การละเล่นพื้นบ้านภูเก็ต
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พุธ, 06 กุมภาพันธ์ 2008

๓.๒.๔ การละเล่นพื้นบ้าน

ผศ.สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์

-------------------------

การละเล่นของเด็ก

 เด็กภูเก็ต มีการละเล่นที่หลากหลายทั้งการละเล่นในร่มและกลางแจ้ง บางอย่างก็มีเพลงร้องประกอบในการเล่นเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน การละเล่นบางประเภทเป็นการฝึกความเป็นผู้นำ ฝึกการยอมรับโทษตามกฎกติกา การรู้จักแพ้ ชนะ และอภัย
 การละเล่นที่รวบรวมไว้นี้ ส่วนใหญ่เป็นการละเล่นในอดีต เหลือมาถึงปัจจุบันน้อยมาก ทั้งนี้เพราะอิทธิพลของเทคโนโลยีสมัยใหม่ๆ เข้ามาแทนที่และมีบทบาทมากขึ้น จึงมักจะเห็นเด็กรุ่นใหม่นั่งเล่นเกมกด คอมพิวเตอร์ วีดีโอเกม แทนการเล่นเป่ายาง ขว้างราว เป็นต้น 
 ในการละเล่นบางประเภทที่ต้องมีการแบ่งเป็นกลุ่มเป็นฝ่ายตรงกันข้าม ก็จะมีการคัดเลือกโดยวิธี “ขายคู่” “ฉี้ดอ่าหว้าย” “วันตู่โซ่ม” และ “ลาล่าทุมโป้ง”


ขายคู่
 ผู้เล่นจับคู่แล้วชวนกันไปตกลงสมมุติให้คนใดคนหนึ่งเป็นอะไรก็ได้ อาจจะเป็นชื่อ นก ปลา พืช ฯลฯ แล้วพากันไปบอกขายให้คู่หัวหน้าเป็นผู้เลือก หัวหน้าเลือกอะไรก็จะได้เป็นไปตามนั้น เช่น เด็กชายแดงสมมุติเป็นปลา เด็กชายดำสมมุติเป็นนก ทั้งดำและแดงก็พากันไปบอกหัวหน้าว่า ปลา นก เด็กชายอู้ดผู้เป็นคู่หัวหน้ากับเด็กชายอ้อก็จะเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง เด็กที่จับคู่กันมักจะมีความสามารถใกล้เคียงกัน ไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกันมากนัก เมื่อต้องการใช้สิทธิ์เล่นก่อนหลังใช้ “ฉี้ดอ่าหว้าย”

ลาล่าทุมโบ้ง
 ลาล่าทุมโบ้งหรือ ลาลาล่าทุมโบ้ง, ซาลาล่าทุมโบ้ง เป็นวิธีการที่ใช้คัดเลือกให้เหลือ ๒ คนสุดท้าย โดยให้ทุกคนเอามือข้างใดข้างหนึ่งไพล่ไปซ่อนหลังตัวเอง แล้วออกเสียงพร้อมกันว่า ลาลาล่าทุมโบ้ง เมื่อสิ้นเสียงคำว่า โบ้ง ให้เอามือที่ไขว้ไว้ข้างหลังหงายหรือคว่ำ ยื่นออกมาข้างหน้าพร้อมกับคนอื่นๆ จำนวนมือที่หงายหรือคว่ำฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งน้อยกว่า ก็ทยอยออกไป และเริ่ม ลาลาล่าทุมโบ้ง ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเหลือ ๒ คน สุดท้ายจึงใช้วิธี “ฉี้ดอ่าหว้าย”


ฉี้ดอ่าหว้าย
 ฉี้ดอ่าหว้ายเป็นวิธีที่ใช้คัดคน ๒ คน ที่เหลือจากการขายคู่หรือลาล่าทุมโบ้ง เพื่อคัดให้เหลือคนเดียว  สัญลักษณ์ที่ใช้คือนิ้วทั้ง ๕ ที่ใช้แสดงออกต่อหน้าพร้อมกันเมื่อกล่าวคำสุดท้ายว่า “หว้าย” ของฉี้ดอ่าหว้าย นิ้วทั้ง ๕ มีความหมายดังนี้
 นิ้วหัวแม่มือ  หมายถึง       พระหรือผู้ทรงศีล
 นิ้วชี้ หมายถึง       ชาย
 นิ้วกลาง หมายถึง       เสือ
 นิ้วนาง หมายถึง       หญิง
 นิ้วก้อย หมายถึง      มด มดตะนอย
การแพ้ชนะกำหนดดังนี้
 พระ - ชาย (นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้) พระชนะ เพราะชายต้องไหว้พระ
 พระ - เสือ เสือชนะ เพราะเสือกินพระ
 พระ - หญิง หญิงชนะ เพราะพระถูกต้องหญิงไม่ได้
 พระ - มด มดชนะ เพราะมดกัดพระ พระขยี้มดไม่ได้
 ชาย - เสือ เสือชนะ เพราะเสือกินชาย
 ชาย - หญิง ชายชนะ เพราะชายเป็นผู้นำ
 เสือ - มด มดชนะ เพราะเสือกัดมดไม่ได้ มดกัดเสือได้
 การกำหนดสัญลักษณ์ของแต่ละนิ้ว บางที่บางแห่งอาจจะกำหนดแตกต่างกันออกไปบ้างแล้วแต่จะตกลงกัน

วันตู่โซ่ม
 วันตู่โซ่ม หรือ วันทูโซ่ม สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำว่า วัน ทู ทรี หรือ หนึ่ง สอง สาม เป็นวิธีการคัดเลือก ๒ คนสุดท้าย ให้เหลือเพียงคนเดียว อีกวิธีหนึ่งโดยใช้มือทำเป็นรูปต่างๆ เป็นสัญลักษณ์ในการตัดสินเมื่อกล่าวคำสุดท้ายออกมาว่า “โซ่ม” ก็ให้แสดงนิ้วออกมา ซึ่งแต่ละนิ้วมีความหมายดังนี้
 ๑. กรรไกร ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางเป็นส่วนคมของกรรไกร นิ้วหัวแม่มือกดนิ้วนางและนิ้วก้อยไว้ในอุ้งมือ
 ๒. หิน ใช้การกำหมัด
 ๓. กระดาษ คือการแบมือหงายขึ้น
 ๔. น้ำ หงายมือให้มีอุ้งมือเสมือนหนึ่งมีน้ำอยู่ในอุ้งมือ
 ๕. แก้ว ใช้มือหงายขึ้น ให้นิ้วติดกันเป็นด้านข้างของแก้วน้ำ
 ๖. ดวงอาทิตย์ ทำนิ้วมือคล้ายแก้ว แต่ปลายนิ้วหัวแม่มือจรดกับปลายนิ้วชี้ จัดให้เป็นวงกลม นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อย เหยียดตรงประดุจดวงอาทิตย์เปล่งแสงออกไปตามนิ้วมือ
 การแพ้ชนะกำหนดไว้ดังนี้
 กรรไกร แพ้ หิน  เพราะหินทำให้กรรไกรชำรุด
 กรรไกร แพ้ น้ำ  เพราะน้ำทำให้กรรไกรขึ้นสนิม
 กรรไกร แพ้ ดวงอาทิตย์  เพราะดวงอาทิตย์ทำให้กรรไกรร้อน
 กรรไกร ชนะ กระดาษ  เพราะกรรไกรตัดกระดาษ
 กรรไกร ชนะ แก้ว  เพราะกรรไกรทุบแก้วแตก
 หิน แพ้ กระดาษ  เพราะกระดาษห่อหิน
 หิน แพ้ น้ำ  เพราะหินจมน้ำ
 หิน ชนะ แก้ว  เพราะหินทุบแก้วแตก
 หิน แพ้ ดวงอาทิตย์  เพราะดวงอาทิตย์ทำให้หินร้อน แตกได้
 กระดาษ แพ้ น้ำ  เพราะกระดาษเปียกฉีกขาดง่าย
 น้ำ แพ้ แก้ว  เพราะน้ำต้องอยู่ในแก้ว
 น้ำ แพ้ ดวงอาทิตย์  เพราะน้ำระเหยเนื่องจากความร้อน
 แก้ว แพ้ ดวงอาทิตย์  เพราะดวงอาทิตย์ให้ให้แก้วร้อน
 การกำหนดนิ้วหรือรูปสัญลักษณ์ต่างๆ บางแห่งก็อาจจะแตกต่างกันออกไปบ้าง เช่น นิ้วชี้อาจจะหมายถึงค้อน หรือเหล็กตีแก้วแตก ดวงอาทิตย์อาจจะทำเป็นอุ้งมือเหมือนน้ำ แต่ยกมือขึ้นคว่ำลงไประดับศีรษะ เป็นต้น
แมงมุมขยุ้มหลังคา

จำนวน   ตั้งแต่ ๒ -๕ คน
บทร้อง แมงมุมหยุ้มหลังคา  พลัดลงมาหมายิกกัด
วิธีเล่น ๑. ใช้มือของแต่ละคน ๆ ละข้างจับขยุ้มที่หลังมือ
 ๒. เขย่ามือและร้องเพลงประกอบ เมื่อจบเพลงมือคนที่อยู่ล่างสุดเปลี่ยนมาจับข้างบนสุด
 ๓. เล่นไปเรื่อย ๆ จนเปลี่ยนมือครบทุกคน หรือขี้เกียจเล่น แล้วเลิกกันไปเอง
ประโยชน์  ความสนุกสนานและเพลิดเพลิน
                คำศัพท์
หยุ้ม   หมายถึง        ขยุ้ม
พลัด   หมายถึง        ตก
ยิก      หมายถึง        ไล่
  

ทายหาตัวคนตด(๑)
จำนวน  ไม่จำกัด
บทร้อง  ตดชี้ด ตดช้าด หนูราดใบบัว ใครยิ้มใครหัว คนนั้นและตด
วิธีเล่น  
๑. เมื่อมีผู้ตดออกมาแล้วไม่ยอมรับ ก็ให้เด็กๆ นั่งล้อมวงกัน
 ๒. หัวหน้าคนหนึ่ง ชี้ไปที่เด็กทีละคนพร้อมกับร้องเพลงประกอบ
 ๓. เพลงจบลงคำว่า ตด ลงที่ใครก็แสดงความคนนั้นตด
ประโยชน์ 
ความสนุกสนาน เพลิดเพลิน
คำศัพท์
หัว  หมายถึง       หัวเราะ

ทายหาตัวคนตด(๒)
จำนวน  ไม่จำกัด
บทร้อง มดหน้อย ทอยแด้ง ใครนั่งไม่แน่งตด
  มดหน้อยทอยปืน 
ใครไม่ยืนตด
  มดหน้อยทอยค้าง
ใครไม่นั่งตด
  มดหน้อยทอยรั้ว
    ใครยิ้มใครหัวตด
   ฯลฯ
วิธีเล่น  
๑. เมื่อมีคนตดหรือจะเริ่มเล่นเกมนี้ คนที่เริ่มคนแรกจะร้อง มดตะนอยทอยแด้ง ใครนั่งไม่แหนงตด
 ๒. เมื่อสิ้นคำว่าตด คนที่นั่งอยู่ทุกคนจะต้องนั่งนิ่ง ใครกระดุกกระดิก แสดงว่าคนนั้นตด ถ้ายังหาคนแพ้ไม่ได้ ก็ร้องหาต่อไปหรือทิ้งระยะจนกว่าคนใดคนหนึ่งทนไม่ได้จนกระดุกกระดิก ก็จับแพ้
 ๓. คนที่แพ้จะเริ่มร้องหาต่อไป จะร้องอย่างไรก็ได้ แต่ให้มีคำสัมผัส เช่นปืน - ยืน  ค้าง - นั่ง  รั้ว - หัว  ซึ่งขึ้นอยู่กับคนร้องจะสังเกตกริยาของเพื่อน ๆ ว่าใครกำลังทำอะไรอยู่ ก็จะร้องให้ลงที่กริยาอาการของคนนั่ง
 ๔. เล่นไปเรื่อย ๆ จนเหนื่อยหรือขี้เกียจก็หยุด
ประโยชน์
๑. ความสนุกสนานเพลิดเพลิน
 ๒. ฝึกไหวพริบ ปฏิภาณทั้งคนร้อง คนเล่น
                  คำศัพท์
แด้ง หมายถึง เด้ง
แน่ง หมายถึง นิ่ง
หัว หมายถึง หัวเราะ
หน้อย หมายถึง มดตะนอย


ชนช้าง
จำนวน ไม่จำกัด แต่ไม่ควรมากเกิน ๑๐ คู่
วิธีเล่น ๑. เลือกจับคู่ตามใจชอบ ส่วนใหญ่จะเป็นคนตัวใหญ่คู่กับตัวเล็ก
 ๒. คนตัวโต สมมุติเป็นช้าง ให้คนตัวเล็กขึ้นขี่หลัง คนที่เป็นช้างจับขาหรือข้อเท้าคนที่ขี่หลังให้ออกไปข้างหน้า ทุกคู่ทำเหมือนกันหมด
 ๓. คู่ไหนพร้อมก็วิ่งเข้าชนคู่ต่อสู้ โดยใช้เท้าทั้งสองเท้าของคนขี่ ถีบคู่ต่อสู้ให้ล้ม หรือคนที่เป็นช้างจะเอาตัวกระแทกก็ได้ คู่ไหนล้มก็จะเป็นฝ่ายแพ้ แต่ก็มีสิทธิ์ที่จะลุกขึ้นมาชนแก้ตัวได้อีก
 ๔. คู่ที่เหลือคู่สุดท้าย หรือเพื่อนไม่กล้าชนด้วย ถือเป็นคู่ชนะ หรือเล่นกันจนเหนื่อยก็จะเลิกกันไป
ประโยชน์ 
๑. ความสนุกสนานเพลิดเพลิน
 ๒. ออกกำลังกาย
 ๓. ฝึกไหวพริบปฏิภาณของคู่ที่เล่น

ขว้างราว
 การเล่นขว้างราว บางครั้งก็เรียกว่าขว้างป้อง หรือขว้างพาน เป็นการละเล่นที่เกิดจากการนำเอาเมล็ดมะม่วงหิมพานต์มาใช้เล่นเพื่อการพนัน
จำนวน  อย่างน้อย ๒ คน
อุปกรณ์ ๑. เม็ดกาหยี
 ๒. กระป๋องนม ๑ - ๒ ใบ
 ๓. ไม้ไผ่ผ่าซีกยาว ๑-๓ ฟุต
 ๔. ก้อนหินเล็กๆ สำหรับใช้ขว้าง
-------------
แผนผัง  ผู้ขว้าง    ราวไม้ไผ่ผ่าซีกวางเม็ดกาหยี
  เส้นขว้าง 
-------------  
วิธีเล่น ๑. นำไม้ไผ่ที่ผ่าซีกแล้วใส่เม็ดกาหยี โดยชันชีกันว่าจะใส่ครั้งละกี่เม็ดต่อคน
 ๒. นำราวไม้ไผ่ที่ใส่เม็ดกาหยีแล้วไปวางไว้ที่พื้นดินหรือบางครั้งวางพาดไว้บน กระป๋องนม โดยให้กระป๋องนมอยู่ตรงกลาง ถ้าใช้กระป๋อง ๒ ใบ ก็วางรับราวไม้ไผ่หัวท้าย
 ๓. ฉุกชุก ว่าใครจะได้เป็นคนทอยเม็ดกาหยีก่อน โดยการโยนเม็ดกาหยีให้ห่างออกไปจากราวที่ตั้งเม็ดกาหยี คนที่ทอยเม็ดกาหยีไกลกว่าคนอื่นจะเป็นคนแรกที่ได้ขว้างราวเม็ดกาหยีที่ตั้งไว้ และคนต่อ ๆ มาตามลำดับ
๔. ขีดเส้นให้ห่างจากราวพอสมควร
 ๕. ผู้เล่นคนแรกยืนตรงเส้นที่ขีดไว้
 ๖. ผู้เล่นเอาเม็ดกาหยีหรือก้อนหินขนาดเท่า ๆ กัน ขว้างไปยังราว
 ๗. ถ้าขว้างถูกเม็ดกาหยีหล่นลงจากราว ได้เม็ดกาหยีส่วนนั้นไป
 ๘. ถ้าราวไม้ไผ่ล้มคว่ำลง เม็ดกาหยียังอยู่ในราวไม้ก็ยกมาตั้งใหม่
 ๙. ถ้าขว้างไม่ถูกผู้เล่นคนต่อไปก็ขว้างต่อ
 ๑๐. เมื่อขว้างจนเม็ดกาหยีหมดในราวก็หมดหนึ่งเกม
 ๑๑. เริ่มเกมใหม่เหมือนเดิม
 ๑๒. จำนวนเม็ดกาหยีที่ใส่ในราวแต่ละครั้งอาจไม่เท่ากัน ถ้ามีมากจนใส่ในราวไม่หมด ก็กองเม็ดกาหยีไว้ข้างราว พร้อมกับขีดเส้นเป็นวงกลมล้อมรอบเม็ดกาหยีเรียกเม็ดกาหยีที่อยู่ในวงกลมนั้นว่ากองพูน
          ๑๓. คนที่มีสิทธิ์จะได้กองพูนคือ คนที่ขว้างราวล้มคว่ำลงโดยไม่มีเม็ดกาหยีเหลืออยู่ในราวเลย
๑๔. ถ้าขว้างจนจบเกมแล้ว ยังมีเม็ดกาหยีเหลืออยู่อีกในราวก็อาจมีการเพิ่มจำนวนเม็ดกาหยีลงไปอีก
๑๕.คนที่แพ้คือคนที่ขว้างได้เม็ดกาหยีน้อยที่สุด หรือไม่ได้เลย หรือไม่มีเม็ดกาหยีลงใส่ในราวเล่นในเกมต่อไป ก็ต้องออกจากการเล่น
ประโยชน์  ๑. ความสนุกสนานเพลิดเพลิน
 ๒. ออกกำลังกาย
 ๓. ฝึกความมีน้ำใจนักกีฬา รู้จักแพ้ชนะ
คำศัพท์
ป้อง หมายถึง กระป๋อง
พาน หมายถึง ราวไม้ไผ่ผ่าซีก
ชันชี หมายถึง ตกลง
ฉุกชุก หมายถึง  จอง
กาหยี  หมายถึง  มะม่วงหิมพานต์
เป่ากบ
จำนวน  ๒ คน
อุปกรณ์  ยางเส้นที่ใช้รัดของ
วิธีเล่น  ๑. ใช้ยางคนละ ๑ เส้น วางให้ระยะห่างพอสมควรบนพื้น บนโต๊ะหรือไม้กระดาน 
 ๒. ผลัดกันเป่าให้ยางเคลื่อนที่เข้าหากันคนละ ๑ ครั้ง จนยางไปชนกันหรือยางของใครไปเกยยางของอีกฝ่ายก็จะชนะเรียกว่ากบ (กลบ)
 ๓. ฝ่ายแพ้ต้องเสียยางให้ฝ่ายชนะ ซึ่งจะตกลงกันก่อนว่าจะแพ้ชนะกันครั้งละกี่   เส้น
๔. เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดยางก่อน หรือขี้เกียจเล่นก็เลิกเล่น

เป่ากอง
 คล้ายกับเล่นเป่ากบ แต่เพิ่มจำนวนคนเล่นขึ้นเป็น ๒ - ๗ คน
วิธีเล่น ๑. ตกลงกันก่อนว่าแต่ละครั้งจะใช้ยางกี่เส้น
 ๒. เอายางเส้นทั้งหมดวางซ้อนกัน
 ๓. จัดลำดับว่าใครจะเป่าก่อนหลัง
 ๔. คนที่เป่ายางให้หลุดจากกลุ่มที่วางซ้อนกัน โดยไม่มีเส้นอื่นติดอยู่ จะได้ยางเส้นที่หลุดออกเป็นกรรมสิทธิ์
 ๕. เป่ากันไปเรื่อยๆ จนยางหมดกอง
 ๖. คนที่ได้ยางมากกว่าเพื่อนเป็นคนชนะ
 ๗. จบเกมก็เริ่มเกมใหม่ จนกว่าจะเบื่อหรือคนแพ้หมดยางที่จะใช้เล่น
ประโยชน์ ๑. ความสนุกสนานเพลิดเพลิน

---------------------------------

ฉับโผล้ะ/ฉะโขล้ะ
จำนวน  ตั้งแต่ ๑ คน ขึ้นไปหรืออาจจะแบ่งเป็นฝ่าย
อุปกรณ์  ๑. กระบอกไม้ไผ่ยาวประมาณ ๑ ฟุต มีรูปล้องขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๗-๑๐ มม. เหลาไม้ไผ่ทำเป็นแกนใส่ลงในรูกระบอกไม้ไผ่ ใส่ด้ามให้มั่นคง แข็งแรง ปลายไม้มีขนาดสอดในรูกระบอกไม้ไผ่มีความยาวน้อยกว่ากระบอกไม้ไผ่ประมาณ ๒ ซม.
-----------------
ส่วนที่เหลือ ๒ ซม.
 ด้าม         กระบอกสวม
----------------- 

 ๒. กระสุนทำด้วยกระดาษชื้นหรือแช่น้ำให้พองหรือให้ลูกมรายที่มีขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียวซึ่งพอดีกับรูกระบอกไม้ไผ่
วิธีเล่น ๑. ใช้กระบอกฉับโผล้ะบรรจุกระสุนโดยใช้ลูกมรายหรือกระดาษแช่น้ำจนพองบิเป็นก้อนเล็ก ๆ พอที่จะยัดใส่ลงในกระบอกฉับโพละได้ แล้วเอาไม้ที่เหลาเป็นแกนกดกระแทกกระสุนเข้าไปในรู ประมาณ ๑ ใน ๓ หรือ ครึ่ง กระบอกแล้วอัดโดยแรง กระสุนจะพุ่งออกไปพร้อมกับเสียงดัง”โพล้ะ”    หากกระสุนไปถูกอวัยวะส่วนไหนก็จะเจ็บ ๆ คัน ๆ แต่ไม่ควรจะยิงที่ส่วนหัว หรือที่ตา เพราะอันตราย
๒. คนที่ยิงถูกฝ่ายตรงข้าม หรือยิงเข้าเป้ามากกว่าเป็นฝ่ายชนะ
ประโยชน์ 
๑. ความสนุกสนานเพลิดเพลิน
 ๒. ฝึกความแม่นยำและฝีมือ
ศัพท์
มราย  =  พืชชนิดหนึ่ง ผิวใบหยาบคล้ายกระดาษทราย  ผลมีเมล็ดเป็นช่อ แต่ละเมล็ดมีผิวสีเขียว สุกเปลี่ยนเป็นสีดำ เม็ดในแข็ง ขนาดปลายนิ้วก้อย
----------------------------------

เสือกินวัว
จำนวน  ๑๐-๒๐ คน
วิธีเล่น  
๑. สมมุติให้ผู้เล่นคนหนึ่งเป็นเสือ คนหนึ่งเป็นวัว
 ๒. ผู้เล่นคนอื่น ๆ จับมือกันเป็นวงกลม
 ๓. คนที่เล่นเป็นเสืออยู่นอกวงกลม ส่วนคนที่เล่นเป็นวัวอยู่ในวงกลม ซึ่งสมมุติเป็นคอกวัว
 ๔. เสือพยายามหาทางเข้าไปในคอกเพื่อจับวัว
 ๕. ถ้าเสือเข้าไปในคอกได้ วัวต้องพยายามวิ่งหนีออกนอกคอก และกลับเข้าคอกใหม่ คนที่จับมือเป็นวงกลมต้องพยายามกันไม่ให้เสือเข้าคอกหรือออกจากคอกได้ แต่ก็ไม่ต้องจับมือกันแน่นมากนัก
 ๖. ถ้าเสือจับวัวได้ก็เปลี่ยนคู่เล่นต่อไป
ประโยชน์
๑. ความสนุกสนานเพลิดเพลิน
 ๒. ออกกำลังกาย

เข้ขึ้นบก
จำนวน อย่างน้อย ๔ คน เป็นจระเข้ ๑ คน
บทร้อง เข้เข้ไม่ขบ ลงเรือรบเข้ขบทันที
วิธีเล่น  
๑. เลือกคนที่เป็นจระเข้ ๑ คน
 ๒. คนที่ไม่ได้เป็นจระเข้ ให้ยืนอยู่บนที่สูงกว่าจระเข้ เช่น บันได เก้าอี้ โต๊ะ ก้อนหิน
 ๓. ทุกคนร้องยั่วจระเข้ว่า เข้ เข้ไม่ขบ ลงเรือรบ เข้ขบทันที แล้วก้าวลงมายืนใน
ระดับเดียวกับคนที่เป็นจระเข้
 ๔. จระเข้วิ่งไล่กัดคนที่ยืนอยู่ ถ้าแตะถูกคนใดที่วิ่งขึ้นไปบนที่สูงไม่ทัน คนนั้นก็เป็นจระเข้ต่อไป
 ๕. ถ้าจระเข้จับใครไม่ได้ ก็จะมีคนบอกว่า “เดือน ๑๒ น้ำท่วม” จระเข้ขึ้นมาบนบกได้ ก็จะไล่จับ จับถูกใคร คนนั้นเป็นจระเข้และเริ่มเล่นกันใหม่ จนกว่าจะเบื่อหรือเหนื่อยจึงหยุด
ประโยชน์
๑. ความสนุกสนานเพลิดเพลิน
 ๒. ออกกำลังกาย
 ๓. ฝึกความว่องไวและไหวพริบของแต่ละคน
 ๔. ความสนิทสนม ความสามัคคี ระหว่างเพื่อน ๆ
คำศัพท์
 เข้ = จระเข้
     ราวเดอร์/ด้าวเดอร์
จำนวน  ตั้งแต่ ๖-๑๒ คน
อุปกรณ์ ๑. ลูกเทนนิส ๑ ลูก
 ๒. ไม้ตีลูกบอล ๑ อัน
 ๓. หลักที่สามารถเหยียบได้ ๔ หลัก (เป็นแผ่นไม้หรือ แผ่นอิฐก็ได้)
แผนผัง
   
ลัก ๔            ฝ่ายหลัก
   ฝ่ายตี หลัก ๑ 
หลัก ๓
ฝ่ายหลัก
หลัก ๒
แผนผัง 
๑. แบ่งผู้เล่นออกเป็น ๒ ฝ่าย ๆ ละ เท่า ๆ กัน
 ๒. ผู้ตีถือไม้ตีใกล้หลัก ๑ ตีจากคนโยนลูกฝ่ายรับ ให้ผ่านกลางหลัก ๒ และ ๔ ให้ตีวิ่งอ้อมหลัก ๒,๓,๔ จนกลับมาถึงหลัก ๑ แต่ถ้าผู้ตี ตีลูกออกนอกแนวหลัก ๒ และ ๔ จะหมดสิทธิ์เล่นในรอบนั้น
 ๓. ฝ่ายรับต้องช่วยกันรับลูกบอลที่ตีขณะที่ลูกลอยอยู่ให้ได้ แล้วนำลูกบอลแตะพื้นก็จะได้กลับมาเป็นฝ่ายตี หรือจับลูกได้ในขณะที่ลูกตกถึงพื้นแล้ว ให้ใช้ลูกบอลขว้างคนตีที่กำลังวิ่งอ้อมหลัก หรืออยู่นอกหลัก ถ้าขว้างถูกคนที่ตีลูกก็จะตาย แต่ฝ่ายรับไม่มีสิทธิ์ขว้างลูกบอลไปยังคนตีที่หยุดสัมผัสหลัก ๒ ๓ หรือ ๔
 ๔. คนตีที่หยุดอยู่ที่หลัก ๒ ๓ หรือ ๔ แล้วจะวิ่งต่อไปได้ก็ต่อเมื่อคนตีลูกคนต่อไปตีอีกลูกแล้วลูกไม่เสีย
 ๕. หลักเดียวจะหยุดรอได้เพียง ๑ คน ถ้าบังเอิญหยุดยืนมากกว่า ๑ คน ต้องเลือกผู้ใช้สิทธิ์เพียงคนเดียว
 ๖. ผู้วิ่งต้องวิ่งอ้อมหลักด้านนอก หากเผลอเหยียบหลักต้องหยุดรอที่หลักนั้น
 ๗. คนที่ถูกขว้างด้วยลูกบอลจากฝ่ายรับถูกและตายไปแล้ว จะมีสิทธิ์ตีลูกได้อีก  เมื่อคนที่ตีคนใดคนหนึ่งตีลูก วิ่งอ้อมหลัก ๒ ๓ ๔ จนมาถึงหลักที่ ๑ ได้ จะช่วยคนที่ตายได้ ๑ คน
ประโยชน์ 
๑. ออกกำลังกาย
 ๒. ฝึกไหวพริบ ปฏิภาณ
 ๓. ความสามัคคี
---------------------------
หมิดลอ
จำนวน  อย่างน้อย ๒ คน
อุปกรณ์ เศษกระเบื้อง เรียกว่า เบื้องฉุดคนละ ๑ ชิ้น
สถานที่  ลานดินหรือทราย
แผนผัง
จุดเริ่ม   ๑ ๒ ๓
   ๖ ๕ ๔
กติกา ๑. ฉุดเบื้องฉุดเป็นรอบ รอบ ๑ ผ่าน ช่อง ๑-๖  รอบ ๒ ผ่าน ช่อง ๒-๖  รอบ ๓ ผ่าน ช่อง ๓-๖ รอบ ๔ ผ่าน ช่อง ๔-๖  รอบ ๕ ผ่าน ช่อง ๕-๖  รอบ ๖ ผ่าน ช่อง ๖ ผ่าน รอบ ๖ แล้วมีสิทธิ์ได้เมือง ๑ เมือง ชุดแรกในช่อง ๑ หรือ ๖ ชุด ๒ ช่อง ๒ หรือ ๕  ชุด ๓ ช่อง ๓ หรือ ๔
 ๒. เมืองของตนกระโดดลงได้ ๒ เท้า
 ๓.ไม่มีสิทธิ์ลงในเมืองของคนอื่น เมื่อต้องผ่านให้กระโดดและไม่ต้องโยนเบื้องลงในเมืองของตนและของผู้อื่น
 ๔. เหยียบหรือทอยหยุดลงบนเส้นใดเส้นหนึ่งไม่ได้
 ๕. ให้ฉุดเบื้องไปตามลำดับ
 ๖. ทุกช่องที่ไม่ใช่เมือง ให้เขย่งขาเดียว
 ๗. ฉุดเบื้องฉุดพ้น ช่อง ๖ (หรือช่องสุดท้าย เมื่อมีเมืองขวางไว้) ออกนอกกรอบแล้วให้กระโดดลงพร้อมกันทั้ง ๒ เท้าเหยียบกระเบื้องฉุดของตนทุกครั้ง
 ๘. เมื่อฉุดเบื้องฉุดไปแต่ละช่อง อาจตกลงให้เขย่งกระโดดข้ามเส้นไปเหยียบกับเบื้องฉุดในช่องถัดไปก่อนฉุดก็ได้
 ๙. เล่นตายในรอบใด เมื่อมีสิทธิ์เล่นให้เริ่มต้นเล่นจากจุดเริ่มรอบนั้น ๆ
แผนผัง
 ๑. เลือกผู้ฉุดก่อนหลัง
 ๒. ทอยเบื้องฉุดลงในช่อง ๑
 ๓. เขย่งกระโดดเหยียบเบื้องฉุดในช่อง ๑
 ๔. ขยับเท้าออกจากเบื้องฉุดใช้เท้าข้างนั้นฉุดเบื้องฉุดไปช่อง ๒
 ๕. เขย่งกระโดดข้ามเส้นไปเหยียบเบื้องฉุดในช่อง ๓ ขยับเท้าออกแล้วฉุดเบื้องฉุดไปช่อง ๔
 ๖. เขย่งกระโดดเปลี่ยนช่องฉุดไปตามลำดับจนพ้นช่องสุดท้าย
 ๗. สิ้นสุดรอบแรก ขึ้นรอบ ๒ ให้ทอยเบื้องฉุดไปช่อง ๒
 ๘. กระโดดเขย่งไปช่อง ๑ เขย่งกระโดดไปหยิบเบื้องฉุดในช่อง ๒ แล้วฉุดไปช่องถัด ๆ ไป ตามลำดับจนถึงข้อ ๖
 ๙. ทอยจนถึงรอบ ๖ เมื่อฉุดเบื้องฉุดพ้นช่อง ๖ และเหยียบเบื้องฉุดแล้ว เริ่มวางเบื้องฉุดบนหลังเท้าขวา ณ จุดทอย เอามือปิดตา ก้าวเท้าขวาลงช่อง ๑ ขยับเท้าซ้ายไปประชิดแล้วถามว่า “หมิดลอ” หากไม่เหยียบเส้นและเบื้องฉุดยังอยู่ บนหลังเท้า คนอื่นจะบอกว่า “ลอ” ให้ก้าวเท้าขวาต่อไปช่อง ๒ ถึงข้างซ้ายไปประชิดหลังถามว่า “หมิดลอ” หากยังคงได้ “ลอ” ก็ให้กระโดดลงในช่อง ๓ เปิดตาได้ เตรียมตัว “หมิดลอ” ต่อไปยังช่อง ๔ , ๕ และ ๖ เมื่อได้คำตอบ “ลอ” ในช่องที่ ๖ แล้ว ให้กระโดดจากช่อง ๖ เตรียมเลือกเมืองในช่องที่ ๑  หรือ ๖ ช่องใดช่องหนึ่ง
 ๑๐. การเลือกเมืองทุกครั้ง ให้กระโดดคล่อมเส้นกลางให้พ้นช่องเมืองชุดแรกไปแล้วโยนกระเบื้องฉุดข้ามศีรษะตนเองไปตกในช่อง ๑ หรือ ๖ ตกช่องใดก็ได้เมืองช่องนั้น หากพลาดต้องรอใหม่ เมื่อถึงรอบของตนเอง
 ๑๑. เล่นผิดกติกาช่องใด ต้องหยุดให้คนอื่นเล่นต่อ เมื่อถึงรอบตัวเองอีกครั้ง ให้เล่นต่อจากเริ่มรอบเดิมที่เคยเล่นตายไว้
 ๑๒. เมื่อทุกช่องเป็นเมืองหมดแล้วก็เริ่มเล่นใหม่ ผู้ได้เมืองมากเป็นผู้ชนะ
ประโยชน์  ๑. ความสนุกสนาน
  ๒. ออกกำลังกาย
-------------------------------

โบ๋ยอุด

จำนวน  แบ่งเป็น ๒ ฝ่าย ๆ ละ ๓ คน เป็นอย่างน้อย มีหัวหน้า ๑ คน
สถานที่  ลานบ้าน
------------------------------------
แผนผัง  (สำหรับฝ่ายละ ๔ คน)
  
ผู้เล่น  ๑ ๒ ๓ ๔
  ๐ ๐  ๐ ๐

   หัวหน้าฝ่ายหลัก
------------------------------------------------------
   เส้นหน้า
------------------------------------------------------
   ๓ เมตร
------------------------------------------------------
   ๓ เมตร
------------------------------------------------------
   ๓ เมตร
------------------------------------------------------
   เส้นหลัง
เส้นกลางเป็นของหัวหน้าฝ่ายหลัก
----------------------------
กติกา ๑. ผู้เล่นถามฝ่ายหลักว่า “โบ๋ยอุด”
 ๒. หัวหน้าฝ่ายหลักบอกว่า “อุด” ฝ่ายเล่นร้องว่า “ทุยลง” จึงเล่นได้และจะวิ่งออกทางเส้นข้างไม่ได้ หากวิ่งออกปรับเป็นแพ้
 ๓. สมาชิกฝ่ายเล่นถูกตีจะหมดสิทธิ์เล่น หากถูกตีหมดหรือฝ่ายเล่นหมดทางเล่น ถือว่าแพ้ ให้เปลี่ยนไปเป็นฝ่ายหลัก
 ๔. หัวหน้าฝ่ายหลักมีสิทธิ์วิ่งไล่ฝ่ายเล่นได้บนเส้นหน้า เส้นพิเศษที่ต่อจากเส้นหน้าและเส้นกลาง
 ๕. สมาชิกฝ่ายหลัก มีสิทธิ์ไล่ตีฝ่ายเล่นได้เฉพาะเส้นของตนเท่านั้น
 ๖. สมาชิกฝ่ายเล่นคนใดคนหนึ่งผ่านเส้นไปถึงเส้นสุดท้าย แล้วย้อนกลับผ่านเส้นหน้าเมื่อไร ให้ร้องว่า “เตย” ก็ถือว่าชนะ แล้วเริ่มเล่นใหม่
แผนผัง ๑. สมาชิกฝ่ายหลักยืนประจำเส้น
 ๒. ฝ่ายเล่นถามฝ่ายหลักว่า “โบ๋ยอุด”
 ๓. ฝ่ายหลักตอบว่า “อุด” ฝ่ายเล่นจึงวิ่งผ่านได้
 ๔. ฝ่ายหลักพยายามตรึงสมาชิกฝ่ายเล่นให้อยู่กับที่ และหาโอกาสตีฝ่ายเล่นบนเส้นสิทธิ์ของฝ่ายหลักให้ได้
ประโยชน์ 
๑. ความสนุกสนานเพลิดเพลิน
 ๒. ออกกำลังกาย
 ๓. ฝึกไหวพริบปฏิภาณของแต่ละฝ่าย
-----------------------------------------------------
เรือบิน

จำนวน อย่างน้อย ๒ คน
อุปกรณ์ เศษวัตถุแบนขนาดเท่าเหรียญสตางค์ เป็นเบื้องทอย
กติกา ๑. ผู้ได้เมืองมากที่สุดเป็นผู้ชนะ
 ๒. ห้ามเหยียบเส้น
 ๓. ทอยเบื้องทอยไม่ให้ทับเส้น
 ๔. ห้ามเหยียบเมืองของผู้อื่น
 ๕. เหยียบเมืองลง ๒ เท้า
 ๖. ช่องที่ไม่ใช่เมืองลงได้เพียงเท้าเดียว
 ๗. ไม่ต้องทอยเบื้องลงในเมืองของตนเอง
แผนผัง ๑. ช่วยกันขีดเส้นเป็นรูปเครื่องบิน
 ๒. ตกลงผู้เล่นก่อนหลัง
 ๓. ทอยเบื้องทอยลงในช่องที่ ๑
 ๔. กระโดดเขย่งลงในช่อง ๒
 ๕. กระโดดคร่อมเส้นระหว่างช่อง ๓ และ ๔
 ๖. กระโดดเขย่งลงในช่อง ๕
 ๗. กระโดดคร่อมเส้นระหว่างช่อง ๖ และ ๗
 ๘. กระโดดหันหลังกลับคร่อมเส้นระหว่างช่อง ๖ และ ๗
 ๙. กระโดดเขย่งลงช่อง ๕
 ๑๐. กระโดดคร่อมเส้นระหว่างช่อง ๓ และ ๔
 ๑๑. กระโดดเขย่งลงช่อง ๒
 ๑๒. ก้มลงเก็บเบื้องทอยในช่อง ๑
 ๑๓. กระโดดข้ามช่อง ๑ ไปจุดทอย
 ๑๔. ทอยเบื้องทอยลงในช่อง ๒
 ๑๕. กระโดดเขย่งลงช่อง ๑
 ๑๖. กระโดดไปคร่อมเส้นระหว่างช่อง ๓ และ ๔
 ๑๗. เล่นต่อเหมือน ๖-๑๐
 ๑๘. ก้มเก็บเบื้องทอยในช่อง ๒
 ๑๙. กระโดดเขย่งลงในช่อง ๑
 ๒๐. กระโดดลงจุดทอย
 ๒๑. ทอยเบื้องทอยลงในช่อง ๓
 ๒๒. กระโดดเขย่งลงช่อง ๑ ๒ ๔ ๕
 ๒๓. เล่นต่อเหมือน ๗-๙
 ๒๔. กระโดดเขย่งลงช่อง ๔
 ๒๕. ก้มเก็บเบื้องทอยในช่อง ๓
 ๒๖. กระโดดเขย่งลงช่อง ๒ ๑ และจุดทอย
 ๒๗. ทอยเบื้องทอยลงช่อง ๔
 ๒๘. เล่นเหมือน ๑๙-๒๖ (เปลี่ยน ๔ เป็น ๓ เพราะมีเบื้องทอยอยู่)
 ๒๙. ทอยเบื้องทอยลงในช่องที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงช่อง ๘
 ๓๐. กระโดดลงช่อง ๑ ๒ ๓-๔ ๕ ๖-๗
 ๓๑. กระโดดหันกลับลงช่อง ๖ และ ๗
 ๓๒. ก้มลงใช้มือลอดระหว่างขาไปเก็บเบื้องทอยในช่อง ๘
 ๓๓. กระโดดกลับจนถึงจุดทอย คือ ๕ ๓-๔ ๒ ๑ และจุดทอย
 ๓๔. เล่นทอยได้ครบ ๘ ช่องแล้วมีสิทธิ์ได้เมืองในช่องที่๑ ให้กากบาทลงในช่อง ๑
 ๓๕. ทอยเบื้องลงช่อง ๒
 ๓๖. กระโดดลงเมืองตนเองทั้งสองเท้าแล้วกระโดดไปคร่อมเส้นระหว่างช่อง๓-๔
 ๓๗. เล่นต่อเหมือน ๖-๑๐
 ๓๘. ก้มเก็บเบื้องทอยช่อง ๒
 ๓๙. กระโดดลงเมืองตนเองแล้วกระโดดไปจุดทอย
 ๔๐. ทอยเบื้องทอยลงในช่องที่สูงขึ้นตามลำดับ
 ๔๑.ผู้เล่นเล่นผิดกติกาจึงเปลี่ยนตัวผู้เล่นไปตามลำดับเมื่อย้อนกลับมาถึงคนเดิมให้เล่นต่อจากที่เคยเล่นเดิมต่อไปได้
 ๔๒. เมื่อเล่นจนได้เมือง ๖ ผู้เล่นทอยเบื้องทอยในช่อง ๘ แล้ว ต้องยืนเขย่งในช่อง  ๗ หันหลังก้มเก็บเบื้องทอยระหว่างขา ได้แล้วกระโดดหรือเขย่งกลับไปจุดทอยจึงจะได้เมือง ๗
 ๔๓. ได้เมือง ๘ แล้ว ก็เริ่มเล่นใหม่
 ๔๔. บางกลุ่มเมื่อจะทอยช่อง ๘ อาจตกลงหันหลังทอยก็ได้
 ๔๕. ผู้ที่กระโดดจากจุดทอยไปยังช่องว่างอื่น ๆ ไม่ได้ เพราะเป็นเมืองของผู้อื่นหมดแล้ว มีสิทธิ์ยืมเมืองได้ชั่วคราวเพื่อเขย่งผ่านไปช่องที่ต้องการของเมือง จะยอมหรือไม่ยอมก็ได้ หากไม่ยอมก็ไม่มีสิทธิ์เหยียบเมืองนั้น ๆ
ประโยชน์ ๑. ความสนุกสนานเพลิดเพลิน
 ๒. ออกกำลังกาย
 ๓. ฝึกไหวพริบ ปฏิภาณ ของแต่ละฝ่าย
-------------------------------

หมากขุม (หมากหลุม)

จำนวน  ๒ คน
อุปกรณ์ เม็ดมะขาม (ก้อนหิน หรือลูกกวาดก็ได้ ๔๒ เม็ด เป็นหมาก)
----------------------------------------------------
๔ ๔ ๔ ๔
เมือง ข                  เมือง ก
๕ เม็ด                  ๕ เม็ด
๔     ๔     ๔     ๔
หลุมขนาดส้มเขียวหวานลงลึกได้ครึ่งหนึ่ง
----------------------------------------------------------

กติกา
 ๑. ผู้ได้หมากมากที่สุดเป็นผู้ชนะ
 ๒. แต่ละรอบ เมื่อวนหยอดหมากไปทิศทางใด ต้องวนไปทิศนั้นเสมอ เปลี่ยนรอบใหม่ จึงตัดสินใจใหม่ จะเหมือนเดิมหรือไม่เหมือนเดิมก็ได้
๓. การหยิบหมาก ต้องใช้หมากในเมืองของตน และมีมากพอที่จะเดินไปถึงเมือง ฝ่ายตรงข้ามได้ หากไม่มี หมดสิทธิ์เล่นในรอบนั้น
แผนผัง ๑. ขุดหลุม ๑๐ หลุมดังแผนผัง
 ๒. ใส่หมากในหลุมเมือง หลุมละ ๕ เม็ด หลุมอื่นหลุมละ ๔ เม็ด
 ๓. เลือกผู้เล่นก่อนเป็นผู้เดินหมาก
 ๔. เจ้าเมืองหยิบหมากทุกเม็ดในฝ่ายเมืองของตนขึ้นมา แล้วหยอดลงหลุมถัดไปทางซ้าย (หรือขวาทางใดทางหนึ่ง บางแห่งไม่ได้) หลุมละ ๑ เม็ดไปตามลำดับ
 ๕. หมดหมากในมือแล้ว ให้หยิบในหลุมถัดไปขึ้นมาทั้งหมด หยอดลงหลุมถัดไปตามทิศทางเดิม (เว้นหลุมที่หยิบขึ้นมา) จนหมดหมาก
 ๖. เล่นตามข้อ ๕ ไปเรื่อย ๆ จนกว่า หลุมถัดไปไม่มีหมากอยู่ในหลุม จึงมีสิทธิ์หยิบหมากในหลุมที่ติดกับหลุมว่าง (ในทิศทางเดิม) ไปเป็นสิทธิ์ได้ และหมดสิทธิ์เล่นในรอบนั้น
 ๗. เจ้าเมืองอีกฝ่ายหยิบหมากจากหลุมใดหลุมหนึ่งในฝ่ายเมืองของตนแล้ว จึงหยอดลงในหลุมถัดไปหลุมละเม็ดเหมือนข้อ ๔ ๕ และ ๖ แต่หลุมที่หยิบขึ้นครั้งแรกในรอบนั้นต้องมีหมากมากพอที่จะหยอดจนถึงหลุมเมืองตรงข้ามได้   หากไม่มีหมดสิทธิ์เดินหมาก ฝ่ายตรงข้ามจะได้สิทธิ์เดินต่อ
 ๘. เดินหมากจนกว่าไม่สามารถเดินได้อีกจึงยุติ นับหมากที่ตนได้ เจ้าเมืองฝ่ายใดได้หมากมากเป็นฝ่ายชนะและได้สิทธิ์เริ่มเล่นใหม่ตามข้อ ๔-๗
ประโยชน์ ความสนุกสนานเพลิดเพลิน

หมากเก็บ

อุปกรณ์ ก้อนหิน มีจำนวนตามที่ผู้เล่นจะตกลงว่าจะเล่นหมากอะไร เช่นหมากสาม หมากสี่ หมากห้า หมากสิบ ฯลฯ หมากตกเบ็ด หมากเปลี่ยน หมากไถนา ฯลฯ
หมากห้าหน่วย
 ๑. ใช้ก้อนหินจำนวน ๕ ก้อน
 ๒. นั่งล้อมวงบนพื้น หันหน้าเข้าหากัน ภายในวงด้านหน้าของผู้เล่นจะกลายเป็นลานที่เล่นหมากเก็บ
 ๓. ตกลงร่วมกันว่าใครจะเป็นผู้เริ่มเล่นก่อนหลังด้วยการซาลาหล้า ทุมซี้ตหรือวันทูโซ่มของสองคนสุดท้าย หรือบางครั้งจะใช้การชั่งก้อนหินให้ได้มากก้อนที่สุดเป็นผู้เล่นก่อนก็ได้ การชั่ง คือ การนำก้อนหินทั้งห้าก้อนมาใส่ในอุ้งมือ โยนหินขึ้นทั้งหมดแล้วใช้อุ้งมือข้างนั้นรับก้อนหินเอาไว้ ก้อนหินที่รับไว้ได้นั้นจะเป็นแต้มว่าใครจะได้เล่นก่อนหลัง ตามจำนวนที่ชั่งได้ ผู้ชั่งได้จำนวนมากมีสิทธิ์เล่นก่อน ผู้ที่ชั่งได้จำนวนรองลงไปก็เล่นในตามลำดับ ผู้ชั่งได้น้อยที่สุดเล่นเป็นคนสุดท้ายของแต่ละรอบ
 ๔. ผู้เล่นแต่ละคนจะพยายามเล่นหมากเก็บ ๕ หน่วยตามลำดับ หากพลาดก็ต้องให้คนอื่นเล่น เมื่อวนถึงตนเองก็ให้เริ่มจากที่ตนเองทำพลาดไว้เล่นต่อไปจนจบ ลำดับในการเล่นมีชื่อเรียกดังนี้ คือ หมากหนึ่ง หมากสอง หมากสาม หมากสี่ หมากห้า หมากแตะ หมากขิด หมากตั้ง หมากฝัด หมากเปลี่ยน และหมากตกเบ็ดเป็นลำดับสุดท้าย
 ๕. ผู้ชนะเป็นผู้กำหนดโทษให้ผู้แพ้กระทำตามสมควร แล้วเล่นต่อไปอีกจนเลิกรา
 ๖. ลักษณะการเล่นหมากแต่ละลำดับเป็นดังนี้
 ๗. หมากหนึ่ง  เอาก้อนหินห้าก้อนใส่มือแล้วกระจายหมากวางบนบนพื้นเรียกว่า “หว่าน”
 ๘. เลือกหินก้อนใดก้อนหนึ่งเป็นลูกโยน
 ๙. จับลูกโยนโยนขึ้น  แล้วใช้มือที่โยนนั้นเก็บหินก้อนที่หว่านไว้ แล้วรับก้อนลูกโยนอย่าให้ตกถึงพื้นและต้องเก็บหินไม่ให้สัมผัสก้อนอื่น ๆ ด้วย  หากสัมผัสหินก้อนอื่นหรือรับลูกโยนไม่ได้ถือว่า “ตาย” หมดสิทธิ์เล่นในรอบนั้นต้องรอจนกว่าเพื่อนจะตายแล้ววนมาถึงรอบของตน จึงจะเล่นต่อไปได้
 ๑๐. เก็บก้อนหินที่เหลือตามวิธีข้อ ๙ จนหมดทั้งสี่ก้อน จึงเล่น
 ๑๑. เอาก้อนหินใส่มือแล้วหว่านลงพื้น เลือกก้อนใดก้อนหนึ่งเป็นลูกโยน โยน     ขึ้นแล้วเก็บหมากบนพื้นให้ได้สองก้อนโดยไม่สัมผัสอีกสองก้อนที่เหลือเมื่อได้แล้วให้รับลูกโยนอย่าให้ตกถึงพื้น
 ๑๒. โยนลูกโยนแล้วเก็บก้อนหินที่เหลือสองก้อน รับลูกโยนเอาไว้แล้วรวบหมากทั้งห้าก้อนไว้ในมือหว่านลงเพื่อเล่น หมากสาม
 ๑๓.  เลือกลูกโยนแล้วโยนขึ้น รีบเก็บหมากหนึ่ง ๑ ลูก อย่าให้กระทบก้อนที่เหลืออีก ๓ ลูก แล้วรับลูกโยน
 ๑๔. โยนลูกโยนขึ้น รวบหมาก ๓ ลูก รอรับลูกโยน รวมหมากทั้งหมดแล้วหว่านเพื่อเล่น หมากสี่
 ๑๕. เลือกหมากเป็นลูกโยนโยนขึ้นแล้วรวบหมากทั้งสี่ลูกรอรับลูกโยน
 ๑๖. เอาหมากรวบไว้ทั้งห้าลูก โยนขึ้นลูกหนึ่ง อีกสี่ลูกวางกองบนพื้นแล้วรับลูกโยนเป็นการเล่นหมากห้า
 ๑๗. โยนลูกโยนขึ้น รวบหมากทั้งสี่ลูกแล้วรับลูกโยน
 ๑๘. เล่น หมากแตะ รวบหมากไว้ในมือ โยนลูกขึ้น กำหมากสี่ลูกแล้วเอามือสัมผัสพื้น รับลูกโยนเอาไว้
 ๑๙. เล่นอย่างข้อ ๑๘ อีก ๒ ครั้ง แล้วเตรียมเล่น หมากขิด
 ๒๐. แบ่งหมากใส่มือซ้าย ๒ ลูก ใส่มือขวา ๓ ลูก มือขวาโยนลูกโยนขึ้น มือทั้งสองกำหมากใช้นิ้วสัมผัสพื้นพร้อมกัน แล้วมือขวารับลูกโยน
 ๒๑. เล่นหมากขิดอย่างข้อ ๒๐ อีก ๒ ครั้ง เตรียมเล่น หมากตั้ง
 ๒๒. ต่อจากข้อ ๒๑ คือมีหมากอยู่มือซ้าย ๒ ลูก มือขวามี ๓ ลูก โยนลูกโยนในมือขวาขึ้นแล้ววางหมากในมือทั้งสองไว้บนพื้น มือขวารับลูกโยน
 ๒๓. โยนลูกโยนขึ้น มือทั้งสองรวบหมากข้างละ ๒ ลูกไว้ในมือ มือขวารับลูกโยน
 ๒๔. เล่นหมากตั้งดังข้อ ๒๒-๒๓ ให้ครบ ๓ ครั้ง แล้วเตรียมเล่น หมากฝัด
 ๒๕. ให้หมากอยู่ในฝ่ามือที่หงายประกบกัน โยนหมากทั้ง ๕ ลูกขึ้น มือขวาคว่ำไปประกบกับมือซ้ายที่หงายอยู่แล้วรับหมากให้ได้ทั้ง ๕ ลูก โยนหมากขึ้นทั้งหมดมือขวาหงายไปประกบมือซ้ายรับหมากไว้ทั้ง ๕ ลูก
 ๒๖. ทำอย่างข้อ ๒๕ อีก ๒ ครั้ง จะครบการเล่นหมากฝัด ๓ ครั้ง
 ๒๗. โยนหมากขึ้น มือขวาคว่ำไปประกบมือซ้าย รับหมากไว้อีก ได้แล้วมือทั้งสองใกล้พื้นแยกมือออก หมากจะกองบนพื้น มือขวาเลือกลูกโยน โยนลูกโยนขึ้น แล้วรวบหมาก ๔ ลูกบนพื้น รับลูกโยน เตรียมเล่น หมากเปลี่ยน
 ๒๘. หว่านหมากลงพื้น เลือกหมาก ๒ ลูกใส่ไว้ในมือขวา โยนหมากขึ้น ๑ ลูก      อีกลูกในมือขวาให้เปลี่ยนกับหมากบนพื้น คือวางหมากในมือลงพื้นขณะเดียวกันก็เก็บหมากบนพื้นลูกใดลูกหนึ่งมาไว้แทน แล้วรับลูกแทนให้ได้  ในขณะนี้จะเหลือหมากที่ยังไม่ได้เปลี่ยนอีก ๒ ลูก
๒๙. โยนลูกโยนขึ้น วางหมากในมือขวาลงบนพื้น เก็บหมากบนพื้นลูกใดลูกหนึ่งจาก ๒ ลูกที่ยังไม่ได้เปลี่ยนไว้ แล้วรับลูกโยน โยนลูกโยนขึ้นเพื่อเปลี่ยนหมากที่เหลืออีก ๑ ลูก แล้วรับลูกโยน
 ๓๐. เตรียมเล่น หมากตกเบ็ด หว่านหมากกระจายออก เลือกหมาก ๒ ลูกมาไว้บนฝ่ามือ ให้หมากวางบนโคนนิ้วก้อยกับนิ้วนาง ๑ ลูก มือขวาเก็บหมากบนพื้น ๑ ลูก แล้วรับลูกโยน
 ๓๑. วางหมากบนฝ่ามือขวา ๒ ลูก ให้วางบนโคนนิ้วก้อยกับนิ้วนาง ๑ ลูก อีกลูกวางบนโคนนิ้วก้อยกับนิ้วนาง ๑ ลูก อีกลูกวางบนโคนนิ้วกลางกับนิ้วชี้ โยนลูกหมากทั้งสองขึ้น มือซ้ายซึ่งมีหมากในมือ ๑ ลูก ให้รับหมากที่โยนเพิ่มอีกหนึ่งลูก ส่วนมือขวาเก็บหมากบนพื้น ๑ ลูกบนพื้นแล้วรับลูกโยน
 ๓๒. วางหมากดังข้อ ๓๑ เพื่อเล่นหมากตกเบ็ดโดยเก็บหมากที่เหลือบนพื้นอีก ๑ ลูก มือซ้ายจะมีหมากเป็น ๓ ลูก มือขวามี ๒ ลูก มือขวาโยนหมากทั้งสองขึ้น ใช้นิ้วชี้สัมผัสกับพื้นแล้วรับหมากไว้ ๑ ลูก อีกหนึ่งลูกให้มือซ้ายรับเอาไว้
 ๓๓. โยนลูกโยนในมือขวาขึ้น ใช้นิ้วชี้สัมผัสพื้น มือซ้ายรับลูกโยนรวมไว้กับหมากอีก ๔ ลูก
 ๓๔. จบสิ้นลำดับการเล่นหมากห้าหน่วย ผู้เล่นชั่งหมากให้ได้มากที่สุดเพื่อลงโทษผู้อื่นเป็นจำนวนเท่ากับที่ชั่งหมากได้
ประโยชน์  ความสนุกสนานเพลิดเพลิน
------------------------------------
  
อ่าหว้าย

จำนวน จัดแบ่งเป็น ๒ ฝ่าย คือฝ่ายตี กับฝ่ายหลักจำนวนเท่า ๆ กัน กี่คนก็ได้ แต่ควรมีฝ่ายละ ๕ คน เป็นอย่างน้อย
อุปกรณ์ ๑. ก๊วน เป็นหลักใช้วัตถุแบน ๆ ขนาดเท่าอิฐ ๑ ชิ้น
 ๒. ลูกอ่าหว้าย หรือลูกกิ๋ว คือ ลูกเทนนิส ๑ ลูก
กติกา ๑. ผู้ตีลูกอ่าหว้ายจะต้องบอกท่าตีไปตามลำดับ ฝ่ายหลัก (ฝ่ายรับ) ตอบรับพร้อมที่จะเล่นว่า อี่ ผู้ตีจึงตีลูกตามท่าที่บอกนั้นไว้
 ๒. หากฝ่ายหลักรับลูกได้ก่อนที่ลูกจะตกสัมผัสพื้น รับแล้วเอาลูกลงสัมผัสพื้นพร้อมส่งเสียงว่า ตาย ผู้ตีลูกคนนั้นหมดสิทธิ์เล่น ต้องเปลี่ยนคนเล่นลำดับถัดไป
 ๓. ลูกอ่าหว้ายกลิ้งไปหยุด ณ ที่ใด ให้ใช้จุดนั้นเป็นแนวตั้งฉากกับแนวก๊วน จุดตัดนี้เป็นสถานที่ที่ฝ่ายหลักจะใช้เป็นจุดเริ่มขว้างลูกอ่าหว้ายไปให้ถูกก๊วน ผู้ตีหมดสิทธิ์เล่น ต้องเปลี่ยนผู้เล่น หากไม่ถูก ผู้ตีคนนั้นมีสิทธิ์ตีลูกในลำดับถัดไป
 ๔. เมื่อฝ่ายหลักขว้างลูกหรือทำลูกอ่าหว้ายให้ถูกก๊วนฝ่ายลูก (คนใดก็ได้)  ฉ้อตแหล้ต (ใช้ปลายเท้าช้อนหรือกระดก ให้ลูกอ่าหว้ายกระดอนขึ้นมารับหากรับได้จะได้สิทธิ์ข้ามขั้นได้ ๑ ขั้นตอน
 ๕. เมื่อสมาชิกฝ่ายตี เล่นลูกไปถึงขั้นเซป้ะดั่วได้ สมาชิกฝ่ายตีที่หมดสิทธิ์เล่นได้รับสิทธิ์เล่นได้ในรอบใหม่
 ๖. ผู้เล่นคนถัดไปจะเป็นใครก็ได้ที่ยังมีสิทธิ์ (ไม่ตาย) ให้เล่นลูกในขั้นที่ตายนั้น ๆ ต่อไปตามลำดับ
 ๗.ฝ่ายตีต้องส่งลูกให้พ้นเส้นที่กำหนดไว้ หากลูกไม่ผ่านเส้นที่กำหนดลูกนั้นถือว่าตาย ผู้ตีลูกคนนั้นหมดสิทธิ์เล่นลูก ต้องเปลี่ยนให้สมาชิกฝ่ายตนที่ยังมีสิทธิ์ (เป็น) เป็นคนเล่นต่อ หากหมดคนเล่น คือ ตายหมดทุกคน ก็ให้เปลี่ยน ฝ่ายหลักเป็นฝ่ายตี
 ๘. ฝ่ายที่เล่นลูกได้ถึงเซป้ะดั่วได้ก่อนเป็นฝ่ายชนะ
ข้อความและท่าทาง 
 ขั้น ๑ อ่าหว้าย ผู้ตีหันหน้าเข้าก๊วน หันหลังให้ผู้หลัก โยนลูกขึ้นตรง ๆ  ใช้อุ้งมือ(มือเดียวกับที่โยนขึ้น)ตีลูกให้ผ่านไหล่ตนเองไปยังฝ่ายหลัก
 ขั้น ๒ อ่าหว้าย ท่าทางเหมือนขั้น ๑
 ขั้น ๓ อ่าหว้ายดั่ว ท่าทางเหมือนขั้น ๑
 ขั้น ๔ ฉี่หล้า  ผู้ตีหันหลังให้ก๊วน หันหน้าสู่ฝ่ายหลัก   โยนลูกอ่าหว้ายขึ้นตรง ๆ กำหมัดหรือใช้ฝ่ามือกระแทกลูกอ่าหว้ายไปให้ฝ่ายหลัก
 ขั้น ๕ ฉี่หล้าตู ท่าเหมือนขั้น ๔
 ขั้น ๕ ฉี่หล้าดั่ว ท่าเหมือนขั้น ๔
 ขั้น ๗ ดั่วหล้า ผู้ตีหันหลังให้ ก๊วน
โยนลูกขึ้นตรง ๆ ใช้หมัดหรือฝ่ามือกระแทกลูกอ่าหว้ายไปข้างหน้าให้ฝ่ายหลัก
 ขั้น ๘ ดั่วหล้าตู ท่าเหมือนขั้น ๗
 ขั้น ๙ ดั่วหล้าดั่ว  ท่าเหมือนขั้น ๗
 ขั้น ๑๐ โป๊ะ ผู้ตีหันหลังให้ก๊วน โยนลูกอ่าหว้ายขึ้นตรง ๆ ตบมือ ๑ ครั้ง มือขวากระแทกลูกออกไปข้างหน้าให้ฝ่ายหลัก
 ขั้น ๑๑ โป๊ะตู  ท่าเหมือนขั้น ๑๐
 ขั้น ๑๒ โป๊ะดั่ว ท่าเหมือนขั้น ๑๐
 ขั้น ๑๓ ก้าต ผู้ตีหันหลังให้ก๊วน มือซ้าย (หรือมือที่ไม่ถนัด) เท้าสะเอว มือที่ถนัดโยนลูกขึ้นตรง ๆ แล้วตีลูกออกไป
 ขั้น ๑๔ ก้าตตู ท่าเหมือนขั้น ๑๓
 ขั้น ๑๕ ก๊าตดั่ว ท่าเหมือนขั้น ๑๓
 ขั้น ๑๖ กางกาง
 (ชาย)   ผู้ตีหันหลังให้ก๊วน โยนลูกลอดขาอ่อน (ยกขางอเข่าไว้ในจังหวะนั้น) ตีลูกไปข้างหน้า
 (หญิง) หากหญิงไม่สะดวกที่จะกระทำท่าอย่างชาย ให้หญิงผู้ตีลูกอาหว้ายหันหลังให้ก๊วน หันหน้าไปทางฝ่ายหลัก    โยนลูกอ่าหว้ายขึ้นตรง ๆ  กำหมัดทั้ง ๒ มือ หมุนตามกันเป็นวงกลม ๑ รอบ ใช้หมัดหรือฝ่ามือ(มือเดียวกับที่จับลูกอ่าหว้ายโยน)กระแทกลูกอ่าหว้ายไปให้ฝ่ายหลัก
 ขั้น ๑๗ กางกางตู ท่าเหมือนขั้น ๑๖
 ขั้น ๑๘ กางกางดั่ว  ท่าเหมือนขั้น ๑๖
 ขั้น ๑๙ เซป้ะ ผู้เล่นหันหลังให้ก๊วน หันหน้าไปทางฝ่ายหลัก โยนลูกอ่าหว้ายขึ้นตรงๆ ใช้เท้าเตะลูกไปข้างหน้า
 ขั้น ๒๐ เซป้ะตู ท่าเหมือนขั้น ๑๙
 ขั้น ๒๑ เซป้ะดั่ว ท่าเหมือนขั้น ๑๙
แผนผัง  ๑. แบ่งผู้เล่นเป็น ๒ ฝ่าย  ฝ่ายละเท่า ๆ กัน เป็น ฝ่ายตีและฝ่ายหลัก ฝ่ายตีเป็นฝ่ายเล่นลูกก่อน ส่วนฝ่ายหลักเป็นฝ่ายตั้งรับ
 ๒.ฝ่ายตีกำหนดสมาชิกให้ตีลูกไปตาม ลำดับคนและลำดับข้อความ
 ๓. ฝ่ายหลักพยายามรับลูกอ่าหว้ายไว้ให้ได้ ยิ่งทำให้ฝ่ายตีหมดสิทธิ์เล่นลูกได้เร็วเท่าไร ฝ่ายหลักก็มีโอกาสได้เปลี่ยนไปเป็นฝ่ายตีเมื่อนั้น
 ๔. ฝ่ายหลักต้องพยายามขว้างหรือโยนกลิ้งลูกอ่าหว้ายให้สัมผัสก๊วน เพื่อเป็นการตัดสิทธิ์ผู้ตีคนนั้น ๆ
 ๕. ฝ่ายตีต้องตีหรือกระแทกลูกอ่าหว้าย ไปให้ไกลที่สุด (แต่ต้องอยู่ในกรอบที่ตกลง) เพื่อเพิ่มระยะทาง ฝ่ายหลักจะขว้างหรือกลิ้งลูกไปสัมผัสก๊วนได้ยากขึ้น
 ๖. ฝ่ายตีต้องพยายาม ฉ้อตแหล้ต ให้ได้ หากได้จะเป็นการย่นระยะขั้นในการเล่นได้สั้นลง จะถึงขั้น เซป้ะดั่ว มากรอบเท่าไรก็ยิ่งเพิ่มความภาคภูมิใจในฝ่ายของตนยิ่งขึ้นเท่านั้น
ประโยชน์ ๑. ความสนุกสนานเพลิเพลิน
 ๒. ออกกำลังกาย
 ๓. ฝึกไหวพริบ ปฏิภาณของแต่ละฝ่าย


การละเล่นของผู้ใหญ่

ลิเกป่า
รำวง