วรรณกรรมพื้นบ้านภูเก็ต
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พุธ, 06 กุมภาพันธ์ 2008

๒.๓.๒ วรรณกรรมพื้นบ้านภูเก็ต

ประเภทของวรรณกรรมพื้นบ้านภูเก็ต
       หากจำแนกวรรณกรรมพื้นบ้านภูเก็ตออกเป็นประเภทใหญ่     สามารถจัดแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท  คือ  วรรณกรรมพื้นบ้านภูเก็ตประเภทมุขปาฐะและวรรณกรรมพื้นบ้านภูเก็ตประเภทลายลักษณ์


วรรณกรรมพื้นบ้านภูเก็ตประเภทมุขปาฐะ


      วรรณกรรมพื้นบ้านที่ต้องอาศัยภาษาพูดเพื่อการสื่อความหมาย ควรมีความยาวอย่างน้อยหนึ่งวลี ซึ่งได้แก่  คำด่า ที่ละประธานของประโยคไว้ จึงเหลือเพียงวลี วรรณกรรมพื้นบ้านที่มีเรื่องราวขนาดสั้นได้แก่   คำด่า   คำสาป   คำแช่ง คำสบถ   คำสาบาน   คำอวยพร   คำอธิษฐาน   คำอุทิศ สำนวน คำพังเพย สุภาษิต คำสอนทางศาสนา ปริศนาคำทายลายแทง  เวทมนต์  คาถา  อาคมไสยศาสตร์   และวรรณกรรมพื้นบ้านที่มีเรื่องราวขนาดยาว  ได้แก่  การทำขวัญ  การทำภูมิ  บทเพลงในพิธีกรรมต่าง ๆ  บทเพลง  ชื่อบ้านนามเมือง นิทาน บทลิเกป่า บทโนรา บทหนังตะลุง หรือคำบอกเล่าในการใช้ยา เป็นต้น    วรรณกรรมเหล่านี้เป็นวรรณกรรมที่ไม่ได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร  จึงได้เรียกว่า วรรณกรรมประเภทมุขปาฐะ

คำแช่งด่าสบถสาบาน

      ความหมายของคำแช่งด่าสบถสาบานแบ่งออกเป็นคำแช่งด่าและคำสบถสาบาน คำแช่งด่าแยกเป็น คำแช่ง และ คำด่า  ซึ่งทั้งคำแช่งและคำด่ามีความหมายในลักษณะเดียวกัน คือ คำพูดที่ทำให้คนอื่นได้รับความเสียหายหรือให้คนอื่นมีคุณค่าต่ำลง    คำด่า จะใช้ในขณะที่ผู้ด่ากับผู้ถูกด่าอยู่ใกล้กันพอที่จะโต้ตอบคำด่าด้วยกันได้  ส่วนคำแช่ง จะใช้เมื่อผู้แช่งอยู่ห่างตัวผู้ถูกแช่งและมีกระบวนความยาวกว่าคำด่า    คำแช่งมักจะนำคำด่ามาเพิ่มเติมความให้เป็นรูปเชิงคำสั่ง

 สาเหตุที่  หมา  สัตว์นรก และเปรต เข้ามามีบทบาทในการประกอบคำด่าคำแช่งเพราะได้รับอิทธิพลมาจากวรรณกรรมทางศาสนาคือเรื่องเตภูมิกถา(ไตรภูมิพระร่วง)และ เรื่องพระมาลัยคำหลวง ในเตภูมิกถาได้กล่าวถึง คนที่ทำความชั่ว พฤติกรรมชั่วร้ายของคน จะถูกบันทึกไว้บนแผ่นหนังหมา    คนที่ประกอบกรรมดี จะได้รับการบันทึกความดีไว้บนแผ่นทอง ความชั่วจึงได้คู่กับแผ่นหนัง”หมา” กลายเป็นสิ่งชั่วช้าเลวทรามไป และหมาก็เป็นสัตว์เดรัจฉานอยู่ในอบายภูมิใกล้เคียงกับสัตว์นรกและเปรต ซึ่งอยู่ต่ำกว่ามนุษยภูมิ ความปรารถนาของมนุษย์ต้องการจะเกิดในแดนสุคติภูมิ  การประพฤติในสิ่งชั่วช้าเลวทรามหรือประพฤติผิดศีลห้า ถือได้ว่าเป็นกรรมชั่ว     บุคคลใดทำกรรมชั่วก็ต้องตกไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน   เปรต  หรือสัตว์นรก  คำศัพท์ชั่วร้ายที่ใช้ประกอบในอบายภูมิ  จึงกลายมาเป็นคำแช่งด่า    และในทางกลับกัน จะไม่มีศัพท์อันเป็นมงคลที่ใช้กับสุคติภูมิของกามภูมิ รูปภูมิหรืออรูปภูมิไปเป็นคำด่าคำแช่ง  ซึ่งคำเหล่านี้จะกลายเป็นคำอำนวยพร
      การเปรียบเทียบเพื่อประณามคนให้มีคุณค่าต่ำลงเป็นลักษณะเด่นของคำแช่งด่า   คำที่มีคุณค่าต่ำที่นำไปเป็นคำแช่งด่า ซึ่งได้แก่ หมา เปรต สัตว์นรกแล้ว คำที่เกี่ยวกับอวัยวะเพศทุกคำก็ถือเป็นคำแช่งด่าได้ทั้งสิ้น

คำสบถสาบาน

      การประณามตนเองประสบความอัปมงคล  โดยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นข้ออ้างยืนยัน ให้คนอื่นมีความเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนกล่าว  คือความหมายของคำ สบถสาบาน    คำสบถใช้ในกรณีที่ไม่ประสงค์ให้เกิดเรื่องจริงจังมากนักและเป็นคำกล่าวที่ไม่สุภาพ   ส่วนคำสาบาน  กล่าวในกรณีที่มีพิธีอย่างใดอย่างหนึ่ง  มีความสุภาพมากกว่าคำสบถและมักมีความยาวของข้อความเป็นเรื่องเป็นราวมากกว่าคำสบถ  ในบางกรณี คำสบถจะไม่มีข้อความอ้างอิง ตัวอย่างคำสบถได้แก่ ฟ้าผ่าเห้ ไม่จริงก็อย่าให้ทำมาค้าขึ้น ให้ถูกงูกัด  ให้เรือคว่ำตาย
      สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวภูเก็ตอ้างในคำสาบาน คือ พ่อท่านวัดฉลอง ตำบลฉลอง อำเภอเมือง  จังหวัดภูเก็ต,  พ่อท่านหนังเสือ วัดมงคลวราราม บ้านในยาง ตำบลสาคู  อำเภอถลาง  จังหวัดภูเก็ต  พ่อท่านเฒ่าวัดพระนางสร้าง ตำบลเทพกระษัตรี  อำเภอถลาง  จังหวัดภูเก็ต  ท้าวเทพกระษัตรี วีรสตรีเมืองถลาง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ เป็นต้น    คำสาบานจะเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มั่นใจว่าคำสัญญานั้นจะมั่นคงยืนยาวเพียงใด จึงให้อีกฝ่ายแสดงคำมั่นสัญญาด้วยการอ้างอิงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น หญิงสาวไม่แน่ใจว่าชายหนุ่มที่มาติดต่อเกี่ยวพันกับนาง   มีความรักต่อนางจริงหรือไม่      หญิงสาวก็ให้ชายหนุ่มสาบานตนต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว  อาจมีดอกไม้ธูปเทียนตามความแก่กล้าที่จะสาบาน   แล้วกล่าวอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ลงโทษผู้ละเมิดคำสาบาน
ตัวอย่างคำสาบาน
 พี่ขอสาบานต่อหน้าพ่อท่านหนังเสือ ว่าพี่รักน้องจริง จะไม่ทิ้งไปหาหญิงอื่นจะรักน้องคนเดียว ถ้าไม่จริง ขอให้พ่อท่านหนังเสือบันดาลให้เกิดความเจ็บไข้  อย่ามีความสุขตลอดชีวิต
   วิทยากร :  นายไว ตะเคียนทอง อายุ ๖๐ ปี    บ้านหินรุ่ย ถลาง ภูเก็ต
   ผู้บันทึก  :   นายสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์  ๓๐ กันยายน ๒๕๒๓

 ถ้าฉันไม่จริงกับตน(คุณ เธอ) ไม่ต้องถึงพ่อท่านสมเด็จเจ้า(พ่อท่านวัดฉลอง)   สิ่งอื่นต้องทำให้ฉันถูกคมมีดคมหอก คมดาบ ไม่พ้นไปได้
   วิทยากร :  นางทับ หิรัญวดี อายุ ๗๒ ปี บ้านหินรุ่ย  ถลาง  ภูเก็ต
   ผู้บันทึก : นายสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์  ๓๐ กันยายน ๒๕๒๓

   ฉันรักตน(เธอ คุณ) หากฉันทรยศ  ขอให้งูขบ(กัด)ตาย ฉันไม่พูดให้ใครฟัง ไม่เปิดเผยกับคนหนึ่งคนใด จะเป็นอาถรรพ์กับตัวเอง ฉิบหาย ไม่รู้อันเป็นไปทั้งสิ้นทั้งหลาย  สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมด พ่อเจ้าเมืองแม่เมืองหลักเมือง หักคอเสียให้ตาย อะ(กระอัก)เลือด  แผ่นดินที่รับ ตกแผ่นดินตาย ล้มทับตาย
   วิทยากร :  นายเลียบ ชนะศึก อายุ ๕๔ ปี  บ้านเหรียง ถลาง ภูเก็ต
   ผู้บันทึก  :  นายสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์  เมื่อ ๓๐ กันยายน ๒๕๒๓

      คำสาบานของบางกรณี    ผู้สาบานยอมเสียสิ่งที่ตนเคารพนับถือ  หรือให้เคราะห์กรรมสิ่งชั่วร้ายไปตกอยู่กับสิ่งที่ตนเคารพนับถือ  เช่น  ตกอยู่กับพิเภก(น้องชายของทศกัณฐ์จากเรื่องรามเกียรติ์)  หรือพุทธาอาจารย์ บางครั้ง ก็ให้สิ่งที่ตนควรได้รับ  เช่น  ศีล ๒๒๗ ข้อ  การได้แรงงานของลูกมาช่วยเหลือให้ตกไปเป็นของฝ่ายที่ผู้สาบานประสงค์ให้เชื่อคำสาบานนั้น  เช่น ไม่เป็นไปตามที่พูดก็ให้ฉิบหาย พร้อมทั้งพุทธาจารย์ ทั้งพวกพิเภก
   วิทยากร :  นางทับ หิรัญวดี อายุ ๗๒ ปี บ้านหินรุ่ย ถลาง ภูเก็ต
   ผู้บันทึก  :  นายสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์ เมื่อ ๓๐ กันยายน ๒๕๒๓

  ไม่เหมือนคำที่ว่าไว้ ก็ให้ฟ้าผ่าตาย ออกนอกนา ฟ้าผ่าตาย อย่าได้กินแรงลูก ศีลสองร้อยยี่สิบเจ็ดให้ได้กับตน
   วิทยากร :  นายเลียบ ชนะศึก อายุ ๕๔ ปี บ้านเหรียง ถลาง ภูเก็ต
   ผู้บันทึก  :  นายสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์ เมื่อ ๓๐ กันยายน ๒๕๒๓

 คำสาบานที่มีกำหนดเวลาให้ตนเองได้รับเคราะห์กรรม  มักกำหนดให้อยู่ภายใน  ๓ วัน หรือ ๗ วัน  บางครั้ง ก็ให้เป็นไปตามปรากฏการณ์ธรรมชาติ  คือ  ตายตอนตะวันตก ตายต่อหน้าแสงตะวัน ฝนตกแล้วให้ฟ้าผ่าตาย เช่น สาธุ พระพุทธัง ข้าขอให้ยังทุกประการ จะสร้างสมภาร  บำเพ็ญพระศาสนา ของเองหาไม่ (ของเองไม่มี)ของพระพุทธเจ้าท่านให้มา   บำเพ็ญพระศาสนาของข้าพระพุทธเจ้า(ของตน-ของข้าพเจ้าเอง) วิทยากร :  นางกลิ่น ไกรสาสตร์ อายุ ๘๖ ปี
                บ้านกู้กู ตำบลรัษฎา อ.เมือง ภูเก็ต
ผู้บันทึก : นายสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์
   ๓๐ กันยายน ๒๕๒๓     

คำอุทิศ


 คำอุทิศมักเป็นการตั้งจิตแผ่ส่วนบุญกุศลธรรมที่ผู้อุทิศกระทำให้เจาะจงแก่ผู้ตายเพื่อผู้ตายจักได้พ้นความทุกข์ หรือหากมีความสุขก็ขอให้สุขยิ่งขึ้น
 ตัวอย่าง
 ขอแผ่ส่วนบุนส่วนกุศลนี้ให้แก่ปู่ย่า ตายาย เจ้ากรรมนายเวร ที่ล่วงลับไปแล้วอย่าได้จองเวรจองกรรมกันเลย
     วิทยากร : นายจ๋าย  ณ ตะกั่วทุ่ง  อายุ ๗๖ ปี  ตำบลวิชิต  อำเภอเมือง  ภูเก็ต
      ผู้บันทึก  : นางรัตนา  บุญยัง  เมื่อ กรกฎาคม ๒๕๒๔

คำอธิษฐาน

      พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้ความหมายคำ อธิษฐาน ว่า ความตั้งใจมุ่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง  หรือ  ความตั้งจิตปรารถนา  เมื่อเป็นลักษณะนี้  คำอุทิศ ก็เป็นลักษณะหนึ่งของคำอธิษฐานก็ได้  เพราะได้ตั้งจิตตั้งใจปรารถนาให้บุญกุศลแผ่ไปถึงผู้ตาย แต่เมื่อพิจารณาความจากคำอธิษฐานแล้ว  ส่วนมาก เป็นความตั้งใจที่จะให้ตนเองเป็นสุขหรือตนเองพ้นจากความทุกข์ในภายหน้าของชาตินี้และชาติหน้าผู้รับจากคำอุทิศ คือผู้ตาย ส่วนผู้รับในคำอธิษฐานคือตนเองหรือผู้ให้คำอธิษฐาน  คำอธิษฐาน ในที่นี้  หมายถึง  ความตั้งใจที่จะให้ตนเองเป็นสุข มีตัวอย่าง คือ

 สิบหกชั้นฟ้า  สิบห้าชั้นดิน  พระอินทร์พระพรหม  พระยมพระกาฬ ศักดิ์สิทธิ์ศักดิ์ทน  ทั่วท่องล่องหน   อยู่บนอากาศ พญานาคธิราช   ทั้งแม่นางธรณี    เจ้ากรุงพาลี พระภูมิเจ้าข้า    คุ้มซ้ายคุ้มขวา  คุ้มหน้าคุ้มหลัง    เวลาข้าพเจ้าย่างจะไปถิ่นใด สาธุ
    วิทยากร : นางบุญชู ฟักทองผล อายุ ๘๔ ปี ๒๒๒ ถนนภูเก็ต ตลาดใหญ่ ภูเก็ต
    ผู้บันทึก  : นายสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์  เมื่อ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๒๓


คำอวยพร
ตัวอย่าง
 ไปให้ได้ดี มีภูมิรู้ ให้เรียนหนังสือ    เป็นเจ้าคนนายคน เป็นครู  เป็นข้าหลวงไปข้างโน้น ร่ำเรียนสม่ำเสมอ จนได้ดิบได้ดี  อย่ารู้อดรู้อยากรู้ยากรู้จน ไม่จนก็ได้กิน
    วิทยากร : นางทับ หิรัญวดี อายุ ๗๒ ปี บ้านหินรุ่ย เทพกระษัตรี ถลาง ภูเก็ต
    ผู้บันทึก  : นายสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์ เมื่อ ๓๐ กันยายน ๒๕๒๓

 ไปให้สุขกายสุขใจ ไปคล่องมาคล่อง พระคุ้มครอง คุ้มซ้าย คุ้มขวา คุ้มหน้า คุ้มหลัง พระพิทักษ์รักษาให้ไปสวัสดี
    วิทยากร : นางบุญชู ฟักทองผล อายุ ๘๔ ปี ๒๒๒ ถนนภูเก็ต บางเหนียว เมือง ภูเก็ต
    ผู้บันทึก  : นายสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์ เมื่อ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๒๓

 ไปให้ได้ดี มีภูมิรู้ ให้เรียนหนังสือ เป็นเจ้าคนนายคน เป็นครู เป็นข้าหลวงไปข้างโน้น ร่ำเรียนสม่ำเสมอ จนได้ดิบได้ดี  อย่ารู้อดรู้อยากรู้ยากรู้จน ไม่จนก็ได้กิน
    วิทยากร : นางทับ หิรัญวดี อายุ ๗๒ ปี  บ้านหินรุ่ย เทพกระษัตรี ถลาง ภูเก็ต
    ผู้บันทึก  : นายสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์  เมื่อ ๓๐ กันยายน ๒๕๒๓

  ไปให้ดี สุขกายสุขใจ พระคุ้มครอง  ป้องกันภัย อย่ามีความเจ็บความไข้   มีความสุขทุกคืนทุกวัน ให้ร่ำรวยขึ้นให้ได้ดีประเสริฐเลิศยิ่ง
    วิทยากร : นางทับ หิรัญวดี อายุ ๗๒ ปี  บ้านหินรุ่ย เทพกระษัตรี ถลาง ภูเก็ต
    ผู้บันทึก  : นายสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์  เมื่อ ๓๐ กันยายน ๒๕๒๓

คำอุทาน


      ชาวภูเก็ตมีคำอุทานที่แตกต่างจากคำอุทานของคนภาคอื่น ๆ อยู่บ้าง   คำอุทานที่เปล่งออกมาเพราะตกใจหรือดีใจ  เช่น    อะโต๊ย    อั้ตโดย    ใช้ในกรณีเดียวกับ    โอ๊ยและโอย  อะละ  อันล้าม๋ะ  ใช้ในกรณีเดียวกับ  โธ่  พระเจ้า หรือ พุทโธ      นอกจากนี้ก็มี  อ๊ายยา  ฮาเล่อย    อ้าว   เออ   แลต๊ะ   เป็นต้น   ส่วนคำอุทานอื่น ๆ   มีเสียงคล้ายกับคำอุทานของชาวภาคกลาง
      คำอุทานเสริมบทของชาวภูเก็ตที่มีเสียงสร้อยต่อท้ายคำหรือประโยคอันแตกต่างไปจากถิ่นอื่น เช่น ทำอะไร ฮ้าว  ฉันไม่รู้ เด้  มึงรู้ มึงก็ตอบไป แล้   จะไปด้วยกันไหม ฮ้อว     มันจะพลัดลง เฮ่ พี่อยู่ที่กะทู้ โฮ่

ปริศนา

      ถ้อยคำที่ผูกเป็นเงื่อนงำไว้ให้กล่าวแก้ทายกัน  เช่น  เอาไม่ได้พากลับบ้าน เอาได้ทิ้งเสีย คำเฉลยคือ  หนาม  หรือ เรือสองลำแล่นอยู่รอบเกาะ คำเฉลย คือ ใบหู ถ้อยคำลักษณะอย่างนี้ชาวภูเก็ตเรียกว่า  คำทาย หากผูกไว้เป็นเงื่อนงำเพื่อบอกที่ฝังหรือเก็บรักษาทรัพย์สมบัติ จะเรียกว่า  ลายแทง   เช่น   ระหว่างต้นทึง   ระหว่างต้นทังเป็นที่ฝังสมบัติ   และอีกประการหนึ่ง จะเป็นถ้อยความที่ผูกไว้เป็นเงื่อนงำเพื่อให้แก้เป็นตัวเลขไว้ซื้อหวยเบอร์   เช่น จับปลาใส่กระป๋อง  แก้เป็นเลข ๗๘๘  หรือ มีแก้วหนึ่งใบ  พญานาคตัวใหญ่เดินตามหลังหมู  แก้เป็นตัวเลข ๐๙๒  ถ้อยคำลักษณะนี้ชาวภูเก็ตเรียกว่า ช้าย     วรรณกรรมพื้นบ้านประเภทมุขปาฐะของภูเก็ตที่เป็นปริศนา  จึงมี คำทาย  ลายแทง  และช้าย

คำทาย

      คำตกลงที่จะก่อให้เกิดการทายเป็นส่วนใหญ่จะขึ้นต้นว่า  ก่ารั่ย   กะรั่ย   อ่ารั่ย  อะรั่ยหรืออ่ายรั่ย   ซึ่งหมายถึง อะไร  บางครั้งก็มี หา ตามเป็น    ก่ารั่ยหา  กะรั่ยหา  อ่ารั่ยหา  อะรั่ยหา หรืออ่ายรั่ยหาอย่างใดอย่างหนึ่ง  เช่น    ก่ารั่ยเขียว ขาว แดง พากันเข้าถ้ำ แล้วไหลออกมา (คนกินหมากแล้วบ้วนน้ำหมาก)      ก่ารั่ยหา ค่างก็ไม่ใช่ค่าง ขี้ไม่ล้าง หางออกบนหัว (เจ๊กไว้ผมเปีย)    ก่ารั่ยหา  ไอ้แบนข่มไอ้กลมโก้งโค้ง น้ำออก (คนกรีดยางพารา)  ก่ารั่ยหากินสตางค์ ออกสตางค์ (กระเป๋า)  ก่ารั่ยหา เดินหน้า เอาหลังไป (กรรเชียงเรือ)
      คำทายบางข้อจะมีคำ ก่ารั่ย  อ่ารั่ย  กะรั่ย  อะรั่ย  หรืออ่ายรั่ย  อยู่หลังถ้อยคำที่ผูกไว้เป็นเงื่อนงำก็มีจำนวนไม่น้อย   บางคนทายจะมีคำ อ่า ตามเป็น ก่ารั่ยอ่า  กะรั่ยอ่า  อ่ารั่ยอ่า หรืออ่ายรั่ยอ่า ก็มี   เช่น   ๖. หนำเดียวอยู่ในนา  ใครไปใครมาก็ว่าหนำเดียว (เหนียวดำ  คำทาย  ขนำเดียวหรือกระท่อมเดียว  ผวนคำหนำเดียวไปเป็นเหนียวดำ)    ตัวยาวเป็นวา ทาสีเหลือง คนทั้งเมืองชอบกิน (หมี่)  ปักษาไม่ใช่ปักษี เกิดลูกทุกที เอาอัคคีเข้าช่วย ก่ารั่ย (ปืน)   ของเขาให้  เอาก็ได้  ไม่เอาก็ได้ ก่ารั่ย (เส้นด้าย)  นกตัวขาว ๆ   ปีกไม่ได้เรื่องหรือปีกใช้ไม่ได้  หรือปีกไม่กระพือ ก่ารั่ย (เครื่องบิน)
      คำที่เป็นคำถามว่า ก่ารั่ย จะปรากฏอยู่ต้นหรือท้ายถ้อยคำก็ไม่มีปัญหา จะไม่ปรากฏเลยก็ได้เมื่อผู้เล่นทายได้ตกลงที่จะเล่นทายกันแล้ว   ข้อทายต่อ ๆ ไป ที่เล่นทายกันนั้น  ไม่จำเป็นต้องมีคำถาม    แต่บางข้อจะต้องมีประธานเป็นตัวนำแล้วตามด้วยคำที่เป็นคำถาม  คือ  ลูกอะไร  ปลาอะไร  ปลาก่ารั่ย - ปลาอะไร  - โบสถ์ไหน    ดังตัวอย่างคำทายต่อไปนี้
      โบสถ์ไหน ไม่มีพระ (ใบโตนด - ใบตาล คำทายเป็นคำผวน)
      ใบกาอะไร กินได้(ใบกาหยี - ใบมะม่วงหิมพานต์)
      ปลาอะไร ไม่มีเนื้อ ไม่มีตัว มีแต่น้ำ(น้ำปลา)
      นาอะไรที่คนชอบใช้ (นาฬิกา)
      ลูกอะไร ชอบเล่นก้นแม่ (ลูกไขกุญแจ)
      ลูกอะไรสัปดนชอบเล่นก้นแม่ (ลูกไขกุญแจ)
      แกงอะไรที่มาจากยายวอด (แกงยอดหวาย)
      ปลาอะไร ไม่อยู่ในน้ำ (ปลาเค็ม)
      ปลาอะไรเล็กที่สุด (ปลาป่น)
      บ้านเมืองเราอะไรครอบครอง (สะพาน)
      สีอะไร พระรามชอบ (สีดา)
    คำทายที่คำตอบเป็นคำผวนจากความหรือคำเปรียบเทียบดังตัว เช่น  ก่ารั่ย เนาขก เกาะหางทน พอเห็น คามน ไบปิน (นกเขา  เกาะหนทาง  คนมา บินไป)  ก่ารั่ยลูกกินใบ (ลูกไก่บิน)   ป้าวแข้ง แหนงเดียวก่ารั่ย  (แป้งข้าว  เหนียวแดง)  อ่ารั่ยหา สองหนำ สามหนำ เข้าหนำเดียว (ข้าวเหนียวดำ)   คำทายบางข้อเพียงผวนคำให้มีเสียงใกล้เคียงก็มีทายกัน เช่น ถ้อยคำเปรียบเทียบว่า เณรติ้ว เมื่อผวนคำจะได้  นิ้วเตน  ก็ยังผลักให้คำนี้เป็น  นิ้วตีน  ก็มี คือ เณรติ้วไปเที่ยวทั่วบ้านทั่วเมืองไปแล้วกลับมา เพื่อนก็ยังเรียกว่า เณรติ้ว ก่ารั่ย (นิ้วตีน)

      คำตอบของคำทายที่เล่นคำทางภาษา   คือคำตอบต้องพิจารณาคำเทียบหรือคำนำในแง่ของภาษานั้นมีตัวอย่างดังนี้ คือ
      บังอะไรไม่รู้หลวม (บังคับ)
      ผูกอะไรที่ไม่ติด (ผูกขาด)
      ล่วงอะไรที่ไม่พอดี (ล่วงเกิน)
      ตัดหน้าตัดหลังเหลือวาเดียว (ควาย  หวาย)
     ต้นอะไรมีสองกอ (กก)
          คำทายบางข้อจะมีความต่อเป็นเสมือนหนึ่งรางวัล   เช่น  ใครทายออกได้เมียงาม ใครทายจะได้แหวน  หรืออาจจะลงโทษ เช่น ทายผิดจะเอาเป็นลูก เป็นต้น ดังตัวอย่างคำทายต่อไปนี้
      ก่ารัยหา  คันเบ็ดเจ็ดทุ่ง ข้ามคุ้งพญาแมน ใครทายจะได้แหวน (รุ้งกินน้ำ)
      ต้นก่ารั่ยใบสามเหลี่ยมใบเทียมดอก ใครทายออกได้เมียงาม (กก)
      ก้ารั่ย  ต้นสามเหลี่ยมใบเทียมดอก  ใครทายออกได้เบี้ยงาม (กก)
      สี่มุมจตุรัส  ยังมีสัตว์สี่ตัว  ใครทายผิดเอาเป็นลูก  ใครทายถูกเอาเป็นผัว (จีวรพระในพระพุทธศาสนาที่มีอรนิยสัจ ๔)
 คำทายส่วนใหญ่จะมีคำตอบเพียงคำตอบเดียว        แต่ก็มีคำทายจำนวนหนึ่งที่ตอบได้มากกว่าหนึ่งเช่น  ฝนตกเจ็ดห่า หลังคาไม่เปียก (ใบบอน - ใบบัว) คำทายบางข้อเป็นคำถามหลายวรรค แต่ละวรรคมีคำตอบเฉพาะวรรคนั้นๆ      บางคราวผู้ทายจำคำทายไม่ครบทุกวรรค จึงได้แยกออกเป็นคำทายอิสระ เช่น  ต้นเท่าครกใบหกวา  ต้นเท่าขาใบวาเดียว  ต้นเท่าแขนใบแล่นเสี้ยว  (มะพร้าว - หมาก - อ้อย)  สับป่า ทับป่า วาตา ยักขา พาเว (ถางป่า-ทำช่องทางเดิน  -  ตั้งแร้วไว้ดักสัตว์ห่างกันวาละหนึ่งแร้ว  - แร้วตวัดขาสัตว์  - สัตว์แกว่งไปแกว่งมาตามกำลังของแร้วที่ตวัดขึ้น) ข้างนอกประตูไม้ ข้างในประตูเหล็ก ผ้าอ้อมผืนเล็ก ตากไม่แห้ง  (ริมฝีปาก - ฟัน - ลิ้น)  ตัวอยู่ในป่า ตาอยู่บนต้นไม้ ขี้ของมันกินได้ หางอยู่เมืองจีน  (หนู  - เห็ดหูหนู - ขนมขี้หนู - หางเปียหนูของเจ๊ก) เป็นต้น
  คำทายจำนวนหลายข้อที่มีคำตอบเดียวกัน     แต่มีข้อคำถามได้หลายรูปแบบ   คำทายที่มีคำตอบว่า ทางถนนหนทาง  มีคำทายที่แตกต่างกัน เช่น
      คดเคี้ยวคดคาด คดไม่ขาด คดเข้าบ้านคน (ทาง)
      ยิ่งตัดยิ่งยาว (ทาง)
      นุ่งแล้วใหม่ ใช้แล้วเก่า (ทาง)
          คำตอบที่ว่า  ปู  ก็มีหลายคำทาย  คือ
      อัฏฐิต่างตะโจ แปดเท้า แปดนักโข สองเนตรโท เศียรเว้น กินปฐวี แล้วแล่นเข้าคูหา (ปู)
      จักษุชู ศีรษะม้วน คงคาเป็นที่เล่น ธรณีเป็นที่นอน (ปู)
      แปดตีนเดินมา หลังคามุงกระเบื้อง (ปู)
      สิบตีนเดินมา หลังคามุงสังกะสี
      แปดตีนเดินมาเหมือนคนเมาเหล้า (ปู)
           คำตอบของปริศนาจะเป็นหลักในการจัดกลุ่มคำทาย     ในเอกสารนี้จะจัดเป็นกลุ่ม ๖ กลุ่ม คือ
           กลุ่ม ๑ คำทายที่มีคำตอบเกี่ยวกับบุคคล
           กลุ่ม ๒ คำทายที่มีคำตอบเกี่ยวกับพืช
           กลุ่ม ๓ คำทายที่มีคำตอบดเกี่ยวกับสัตว์
           กลุ่ม ๔ คำทายที่มีคำตอบเกี่ยวกับสิ่งของ
           กลุ่ม ๕ คำทายที่มีคำตอบเกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ
           กลุ่ม ๖ คำทายที่มีคำตอบเบ็ดเตล็ด
           ตัวอย่างปริศนาคำทายแต่ละกลุ่มมีดังนี้
คำทายที่มีคำตอบเกี่ยวกับบุคคล
      มาจากเมืองเทศมาร้องเวด ๆ ให้เราฟัง (พระเทศน์)
      ไม่ถึงฤดูไม่เข้า ไม่ถึงคราวไม่ออก (พระเข้าพรรษาพระออกพรรษา)
      เปิดฉุบใส่ฉับ    ปิดปุ๊ปเดินปั๊ป  (พระบิณฑบาต)
      เช้า ๆ  สีข้าวโป่ง  ตะวันโด่ง สีข้าวยุบ (พระสะพายบาตร)
      โตงเตงโตงยา ไม่เปิดผ้า   ดูไม่เห็น (พระบิณฑบาต)
      แม่ไก่แดงแทงพรูร่อง (คนบ้วนน้ำหมาก)
คำทายที่มีคำตอบเกี่ยวกับพืช
      ผักอะไรอยู่ในวัด (ผักชี)
      เล็กก็วา ใหญ่ก็วา (ไม้พะวา)
      ไม่กระทบไม่แท่ง นิ่ง ๆ แน่ง ๆ ดังหวาย         (หวาย)
      ผ้าเขียวห่อผ้าขาว ผ้าขาวห่อหวี หวีห่อส้ม (ส้มโอ)
คำทายที่มีคำตอบเกี่ยวกับสัตว์
      สี่ตีนสี่เท้า กินข้าว   กินช้าง สัตว์ไม่อยู่ล่างอยู่ปลายพฤกษา (ลิง)
      ก้นชี้ฟ้า หน้าถูดิน (หอย)
      สี่ตีนเดินมา หลังคายกธง (สุนัข)
      เดินมาหยก ๆ ยกธงข้าง ๆ แม่ทองสาวน้อยร้อยชั่ง นั่งสูงกว่ายืน (สุนัข)
คำทายที่มีคำตอบเกี่ยวกับสิ่งของ
      ลุ้มตุ้มตู แล่นลงรู ปิดหางไม่มิด (กระบวย)
      พระหน่อนอนกลาง พระนางนอนริม พระหน่อลุกขึ้นทิ่ม พระนางยิ้มแช้ (ไม้ขีดไฟ)
      แม่นางคออ่อน กินก่อนทุกวัน (จวัก)
คำทายที่มีคำตอบเกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ
      สุกก็ไม่หอม งอมก็ไม่หล่น (ดวงอาทิตย์)
      ลั่นไม่แหก แตกไม่ดัง ขึ้นไม่ยก ตกไม่ตั้ง (ฟ้าลั่น - ดินแตกระแหง -ดวงอาทิตย์ - ฝน)
คำทายเบ็ดเตล็ด
      ขุดข้าง ๆ ยิ่งกว้างยิ่งออก (บ่อน้ำ)
      ควายทั้งคอก ขี้ออกกองเดียว (ปลักน้ำครำ) ล้วตีนไม่ติดดิน (ขี้ไก่) 
     หีบน้อยใส่ผ้าเหลือง   กุญแจไขทั้งเมืองก็ไม่ออก (ไข่ไก่ไข่เป็ด)
     ข้างนอกตะกั่ว ในครัวเงิน ในเรือนทอง (ไข่เป็ด)
          คำทายเป็นสื่อนำให้ผู้ทายคำตอบได้ใช้สมองคิดแก้ปัญหา   การเล่นทายคำทาย  จึงเป็นการช่วยประเทืองสติปัญญาที่มีคุณค่ายิ่งประการหนึ่งในการละเล่นของเด็กพื้นบ้าน 

ลายแทง

      วิทยากรผู้ให้ข้อมูลบางคนได้ระบุให้ทราบว่า  ลายแทงนั้นเป็นของที่ใด  แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นที่นั้น ๆ จริงหรือไม่    แม้จะมีชื่อสถานที่กำกับ ก็อาจจะมีชื่อสถานที่นั้นซ้ำกันในจังหวัดอื่นก็ได้ ลายแทงที่รวบรวมไว้ในที่หอวัฒนธรรมภูเก็จมีจำนวน ๕๒ บท  เป็นลายแทงที่มีปรากฏอยู่ในจังหวัดภูเก็ตส่วนหนึ่ง    ลายแทงจากต่างจังหวัดหลายบทได้แพร่กระจายเข้ามาสู่จังหวัดภูเก็ต    หากต่างจังหวัดได้รวบรวมลายแทงไว้    ลายแทงที่เป็นของจังหวัดภูเก็ตอาจจะแพร่กระจาย ๆ ไปต่างจังหวัดก็คงเป็นได้
      ข้อความในลายแทงส่วนใหญ่มักจะมีคำสัมผัสคล้องจอง บางลายแทงเป็นคำผวน   เช่น บ่อคันกล่าวได้ว่าเป็นลายแทงที่สั้นที่สุดที่สื่อความกันได้ก็คือลายแทง บ่อคัน เมื่อผวนกลับก็จะได้เป็นบั่นคอ ก็ถือว่าแก้ลายแทงนั้นตกไป  ลายแทงที่ยาวที่สุดในจังหวัดภูเก็ต หรือเท่าที่เคยศึกษามา ยังไม่พบลายแทงใดที่ยาวเท่ากับลายแทงที่วัดพระนางสร้าง   นายบัณฑิต  คันฉ่อง ได้เล่าให้ฟังว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้ซ่อมพระพุทธรูปในอุโบสถวัดพระนางสร้างพบผ้าผืนหนึ่งได้บันทึกเป็นลายแทงไว้     ก่อนหน้านั้น  คนแก่คนเฒ่าผู้สูงอายุจะจำความในลายแทงได้เพียงบางตอน เมื่อพบผ้าลายแทงผืนนั้น    หลวงตาเขียวพระภิกษุที่จำพรรษาในวัดพระนางสร้างเป็นผู้อ่านถ่ายทอดออกมาเป็นคำอ่านดังนี้
      อาถรรพณ์ฤๅพบได้   ฤๅต้องปิด   ฤๅต้องบัง  ฤๅบอก  ฤๅเล่ามิได้ฤๅ  ฤๅนำ ฤๅรู้ ฤๅอุบ  ฤๅได้  ฤๅบุญตัว  ฤๅเปิด  ฤๅนำ  ฤๅยอก  ฤๅได้  ฤๅบาปแล ฯ
      พิกุล๒ สารภี  ดีสมอแดง   จำปีจำปาใหญ่ตะแคง  มะขาม ๑  ถึงสะท้อนหน้า ราชารอบ ขอบระฆังดัง  เจดีย์  มีศาลารอบ  เข็มสวย  ด้วยแก้ว ๑ ไม้หลังเลือดสุด ลูกมุด ลูกม่วง ชมพู่ ดูโบสถ์  ฤๅเปิดได้ดั่งลายแทงแล ฯ
      เส้นแสงลายแทง ๑ นางสร้าง ฤๅเปิด ฤๅดู  ฤๅชม  ฤๅกราบไหว้บูชา  ฤๅได้บุญกุศลแล  ฤๅดีได้เจ้าเมืองเปิดแล    ฤๅของแท้แน่ไซร้    ฤๅได้หญิงลือ หญิงแล ฯ
      เส้นแสงลายแทง ๒  พระสร้าง   ฤๅใจ   ฤๅงาม  ฤๅตามเจ้าเมือง ฤๅพระนามเดื่องฤๅด้วย  ฤๅใจเจ้าเมืองฤๅ  หญิงลือ  หญิงแล ฯ
      เส้นแสงลายแทง ๓   ฤๅอย่าข้ามใจฤๅ  เจ้าเมืองฤๅ  ฤๅพิษฐาน ฤๅรูปงาม ฤๅใจงาม ฤๅทรัพย์สิน  ฤๅลาภ ฤๅยศ ฤๅขอได้ลูกหลานหลิน ฤๅขอได้ดั่งประสงค์ฤๅ ฤๅถือได้ ปฏิบัติแน่ไซร้ ฤๅธิษฐานได้   ฤๅดั่งลายแทงแล ฯ
    วิทยากร : นายบัณฑิต  คันฉ่อง  อายุ ๔๕ ปี หมู่ ๑ ตำบลเทพกระษัตรี ถลาง ภูเก็ต
    ผู้บันทึก  : นายสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์  เมื่อ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖
 ลายแทงที่บ้านบางโรง  มีคลองหลังตึก   บ่อลึกหน้าบ้านถ้าใครคิดได้ กินไม่รู้สิ้น
    วิทยากร : นางยีนะ  วงหลี  อายุ ๗๐ ปี  หมู่ ๓ บ้านบางโรง  ป่าคลอก ถลาง  ภูเก็ต
    ผู้บันทึก  : นายสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์  เมื่อ ๑๗ เมษายน ๒๕๒๗
 
 ให้ถือพร้าขอ ฟันคอนายคน อย่าคิดสับสน บั่นให้จริง ๆ   
    วิทยากร : นายเลียบ ชนะศึก อายุ ๕๕ ปี  บ้านเหรียง เทพกระษัตรี ถลาง ภูเก็ต
    ผู้บันทึก : นายสมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์  เมื่อ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๔ 

 หาดเขืออยู่เหนือวังฆ้อง   คลายสองช่องอยู่ใต้หาดเขือ
    วิทยากร : นางทับ หิรัญวดี อายุ ๗๒ ปี  บ้านหินรุ่ย เทพกระษัตรี ถลาง ภูเก็ต
    ผู้บันทึก : นายสมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์  เมื่อ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๒๕

 ย่างเท้าสามศอก ถอยออกสามวา  หน้าพระราชา หลังพระภูมี อ้ายสีตีอ้ายจัน ด้วยไม้ค้อนรันอ้ายจันร้องบอก
    วิทยากร : นายเลียบ  ชนะศึก อายุ ๕๕ ปี  บ้านเหรียง เทพกระษัตรี ถลาง ภูเก็ต
    ผู้บันทึก  : นายสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์  เมื่อ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๔ 

ช้าย

          คนจำนวนไม่น้อยที่กล่าวว่าการพนันเป็นสายเลือดของคนไทย   ชาวภูเก็ตส่วนหนึ่งที่นิยมเล่นการพนัน เกี่ยวกับตัวเลขจำนวน ๓ ตัวหลัง  ของหมายเลขรางวัลที่หนึ่งของสลากกินแบ่งรัฐบาล  และเลขจำนวน ๒ ตัวหรือเลขท้ายสองตัวของสลากกกินแบ่งรัฐบาล ผู้จำหน่ายหมายเลขจะเรียกว่า นายมือ แม้เป็นหญิงก็เรียกว่านายมือ  ตัวเลขจะเรียกทับศัพท์ต่างประเทศว่า เบอร์นายมือเบอร์จะขายเบอร์ให้กับผู้ซื้อ เบอร์   เมื่อเบอร์สามตัวที่ขายไปตรงกับหมายเลขสามตัวหลังรางวัลที่หนึ่งหรือเบอร์สองตัวตรงกับเลขท้าย  ๒  ตัว  ของสลากกินแบ่งรัฐบาล นายมือเบอร์จะจ่ายเงินรางวัลให้กับผู้ถูกเบอร์จำนวน  ๖๐๐  บาทต่อ ๑ บาทและ ๘๐ บาทต่อ ๑ บาท บางครั้งจะมีคนรับช่วงต่อจากนายมือเบอร์นำเบอร์ไปขายคน  ๆ  นี้ผู้ซื้อเบอร์เรียกว่า  คนขายเบอร์ ในกระบวนการเล่นเบอร์นี้เป็นการผิดกฎหมาย  ผู้นิยมเล่นเบอร์จึงแอบซ่อนเล่นให้พ้นหูพ้นตาเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะตำรวจถือเป็นปรปักษ์กับวงการเล่นเบอร์ เบอร์ก็คือหวยเถื่อนนั่นเอง
          ผู้เล่นเบอร์จะได้เบอร์มาจากความฝัน  เกจิอาจารย์สร้างเป็นปริศนาให้   หรือผู้ที่นักเล่นเบอร์ให้ความเคารพนับถือแสดงท่าทางที่ผิดไปกว่าปรกติประจำวัน    ก็จะนำลักษณะนั้น ๆ ไปแก้เป็นเบอร์   คำพูดหรือท่าทางที่เป็นปริศนาให้นำไปแก้เป็นเบอร์เรียกว่า   ช้าย  ในที่นี้จะเสนอเฉพาะช้ายเป็นภาษาพูดซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของวรรณกรรมมุขปาฐะ
          สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่เป็นสื่อนำไปแก้เป็นตัวเลขตั้งแต่ ๐ ๑ ๒...๙ มีดังนี้
          เลข  ๐  ได้แก่ คนตาย แก้วน้ำ บ่อ ศพ แหวน หลุม กระดุม กำไล ห่วง เส้นผม ผลมะพร้าว นาฬิกา ถังน้ำ จาน ชาม ล้อรถ เหรียญ ยางวง
          เลข ๑ ได้แก่เด็ก หนู ไก่ เทียนไข ของลับชาย สายสร้อย กบ ดอกบัว หนอน นิ้ว
          เลข ๒ ได้แก่  หมู  น้ำ  ตะเกียบ กางเกง เสื้อ รองเท้า ตุ้มหู แขน ขา ควาย วัว เต้านม ตา คิ้ว หู งา
          เลข ๓ ได้แก่  หญิงสาว  เสือ สามง่าม คราด คทา  ธงสามเหลี่ยม แส้ หน้าจั่ว รถสามล้อ พัดลม
          เลข ๔ ได้แก่ หญิงมีสามี  โลง  ศพ ผี สัตว์ตาย แมว เต่า ขี้ กระต่าย โต๊ะ หีบ ลังไม้ สมุด กระจก กรอบรูป
          เลข ๕ ได้แก่ ชาย หญิง ว่าวจุฬา รั้วบ้าน ดวงดาว ห่าน มือ พญานาค
          เลข ๖ ได้แก่  คางคก  งู  นก  หอย เบ็ด ขวาน เหว กรรไกร หัว ขวด เรือ หวี ไม้เท้า ดาบ หมวก ครก เห็ด
          เลข ๗ ได้แก่  น้ำ พระจีน ในหลวง ม้า ตุ๊กแก จิ้งจก จอบ แจกัน มีดพร้า กุญแจ จอบ จันทร์ จักรยาน
          เลข ๘ ได้แก่  ปลา พระ แพะ  แว่นตา  ห่วงสองห่วงคล้องกัน แมงมุม ปลิง ไฟ คนแก้ผ้า ปืน กระเป๋า ปาก เป็ด เปล กระป๋อง
          เลข ๙  ของใหญ่หรือของสูง  ช้าง  หมา ลิง กบ กุ้ง เทวดา งูใหญ่ ภูเขา ยักษ์ ไก่ ต้นมะพร้าว เครื่องบิน แก้ว ในหลวง กา คนแก่  ต้นไม้  ข้าว  บิดา  มารดา พระพุทธรูป ภูเขาทอง
          สัญลักษณ์ที่เป็นตัวอย่างข้างต้นนั้น  บางรายการก็แทนตัวเลข  ๒  ตัวเช่น ศพ แทน ได้ทั้ง  ๐  และ ๔ ในหลวง แทนได้ทั้ง ๗ และ ๙ ข้อสังเกตประการหนึ่งที่ชัดเจนมากก็คือ สัตว์ในรอบ  ๑๒ ปีนักษัตร หนู-๑ วัว-๒ เสือ-๓ กระต่าย- งูใหญ่ พญานาค-๕ งูเล็ก-๖ ม้า-๗ แพะ-๘  ลิง-๙  ส่วนปีระกาซึ่งเป็นปีที่  ๑๐ ใช้เลข ๑ คือ ไก่ และ ปีจอ คือ หมา ก็ใช้เลข ๑ ปีที่ ๑๒  ปีกุน  หมูใช้เลข ๒ อีกประการหนึ่งมักใช้อักษรตัวหน้าที่สอดคล้องกับตัวเลข เช่น เจ็ด มี จ เป็นพยัญชนะต้น  คำที่มี  จ  เป็นพยัญชนะต้นก็มักจะเป็น ๗ เช่น จิ้งจก จอบ จันทร์สัญลักษณ์ของเลข  ๘ ก็มักมี ป เป็นพยัญชนะต้น เช่นปืน ปาก เป็ด เป็นต้น   สิ่งของที่มีลักษณะให้เกิดจำนวนนั้น ๆ  ก็แทนลงไปเป็นเลขนั้นได้เช่น  เมื่อเขียนรูปดาว  จะเป็นรูปมีแฉกห้าแฉก   ดาวจึงแทนด้วย  ๕  สมุดมีมุม  ๔  มุม  กระจกมี  ๔ มุม    หรือกรอบรูปมี ๔ มุมก็แทนเป็นเลข ๔ การแก้ปริศนาช้าย ก็อาศัยสัญลักษณ์ที่แทนกันนี้แก้ให้เป็นตัวเลข ดังตัวอย่างต่อไปนี้        
 คนขี่ม้า นกถลาตามติด แก้เป็น  ๕ ๗ ๖  ทั้งนี้เพราะ คนคือ ๕ ม้าคือ จ และ นกคือ ๖
     วิทยากร : นายเลียบ  ชนะศึก  อายุ ๖๒ ปี บ้านเหรียง เทพกระษัตรี ถลาง ภูเก็ต
    ผู้บันทึก  : นายสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์  เมื่อ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๓๑

 ผีตายโหงลงโลงบรรทุกเรือ  แก้เป็น ๔ ๔ ๖ เพราะ ผีคือ ๔ โลงคือ ๔ และเรือคือ ๖
    วิทยากร : นายเลียบ  ชนะศึก  อายุ ๖๒ ปี  บ้านเหรียง เทพกระษัตรี ถลาง ภูเก็ต
    ผู้บันทึก  : นายสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์  เมื่อ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๓๑

 สาวขี่เต่าตามผัว แก้เป็น ๕ ๓ ๔ ทั้งนี้เพราะสาวคือ ๓ เต่าคือ ๔ และผัวคือ ๕  สาวขี่เต่าคือ ๓ ๔ เป็นตัวเลขตามหลัง ผัวคือ ๕ จึงเป็น  ๕๔๓                             
    วิทยากร  : นายเลียบ  ชนะศึก  อายุ ๖๒ ปี  บ้านเหรียง เทพกระษัตรี ถลาง ภูเก็ต
    ผู้บันทึก   : นายสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์  เมื่อ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๓๑

เพลงเปล

     ชาวภูเก็ตเรียกเพลงกล่อมเด็กว่า  เพลงเปล  ใช้ร้องกล่อมให้เด็กนอนในเปล    ผู้ร้องร้องกล่อมพร้อมกับไกวเปลให้เด็กนั้นนอนหลับ    จังหวะเพลงจึงมักจะช้าเนิบนาบ     ก่อนร้องเนื้อเพลงจะมีการเอื้อนด้วยคำว่า ฮาเอ้อ ฮาเอ๊อ เสียงทอดยาวไปเท่าไรไม่จำกัด     เมื่อจะหายใจเข้า  มักจะขึ้นเนื้อเพลงและเมื่อจบเนื้อเพลงมักจะลงท้ายด้วยคำว่าเออะ   หากวิทยากรท่องให้ฟังคำลงท้ายเออะจะออกเสียงหนัก   แต่เมื่อร้องเป็นทำนองเพลงเปลเสียงจะเบา   ในการบันทึกเนื้อเพลง จะตัดคำ ฮาเอ๊อ และเออะ ออกไป      ส่วนชื่อเพลงนั้นจะตั้งตามคำของคำแรก ๆ ของเนื้อเพลงนั้น ๆ ดังต่อไปนี้
 นอนเสียเถิดน้องนอน
    นอนเสียเถิดน้อง  สายสมรบัวครั่ง   ผุดขึ้นยับยั้ง  ใต้น้ำบังใบ  ผุดขึ้นให้แจ้ง   เห็นแสงอุทัย  ใต้น้ำบังใบ    ผุดในทะเลหลวง
    วิทยากร : นางเขต  จันทุรัตน์   ๖๗ หมู่ ๔ บ้านนาใน ป่าตอง กะทู้ ภูเก็ต
    ผู้บันทึก  : นายกฤษดา  วิวัฒนานนท์  เมื่อ ๑๔ มกราคม ๒๕๒๓
 นอนเสียหนุ่ย
      นอนเสียหนุ่ยนอน แม่ไปเมืองนครและเกาะหมาก   ไปซื้อทองมาฝากให้ลูกใส่เล่น
    วิทยากร : นายเทื่อน  เชื้อญวน  ๓๕ หมู่ ๒ บ้านไสน้ำเย็น ป่าตอง กะทู้
    ผู้บันทึก  : นางสาวยุพดี  นวลประกอบ เมื่อ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๒๓

เพลงตนโหย้ง

      เพลงตนโหย้งเป็นเพลงปฏิพากย์ใช้ร้องโต้ตอบเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาวเมื่อไปทำงาน “ซอ” ในไร่ในนา  เพลงตนโหย้งเดิมคงต้องขึ้นต้นด้วย ตันหยง แต่ชาวภูเก็ตได้ออกเสียงเป็น ต็อนโหย้ง หรือต็อนโย้ง  จึงได้เรียกชื่อเพลงปฏิพากย์ลักษณะนี้ว่า เพลงตนโหย้ง ตันหยงเป็นภาษามลายูหมายถึง พิกุล และใช้ในเพลงทั่ว ๆ ไป หมายถึง ต้นไม้
      ในการร้องเพลงตนโหย้ง หากร้องโต้ตอบกันเป็นกลุ่ม จะมีลูกคู่คอยถามคอยสอดหรือหยอกเย้าทั้งพ่อเพลงและแม่เพลง  เพลงตอนใดมีเนื้อร้องเป็นที่ถูกใจลูกคู่ ลูกคู่ก็มักจะเปล่งเสียง ฮาโรย— หากพึงพอใจมาก เสียง โรย จะยาวมากตามไปด้วย
      เพลงตนโหย้งทุกเพลง พ่อเพลงแม่เพลงจะเริ่มด้วยคำว่า ตนโยง ต้นโหย้ง    แล้วลูกคู่จะต่อว่า กัมโป้ง  แลน้อง  โหย้งอะไร         พ่อเพลงแม่เพลงก็จะซ้ำคำเดิมอีกว่า   ตนโยง    ตนโหย้ง โหย้งต้นมะขามแล้วจะใช้เสียง อาม ของคำ ขาม ไว้สัมผัสกับความในวรรคถัดไป
 พ่อเพลง  ตนโหย้ง ตน - โ ห ย้ - ง –
 ลูกคู่   กัมโป๊งแลบัง โหย้งต้นอารั่ย
 พ่อเพลง    ตนโหย้ง ต้น - โ --ห- ย้ - ง -
                โหย้งต้นนาว
         แลโด๊สาวสาวทักว่าพี่ดำ
 หรือ
  แม่เพลง      ตนโหย้ง ตนโหย้ง
 ลูกคู่     กัมโป๊งแลน้อง โหย้งต้นอารั่ย
 แม่เพลง          ตนโหย้ง ตนโหย้ง โหย้งต้นยาหนัด
                    ขอถามบังพ่อผมดัด
                      สุเหร่ากับวัดถนัดข้างไหน

 ตามธรรมดาพ่อเพลงกับแม่เพลงจะร้องสลับกันไปคนละเพลง  แต่บางกลุ่มฝ่ายพ่อเพลงหรือแม่เพลงอาจจะร้องหลาย ๆ เพลงติดต่อกันไปก็ได้      แล้วให้อีกฝ่ายตอบหรือต่อว่าต่อขานเป็นชุด ๆ ไปก็มี
      เพลงปฏิพากย์ตนโหย้ง เป็นเพลงที่พ่อเพลงแม่เพลงใช้ปฏิภาณดั้นด้นผูกเพลงได้เองตามอิสระให้เป็นไปตามทำนองของเพลงกลุ่มชุดนั้น ๆ     ชาวภูเก็ตเรียกการผูกเพลงขึ้นเองของพ่อเพลงแม่เพลงว่า มุตโต  คนที่มุตโตไม่ได้ ก็จำเนื้อเพลงเอาไว้ร้องต่อ ๆ กันไป  เพลงตนโหย้งที่บันทึกไว้นี้ ก็เป็นเพลงที่พ่อเพลงแม่เพลงได้มุตโตเอาไว้   วิทยากรผู้ให้ข้อมูลก็นำมาถ่ายทอดอีกต่อหนึ่ง เพลงตนโหย้งบางเพลงจึงคล้าย ๆ กัน    การบันทึกจะบันทึกเฉพาะความที่เริ่มต้นด้วยต้นหรือดอกแล้วเท่านั้น คำ  ตนโยง ตนโหย้ง กัมปง กัมโป๊ง แลน้อง แลบัง โหย้งต้นอะไร  จะตัดออกทั้งหมด ดังตัวอย่างเพลงตนโหย้งดังต่อไปนี้

 ดอกดาวเรือง
         ดอกดาวเรือง นกสาลิกาตัวปากเหลือง มาร้องทักพี่ชายอยู่แจ้วแจ้ว
เอียงกลับหลังจะไปสั่ง นกสาลิกากลับหันหลังไปเสียแล้ว  ร้องทักพี่ชายอยู่แจ้วแจ้ว  
ว่าต่างคนพี่น้องต่างร้องสั่ง
    วิทยากร : นายโกบ  เหมรา  บ้านกะหลิม ป่าตอง กะทู้ ภูเก็ต
    ผู้บันทึก  :  นางสาวอุรา  บุญเกตุ  เมื่อ ๑๕ มกราคม ๒๕๒๔

      พ่อเพลงแม่เพลงที่มีความสามารถใช้เสียงหนักเบาให้สอดคล้องกับเนื้อความที่ร้อง เป็นการช่วยเพิ่มบรรยากาศให้เกิดความสนุกสนาน     ลีลาในการร้องเพลงตนโหย้งจะมีจังหวะจะโคนเร็วช้าแตกต่างกัน การศึกษาที่ลึกไปกว่านี้จะสามารถจำแนกเพลงออกเป็นทำนองหรือจังหวะได้
      คำศัพท์ที่ตรงกับคำว่า พี่ มีใช้อยู่เป็นจำนวนมาก  คือ บัง หรือ อาบัง ของพ่อเพลงที่เรียกตัวเองและของแม่เพลงที่เรียกหรือกล่าวถึงชายที่ตนร้องหรือกล่าวถึงเหล่านี้เป็นคำที่ใช้เรียกทั่วไปของชาวมุสลิม      พ่อเพลงแม่เพลงที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมก็นิยมใช้    ในลักษณะเช่นนี้ อาจใช้เป็นหลักฐานสืบค้นที่มาของเพลงตนโหย้งได้ประการหนึ่ง   และแสดงให้เห็นว่า เพลงตนโหย้งเป็นเพลงปฏิพากย์ที่ชาวมุสลิมร้องโต้ตอบกันจนมีอิทธิพลให้ชาวไทยพุทธนิยมตาม    พ่อเพลงแม่เพลงจำนวนมากที่เรียกเพลงตนโหย้งว่า   เพลงรองเง็ง ร็องเง็ง หรือ รอแง้     เพลงตนโหย้งจึงเป็นเพลงรองเง็งที่มีเนื้อร้องเป็นภาษาไทยถิ่นใต้

เพลงรองเง็ง


      ชนชาวพื้นเมืองดั้งเดิมกลุ่มหนึ่งของภูเก็ตที่ชาวภูเก็ตเรียกว่า  ชาวเล  นั้นเป็นต้นแบบในการเต้นรำรองเง็ง  เครื่องดนตรีที่ใช้คือ รำมะนา ๑ คู่ ไวโอลิน  ฆ้องโหม่งและฉิ่ง พ่อเพลงแม่เพลงจะร้องไปรำไปในขณะเดียวกัน   ในเวลา ๗ - ๘ ชั่วโมงที่ร้องเพลงรองเง็ง มีเพลงที่มีเนื้อร้องไม่ซ้ำ   มีทำนองและจังหวะ ต่าง ๆ   เนื้อร้องใช้ภาษาที่ต่างไปจากที่ชาวภูเก็ตพูดจากัน   เคยให้ผู้ใช้ภาษายาวีฟัง   สามารถแปลได้เพียงบางคำ ในชั้นนี้จะเรียกภาษาที่ใช้ร้องเพลงรองเง็งว่าเป็นภาษายาวีโบราณ
      ชื่อเพลงจะใช้ตามที่พ่อเพลงแม่เพลงบอก    และบางเพลงจะใช้คำที่เริ่มต้นเป็นชื่อเพลง เพลงที่ร้องเริ่มแรกสุดได้แก่เพลง  วูกาลากูวดัว     ซึ่งหมายถึงเพลง (ลากูว) เปิด (วูกา) เราสอง(ดัว) และปิดท้ายรายการด้วยเพลงตาเบ๊ะอิเจ๊ะหรือสวัสดีลาก่อน    ชื่อเพลงที่นิยมมากได้แก่เพลงมะอีนัง  อะนะอีกั้น (อะนะ - ลูก อีกั้น - ปลา)  บุรงบูเต้ (บุรง - นก บูเต้ - ขาว)   อายัมดิเด๊ะ (ไก่ชนหรือไก่แจ้)  เจ๊ะมาม้าต (นายมะหะหมัด)  สปาอีตู้ (นั่นใคร)  ตะล็อกต๊อกต๊อก   ยีวามาแนะ (ยีวา - หญิง มาแนะ - หน้าหวาน)  ซิตี้ปาโยง (ซิตี้ - นาง ปาโย่ง - กางร่ม)    เจ๊ะซูโร่ง   ซิราเยาะ   ประฮูงาซิเจ๊ะ   ปากูแกลั่ง  ราไวย์แประ  สิเรปีนัง  สายันกาโยะ ซำปาย่า  เป็นต้น  ตัวอย่างเนื้อร้องเพลงงีและ
                    งีเละ  บารี  ปาวะ  บาลาวะ   กีต้า  กาเซะ  กีต่วน  บาวะมารี
                    ซาไป  เทนกีต้า  อาจันปินะ
    วิทยากร : นางหิ้น ประมงกิจ ๔๐ หมู่ ๔ บ้านแหลมตุ๊กแก เกาะสิเหร่ รัษฎา  อ.เมือง  ภูเก็ต
    ผู้บันทึก  : นางสาวเรียม  อุดม  เมื่อ ๒๔ มกราคม ๒๕๒๔ 

เพลงนา

      ถ้าผลการศึกษาทราบว่า เพลงปฏิพากย์ตนโหย้งเป็นเพลงที่สืบทอด   หรือกลายมาจากเพลงรองเง็ง  คำถามที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ เพลงปฏิพากย์ของชาวภูเก็ตไทยพุทธมีหรือไม่  จากการศึกษาในชั้นต้นพบว่า เพลงนา มีลักษณะเนื้อร้องเป็นการรำพัน  คร่ำครวญ  เกี้ยวพาราสีและโต้ตอบกันไปมาระหว่างหญิงชายในช่วงเก็บเกี่ยวข้าวในทุ่งนา  ตัวอย่างเพลงนา คือ
             รักกันไปมารักกันมา แต่ไปหาพบปะกันไม่ได้ 
 เหมือนมีภูเขาอะไรมาขวางกั้นไว้ แลเห็นปลายไม้อยู่รายเรียง   
 พี่ไปไหนก็ไปไม่รอด  พี่ต้องลอดไปฟังเสียง
 แลเห็นปลายไม้อยู่รายเรียง     ฟังเสียงทองร้อยชั่ง
    วิทยากร : นายชวน  ผสมทรัพย์ อายุ ๔๖ ปี บ้านลิพอน ศรีสุนทร ถลาง ภูเก็ต
    ผู้บันทึก : นายสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์  เมื่อ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๒๔

     ทำนองการร้อง จะร้องคล้ายเพลงเปล แต่เร็วและกระชับกว่า   ส่วนเนื้อร้องนั้นมีลักษณะเช่นเดียวกับเพลงเปล    ยังไม่สามารถแยกออกจากเปลได้ หรือเนื้อร้องเพลงเปลจะได้มาจากเพลงนา   บทเพลงเปลจึงมีเนื้อร้องทำนองเกี้ยวพาราสีจำนวนหลายเพลง   เพลงนามีเนื้อร้องเช่นเดียวกับเพลงเปลในเพลงดังต่อไปนี้  เพลงกล้วยทอง  ไก่เถื่อนขันสะเทือนทั้งไร่ เดือนขึ้นถี่   เดือนกลาย    เดือนขึ้นมา    เดือยปล้อง     ต้นพังแร่  น้ำไหล   ปลูกรักไว้    ไปเหนือ     ไปไหน   ผักเหล   ผูกเงื่อน     ผูกเปลไว้ใต้ย่าน   พี่ชายอย่าหมาย   ฟ้าลั่น   มะพร้าว   รักกัน   เรือใหญ่   ลมพัด   ลูกสาวลูกชาวเชิงทะเล   ลูกสาวใคร     ส้มโอ   หญ้าปล้อง  โอ้พี่ เป็นต้น
      ส่วนเพลงเปลที่ขึ้นต้นด้วย ดอก และต้น   ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับเพลงตนโหย้งนั้นก็ใช้เป็นเพลงนาได้เช่นเดียวกัน  เช่น เพลงดอกขี้ไก่ ดอกจอก  ดอกฉิ่ง  ดอกดีปลี  ดอกพุดซ้อน  ดอกมะลิ  ดอกมะลิวัลย์  ดอกมุงาด  ดอกไม้  ดอกยาง  ต้นกระท้อน  ต้นกล้วย  ต้นกาหยี ต้นขมิ้น ต้นขี้ไก่  ต้นขี้เหล็ก  ต้นจาก  ต้นจิก  ต้นดาวเรือง  ต้นตอ  ต้นตะไคร้  ต้นตะแบก   ต้นตาล  ต้นเตย  ต้นแต้ว  ต้นทุเรียน  ต้นไทร  ต้นผักเบี้ย  ต้นพรา  ต้นพลอง  ต้นเพกา   ต้นมะขาม ต้นมะนาว  ต้นมะปริง  ต้นมะพร้าว  ต้นมะละกอ  ต้นมังเคล  ต้นมุด  ต้นย่าหนัด   ต้นหย่าหมู ต้นสน  ต้นส้มควาย  ต้นส้มส้า  ต้นส้มโอ  ต้นหวาย  ต้นอ้อย  เป็นต้น

      การเก็บเกี่ยวข้าวของชาวภูเก็ตนิยมเก็บเป็นรวงด้วยมีดเก็บข้าวชนิดหนึ่งที่เรียกว่า   มลัน หรือ  แกะ  ใช้มีดนี้ตัดคอรวงข้าว ได้เต็มกำมือแล้วเอาใส่กระเชอที่แขวนไว้ข้างสะเอว ในช่วงเก็บรวงข้าวนี้  ส่วนใหญ่เป็นหญิง ฝ่ายชายจะเป็นผู้ลำเลียงข้าวที่อยู่ในกระสอบใบเตยไปเก็บที่ยุ้ง  โอกาสที่พบปะเกี้ยวพาราสีในท้องทุ่งนาจึงเกิดขึ้นได้     การเก็บเกี่ยวข้าวจะใช้เวลาไม่เกิน ๒ เดือน เพราะนามีน้อย ทุ่งนาที่ใหญ่ที่สุดในภูเก็ตคือทุ่งนาระหว่างบ้านดอน บ้านเคียน บ้านยา รองลงไปได้แก่ทุ่งนาบ้านลิพอน   บ้านกะรน   และบ้านสาคู    วิทยากรที่จะให้ข้อมูลเพลงนาได้ดีก็ควรจะเป็นวิทยากรในหมู่บ้านดังกล่าว วิทยากรผู้ให้ข้อมูลได้มักจะมีอายุเกินกว่า ๔๐ ปี  ผู้มีอายุน้อยกว่านี้  ไม่มีใครร้องเพลงนาหรือจำเพลงนาได้อีกแล้ว    ในบรรดาเพลงเปล เพลงตนโหย้ง  และเพลงนา    เพลงนาจะสูญสิ้นไปก่อนเพลงอื่น ๆ  เพราะหน้าที่ที่จะใช้เพลงนา หมดสภาพไปพร้อมกับเนื้อที่นาที่ได้เปลี่ยนสภาพไปเป็นเหมืองแร่ดีบุก  และเปลี่ยนไปเป็นสถานที่ก่อสร้างอาคารบ้านเรือนโรงแรมที่พักตากอากาศ  เพื่อรับใช้การท่องเที่ยว  เนื้อที่นาซึ่งเปลี่ยนสภาพไปโดยสิ้นเชิงได้แก่ที่นาบ้านป่าตอง  ที่นาบ้านกะตะ   ที่นาบ้านกะรน     และที่นาบ้านเคียนบ้านดอนกำลังจะเปลี่ยนไปเป็นสนามกอล์ฟในไม่ช้านี้

เพลงประกอบการละเล่นของเด็ก

  ในวรรณกรรมพื้นบ้านภูเก็ตประเภทมุขปาฐะ  ได้เก็บรวบรวมเฉพาะข้อความที่ใช้ประกอบการละเล่นของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นบทหยอก   บทยั่วเย้ากระเซ้าแหย่   คำคล้องจองหรือบทเพลง ก็จะจัดไว้ในกลุ่มเพลงประกอบการละเล่นของเด็ก ทั้งนี้โดยมิได้บันทึกพฤติกรรมการละเล่นทางกาย  ทางอารมณ์  ทางสังคมหรือทางสติปัญญาแต่ประการใด   คงบันทึกไว้เฉพาะข้อความเท่านั้น
          ชื่อเพลงประกอบการละเล่นของเด็กได้ตั้งชื่อโดยใช้คำแรก ๆ ของเพลงนั้น ๆ เป็นชื่อเพลง  เพลงที่มีอนุภาคทางภาษาต่างกันไป ก็นับเป็นอีกสำนวนเพลงหนึ่ง 
 ตัวอย่าง
 แกว่งแขน

 แกว่งแขนเสีย จะด่วนไปไร่ ลูกร้องไห้ ด่วนไปก็ด่วนมา
    วิทยากร : ด.ญ.นันทพร  ปิ่นพุทธศิลป์ อายุ ๑๐ ปี ๑๗๗ หมู่ ๑ เทพกระษัตรี ถลาง ภูเก็ต
    ผู้บันทึก  : นายสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์ เมื่อ ๖ กันยายน ๒๕๓๑
         
   ดีดดิ้ง
  ดีดดิ้งดิ้ง ติ้งน้ำอ้อย ประติถ้อย ถ้อยทอยถ้อยเรือ  แม่ยายไปไหน แม่ยายไปขายพริก 
ขายได้กี่กระติก ขายได้สองกระติก   น้ำข้นน้ำใส น้ำใส  แกงปลาหางอะไร แกงปลาหางทอง
ยกไว้บ้างไหม ยกไว้ให้ ไปไหนหมด แมวกินหมด  แมวขึ้นทางไหน ขึ้นทางซ้าย  ลงทางไหน ลงทางขวา
ตีโป้งป้างให้แม่ยายฟัง  ตีไม่ดัง ถูกทุบสามที
    วิทยากร : นายเลียบ  ชนะศึก  อายุ ๖๒ ปี  บ้านเหรียง เทพกระษัตรี ถลาง ภูเก็ต
    ผู้บันทึก  : นายสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์  เมื่อ ๖ ตุลาคม ๒๕๓๑
 เด็ก
 เด็กขี้แล้วไม่ล้างเรียกว่าเด็กขี้แก้ง ถ่ายเมื่อยามฤดูแล้งไปล้างเมื่อยามฤดูฝน
    วิทยากร : ด.ญ.นันทพร  ปิ่นพุทธศิลป์ ๑๗๗ บ้านหินรุ่ย เทพกระษัตรี ถลาง ภูเก็ต
    ผู้บันทึก : นายสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์ เมื่อ ๖ กันยายน ๒๕๓๑


 โพน

 โพนโพนโยนเล่นท่าวัง  อ้ายแก้วฉายหนังตากฟ้าตากฝน
 อ้ายสายมนชนช้างไก่เถื่อน  ไก่เถื่อนเอยมาเล่นเดือนยี่
 เดือนสิบนี้ดอกไม้เราบาน  ผัวไปไหน ผัวไปทำงาน
 ค่ำไม่รู้ชู้ไม่เห็น   จัดหมากคำหนึ่งไปตั้งหัวกระรอก
 ตอกหัวช้าง นกอีร้างเกาะหัวช้างผี นกอินทรี เกาะผีตายโหง
 กู้หวักกูแหว้ง นุ่งผ้าชายพก นุ่งผ้าชายแพง มาตำทองงู ทองงูเอยมาเล่นฝ่ายท่า
 จระเข้ร้องว่าพาลูกอาบน้ำ  พลัดตกแต่มือ พลัดตกแต่ตีน ส่องไต้มาแล
 งูคาบแค แดงนอกแดงใน  ยืมมีดไกรมาไรเส้นผม
 กรรไกรนี้ไม่คมด่าแม่ช่างเหล็ก ช่างเหล็กเอ๋ยเอาเงินทองเรามา
 ซื้อตุ๊กตาให้น้องเราเล่น  ซื้อส้มแป้นให้น้องเรากิน
 ซื้อแผ่นดินให้น้องเรานั่ง  ซื้อเสาดั้งให้น้องเราพิง
 ซื้อกระจับปิ้งให้น้องเราแขวนใส่ ซื้อแม่ไก่ให้น้องเราฟัก
 ไก่สองฝักฟักแตกสองฟอง เจี๊ยบเจี๊ยบ
    วิทยากร : นายเลียบ   ชนะศึก  อายุ  ๖๒ ปี บ้านเหรียง เทพกระษัตรี ถลาง ภูเก็ต
    ผู้บันทึก  : นายสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์  เมื่อ ๑๓ มีนาคม ๒๕๓๑                   
                                
          บทเพลงประกอบการละเล่นของเด็กส่วนใหญ่เป็นคำคล้องจอง นอกจากจะช่วยให้การละเล่นดำเนินไปได้ด้วยความสนุกสนานแล้ว  สิ่งที่ติดตัวผู้เล่นไปก็คือการปูพื้นฐานลักษณะนิสัยการเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนไปตั้งแต่วัยเด็ก

ว่ามาลัย


      ความหมายเดิมของการว่ามาลัย ก็เป็นการนำเรื่องพระมาลัยมาสวดในงานศพเพื่อให้ญาติพี่น้องจะได้คลายทุกข์เศร้าโศกจากการสูญเสียผู้ตาย     และเพื่อให้ผู้สวดอยู่เป็นเพื่อนเจ้าภาพได้นาน ๆ  หลังการสวดมาลัยจึงมีการนำเพลงมาร้องและทำท่าทางประกอบเพลง    แบ่งเป็นฝ่ายร้องโต้ตอบกัน  ในประการนี้ คงเป็นที่ชอบอกชอบใจของผู้ชม       การสวดมาลัยจึงลดหายไปเหลือเฉพาะเพลง เมื่อมีงานศพ   จึงมีการร้องเพลงซึ่งชาวภูเก็ตเรียกว่า ว่ามาลัย
      นายเลียบ  ชนะศึก อายุ ๕๕ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๑๓๙ หมู่ ๓ บ้านเหรียง ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง  จังหวัดภูเก็ต  ได้เป็นวิทยากรให้นายสมหมาย   ปิ่นพุทธศิลป์ บันทึกเสียงเมื่อวันที่
๔ กันยายน ๒๕๒๔  เกี่ยวกับการว่าเพลงมาลัย
      วิทยากรจะเล่าลำดับในการว่ามาลัย  มีการยกตัวอย่างเพลง     บางตอนก็แสดงท่าทางประกอบเพลง  จำนวนหลายเพลงเป็นเพลงที่ดัดแปลงมาจากเรื่องราวในวรรณคดี    นำมาเป็นตอน ๆ จากเรื่องสังข์ทอง พระอภัยมณี ลักษณวงศ์  จันทโครบ  สามก๊ก พระสุธนโนรา  อิเหนา  ขุนช้างขุนแผน  พระลอ  ราชาธิราช กฤษณาสอนน้อง พาลีสอนน้อง พระเวสสันดร  สุวรรณสามมโหสถ  จันทกุมาร  พระนารอด จินดามณี  แก้วปรอทรอดสุวรรณ  รามเกียรติ์  กามนิตวาสิฏฐีไกรทอง  โคบุตร  ศรีธนญชัย  ฯลฯ เช่น
หอมระรื่นชื่นใจในสวน แสนสงสาร  เวลาเช้าหนาวน้ำค้าง ขอเสียงสารา นางนกสาริ นางชี้ชวนชมช่อ นิจจ๋าเอ๋ยได้ยล   เป็นต้น
      ชาวภูเก็ตนำวรรณกรรมมาดัดแปลงว่ามาลัยเป็นการแสดงให้เห็นถึงความนิยมและการแพร่หลายของวรรณกรรมหรือวรรณคดีเรื่องนั้น ๆ

คาถาอาคม

      การที่จะทำให้ตัวเองมีความมั่นใจว่าจะพ้นภัย  มีความสำเร็จ ประสบชัยชนะ  หรือจะให้ฝ่ายตรงข้าม ไม่สามารถกระทำอันตรายใด ๆ แก่ตนได้นั้น   ผู้ประสงค์ในลักษณะอย่างนี้จะมีคาถาอาคม ซึ่งเป็นคำเสกเป่าที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์อันยังผลให้เกิดขึ้นกับผู้ใช้คาถาอาคม

      คาถาอาคมที่พบมากที่สุดในภูเก็ตได้แก่คาถาอาคมมหาเสน่ห์ รองลงไปได้แก่คาถาอาคมปัดเป่ารักษาป่วยไข้ นอกจากนี้ก็มี คาถาอาคมทำตนให้อยู่ยงคงกระพันฟันไม่เข้าปืนยิงไม่ออก การผจญศึก   การเสกข้าว เสริมพลกำลัง กันภูติผีปีศาจ เสริมความจำ กันไฟ ตาทิพย์ ค้าขายคล่อง เล่นพนัน   กันสัตว์ร้าย ให้จิตมั่นคง สะเดาะกุญแจ ชนะความ เป็นต้น
      คาถาอาคมส่วนใหญ่จะมีภาษาบาลีล้วน ที่มีข้อความภาษาไทยปนหรือขยายความจากภาษาบาลีเป็นวรรค ๆ ไปก็มีมิใช่น้อย  ที่คัดเลือกเอาไว้เป็นตัวอย่าง จะเลือกไว้เฉพาะที่มีความภาษาไทยประกอบ เป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้
 เสน่ห์
 โอม ศรีศรี   เมื่อแรกอุทัยใครเห็นหน้ากู
  รักกูยิ่งปลารักน้ำ  ใครเห็นหน้ากู
  รักกูยิ่งฤๅษีรักถ้ำ  นะเมตตา กะ จะ นะ สะ สัง ศรี
 โม มุต ติ จิต ติ สวาโย นโม พุทธายะ
    วิทยากร : นายเลียบ  ชนะศึก  อายุ ๖๒ ปี บ้านเหรียง เทพกระษัตรี ถลาง ภูเก็ต
    ผู้บันทึก :  นายสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์ เมื่อ ๑๓ เมษายน ๒๕๓๑

 เสริมลาภ
  อุศรีศรีจำเริญสุข อะสรรพทุกข์จงขาดหาย มะลาภมาอย่าขาดสาย ขอให้มีชัยสิทธิเม
    วิทยากร : นายสวาศ  ไกรเลิศ  อายุ ๖๙ ปี  บ้านฉลอง ฉลอง อำเภอเมือง ภูเก็ต
    ผู้บันทึก :  นายสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์  เมื่อ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๓๐

 มหาเมตตา
 พุทธังอย่าโกรธ ธัมมังขอโทษ สังฆังได้โปรดเอ็นดู พุทโธ พุทโธ
    วิทยากร : นายสวาศ  ไกรเลิศ  อายุ ๖๙ ปี บ้านฉลอง  ฉลอง อ.เมือง ภูเก็ต
    ผู้บันทึก  : นายสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์  เมื่อ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๓๐

 กันปืน
 นโมพุทธายะ   โมปิดโมป้องโมล้อมตัวกู  พุทธปิดพุทธป้องพุทธล้อมตัวกู ยะปิดยะป้องยะล้อมตัวกู   สรรพศัตรูขอให้วินาศสันติ
    วิทยากร : นายสวาศ  ไกรเลิศ อายุ ๖๙ ปี บ้านฉลอง ฉลอง อ.เมือง ภูเก็ต
    ผู้บันทึก : นายสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์  เมื่อ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๓๐

      การใช้คาถาอาคมต่าง ๆ  จะให้ได้ผล จำต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขอีกหลายประการ  คาถาแต่ละวรรคแต่ละตอนอาจมีการกระทำอื่นประกอบเพิ่มเติม  เช่น คาถาอาคม ๒.เสริมลาภต้องใช้น้ำชำระล้างหน้า  หน้าอกและเท้าในช่วงเวลาเช้า  เที่ยงและค่ำ  เป็นต้น  หรือคาถาอาคม ๓ มหาเมตตา  จะกระทำให้ใครเมตตาเรา  ก็ใช้คาถานั้นเสกน้ำให้ผู้ที่เราต้องการให้ความเมตตาเราเป็นผู้ดื่ม

หนังตะลุง

      ชาวภูเก็ตเรียกหนังตะลุงที่แสดงในเขตภาคใต้ฝั่งตะวันออกคือจังหวัดสุราษฎร์ธานี  นครศรีธรรมราช ชุมพร ตรัง พัทลุง หรือสงขลาว่า หนังตะลุงฝั่งตะวันออก    แล้วเรียกหนังตะลุงในจังหวัดพังงาและภูเก็ตว่า นั่งปละตก คือ หนังตะลุงฝั่งตะวันตก
      ความแตกต่างในการเชิดหนังตะลุงในปัจจุบันของทั้งสองฝั่งนั้น แตกต่างกันบางประการคือ หนังตะลุงภูเก็ตจะมีลำดับในการออกเริ่มด้วยรูปฤๅษี  หน้าน้ำ  หน้าไฟ ลิงดำลิงขาว แล้วออกรูปกาด ส่วนหนังตะลุงฝั่งตะวันออกเริ่มด้วยพระอิศวรทรงโคศุภราชแล้วออกรูปกาด ในด้านการพากย์หนังตะลุงภูเก็ตทุกตัวจะใช้เสียงภาษาถิ่น ต่างจากหนังตะลุงฝั่งตะวันออกที่ให้ตัวสำคัญเช่นพระเอก นางเอกหรือเจ้าเมือง พูดเสียงภาษากลาง
      การศึกษาวรรณกรรมมุขปาฐะในเรื่องหนังตะลุง    จะศึกษาข้อความที่นายหนังตะลุงนำมาใช้ดำเนินเรื่องตั้งแต่เริ่มต้นบทไหว้ครูไปจนแสดงเรื่อง    ข้อความในตอนต้นก่อนการแสดงเรื่องแต่ละคณะมักจะมีข้อความที่ใช้คล้าย ๆ กัน ดังตัวอย่างบทพากย์เบิกหน้า  ดังนี้
    โอม ข้าจะไหว้พระบรมอิศรา    อิศวรสมญา       โดยไสยเวทย์เวทางค์
ข้าจะไหว้พระนารายณ์เริ่มปาง    ประทมปฤษฎางค์    ภุชงค์เป็นอาสน์อาภา       
ข้าจะไหว้จัตุรพักตร์พรหมา       เสด็จทรงมหา-     สุวรรณหงส์ครรไลย 
นบบาทธิราชหัสนัย             เสด็จองค์ไอย-     เรศเอราวัณ
ไหว้ครูไหว้พระวิษณุกรรม์        ไหว้เทพเทวัน       ไหว้ท้าวผู้ทรงธรณี
อยุธยาสถาวรเปรมปรีด์         ทุกสิ่งสารพัดมี      สนุกแม้นเมืองสวรรค์
มีทั้งละครโขนประชัน     เชิดชูกลางวัน      วิจิตรด้วยเครื่องแต่งกาย
ราตรีรัศมีเพลิงพราย           หนังงามลวดลาย    กระหนกกระหนาบคาบบาญ
เป็นที่ประชาชนชื่นบาน          แห่งทัศนาการ      สำราญยินดีปรีดา
ครั้นย่ำพระสุริยนสนธยา         ศุภฤกษ์เวลา       พิชัยฤกษ์เบิกบน
เบิกโขนเบิกทวารโดยฉล        แต่งตั้งกำนล        บายศรีทั้งสองซ้ายขวา
บัดพลีพลีกรรมเทวา            ขอองค์ลงมา        รับเครื่องอภิวันทน์
แล้วจุดเทียนชัยโดยพลัน         จบสิโรจน์ภิวันทน์    แล้วติดที่ปลายศรชัย
พลโห่ขานโห่หวั่นไหว           ปี่แก้วจับใจ         ตะโพนและกลองฆ้องขาน
ผู้พากย์ผู้เชิดชำนาญ            ชำนิในการ         ละเล่นให้เป็นขวัญตาชน
โอม ฤกษ์เบิกฟ้าดินดล          ศักดิ์สิทธิฤทธิรณ     รูปหนังจำหลักลักษณา
รูปยักษ์ล้วนยักษ์รักษา           พาณเรศล้วนพา-    หุลีประจำสำแดง
สมุนโรงโหงพรายร้ายแรง       เดชะพระแผลง     ผลาญพวกศัตรูหมู่พาล
ฉวยชิงทิ้งขว้างกลางงาน       ตีหนังจังฑาล       ให้ต้องอุบาทว์ขาดใจ
ตั้งกรรมทำอย่างลิงไพร         มัดตัวชั่วไป         เป็นฤกษ์บำราบปราบตา
ผู้ใดใจร้ายริษยา               ให้ต้องราชอาชญา   เหมือนลิงทโมนโลนลาม
เชิญท่านดูหนังฟังความ     มาเราจะเล่นเรื่องราม-   เกียรติยศให้เกิดสวัสดี
เร่งเร็วท่านนายไต้ศรี      ฉายแสงมาซึ่งแสงอัคคี    ส่องไฟขึ้นให้ดี
สองภูมีท่านจะแผลงเดชให้จบจักวาฬ
    วิทยากร : นายสวาศ  ไกรศรี  อายุ ๖๙ ปี บ้านฉลอง ฉลอง อำเภอเมือง ภูเก็ต
    ผู้บันทึก : นายสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์  เมื่อ ๒๓ กันยายน ๒๕๓๐

นิทาน


 นิทานเทพนิยาย เช่นเรื่องเมขลากับรามสูร
      นิทานปรัมปรา เช่นเรื่องคนอายุ ๘๐๐ ปี  เจ้าชายแฝด   เจ้าตัวเหตุ   ตากับยายถางไร่ป่าโคก   นกกาเหว่า  นกโกเหวย  นกตีไหนแม่ไก่   นางบัวโทน   นางแมวป่า   นางอุทัย   ปลาช่อนท่อนเดียว   ยายกับตา   ลิงกับแมว   ลูกเขยเจ้าเมือง  ลูกพระอินทร์ให้    ลูกพีเป็นเหตุ   วรวงศ์   สมภารสิน สมภารคง     สองตายาย หรือ เสกมะม่วง เป็นต้น
      นิทานตำนาน เช่น  เจ้าแม่หลักเมือง   โนราพลัดบ่อ    บ่อเลื่อน    บ้านเขาขาด    พระผุด    เมืองกระบี่      วัดพระทอง หรือพระนางเลือดขาววัดพระนางส้ราง
      นิทานคติ  การศึกษาเรื่องนี้น่าจะมีปัญหา หากถือว่า นิทานทุกเรื่องนอกจากจะให้ความบันเทิงแล้วย่อมให้คติแก่ผู้ฟังได้ทั้งสิ้น  เรื่องที่จัดว่าเป็นวรรณคดีด้วยแล้ว การสอนหรือคติที่ซ่อนเร้นในนิทานที่เป็นวรรณคดีนั้นก็ลึกซึ้ง    เรี่องฤๅษีปล่อยลิง หากดูผิวเผินก็จัดเป็นนิทานชีวิตก็ได้   นิทานปรัมปราก็ได้        แต่เมื่อพิจารณาเรื่องตอนจบก็พบว่าสามารถนำไปเป็นคติของผู้ปกครองได้   ส่วนเรื่องขี่ช้างจับตั๊กแตนและเรื่องคนขายถั่ว มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่าต้องการให้เป็นเรื่องนิทานคติ
      นิทานชีวิต   การจัดนิทานเข้าประเภทนี้ก็มีปัญหาอีกไม่ใช่น้อย เพราะเรื่องใดที่จัดเป็นคติได้ เรื่องนั้นก็จัดเป็นนิทานชีวิตได้ นิทานที่เป็นเรื่องประเภทปรัมปราก็จัดเป็นนิทานชีวิตทั้งสิ้น     แต่เพื่อมิให้ปะปนกับนิทานปรัมปรา    นิทานชีวิตก็ต้องมีเอกลักษณ์ของตนเอง คือเป็นเรื่องราวชีวิตของคนที่คนสามารถปฏิบัติได้    ผลที่เกิดจากความเชื่อมีปรากฏหรือพิสูจน์ได้ง่าย ๆ ว่าเป็นเช่นนั้นได้จริง ไม่มีอภินิหาร  เช่น   กบแปลงเป็นคน  คนเหาะได้ด้วยแขนขาของตัวเอง  ตัดหัวไปฝากไว้ที่สัตว์อื่นหรืออะไรทำนองนี้แล้ว  จัดไว้เป็นประเภทนิทานชีวิต นิทานในภูเก็ตมีดังนี้ เช่น   ขี้เดินได้  ขี้หกเป็นจริง   คนโกหก   คนขี้ขลาดตาขาว    คนขี้ลืม   คนจีนบ้าลูกสาว    คนฉลาดกับคนปัญญา    ค่าของคน  เงินเหรียญเดียว  จับหมีด้วยร่ม  เจ้าบ่าวอาสา    ชงชา   เชิงชายขี้บนหลังเต่า    นายแท่นเลือกคู่     บุตรกตัญญู     ปากเป็นเอก    พระชอบผู้หญิงมหาโจรกับมหาจารย์  ยูโซะ   ราชาหัวตุ้ง     ลูกเขยกับขี้เอง    ลูกศิษย์คิดล้างครู    ส่งผีหัวล้าน     สามเกลอ     สาวขี้คร้าน    สิบบาทบาทหนึ่ง หรือ   หกสหาย เป็นต้น
      นิทานวีรบุรุษ ที่สมหมาย   ปิ่นพุทธศิลป์จัดพิมพ์ไว้ในเอกสารวรรณกรรมท้องถิ่น
ภูเก็ต ไม่มีนิทานประเภทนี้   แต่ทั้งนี้มิใช่ว่านิทานประเภทนี้จะไม่มี เพราะในหมู่บ้านหลายหมู่บ้าน
มีประวัติของบุคคลที่ชาวบ้านยกให้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน   สามารถเชิญมาเข้าทรง   เช่น พ่อท่านบุญยงที่บ้านดอน     พ่อท่านหนังเสือที่บ้านในยาง     หรือเกร็ดประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับท้าวเทพกระษัตรี   ท้าวศรีสุนทร และบุคคลต่าง ๆ ในผีถลางอันเป็นผีตายายที่ชาวถลางบางสายสกุลเคารพนับถืออยู่เป็นต้น
      นิทานอธิบายเหตุ  เช่น ขวัญข้าว ขอพรพระอิศวร  ดาวลูกไก่   ต้นแมงลัก   ทำไมคนจึงต้องเกี่ยวข้าว   ทำไมม้าจึงร้องฮี้และวัวจึงร้องมอ   ทำไมสุนัขกับแมวจึงเป็นศัตรูกัน   ทุเรียน     นกกาเหว่า   แผ่นดินไหว   พระเจ้าผิดพลาด     พระภูมิเจ้าที่    แพะรับบาป   มดแดง   เมขลากับรามสูร   ยักษ์ปักหลาว    ศรีธนญซ้อง     ศรีธนญชัย     เหตุที่ควายมีแต่ฟันข้างใต้ เป็นต้น
      นิทานตลก  เช่น     ฉุดโฉ่งทำพิษ   ชุดโซ้งพ่นพิษ   ตอดอง     ตัวบุญ   ตาเถรยายชี  ทั้งเจ็บทั้งเหม็น  ยักษ์กับเย็ก  ร้ายกว่าเสือเหนือกว่ายุงหรือสัตว์ประหลาดเป็นต้น
      นิทานสัตว์ เช่นเรื่อง  งูเหลือม     จระเข้กับลิง    ช้างรบกันหนอ ช้างลูกอ่อน     เต่ากับลิง     เสือ   เสือกลัวไอ้นั่น  เสือพึ่งป่าหรือหมาป่าอวดหาญ เป็นต้น
     นิทานเข้าแบบ เช่นเรื่องนิทานโกหก และ  ไม่รู้จบ
     ประเภทนิทานปริศนา  เช่นเรื่องตากับยายถางป่าไร่โคก หรือ    สามพี่น้อง
     ประเภทนิทานภูติผี   เช่นเรื่องผีกะ   ผีนางนาก   ผีสัตว์ป่า    ผีหลังกลวง    ผีไอ้คอกับผีไอ้คาง   มากับอะไรก็ไปกับสิ่งนั้น หรือเสือสางรางโกง เป็นต้น

วรรณกรรมพื้นบ้านภูเก็ตประเภทลายลักษณ์

 วรรณกรรมที่เป็นเรื่องหนังตะลุง  ว่ามาลัย  หรือนิทาน มีจำนวนไม่น้อยที่ผู้ประพันธ์นิรนามได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร    ทั้งนี้อาจจะเป็นไปได้ที่ผู้ประพันธ์คิดสรรค์สร้างตามจินตนาการของตนแล้วบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้ใช้นำเอาไปใช้เป็นมุขปาฐะสืบต่อกันมา    และจากที่เล่าสืบ ๆ ต่อกันมาอันเป็นมุขปาฐะนั้น  ผู้มีความสามารถในการบันทึกได้บันทึกจากเรื่องราวที่เป็นมุขปาฐะไปเป็นวรรณกรรมลายลักษณ์
      วรรณกรรมประเภทลายลักษณ์ในจังหวัดภูเก็ต ปรากฏอยู่บนกระดาษในลักษณะที่เรียกชื่อต่างกัน คือ  สมุดจีน  สมุดฝรั่ง  บุดขาว บุดดำ บุดช้างน้อย หนังสือข่อย สมุดข่อย เป็นต้น ปรากฏอยู่บนหินตามสุสานต่าง ๆ     ปรากฏบนผิวหนังของคนในลักษณะการสัก  ปรากฏบนแผ่นผ้าเช่นยันต์ ปรากฏอยู่บนใบไม้เช่นใบลาน     ปรากฏอยู่บนโลหะเช่นบนมีดดาบ ปืน เหรียญ เป็นต้น
      กรรมวิธีในการบันทึก  ก็เป็นไปตามวัตถุที่เป็นที่รองรับลายลักษณ์ เช่น จารบนสมุดข่อยหรือใบลาน  แกะสลักบนไม้หรือโลหะ เขึยนบนแผ่นผ้า สักบนผิวหนัง พิมพ์บนกระดาษและผ้าจารึกลงบนแผ่นหิน เป็นต้น
      ความหลากหลายของวรรณกรรมประเภทลายลักษณ์ที่ปรากฏบนวัตถุต่าง ๆ       ล้วนเป็นเรื่องที่น่าสนใจควรแก่การศึกษาค้นคว้า    ในแต่ละรายการของวัตถุที่รองรับลายลักษณ์ยังสามารถจำแนกเรื่องปลีกย่อยลงได้อีก เช่นการพิมพ์ลงบนกระดาษชนิดที่เป็นแผ่นปลิว  จะเป็นแผ่นโฆษณาสินค้า  โฆษณาภาพยนตร์  บัตรการ์ดเลี้ยงน้ำชา  แต่งงาน บวชนาค งานศพหรือวันสำคัญ หรือใบเซียมซีที่อ๊ามและในวัด  ก็มีให้ศึกษา โดยเฉพาะใบเซียมซีก็มีทั้งภาษาไทยและภาษาจีน ใบเซียมซีที่เป็นภาษาไทยก็กล่าวถึงวรรณกรรมหลากหลาย  ในใบเซียมซีภาษาจีนก็กล่าวถึงบุคคลหรือเทพจำนวนมากตามความเชื่อในคตินิยมของชาวจีนก็คงจะต้องใช้  กำลังสติปัญญาของผู้ใฝ่ศึกษาอีกจำนวนมาก     แต่ละรายการย่อยก็ต้องใช้เวลาไม่น้อยทีเดียวกว่าจะเสนอผลงานเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้
      วรรณกรรมลายลักษณ์ที่ปรากฏบนกระดาษในกลุ่มที่เรียกว่าสมุดจีน  สมุดฝรั่ง สมุดข่อยอย่างน้อยก็มี ๓ ภาษา คือ  ภาษาจีน  ภาษาไทยและอักษรขอม  เท่าที่หอวัฒนธรรมภูเก็จได้เก็บรวบรวมรักษาไว้ก็มีจำนวน ๓๒๑ รายการ ส่วนใหญ่จะไม่สมบูรณ์
      วรรณกรรมลายลักษณ์ที่ปรากฏในกลุ่มหนังสือบุดมีเรื่องดังต่อไปนี้ คือ
      กฎหมาย   กองบุญในรอยกรรม   กายนคร  การใช้อักขระไทย  การวิโสฎ  เกศสุริยง ขันธวิภังคินี  คาถาอาคม  คาวี  คำสอน โคบุตร ชาดก จันทกินนร จันทคาด จันทวง จิตทกุมาร ณรินทุมราช    ตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราช  ตำรายา  ตำราทายลักษณะหญิง  ตำราเรียน  ท้าว จิตราช ท้าวจิตตรา ท้าวชมพูบรรพชา ท้าวปักกา  ธรรมมุณีจินดา นกกระจาบนรก นรินทร์ทุม นาง สัปรดน  นางสิบสอง  นางอุไท  นิภารณ์โสรต บุญสารอด ประทุมเกสอน ปริมัตถ์ ปลาบู่ทอง โปชนก  พระกายโสด  พระเจ้าพรหมทัต  พระเจ้าห้าองค์ พระธรรม พระนิพพานสูตร พระปทุม พระพิมพา  พระพุทธประวัติ  พระมาลัย  พระโมคลาร พระยศวงค์   พระยากานุสาต พระ วรวงศ์ พระวิสุทธิมัตร  พระสมุด  พระสมุทรโคดม พระสมุทรสุบิน   พระสมุทรอุบล     พระสามฤดู พระสีวรวงค์   พระสี่เสา   พระสุบิน   พระสุวรรณสิน  พระสูตรสังคหะ พระอรหรรตาขีนาสพ พลิวัน   พิมพาแจ้งชาติ   พุตทัต   ภรมจาหรี   ภระพุทโกสา   ภระยาฉัตทัน ภานอนสอนพยา ภิชัยสงครามยามเดิน   มโนรา   มหาราช  โม่งป่า  รามเกียรติ์  วงเวียนกรรม วงษ์สวรรค์ วรเนด วรวง วรสุนทมาลา  ลักษณาวงค์  ลายแทงสัจจา ศึกชิงนางวรพิร สิงหไกร สิงหไตรภพ สินประสาด   สีนลาเลือนหัวสิบสองนักษัตร  สีการเกด  สีทนนไชย  สีลหาพระบริมัษ สีสุวัน สุภาษิต  สุวรรณรัตน์  เสือโค  โสกคราด ห้วงฤกษ์   หาเหตุ  โหราศาสตร์  โหราศาสตร์  อังคาน พญากรูด  และอินทรีย์ ๕

บรรณานุกรม


สมใจ  จิตวารินทร์ ปริศนาคำทายจากบ้านดอน ศูนย์วัฒนธรรมวิทยาลัยครูภูเก็ต ๒๕๒๘, ๑๐ หน้า   อัดสำเนา
สมปราชญ์ อัมมะพันธ์   ศาสตรา  วิทยาลัยครูภูเก็ต  ๒๕๒๐,  ๖๓ หน้า  อัดสำเนา
สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์  ปริวรรต  “ปริศนาลายลักษณ์” ใน ภูธร   ปีที่ ๑๓  ฉบับที่ ๘๕๖  เดือน
 กันยายน  ๒๕๓๐   ถึงปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๘๘๔  วันที่ ๕ - ๙ มีนาคม ๒๕๓๑
_______   ปริวรรตและวิจารณ์   “พระอภัยมณีฉบับตำบลป่าตอง” ใน   ๒๐๐ ปีรัตนกวีสุนทรภู่
    พิมพ์ครั้งที่ ๒    หน้า ๕๖-๘๘   องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต  ๒๕๓๐,  ๑๔๖ หน้า
_______   ปริวรรตและวิจารณ์    พาลีสอนน้อง  ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมวิทยาลัยครูภูเก็ต ๒๕๓๐, หน้า   อัดสำเนา                       
_______   ปริวรรต   พิเภกสอนบุตร   กลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ ๒๕๒๙, ๘ หน้า
_______   รองเง็ง   ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต   ๒๕๒๔,  ๒ หน้า  อัดสำเนา
_______   ร้อยเพลงพื้นบ้านถิ่นภูเก็ต   ศูนย์วัฒนธรรมวิทยาลัยครูภูเก็ต   ๒๕๒๔,  ๑๐๓ หน้า อัดสำเนา
_______   ลักษณะคำประพันธ์ในหนังสือบุด    ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมวิทยาลัยครูภูเก็ต ๒๕๒๘, ๒๗ หน้า   อัดสำเนา
_______   ปริวรรตและวิจารณ์    สวัสดิรักษาฉบับตำบลฉลอง    พิมพ์ครั้งที่ ๒    องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต  
 ๒๕๓๐,  ๒๔ หน้า
_______   อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ภูเก็ต     กลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ    ๒๕๓๒, ๑๐๑ หน้า   อัดสำเนา
สมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์  และนาวี  ถิ่นสาคู   ปริศนาคำทายจากบ้านในทอน   วิทยาลัยครูภูเก็ต
    ๒๕๒๒,   ๙ หน้า   อัดสำเนา 
สมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์  และรำพึง จันทรสุข  ปริศนาคำทายจากบ้านบางเทา  วิทยาลัยครูภูเก็ต
    ๒๕๒๑,  ๘ หน้า  อัดสำเนา
สมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์  และสุดาพร หลาวหล้าง ปริศนาคำทายจากบ้านบางม่าเหลา วิทยาลัยครู
    ภูเก็ต  ๒๕๒๑, ๗ หน้า  อัดสำเนา
สิทธิพร  พิพัฒน์   ปริศนาคำทายจากบ้านลิพอนบ่อแร่ ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต ๒๕๒๕, ๒๗ หน้า   อัดสำเนา
อมรา  พงษ์ปัญญา   และสมหมาย   ปิ่นพุทธศิลป์   ปริวรรตและวิจารณ์    ปลาบู่ทองคำกาพย์
    ศูนย์วัฒนธรรมวิทยาลัยครูภูเก็ต  ๒๕๒๔,  ๕๓ หน้า
อัครา  บุญทิพย์  ปริวรรตและวิจารณ์    หาเหตุ     ศูนย์วัฒนธรรมวิทยาลัยครูภูเก็ต   ๒๕๒๔, ๒๔ หน้า   อัดสำเนา

 

ผศ.สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์

อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปเพื่ออ่านมันได้