฟื่องฟู ชาวจีนเข้ามามีบทบาทในการทำเหมือง ฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคงขึ้นตามลำดับ ทำให้ชาวจีนในภูเก็ตมีอิทธิพลมากขึ้น ประกอบกับทางราชการได้แต่งตั้งให้ชาวจีนเหล่านี้มีบทบาทางการเมือง นอกจากนี้ ชาวจีนยังเป็นผู้มีความเป็นชาตินิยมสูง จึงปลูกฝังให้ลูกหลานของตนสืบทอดวัฒนธรรมและประพณีจีนไว้อย่างเหนียวแน่นทั้งภาษาพูด การแต่งกาย และขนบประเพณี แม้กระทั่งการเรียนหนังสือลูกหลานชาวจีนเหล่านี้ก็จะต้องเข้าโรงเรียนที่สอนภาษาจีน คือ โรงเรียนฮั่วบุ่น  ซึ่งเป็นโรงเรียนจีนแห่งแรกในประเทศไทย

ลักษณะการแต่งกายของชาวภูเก็ต


 การแต่งกายของชาย


 ๑. แบบจีน ชนิดที่มีเสื้อคลุมแพรจีนสีดำ ยาวทับกางเกงขายาว สวมหมวกสีดำ คล้ายเจ้าพ่อในหนังจีน
 ๒. แบบประยุกต์ที่ค่อนมาทางยุโรป คือ เสื้อคอตั้ง กระดุมห้าเม็ด สวมหมวกกะโล่ ถือไม้เท้า เป็นลักษณะการแต่งกายของนายเหมืองทั่วไป ถ้าเป็นการแต่งกายลำลองหรืออยู่กับบ้าน ส่วนใหญ่เป็นกางเกงขายาว เสื้อยืดตอกลม ทรงผมเป็นแบบรองทรง(สีกั๊กท่าว) ไม่ไว้หางเปีย
 ๓. ชุดสากล ผูกเนคไท เป็นชุดใหญ่ที่ออกงานโดยทั่วไป
ชุดชายเมื่อสวมใส่อยู่ภายในบ้าน มักสวมกางเกงขายาวหรือสั้น สวมเสื้อเชิ้ต


---------------------------------------
 (ภาพการแต่งกายของผู้ชายชาวภูเก็ต)
---------------------------------------
การแต่งกายของผู้หญิง
---------------------------------------


 ต่อมา ผู้หญิงได้รับอิทธิพลการแต่งกายจากชาวจีนที่ปีนัง คือ นุ่งผ้าปาเต๊ะ สวมเสื้อคลุมยาวเกือบเท่าชายผ้าโสร่ง เป็นเสื้อคอตั้ง ตัดด้วยผ้าป่านรูเบีย ฉลุลาย หรือผ้าต่วนแพรนิ่ม ๆ คอตั้ง เรียกว่า ชุดเสื้อครุย ชุดครุยนี้ประกอบด้วย ๓ ส่วน คือ
 ๑. เสื้อตัวในจะเป็นเสื้อคอตั้ง แขนยาว ปลายแขนจีบ ติดกระดุมปลายแขน ตัวเสื้อมีกระดุม ๕ เม็ด ทำด้วยทอง เรียกว่า กระดุมกิมตู้น
 ๒. โสร่งปาเต๊ะ
 ๓. เสื้อครุยยาวคลุมทับไม่มีกระดุม ผู้หญิงจากครอบครัวชาวจีนนิยมชุดเสื้อครุยที่ตัดด้วยผ้าแพรจีน ใช้เป็นชุดเจ้าสาว ใช้เข็มกลัดเพชรซีกที่เรียกว่ากอสัง กลัดเสื้อคลุมตั้งแต่คอลงมาจนถึงหน้าอก เมื่อสวมชุดนี้ผู้สวมจะต้องเกล้าผมมวย เรียกว่าเกล้ามวยชักอีโบย ชุดนี้จะแต่งเฉพาะงานสำคัญ ๆ เท่านั้น เช่น พิธีแต่งงาน ถ้าเป็นชุดธรรมดา ก็ถอดเสื้อคลุมออกจะเหลือเสื้อตัวใน คือเสื้อคอตั้ง  แขนจีบ ใช้เป็นชุดออกนอกบ้านได้  ผู้หญิงนิยมสวมกำไลข้อเท้า


--------------------------
 (ภาพชุดครุยท่อน)
--------------------------


 อีกชุดหนึ่งคือ ชุดครุยท่อน หรือ ปอตึงเต้ เสื้อหลวม ๆ ผ่าหน้า (ลักษณะคล้ายเสื้อครุย เพียงตัดสั้นขึ้นแค่สะโพก) ค่อนข้างหลวม ด้านหน้าไม่มีกระดุม  ลักษณะคล้ายสามเหลี่ยม ฉลุลายตั้งแต่ส่วนคอ สาบเสื้อมาจนถึงเอว ใช้เข็มกลัดชุด ๆ ละ ๓ ชิ้น โยงกันด้วยสายทองเล็ก ๆ ผ้านุ่งยังคงเป็นโสร่งปาเต๊ะ สวมรองเท้าแตะ ปักดิ้น หรือลูกปัด สวมกำไลข้อเท้า บางคนเรียกว่าเสื้อทรงยอหย้าก็ได้


------------------------
ชุดเซี่ยงไฮ้ หรือค้อซู้
 สำหรับเด็กผู้หญิง จนกระทั่งถึงวัยรุ่น ยังนิยมนุ่งกางเกงชุดเซี่ยงไฮ้ และตึ้งเพ่า (ชุดยาว) เต่พ่าว (ชุดสั้น)  เด็กผู้ชายเล็ก ๆ จะไม่นิยมสวมเสื้อผ้ามากนักในตอนกลางวัน นิยมใช้ผ้าคาดอกเป็นรูปสามเหลี่ยมเพียง ๑ ชั้น เรียกว่า “ต้อ” และสวมลูกไข่ทอง (สร้อยกระพรวนทองคาดเอวเด็กผู้ชาย)
------------------------
 (ชุดตึ้งเผ่า)
------------------------


๒. พวกบาบ๋า (BABA)  หมายถึงลูกผสมที่เกิดจากพ่อเป็นชาวจีนกับแม่ที่เป็นชาวพื้นเมือง การเรียกลูกผสมจีนกับคนพื้นเมืองนั้นในมาเลเซียก็ใช้เรียกว่า BABA เช่นเดียวกัน ซึ่งชาวภูเก็ตคงจะได้รับอิทธิพลจากมาเลเซีย แต่มีส่วนที่แตกต่างคือชาวมาเลเซียจะเรียกลูกผสมผู้หญิงว่า ยอนย่า (Nyonya) ส่วนลูกผสมผู้ชายเรียกว่า บ้าบ๋า (Baba) สำหรับชาวภูเก็ตจะเรียกรวมทั้งหญิงและชายที่เกิดจากพ่อจีนแม่ไทยว่า บ้าบ๋าทั้งหมด  สำหรับชื่อยอนย่านั้น ชาวภูเก็ตใช้เรียกชื่อเสื้อชนิดหนึ่ง ผ่าหน้า ไม่มีกระดุม ใช้เข็มกลัดชุดแทนกระดุม ฉลุลวดลายสวยงาม ชายเสื้อด้านหน้าย้วยเป็นรูปเรียวแหลมคล้ายสามเหลี่ยมเรียกว่าเสื้อยอนย่า หรือเสื้อยะหยา ซึ่งชาวปีนัง นิยมสวมใส่
ชุดแต่งงาน


 ผู้หญิงนิยมใช้ชุดขาวแขนยาว  คลุมผมด้วยผ้าบาง  ที่เรียกว่าชุดบุ่นเบ๋ง

ลักษณะการแต่งกายของพวกบาบ๋า (Baba) ในปัจจุบัน
 หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา การแต่งกายแบบดั้งเดิมหมดไป ความเชื่อและค่านิยมเก่า ๆ เริ่มหมดไปจากสังคมชาวภูเก็ต ดังจะเห็นจากวัฒนธรรมการตั้งชื่อ ภาษาพูดของชาวภูเก็ตที่มีเชื้อสายจีน (Baba)ซึ่งจะต้องมีชื่อจีนทุกคน และใช้ชื่อนี้ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เช่น เมื่อมีลูกผู้หญิงจะนิยมตั้งชื่อว่า บี้โง้ย บี้ห้าย สอจิ้น สอหงีม สอฉิ้ว ลูกผู้ชายก็จะชื่อ เช่งโป้ ฮวดหลาย เฉ่งบ่าน ฮกฮวด ฯลฯ และนามสกุลก็จะเป็นแซ่ ปัจจุบันยังคงความเป็นจีนบ้างโดยใช้ชื่อจีนที่บ้าน  ที่โรงเรียนจะใช้ชื่อไทยและนามสกุลแบบไทยมากขึ้น จนปัจจุบันจะหาคนชื่อจีน นามสกุลจีน ยากมากในสังคมภูเก็ต ยกเว้นชาวภูเก็ตที่มีอายุประมาณ ๕๐ ปีขึ้นไปอาจจะยังเรียกชื่อจีนอยู่บ้าง ทั้งนี้เนื่องจากขบวนการชาตินิยมสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ลูกต่างด้าวเสียสิทธิในการประกอบอาชีพและผลประโยชน์ต่าง ๆ ทำให้ทุกคนต้องเปลี่ยนมาเป็นไทยทั้งชื่อและนามสกุล นอกจากบางคนยังคงสกุลเดิมไว้บ้าง เช่น ลิ่มสกุล เอี๋ยวพานทอง เป็นต้น เพื่อจะได้ทราบแซ่เดิมของตน  นอกจากนี้บางคนก็มีการโอนสัญชาติมาเป็นไทย เพื่อจะได้สิทธิต่าง ๆ เท่าเทียมกับคนไทย การแต่งกายก็เป็นแบบสากลไปทั้งหมด อิทธิพลวัฒนธรรมจากภาคกลางเข้ามาแทนที่วัฒนธรรมจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ค่านิยมการส่งลูกไปเรียนปีนังหมดไป  คนภูเก็ตส่งลูกไปเรียนกรุงเทพ ฯ เกือบทุกบ้าน นิยมให้ลูกหญิง ลูกชาย ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน เป็นการเปลี่ยนแปลงค่านิยมของบรรพบุรุษชาวจีนที่ว่าผู้หญิงเรียนไปก็ไม่มีประโยชน์


--------------------------------------
ภาพลักษณะการแต่งกายของชาวภูเก็ต
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒
--------------------------------------


๓. กลุ่มคนไทยในจังหวัดภูเก็ต  กลุ่มคนไทยจัดว่าเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมกลุ่มหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต เมื่อคนจีนเป็นจำนวนมากได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านทุ่งคา และที่อำเภอกะทู้  กลุ่มคนไทยก็ปะปนอยู่ในกลุ่มคนจีนเหล่านั้น แต่ไม่ค่อยมีบทบาทในสังคมมากนักเพราะคนจีนส่วนใหญ่มีฐานะดี สามารถรวมตัวเป็นกลุ่มเป็นก้อนมากกว่าและมีวัฒนธรรมที่แข็งกว่า บทบาทของคนไทยในภูเก็ตจึงมีน้อย ฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงการแต่งกายในภูเก็ตทุกคนจึงมองภาพเฉพาะชุดของชาวจีนเท่านั้น
 คนไทยส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่นอกเมืองออกไป ซึ่งคนจีนมักจะเรียกว่าคนซั่วเต้ง หมายถึงคนชนบท เช่น แถบอำเภอถลาง ยกเว้นบางกลุ่มที่มีไทยมุสลิมปะปนอยู่บางส่วน บริเวณบ้านฉลอง ซึ่งมีกลุ่มคนไทย และข้าราชการไทยอาศัยอยู่ อาชีพของชาวบ้านทั่วไปส่วนใหญ่ทำสวน ทำนา ทำไร่ ร่อนแร่  ฐานะค่อนข้างยากจน

ลักษณะการแต่งกายของชาวบ้าน


 จากการบอกเล่าของนายเลียบ  ชนะศึก ประธานสภาวัฒนธรรมถลาง กล่าวว่า ผู้หญิงค่อนข้างจะมีอายุนิยมนุ่งโจงกระเบน คาดเข็มขัดเงิน หรือเข็มขัดหนังแล้วแต่ฐานะ ผ้าโจงกระเบนเป็นผ้าดำ ผ้าสีทึบ หรือผ้าลายดอกพิกุล เสื้อคอกลม แขนกระบอกไม่รัดรูปมากนัก ถ้าเป็นคนเฒ่าคนแก่ก็จะสวมเสื้อหลวม ๆ (เฉพาะไปวัดไม่สวมรองเท้า มีตะกร้าหมาก) เด็กผู้หญิงจนถึงผู้หญิงสาว นิยมนุ่งผ้าถุงจะเป็นผ้าพื้น หรือผ้าลายก็ได้ เด็กผู้หญิงจะสวมเสื้อคอกระเช้า หญิงสาวสวมเสื้อหลวมตามสมัยนิยมถ้าออกจากบ้านก็สวมเสื้อสามส่วนเข้ารูป ลักษณะการแต่งกายส่วนใหญ่ก็ได้รูปแบบมาจากภาคกลาง ต่อมาเมื่อคนจีนได้เข้ามาในภูเก็ตมากขึ้น  คนไทยส่วนหนึ่งก็เปลี่ยนแปลงรูปแบบการแต่งกายโดยรับเอาการนุ่งโสร่งปาเต๊ะมานุ่งแทนผ้าถุงเดิม แต่ลักษณะเสื้อผ้ายังคงเดิม ผู้หญิงวัยกลางคนจนถึงสูงอายุนิยมกระโจมอกอยู่กับบ้าน  สำหรับเด็ก ๆ นุ่งผ้าถุง ไม่สวมเสื้อ


------------------------------------------
รูปเดี่ยว   รูปหมู่
------------------------------------------


 สำหรับคนไทยที่เป็นข้าราชการ ก็แต่งกายแบบข้าราชการในราชสำนักทุกประการ คือ นุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อกระดุม ๕ เม็ด คอตั้ง และมีการเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะการแต่งกายของแต่ละยุคสมัย    เช่น สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมาข้าราชการก็นุ่งผ้าม่วง เสื้อราชปะแตน ผู้หญิงก็นุ่งซิ่น สวมเสื้อตามแบบพระราชนิยม

๓.๒.๖(๒) การกินอยู่


 มื้อเช้า  นิยมดื่มกาแฟกับปลาท่องโก๋ หรือขนมจีน
มื้อเที่ยง  อาหารหนัก เป็นข้าวสวยและกับข้าว
มื้อค่ำ เป็นมื้อหนักเช่นกัน  ระหว่างมื้อเที่ยงและมื้อค่ำจะมีอาหารว่าง (ประมาณบ่าย ๓ โมงเย็น)

๓.๒.๖(๓) กิริยามารยาท

ประสิทธิ  ชิณการณ์ (๒๕๒๘ :๒๐๖–๒๐๗) ได้กล่าวถึงประเพณีย่อย ๆ ของชาวภูเก็ตไว้ดังนี้


 ประเพณีต้อนรับแขกของชาวภูเก็ต  ชาวภูเก็ตนิยมรับรองแขกนอกบ้าน เช่น ตามร้านกาแฟ ร้านอาหาร มากกว่าจะเชื้อเชิญแขกไปยังบ้านเรือนของตน  แม้มารยาทในการเลี้ยงตอบแทนแขกก็ไม่สู้เคร่งครัดนัก ฝรั่งบางคนประหลาดใจว่า ทำไมเมื่อชาวภูเก็ตเลี้ยงอาหารแก่เขาแล้วเมื่อเขาเชิญไปเลี้ยงตอบแทนที่บ้านบ้างกลับปฏิเสธไม่ยอมรับเลี้ยง


 ประเพณีการพูดจา  การพูดจาระหว่างเพื่อนฝูงที่สนิทรักใคร่ชอบพอกัน มักใช้คำหยาบทักทายกันโดยไม่สนใจผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องจะได้ยินได้ฟังในบริเวณเดียวกันเลย  คนที่ไม่เข้าใจหรือคนต่างถิ่นอาจจะเข้าใจผิดว่าทะเลาะกัน  การขานรับการเรียกของผู้ใหญ่ที่ใช้โดยทั่วไป คือ “โอ่ย” และคำที่ใช้แสดงความเห็นด้วยว่า “เออ” หรือ “อือ” ถ้าต้องการพูดแสดงถึงความสุภาพลดความกระด้างของน้ำเสียงลงด้วยหางเสียง “อ๊าว” “อื๊อ” “น้า” “ต๊า” “อ่า” เป็นต้น


 ภูเก็ตไม่มีประเพณีคนรับใช้ที่จะต้องย่อตัว หรือคุกเข่าต่อหน้าเจ้านาย ทุกคนจะยืนหรือนั่งในที่เสมอกันหมด คนขับรถมีสิทธิ์ร่วมโต๊ะอาหารกับนายจ้างได้  และมักทักทายด้วยคำว่ากินข้าวหรือยัง  ก่อนที่จะพูดเรื่องอื่นต่อไป


 ภูเก็ตในยุคปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยว ผู้คนต่างถิ่นต่างชาติหลั่งไหลมาเที่ยวภูเก็ต มาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินในภูเก็ต อารยธรรมต่าง ๆ ย่อมติดตามหลั่งไหลเข้ามาด้วยและจะต้องกระทบกระเทือนวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยมของท้องถิ่นยังมีอยู่เช่นเดิม


๓.๒.๖(๔) ประเพณี

 

 ประเพณีเป็นลักษณะเฉพาะของคนในแต่ละท้องถิ่นและเป็นสิ่งที่ปฏิบัติสืบทอดต่อมาจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นมรดกของสังคม แต่เป็นความถูกต้อง เหมาะสมของคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น เพราะบางประเพณีคนกลุ่มหนึ่งอาจเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ถูกต้องและคนอีกกลุ่มหนึ่งอาจจะเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวก็ได้
สภาพของสังคม ค่านิยม ความเชื่อของคนในสังคม เป็นสิ่งที่ลบล้างหรือเปลี่ยนแปลงได้ยาก เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นที่พึ่ง เป็นขวัญและกำลังใจในการทำงานหรือในอาชีพของตน  คนโดยทั่วไปเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจะมองเห็นความทุกข์ของมนุษย์ การอ้อนวอนขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นช่วยจึงปรากฏอยู่เสมอ ๆ  และเมื่อประสบผลสำเร็จก็จะทำพิธีขอบคุณ  เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง พิธีกรรมเหล่านี้ได้กระทำจนเป็นที่ยอมรับของสังคม  ฉะนั้นพิธีกรรมกับประเพณีจึงเป็นของคู่กันมาโดยตลอดจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งเสียมิได้เพราะพิธีกรรมเป็นการกระทำที่จะนำผู้ปฏิบัติไปสู่        เป้าหมายที่ต้องการ  หรือนำมาซึ่งความสำเร็จที่หวังไว้ สังคมจึงถือว่าการจัดพิธีกรรมที่ถูกต้อง เคร่งครัด จะเป็นที่พอใจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เขาเคารพนับถือ ถ้าทำผิดจะถูกลงโทษ พิธีกรรมจึงเป็นรูปแบบที่แสดงออกถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้นับถือกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์


การที่จังหวัดภูเก็ตมีประเพณีและวัฒนธรรมเฉพาะท้องถิ่นที่แตกต่างและโดดเด่นแปลกไปจากสังคมอื่นเพราะความหลากหลายของกลุ่มคนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในภูเก็ต ต่างนำเอาวัฒนธรรมของตนมาเผยแพร่ในดินแดนนี้ เมื่อคนเหล่านั้นได้อยู่รวมกันนานเข้าการผสมผสานทางวัฒนธรรมก็เกิดขึ้น  ดังจะเห็นได้จากวัฒนธรรมด้านภาษาของชาวภูเก็ตจะแตกต่างจากภาษาของชาวปักษ์ใต้โดยทั่วไป เพราะเป็นภาษาที่ผสมทั้งจีนฝรั่ง มลายูและไทย ชาวภูเก็ตมีลักษณะการแต่งกายที่แตกต่างไปจากชาวปักษ์ใต้โดยทั่วไป โดยได้นำเอาวัฒนธรรมการแต่งกายดั้งเดิมที่ค่อนข้างจะเป็นจีนมาผสมผสานกับความเป็นไทย ประยุกต์เป็นเครื่องแต่งกายของผู้หญิงชาวภูเก็ตในปัจจุบัน  สำหรับผู้ชายชาวภูเก็ตจะแต่งกายเป็นแบบตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในงานพิธีการต่าง ๆ ส่วนในชีวิตประจำวันก็จะแต่งกายตามสบาย   สังคมภูเก็ตเป็นสังคมชนบทมากกว่าจะเป็นสังคมเมือง สังคมภูเก็ตเพิ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเป็นสังคมวัฒนธรรมด้านการแต่งกาย
หลังการพัฒนาภูเก็ตเข้าสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยว  ขนบธรรมเนียมจะแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของชุมชนนั้น ๆ และชุมชนกะทู้จะมีวัฒนธรรมและประเพณีที่เป็นแบบจีนมากกว่าชาวภูเก็ตที่อาศัยอยู่แถบตำบลฉลอง บ้านตะเคียนซึ่งยังคงความเป็นไทย แต่บางส่วนก็ถูกผสมผสานโดยการแต่งงานระหว่างกลุ่มวัฒนธรรมด้านความเชื่อ อาชีพของชาวภูเก็ตส่วนใหญ่เป็นอาชีพเกษตรกรรม การหาแร่ดีบุก ค้าขาย  อาชีพรับราชการจะมีน้อยมากและไม่เป็นที่นิยมของชาวภูเก็ต ฉะนั้นอาชีพเหล่านี้ต้องอาศัยพึ่งพิงดินฟ้าอากาศและโชคอำนวยฉะการอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงมีมากในสังคมชาวภูเก็ต ถึงแม้ว่าสังคมชาวภูเก็ตจะเป็นสังคมผสมผสานด้วยผู้คนหลายกลุ่มที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานก็ตาม แต่เมื่อมาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินทุกคนก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันคือ ชาวภูเก็ตไม่มีความแปลก หรือเกิดความขัดแย้งแต่ประการใด จะมีเพียงกลุ่มชาวเลเท่านั้นที่ค่อนข้างจะถูกมองว่าเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีความไม่ทัดเทียมกับกลุ่มชนส่วนใหญ่ในสังคม 
สาเหตุที่ประเพณีของชาวภูเก็ตปรากฏสู่สายตาของคนทั่วไปจะเป็นประเพณีจีนเป็นส่วนใหญ่ จนทำให้บุคคลภายนอกคิดว่าชาวภูเก็ตทุกคนคงจะเป็นคนเชื้อสายจีนเกือบทั้งหมด ทั้งนี้เพราะชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในภูเก็ตนั้นเป็นกลุ่มคนที่มีความเป็นชาตินิยมสูง  คงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างเหนียวแน่น จนสามารถกลืนวัฒนธรรมเดิมที่มีอยู่ให้ด้อยลง ประกอบกับลักษณะครอบครับชาวจีน ผู้ชายเป็นใหญ่ เมื่อลูกสาวจากครอบครัวคนไทยแต่งงานกับผู้ชายจีน พ่อบ้านเป็นจีน ย่อมจะนำสมาชิกในบ้านทุกคนเป็นจีนไปด้วย  นอกจากนี้คนจีนฐานะค่อนข้างดีจนถึงดีมาก ย่อมมีโอกาสที่จะได้ใกล้ชิดกับขุนนางมากกว่าชาวบ้านธรรมดา ชาวจีนบางคนได้รับบรรดาศักดิ์จากทางราชการและเป็นที่นับถือของคนในสังคมนั่นคือวิธีการหนึ่งที่ทำให้ประเพณีจีนมั่นคง และแน่นแฟ้นในจังหวัดภูเก็ต  ฉะนั้นในบทความส่วนที่เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมนี้จะกล่าวในลักษณะที่ผสมผสานทั้งที่เป็นไทย จีน อิสลาม และกลุ่มชาวเล แต่จะเป็นข้อสังเกตสำคัญคือประเพณีจีนค่อนข้างจะมากและชัดเจนด้วยเนื้อหา มากกว่าประเพณีไทย ซึ่งขาดการสืบทอด ปลูกฝังให้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

ประเพณีเหี่ยเต้ง  (ถือโคมไฟ)


 เดือน ๘ จีน  ขึ้น ๑๕  ค่ำ ของจีน(แป๊ะโง้ยจั๊บหง่อ)  หลังจากพ้อต่อ เพื่อส่งวิญญาณบรรพบุรุษที่ลงมากินอาหาร มาเที่ยวในงานพ้อต่อ  ให้กลับสู่ภพที่มา แขวนไว้หน้าบ้านทุกบ้าน
ประเพณีเดือนสาม
 (ตรุษจีน เดือน ๑ ของจีน)
 ประเพณีเดือนสามของชาวภูเก็ตจะตรงกับเดือน ๑ ของจีน เป็นประเพณีปีใหม่จะตรงกับปฏิทินไทยประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นมีนาคม ซึ่งชาวจีนส่วนใหญ่จะหยุดงานเฉลิมฉลองกันตั้งแต่วัน ๑ ค่ำ เดือน ๑ จนถึงวัน ๑๕ ค่ำ เดือน ๑ (ตามปฏิทินจีน) เป็นเวลา ๑๕ วัน ทีเดียว ในระยะนี้ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความเป็นสิริมงคล และถือเป็นวันหยุดพักผ่อนแห่งปีด้วย มีการแจกซองแดง (อังเป้า) และส่งของกำนัลแก่กันเป็นการสร้างเสริมความสัมพันธ์ รวมทั้งแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อกันอีกด้วย ก่อนการเฉลิมฉลองอย่างครึกครื้นนั้น  จะมีการทำความสะอาดและตกแต่งบ้านเรือนด้วยกระดาษสีแดง (ชาวจีนถือว่าสีแดงเป็นสีแห่งความเป็นสิริมงคล) เช่น มีการเขียนคำมงคลในกระดาษแดงปะตามขอบ ประตูหน้าต่างและตู้เก็บของ มีการคาดผ้าแดงที่ขอบประตูด้านบน ซึ่งเรียกว่า “ฉ้าย” มีการคาดโต๊ะพระด้วยผ้าที่มีลวดลายสวยงาม เรียกว่า “โต๊ะอุ๋ย” ในระหว่างนี้ประชาชนบางส่วนก็จะไปเที่ยวตากอากาศ บางส่วนก็ไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่และมีการจุดประทัดกันเป็นที่สนุกสนานขณะนี้การประกอบพิธีกรรม
 การประกอบพิธีกรรมในช่วงตรุษจีนนั้น อันที่จริงแล้วตามปฏิทินจีนจะเริ่มก่อนวัน ๑ ค่ำ เดือน ๑ เล็กน้อย กล่าวคือ ในวัน ๒๕ ค่ำ เดือน ๑๒ จะมีการนำเครื่องสักการะพระประจำบ้านเพื่อส่งให้ขึ้นไปประชุมบนสวรรค์ ชาวจีนจะนำเครื่องบูชา ที่ประกอบด้วย ไก่ทั้งตัว หมู และบะหมี่ รวมทั้งขนมหวาน มาตั้งไว้ที่หน้าพระประจำบ้านในตอนเช้า
 ในวันสิ้นปี ซึ่งอาจจะเป็น ๒๙ หรือ ๓๐ ค่ำ เดือน ๑๒ จะมีการนำเครื่องบูชามาไหว้พระอีกครั้งหนึ่ง เสร็จแล้วนำเครื่องบูชาเหล่านั้น ไปประกอบอาหาร เพื่อนำมา เซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษต่อไป ในตอนบ่ายวันนั้น จะนำอาหารอีกชุดหนึ่งไป เซ่นไหว้วิญญาณของสหายภารดร (โฮ้เฮี่ยตี่) ที่ภายนอกบ้าน และค่ำวันนั้นถือเป็นวันรวมญาติของชาวจีนด้วยโดยญาติพี่น้องทั้งหมดจะร่วมกันรับประทานอาหารพร้อม ๆ กัน เป็นการส่งท้ายปีเก่า
 วัน ๑ ค่ำ เดือน ๑ เช้าตรู่วันนี้ ชาวจีนจะนำผลไม้ ๓ - ๔ ชนิด พร้อมขนมเข่ง (ขนมชนิดหนึ่งกวนด้วยแป้งและน้ำตาล) ซึ่งเป็นขนมที่ทำเฉพาะในช่วงตรุษจีนเท่านั้นมาตั้งโต๊ะบูชา สิ่งเหล่านี้จะตั้งไว้เป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน จึงเก็บ ในวันนี้ชาวจีนจะมีอารมณ์ สดชื่นแจ่มใสเป็นพิเศษมีการแจกซองแดงให้กับเด็ก ๆ และญาติผู้ใหญ่เป็นการเพิ่มความศิริมงคลแก่ชีวิตในโอกาสเริ่มต้นปีใหม่ วันนี้เองที่ชาวจีนได้ไปเยี่ยมญาติพี่น้องและท่องเที่ยวพักผ่อนอย่างแท้จริง

 

ประเพณีไหว้เทวดา


 การบูชาเทวดาหรือเทพเจ้าสูงสุดบนสวรรค์เป็นความเชื่อของคนจีนเพื่อให้เทวดาปกป้องคุ้มครองมนุษย์  พิธีกรรมนี้จะจัดในช่วงของเทศกาลตรุษจีน  ซึ่งเรียกตามภาษาจีนว่าวันเจี๋ยโหง๋ยโช้ยก้าว คือ เดือน ๑ ขึ้น ๙ ค่ำ
 เวลาทำพิธี  คือ จะเริ่มประมาณเวลาของคนโบราณ จะเริ่มไหว้ประมาณตี ๓ ตี ๔ ตอนหัวรุ่ง  แล้วรอจนพระอาทิตย์ขึ้น ถึงจะเป็นอันเสร็จพิธี หรือเรียกว่าตามภาษาจีน (ส่าง) แต่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงตามความสะดวก คือจะเริ่มไหว้ประมาณเที่ยงคืน หรือตีสิบสองเป็นต้นไป ส่วนระยะเวลานั้นก็แล้วแต่ว่าจะเป็นครึ่งชั่วโมงหรือกี่ชั่วโมงก็ได้  ไม่มีการกำหนดเวลาที่แน่นอน แต่ก่อนที่จะเก็บของที่ไหว้จะต้องเผากระดาษทองเล็กหรือกระดาษทองใหญ่ หรือภาษาจีนเรียกว่า (กระดาษกิ้ม) แล้วจุดประทัดเป็นอันเสร็จพิธี
 การบูชาเทวดาแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ดังนี้ คือการบูชาเทวดาชนิดที่ไม่มีของคาว เช่น ในพิธีกินผัก หรือภาษาจีนเรียกว่า (เจี๊ยะฉ่าย กับพิธีวันเกิดเทพเจ้าที่ได้ถือศีลบวช เช่น เจ้าแม่กวนอิม หรือเทพเจ้าต่างๆ ที่ถือศีลบวช จะไม่มีอาหารทีเป็นเนื้อสัตว์ หรือ ปู ปลา หมึก แต่จะมีขนมหวาน ขนมแห้ง ผลไม้ และ น้ำชา เป็นต้น
 การบูชาเทวดาในวันตรุษจีน (หรือเรียกว่า เดือน ๓) ส่วนใหญ่คนไทยเชื้อสายจีนในปัจจุบัน มักจะใช้สิ่งของบูชาเทวดาด้วยของคาว เช่น มีเนื้อสัตว์ต่าง ๆ และขนมหวาน ขนมแห้ง ผลไม้ และน้ำชา
การจัดสิ่งของบูชาเทวดา
ในเทศกาลตรุษจีน (เดือนสาม)
มี ๒ ลักษณะ ดังนี้
 การบูชาเทวดาแบบประหยัด  ซึ่งจะขึ้นอยู่กับฐานะของแต่ละบุคคล ที่จะมีความสามารถจัดหาซื้อสิ่งของมาบูชาเทวดานั้นได้
 การบูชาเทวดาตามรูปแบบที่ครบบริบูรณ์  สำหรับผู้ที่มีฐานะดี สามารถจัดหาสิ่งของมาบูชาได้เต็มที่ ไม่มีขอบเขต

การเตรียมบูชาเทวดาแบบประหยัด
ที่ไม่มีอาหารคาวมีดังนี้
 ๑. เก้าอี้ ๔ ตัวสำหรับรองโต๊ะให้สูง
 ๒. โต๊ะ (พร้อมกระดาษทองรองขาโต๊ะ ๔ แผ่น ) ๑  ตัว
 ๓.  ผ้ากั้นหน้าโต๊ะ ภาษาจีนเรียกว่า โต๊ะอุ๋ย ๑  ผืน
 ๔.  ต้นอ้อยพร้อมระย้า ๑ คู่ ภาษาจีนเรียกว่า โก่จี๋  จำนวน ๒  ต้น
 ๕.  ผ้าปูโต๊ะสีแดง ๑  ผืน
 ๖.  กระถางธูป ๑  กระถาง
 ๗.  เชิงเทียน ๑  คู่
 ๘.  น้ำชา ๑  กา
 ๙.  จอกน้ำชา ๓  ลูก
 ๑๐.ขนมรวมหรือภาษาจีนเรียกว่าแต่เลี่ยว  ๓  จาน แต่เลี่ยว คือ เป็นขนมที่ทำมาจากพืชพันธุ์อาหารครบทุกอย่างจะต้องมีและขาดไม่ได้ในประเพณีของจีน
 ๑๑. ขนมเข่ง เป็นขนมของเทวดาโดยเฉพาะ  ซึ่งจะมีไหว้และทำกันในวันตรุษจีน และไหว้เทวดาเท่านั้น และยังมีความเชื่อมาแต่โบราณอีกว่า การทำขนมเข่งนั้น ถ้าบ้านไหนที่ทำขนมเข่งอยู่ ถ้าผู้หญิงที่มีประจำเดือนหรือไว้ทุกข์อยู่เข้าไปดูหรือเดินผ่านจะทำให้ขนมเข่งดิบหรือไม่สุก และบางคนค้ารู้ว่าบ้านไหนทำขนมเข่งอยู่จะไม่เข้าไปเลย จะยืนอยู่หน้าบ้าน
 ๑๒. ขนมเต่า หรือ ภาษาจีนเรียกว่า อั่งกู้ ๓ ลูก ๑ จาน ทำให้อายุยืน
 ๑๓. ขนมฟู หรือภาษาจีนเรียกว่า ฮวดโก้ย ๓ ลูก  ๑ จาน
 ๑๔. สับปะรด ภาษาจีนเรียกว่า อ่องหลาย ๒ ลูก ทำให้มีตาเหมือนสับปะรด มีช่องทางทำมาหากินหลายทางและมีโชคลาภ 
 ๑๕. กล้วย ภาษาจีนเรียกว่า เก๋งเจ๊ว
เป็นการให้พรมีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง
 ๑๖. ส้ม ภาษาจีนเรียกว่า ก๊าม ๓ ลูก ๑ จาน
 ๑๗. เทียนสีแดงเล็กหรือใหญ่ ๒ เล่ม
 ๑๘. ธูปเล็กหรือใหญ่ ๓ ดอก
 ๑๙. กระดาษทองเล็กหรือใหญ่ ๓ จี๋
 ๒๐. ลูกปะทัด ๑ กล่อง
 ๒๑. หม้อไม้หอม ภาษาจีนเรียกว่า เฉ่งเหี้ยวหลอ ๑ ลูกการจัดสิ่งของบูชาเทวดา แบบนั้นเป็นแบบประหยัดและในพิธีแบบกินผัก หรือ เจี๊ยฉ่าย หรือเป็นวันเกิดของพระ หรือ แส่หยิด ที่ถือศีลอยู่ที่ศาลเจ้า แต่ถ้าหากเป็นพิธีใหญ่จะต้องเพิ่มสิ่งของ ดังต่อไปนี้เสริมเข้าไป เช่น
 ๑. หมิ้กเจี่ยน (คล้ายกับบายสีของไทย) ๑  ที่
 ๒. ผักแห้งหกอย่าง เรียกว่าหลักฉ่าย ๖  จาน เป็นของที่บำรุงร่างกาย เมื่อไหว้เสร็จแล้วก็นำไปทำอาหารได้
  ๒.๑  เห็ดหอม (เหี่ยวก้อ) ๑  จาน
  ๒.๒  เห็ดหูหนู (บกนี้) ๑  จาน
  ๒.๓  ฟองเต้าหู้ (เต็กกากี้) ๑  จาน
  ๒.๔  วุ้นเส้น (ตั่งหุ้น) ๑  จาน
  ๒.๕  หมี่ซั่ว (หมี่ซั่ว) ๑ จาน
  ๒.๖  ดอกไม้จีน (กิ้มเจี้ยม) ๑  จาน
 ๓. ผลไม้เสริม อีก ๒ อย่าง
  ๓.๑  องุ่น (ฮู่โต๋) ๑  จาน
  ๓.๒  ละมุดสีดา (๓ ลูก) (บ่าสี่กู้) ๑  จาน
 การบูชาเทวดาในวันตรุษจีน หรือที่ศาลเจ้าเทพเจ้ามิได้ถือศีลบวชจะต้องมีอาหารคาวเสริมเข้าไปดังนี้
 ๔. ของคาว (ง้อเส้ง)
  ๔.๑  หมูต้ม ๑  ชิ้น
  ๔.๒ ไข่ไก่ต้ม หรือ ไก่ต้ม ๓  ลูก
หรือ ๑ ตัว
  ๔.๓ ปลาหมึกต้มหรือแห้ง ๓  ตัว
  ๔.๔ กุ้งต้ม ๓  ตัว
  ๔.๕ หมี่เหลือง ๑ กก.
  ๔.๖ เหล้าแดง(จีน)หรือน้อยกว่านั้น ๑ ขวด
 ถ้าหากจะมีพิธีใหญ่ที่สำคัญ หรือขึ้นอยู่กับฐานะของผู้ที่มีความประสงค์จะทำให้มากเพื่อลูกหลานจะได้รับ ก็ให้เสริมสิ่งดังต่อไปนี้
 ๕. หัวหมู พร้อมลิ้น หาง ต้ม ๑ หัวใช้แทนเนื้อหมูต้มเพราะว่าเป็นพิธีใหญ่
 สมัยก่อนระหว่างที่ตั้งโต๊ะไหว้เทวดาหรือวันตรุษจีนจะมีคณะเล่นหุ่นกาเร่ ๑-๒ คน ประกอบด้วยคนเล่นดนตรี และคนเชิดหุ่น  แวะเข้ามาเชิดหุ่นกาเร่หน้าบ้าน พร้อมกับกล่าวอวยพรเพื่อให้เจ้าของบ้านมีความเจริญรุ่งเรือง  และสุดท้ายคนเชิดหุ่นจะจัดพิธีแต่งงานให้หุ่นชายและหุ่นหญิง จากนั้นเจ้าของบ้านจะนำซองแดงมาให้คณะเชิดหุ่นเป็นค่าตอบแทน (นอกจากหุ่นกระบอกกาเร่แล้วยังมีลั้งไล้(เชิดสิงโต)และลั้งเหล็ง (เชิดมังกร) ในพิธีไหว้เทวดาอีกด้วย)

 

ประเพณีเกี่ยวกับการตาย


ประเพณีเฉ่งเม้ง


 ประเพณีเดือน ๒ ของจีน ได้แก่ ประเพณี “เฉ่งเม้ง” หรือที่ภาษาฮกเกี้ยน เรียกว่า “เฉ่งเบ๋ง” กระทำกันในวัน ๔ ค่ำ หรือ ๕ ค่ำ เดือน ๒ ของจีนหรือตรงกับวันที่ ๕ เมษายน ของทุก ๆ ปี เป็นพิธีกรรมที่ชนรุ่นหลังแสดงถึงความกตัญญูที่มีต่อบรรพบุรุษ ด้วยการไปถากถางบริเวณหลุมฝังศพของบรรพบุรุษ และนำอาหารคาวหวานไปเซ่นไหว้ เสร็จแล้วนำกระดาษหลากสีไปประดับบนหลุมฝังศพ  ซึ่งเปรียบกระดาษสีคือเสื้อผ้าใหม่สำหรับผู้ตาย  อนึ่งในระยะนี้ถ้าลูกหลานต้องการซ่อมแซมบ่อง (หลุมศพ) ให้สวยงามก็จะต้องทำในระยะนี้ เดือนอื่น ๆ ห้ามทำเด็ดขาด

 

ประเพณีงานศพ


 การจัดเตรียมงานเมื่อมีการตายเกิดขึ้น ตามประเพณีจีนมีข้อปฏิบัติที่ค่อนข้างจะยุ่งยาก และเป็นงานใหญ่พอสมควร จึงต้องแบ่งกำลังออกเป็นหลายฝ่าย เป็นการแบ่งงานกันทำ การจัดเตรียมในแต่ละพิธี ก็ต้องมีผู้รู้คอยแนะนำให้ กระทำพิธีอย่างถูกต้องตามโบราณประเพณี เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลและความเจริญรุ่งเรือง ของลูกหลานต่อไปในภายภาคหน้า
 เมื่อมีการตายเกิดขึ้น ลูกหลานจะต้องร่ำพรรณนา ซึ่งถือกันว่าเป็นการเปิดทางให้กับวิญญาณผู้ตายที่เดินทางไปสู่ปรโลก หลังจากนั้นเป็นการจัดเตรียมพิธีในงานศพ
 อนึ่งหากมีการตายนอกบ้าน ชาวจีนมักจะไม่นำศพเข้าไว้ในบ้าน แต่หากเป็นความประสงค์ของลูกหลาน ก็อาจมีการปฏิเสธ ดังนี้ คือ
 ๑. ให้นำศพผู้ตายเข้าทางประตูหลังบ้าน
 ๒. นำร่างกายผู้ตายเข้าบ้าน ในลักษณะของคนเป็น กล่าวคือ ญาติพี่น้อง ต้องนำร่างผู้ตายเข้ามาในบ้านโดยห้ามแสดงอาการโศกเศร้าหรือไว้ทุกข์ ต่อมาให้เพื่อนบ้านใกล้ชิด ทำทีเข้าไปทักทายปราศรัย เมื่อไม่มีเสียงตอบจากผู้ตาย จึงถือว่าผู้นั้นเพิ่งเสียชีวิตไปในบ้าน ต่อจากนั้นลูกหลานและญาติสนิท จึงแสดงอาการโศกเศร้าออกมาได้และเริ่มจัดเตรียมพิธีกันต่อไป


 พิธีเริ่มด้วยการหาผ้าใหม่มาคลุมบริเวณหน้าพระไว้ และนำแป้งละลายน้ำไปละเลงตามกระจกต่าง ๆ หลังจากนั้นก็จะช่วยกันตกแต่งศพ ลูกหลานจะช่วยกันอาบน้ำและเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย ให้กับผู้ตาย ตามความเชื่อเดิมนั้น จะแต่งศพด้วยเนื้อผ้า ๗ ชั้น แต่ละชั้นจะเป็นสีผ้าต่าง ๆ กัน โดยกำหนดให้ชั้นในสุดเป็นสีขาว (หมายถึงผู้ตาย) ชั้นถัดมาเป็นสีชมพู (หมายถึงบุตรสาว) สีฟ้าหรือน้ำเงิน (หมายถึงบุตรชาย) และสีอื่น ๆ อีกตามลำดับ ภายในปากผู้ตายจะใส่มุกแท้ไว้ ๑ เม็ด เชื่อกันว่าจะเป็นแสงสว่างส่องทางให้กับผู้ตาย สำหรับเครื่องประดับตกแต่งร่างกายอื่น ๆ จะไม่นิยมใช้ทองคำแต่จะใช้พวกเงิน,มุก หรือหยกแท้ เมื่อแต่งศพเสร็จแล้วก็จะนำมาตั้งไว้ที่ห้องโถง โดยหันเท้าออกทางประตูใหญ่หน้าบ้าน คลุมศพด้วยผ้าใหม่และตั้งโต๊ะเซ่นไหว้ ประกอบด้วย กระถางธูป เชิงเทียน ๑ คู่ ตะเกียงน้ำมัน ๑ ดวง ข้าวสุกพร้อมไข่ต้ม ๑ ถ้วย ตะเกียบ ๑ คู่ ผักการทั้งรากลวกด้วยน้ำร้อน ๑ ต้น และกระถางสำหรับเผากระดาษเงิน  ๑  กระถาง สิ่งเหล่านี้จะต้องวางไว้ และธูปเทียน ตะเกียงน้ำมันจะต้องจุดตามไว้ตลอดเวลาจนกระทั่งเคลื่อนศพออกจากบ้านจึงจะนำไปทิ้งได้


 หลังจากนั้น ลูกหลาน จะจัดหาผ้าไว้ทุกข์ ชุดไว้ทุกข์นี้ จะแตกต่างกันออกไปตามลำดับความใกล้ชิดของญาติ การตัดเย็บชุดไว้ทุกข์นี้เดิมทีจะเย็บกันอย่างไม่ประณีตนัก คือ ไม่มีการเย็บริมผ้า และห้ามรีด ตลอดจนพิธีศพนี้ ญาติผู้ตาย จะถูกห้ามแต่งหน้าหวีผม หรือประดับเครื่องตกแต่งร่างกายเลย โดยเฉพาะผมนั้นจะต้องไว้จนครบ ๑๐๐ วันหลังการตาย จึงจะตัดได้


 ขณะเดียวกัน ลูกหลานบางคน จะไปติดต่อซื้อโลงศพ (บางรายซื้อไว้ก่อนตาย) ซึ่งมีเคล็ดอยู่ว่าการซื้อโลงศพนั้น ห้ามต่อรองราคาและยังต้องเพิ่มราคาให้กับผู้ขายอีกด้วย เชื่อกันว่าจะทำให้ลูกหลานเจริญยิ่ง ๆ ขึ้น บางคนจะไปสั่งทำโคมไฟ (เต้ง) และสิ่งจำเป็นต่าง ๆ ที่จะต้องใช้ในพิธี ส่วนเพื่อนบ้าน บ้างก็จะมาช่วยกันจัดทำประรำสำหรับเป็นที่นั่งของแขกเหรื่อที่มาในงาน บ้างก็ไปจัดยืมโต๊ะเก้าอี้และถ้วยชาม พร้อมทั้งเครื่องครัวอื่น ๆ


 ตามธรรมเนียมจีนนั้น จะต้องตั้งศพไว้ ๑ วันกับ ๑ คืน จึงจะบรรจุลงโลง (ปัจจุบันอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้ว) เมื่อถึงเวลาเพื่อนบ้านก็จะไปช่วยกันหามโลง มายังบ้านผู้ตาย ตอนนี้ลูกหลานและญาติผู้ตายซึ่งแต่งกายด้วยชุดขาวและคลุมทับด้วย “หมัว” (ผ้าทอหยาบ ๆ ด้วยใยปอ) จะออกมาต้อนรับพร้อมกับพรรณนาบอกผู้ตายว่า บ้านใหญ่ได้มาถึงแล้ว หลังจากนั้น ลูกหลานก็จะเผากระดาษเงินกระดาษทองคนละ ๑ ชุด (ประกอบด้วยกระดาษเงิน ๔ พับ กระดาษทอง ๓ พับ ร้อยเป็นพวง) แล้วนำโลงเข้าสู่บ้าน
 ตามปกติจะมีการเก็บศพไว้ไม่เกิน ๗ วัน ก็จะนำไปฝัง ระหว่างเก็บศพจะต้องมีกิจประจำวันซึ่งต้องกระทำคล้ายกับผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ ดังนี้
 ตอนเช้ามืด ลูกหลานจะต้องนำขันน้ำและผ้าเช็ดหน้า ๑ ผืน มาบอกกล่าวให้ผู้ตายล้างหน้า เสร็จแล้วเป็นรายการอาหารเช้า โดยนำอาหารเช้าหรือขนมพร้อมกาแฟใส่ถาดและพร่ำพรรณนาให้ผู้ตายรับประทานอาหารเช้า
 กลางวัน  จัดอาหารกลางวันมาเซ่นไหว้
 ตอนเย็น  จัดอาหารเย็นมาเซ่นไหว้
 ค่ำ จะจัดให้มีการสวดศพทำบุญกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตาย ในการนี้ลูกหลานจะต้องเคาะฝาโลงบอกผู้ตายให้ฟังพระสวดด้วย
 บริเวณหน้าบ้านจะต้องห้อยประดับด้วย โคมไฟซ้ายขวา ถ้าผู้ตายเป็นชาย จะจุดโคมไฟข้างซ้าย ดับโคมไฟข้างขวา หากเป็นหญิงจะจุดโคมไฟข้างขวา ดับโคมไฟข้างซ้าย (โคมไฟเขียนชื่อสกุลผู้ตายพร้อมอาย)

เครื่องหมายแสดงการลำดับญาติ


 เนื่องจากสังคมชาวจีนอยู่กันในลักษณะครอบครัวใหญ่ มีญาติพี่น้องมากมาย เมื่อกระทำพิธีในงานศพ บุคคลภายนอกที่ไม่คุ้นเคย ไม่อาจแยกแยะออกมาได้ว่า ใครเป็นญาติลำดับไหน ใกล้ชิดกับผู้ตายเพียงไร จึงจัดเครื่องหมายแสดง ๒ วิธี คือ
 ๑. การแต่งกาย
 ๒. ช่อกระดาษที่ถือ
การแต่งกาย
 ลูกชาย, ลูกสะใภ้, หลานที่เกิดจากลูกชาย (หลานใน) ใส่ชุดผ้าเนื้อดิบคลุมทับด้วยหมัวหยาบและสวมหมวกหรือคลุมศีรษะด้วยหมัวหยาบ (ผู้ชายสวมหมวก ผู้หญิงคลุมด้วยผ้าคลุม)
 ลูกสาวใส่ชุดผ้าเนื้อดิบ คลุมทับด้วยหมัวเนื้อเนียน คลุมศีรษะ ด้วยหมัวเนื้อเนียน
 หลานสาวที่เกิดจากลูกสาว (หลานนอก) ใส่ผ้าเนื้อดิบ ปกหมวกหรือคลุมศีรษะด้วยหมัวเนื้อเนียน
 น้องสาวและลูกน้องสาว ใส่ผ้าเนื้อดิบ ปกหมวกหรือคลุมศีรษะด้วยผ้าเนื้อดิบลูกเขย ใส่ชุดดำ สายสะพายสีน้ำตาล ผ้าคาดแขนสีน้ำเงิน
 หลานเขย ใส่ชุดดำ สายสะพายผ้าขาวดิบ ผ้าแถบคาดแขนสีเขียวอ่อน
 ญาติฝ่ายบิดา ชาย ใส่ดำทั้งชุด พาดสายสะพายผ้าขาวหยาบ
 ญาติฝ่ายมารดา ชาย ดำทั้งชุด พาดสายสะพายผ้าขาวเนียน
 หญิง เสื้อผ้าขาวเนื้อเนียน ผ้าถุงดำ คลุมศีรษะ ด้วยผ้าขาวเนื้อเนียน
 
 ช่อกระดาษ
 ลูกชาย, ลูกสะใภ้, หลานชายที่เกิดจากลูกชาย, ลูกสาวที่ยังเป็นโสด ถือช่อกระดาษสีขาวล้วน
 ลูกสาวที่แต่งงานไปแล้ว,ลูกพี่ชาย,ลูกน้องชาย ถือช่อกระดาษสีขาวปนน้ำเงิน
 ลูกของลูกสาว (หลานนอก) ถือสีน้ำเงินล้วน
 ไม้สำหรับทำด้ามของช่อกระดาษนั้น ถ้าผู้ตายเป็นชายจะใช้ด้ามทำด้วย ไม้ไผ่ ถ้าผู้ตายเป็นหญิง จะใช้ด้ามทำด้วยไม้นมหว้า (ภาษาถิ่น)
หมายเหตุ  การแต่งกายที่ต้องคลุมทับด้วยหมัวและการถือช่อกระดาษ จะใช้ในกรณีต่างกัน ดังนี้
 ๑. ในการรับโลงศพ
 ๒. การบรรจุศพ
 ๓. การทำกงเต๊ก
 ๔. การเคลื่อนศพไปฝัง
 ส่วนในเวลาปกติจะใส่ชุดผ้าเนื้อดิบธรรมดา ไม่ต้องคลุมทับด้วยหมัวและไม่ต้องปกหมวก หรือคลุมศีรษะ

การบรรจุศพ


 ก่อนบรรจุลงโลงนั้น จะต้องเตรียมสิ่งของดังนี้
 ๑. กระดาษเงินพับเป็นรูปเงินจีน จำนวนพอสมควร
 ๒. ขี้เถ้า
 ๓. ใบชาหยาบ
 ๔. หมอนสำหรับรองศีรษะผู้ตาย ซึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมเว้าตรงกลาง ภายในบรรจุด้วยกระดาษเงินและกระดาษทองอย่างละ ๑ พับ (ถ้าผู้ตายเป็นชาย พับกระดาษทองจะอยู่ทางซ้าย พับกระดาษเงินจะอยู่ทางขวา และถ้าผู้ตายเป็นหญิง พับกระดาษทองจะอยู่ทางขวา พับกระดาษเงินจะอยู่ทางซ้าย)
 ๕. กระดาษเงินแผ่นเล็กจำนวนหนึ่ง
 ๖. กระดาษซึ่งถือว่าเป็นเงินติดตัวผู้ตาย (พับละ ๑ หมื่นเหรียญ) จำนวนหนึ่ง เรียกว่า “ข้อจี๋”
 ๗. ผ้าห่มศพ
 เมื่อเตรียมของแล้ว จะให้ผู้รู้เป็นผู้กระทำพิธีด้วยการโรยขี้เถ้าลงภายในโลงและกล่าวคำที่เป็นสิริมงคล ลูกหลานก็จะร้องรับพร้อมกัน ต่อมาโรยใบชาหยาบ กระดาษเงินที่พับไว้ปูทับด้วยกระดาษเงินแผ่นเล็ก วางหมอนตามลำดับ จึงจะนำศพลงในโลง ขณะเดียวกันลูกหลานแต่ละคน ก็จะเขียนเครื่องหมายต่าง ๆ กันลงบนข้อจี๋ที่ตนถืออยู่ วางไว้ข้างศพด้วยและคลุมผ้าห่มศพ เสร็จแล้วจึงปิดฝาโลงและตอกตะปูทั้ง ๔ มุม การตอกตะปูของโลงศพก็ต้องให้ผู้รู้ และบุตรชายโต ร่วมตอก วิธีการก็คือให้ใช้กระดาษทองและผ้าแดงรองไว้ทั้ง ๔ มุมของโลง แล้วให้ผู้รู้ตอกตะปูทีละมุม พร้อมกล่าวคำที่เป็นสิริมงคลเป็นลำดับไปจนกว่าตะปูจะจมมิดหมด เป็นอันเสร็จพิธีบรรจุศพ

การคัดเลือกหลุมฝังศพ
 คนจีนคนจะคัดเลือกและหาซื้อที่สำหรับจะฝังศพตนเอง ตั้งแต่ขณะมีชีวิตอยู่ บางคนเมื่อตายไปแล้ว ลูกหลานจึงไปเสาะหาที่ฝังศพให้ อาจเป็นที่ส่วนบุคคล หรือสถานที่ต่าง ๆ การคัดเลือกสำหรับฝังศพนี้ แต่เดิมต้องให้ซินแสมาตรวจหามุม (นับละเอียดเป็นองศา) ที่ถูกต้องเหมาะสมตำราแต่โบราณ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีข้อสังเกต ที่เป็นหลักใหญ่ ๆ ดังนี้
 สถานที่ฝังศพควรเป็นที่ลาดชัน เบื้องหลังเป็นภูเขาซึ่งหมายถึงความมั่นคง แข็งแรง ความมีหลักฐานใหญ่โต ด้านหน้าควรเป็นที่ราบกว้างใหญ่ หรือแม่น้ำ หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองไม่มีที่สิ้นสุด
 เมื่อหาสถานที่เหมาะสมได้แล้ว ก็จะตั้งเครื่องเซ่นไหว้เจ้าที่เจ้าทาง ขออนุญาตใช้เป็นหลุมฝังศพ โดยใช้ไม้คู่หรือสตางค์แดงเป็นเครื่องเสี่ยงทาย ถ้าได้รับอนุญาตก็ลงมือขุดได้ ถ้าไม่อนุญาตก็ขยับไปทีละนิดหรือเปลี่ยนสถานที่จนกว่าจะหาที่เหมาะสมและได้รับอนุญาตให้ขุดได้ การขุดหลุมฝังศพนั้น พื้นหลุมจะต้องขุดให้มีความลาดนิด ๆ ท้องหลุมจะโรยด้วยปูนขาวเป็นการป้องกันปลวก หลุมศพนี้ จะต้องขุดเตรียมไว้ล่วงหน้าก่อน จะเคลื่อนศพมาฝัง ๑ – ๒ วัน
การเคลื่อนศพไปฝัง
 ก่อนจะเคลื่อนศพออกจากบ้าน จะมีพิธี “คี่เชียถ๋าว” ตามขั้นตอนดังนี้
 ตอนเช้าหลังจากไหว้อาหารเช้าแล้ว จะนำข้าว ๗ ถ้วย ตะเกียบ ๗ คู่ พร้อมเครื่องเซ่นไหว้ (เซ่งเล่) ซึ่งประกอบด้วย ไก่ หมู และเส้นหมี่เหลือง พร้อมกับชุดขนมหวาน ได้แก่ ขนมเต่า, ข้าวเหนียวกวน, ขนมถ้วยฟู, ขนมถั่วเคลือบ, อย่างละ ๑ ถ้วย) วางไว้บนโลงศพ เสร็จแล้วจะทำพิธีสวดโลงศพ โดยภิกษุจีนเป็นผู้นำในพิธี ภิกษุจีนผู้นำในพิธีจะลั่นกระดิ่งพร้อมสวดมนต์เดินเวียนรอบโลงศพ ในขณะที่มีบุตรชายคนโต ถือ ตงฮวน (พวงกระดาษด้ามถือเป็นไม้ไผ่ มีแผ่นกระดาษเขียนชื่อตระกูล วัน เดือน ปี เกิด และวัน เดือน ปี ตาย) ลูกหลานใกล้ชิดอื่น ๆ ก็เดินตามเป็นขบวน เรียกพิธีนี้วา “ซึงก้วน” หลังจากนั้น เมื่อไหว้อาหารเที่ยงเสร็จแล้วก็จะเคลื่อนศพออกไปตั้งที่หน้าบ้าน ส่วนภายในบ้านก็จะกวาดขยะ ออกไปทิ้งนอกบ้านหมด สำหรับลูกหลานที่เดินออกนอกบ้านไปแล้วตอนนี้ ห้ามกลับเข้าบ้านอีก จนกว่าศพจะได้รับการฝังแล้ว ขณะเดียวกันภายในบ้านจะมีพิธี “เต้าเที้ย” โดยนำน้ำ ๑ กะละมัง ไม้ฟืนงาม ๆ ๑ - ๒ อัน (ถ้ามีไม้ฟืนมีเสี้ยนไม้รุงรัง เชื่อกันว่าต่อไปลูกหลาน จะมีหนี้สินมาก) วางพาดบนปากกะละมัง แล้วนำถาดใส่ข้าวสารวางไว้บนไม้ฟืนอีกทีหนึ่งบนถาดข้าวสารนั้น ตรงกลางจะตั้ง ขนมถ้วยฟู ๑ ถ้วย และล้อมรอบด้วยขนมเต่า ๑๒ ชิ้น ขนมบัวลอยแดง (อ่างอี๋) ๑๒ ลูก สตางค์แดงร้อยเชือก ๑๒๐ อัน เทียน ๑๒ เล่ม (เทียนนี้จะจุดเมื่อเคลื่อนศพไปฝังแล้ว) ผู้ที่จะทำพิธีเต้เที้ย นี้มีเคล็ดอยู่ว่า ถ้าเป็นสตรีต้องเป็นสตรีที่มีสามี ลูกหลานครบ ห้ามใช้หญิงหม้าย ส่วนโลงศพนอกบ้าน ตอนนั้นจะมีการจัดโต๊ะประดับอาหารเซ่นไหว้ (ป่ายปั๋ว) อาหารเหล่านั้นประกอบด้วย ข้าว ๑ ถ้วย ตะเกียบ ๑ คู่ ผักกาดเขียวกวางตุ้งทั้งรากลวกน้ำร้อน ๑ ต้น อาหารคาวหวาน หัวหมู หรือหมูย่างทั้งตัว (แล้วแต่ฐานะ) รวมทั้งผลไม้ต่าง ๆ พร้อมสุรา การวางโต๊ะเครื่องเซ่นไหว้หน้าโลงศพให้วางโต๊ะเรียงตามยาวของเนื้อไม้แนวเดียวกับโลง ด้านหน้าสุดของโต๊ะมีผ้าคลุมโต๊ะ เป็นผ้าเนื้อดิบสีขาว คลุมทับด้วยหมัว บนพื้นถัดมาเป็นกระถางทราย ปักต้นตะไคร้ทั้งต้น และปูเสื่อจำนวน ๓ ผืน ถัดมาเป็นแนวในลักษณะขวาง พิธีคารวะศพในช่วงนี้ จะทำกันตามลำดับความใกล้ชิดของญาติ โดยแบ่งเป็นกลุ่มตามขั้นตอนดังนี้
 ๑. กลุ่มหลานใกล้ชิด (ห้าวหลาม) ประกอบด้วย ลูกชาย ลูกสะใภ้ หลานใน ลูกสาว หลานนอก และน้อง ๆ ผู้ตาย ไหว้ศพ (ช่วงนี้ยังไม่ต้องปูเสื่อ) ลูกชายคนโตหรือหลานชายคนโต คุกเข่าคารวะเหล้า ๔ จอก
 ๒. บิดาหรือมารดาญาติผู้ใหญ่ของลูกสะใภ้ (ชินเก้ถ๋าว) แต่งกายด้วยชุดดำสะพายสีขาว ก่อนไหว้ศพ ผู้นำทางพิธีจะพาดสายสีแดงให้ และปูเสื่อ ๑ ผืน  จึงคารวะศพ
 ๓. ลูกเขย ผู้นำทางพิธี จะปูเสื่อ ๓ ผืน และวางผ้าห่ม ๑ ผืน ไว้ที่เสื่อผืนแรก และกระทำพิธีตามลำดับ ดังนี้
  ๓.๑ ลูกเขยพับมุมผ้าห่มที่เสื่อผืนแรก
  ๓.๒ ลุกขึ้นยืนแล้วจุดธูปไหว้า
  ๓.๓ เดินไปที่เสื่อผืนสุดท้าย (ผืนที่สามใกล้โต๊ะเซ่นไหว้) คุกเข่าคารวะเหล้า ๔ จอก คำนับ ๔ ครั้ง  
  ๓.๔ ถอยหลังมาที่เสื่อผืนที่ ๒ (ผืนกลาง) คำนับอีก ๔ ครั้ง แล้วจึงถอยหลังกลับ
 ๔. หลานเขย (ลูกเขยของลูกชาย) ทำเหมือนลูกเขย (ต่างกันตรงที่สายสะพายและผ้าแถบคาดแขน)
 ๕. ญาติห่าง ๆ ไหว้
 ๖. กลุ่มลูกหลานใกล้ชิด (ห้าวหลาม) ไหว้อีกครั้ง
 อนึ่ง การจุดธูปไหว้ผู้ตายนั้น ถ้าคู่มีชีวิตของผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ ให้จุดธูปเพียงดอกเดียว ถ้าตายแล้วทั้งคู่จึงใช้ธูป ๒ ดอก
 หลังจากนั้น ชาวบ้านก็จะช่วยกันนำเครื่องประดับคลุมโลงศพ (ก่วนต่า) มาคลุมบนโลง และนำไม้สำหรับหามโลงมาประกอบเข้าด้วยกัน ตามปกติจะต้องใช้คนหามถึง ๓๒ คน เมื่อทุกอย่างพร้อม ก็จะเริ่มเคลื่อนศพไปสู่หลุมฝัง
ขบวนแห่ศพ ประกอบด้วย
 ๑.  หน้าขบวนเป็นแผ่นผ้าเนื้อดิบคลุมทับด้วยหมัว (ห้าวหลามฉ้าย) พร้อมกับมีการโปรยกระดาษเงินไปตลอดทาง
 ๒.   ญาติถือฆ้องใหญ่ ๑ คู่
 ๓.   ญาติถือโคมไฟ ๑ คู่
 ๔.  ญาติหามวอกระดาษใส่รูปผู้ตาย แลกระดาษถางธูป (ห้าวหลามเต๋ง)
 ๕.   ลูกเขยหรือญาติหามวอลูกเขย (เกี้ยส้ายเต๋ง) กรณีที่ไม่มีลูกเขยไม่ต้องใช้
 ๖.   รถบุปผชาติ(ฮั้วเซี้ย)บรรทุกรูปผู้ตาย
 ๗. รถบรรทุกพระนำทาง (เป็นประเพณีไทยที่ผสมเข้ามา)
 ๘. ขบวนหามโลง ซึ่งลูกหลานใกล้ชิดจะเดินอยู่ข้าง ๆ โดยมีลูกชายใหญ่หรือหลานชายใหญ่ถือตงฮวนและมีขบวนญาติ ๆ เดินตาม และร้องร่ำพรรณาถึงผู้ตายไปตลอดทางเมื่อถึงบริเวณทางแยกหรือสะพานลูกหลาน และญาติเหล่านี้ต้องร้องบอกผู้ตายให้ข้ามสะพานหรือผ่านทางแยก
 ๙.   ขบวนรถยนต์ที่แห่ตามไปส่งศพที่สุสาน

สิ่งที่จะต้องเตรียมก่อนฝังศพ
 ๑.   ด้าย ๕ สี สำหรับผูกกระถางธูป
 ๒.   หมึกแดง
 ๓.   พู่กัน ๑ บาน
 ๔.   กระจกบานเล็ก ๆ ๑ บาน
 ๕.   กระถางธูป ๑ กระถาง
 ๖.   ข้างเปลือก ถั่วเขียว ตะปู พอสมควร
 ๗.   อาหารคาวหวานประกอบด้วย ข้าว ๑ ถ้วย ตะเกียบ ๑ คู่ กับข้าว ๔ อย่าง เหล้า เครื่องเซ่นไหว้ (ไก่ หมู หมี่) ๒ ชุด
 เมื่อขบวนแห่ถึงที่ฝังศพ ก็จะถอดเครื่องประดับบนโลง (ก่วนต่า) ออก แล้วค่อยๆ หย่อนโลงลงในหลุม เพื่อนบ้านจะช่วยกันหยิบดินใส่หลุมคนละ ๓ กำ และกลบหลุมในที่สุด  เมื่อกลบหลุมศพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ลูกหลานก็จะนำเครื่องเซ่นไหว้และเหล้าไปไหว้เจ้าที่ ๑ ชุด ส่วนข้าวปลาอาหารและเครื่องเซ่นไหว้อีกชุดนำมาวางไว้ที่หน้าหลุมศพ ต่อจากนั้นพระภิกษุจันก็จะทำพิธีสวดรอบหลุมศพอีกครั้งหนึ่ง โดยพระภิกษุจีน จะลั่นกระดิ่ง เดินนำตามด้วยลูกชายใหญ่ ถือตงฮวน  ลูกชายรอง หรือหลานชายคนโตแบกภาพถ่ายติดตามด้วยญาติใกล้ชิดอื่น ๆ เดินวนรอบหลุมศพจนกว่าจะสวดเสร็จ หลังจากนั้นภิกษุจีนเจิมภาพถ่ายผู้ตายสำหรับนำไปเซ่นไหว้ที่บ้าน แล้วหว่าน เมล็ดถั่วเขียว ตะปู ข้างเปลือก ไปทั่วบริเวณหลุมศพ บุตรชายใหญ่จึงนำตงฮวนไปปักไว้เหนือหลุมศพ และนำดินบริเวณหลุมฝังศพไปใส่กระถางธูปไว้เซ่นไหว้ที่บ้าน (ฮ้วนจู้) การนำดินบริเวณหลุมฝังศพกลับไปเซ่นไหว้ที่บ้านจะยกเว้นเมื่อพิธีฝังกระทำในเดือน ๗ ของจีน ส่วนกระดาษ (เต๋ง) และโคมไฟ (เต้ง) จะนำไปไว้ที่บ้านจนครบ ๗ วัน ขณะนำกลับบ้านจะต้องกลับทางเดิมที่ได้แห่ศพมา พร้อมกับหยอดเหล้าไปตลอดทางจนกว่าจะถึงบ้าน

พิธีครบ ๗ วัน
 ชาวจีนมีความเชื่อกันว่า เมื่อผู้ตาย ตายครบ ๗ วัน จึงจะรู้ตัวว่าตายไปแล้ว เพราะเมื่อครบ ๗ วัน กลับมาบ้าน ลูกหลานจะทำพิธีตั้งโต๊ะเซ่นไหว้อาหาร หนึ่งในจำนวนอาหารเหล่านี้มีข้าวเหนียวกวนอยู่ด้วย เมื่อผู้ตายไปหยิบข้าวเหนียวกวนซึ่งมีความเหนียวอยู่ เนื้อจะหลุดติดอยู่ที่ข้าวเหนียว จึงรู้ตัวว่าได้ตายไปแล้ว (เพราะเหตุนี้ชาวจีนจึงไม่นิยมให้ฉีดฟอร์มารีน แก่ศพ) ในโอกาสเดียวกัน จะมีการทำพิธีกงเต๊ก ซึ่งถือว่าเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ในพิธีนี้จะมีหุ่นจำลองที่ทำด้วยกระดาษสีต่าง ๆ และไม้เป็นรูปบ้าน รถยนต์ เกี้ยว คนรับใช้ และอุปกรณ์เครื่องใช้อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ครบถ้วน ของเหล่านี้เมื่อเสร็จพิธี จะเผาอุทิศให้ผู้ตาย เช่นกัน ในพิธีกงเต๊กนี้ จะมีพระภิกษุมาสวดทำพิธี
 พิธีครบ ๗ วัน เริ่มต้นในตอนเช้าของวันที่ ๗ ลูกหลานจะนำเครื่องเซ่นไหว้ ๒ ชุด พร้อมขนมหวาน (ขนมเต่า ขนมถ้วยฟู ข้าวเหนียวกวน ถั่วเคลือบ) ไปไหว้ที่หลุมศพ หลังจากนั้นจึงกลับบ้าน จัดอาหารคาวหวานไหว้ภาพถ่ายผู้ตายที่บ้าน ถ้ารายใดจะมีพิธีกงเต๊กก็จะกระทำกันในช่วงนี้ ตกบ่ายก็จะนำเอาหุ่นกระดาษต่าง ๆ ในพิธีกงเต๊ก พร้อมวอกระดาษ (เต๋ง) และโคมไฟ (เต้ง) ไปเผาที่หลุมฝังศพอีกครั้งเป็นอันเสร็จพิธี

การไว้ทุกข์


 ลูกหลานใกล้ชิดต้องไว้ทุกข์โดยการสวมใส่เสื้อผ้าเนื้อดิบเป็นเวลา ๑ ปี และห้ามตัดผมเป็นเวลา ๑๐๐ วัน ผลัดเป็นไว้ทุกข์ด้วยชุดเสื้อผ้าสีเขียวหรือน้ำเงินอีก ๑ ปี จึงผลัดใส่เสื้อผ้าสีแดงได้  ส่วนญาติอื่น ๆ อาจไว้ทุกข์เพียงสวมใส่เสื้อผ้าขาวเนียน ผ้าถุงหรือกางเกงดำเป็นเวลา ๓ เดือน ก็ผลัดเปลี่ยนเป็นสีอื่นได้


ไหว้อาพั้ว(ไหว้แม่ซื้อ)


 อาพั้วนี้  คือ  เจ้าแม่คุ้มครองเด็ก ๆ เสมือนหนึ่งเป็นพี่เลี้ยง  จึงเรียกกันว่า  อาพั้วที่คนไทยเรียกกันว่า  พ่อซื้อแม่ซื้อ  คนจีนมีคำเต็มเรียกท่านว่า  กงพั้ว  ม่าพั้ว  ผู้ใหญ่บางคนเรียกสั้น ๆ ว่ากงพั้ว  แต่ฟังมาว่านามเต็มของท่าน  คือ  กิมฮวยกงพั้ว
 คนจีนมีธรรมเนียมเมื่อเด็กเกิดใหม่  โดยเฉพาะลูกคนแรกของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเด็กชายหรือเด็กหญิง  พ่อแม่ของฝ่ายหญิงที่ลูกสาวออกเรือนไปแล้วเพิ่งคลอดบุตรจะต้องจัดเตรียมของไหว้ให้ลูกสาว  อธิษฐานขอให้คุ้มครองดูแลลูกเล็กของเรา
ของไหว้สำหรับอาพั้ว  จะมี
 “อะหนึ่ง”  คือ  ไข่เป็ดต้มย้อมสีแดง  กี่ฟองก็ได้
 เชียะลิ้วฮวย  คือ  กิ่งทับทิม
 หมูต้ม ๑  ชิ้น
 ทอง
 เปลเด็ก
 ผ้าผวยเด็ก
 ของใช้เด็ก  เช่น  สบู่  แป้ง
ปริมาณของไหว้มากน้อยก็ได้  เช่น  บางบ้านเตรียมทองไหว้ถึง  ๓๐  บาท  บางบ้านก็ได้แค่บาทเดียวพอเป็นพิธี  วันไหว้ก็แล้วแต่ธรรมเนียมนิยมของแต่ละบ้านเช่นกัน  เพราะบางบ้านก็ไหว้เร็ว  คือ  พอเด็กอายุได้  ๑๒  วัน  ก็ไหว้แล้ว  บางบ้านก็รอให้ออกเดือนก่อน  บางบ้านก็ไหว้ตอนเด็กอายุได้  ๔๐  วัน  บางบ้านก็รอจนเด็กอายุ  ๔  เดือนจึงจะไหว้ก็มีและที่ไม่ดูอายุเด็กแต่ดูที่ฤกษ์ยามก็มี  แต่การไหว้นี้จะไหว้ที่บ้านที่เด็กอยู่  โดยไหว้เจ้าที่  แล้วอธิษฐานถึง  อาพั้ว  ขอให้ช่วยคุ้มครองลูกหลานที่เพิ่งเกิดจนกว่าจะโต
แต่ก็อาจมีบางท่านที่ไปไหว้องค์อาพั้วที่วัดเล่งเน่ยยี่  โดยท่านจะอยู่ทางด้านขวามือใครที่ไม่เคยไปแต่อยากไปไหว้ท่าน  ให้ถามเจ้าหน้าที่ได้ว่าองค์ไหนคืออาพั้ว  หรือมิฉะนั้นก็มองหาเจ้าพ่อเห้งเจียเป็นหลัก  เมื่อเจอแล้ว  ตู้ที่อยู่ติดกันทางซ้ายจะมีเจ้าพ่อเจ้าแม่ประมาณ  ๔ องค์ อาพั้ว จะอยู่ซ้ายมือสุด  เป็นองค์เจ้าแม่อุ้มเด็ก
ทุกปีเมื่อถึงวันเกิดของอาพั้ว  คือ วันที่ ๗  เดือน  ๗  ของจีน  จะจัดงานฉลองตั้งแต่วันที่  ๑  เดือน ๗  ของจีน  จนถึงวันที่  ๗  คนจีนที่เคร่งหน่อย  และยังมีลูกหลานที่ยังเด็กอยู่  จะนิยมมาไหว้อาพั้วในเทศกาลนี้เป็นพิเศษ  ขนมไหว้อาพั้วเนื่องในวันเกิดของท่าน  จะมี
 “เซียะลิ้มก้วย”  หรือ   ขนมทับทิม  รูปร่างขนมบอกเป็นนัยว่านี่คือขนมเด็กผู้ชาย
 ชากั๊กเล้าก้วย  หรือ ขนมสามเหลี่ยมสามมุม  ชา  แปลว่า  สาม กั๊กเล้า  แปลว่า  มุมนั่นเอง    เพราะขนมนี้เป็นรูปสามเหลี่ยม หมายถึงขนมเด็กผู้หญิง
 ท่านที่สนใจสำหรับเทศกาลนี้  คือ  คนที่ไม่มีลูกจะนิยมมาขอลูกกับท่านในช่วงนี้  โดยถ้าอยากได้ลูกชาย  ก็ให้มาจุดธูปอธิษฐานขอ  แล้วจะขโมยเซียะลิ้วก้วยหรือขนมเด็กผู้ชายกลับบ้าน  ไปกิน  ๑  ชิ้น  ถ้าอยากได้ลูกสาวก็ขโมยชากั๊กเล้า  หรือขนมเด็กผู้หญิงไปกิน  ๑  ชิ้น  ตรงนี้เป็นเคล็ดว่าต้องขโมยของที่คนเอามาไหว้  เมื่อได้ลูกสมใจแล้ว  ปีหน้าก็อย่าลืมมาไหว้ขอบคุณท่าน  พร้อมขนมไหว้ให้คนคู่อื่นได้มาขโมยมั่ง  แล้วไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีขนมพอให้ขโมย
ประเพณีการเกิด
 ในสมัยก่อนจะคลอดลูกที่บ้าน  โดยหมอตำแย  (แม่ทาน)  หลังคลอดแล้วมีการอยู่ไฟโดยใช้ก้อนหิน  (ก้อนเซ้า)  มาย่างไฟ  จากนั้นจึงนำมาห่อผ้าจึงค่อยนำมาตั้งบริเวณท้อง  เพื่อให้มดลูกเข้าอู่  โดยใช้เวลา  ๗  วัน  อาหารที่คนคลอดลูกรับประทาน  ส่วนใหญ่รับประทานหมู  ต้มหมู  โดยนำมาผัดด้วยน้ำมันงา  กินแกงพริกเพื่อให้น้ำนมมาก  ห้ามกินของแสลง  ของเย็น  อาทิเช่น  กล้วยหอม  แตงกวา  แตงโม  ฯลฯ
 เด็กที่เพิ่งคลอดจะต้องกินน้ำตาลแดง  โดยนำน้ำตาลแดงมาละลายน้ำใส่ในผ้า  ให้เด็กดูดโดยเชื่อว่าจะได้ล้างท้อง  ให้สิ่งสกปรกที่อยู่ในท้องเด็กออกมา
 มีการใช้ด้าย  ๓  สี  คือ  แดง  ดำ  ขาว  มาควั่นจากนั้นนำไปผูกที่เอวเด็กและข้อมือ  เพื่อเป็นขวัญแก่แม่สื่อไม่ให้เด็กตกใจ
 เมื่อทารกคลอดครบ  ๑  เดือน จะทำพิธีครบเดือนหรือชาวภูเก็ตเรียกว่า  “มั๋วโง้ย”  พอเด็กครบเดือนพ่อแม่จะทำการโกนหัวเด็กแล้วทำความสะอาดเสร็จเรียบร้อย  ก็จะพามาไหว้พระที่ศาลเจ้าผมที่โกนคือ  ผมไฟ  ถือเป็นสิ่งสกปรก  เขาจะทำการไหว้เทวดา  ไหว้เจ้าแม่กวนอิม  ไหว้แม่ซื้อหรืออาพั้ว แม่ซื้อชื่อจู้แซ่เหนี่ยวเหนียว  คือ  เทพเจ้าแห่งการเกิดเป็นผู้ลิขิตการเกิด  พ่อแม่ของเด็กจะนำเด็กมาไหว้แม่ซื้อ  เพื่อเป็นการขอบคุณที่เทพเจ้าประทานเด็กมาให้และขอให้ช่วยคุ้มครองเด็กให้อยู่เย็นเป็นสุข
ขนมที่นำมาไหว้มี
 ขนมเต่า  เรียกว่า  อังกู๋  อังแปลว่าแดง  กู๋ แปลว่า  เต่า
 ขนมถ้วยฟู  เรียกว่า  ฮวดโก้ย
 ขนมอิ่วปึ่ง  ประกอบด้วย  ข้าวเหนียวกวน  หัวหอมเจียว  มีหมูหรือไก่สับ ไข่ไก่ทาสีแดง  ย้อมสีแดงเพื่อเป็นสิริมงคล

ความหมายของขนม


ขนมเต่า  หมายถึงให้อายุมั่นขวัญยืน
อิ่วปึ่ง หมายถึงให้มีความกลมเกลียวและสามัคคี
ขนมถ้วยฟู หมายถึงให้ความเจริญรุ่งเรือง
 เมื่อไหว้แม่ซื้อเสร็จพ่อแม่ของเด็กก็จะนำขนมที่เตรียมไว้ไปแจกญาติ ๆ เพื่อเป็นการบอกกล่าวให้ญาติพี่น้องทราบและเพื่อแจ้งให้รับรู้ว่าได้มีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นและตอนนี้ก็มีอายุครบเดือนแล้ว  เมื่อญาติ ๆ ได้รับขนมอิ่วปึ่งแล้วเขาจะให้ของขวัญเด็กกลับมาจะเป็นหมี่สั้ว , ข้าวสาร , ไข่ , น้ำตาลกรวด  หรือ  อังเปา  สมัยนี้จะนิยมให้อังเปามากกว่าสิ่งของ
 หมี่สั่ว หมายถึง ให้อายุยืน
 ข้าวสาร หมายถึง ให้เป็นเสบียงอุดมสมบูรณ์
 ไข่ หมายถึง ให้มีบุตรหลานสืบทอดกันต่อไป
 น้ำตาลกรวด หมายถึง ให้มีชื่อเสียงและเกียรติยศ

 

การกินผักในประเทศจีน


 การกินผักนั้นได้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกที่มณฑลกังไส ประเทศจีน ในครั้งนั้นมีเศรษฐีใจบุญคนหนึ่งได้สร้างบ้านใหม่ขึ้นหลังหนึ่งและเขาตั้งใจไว้ว่า ก่อนที่จะเข้าไปอยู่บ้านหลังใหม่ เขาจะทำบุญทำทานให้คนยากจนเป็นเวลาติดต่อกัน ๑๐๐ วัน เมื่อใกล้จะครบกำหนด ก็ปรากฏว่า มีขอทานคนหนึ่งมาขออาศัยในบ้านหลังใหม่ของท่านเศรษฐีผู้นี้ ขอทานคนนี้เผอิญเป็นคนป่วยที่ป่วยโรคเรื้อน ตามร่างกายมีน้ำเหลืองไหลเยิ้มและส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้ง อย่างไรก็ตาม ท่านเศรษฐีก็อนุญาต ข้างฝ่ายขอทานเมื่อเข้าไปในบ้านของเศรษฐีแล้ว ก็เพียงเอามือที่เปื้อนน้ำเหลือง ป้ายเช็ดตามฝาผนัง แต่เศรษฐีก็มิได้กล่าวว่าอะไร (ความจริงแล้ว ขอทานคนนั้นก็คือ เซียนผู้วิเศษที่ปลอมตัวมาเพื่อช่วยเหลือมนุษย์)


 เมื่อครบ ๑๐๐ วัน เศรษฐีใจบุญและบริวารก็เข้าไปในบ้านหลังใหม่ แทนที่จะเห็นฝาผนังบ้านสกปรกเลอะเทอะไปด้วยน้ำเหลือง พวกเศรษฐีกลับได้เห็นภาพที่งดงาม และนอกจากนี้ยังพบว่ามีข้อความที่เขียนบอกไว้ว่า อีกไม่นานมณฑลกังไสจะประสบภัยธรรมชาติร้ายแรง จนถึงกับจมหายไปในมหาสมุทร แต่ด้วยเหตุที่ท่านเศรษฐีทำบุญทำทานไว้มาก จึงบอกวิธีแก้ไขเหตุร้ายให้โดยชาวกังไสจะต้องประกอบพิธีถือศีลกินเจ ตามพิธีการที่เขียนบอกไว้บนฝาผนังเป็นเวลาถึง ๙ วัน ๙ คืน และจะต้องถือศีลปฏิบัติเป็นประจำทุกปี โดยปฏิบัติทุกต้นเดือน ๙ ของจีน ของทุกปี ชาวกังไสก็ได้ปฏิบัติตามและรอดพ้นจากภัยธรรมชาติครั้งนั้นไปได้ ต่อมาประเพณีกินเจจึงแพร่กระจายไปทั่วประเทศจีน และแพร่ไปยังประเทศอื่น ๆ อีกด้วยที่มีชาวจีนอาศัยอยู่
ประเพณีการกินผักในจังหวัดภูเก็ต


 ประเพณีการกินผักในจังหวัดภูเก็ต เป็นประเพณีที่ชาวภูเก็ตเลื่อมใสและมีความศรัทธาเป็นอย่างมาก เป็นประเพณีดั้งเดิมที่ได้ปฏิบัติสืบเนื่องและติดต่อกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน โดยได้รักษาและยึดมั่นในขนบธรรมเนียมเดิมเอาไว้แทบทั้งหมด อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปบ้าง ก็เป็นเพียงส่วนประกอบเล็กน้อยเท่านั้น
 นักโบราณคดีและผู้ที่มีความสนใจในประเพณีนี้เป็นจำนวนมาก ได้ศึกษาค้นคว้าทั้งจากหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์และตำนานที่เกี่ยวข้อง ปรากฏผลสรุปออกมาถูกต้องและตรงกันว่า การถือศีล – กินเจ ในจังหวัดภูเก็ต เริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกในราวปี พ.ศ.๒๓๖๘ พระยาถลาง(เจิม) ได้ย้ายเมืองถลางมาตั้งที่เมืองใหม่ บ้านเก็ตโฮ่ เป็นแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์ ผู้คนจึงหลั่งไหลไปขุดหาทรัพย์ในดินกันเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นคนจีน ทั้งที่อพยพมาจากเมืองกลางเดิม และจากเมืองจีน โดยผ่านเข้ามาทางแหลมมลายูในปีนั้น ได้มีงิ้วเร่ชาวจีนคณะหนึ่ง หรือที่เรียกกันเป็นภาษาจีนว่า “ปั่วฮี” เดินทางมาเปิดการแสดงขึ้นที่ “หมู่บ้านเก็ตโฮ่” หมู่บ้านหนึ่งที่อยู่ในอำเภอกะทู้ในปัจจุบัน เปิดการแสดงให้ชาวจีนด้วยกันที่เดินทางเข้ายึดอาชีพกรรมกรเหมืองแร่ได้ชม คณะงิ้วเร่ชาวจีนคณะนี้เปิดการแสดงได้ระยะหนึ่งก็เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นทั้งคณะ ทำให้ฉุกคิดขึ้นได้ว่าเทพยดาหรือองค์พระผู้ศักดิ์สิทธ์ที่พวกตนเคารพและนับถือ คงจะลงโทษพวกตน เนื่องจากพวกตนได้ละเลยการถือศีล – กินเจ ตามประเพณีที่พวกตนเคยทำ ปรากฏว่าหลังจากนั้น การเจ็บไข้ได้ป่วยของคนในคณะได้หายไปหมดสิ้น เหตุการณ์ที่ปรากฏทำให้บรรดาคนจีนทั้งที่เป็นกรรมกรเหมืองแร่ และที่ได้ยึดถืออาชีพอื่น เกิดความเลื่อมใสและศรัทธา จึงได้ขอถ่ายทอดประเพณีและได้พร้อมใจกันปฏิบัติตามแบบอย่างและตามคำแนะนำของหัวหน้าคณะงิ้วเร่


 สำหรับสถานที่ประกอบพิธีกินผักครั้งแรกนั้นอยู่ ข้างบ้านนาย “ไฮ้” (ปัจจุบันเป็นที่ดินเอกชน อยู่ก่อนถึงศาลเจ้ากินผัก กะทู้ หรือ ไล่ทู้ เต้าบูเก้ง ประมาณ ๕๐ เมตร) แต่เนื่องจากต่อมาเป็นสถานที่ดังกล่าว   คนจึงได้มีการขยับขยายมาอยู่ที่ ศาลเจ้า กินผักกะทู้จนถึงทุกวันนี้


 การที่บรรดาชาวจีนในหมู่บ้านเก็ตโฮ่ ได้ร่วมกันยึดถือประเพณีกินผักตามแบบอย่างของคนคณะงิ้วเร่ ก็ปรากฏผลดี คือโรคภัยไข้เจ็บของคนในหมู่บ้านลดน้อยลงมาก ผู้ที่อาศัยในหมู่บ้านอื่น ๆ ที่อยู่ในอำเภอกะทู้ด้วยกันและต่างอำเภอ ก็เริ่มสนใจและพากันเลื่อมใสศรัทธา และได้ปฏิบัติตามจนเต็มพื้นที่ทั้งจังหวัดภูเก็ต


 จากนั้นมาประมาณได้สัก ๒ – ๓ ปี มีชายจีนคนหนึ่ง (ไม่ปรากฏชื่อ) เป็นชาวเมืองกังไส ได้เดินทางเข้ามาอยู่ในอำเภอกะทู้เช่นเดียวกับชาวจีนคนอื่น ได้ปรารภกับชาวจีนด้วยกันว่า พิธีการกินผักที่ปฏิบัติกันอยู่นั้นยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ คือได้ปฏิบัติกันเอง หากจะให้สมบูรณ์ตามแบบฉบับแล้ว จะต้องไปบอกกล่าวและกระทำพิธีอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ศาลเจ้าต้นกำเนิดที่มณฑลกังไส วิธีการก็คือ ไปจุดธูปใหญ่ เพื่อเป็นการบอกกล่าว และขออัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้มาสิงสถิตอยู่ที่ศาลเจ้ากินเจกะทู้ บรรดาชาวจีนชาวจีนได้ช่วยกันสร้างขึ้นมา การอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็คือ การนำเอาควันธูป (เฮี้ยวโห้ย) หรือควันไฟ (เฮี้ยวเหี้ยน) กลับมา หากทำได้เช่นนี้แล้ว การถือศีล – กินเจ ก็จะสมบูรณ์แบบทุกอย่าง และหากประสงค์จะให้เป็นเช่นที่กล่าวนี้ตนเองยินดีที่จะไปดำเนินการให้ แต่ติดขัดที่ยังขาดทุนทรัพย์สำหรับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง


 เมื่อคำปรารภของชาวจีนผู้นี้ได้รู้กันทั่ว หลวงอำนาจธนารักษ์ จึงได้สละทรัพย์และชาวอำเภอกะทู้จึงได้ตกลงมอบหมายให้ชายจีนผู้นี้ไปดำเนินการตามที่ปรารภ โดยได้ช่วยกันออกเงินจนได้จำนวนที่เพียงพอ ชายจีนผู้นี้จึงได้ออกเดินทางไปยังมณฑลกังไส ชาวกะทู้ก็เริ่มรอคอยวันกลับ ปี่ที่หนึ่งผ่านพ้นไป ปีที่สองก็ผ่านพ้นไปอีก จนกระทั่งผ่านไปเป็นปีที่สาม ไม่มีวี่แววและข่าวคราว ชาวกะทู้ต่างรู้สึกว่าได้ถูกชายจีนผู้นี้หลอกลวงแล้ว ความสนใจที่จะติดตามข่าวคราวก็เริ่มจางหายไป
 แต่พอเข้าปีที่สี่ ตอนกลางคืนของวันก้วโห๊ยโฉ่ยฉีด หรือตอนกลางคืนของวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๙ (จีน) ได้มีเรือใบลำหนึ่งแล่นเข้าเทียบหัวท่าบางเหนียว (ท่าเรือบางเหนียว) หรือบริเวณสะพานหินในปัจจุบัน ในเรือมีชายจีนคนนั้นเดินทางมาด้วย ได้นำ เฮี้ยวโห้ย (ควันธูป) คือมีธูปที่ติดไฟและควันปักอยู่ในเฮี้ยวหล่อ (กระถางธูป) มาด้วย พร้อมกับคัมภีร์ ตำรา เลี่ยนตุ่ย (ป้ายชื่อ) และสิ่งสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับประเพณีกินผักอีกหลายอย่าง ทราบภายหลังว่า การนำควันธูปมานั่น ได้ใช้วิธีต่อธูป ตลอดระยะทางการเดินทางจากมณฑลกังไส จนถึงหัวท่าบางเหนียว โดยธูปจะไม่ดับเลย ซึ่งถือได้ว่าเป็นความมานะพยายามที่ควรแก่การสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง


 ข่าวการกลับมาของชายจีนผู้นี้พร้อมกับความสำเร็จที่ได้รับปากไว้ ยังความปลาบปลื้มและปิติโสมนัสให้แก่ชาวกะทู้เป็นอย่างมาก พร้อมใจกันจัดขบวนใหญ่ไปทำการต้อนรับที่หัวท่าบางเหนียว และได้นำควันธูปพร้อมกับสิ่งสำคัญต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เข้าในศาลเจ้ากินผักกะทู้ ความสมบูรณ์ของประเพณีกินผักตามประเพณีดั้งเดิม ได้เริ่มมีขึ้นในช่วงนั้นเป็นต้นมา และจนบัดนี้สิ่งต่าง ๆ ที่ชายจีนผู้นั้นได้นำมาจากศาลเจ้าในมณฑลกังไส ก็ยังคงเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติที่ล้ำค่าของศาลเจ้ากะทู้อยู่จนถึงปัจจุบันนี้


 และจากที่ควันธูปศักดิ์สิทธิ์ จากถิ่นกำเนิดของประเพณีได้มาสู่ภูเก็ตโดยได้ถูกนำขึ้นจากเรือที่หัวท่าบางเหนียว หรือที่บริเวณสะพานหินในปัจจุบัน บริเวณสะพานหินจึงเป็นสถานที่สำคัญสำหรับศาลเจ้าทุกแห่งในจังหวัดภูเก็ตที่จะต้องจัดขบวนพระไปคารวะ หรือไปประกอบพิธีกรรมในระหว่างช่วงงานประเพณี จึงกล่าวได้ว่า บริเวณสะพานหินกับงานประเพณีกินผักมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด

 

การประกอบพิธีกรรม


 ก่อนพิธีหนึ่งวัน จะมีการทำความสะอาดศาลเจ้ารมกำยาน ไม้หอม และมีการยกเสาธง (ภูเก็ตเรียก “เสาโกเต็ง” ตรังเรียก “เต็งโก้”) ไว้หน้าศาลเจ้า สำหรับอัญเชิญดวงวิญญาณของเจ้า พอเที่ยงคืนก็ประกอบพิธีอัญเชิญยกอ๋องฮ่องเต้ (พระอิศวร) และกิวอ๋องไตเต หรือกิวฮ๋องฮุดโจ้ว(ผู้เป็นใหญ่ทั้งเก้า) มาเป็นประธานในพิธี จากนั้นก็แขวนตะเกียงน้ำมัน ๙ ดวง อันเป็นสัญลักษณ์ของดวงวิญญาณกิวอ๋องไตเต ไว้บนเสาโกเต็งอันแสดงว่า พิธีกินเจเริ่มขึ้นแล้ว
 การใช้ตะเกียงน้ำมัน ๙ ดวง ก็เพื่อให้หมายถึง ดวงวิญญาณของกิวอ๋องไตเตหรือเก้าอ๊วงไตเต คำว่า “เก้าอ๊วง” หรือ “กิวอ๋อง” แปลว่า นพราชา ตามตำราโหราศาสตร์จีน ก็หมายถึง ดาวนพเคราะห์นั่นเอง โดยเชื่อกันว่า ดาวเคราะห์ ๙ ดวงนี้ เกิดจากการแบ่งภาคของเทพเจ้า ๙ องค์ ซึ่งทรงอำนาจมาก บริหารธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และธาตุทอง เทพเจ้าทั้ง ๙ นี้เกิดจากการแบ่งภาคของอดีตของอดีตพระพุทธเจ้า ๗ องค์ กับพระมหาโพธิสัตว์ ๒ องค์ เทพเจ้าแห่งดาวนพเคราะห์นี้มีคุณแก่โลกมาก เพราะธาตุทั้งหลายที่พระองค์ประทานให้เป็นของจำเป็นประจำในสรรพสังขาร
 หลังจากที่ทำพิธีรับเจ้ามาเป็นประธานในศาลแล้ว ก็ทำพิธีวางกำลังทหารรักษาการณ์ตามทิศ เรียกว่า “พิธีปังเอี้ย” หรือ “ปั้งกุ๊น” พิธีนี้จะใช้ธงสีต่าง ๆ ปักเป็นสัญลักษณ์
พิธีย่อยในเทศกาล
ในช่วงเวลาทำพิธี ๙ วัน จะมีพิธีย่อย ๆ หลายอย่าง ได้แก่
พิธีบูชาเจ้า
 ในวันแรกของพิธี จะมีการบูชาเจ้าด้วยเครื่องเซ่นต่าง ๆ ทั้งอ๊ามและตามบ้านของผู้กินเจ เมื่อกินเจได้ครบ ๓ วัน จะถือว่าผู้นั้นสะอาด บริสุทธิ์ หรือที่เรียกกันว่า “เช้ง” ตอนนี้จะมีการทำพิธีเชิญเจ้า ๒ องค์ มาร่วมพิธี องค์แรกเป็นเจ้าซึ่งทำหน้าที่สำรวจผู้มาเกิด ชื่อ “ลำเต้า” อีกองค์เป็นเจ้าซึ่งทำหน้าที่สำรวจผู้ที่ตายไป ชื่อ “ปั้กเต้า”

พิธีโขกุ้น


 หมายถึงการเลี้ยงทหาร ซึ่งจะทำพิธีในวัน ๓ ค่ำ ๖ ค่ำ และ ๙ ค่ำ หลังเที่ยง พอเริ่มพิธีต้องมีการเตรียมอาหารและเหล้าสำหรับเซ่นสังเวยเลี้ยงทหาร และมีหญ้าหรือพวกถั่วเพื่อเป็นอาหารของม้า และเมื่อเสร็จพิธีแล้วตอนกลางคืนจะมีการเรียกตรวจพลทหารตามทิศ เรียกว่า “เซี่ยมเมี้ย”  หรือ “ฮั่นเอี๊ย”

พิธีซ้องเก็ง


 เป็นการสวดมนต์ โดยจะเริ่มทำการสวดมนต์ตั้งแต่เมื่อพระกิ๋วอ๋องไตเต หรือกิ๋วอ๋องฮุดโจ้วเข้าประทับในโรงพระ และจะทำพิธีสวดวันละ ๒ ครั้งในตอนเช้าและตอนย่ำค่ำ เป็นลักษณะการสวดมนต์เช้าและสวดมนต์เย็น โดยเฉพาะกลางคืนหลังจากสวดมนต์ซึ่งใช้บทสวด คือ ปักเต้าเก็ง ก็จะมีการ “ตักซ้อ” คืออ่านรายชื่อของผู้ที่เข้าร่วมกินเจ ซึ่งอ่านต่อหน้าแท่นบูชาพระกิ๋วอ๋องฮุดโจ้ว เป็นลักษณะการเบิกตัวเข้าเฝ้าเจ้า

พิธีบูชาดาว


 จะทำในคืนวัน ๗ ค่ำ เพื่อขอให้ช่วยคุ้มครองผู้กินเจ ในพิธีนี้จะมีการทำ “ฮู้” (กระดาษยันต์) แจก

พระออกเที่ยวหรือการแห่เจ้า


 เป็นการออกประพาศเพื่อโปรดสัตว์หรือทำนองออกเยี่ยมราษฎรของพระมหากษัตริย์ โดยจะมีขบวนธงและป้ายชื่อแห่นำหน้า จากนั้นก็จะเป็นเกี้ยวหามพระ เรียกว่า “ถ้ายเปี้ย” โดยจะหามรูปพระบูชาต่าง ๆ ออกนั่งเกี้ยวไป ซึ่งจะจัดตามชั้นและยศของพระ เช่น จากสิ่ญขึ้นไปก็เป็นง่วน  โส่ย สูงไปอีกก็เป็นไตเต้ สูงขึ้นไปเป็นฮุด จากนั้นจะเป็นขบวนพระเกี้ยวใหญ่หรือตั่วเหรียญ ซึ่งมักจะใช้คน ๘ คนหาม และมีฉัตรจีนกั้นไปด้วย จะเป็นที่ประทับของกิ๋วอ๋องฮุดโจ้ว
 ในขณะที่ขบวนแห่ผ่านไป ชาวบ้านก็จะตั้งโต๊ะบูชาหน้าบ้าน และจุดประทัดต้อนรับขบวนเมื่อผ่านไปถึง

 

การลุยไฟ (โข้ยโห้ย หรือ โก๊ยโห่ย)


 กองไฟถือว่าเป็นกองไฟศักดิ์สิทธิ์ ในแง่ความศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นการแสดงถึงอิทธิฤทธิ์ที่บังคับไฟไม่ให้ร้อน หรืออาจจะถือว่าเป็นไฟทิพย์ ใช้ชำระความสกปรกของร่างกายให้บริสุทธิ์ โดยลุยทั้งคนทรงเจ้าที่กำลังประทับทรง หรือประชาชนโดยทั่วไปก็ได้

 

พิธีโก๊ยห่าน


 จะทำหลังจากพิธีลุยไฟ โดยให้ผู้ที่ต้องการสะเดาะเคราะห์ตัดกระดาษเป็นรูปตัวเอง พร้อมเหรียญ ๒๕ สตางค์และต้นกุ๊ยฉ่าย ๑ ต้น นำมาที่ศาลเจ้าแล้วให้ม้าทรง (ผู้ประทับทรง) ประดับตราด้านหลังของเสื้อที่ใส่ เรียกว่า “ค้ำยิ่น”

 

พิธีส่งพระ


 ทำในวันสุดท้ายของการถือศีลกินผัก โดยตอนกลางวันจะมีการส่งเทวดาคือ เง็กเซียนฮ่องเต้ ซึ่งมักจะส่งกันที่หน้าเสาธง ส่วนตอนกลางคืนจะมีการส่งพระกิ๋วฮ๋องฮุดโจ้วกลับสวรรค์ โดยส่งกลับทางทะเล
 เมื่อขบวนส่งพระออกพ้นประตู ไฟทุกดวงในโรงพระต้องดับสนิทหมด แล้วปิดประตูใหญ่ ตะเกียงที่เสาธงจะดึงขึ้นสูงสุด ตอนเช้าของวันแรกหลังจากเสร็จงานกินเจ จะมีการลงเสาธงและเรียกกำลังทหารกลับหลังจากที่เลี้ยงทหารเสร็จแล้ว หลังจากนั้นก็จะเปิดประตูใหญ่ เมื่อได้ฤกษ์ตามวันในปฏิทิน หรือตามที่เจ้าสั่งไว้

วันสำคัญในระหว่างเทศกาล


ช่วง ๙ วัน มีวันสำคัญ ได้แก่วันฉิ้วชา (๓ ค่ำ) , วันฉิวลัก (๖ ค่ำ) , วันฉิวเก้า (๙ ค่ำ)
 ทั้ง ๓ วันที่กล่าวมานี้ จะมีพิธีกรรมหลังเที่ยงคืน พอเริ่มพิธีต้องมีการเตรียมอาหารและเหล้าสำหรับเซ่นสังเวย เลี้ยงทหาร และมีหญ้า หรือพวกถั่ว เพื่อเป็นอาหารของม้า และเมื่อเสร็จพิธีแล้ว ตอนกลางคืนจะมีการเรียกตรวจพลทหารตามทิศเรียกว่า “เซี่ยมเนี้ย” หรือ “ฮั่นเอี้ย”
 ในสามวันนี้ทุกอ้ำจะต้องทำพิธีบวงสรวงทหารของเจ้า ซึ่งเป็นบริวารของเจ้าแต่ละองค์ ทหารของเจ้าแต่ละองค์ก็จะมีทหารบริวารมากมาย ทหารของเจ้านั้น เขาเชื่อกันว่า แบ่งออกเป็นกอง ๆ ตามทิศต่าง ๆ ได้ ๕ ทิศ  ได้แก่
 ๑. ทิศใต้ ใช้ธงสีแดง มีทหาร  ๘๘,๐๐๐   คน
 ๒. ทิศเหนือ ใช้ธงสีดำ มีทหาร  ๕๕,๐๐๐   คน
 ๓. ทิศตะวันออก  ใช้ธงสีเขียว มีทหาร  ๙๙,๐๐๐   คน
 ๔. ทิศตะวันตก ใช้ธงสีขาว มีทหาร  ๖๖,๐๐๐   คน
 ๕. ทิศกลาง (กองกลาง) ใช้ธงสี
เหลือง มีทหาร  ๓๓,๐๐๐   คน
 จนกระทั่งถึงวันที่ ๖ จะมีการประกอบพิธีปล่อยพระ หรือ “ปั้งกุ้น” หรือ พิธีจัดกำลังทหารบริวารขอพรเจ้าไปรักษาการณ์แวดล้อมศาลเจ้าทั้ง ๔ ทิศ พิธีบูชาดาว จะทำในคืนวัน ขึ้น ๗ ค่ำ เพื่อขอให้ช่วยคุ้มครองและความเป็นสิริมงคลแก่ผู้กินผัก พิธีนี้จะมีการแจกกระดาษยันต์ หรือที่เรียกว่า “ฮู้”

ความหมายของตะเกียงเก้าดวง


(เก้าอ๊วงเจ หรือ กิวอ๊วงเจ)


พิธีกินเจเดือนเก้า   ตามปฏิทินจีนทุก ๆ ปี มีกำหนด ๙ วันนั้น ในลัทธิมหายานในพระพุทธศาสนาได้อธิบายว่า เป็นการประกอบพิธีกรรมสักการะบูชา (ที่ศักดิ์สิทธิ์แผ่เมตตากรุณาจิต โปรดสัตว์ให้รอดตายได้จริง ๆ พระอริยเจ้าสรรเสริญคุณธรรมแบบนี้มาก) พระพุทธเจ้า ๗ องค์ กับมหาโพธิสัตว์อีก ๒ พระองค์ รวมเป็น ๙ พระองค์ด้วยกัน หรือนัยหนึ่งเรียกว่า ดาวพระเคราะห์ทั้ง ๙ อันมี พระอาทิตย์, พระจันทร์, ดาวพระอังคาร, ดาวพระพุทธ, ดาวพฤหัสบดี, ดาวพระศุกร์, ดาวพระเสาร์ พระราหูและพระเกตุ พิธีเก้าอ๊วงเจนี้ กำหนดเอาวันตามจันทรคติ คือ เริ่มตั้งแต่วันขึ้น ๑ ค่ำ ถึง ๙ ค่ำ เดือน ๙ (ปฏิทินจีน) รวม ๙ วัน ๙ คืน พิธีกรรมสักการบูชาพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ กับพระมหาโพธิสัตว์อีก ๒ พระองค์นี้ ผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาต่างสละโลกียวัตร และบำเพ็ญศีลสมาทาน กินเจ (ถือมังสวิรัติ) บริโภคแต่อาหารผักและผลไม้ ยกเว้นไม่กระทำกิจใด ๆ อันนำมาซึ่งความเบียดเบียนเดือดร้อนให้แก่สัตว์ทั้งปวง กล่าวคือ
 ๑. ไม่เอาชีวิตของสัตว์มาต่อเติมบำรุงชีวิตของเรา
 ๒. ไม่เอาเลือดของสัตว์มาเป็นเลือดของเรา
 ๓. ไม่เอาเนื้อของสัตว์มาเป็นเนื้อของเรา
ซักฟอกมลทินออกจากร่างกาย, วาจาและใจ เบื้องต้นแห่งพิธีกรรมเก้าอ๊วงเจ มีข้อความ กล่าวไว้ว่า ดังนี้
ในกาลครั้งหนึ่ง สมเด็จพระบรมศาสดาทรงประทับอยู่ ณ สิวาลัยรัตนสถาน มีบรรดามหาโพธิสัตว์, ท้าวมหาพรหม, ท้าวสักการะ, เทพเจ้า, ยักษ์, นาค, คนธรรพ์, กินนร ฯลฯ ได้พากันมาเฝ้าสมเด็จพระพุทธองค์ ในขณะนั้นมีพระมัญชุศรีมหาโพธิสัตว์ได้ทูลถามต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อันพระเทพสัตตเคราะห์ทั้ง ๗ พระองค์ ได้กุศลสะสมมาได้อย่างไร กับมีปัจจัยเหตุผลอย่างไร จึงได้เสวยทิพย์ผลอันรุ่งเรือง พร้อมเพรียบไปด้วยยศและอำนาจในเทวภพนี้” สมเด็จพระบรมศาสดาจึงมีพระพุทธดำรัสตอบว่า “ดูมัญชุศรี ฯ อันดาวเทพสัตตเคราะห์ ๗ นั้น แท้ที่จริงเป็นพระอวตารภาพแห่งอดีตพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ ทรงแบ่งภาคมาแสดงให้ปรากฏกับพระมหาโพธิสัตว์อีก พระองค์ก็แบ่งภาคมาเป็นดาวพระราหูและดาวพระเกตุ รวมเป็นดาวพระเคราะห์ทั้ง ๙  ฉะนั้น จึงสมบูรณ์ด้วยอลังการแห่งยศและอำนาจ อันไม่มีปริมาณเห็นปานฉะนี้”
 ในพระสูตรปั๊กเต้าฮุดเซียวไจเฮียงซิ่วเมียงกง กล่าวพระนามพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ กับพระมหาโพธิสัตว์ ๒ พระองค์ คือ
 ๑. พระวิชัยโลกมนจรพุทธะ
 ๒. พระศรีรีตนะโบกประภาโฆษอิศวรพุทธะ
 ๓. พระเวปุลลรัตนะโลกสุวรรณสิทธิพุทธะ
 ๔. พระอโศกโลกวิชัยมงคลพุทธะ
 ๕. พระวิสุทธิอาศรมโลกเวปุลลปรัชญาวิภาคพุทธะ
 ๖. พระธรรมมติธรรมสาครจรโลกมโนพุทธะ
 ๗. พระเวปุลลจันทรโภคเภสัชชไวฑูรย์พุทธะ
 ๘. พระศรีสุขโลกปัทมครรภอลังการมหาโพธิสัตว์
 ๙. พระศรีเวปุลภสังสารโลกสุขะอิศวรมหาโพธิสัตว์
พระพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์ กับพระมหาโพธสัตว์ ๒ ทรงตั้งปณิธานจักโปรดสัตว์โลก จึงได้แบ่งภาคมาเป็นเทพยเจ้า ๙ พระองค์ ด้วยกัน คือ
 ๑. ไต้ซวยเอี๊ยงเม้งทัมหลั่งไท้แชกุน
 ๒. ไต้เจียกอิมเจ็งกื๊อมิ้งง้วนแชกุน
 ๓. ไต้ควงจิงหยี้งอกชุ้งกุน
 ๔. ไต้เฮ้งเผี่ยงเม้งบุ่งเคียกนิวแชกุน
 ๕. ไต้ปิ๊กตังง้วนเนี้ยมเจงกังแชกุน
 ๖. ไต้โห้วปั๊กเก๊กบู๊เคียกกี่แชกุน
 ๗. ไต้เพียวเทียนกวงผั่วกวงแชกุน
 ๘. ตั่งเม้งงั่วหูแชกุน
 ๙. อุ้นกวงไลเพี๊ยกแชกุน
เทพยเจ้าทั้ง ๙ พระองค์นี้ ทรงอำนาจตะบะอันเรืองฤทธิ์บริหารธาตุน้ำ, ธาตุไฟ, ธาตุลมและธาตุทอง ทั่วทุกพิภพน้อยใหญ่สารทิศ จึงทรงแบ่งภาคต่อจากนี้อีกวาระหนึ่ง เป็นดาวนพเคราะห์ (ดาวพระเคราะห์ ๙ ดวง) ดังต่อไปนี้
 ๑. ดาวโห้เอียงแช คือ  พระอาทิตย์
 ๒. ดาวไท้กิมแช คือ  พระจันทร์
 ๓. ดาวฮวยแช คือ  ดาวพระอังคาร
  ๔. ดาวจุ๊ยแช คือ  ดาวพระพุทธ
 ๕. ดาวบั๊กแช คือ  ดาวพฤหัสบดี
 ๖. ดาวกิมแช คือ  ดาวพระศุกร์
 ๗. ดาวโหว้แช คือ  ดาวพระเสาร์
 ๘. ดาวล่อเกาแช คือ  พระราหู
 ๙. ดาวโกยโต๊วแช คือ  พระเกตุ
 เทพเจ้าทั้ง ๙ พระองค์ ทรงเครื่องแบบพระมหาราชา ประชาชนจึงได้ถวายพระนามว่า เก๊าอ๊วง หรือ กิวอ๊วง แปลว่า นพราชา (ตีความตามหลักนักโหราศาสตร์) กำหนดเวลาทุก ๆ ปี ของขึ้น ๑ ค่ำ ถึง ๙ ค่ำ ในเดือน ๙ ตามจันทรคติ (ฝ่ายจีน) เทพเจ้าประจำดาวนพเคราะห์ต่างองค์ทรงผลัดเปลี่ยนกันลงมาตรวจ โลกทั้งกลางวันและกลางคืน บุคคลใดที่มีความประพฤติดี ก็จักทรงประทานพรอำนวยความสมบูรณ์พูนสุขให้ หากว่าบุคคลใดมีความประพฤติในทางอกุศลกรรมวิถี ก็จักลงโทษตามโทษานุโทษ เทพยเจ้าแห่งดาวนพเคราะห์ ทรงพระคุณธรรมแก่โลกอเนกประการ เฉพาะอย่างยิ่ง คือ ธาตุดิน, ธาตุน้ำ, ธาตุไฟ, ธาตุลมและธาตุทอง ที่พระองค์ทรงประทานไว้ ให้แต่ละอย่างเป็นของจำเป็นประจำในสรรพสังขาร อันไม่มีจำกัด รวมทั้งมนุษย์, สัตว์ทุกชนิด, ต้นไม้ ฯลฯ
 มนุษย์  ถ้าหากไม่มีธาตุลมก็ถึงแก่ความตาย
 มัจฉาชาติ  ถ้าหากไร้ธาตุน้ำเป็นที่อาศัย ก็ต้องตาย
 พฤกษชาติ  ถ้าหากหมดธาตุดิน ก็อับเฉากิ่งใบแห้งเหี่ยวตาย
 สัตว์โลก  ถ้าหากหมดธาตุไฟในร่างกาย ก็มีชีวิตอยู่ไม่ได้
 ในลัทธิมหายานมีกล่าวไว้ว่า “ดาวนพเคราะห์ทั้ง ๙ ดวงนี้ ต่างกระทำการในหน้าที่หมุนเวียนธาตุทั้ง ๕  ให้แก่โลกมนุษย์นับเป็นเวลาหลายล้านปีมาโดยมิได้หยุดพักเลยก็เนื่องด้วยพระองค์ทรงบัญชาบริรักษ์ควบคุมอยู่ และทรงเล็งทิพยญาณว่า ถ้าหากดวงดาวนพเคราะห์จะหยุดพักแม้เพียงขณะใดขณะหนึ่ง แม้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นก็จะเกิด มหันตภัยอย่างใหญ่หลวงสุดจะประมาณได้ โลกมนุษย์ก็จะถึงซึ่งความพินาศลง มนุษย์กับสัตว์โลกจะต้องตายหมด อันพิธีบูชาดาวนพเคราะห์นั้น นับว่ามีอานิสงค์มากมายทั้งเป็นกรรมคติและเกิดธรรมมิตรสู่บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายได้มีโอกาสกระทำการวิสาสะกัน ในยามที่ต่างคนต่างมีจิตใจเบิกบาน ผ่องแผ้ว ถือศีลกินเจ, นุ่งขาวห่มขาว อันเป็นปัจจัยเตือนตนเองให้สำนึกว่า ตนเป็นคนที่บริสุทธิ์ขาวสะอาด ทั้งกาย วาจาและใจ พร้อมกันนี้ขอน้อมรับพระมหากรุณาธิคุณได้โปรดประทานพระอภิบาลรักษา พระมหากษัตริย์องค์อมรพร้อมทั้งทวยนิกรให้อยู่เย็นเป็นสุข สมดังปรารถนาด้วยเทอญ

ศีล หรือ ข้อห้าม ที่ควรยึดถือปฏิบัติ
ควบคู่ไปกับการกินผัก
  ๑. ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
  ๒. ละเว้นจากการบริโภคเนื้อสัตว์ หรือ อาหารคาว ทุกชนิด
  ๓. ละเว้นจาการกล่าวคำเท็จ คำหยาบโลน คำด่า หรือ คำเสียดสีเยาะเย้ยผู้อื่น
  ๔. ละเว้นจากการประดับประดาด้วยโลหะ ทองคำ เพชรนิลจินดา หรือของมีค่า และเครื่องประดับกายที่ทำขึ้นจากหนังสัตว์ทุกชนิด
  ๕. ห้ามลักขโมย หรือยักยอกทรัพย์สินเงินทองของผู้อื่นมาใช้ประโยชน์หรือมาเป็นสมบัติของตน
  ๖.ห้ามทำร้ายร่างกายและจิตใจของผู้อื่น
  ๗. ห้ามดื่มสุรายาดอง และของมึนเมาทุกชนิดทุกประเภท
  ๘. ห้ามมั่วสุมเล่นการพนัน
  ๙. ห้ามสัมผัส ห้ามแตะต้อง หรือพูดจาทำนองเกี้ยวพาราสีต่อเพศตรงข้ามด้วยความจงใจ
 ๑๐. ห้ามใช้ภาชนะตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้ปะปนกับผู้ที่ไม่ได้ถือศีลกินเจ
 ๑๑. ห้ามเข้าไปในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในสถานที่ที่เต็มไปด้วยสิ่งยั่วยวนใจ
 ๑๒. บริจาคใจส่วนที่พึงจะบริจาคให้ได้
 ๑๓. สวดมนต์ – ไหว้พระทุกเช้าและค่ำ
 ๑๔. ร่วมพิธีกรรมต่าง ๆ ด้วยความเลื่อมใสและศรัทธา
 ๑๕.ช่วยเหลือและสนับสนุนงานประเพณีด้วยความสมัครใจและด้วยความเต็มใจ

 

อาหารของคนกินผัก


การรับประทานอาหาร “มังสวิรัติ” ไม่ใช่การกินผักของชาวภูเก็ต มังสวิรัติ เป็นอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ ส่วนการกินผักนั้น นอกจากห้ามรับประทานเนื้อสัตว์ต่าง ๆ แล้ว ผักบางชนิด ก็ห้ามรับประทาน ได้แก่ 
 ๑. กระเทียม, ต้นกระเทียม
 ๒.หัวหอม (ต้นหอม, ใบหอม, หอมแดง, หอมขาว, หอมหัวกระเทียม  (หัวใหญ่)
 ๓. หลักเกียว  (ลักษณะคล้ายหัวกระเทียมแต่เล็กกว่า)
 ๔. กุยช่าย      (ชื่อผักชนิดหนึ่ง คล้ายต้นหอมหรือกระเทียมแบน ๆ กลิ่นฉุน)
 ๕. ใบยาสูบ  (บุหรี่ ยาเส้น ของเสพติดมึนเมา)
ผักเหล่านี้ เป็นผักที่มีรสหนัก กลิ่นรุนแรง นอกจากนี้ยังให้โทษทำลายพลังธาตุทั้ง ๕ ในร่างกายเป็นเหตุให้อวัยวะหลักสำคัญภายในทั้ง ๕ ทำงานไม่ปกติ คือ กระเทียม ทำลายการทำงานของหัวใจ กระเทือนถึงธาตุไฟในร่างกาย หัวหอมทำลายการทำงานของไต กระเทือนถึงธาตุน้ำในร่างกาย หลักเกียวทำลายการทำงานของม้าม กระเทือนถึงธาตุดินในร่างกาย กุยช่ายทำลายการทำงานของตับ กระเทือนถึงธาตุไม้ในร่าง
 สำหรับผู้ปฏิบัติสมาธิ กรรมฐาน ไม่ควรรับประทานเป็นอย่างยิ่ง เพราะผักดังกล่าวมีฤทธิ์กระตุ้นจิตใจ อารมณ์ให้เร่าร้อน ใจคอหงุดหงิด โกรธง่าย และยังมีผลทำให้พลังธาตุในกายรวมตัวไม่ติด
 ปัญหาที่มีผู้ถามกันมาก คือ กระเทียม ซึ่งทางการแพทย์ และเภสัช พบว่าสามารถรับประทานเป็นยาได้ ทั้งนี้ เพราะมีสารที่สามารถละลายไขมันในเส้นโลหิตได้ (คลอเรสเตอรอล) เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคเส้นโลหิตเลี้ยงหัวใจตีบ หรืออุดตัน  เป็นต้น ข้อนี้เป็นความจริง แม้ทางการแพทย์แผนโบราณก็ยืนยันตรงกันว่ากระเทียมเป็นสมุนไพรรักษาโรคได้
 แต่กรณีของคนปกติทั่วไปที่ร่างกายไม่ได้ป่วยเป็นโรคใด ๆ เลย  ทำไมจึงต้องรับประทานยาเข้าไปทุก ๆ วัน ตัวอย่างเช่น
 คนที่ไม่ได้ป่วยเป็นหวัด แต่ก็ยังรับประทานยาแก้ไข้หวัดเป็นประจำทุกวัน ผลก็คือ แทนที่จะเป็นผลดี กลับก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ

 


ประเพณีการแต่งงาน

 

 เดิมทีพิธีกรรมต่าง ๆ ในการแต่งงานเป็นแบบจีนแท้ ๆ ต่อมาค่อยเปลี่ยนแปลงให้
สะดวก และทันสมัยขึ้น เป็นการแต่งงานแบบจีนปีนัง คือ มีส่วนผสมระหว่างจีนกับมลายูและเป็นแบบจีนในที่สุด (หลังจากมาเลเซียตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ) คือ แต่งกายแบบยุโรป แต่กระทำพิธีแบบจีน โดยเริ่มจากการสู่ขอ การหมั้นและแต่งงาน
 การสู่ขอ ฝ่ายชายจะจัดผู้ใหญ่ไปเจรจาสู่ขอฝ่ายหญิง ซึ่งแต่เดิมมักจะเป็นลักษณะของการคลุมถุงชน เพราะประเพณีจีนบุตรหลานจะต้องอยู่ในโอวาทของผู้ปกครองอย่างเคร่งครัด ถ้าการสู่ขอสำเร็จ ผู้ใหญ่ที่ไปสู่ขอก็จะได้ขาหมูเป็นรางวัล
 การหมั้น เมื่อการสู่ขอเป็นผลสำเร็จ ฝ่ายชาย – หญิง จะกำหนดวันหมั้น และเมื่อถึงวันหมั้นฝ่ายชายจะจัดของหมั้นและธูปเทียนพร้อมขนมห่อกระดาษแดง ใส่หาบหรือตะกร้าแบบจีน (เซี่ยหนา) เดินทางไปยังบ้านฝ่ายหญิง เมื่อเข้าสู่บ้านและญาติทั้งสองฝ่ายพร้อมแล้ว ก็จะนำขนมหวานต่าง ๆ ที่เตรียมมา ไหว้พระประธานภายในบ้านและบรรพบุรุษ เสร็จจึงเริ่มพิธีหมั้น การหมั้นแบบจีนนั้น ที่ตัวแหวนจะผูกด้วยแดง และฝ่ายชาย และฝ่ายหญิงจะต้องนำแหวนหมั้นมาแลกกัน เสร็จจากพิธีหมั้นก็จะนำขนมที่ห่อกระดาษแดงไปแจกญาติพี่น้องและมิตรสนิทเป็นการประกาศให้รับทราบเรื่องการหมั้น
 การแต่งงาน หากการหมายผ่านพ้นไปด้วยดีทั้งสองฝ่ายก็จะกำหนดวันแต่งงาน เนื่องจากชาวจีนนิยมนำสะใภ้เข้าอยู่ในบ้านฝ่ายชาย ดังนั้น เมื่อถึงวันแต่งงานจะจัดให้มีการเลี้ยงขึ้นทั้งสองฝ่าย และในตอนเช้าเจ้าบ่าวก็จะนำขบวนรถแห่ไปรับเจ้าสาวที่บ้าน หลังจากทำพิธีไหว้พระประธานและบรรพบุรุษของฝ่ายหญิงแล้ว ยกน้ำชารับไหว้ญาติฝ่ายหญิง (พางเต๋) เสร็จแล้วออกไปไหว้เจ้าตามศาลเจ้าต่าง ๆ ที่นิยมคือ อ้ำปุดจ้อ และเดินทางต่อไปยังบ้านฝ่ายชาย ทำพิธีไหว้พระประธานประจำบ้าน และบรรพบุรุษ ต่อจากนั้นเป็นการยกน้ำชาญาติฝ่ายชาย ในการนี้บิดามารดาและญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชายก็จะรับไหว้ด้วยเครื่องทองและทองแดงตามแต่ฐานะ
 เวลาประมาณ ๒ ทุ่ม โดยมีคนสูงอายุที่รวย มีชีวิตแต่งงานที่ยืนยาวมีความสุข มาทำพิธีเวียนเสื่อ เวียนหมอน ของแต่ละคนเป็นอันเสร็จสิ้นพิธี ต่อจากนั้นก็จะส่งตัวเจ้าสาวเข้าหอ ซึ่งตามประเพณีเจ้าสาวจะต้องอยู่ในหอและห้ามออกข้างนอกเป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน ทีเดียว แต่ปัจจุบันนี้ อาจมีการละเว้นข้อนี้บ้างแล้ว

 

ประเพณีวันชาติจีน (เดือน ๑๐)


 ในสมัยก่อนจังหวัดภูเก็ตมีการแห่โคมไฟในวันชาติจีนทุกปี ในวันที่ ๑๐ ตุลาคม โดยให้นักเรียนโรงเรียนจีนแต่งชุดกีฬาถือธงชาติจีนและโคมไฟแห่ จะแห่ในเวลาประมาณ ๔ ถึง ๖ โมง กลางคืนมีการจุดโคมไฟและแต่ละบ้านตกแต่งบ้านด้วยธงชาติจีน
 การแห่ธงชาติมีมาตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ เลิกปี ค.ศ.๑๙๔๙ จึงมีการยกเลิกเนื่องจากมีคำสั่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม


งานบุญเดือนสิบ

วันเวลาที่จัด
 การทำบุญเดือนสิบจะถือนิยมเอาวันแรม ๑๕ ต่ำ เดือน ๑๐ เป็นวันทำบุญ บางวัดอาจจะใช้วันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๐ ก็ได้ สำหรับในจังหวัดภูเก็ตนั้นมีบางวัดทำบุญเดือน ๑๐ ก่อนวัดอื่น ๆ เช่น วัดพระทอง (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐) วัดเทพกระษัตรี (วัดบ้านดอน) ทำในวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๐ ส่วนวัดอื่น ๆ ในจังหวัดภูเก็ตจะ จัดพิธีในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ กันทุกวัด
 งานบุญเดือน ๑๐ มิได้มีในภาคใต้เท่านั้น หากมีทั่วไปในทุกภูมิภาค แต่จะเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปตามสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมของสังคมนั้น ๆ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ตรงกันคือการนำผลผลิตทางการเกษตรไปเลี้ยงผี และเลี้ยงพระ สำหรับในภาคใต้นี้ถือว่างานเดือน ๑๐ ของเมืองนครศรีธรรมราชเป็นงานบุญที่คงศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้มากที่สุดและจัดเป็นงานใหญ่จนกลายเป็นประเพณีประจำจังหวัดไป


ประวัติความเป็นมา


 งานเดือน ๑๐ เป็นชื่อเรียกตามปฏิทินไทย มักจะอยู่ในราวเดือนกันยายน ประเพณีนี้น่าจะสืบทอดมาจากศาสนาพราหมณ์ของอินเดีย และได้ถ่ายทอดมายังเขมร ในตำราพราหมณ์เดือนนี้จะตรงกับเดือน “ภัทรบท”  ซึ่งเป็นฤดูสารท ในภาษามคธ หมายถึง ชื่อฤดูในระหว่างฤดูฝนกับฤดูหนาว คือ ฤดูใบไม้ร่วง ในภาษาสันสกฤต หมายถึง การทำบุญให้แก่ญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ส่วนในหนังสืออภิธาน สันสกฤต-ไทย-อังกฤษ โดยนายร้อยเอกหลวงบวรบรรณรักษ์ (นิยม รักไทย) ให้คำแปลสารทว่า ใหม่,การเพาะปลูกในฤดูร้อน ข้าวอันสุกในฤดูร้อน
 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้พระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือ พระราชพิธีสิบสองเดือน เกี่ยวกับพิธีสารทเดือนสิบว่า “พิธีภัทรบก” เป็นพิธีของพราหมณ์ ทำอย่างไสยศาสตร์แท้ ไม่ได้เกี่ยวกับศาสนาพุทธ แต่เป็นเครื่องนำหน้าพิธีสารท พิธีเดือน ๑๐ คงเป็นส่วนของพราหมณ์เอง ในกลางเดือนพิธีหนึ่งเพื่อจะเป็นการชำระบาปของตัวให้บริสุทธิ์ไว้กระทำพิธีสารทซึ่งจะมีต่อไปในปลายเดือนหลัง
 พิธีแรก คือ พิธีกลางเดือน ๑๐ เรียก ภัทรบก ส่วนพิธีหลัง คือ พิธีปลายเดือนนั้น เรียกว่า พิธีสารท สำหรับของไทยนั้นไม่จัดพิธีภัทรบก อาจจะเป็นว่าเราจัดรวมอยู่ในพิธีเดือน ๑๐ เพียงครั้งเดียวก็ได้
 จากหนังสือนางนพมาศ ก็ได้กล่าวถึงพิธีนี้ว่า “ครั้นเดือน ๑๐ ถึงการพระราชพิธีภัทรบก เป็นนักขัตฤกษ์มหาชนทำมธุปายาสทานและจะเด็ดรวงข้าวสาลี เป็นปฐมเก็บเกี่ยว ชีพราหมณ์ทั้งปวงก็เริ่มการพลีกรรมสรวงสังเวยบูชาพระไพสพ”
 สรุปว่า พิธีสารทเดิมเป็นพิธีพราหมณ์และได้สืบเนื่องเข้ามาในประเทศไทย พุทธจึงทำอย่างพราหมณ์ พราหมณ์ก็มีการกวนข้าวธุปายาส เพื่อเลี้ยงพราหมณ์ พุทธก็มีการกวนข้าวธุปายาส เพื่อเลี้ยงบูชาพระรัตนตรัยและอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย

กิจกรรมที่ชาวภูเก็ตจัดในงานเดือนสิบ


 ชาวบ้านเตรียมอาหารคาวหวาน โดยเฉพาะอาหารที่ปู่ย่าตายายชอบ พร้อมกระทงเปรต (โทงเปรต) เมื่อถึงวัดนำอาหารในปิ่นโตไปตักแบ่งอาหารสำหรับพระสงฆ์หรือจะถวายทั้งปิ่นโตค่อยมารับกลับก็ได้ แล้วมาทำพิธีกรรมทางศาสนาที่ศาลาการเปรียญ รับศีลฟังธรรม บังสุกุลชื่อตายายที่ล่วงลับไปแล้ว หลังจากเสร็จพิธีกรรมนี้พระสงฆ์จะสวดพาหุงให้ศีลให้พร ชาวบ้านจะไปตักบาตรที่หลาบาตร (ศาลาตักบาตร) ร่วมกันถวายอาหารแก่พระสงฆ์ รอจนพระฉันท์อาหารเสร็จ ลูก ๆ หลาน ๆ ก็จะล้อมวงกันรับประทานอาหาร หลังจากกินอิ่มหนำสำราญแล้วก็จะทำพิธีตรวจน้ำ อุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เตรียมกระทงเปรตไปวางนอกวัด แจกทานแก่ชาวเล เป็นอันเสร็จพิธีกรรมในเดือนสิบ


------------------------------------
(ภาพกระทงเปรต)
------------------------------------


กระทงเปรต (โทงเปรต) เป็นกระทงใบตองขนาดถ้วยแกงใหญ่ ๆ ๑ ใบ ภายในจะมีกระทงเล็ก ๆ ใส่อาหารคาว-หวาน จะต้องนำไปตั้งนอกวัด แต่ละครอบครัวก็จะนำไปตั้งเรียงไว้นอกประตูวัด เรื่องการตั้งโทงเปรตนั้นเป็นพิธีกรรมที่สืบทอดมาแต่โบราณว่าปู่ ย่า ตา ยาย ของเราที่ล่วงลับไปแล้ว ยังไม่ได้ผุดได้เกิด จะไปทรมานเป็นเปรตอยู่ พอถึงวันสารทเปรตจะต้องมารอรับทานจากลูกหลานอยู่นอกวัด ฉะนั้นขนมและอาหารที่เตรียมไปให้ก็จะรวมกันอยู่ในกระทง จะไม่ทำไม่ได้เพราะบรรพบุรุษที่มารอจะไม่ได้รับอาหารไป หรือมาแล้วลูกหลานไม่ไป ทำให้บรรพบุรุษเสียใจ


----------------------
(ภาพสอบช่อ)
----------------------


สอบช่อ เป็นเครื่องจักสานประเภทสมุกหมาก หรือกระสอบใส่ยาเส้น ทำด้วยใบเตยนา สอบช่อจึงเป็นภาชนะชนิดหนึ่งลักษณะคล้ายกระสอบ แต่มีขนาดเล็กกว่าเป็นชุดหรือเป็นพวง (ชุดละ) ๖ ใบ ด้านละ ๓ ใบ ลักษณะเป็นพวงสามารถหิ้วได้ เดิมชาวภูเก็ตใช้พาดบ่านำไปวัด ภายในสอบใบเล็ก ๆ  นั้นจะบรรจุหอม กระเทียม เกลือ น้ำตาล กุ้งแห้ง คว่ำปากห้อยลง เย็บปากกระสอบให้เรียบร้อย ก็จะเป็นชุดของแห้งไปวัด ทางวัดก็จะมีไม้ไผ่สำหรับห้อยหรือวางพาดช่อของชาวบ้าน


----------------------
(ภาพช่อ)
----------------------


ช่อ  ช่อสารทเป็นช่ออาหารสด เช่น ฟัก แฟง ผักสด ผลไม้ ผูกเป็นช่อ โดยใช้เชือกหวายผูกสิ่งของเหล่านั้นรวมไว้เป็นช่อ ช่อจะมีขนาดใหญ่หรือเล็กขึ้นอยู่กับกำลังศรัทธาของชาวบ้าน ปลายช่อที่ผูกมัดรวมกันจะทำเป็นห่วง สำหรับสอดคานหาบให้ชาวบ้านสอดไม้คานหามอาหารเหล่านี้ไปไว้ที่วัด เพื่อวัดจะได้นำไปประกอบอาหารสำหรับพระสงฆ์ในโรงครัวต่อไป


---------------
(ภาพจาด)
---------------


จาด  มีลักษณะคล้ายคานหาม ตรงกลางทำโครงลักษณะคล้ายสุ่มไก่ ทำยอดแหลมคล้ายกรวยเอาไว้สำหรับนำขนมลาประดับไว้โดยรอบ มีลักษณะคล้ายเจดีย์


พิธีสวดจาด  เมื่อจัดตกแต่งจาดเรียบร้อยแล้ว ก็นำจาดมาวางหน้าบ้าน จัดสถานที่ให้เรียบร้อย ตอนค่ำนิมนต์พระมาสวดฉลองจาด มีรำมะนาฉลองตลอดคืน ตอนเช้าชาวบ้านจะมาช่วยกันหามพุ่ม และจาดไปวัดเป็นอันเสร็จพิธีเรื่องจาด

ความมุ่งหมายของการจัดงานสารทเดือน ๑๐


 ๑. ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ตายายที่ล่วงลับไปแล้ว บางท่านอาจจะได้รับความลำบากอยู่ตามขุมนรกต่าง ๆ เมื่อตายายเหล่านั้นมีโอกาสได้มาเมืองมนุษย์อีก ลูกหลานต้องทำอาหารต้อนรับและให้นำกลับไปกินด้วย
 ๒. เป็นการชุมนุมญาติ บรรดาพี่น้องซึ่งอยู่ไกล ๆ เมื่อถึงเดือน ๑๐ จะต้องเดินทางกลับมาทำบุญให้บรรพบุรุษ
 ๓. สืบทอดประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมให้คงอยู่ต่อไป ขนมที่จัดไปในวันเดือน ๑๐ คือ ขนมลา ขนมพอง ขนมเทียน ขนมท่อนใต้ ขนมจูจุน ขนมเจาะรู  ขนมสะบ้า ขนมเหล่านี้มีความหมายต่าง ๆ เพื่อให้บรรพบุรุษนำเอาไปใช้ประโยชน์ทั้งสิ้น

 

-----------------------------------


เอกสารอ้างอิง
 จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, พระราชพิธีสิบสองเดือน. โรงพิมพ์รุ่งเรืองรัตน์,2505,718 หน้า.
 สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์และคนอื่น ๆ.ประเพณีเกาะภูเก็ต. ภูเก็ตการพิมพ์,2531,168 หน้า.
 ฤดี ภูมิภูถาวรและคนอื่น ๆ. แนวคิดในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวภูเก็ต.งานวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ,2531,172 หน้า.
ล. เสถียรสุต ประวัติวัฒนธรรมจีน. (ฉบับแก้ไขปรับปรุง). สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย กทม. 2516,552 หน้า
ประสิทธิ  ชิณการณ์. ชีวิตไทยถิ่นภูเก็ต. เอกสารหมายเลข 5 ฃ, สัมมนาทางวิชาการเรื่องประวัติศาสตร์ถลาง, 11-15 มีนาคม
2527.
สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์. คติชนด้านความเชื่อถิ่นภูเก็ต วัฒนธรรมที่ส่งผลอ
ย่างลึกซึ้งและท้าทาย. เอกสารหมายเลข8, เอกสาร
สัมมนาทางวิชาการเรื่องประวัติศาสตร์ถลาง. 11-15
มีนาคม 2527.
อวยชัย  ผกามาศ. ประเพณีไหว้พระจันทร์. ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม
วิทยาลัยครูภูเก็ต,สหวิทยาลัยทักษิณภูเก็ต
วิชัย  สกุลตัน. พิธีโก้ยห่าน. ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมวิทยาลัยครูภูเก็ต,สห
วิทยาลัยทักษิณวิทยาเขตภูเก็ต.


บรรณานุกรม


ไชยยุทธ  ปิ่นประดับ  ประเพณีกินผักของศาลเจ้ากะทู้  มปพ.
กรมศิลปากร  ถลาง  ภูเก็ต  และชายฝั่งทะเลอันดามัน   โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์และ  เศรษฐกิจ อมรินทร์ พริ้นติ้ง
เอกสารประกอบวิชา ประเพณีประจำท้องถิ่น “ถือศีล-กินเจ”
 โปรแกรมวัฒนธรรมศึกษา สถาบันราชภัฏ ภูเก็ต
เอกสารประกอบวิชา ประเพณีประจำท้องถิ่น “การไหว้ เทวดา”
 โปรแกรมวัฒนธรรมศึกษา  สถาบันราชภัฏภูเก็ต
เอกสารประกอบวิชา ประเพณีประจำท้องถิ่น “ประเพณีเด็ก ครบเดือน” โปรแกรมวัฒนธรรมศึกษา สถาบันราชภัฏภูเก็ต
เอกสารประกอบวิชาประเพณีประจำท้องถิ่น “ผ้อต่อ”   โปรแกรม
 วัฒนธรรมศึกษา สถาบันราชภัฏภูเก็ต

 

ประเพณีสารทจีน(พ้อต่อหรืออุลลัมพน)


ดิลก  วุฒิพาณิชย์.

เทศกาลพ้อต่อในจังหวัดภูเก็ต เป็น เทศกาลงานบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษ ซึ่งเป็นประเพณีนิยมที่ได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมานาน นับเป็นเวลาหลายชั่วอายุคนแล้ว ซึ่งยึดถือตามคติความเชื่อประเพณีจีน จึงกลายเป็นวัฒนธรรมความเชื่อที่อนุชนจีนหรือชาวไทยเชื้อสายจีนปฏิบัติสืบต่อกันมา 
งานเทศกาลนี้จัดให้มีขึ้น ตั้งแต่วัน ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ตามปฏิทินจันทรคติจีน(ประมาณเดือน ๙ ปฏิทินจันทรคติไทย) งานนี้มีไปจนถึงวันสิ้นเดือน 
งานเทศกาลพ้อต่อมีชื่อเรียกดั้งเดิมว่า “เทศกาลอุลลัมพน”      แต่ในปัจจุบันนิยมเรียกกันว่า“เทศกาลพ้อต่อ” ซึ่ง”พ้อต่อ”เป็นคำกร่อน  คำเต็มว่า  “พ้อต่อจ่งเซ้ง” ตามสำเนียงขาวจีนฮกเกี้ยนแปลเอาความว่า      ”กิจกรรมโปรดสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากห้วงแห่งความทุกข์โดยทั่วกัน”    
      “เทศกาลอุลลัมพน” ภาษาจีนฮกเกี้ยนว่า”อูหลานผูนโห่ย” คำว่า “โห่ย” หมายถึง “ชุมนุม,งานชุมนุม, คณะ,สโมสร,สมาคม, สภาฯลฯ”  คำว่า “อูหลานผูนโห่ย”   จึงแปลว่า “งานชุมนุมอุลลัมพน” เดิมทีใข้คำเต็มวลีว่า“อูหลานผูนเซ่งโห่ย”  แปลว่า”งาน เฉลิมฉลองเทศกาลอุลลัมพน”  ต่อมากร่อนเหลือเพียงว่า “อูหลานเซ่งโห่ย” แปลว่าอะไรไม่ทราบและคงจะไม่มีใครทราบ ถ้าไม่เดาความ ปัจจุบันชาวเมือง จึงนิยมเรียกว่า”พ้อต่อ” เฉย ๆ ก็ไม่ยุ่งยากอะไร
“พ้อต่อ” เป็นกิจกรรมท้องถิ่นที่ทำกันในคราวสมัยที่กำหนดไว้เป็นประเพณีทุกปี ดังเช่น ประเพณีสารทไทยเดือนสิบ วันตรุษสงกรานต์ ฯลฯ เป็นต้น จึงนิยมเรียกชื่อเต็มว่า “เทศกาลพ้อต่อ”
อนึ่ง คำว่า”อูหลานผูน”นี้เพี้ยนมาจากคำสันสกฤตว่า “อุลลัมพน” (“อุลฺลม-ฺพ น”) ซึ่งงคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทยได้อธิบายไว้ในพจนานุกรม พุทธศาสนาจีน-สันสฤต-อังกฤษ-ไทย หน้า ๔๑๖  ว่า “อุลฺลมฺพน แปลว่า แขวน,ห้อย,ห้อยย้อย, ชื่อพระสูตรหนึ่ง,พิธีทำบุญอุทิศให้บรรพบุรุษ ซึ่งแพร่หลายในประเทศจีน,ทำในวัน ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ของจีน”(“อุลลัมพนสูตร” คือ ชื่อพระสูตรในพุทธนิกายมหายาน-ผู้เรียบเรียง)
      พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง เล่มที่  ๒๗ ตอนที่ ๔๐ หน้า  ๑๓  ในขทิรังคารชาดก   ว่า “….ตกนรกมีเท้าขึ้นเบื้องบน มีศีรษะลงเบื้องล่าง….” นั่นคือ สภาพความทุกข์ยากยิ่งจากการทรมานในนรกภูมิ
      วัน ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ตามปฏิทินจันทรคติจีน มีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่า “เทศกาลจงหยวน”  หรือ   “ต่งหง่วนโจ่ย”ตามสำเนียงขาวจีนฮกเกี้ยน เป็นวันจันทร์เพ็ญเต็มดวง หรือวันปูรณมีครั้งแรกของกึ่งปีหลัง ถือเป็นวันสารทกลางปี สำเนียงชาวจีนฮกเกี้ยนว่า  “ชิดโหง่ยปั่ว” หรือ”เดือนเจ็ดกึ่ง” ซึ่งเป็นวันออกพรรษาภายหลังฤดูร้อน(ในเมืองจีน-ผู้เรียบเรียง)ตามคติทางพุทธศาสนานิกายมหายานและเป็นวันปวารณา ซึ่งเทียบได้กับวันมหาปวารณาตามคติพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทของไทย ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ คือ วันออกพรรษาตามปฏิทินจันทรคติไทย

วันปวารณาตามคติทางพุทธศาสนานิกายมหายานในวัน ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ตามปฏิทินจันทรคติจีน เทียบได้กับวันมหาปวารณาตามคติพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑วันออกพรรษาตามปฏิทินจันทรคติไทย
วันมหาปวารณา คือ ชื่อสังฆกรรมที่พระสงฆ์ทำกันในวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษาหรือในวันออกพรรษา เป็นวันที่ภิกษุสงฆ์ประชุมกันแล้ว กล่าวอนุญาตกันและกัน ให้ว่ากล่าวตักเตือนหรือทักท้วงกันได้ เมื่อได้เห็นได้ยินหรือนึกรังเกียจว่าใครทำอะไรผิดพลาด
เทศกาลจงหยวนหรือวันสารทกลางปี ตามประเพณีสารทจีนนี้ จะดำเนินไปตลอดทั้งเดือน ตามตำนานลัทธิเต๋าเชื่อกันว่า ประตูนรกจะเปิดออกปีละครั้งและบรรดาพวกผีทั้งหลาย ซึ่งมีมากมายหลายพวกจะออกมาบนพื้นโลก
พิธีสังฆกรรมของพุทธศาสนานิกายมหายานในวันปวารณาวัน ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ตามปฏิทินจันทรคติจีน.ปทานุกรมพุทธศาสตร์ประยุกต์ (ภาษาจีน) ฉบับรวมเล่ม. ๑๙๗๔:๘๒๒  อธิบายความว่า  “คณะภิกษุสงฆ์จีนจะจัดประชุมกันทำสังฆพิธีปวารณา พร้อมกับกระทำสังฆทานอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อให้หลุดพ้นจากห้วงแห่งความทุกข์ทรมานในนรกภูมิโดยทั่วกัน”
เทศกาลพ้อต่อ มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า  ”ซีโกวโจ่ย”  ตามสำเนียงชาวจีนฮกเกี้ยน  แปลว่า “เทศกาลอุทิศส่วนบุญให้วิญญาณโดดเดี่ยวไร้ญาติ”มีการจัดพิธี “ทิ้งกระจาด”   หรือทิ้งทานให้คนยากคนจน ซึ่งถือเป็นการอุทิศส่วนบุญให้วิญญาณไร้ญาติพร้อมกันด้วย
พระยาอนุมานราชธนได้กล่าวไว้ในสารานุกรมราชบัณฑิตสถานว่า พิธีทิ้งกระจาดนี้คล้ายกับพิธี”ชิงเปรต”อันเป็นประเพณีเนื่องในเทศกาลวันสารทเดือนสิบของชาวไทยภาคใต้ ดังความตอนหนึ่งว่า
“เรื่องชิงเปรตนี้ ดูไม่ผิดอะไรกับเรื่องทิ้งกระจาดของจีนที่เขาทำในกลางเดือน ๗ ของเขา ซึ่งตรงกับเดือน ๙ ของไทย.... การทิ้งกระจาดของจีนเป็นการทิ้งทานให้แก่พวกผีไม่มีญาติ ส่วนการไหว้เจ้าชิดง่วยปั่วหรือสารทกลางปีของเขา เป็นการเซ่นผีปู่ย่าตายาย คือ ทำบุญให้แก่ญาติที่ตายไป”
พิธีการไหว้สารทจีนอาจกระทำแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ บางบ้านจะจัดทำกัน ๓ ชุด เช่น  ไหว้เจ้าที่จะไหว้ในตอนเช้า ไหว้บรรพบุรุษจะไหว้ในตอนสาย ๆ  ส่วนไหว้”โฮเหี่ยตี่” จะเซ่นไหว้ในตอนบ่าย เป็นต้น หรืออาจจัดลำดับพิธีกรรมแตกต่างกันไปตามความสะดวกหรือประเพณีนิยมก็ได้
อนึ่ง “โฮเหี่ยตี่” ความหมายตามศัพท์ว่า ญาติพี่น้องผู้มีกัลยาณธรรมหรือญาติพี่น้องผู้ประพฤติดีงาม ซึ่งเป็นคำเรียกขานยกย่องบรรดาวิญญาณทั่ว ๆ ไป รวมทั้งสัมภเวสีผู้กำลังแสวงหาที่เกิดอยู่และบรรดาวิญญาณผีผู้โดดเดี่ยวหิวโหยไม่มีญาติด้วย
การเซ่นไหว้และทำบุญในงาน”ซีโกว” หรืองานบุญทิ้งกระจาด จึงน่าจะเป็นกุศลอย่างยิ่ง เพราะเป็นการให้สิ่งของแก่คนจน ๆ และผีผู้โดดเดี่ยวหิวโหยไร้ญาติอีกด้วย 
พุทธศาสนิกชน นับแต่โบราณกาลมาจะจัดพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษภายในบ้านและถือเป็นวันสำคัญ ญาติฝ่ายหญิงที่แต่งงานแล้วต้องกลับมาร่วมพิธีเซ่นไหว้ที่บ้านเดิม และการประกอบพิธัวิวาห์มงคลจะไม่จัดทำในช่วงเวลาระหว่างเทศกาลสารทจีนนี้

งานบุญทิ้งกระจาด หรืองาน”ซีโกว” เป็นงานบุญเซ่นไหว้บรรพบุรุษควบคู่กับการให้ทานแจกสิ่งของแก่คนยากคนจน และอุทิศส่วนกุศลให้แก่วิญญาณผู้โดดเดี่ยวหิวโหยไร้ญาติ นับเป็นกุศลธรรมอย่างยิ่ง ซึ่งพุทธศาสนิกชนจีนฝ่ายนิกายมหายานปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณกาล
คำว่า “ทิ้งกระจาด”  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕.ซีดีรอม  ให้คำอธิบายว่า  “ทิ้งกระจาด น.ประเพณีทางพระพุทธศาสนาแบบหนึ่งของชาวจีนและชาวญวนที่เอาสิ่งของต่าง ๆ บรรจุในภาชนะเครื่องสานรูปคล้ายกระจาดแล้วทิ้งให้เป็นทาน ทำกันในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ตามจันทรคติแบบจีน.”
ประเพณี”ซีโกว”หรืองานบุญทิ้งกระจาดนิยมทำกันมากในหมู่ชาวจีนแต้จิ๋ว ส่วนชาวจีนฮกเกี้ยน หรือชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดภูเก็ตนิยมจัดงานบุญ”พ้อต่อ”มากกว่า
ในช่วงเทศกาลงานพ้อต่อ ตามริมถนนต่าง ๆ ตามทางแยก ตามศาลเจ้าและสถานที่โล่งแจ้ง จะมีคณะกรรมการจัดงานที่จัดตั้งขึ้นเป็นเอกเทศแต่ละท้องที่ ดังนั้น ตามขนบประเพณีสืบทอดกันมา พิธีพ้อต่อ จึงแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ พิธีพ้อต่อที่จัดทำกันบนย่านถนน  ทำกันใน,แหล่งธุรกิจการค้า,ในวงเครือมิตรสหายญาติธรรม หรือในศาลเจ้าแห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า  “เกพ้อต่อ” “ฉี่พ้อต่อ”   “จูเต่พ้อต่อ” หรือ “อ๊ามพ้อต่อ”  ตามลำดับ
เมื่อถึงวันงานพิธีพ้อต่อ  คณะกรรมการจัดงานจะจัดตั้งโต๊ะบูชา กระทำพิธีกรรมอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ และเซ่นไหว้เหล่าสัมภเวสี หรือผู้แสวงที่เกิด ได้แก่ ผีที่ยังไม่ได้เกิดในกำเนิดอื่น และงานนี้จะจัดเป็นงานใหญ่ยิ่งทุกปี เช่น ที่ย่านชุมชนตลาดสดภูเก็ต ถนนระนอง  และ ที่ศาล เจ้า เซ่งเต็กเบ้วกวนอิมไต่ซือ(บางเหนียว) ส่วนพิธีทิ้งกระจาดจะจัดที่ศาลเจ้ามูลนิธิกุศลธรรม จังหวัดภูเก็ต
เทพประธานที่ประดิษฐานในพิธีอุทิศส่วนกุศลนี้ ได้แก่”พ้อต่อกง” สมญานามเทพเจ้าหรือปู่เจ้าผู้กอปรด้วยเมตตาจิต ทำการปลดเปลื้องทุกข์ให้แก่มวลสัตว์โลกโดยทั่วถ้วนทุกตัวตนปราศจากอคติ
เมื่อถึงวันงานพิธี จะมีชาวบ้านร้านถิ่นนำเอาเครื่องบูชามาถวายบวงสรวงเซ่นไหว้มากมาย เพื่อทำบุญบริจาคทานตามประเพณีนิยม

ในงานพิธีพ้อต่อ คณะกรรมการจัดงานจะจัดการตั้งโต๊ะบูชา ชาวบ้านร้านถิ่นจะนำเอาเครื่องบูชามาถวายบวงสรวงเซ่นไหว้มากมาย กิจกรรมภายในงานมีการประกวดเครื่องบูชา อันประกอบด้วยอาหารคาวหวานตกแต่งด้วยศิลปะประดิษฐ์ต่าง ๆ  มีทั้งประเภทความคิดและประเภทสวยงาม แฝงด้วยภูมิ ปัญญาอันยอดเยี่ยมของชาวบ้านร้านถิ่น มุ่งเน้นในการใช้วัสดุพื้นเมืองที่หาได้ง่ายและมีอยู่ทั่วไปเท่าที่จะทำได้ตามทักษะและโดยจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพร้อมกันด้วยดี
“พ้อต่อกง” สมญานามองค์เทพเจ้าหรือปู่เจ้าองค์เทพประธานที่ประดิษฐานในพิธีอุทิศส่วนกุศลพ้อต่อนี้เป็นเทพเจ้าผู้กอปรด้วยเมตตาจิต ทรงไว้ซึ่งภาระหน้าที่เพื่อปลดเปลื้องทุกข์ให้แก่มวลสัตว์โลกโดยทั่วกันปราศจากอคติ
องค์เทพประธานในงานเทศกาลพ้อต่อมักจะถูกปรุงแต่งรูปลักษณ์ให้ดูดุร้ายน่ากลัวน่าเกรงขาม เชื่อกันว่าเป็นรูปจำลองขององค์ยมราช ซึ่งเป็นเทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ในยมโลก หรืออีกนามหนึ่งว่า  “โกวเสียเอี๋ย” คือ เทพเจ้าเมืองผีผู้โดดเดี่ยวหิวโหยไม่มีญาติ
คัมภีร์พุทธศาสนาฝ่ายมหายานกล่าวว่า ยมราชเป็นองค์จำแลงของพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ หรือ กฺษิติครฺก ซึ่งพากย์จีนว่า “ตี้จั้งหวาง” หรือ“ตี้จั้งผูส้า” ( สำนักพิมพ์พุทธศึกษา (จีน). ๑๙๗๔:๕๖๘)
พระกษิติครรภ์โพธิสัตว์นี้พุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายานเคารพนับถือมาก นับเป็นรองจากพระกวนอิมหรือพระอวโลกิเตศวร โพธิสัตว์
พระสูตรฝ่ายมหายานได้กล่าวไว้ว่า พระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ทรงมีความเมตตากรุณาต่อมวลสรรพสัตว์ นอกจากนี้ยังทรงแผ่ผลบุญกุศลเป็นทานอเนกประการอยู่เสมอ  และทรงเทศนาโปรดสัตว์ใน”ฉคติ”หรือคติทั้ง ๖ คือ เทวหรือสวรรค์คติ  มนุษย์คติ  อสุรกายคติ  เดียรัจฉานคติ  เปตหรือเปรตคติ และนรกคติ ได้แก่สัตว์นรก ทั้ง ๑๘ ขุม (เสถียร โพธินันทะและเลียง เสถียรสุต.๒๕๒๙:๒๒)
พระโพธิสัตว์พระองค์นี้  ในช่วงเวลาก่อนที่จะสิ้นยุคศาสนาพระโคดมหรือก่อนที่พระศรีอารยเมตไตรยจะอุบัติขึ้นในภายหน้า พระองค์มีปณิธานว่า ตราบใดนรกทุกขุมยังมีสรรพสัตว์รับทุกข์อยู่ ตราบนั้นพระองค์จะยังไม่เข้าสู่พุทธภูมิ   

ปณิธานของพระโพธิสัตว์พระองค์นี้มีสาระสำคัญ คือ ความเมตตากรุณา  ดังเช่นพระพุทธองค์ในอดีตชาติ ก่อนบรรลุมรรคผลเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เคยเสวยชาติเป็นพระโพธิสัตว์   บำเพ็ญทุกรกิริยาโปรดสรรพสัตว์ทั้งหลาย  เป็นเวลาหลายครั้งหลายวาระมาก่อน แล้วจึงเข้าสู่พุทธภูมิ
พระศรีอาริยเมตไตรย คือ อชิตโพธิสัตว์ผู้ซึ่งได้รับคำพยากรณ์จากพระศากยมุนีว่า จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในชาติต่อไป เมื่อสิ้นยุคศาสนาพระสมณโคดม
เทศกาลสารทอุลลัมพน  หรือเทศกาลพ้อต่อ มีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับพระภิกษุรูปหนึ่งขื่อว่า “มู่เหลียน”ได้ช่วยมารดาให้พ้นความทุกข์ทรมานจากขุมนรก (สำนักพิมพ์พุทธ-ศึกษา(จีน).๑๙๗๔:๙๒๒)
“มู่เหลียน” เป็นชื่อพากย์ภาษาจีน คือ พระมหาโมคคัลลานะผู้เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้เลิศทางมีฤทธิ์มาก
พระราชวรมุนี(ประยุทธโต)ได้กล่าวไว้ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์.หน้า ๒๒๒ ดังความตอนหนึ่งว่า
“พระมหาโมคคัลลานะ   เกิดที่หมู่บ้านโกลิตคาม  ใกล้เมืองราชคฤห์  เป็นบุตรของพราหมณ์ นายบ้านแห่งนั้น  มีมารดาชื่อ นางโมคคัลลีพราหมณี  ท่านมีชื่อเดิมว่า  โกลิตะตามชื่อหมู่บ้าน    ส่วนชื่อเรียก    โมคคัลลานะ   เพราะเป็นบุตรของนางพราหมณีโมคคัลลี หรือ โมคัลลานีนั้น
พระมหาโมคคัลลานะ  เป็นสหายกับอุปติสสะ(คือ พระสารีบุตร)มาแต่เด็ก  ต่อมาทั้งสองได้ออกบวชเป็นปริพาชกอยู่ในสำนักของสญชัยปริพาชก จนกระทั่งอุปติสสะได้พบพระอัสสชิ  สหายทั้งสองจึงได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า บวชในพระธรรมวินัย เมื่อบวชแล้วถึงวันที่  ๗  ท่านก็ได้บรรลุอรหัตตผลและได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะหรือผู้ยอดเยี่ยมในทางมีฤทธิ์มาก
 ในตอนปลายพุทธกาล ท่านถูกพวกโจร ซึ่งได้รับจ้างจากพวกเดียรถีย์ลอบสังหารด้วยการทุบตีจนร่างแหลก พระพุทธเจ้าได้โปรดให้ก่อสถูปบรรจุอัฐิธาตุของท่าน ไว้ใกล้ซุ้มประตูวัดเวฬุวัน   ในเขตเมืองราชคฤห์   ชื่อของท่านนิยมเรียกกันง่าย ๆ ว่า พระโมคคัลลาน์”

พิธีสังฆกรรมในเทศกาลอุลลัมพน สำนักพิมพ์พุทธศึกษาจีนได้อธิบายไว้ในปทานุกรมพุทธศาสตร์ประยุกต์(ภาษาจีน) หน้า ๙๒๒  ซึ่งแปลความว่า  “พิธีสังฆกรรมในเทศกาลอุลลัมพน กระทำครั้งแรกในประเทศจีน สมัยราชวงศ์เหลียง รัชสมัยจักรพรรดิหวู่ตี้ ปีศักราชต้าถงที่ ๔ ซึ่งตรงกับปีมะเมีย พ.ศ.๑๐๘๑ (ค.ศ.๕๓๘)”
เทศกาลสารทจีน ซึ่งเริ่มแต่วัน ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ตามปฏิทินจันทรคติจีนนั้น คือ  “เทศกาลพ้อต่อ”,          ”เทศกาลอุลลัมพน”, ”อูหล่านผูนโห่ย” หรือ “ซีโกวโจ่ย”   ก็ว่า มีชื่อเรียกหลายชื่อต่างกัน แต่เป็นเรื่องเดียวกัน  หมายถึง เทศกาลโปรดสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากห้วงแห่งความทุกข์โดยทั่วกัน
เทศกาลนี้  จึงเป็นประเพณีงานบุญพิธี มีเป้าหมายหลักอยู่ที่การอุทิศส่วนบุญส่วน กุศลไปให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว และเซ่นไหว้ผีไม่มีญาติพร้อมกัน ถือเป็นประเพณีนิยมดั้งเดิมที่ปฏิบัติสืบทอดกันมานานแล้วและตลอดระยะเวลาอันยาวนานนั้น พิธีกรรมต่าง ๆ ได้เปลี่ยนแปรไปตามสภาวะแวดล้อมทางสังคม  เนื่องจากแต่ละสมัยที่เปลี่ยนราชวงศ์มีฮ่องเต้องค์ใหม่  รัฐประศาสโนบายเกี่ยวกับศาสนาและลัทธิความเชื่อก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย
ศาสนาพุทธ และลัทธิเต๋า  ตลอดทั้งลัทธิหยู(ขงจื้อ)ได้ประสบกับอนิจภาวะเปลี่ยนแปรไปตามอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม มีความเจริญและความเสื่อมถอยสลับผลัดเปลี่ยนกันไปตลอดทุกยุคสมัย และในกาลเวลาต่อมา ก็สามารถนำมาผนวกกันเป็นหนึ่งเดียว ในสภาวะเอกจิต โดยต่างมีจุดหมายสูงสุด ล้วนเป็นจิตบริสุทธิ์สมบูรณ์ มุ่งสู่โมกขธรรม คือ ธรรมที่นำสัตว์ให้หลุดพ้นจากกองกิเลสทั้งปวง
วัฒนธรรมย่อมมีการพัฒนาจากการประสมประสานกันและแตกต่างกันไปตามสภาพธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม อาชีพการศึกษาและมิติแห่งกาลเวลา แม้ว่าวัฒนธรรมบางท้องถิ่นที่สืบทอดมาจากวัฒนธรรมจีน แต่ก็แตกต่างกันในทางพิธีการแต่ละท้องถิ่น  และบางสิ่งก็ไม่เคยปรากฏในประเทศจีนเลย
อย่างไรก็ตาม ประเพณีเทศกาลพ้อต่อ จังหวัด ภูเก็ตเป็นงานบุญเทศกาลวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมานาน  มีเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นอันเกิดจากระบบความสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสังคมสิ่งแวดล้อม และมีสาระรูปแบบอันแสดงออกถึงการนับถือเลื่อมใสในคตินิยมทางศาสนา และลัทธิความเชื่อโดยผสมกลมกลืนกันเป็นแหล่งกำเนิดรากฐานแห่งความดีงาม และเป็นที่ยอมรับของสังคมทั่วไป.


-------------------------------
บรรณานุกรม
สื่ออิเล็กทรอนิกส์ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
 พ.ศ.๒๕๒๕.(ซีดีรอม)
 สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สารานุกรม (Encyclopaedia
  Britanmica CD  1997
สื่ออิเล็กทรอนิกส์  สารานุกรมEncyclopaedia Glolier CD
1995.
พระราชวรมุณี(ประยุทธโต).พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับ
 ประมวลศัพท์. กรุงเทพฯ:มหาจุฬาลงกรณราช
 วิทยาลัย,๒๕๒๗
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ.ปทานุกรม
 บาลี ไทย อังกฤษ สันสกฤต. พระนคร:
 มหามกุฏราชวิทยาลัย.๒๕๑๓.
เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ. พจนานุกรมจีน-ไทย ฉบับใหม่.
กรุงเทพฯ:บริษัท รวมสาส์น(๑๙๗๗) จำกัด.(ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง)๒๕๓๕.
คณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศ ไทย.พจนานุกรมพุทธ
 ศาสนาจีน-สันสฤต-อังกฤษ-ไทย.
กรุงเทพฯ:ชาญพัฒนาการพิมพ์.๒๕๑๙.
สำนักพิมพ์พุทธศึกษา(จีน).สือย่งโฝเสวฺฉือเตี่ยน
 (ปทานุกรมพุทธศาสตร์ประยุกต์)ฉบับรวม
 เล่มสมบูรณ์. ไทเป:บริษัทโรงพิมพ์ซินเหวินฟง
 หุ้นส่วนจำกัด.๑๙๗๔.๑๙๓๖ หน้า.
สำนักพิมพ์กวางหมิงกว๋อเสวฺ.โฝเสวฺฉางเจี้ยนฉือหุ้ย
 (ปทานุกรมพุทธศาสตร์ทั่วไป). ไถจง:บริษัท
 สำนักพิมพ์ไต้หวันหุ้นส่วนจำกัด.๑๙๙๕
คณะกรรมการชำระพจนานุกรมหัวทง(ภาษาจีน)
 ฉื อ เ อี ย น . ฮ่องกง:บริษัทสำนักพิมพ์เหลี่ยง
 อิ่ว จำกัด.๑๙๗๙.
เสถียร โพธินันทะและเลียง เสถียรสุต.  คุณธรรมพระ
 โพธิสัตว์ (ฉบับวัดโพธิ์แมนคุณา*ราม).
 กรุงเทพฯ:พลพันธ์การพิมพ์.๒๕๒๙
ดิลก วุฒิพาณิชย์. ว.อ.ศ. ภูเก็ต.,สารคดีข่าว-จดหมาย
 ข่าว วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต.ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๕
 เดือนสิงหาคม ๒๕๒๘.
โรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว จังหวัดภูเก็ต.ตำนาน
 ประเพณี”ผ้อต่อ” (เอกสารเผยแพร่ฉบับ
 โรเนียว).


ภาคผนวก

 คำศัพท์น่ารู้เกี่ยวกับประเพณีผ้อต่อ
กุ้ย  ผีทั่ว ๆ ไป
ช้อง  การถูกสิ่งชั่วร้ายกระทำ
เช่น วิญญาณเร่ร่อน ชาวภูเก็ตเชื้อสายจีน การช้องจะเกิดกับคนที่โชคร้ายหรือคนปลอง
เถี่ยมอิ๋ว การบูชาพระด้วยการเติม   น้ำมันตะเกียง ชาวภูเก็ตเชื้อสายจีนมีความเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตรุ่งโรจน์ สามารถผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ได้ คำกล่าวเถี่ยมอิ๋ว “เถี่ยมอิ๋ว
เถี๋ยมฮ๋อก เถี๋ยมซี่ เถี่ยมเป่งอ้าน”
บ้าบ๋า เป็นคำที่ใช้เรียกลูกผสม   ทั้งหญิงและชาย ที่เกิดจากบิดาชาวจีนกับมารดาซึ่งเป็นชาวภูเก็ตท้องถิ่น แต่ชาวจีนปีนังและสิงคโปร์จะเรียกลูกผสมที่เป็นผู้ชายว่าบ้าบ๋า (Baba) หรือหยอย่า (Nyonya)
บ้าบ๋าผ้อ การจัดงานผ้อต่อของชาวภูเก็ตเชื้อสายจีน
ปัวะโป้ย การเสี่ยงทาย เพื่อขอทราบความคิดเห็นของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือสิ่งที่ไม่มีตัวตน เช่น วิญญาณบรรพบุรุษ พระ เทพต่าง ๆ
ป่ายปั๋ว การนำอาหารและผลไม้ที่จัดทำอย่างสวยงามตั้งบนโต๊ะบูชา เพื่อเป็นการเซ่นไหว้ และต้อนรับวิญญาณต่าง ๆ ที่ออกมาจากขุมนรก
เป่งอ้าน โชคดี มีความสุข
วันส่าง วันส่งพระ ส่งวิญญาณ
ยี่หิ้น เป็นคำภาษาจีนฮกเกี้ยนใช้เรียกพวกอั้งยี่
ส่ามเส้ง อาหารคาว ๓ ชนิด ได้แก่ หมู ไก่ หมี่เส้นเหลือง ใช้เซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษ
สีน วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ เช่น วิญญาณองค์ผ้อต่อก้ง
หง่อเส้ง อาหารคาว ๕ ชนิด ได้แก่ หมู ไก่ ไข่ต้ม ปลาหมึกแห้ง หมี่เส้นเหลือง ใช้เซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษ
อ่อง ความมีโชคลาภ
อั่งกู้ ขนมเต่าสีแดง ทำด้วยแป้งสาลีและน้ำตาล ใส่ไส้ถั่วเขียว มีหลายขนาด ขนมเต่าขนาดใหญ่จะไม่มีไส้ เรียกว่า ตั่วกู้ ใช้สำหรับเซ่นไหว้ในพิธีพ้อต่อ ชาวจีนมีความเชื่อว่าเต่าเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี ความเป็นสิริมงคล และอายุยืน จึงนิยมนำขนมเต่าสีแดงมาเซ่นไหว้องค์ผ้อต่อก้ง
อ๋าง สีแดง
อ๊าม ศาลเจ้า

ข้อสังเกต การเขียนคำว่าผ้อต่อนั้นอาจเขียนโดยใช้ พ พาน ก็ได้ คือ พ้อต่อ

 

ประเพณีเดินเต่า


รศ.สมชาย สกุลทับ


 การเดินเต่าเป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวภูเก็ต สมชาย สกุลทับ (๒๕๓๑ : ๑๕๙–๑๖๑) ได้อธิบายไว้ว่า เดินเต่า คือ การเดินหาไข่เต่าที่ขึ้นมาวางไข่บนหาดทราย นิยมกันในบริเวณที่มีเต่าขึ้นมาวางไข่คือบริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกหรือฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ ทางตะวันตกของเกาะภูเก็ตโดยตลอด ทางฝั่งทะเลตะวันตกของอำเภอท้ายเหมืองและอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ประเพณีเดินเต่ามีมานานแล้ว โดยสมัยดั้งเดิมนั้นชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงกับชายหาดต่าง ๆ นิยมคดห่อ (ห่อข้าว) ไปกินกันที่ชายทะเลในตอนบ่าย ๆ และจะอยู่กันจนสว่าง จุดไฟผิงกันแล้วก็ถือโอกาสหาไข่เต่าซึ่งเป็นสิ่งที่หายากและเป็นอาหารที่โอชะ  การเดินเต่านั้นเดินกันได้เฉพาะฤดูวางไข่เท่านั้น คือ ประมาณเดือน ๑๑ แรม ๑ ค่ำ ราวปลายเดือนตุลาคมหรือต้นพฤศจิกายนไปจนถึงเดือน ๔ หรือต้นเดือนกุมภาพันธ์  การเดินเต่าในสมัยดั้งเดิมสามารถเก็บไข่เต่ากันได้ทุกคน แต่สมัยหลัง ๆ รัฐบาลเก็บภาษีโดยให้มีการสัมปทานเป็นหาด ๆ ไป การเดินเต่าเพื่อเก็บไข่เต่าจึงเป็นสิทธิของผู้รับสัมปทานตามกฎหมาย คนอื่น ๆ ไม่มีสิทธิ์ที่จะเก็บ ได้เพียงเดินเต่าเพื่อความสนุกสนาน เพื่อดูเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่เท่านั้น
 ในช่วงเวลาการเดินเต่า จะมีผู้คนคึกคักตามชายหาดเพื่อรอดูเต่าวางไข่ เต่าจะมีลักษณะพิเศษประจำตัวคือตัวใดที่เคยมาวางไข่บริเวณใดและในเวลาใด ก็จะมาประจำบริเวณนั้นทุกปี
 ปัจจุบันเนื่องจากการขยายตัวของการท่องเที่ยวเกิดขึ้นทุกชายหาดของภูเก็ต ประกอบกับจำนวนเต่าทะเลลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่ค่อยมีเต่าขึ้นมาวางไข่ตามชายหาดเลย ประเพณีการเดินเต่าจึงเปลี่ยนเป็นการตั้งแค้มป์พักแรมตามชายหาด เป็นกิจกรรมเพื่อความสนุกสนาน ซึ่งไม่ใช่การเดินเต่าตามความหมายที่แท้จริงดังในอดีต

 

ประเพณีลอยเรือชาวเล


ผศ.สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์


 ชาวเลโอรังลาโอดและชาวเลสิงห์มีประเพณีเกี่ยวกับเรือ ซึ่งชาวภูเก็ตเรียกว่าประเพณีลอยเรือ หรือพิธีลอยเรือ สอดคล้องกันทั้งสองกลุ่ม และประกอบพิธีลอยเรือในวันเดียวกันคือลอยเรือในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑ กลุ่มชาวเลโอรังลาโอดจะลอยเรือเวลา ๐๖.๐๐ น. ส่วนชาวเลสิงห์จะลอยเรือเวลา ๑๘.๐๐ น.

การเตรียมสร้างเรือพิธี
 ชาวเลโอรังลาโอดจะใช้ไม้ทองหลางและไม้ระกำเป็นส่วนประกอบของพิธีลอยเรือ ส่วนชาวเลสิงห์จะใช้ไม้สักหินและต้นกล้วยเป็นส่วนประกอบของเรือพิธี
 ชาวเลโอรังลาโอดใช้ไม้ทองหลางเป็นโครงแกนของท้องเรือพิธี หัวเรือ ท้ายเรือ และจังกูด มีความยาว ๕-๗ เมตร ใช้ไม้ระกำต่อเป็นตัวเรือกว้างประมาณ ๑ เมตร ความสูงระหว่างท้องเรือถึงกราบขอบเรือประมาณ ๗๐ เมตร ติดเสากระโดงเรือด้วยไม้ขนาดนิ้วหัวแม่มือ ๓ เสา สูงประมาณ ๒ เมตร มีผ้าขาวเป็นเรือใบ
 ชาวเลชายจะไปตัดไม้เพื่อประกอบเป็นเรือพิธีและกายู่ฮาดั๊กในช่วงตอนเช้าของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑ ช่วยกันแบกหามเรือบรรทุกมากองไว้นอกหมู่บ้าน ใกล้เที่ยงจึงช่วยกันตัดถากและกลึงเกลาไม้ทองหลางให้เป็นโครงแกนท้องเรือ หัวเรือ ท้ายเรือและจังกูด “และที่สำคัญคือการแกะสลักเป็นรูปคนสูงประมาณ ๘ นิ้ว จำนวน ๑๒ ตัว ไว้เป็นฝีพายประจำเรือ พายไปสู่เมืองออกและเมืองพรัด (กนก ชูลักษณ์ ๒๕๒๒ : ๙๑) เศษไม้ทองหลางที่เหลือจะแกะเป็นเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวัน เช่น มีด จวัก หม้อ เตา ตะกร้า เป็นต้น ไม้ระกำที่ตัดมาเป็นทางยาวทางละ ๔-๖ เมตร จำนวนไม่ต่ำกว่า ๕๐ ทาง ชาวเลจะช่วยกันปอกลอกเอาเปลือกนอกทิ้ง ใช้ไส้ในไปประกอบเป็นลำเรือ ผูกไว้เป็นมัด ๆ เหลาไม้ไผ่เป็นซี่แทนตะปู เตรียมก้อนหินไว้ตอกแทนค้อน มีมีดพร้าและขวานไว้ตัดไม้ให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ
 ในช่วงตอนเย็นเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น. ชาวเลทั้งหญิงชายป่าวร้องให้คนไปช่วยกันขนวัสดุที่จะประกอบเป็นเรือพิธีซึ่งกองอยู่นอกหมู่บ้านแห่เข้ามาในบริเวณพิธีกลางหมู่บ้าน  หน้าขบวนแห่มีดนตรีพื้นเมืองนำหน้า เครื่องดนตรี เช่น รำมะนา ฆ้อง ฉิ่ง บรรเลงเป็นจังหวะให้ชาวเลรำเดินหน้าขบวนแห่ได้  ขบวนแห่จะไปตามชายหาดจากที่กองไม้ไปจนใกล้หลาโต๊ะตามี่ แล้วตั้งขบวนแห่เข้าหมู่บ้านจนถึงบริเวณพิธี ชาวเลชายช่วยกันตั้งโครงแกนท้องเรือ ใช้ไส้ไม้ระกำทั้งทางต่อประกอบเป็นลำเรือ ทุกคนตั้งใจต่อเรือกันอย่างจริงจังเพื่อให้เรือพิธีเสร็จก่อนฟ้าสาง  แต่เรือมักจะเสร็จก่อนพิธีลอยเรือหลายชั่วโมง  ชาวเลจะใช้เวลาประกอบเป็นเรือพิธีประมาณ ๘ ชั่วโมง
 ส่วนชาวเลสิงห์จะใช้ต้นกล้วยทั้งต้นเป็นโครงแกนท้องเรือ  ใช้ไม้สักหินขนาดหัวแม่มือเป็นแกนยึดต้นกล้วยไว้ด้วยกัน  ตรงกราบข้างเรือจะใช้กาบกล้วยแทนกระดานขนาบไว้ด้วยไม้สักหิน ผูกด้วยหวายนาท้ายเรือรูปทรงคล้ายท้ายเรือสำเภา หัวเรือทำด้วยก้านเครือกล้วยทั้งท่อน ความยาวของเรือพิธีจากหัวเรือจดท้ายเรือยาวประมาณ ๓ เมตร กว้าง ๑.๕๐ เมตร สูง ๑.๓๐ เมตร เมื่อติดตั้งเสากระโดงจะสูงเป็น ๒ เมตร
 ชาวเลสิงห์ชายจะไปตัดไม้สักหิน หวายนาและต้นกล้วยในตอนเช้าของวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑ เริ่มประกอบเป็นลำเรือพิธีเวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. ชาวเลสิงห์ชายจะช่วยกันต่อเรือพิธีและติดใบเรือเสร็จสิ้นประมาณเวลา ๑๕.๐๐ น.

ไปหลา
 หลา คือ ศาลาหรือศาลพระภูมิเจ้าที่ของชาวเลโอรังลาโอดและชาวเลสิงห์เป็นที่สิงสถิตย์ของโต๊ะตามี่ หัวหน้าพิธีผู้ติดต่อกับโต๊ะตามี่เรียกกันว่า โต๊ะหมอ  โต๊ะหมอที่บ้านแหลมตุ๊กแกจะถือธงขาว ๔ อัน นำชาวเลไปหลาเวลา ๑๖.๐๐ น. ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑ ชาวเลชายผู้ติดตามหนึ่งคนจะถือตะกร้าใส่ไก่ย่าง  หัว เล็บ เท้า และเครื่องในก็เอาไปด้วย นอกจากนั้นก็มีเหล้า น้ำ เปลือกหอย ข้าวตอกและกำยาน ชาวเลคนอื่น ๆ ถือจานใส่ขนมหัวล้าน เทียน หมากพลูและยาสูบ เดินตามโต๊ะหมอไปร่วมพิธีที่หลาโต๊ะตามี่
 ชาวเลจะวางจานขนมไว้บนหลา โต๊ะหมอนั่งประกอบพิธีหน้าหลา เผากำยานในกะลาส่งให้ชาวเลที่อยู่รอบหลาส่งกำยานวนไปทางขวามือเป็นการวนซ้ายหลาจนครบสามรอบ จึงจุดเทียนไปติดไว้บนหลา โปรยและซัดข้าวตอกไปที่หลาทั้งสี่ทิศ ก่อนที่โต๊ะหมอจะซัดข้าวตอกไปที่หลาแต่ละทิศ โต๊ะหมอจะส่งเสียง”โฮ้”นำชาวเล อื่นจะได้ “เฮ้ว” ตาม ปักธงขาวไว้ทั้งสี่ทิศของหลาเป็นการเสร็จพิธี   ชาวเลจะรับจานขนมของตนออกแจกจ่ายกันกิน และต้องกินให้หมดที่บริเวณหลา จะเอากลับบ้านไม่ได้ เมื่อเสร็จพิธีที่หลาแล้ว ชาวเลก็จะแห่ไม้และวัสดุเตรียมสร้างเรือพิธี
ส่วนชาวเลสิงห์จะประกอบพิธีที่หลา
เวลาประมาณ ๑๗ น. ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน
๖ และเดือน ๑๑ พิธีกรรมจะคล้ายกับพิธีกรรมของกลุ่มชาวเลโอรังลาโอดบ้านแหลมตุ๊กแก แต่โต๊ะหมอชาวเลสิงห์จะไปประกอบพิธีที่หลา เมื่อชาวเลสิงห์ได้เอาขนม ข้าวปลาอาหารใส่จานหรือถาดไปวางไว้ที่หลาแล้ว อาหารแต่ละถาดมีข้าวสุก ข้าวเหนียว ขนมเปียก แกงปลา ปลาทอด หมากพลู ยาสูบและน้ำ เป็นต้น
 โต๊ะหมอนั่งทำพิธีหน้าหลา ชาวเลสิงห์นั่งอยู่ใกล้โต๊ะหมอเป็นรูปครึ่งวงกลม เว้นที่ไว้ทางด้านหลังหลาเท่านั้น  โต๊ะหมอให้ชาวเลชายคนหนึ่งถือกะลาใส่กำยานเดินวนรอบหลาวนซ้าย ๓ รอบ เอาข้าวตอกซัดไปที่หลา โต๊ะหมอใช้มือกำควันกำยานมาลูบไล้ตัว และใช้มือป้องเปลวเทียนพร้อมสวดคาถาแล้วดับเทียน ตัวแทนโต๊ะหมอจึงไปดับเทียนบนหลา ชาวเลสิงห์อื่น ๆ ก็รับถาดอาหารของตนออกแจกจ่ายกันกิน เป็นอันเสร็จพิธีที่หลา(วิชัย อนันตมงคลกุล ๒๕๒๕ : ๑๗๘) 
พิธีกรรมก่อนลอยเรือ
 เมื่อช่างต่อเรือพิธีเสร็จ  ชาวเลโอรังลาโอดจะทยอยไปที่เรือพิธีตั้งแต่เวลา ๐๔.๐๐ น. ของเช้ามืดวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑ สิ่งของที่แต่ละครอบครัวจะเอาใส่ในเรือพิธีคือไส้ไม้ระกำที่แกะเป็นตุ๊กตาแทนคนในครอบครัวจำนวนเท่าสมาชิกในครัวเรือน เล็บ ผม และข้าวตอก ก่อนจะซัดข้าวตอกใส่เรือ ชาวเลจะกำข้าวตอกลูบไล้ตามตัวตั้งแต่หัวจดเท้าประดุจให้ข้าวตอกเอาความชั่วร้ายออกจากร่างไปสู่ข้าวตอกแล้วซัดใส่เรือพิธี โต๊ะหมอมาสวดคาถาที่ท้ายเรือเวลา ๐๖.๐๐ น. ชาวเลชายช่วยกันยกเรือพิธีแบกหามลงไปบรรทุกเรือหางยาวที่เตรียมไว้นำไปลอยเรือพิธีที่ทะเลลึกเป็นการไม่ให้ความชั่วร้ายในลำเรือพิธีนั้นย้อนกลับมาสู่หมู่บ้าน พวกชาวเลจะต้องเริ่มทำพิธีกันใหม่ การลอยเรือลงทะเลจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
 ส่วนชาวเลสิงห์จะเอาเสื้อผ้าเก่า ๆ ตุ๊กตากาบกล้วยแทนคนในครอบครัวจำนวนเท่าสมาชิกในครัวเรือนและกระทงน้ำไปใส่ไว้ในเรือพิธีตั้งแต่เวลา ๑๕.๐๐ น. ของวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑ เมื่อชาวเลสิงห์ทำพิธีที่หลาเรียบร้อยแล้วก็จะมาร่วมประกอบพิธีที่เรือพิธี  ชาวเลสิงห์ถือจานใส่ข้าวสารซึ่งย้อมสีเป็นสีต่าง ๆ เช่น เหลือง แดง เขียว ฟ้า ส้ม เป็นต้น พร้อมด้วยด้ายสีแดง มามอบให้โต๊ะหมอสวดคาถาใส่จานให้
แล้วจึงเอาด้ายไปผูกข้อมือให้กับสมาชิกในครอบครัว และเอาข้าวสารที่ประกอบพิธีแล้วนั้นไปซัดรอบ ๆ บ้านของตน ต่อจากนั้นโต๊ะหมอก็ประกอบพิธีที่เรือพิธี ในขณะที่ประกอบพิธีนั้นห้ามคนเดินผ่านหัวเรือ  โต๊ะหมอเดินวนรอบเรือวนซ้าย ๓ รอบ รอบสุดท้ายจะเปล่งเสียงนำโห่ทิศละลา ชาวเลสิงห์จะซัดข้าวสารที่เหลือใส่เรือพิธี รอสัญญาณจากโต๊ะหมอแล้วยกเรือพิธีไปบรรทุกเรือหางยาวไปลอยกลางทะเลลึกดุจเดียวกับกลุ่มชาวบ้านแหลมตุ๊กแก แต่มีข้อห้ามบอกต่อ ๆ กันว่าเมื่อส่งเรือลงน้ำแล้วจะหันกลับไปดูอีกไม่ได้

รองเง็ง


 ชาวเลจะรำรองเง็งกันทั้งเด็กเล็ก ๆ ไปจนชรา เด็กเล็ก ๆ ที่ยังเดินไม่ได้ ชาวเลก็จะอุ้มขึ้นไปรำจนหลับซบบ่า  ชาวเลจะเริ่มรำรองเง็งตั้งแต่คืนวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑ บางส่วนจะรำวนรอบเรือพิธีตั้งแต่เริ่มวางแกนท้องเรือไปจนเรือพิธีเสร็จ เชื่อกันว่าชาวเลที่รำรอบเรือมากรอบที่สุดจะได้บุญมากเท่าจำนวนรอบที่รำ  ชาวเลสิงห์จะรำรองเง็งในคืนวันขึ้น ๑๔–๑๕ ค่ำ  ไม่มีการรำรอบลำเรือพิธีหรือรำรองเง็งในตอนกลางวันดุจเช่นกลุ่มชาวเลโอรังลาโอดบ้านแหลมตุ๊กแก


 
ไม้ฮาดั๊ก


 ชาวเลสิงห์บ้านท่าฉัตรไชยไม่มีพิธีกรรมเกี่ยวกับไม้ฮาดั๊กเหมือนชาวเลบ้านแหลมตุ๊กแก  เมื่อชาวเลลอยเรือไปแล้วในตอนเช้า  ตอนบ่ายในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑ นั้น ชาวเลจะไปแห่ไม้ฮาดั๊กจำนวน ๗ ต้น ซึ่งตัดเตรียมไว้พร้อมกับไม้สร้างเรือพิธีมาเตรียมไว้ประกอบพิธีปักไว้ชายหาดระหว่างหมู่บ้านกับทะเลในเช้าวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑


 ไม้ฮาดั๊กเป็นไม้เสาขนาดต้นแขนยาวต้นละ ๒.๕ - ๓ เมตร และใช้ไม้ขนาดเดียวกันยาว ๒ เมตร เป็นไม้ขวางเหมือนรูปไม้กางเขนติดใบกะพ้อไว้ปลายไม้กางเขนทั้ง ๓ ปลาย “ไม้ที่ติดทางขวางเปรียบเสมือนแขน ใบกะพ้อเปรียบเสมือนนิ้ว จะป้องกันโบกพัดให้โรคภัยไข้เจ็บและผีร้ายทั้งหลายเข้ามาคุกคามหมู่บ้าน” (กนก ชูลักษณ์  ๒๕๒๒ :  ๙๑)
 ประเพณีลอยเรือชาวเลและชาวเลสิงห์เป็นเครื่องช่วยให้เผ่าพันธุ์ของชาวเลคงสืบมาเป็นกลุ่มเผ่าอยู่ได้  ทั้งนี้เพราะชาวเลเป็นผู้เร่ร่อนแตกออกจากกลุ่มเผ่าของตนไปหาเลี้ยงชีพตามเกาะแก่งในท้องทะเล  หากไม่มีประเพณีลอยเรือชาวเลที่แยกตัวออกไปนั้นก็จะล้มหายตายจากพลัดพรากจากกลุ่มเผ่า  วันลอยเรือเป็นช่วงวันเพ็ญ และเป็นช่วงที่มรสุมเปลี่ยนทิศทางจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือหรือลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ไปเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้หรือลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ  พวกชาวเลโอรังลาโอดและชาวเลสิงห์มีโอกาสกลับไปรวมเผ่าปีละ ๒ ครั้ง การประกอบพิธีลอยเรือเป็นความเชื่อของชาวเลทุกคนจะต้องไปร่วม ชาวเลหนุ่มสาวก็มีโอกาสพบปะจับคู่เต้นรำเมื่อพึงพอใจก็จะอยู่ร่วมกันในโอกาสถัดไป  ชาวเลหญิงช่วยกันทำขนมและอาหารนำออกเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน ชาวเลต่างวัยต่างแบ่งหน้าที่กันตามที่ถนัด  ชาวเลผู้ชำนาญในการต่อเรือก็เป็นผู้นำชาวเลคนอื่น ๆ ได้ฝึกหัดการรำรองเง็งเป็นการรื่นเริงช่วยให้หมู่บ้านมีชีวิตชีวา  ทุกคนโศกและโรคภัยที่ทับถมมาช่วงหกเดือนนั้น ก็เชื่อกันว่าได้หมดไปพร้อมกับเรือพิธีก็เป็นการก่อให้เกิดกำลังใจที่จะดำรงเผ่าพันธุ์ไปอีกนานเท่านาน.


ไหว้ครูหมอหนังตะลุงป่าตอง


   สิริพร  พงศ์พิพัฒน์พันธุ์
   อรุณรัตน์  สรรเพ็ชร

 

 สังคมโบราณหรือสังคมประเพณี  ไม่ว่าจะเป็นสังคมล่าสัตว์ สังคมเลี้ยงสัตว์ หรือสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมที่มีพิธีกรรมอยู่มาก  (ศิราพร  ฐิตะฐาน ณ ถลาง ๒๕๓๗ : ๒๖)  โดยเฉพาะในแง่ของวัฒนธรรมซึ่งเป็นเรื่องของปัจจุบันและอนาคตใช้พิธีกรรมเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา  พิธีกรรมต่าง ๆ จึงมีหน้าที่สร้างระเบียบให้กิจกรรมต่าง ๆ  ในชีวิต  สร้างความผูกพันให้คนในสังคม (ธีรยุทธ  บุญมี ๒๕๓๘ : ๑๗) และโดยธรรมชาติคนหรือมนุษย์ไม่สามารถแยกตัวออกจากพิธีกรรมได้  พิธีกรรมจึงเป็นกิจกรรมที่อยู่กับคน และคู่กับสังคม  เป็นเรื่องราวของความเชื่อที่มีจุดประสงค์เพื่อให้จิตใจอบอุ่น   ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากคนมีความกลัวและมีความอ่อนแออยู่ในตัว  จึงจำเป็นต้องสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมาเพื่อขจัดความกลัวและเป็นวิธีการสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง
 สังคมมนุษย์ทุกสังคมย่อมมีวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายกันไปตามประวัติศาสตร์  ความเป็นมาของชาติพันธุ์แต่ละท้องถิ่น "ความเชื่อ" ถือเป็นวัฒนธรรมด้านหนึ่งที่มีความสำคัญ และเกิดขึ้นมาควบคู่กับมนุษย์  และความเชื่อเป็นฐานก่อให้เกิดวัฒนธรรมอื่น ๆ ของมนุษย์มากมาย  เช่น ประเพณี  พิธีกรรม  การละเล่น  เป็นต้น  ซึ่ง วิรัช วิรัชนิภาวรรณและนิภาวรรณ วิรัชนิภาวรรณ  (๒๕๓๓ : ๒๐)  ได้กล่าวถึงความเชื่อไว้ว่า  การที่บุคคลคิดหรือยอมรับบุคคล  สิ่งของ หรือปรากฏการณ์บางอย่างว่าเป็นจริงหรือมีอยู่จริง  ซึ่งการคิดหรือยอมรับดังกล่าวอาจไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงก็ได้ ความเชื่ออาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ  เช่น  เกิดจากการเห็นด้วยตนเองจากคำบอกเล่า จากการคิดขึ้นมาเอง  ความเคยชิน  การปลูกฝัง  หรืออาจเกิดจากการพิสูจน์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับภิญโญ จิตต์ธรรม  (๒๕๒๒ : ๑ - ๗)  ที่ได้ให้ทรรศนะเกี่ยวกับความเชื่อไว้ในลักษณะเดียวกันว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์ค่อย ๆ เรียนรู้และทำความเข้าใจมานับเป็นพัน ๆ ปี และเชื่อว่ามีอำนาจลึกลับที่จะทำให้มนุษย์ได้รับผลดีผลร้าย  เมื่อมนุษย์กลัวอำนาจของสิ่งเร้นลับก็จะกระทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อมิให้ถูกลงโทษ และเพื่อเอาใจอำนาจลึกลับนั้น  พิธีกรรมต่าง ๆ จึงเกิดขึ้น และความเชื่อในสิ่งต่าง ๆ จะเสื่อมไป  เมื่อความเจริญทางวิทยาศาสตร์มาถึงและสามารถหาความจริงได้
 ปัจจุบันแม้ว่าประเทศไทยจะมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเจริญทางด้านวัตถุ  และเทคโนโลยีใหม่ ๆ แล้วก็ตาม  แต่เรื่องราวที่เป็นความเชื่อในสิ่งที่นอกเหนือธรรมชาติยังมีปรากฏอยู่เสมอในชีวิตประจำวัน  เช่น การทำนายโชคชะตา  การนับถือผี การรักษาโรคด้วยวิธีทางไสยศาสตร์ และการเข้าทรง  เป็นต้น  พิธีกรรมจึงอยู่คู่สังคมไทยมาทุกยุคทุกสมัย  และด้วยเหตุผลที่พิธีกรรมเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความจริง  ความเคารพ  และเป็นเครื่องหมายของกลุ่มชนหนึ่ง ๆ ในการแสดงสัญลักษณ์ร่วมกัน พิธีกรรมจึงเน้นจิตใจเป็นสำคัญมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การทำให้เกิดผลทางจิตใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง  ทำให้เกิดความสบายใจ  และเกิดกำลังใจ(สุเมธ  เมธาวิทยกุล ๒๕๓๒ : ๒๑๑) 
 ความเชื่อยังปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไปในสังคมไทยทั้งชนบทและในเมือง  จากการที่สภาพเศรษฐกิจ  สังคม และการเมืองเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัยโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว  ทำให้ประชาชนเดือดร้อนทั้งกายและใจ จากสาเหตุเหล่านี้ ระบบความเชื่อจึงมีบทบาทในสังคมอย่างสืบเนื่องตลอดมา
 การเกิดขึ้นของพิธีกรรมไหว้ครูหมอหนังตะลุง บ้านโคกขาม  ตำบลป่าตอง  อำเภอกะทู้  จังหวัดภูเก็ต  ตอนแรกเกิดจากความเชื่อใน  "รูปหนัง"  ก่อน ดังที่ อุดม หนูทอง  (๒๕๓๓ : ๔๒ - ๔๓)  ได้กล่าวถึง ความเชื่อเกี่ยวกับรูปหนังไว้ว่า รูปหนังตะลุงจะมีอำนาจลี้ลับสิงอยู่ โดยเฉพาะรูปหนังที่ใช้ประกอบพิธีกรรมจะขลังมาก  ซึ่งได้แก่รูป  ฤๅษีหน้าน้ำ ฤๅษีหน้าไฟ พระราม ทศกัณฐ์  ปรายหน้าบท เจ้าเมือง  เทวดา  และตัวตลกบางตัว เช่น  เณรพอน  เปลือย  และสีแก้ว  รูปเหล่านี้สังเกตได้ง่าย คือ มีผ้าแดงบ้าง ผ้าขาวบ้าง ด้ายสายสิญจน์บ้าง พันเอวไว้และบางตัวมีขี้เทียนติดกรัง
 ความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของรูปหนังไม่ได้มีเฉพาะนายหนังเท่านั้น  แต่รวมไปถึงคนในครอบครัวและชาวบ้านโดยทั่วไปด้วย
 จากความเชื่อดังกล่าวส่งผลให้เกิดพิธีไหว้ครูหมอหนังตะลุงตามมา จุดประสงค์ของการทำพิธีที่สำคัญ คือ เพื่อบูชาครู และเพื่อแสดงความกตัญญูต่อวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วรวมทั้งเป็นการรวมญาติพี่น้องที่อยู่ห่างไกลให้มาพบกันและยังเป็นการแก้บนของบรรดาลูกหลานและคนทั่วไปที่นับถือครูหมอหนังตะลุที่ได้บนบานเอาไว้
 ผลของการไม่ปฏิบัติ  มีความเชื่อกันว่าชีวิตและครอบครัวจะไม่สงบสุข มีวิญญาณมาปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ ๆ หรือจะเจ็บป่วยไม่มีสาเหตุ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "ถูกของ" นั่นเอง

องค์ประกอบของพิธีไหว้ครูหมอหนังตะลุง

 พิธีไหว้ครูหมอหนังตะลุงบ้านโคกขาม ตำบลป่าตอง  อำเภอกะทู้  จังหวัดภูเก็ต  มีองค์ประกอบของการทำพิธีดังต่อไปนี้

 ๑. คนทรง ร่างทรง หรือม้าทรง เป็นบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของตัวละครต่าง ๆ ที่มาร่วมพิธี  คนที่เป็นร่างทรงส่วนใหญ่จะเป็นลูกหลาน เครือญาติของผู้จัดพิธีไหว้ครู  หรืออาจจะเป็นผู้ที่มีความเคารพศรัทธาในพิธีไหว้ครู ซึ่งร่างทรงไม่จำกัดว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย  รวมทั้งไม่จำกัดจำนวน  ทั้งนี้เน้นเอาความเชื่อและความศรัทธาเป็นสำคัญ 
 ๒.  ตัวละครที่มาเข้าทรง  การประกอบพิธีต้องมีการเชื้อ (เชิญ) ตัวละคร (รูปหนัง)  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นตัวละครจากเรื่องรามเกียรติ์ เช่น พระราม  พระลักษณ์ นางสีดา  นางมณโฑ  ฤๅษี  ลิงดำลิงขาว เทวดา  ทศกัณฐ์  พิลาปหน้าไฟ  พิลาปหน้าทองพิลาปป่า  พิเภก  มารีศ หนุมาน อินทรชิต  สุครีพ ท้าวทศรถ และนนทุก เป็นต้น
 ๓.ระยะเวลาของการทำพิธีไหว้ครูหมอหนังตะลุง  พิธีไหว้ครูหมอหนังตะลุงจะประกอบพิธีในวันพฤหัสบดีแรกของเดือน ๓ ทุก ๆ ๓ ปี ถ้าวันพฤหัสบดีไหนตรงกับวันพระจะไม่ประกอบพิธี
แต่จะเลื่อนไปประกอบพิธีในวันพฤหัสบดีถัดไป 
 การประกอบพิธีไหว้ครูหมอหนังตะลุงกำหนดให้อยู่ในระยะเวลา  ๒ คืน โดยคืนแรกจะเป็นการเตรียมของใช้ เครื่องบูชาสังเวย  เซ่นสรวง
เพื่อถวายให้ครูหมอหนังแต่ละตัวที่มาร่วมพิธี
 พิธีในคืนแรกจะมีการเชื้อ (เชิญ) ท้าวเวสสุวรรณ ซึ่งถือว่าเป็นหัวหน้าในการควบคุมดูแลงานพิธีให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย  การเชื้อ (เชิญ)ท้าวเวสสุวรรณประทับร่างทรงก็เพื่อให้มาตรวจดูความเรียบร้อยของการเตรียมงาน  ถ้ามีสิ่งใดขาดตกบกพร่องทำให้ท้าวเวสสุวรรณไม่พอใจก็จะได้แก้ไขใหม่ให้ถูกต้องสำหรับการประกอบพิธีในคืนที่สองในคืนแรกจะประกอบพิธีบนบ้าน
 ๔.โรงพิธีหรือโรงครูโรงที่ใช้สำหรับประกอบพิธีไหว้ครูหมอหนังตะลุงมีลักษณะเหมือนกับโรงหนังตะลุงโดยทั่วไปทุกประการ  กล่าวคือ มีการปลูกเสายกขึ้นสูงจากพื้นพอประมาณ  มีหลังคา มีจอหนังกล่าวได้ว่าโรงพิธีคือโรงหนังนั่นเอง เพราะในคืนแรกจะมีการเล่นหนังตะลุงของนายหนังเพื่อแก้เหฺมฺรย (แก้บน)  และในคืนที่สองเมื่อหนังตะลุงเลิกเล่นแล้ว  จึงใช้โรงหนังเป็นโรงพิธี โดยยกจอหนังตลบขึ้นไปไว้บนเพดานหลังคาโรง ส่วนพื้นโรงพิธีปูด้วยผ้าขาวไว้สำหรับวางอุปกรณ์ในการประกอบพิธีและเครื่องเซ่นสรวงบูชา  เช่น แป้ง  น้ำหอม วางไว้หน้าร่างทรง เป็นต้น  ส่วนผลไม้จะแขวนไว้ตรงกลางโรงพิธี  ขนาดของโรงพิธีไม่จำกัดขนาดขึ้นอยู่กับจำนวนร่างทรง
 ๕.  อุปกรณ์ในการประกอบพิธี  คืนที่สองของการประกอบพิธีไหว้ครูหมอหนังตะลุง มีการตั้งภูมิขึ้น ๒ ที่  เป็นการตั้งภูมิที่ประกอบขึ้นมาอย่างง่าย ๆ โดยยกเสาไม้ขึ้น ๓ เสา  ส่วนเครื่องบูชาที่วางไว้ในการตั้งภูมิประกอบด้วยข้าว  ยำ  แกงปลาของหวาน  ขนม  อ้อย  ถั่ว  และงา  ของเหล่านี้บรรจุไว้ในกระทงทำด้วยใบมะพร้าว  มีธงสีแดงเล็ก ๆ ปักอยู่รอบ ๆ กระทงการตั้งภูมิจะตั้งด้านหน้าของโรงพิธีด้านซ้ายห่างจากโรงพิธีพอประมาณ
 นอกจากการตั้งภูมิแล้ว  อุปกรณ์ในการประกอบพิธียังประกอบด้วยของอีกหลายอย่าง  ได้แก่  สายสิญจน์  หม้อน้ำมนต์  หมากพลู  ธูปเทียน ดอกไม้  ทราย  ข้าวสาร ไม้เท้า  มีดหมอ  และผ้าขาว
 ๖.เครื่องบูชาหรือเครื่องสังเวยเซ่นสรวงสำหรับถวายตัวละครที่ประทับร่างทรง  บนโรงพิธี
ประกอบด้วย  บายศรี ๙ ชั้น (สำหรับไหว้ครู), บายศรีปากชาม, หัวหมู, มะพร้าวอ่อน, สมุนไพร,หนังสือบุด,  พานดอกไม้,  หมากพลู,  ธูปเทียน,  สุราขาว, สุราแดง,  ดอกไม้ (ยกเว้นดอกรัก), กระดานชนวน(สำหรับบูชาตัวละครพิเภก), ไข่ต้ม (สำหรับบูชาตัวตลกเปลือย สีแก้วและเณรพอน) ด้าย, กระจก, หวี(สำหรับบูชานางสีดาและนางมณโฑ), ผลไม้ต่าง ๆ ที่มีในฤดูกาล(สำหรับบูชาลิงดำลิงขาว) เช่นแตงโม,  สับปะรด,  ส้มเขียวหวาน เป็นต้น  ขนมโค,  ขนมต้ม,  ขนมชั้น,  น้ำ,  ผัก และแกง  ของบูชาเหล่านี้ไม่ได้ถูกกำหนดจำนวนว่าแต่ละอย่างจะมีเท่าใด  และเป็นที่น่าสังเกตว่าเครื่องบูชาหรือเครื่องสังเวยเซ่นสรวงเหล่านี้  ส่วนใหญ่เกิดจากความเชื่อว่าตัวละครในหนังตะลุงแต่ละตัวมีความชอบอะไรเป็นพิเศษ  เช่น ลิงดำลิงขาวชอบผลไม้ นางสีดาและนางมณโฑชอบแป้ง น้ำหอม  หวีและกระจก ส่วนเปลือย สีแก้วและเณรพอนชอบไข่เป็ดต้มและสุรา เป็นต้น  เครื่องบูชา  หรือเครื่องสังเวยเซ่นสรวงจะจัดไว้ข้างหน้า ด้านขวา และด้านซ้ายของโรงพิธี โดยแบ่งเป็นฝ่ายพระรามด้านขวาและฝ่ายทศกัณฐ์ด้านซ้าย
 ๗.  เครื่องดนตรี  เหมือนกับการแสดงหนังตะลุงโดยทั่วไป  ได้แก่ ทับหน้าเดียว  ๒ ใบ  กลองขนาดเล็กสองหน้า ตั้งตีเพียงหน้าเดียวด้วยไม้ ๒ อันฆ้องนิ้งหน่องสองเต้า ๑ ชุด  ฉิ่งฉับ ๑ คู่  และปี่ชวา ๑ เลา (ปัจจุบันเลิกใช้เพราะไม่มีผู้เป่าปี่ชวา)
 สำหรับเพลงที่มีความจำเป็นต้องใช้ในพิธีไหว้ครูหมอหนังตะลุงนั้น สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์และประสิทธิ  ชิณการณ์ (๒๕๓๑ : ๓) กล่าวไว้ว่า
"เพลงเชิญครู"     จะใช้สำหรับพิธีในวันไหว้ครูประจำปีโดยเฉพาะนักดนตรีจะใช้ "เพลงเชิญครู" เป็นเพลงโหมโรงคั่นรายการขบวนเพลงต่างๆ ด้วย
 ๘.  เครื่องแต่งตัวของร่างทรง  ในอดีตร่างทรงจะไม่พิถีพิถันเรื่องเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายปัจจุบันร่างทรงทุกคนทั้งผู้หญิงและผู้ชายจะต้องสวมใส่ชุดขาว ผู้หญิงใส่เสื้อสีขาว   นุ่งกางเกงหรือผ้าถุงสีขาว พาดสไบสีขาว ส่วนผู้ชายใส่เสื้อสีขาว และนุ่งกางเกงสีขาวเช่นเดียวกัน

ขั้นตอนการประกอบพิธีกรรม

คืนแรกประกอบพิธีกรรมในบ้าน
 ๑. ผู้ประกอบพิธีกรรมจัดหิ้งบูชาครู เวลาประมาณ ๑๙ นาฬิกา
 ๒. ลูกหลานเครือญาติครูหมอหนังตะลุงและผู้เข้าร่วมพิธีกรรมนุ่งห่มชุดขาว นั่งเป็นแถวพร้อมกันหน้าหิ้งบูชาครู
 ๓. เริ่มประกอบพิธีกรรมด้วยการสวดมนต์ทำวัตรเย็นจนจบ แล้วต่อด้วยการสวดคาถาชินบัญชรจนจบ และสวดอิมินา (กรวดน้ำ)
 ๔. ผู้นำในการประกอบพิธีกรรมประทับทรงในร่างของฤาษีตาไฟ  มาเพื่อตรวจพิธีการและเปิดโอกาสให้ลูกหลานซักถามปัญหาและข้อบกพร่องในการจัดพิธี
 ๕. ร่างทรงลา (ออก) พิธีกรรมคืนแรกเสร็จสิ้นเวลาประมาณ ๒๓ นาฬิกา

คืนที่ ๒ ประกอบพิธีบนโรงครู
 หนังตะลุงเริ่มแสดงเพื่อแก้บน เวลาประมาณ ๑๙ นาฬิกา  จนกระทั่งถึงเวลาประมาณ ๒๑ นาฬิกา หนังตะลุงหยุดแสดงและเริ่มประกอบพิธีกรรม ดังนี้
 ๑. ผู้ร่วมประกอบพิธีช่วยกันแกะจอหนังตะลุงออกจากโรง เพื่อตลบจอขึ้นไปขึงบนเพดานหลังคาโรงครู  ซึ่งบนโรงครูมีผลไม้แขวนอยู่หลายชนิด เช่น กล้วย ส้ม องุ่น เป็นต้น
 ๒. ปูผ้าขาวที่พื้นโรงครูเพื่อวางของเซ่นไหว้บวงสรวง
 ๓. ผู้ร่วมพิธีเริ่มขนบายศรีใหญ่ ๙ ชั้น (บายศรีไหว้ครู),บายศรีปากชาม,แจกันดอกไม้, ผลไม้, หัวหมู ๒ หัว (เป็นของเจ้าบ้านที่ให้สถานที่ประกอบพิธีเท่านั้น),มะพร้าวอ่อน, หินบดยาสมุนไพร, หนังสือบุด, พานดอกไม้, พานหมากพลู, ไม้เท้า, ธูปเทียน, สายสิญจน์, หม้อน้ำมนต์, มีดหมอ, เทียนเรือหงส์, เหล้าขาว, น้ำมันงา, กระดานชนวน, พรม, น้ำดื่ม, ไข่ไก่, อาหารคาหวาน ของทั้งหมดจะจัดเป็น  ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา
 ๔. ผู้ร่วมประกอบพิธีขึ้นไปนั่งบนโรงครู  จากนั้นผู้นำเริ่มประกอบพิธีด้วยการสวดมนตร์ร่วมกัน  และเริ่มเชื้อเชิญตัวละครให้มาประทับร่างทรง  โดยการขับกลอนประกอบดนตรี 
 ๖. เริ่มมีตัวละครมาประทับร่างทรง เช่น ท้าวสนธยา, เจ้าแม่สุชาดา, นางสีดา, พิราบหน้าไฟ, ท้าวเขี้ยวแก้ว, พิราบหน้าทอง  เป็นต้น
 ๗. จะมีการเชื้อเชิญตัวละครให้มาประทับร่างทรง ไปเรื่อย ๆ สลับกับการถวายของแก้บน และมีการรักษาอาการเจ็บป่วยกับร่างทรงบางองค์
 ๘. เมื่อตัวละครมาประทับร่างทรงครบทุกองค์แล้ว  ลำดับสุดท้ายที่จะมาประทับร่างทรงเพื่อเป็นการอำลาคือฤาษี   การไหว้ครูหมอหนังตะลุงก็เป็นอันเสร็จพิธี
 พิธีไหว้ครูหมอหนังตะลุงบ้านโคกขามตำบลป่าตอง  อำเภอกะทู้  จังหวัดภูเก็ต  ในอดีตจัดในเดือน ๓ ของทุก ๆ ปี  ปัจจุบันจัดในเดือน ๓
ของทุก ๆ ๓ ปี และในอนาคตมีแนวโน้มว่าจะจัดให้มีพิธีไหว้ครูหมอหนังตะลุงทุก ๆ  ๖ ปี ทั้งนี้เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง  อาทิเช่นภารกิจของคนที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมมีมากขึ้นตามยุคของโลกาภิวัตน์  เครือญาติ ลูกหลานย้ายออกไปทำมาหากินต่างถิ่นฐานมากขึ้น และปัจจัยสำคัญที่สุดเห็นจะได้แก่ ความเข้มข้นของความเชื่อ และความศรัทธาในพิธีกรรมลดน้อยลงจากเดิมมาก
 พิธีไหว้ครูหมอหนังตะลุงบ้านโคกขาม
เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นมานาน และมีการประกอบพิธีผ่านมาหลายช่วงอายุคน  มีการรับช่วงสืบทอดปฏิบัติต่อเนื่องกันโดยตลอด เป็นสิ่งที่ลูกหลานของครูหมอหนังตะลุงทุกคนถือเป็นพันธกิจที่พึงกระทำเพื่อแสดงถึงความมีกตัญญุตาต่อวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งองค์ประกอบของพิธีกรรมนี้อาจจะปรับเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่างไปบ้างตามกาลเวลาก็เพื่อความสะดวกและเหมาะสม อันจะทำให้พิธีกรรมนี้มีบทบาทที่จะรับใช้สังคมต่อไป .....
 
 
บรรณานุกรม

ธีรยุทธ  บุญมี. รูสมิแล  (๑ - ๒) ; มกราคม – สิงหาคม ๒๕๓๘.
ภิญโญ  จิตต์ธรรม. ความเชื่อ.  สงขลา : มงคลการพิมพ์  สงขลา, ๒๕๒๒.
วิรัช  วิรัชนิภาวรรณ และนิภาวรรณ  วิรัชนิภาวรรณ. การเข้าทรงและร่างทรง  ความเชื่อ พิธีกรรม
 และบทบาทที่มีต่อสังคม.  กรุงเทพ ฯ : โอเดียนสโตร์, ๒๕๓๓.
ศิราพร  ฐิตะฐาน ณ ถลาง. ในท้องถิ่นมีนิทานและการละเล่น  การศึกษาคติชนในบริบททางสังคม
 ไทย.  กรุงเทพ ฯ : มติชน, ๒๕๓๗.
สมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์ และประสิทธิ  ชิณการณ์.  เอกสาร แลหนังปละตก.  ภูเก็ต : ศูนย์วัฒนธรรม
 จังหวัดภูเก็ต, ๒๕๓๑.
สุเมธ  เมธาวิทยกุล.  สังกัปพิธีกรรม.  กรุงเทพ ฯ : โอเดียนสโตร์, ๒๕๓๒.
อุดม  หนูทอง. "เปิดแผงหนังฝั่งอันดามัน" ใน ที่ระลึกงานส่งเสริมวัฒนธรรมไทยครั้งที่ ๑๒ มศว.๘
 วิทยาเขต.  กรุงเทพ ฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง กรุ๊ฟ จำกัด, ๒๕๓๔.

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อาทิตย์, 17 สิงหาคม 2008 )