อุโมงค์เหมืองใต้ดิน
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อาทิตย์, 17 ตุลาคม 2010

เหมืองใต้ดิน

Clip ช่วยนงานหมือในชิลี

Clip เหมืองอุโมงค์ เหมืองใต้ดิน เหมืองทองคำ กว่าจะได้ทองคำ

 

แซ่ซ้องกู้ชีวิต 33 คนงานเหมืองชิลีสำเร็จ

วันพฤหัสบดี ที่ 14 ตุลาคม 2553 เวลา 7:55 น

โลกแซ่ซ้องกู้ชีวิต 33 คนงานติดเหมืองชิลีสำเร็จ เผยใช้เวลา22ชั่วโมงเศษ หลังติดค้างอยู่ใต้ดินลึก 625 เมตรมาราธอน 69 วัน

วันนี้ (14 ต.ค.) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเหมืองทองคำและทองแดงซานโฮเซ่ ในทะเลทรายอาทาคามาของเมืองโกปิอาโป ทางเหนือของชิลี ว่า ในที่สุดเจ้าหน้าที่สามารถช่วยคนงานเหมืองทั้ง 33  รายขึ้นมาจากใต้ดินได้สำเร็จเมื่อเวลา 07.55น. ตามเวลาประเทศไทย เมื่อ นายลูอิส อูร์ซัว วัย 54 ปี โผล่พ้นผิวพื้นดินท่ามกลางเสียงปรบมืออย่างกึกก้องโดยใช้เวลาทั้งหมด22ชั่วโมงเศษซึ่งเร็วกว่าที่วางแผนไว้ หลังจากใช้ชีวิตอยู่รอดในพื้นที่แคบและมืดมานานเกือบ 10 สัปดาห์ได้ราวปาฏิหาริย์ ท่ามกลางการเอาใจช่วยของผู้คนทั่วโลกที่เฝ้าติดตามการถ่ายทอดสดจากสื่อต่าง ๆ

โดยคนงานเหมืองรายแรกจากทั้งหมด 33 คนที่ติดค้างอยู่ใต้ดินในระดับความลึก 625 เมตร (2,050 ฟุต) มานานถึง 69 วัน จากดินถล่มปิดทางเข้าออก ได้รับการช่วยเหลือขึ้นสู่พื้นผิวเป็นผลสำเร็จในปฏิบัติการกู้ภัยครั้งประวัติศาสตร์เมื่อ 10.11 น.ของเช้าวันพุธตามเวลาในไทย  ด้วยความดีใจของชาวชิลีทั่วประเทศ และการเกาะติดรายงานข่าวนี้ของกองทัพนักข่าวราว 1,000 คน มีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ข่าวทั่วโลก เช่น ซีเอ็นเอ็น และบีบีซี ตลอดจนสถานีภาคภาษาอังกฤษของอัลจาซีรา ไปยังหลายประเทศเช่น นครนิวยอร์กของสหรัฐ   เมืองซิดนีย์ในออสเตรเลีย  กรุงลอนดอนของอังกฤษ และกรุงโตเกียวในญี่ปุ่น  ขณะเดียวกัน ผู้คนทั่วเอเชียไม่ว่าจะเป็นประชาชนในสิงคโปร์  เกาหลีใต้  ไทยหรือเวียดนาม ต่างร่วมยินดีและตื่นเต้นไปกับข่าวคนงานเหมืองรายแรกได้รับการช่วยเหลือขึ้นมาได้แล้ว

ประธานาธิบดีปิเนร่า ซึ่งสั่งปรับปรุงกฎระเบียบความปลอดภัยของเหมืองในชิลีขนานใหญ่  กล่าวว่า ปฏิบัติการกู้ภัยครั้งนี้ ไม่มีประวัติศาสตร์ครั้งใดของมนุษยชาติที่นำมาเปรียบเทียบได้   และผู้คนทั่วประเทศ ก็ได้เรียนรู้คุณค่าแห่งความศรัทธาและความหวังจากกลุ่มคนงานเหมืองเหล่านี้   สำหรับปฏิบัติการกู้ภัยคนงานเหมืองชิลียังดำเนินต่อไป คาดว่า จะต้องใช้เวลาถึง 48 ชั่วโมงหรือ 2 วันในการนำคนงานเหมืองรายสุดท้ายขึ้นมา เพราะการนำคนงานเหมืองขึ้นมาทีละคนนั้น  ต้องใช้เวลาประมาณ 15 -20 นาที เนื่องจากแคปซูลสามารถเดินทางได้ประมาณ 1 เมตรต่อวินาที หรือสามารถเร่งความเร็วได้เป็น 3 เมตรต่อวินาที หากคนงานเหมืองที่อยู่ในแคปซูลประสบปัญหา
   
อย่างไรก็ตาม  คนงานเหมืองยังสามารถติดต่อสื่อสารกับทีมกู้ภัยด้วยการใช้อินเตอร์คอมในแคปซูล แต่หลังจากขึ้นมาสู่พื้นผิวแล้ว พวกเขาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ที่โรงพยาบาลอีก 2 วัน   สำหรับการช่วยเหลือคนงานเหมืองแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีร่างกายแข็งแรงที่สุด  ตามมาด้วยคนที่ป่วยเป็นโรคต่างๆ  เช่น ความดันโลหิตสูง หรือโรคปอด ส่วนสุดท้าย คือผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงอีกกลุ่ม  นอกจากนี้ มีคำเตือนจากจิตแพทย์ที่บอกว่า คนงานเหมืองที่ติดอยู่ใต้ดินมานานกว่า 2 เดือน จะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป และอาจประสบปัญหาในการกลับคืนสู่ชีวิตปกติ

ส่วนประธานาธิบดีบารัค  โอบามา แห่งสหรัฐ ออกแถลงการณ์ที่กรุงวอชิงตันว่า เขาติดตามสถานการณ์ของคนงานเหมือง 33 รายในชิลีอย่างใกล้ชิด และตามความคิดของเขาเชื่อว่า มีการสวดมนต์ให้แก่คนงานเหมือง และครอบครัวของพวกเขา   รวมถึงทีมกู้ภัยที่ทำงานอย่างหนัก เพื่อช่วยเหลือคนงานเหมืองเหล่านี้ขึ้นมาอย่างปลอดภัย    ขณะที่  สถานทูตชิลีในสหรัฐ  มีการติดตั้งวิดีโอถ่ายทอดสดปฏิบัติการกู้ภัย  แม้กระทั่งประธานาธิบดีฮิวโก ชาเวซ  ผู้นำเวเนซุเอล่า ยังใช้บล็อกของตนเองในอินเทอร์เน็ต ส่งความปรารถนาดีไปยังทีมกู้ภัยและคนงานเหมือง

นอกจากนี้ ยังเกิดความชุลมุนวุ่นวายและเบียดเสียดของกลุ่มนักข่าวที่พยายามเข้าไปสัมภาษณ์พ่อของนายอวาลอส ถึงความรู้สึกที่ลูกชายขึ้นจากใต้ดินเป็นคนแรก  ทว่าเหตุการณ์กลับเลวร้ายเมื่อนักข่าวต่างแย่งกันที่จะเป็นคนแรกที่ได้สัมภาษณ์เครือญาติของคนงานเหมือง โดยมีการจิกทึ้งดึงผม และชกต่อยกันเพื่อแย่งกันทำข่าว ทำให้นางมาเรีย  แม่ของนายอวาลอส  ไม่พอใจมาก จึงคว้าธงชาติชิลีที่อยู่ใกล้ตัวเธอไล่ฟาดนักข่าวเหล่านั้นออกไป

แต่ฝูงนักข่าวยังทำลายข้าวของกันต่อ จนในที่สุดเต็นที่พักของพวกเขาก็พังลงมา  โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย ที่มองเห็นเหตุการณ์ไม่ได้เข้าห้ามปราม สุดท้ายม็อบสื่อก็ได้สลายตัวไป เหตุการณ์ครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงแรงกดดันของสื่อที่มีต่อคนงานเหมือง 33 คน ซึ่งกลายเป็นบุคคลสำคัญของประเทศ และเป็นที่รู้จักโด่งดังไปทั่วโลก
    
ในส่วนของประเทศไทย ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับช่วยเหลือคนงานเหมืองครั้งนี้ด้วย โดยผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดอุบลราชธานีรายงานว่า ได้เดินทางไปพบกับนายวีรโชติ  นาสารีย์  นายก อบต.ท่าไห อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี  ซึ่งเป็นพ่อของนายวชิระพงษ์   นาสารีย์ ช่างเทคนิคชาวไทยทีมช่วยเหลือ  ซึ่งนายวีรโชติ กล่าวว่ารู้สึกยินดีและปลื้มใจที่ลูกชายได้เดินทางไปเหมือนเป็นตัวแทนประเทศไทยไปในทีมช่วยเหลือคนงานเหมือง ทองและทองแดง ที่ประเทศชิลีในครั้งนี้  และตนเองได้ให้กำลังใจแก่ลูกชาย และฝากถึงลูกชายให้ทำหน้าที่ดีที่สุดตามที่ได้รับมอบหมาย

นายวีรโชติ กล่าวว่านายวชิระพงษ์ เป็นลูกชายคนโต ในจำนวน 3 คนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี วิชาเอกฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจังหวัดอุบลราชธานี และไปสมัครทำงาน และศึกษาต่อเพิ่มเติมความรู้ด้านช่างควบคู่กับการทำงาน  ในส่วนอุปนิสัยเป็นคนไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ก่อนเดินทางไปที่ชิลินายวชิระพงษ์ ได้โทรศัพท์แจ้งให้ตนเองทราบ ซึ่งได้ให้กำลังใจก่อนเดินทาง ซึ่งการช่วยเหลือสามารถดำเนินการประสบผลสำเร็จตนเองในฐานะผู้เป็นพ่อมีความดีใจและภูมิใจในตัวลูกชาย ที่ได้ร่วมทีมปฏิบัติการช่วยเหลือเสมือนเป็นตัวแทนนำชื่อเสียงกลับมาสู่ประเทศไทย

ทางด้านนางกนกนาถ เกษมพันธ์ เพื่อนบ้านท่าไห อ.เขื่องใน กล่าวว่า ชาวท่าไห อ.เขื่องใน มีความภูมิใจที่นายวชิระพงษ์ ลูกบ้านท่าไหได้ใช้ความรู้ความสามารถ จนได้รับการพิจารณาคัดเลือกร่วมทีมในการช่วยเหลือชาวชิลีที่เดือดร้อน  ถือเป็นตัวแทนของประเทศไทยในทีมกู้ภัยนี้ซึ่งชาวท่าไห ทุกคนทราบข่าวต่างภาคภูมิใจ.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=5&contentID=97732

 

ฉลองกู้33คนงานเหมืองชิลีแบบราบรื่น 

 

ทีมกู้ภัยได้นำตัวนายลูอิส เออร์ชัว หัวหน้าคนงานเหมือง วัย 54 และเป็นผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์เหมืองถล่มเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม คนสุดท้าย ขึ้นจากอุโมงค์ใต้ดินเมื่อเวลา 21.55 น.วันพฤหัสบดี (14 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่นชิลี ซึ่งตรงกับเวลา 08.55 น.ในประเทศไทย รวมใช้เวลาในปฏิบัติการนำตัวคนงานทั้ง 33 คนขึ้นจากอุโมงค์ใต้ดินที่ความลึก 622 เมตร เพียง 22 ชั่วโมง น้อยกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ถึง 26 ชั่วโมง

 นายลูอิส เออร์ชัว ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำที่ได้ช่วยชีวิตคนงานเหมืองทั้งหมดที่เผชิญวิกฤติใต้ดินในช่วง 17 วันแรกที่ไม่สามารถติดต่อกับโลกภายนอก และเป็นผู้กำหนดการใช้เสบียงฉุกเฉินที่มีสำรองอยู่ในอุโมงค์นิรภัยใต้ดินแบ่งปันสำหรับคนงานเหมืองทั้ง 33 คน โดยกำหนดให้คนงานแต่ละคนรับประทานขนมปังกรอบและปลาทูน่าที่เป็นอาหารสำรองซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดทุก 48 ชั่วโมง ทำให้คนงานเหมืองทั้งหมดสามารถรอดชีวิตได้นานถึง 17 วัน ก่อนที่หน่วยกู้ภัยจะเจาะอุโมงค์สำรวจมาถึงยังพื้นที่ซึ่งพวกเขาอาศัยอยู่

 หลังจากได้รับการช่วยเหลือขึ้นมาบนพื้นดิน นายเออร์ชัวได้กล่าวต่อประธานาธิบดีเซบาสเตียน ปิเนรา ที่รอต้อนรับคนงานเหมืองทั้งหมด ณ ที่เกิดเหตุ ว่า "พวกเราได้บรรลุถึงสิ่งที่ทั้งโลกตั้งตาคอย ตลอด 70 วันที่เราได้ต่อสู้อย่างหนักและไม่ยอมแพ้ เรามีแต่ความแข็งแกร่ง เรามีจิตวิญญาณ เราต้องการที่จะสู้ เราต้องการที่จะสู้เพื่อครอบครัวของเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด"

 ขณะที่ครอบครัวคนงานที่ปักหลักรออยู่ในแคมป์โฮปในบริเวณเหมืองซานโฮเซ ร่วมกันปล่อยลูกโป่ง 33 ใบขึ้นสู่ท้องฟ้าทันทีที่เห็นลูอิส เออร์ชัว ซึ่งเป็นการสิ้นสุดการรอคอยอันยาวนานและเต็มไปด้วยความวิตกกังวล ครอบครัวของคนงานร่วมกันส่งเสียงตะโกนด้วยความดีใจพร้อมกับใบหน้าที่มีทั้งรอยยิ้มและน้ำตาแห่งความปลื้มปีติยินดี มีการโบกธงชาติ สวมกอด สาดแชมเปญ และเต้นรำกันอย่างคึกคัก

 นอกจากนี้ บรรยากาศการเฉลิมฉลองยังมีให้เห็นทุกที่ในชิลี รวมถึงในเมืองโคปิอาโป ที่ชาวบ้านเกือบ 3,000 คนมารวมตัวกันที่จตุรัสใจกลางเมืองเพื่อชมการถ่ายทอดสดการช่วยเหลือคนงาน ต่างโบกธงชาติและเป่าวูวูเซลาด้วยความยินดี ในหลายเมืองรวมถึงกรุงซานติอาโก้ รถยนต์หลายคันบีบแตร และคนขับรถส่งเสียงตะโกน "ชิลีจงเจริญ" 
 
คนงานเหมืองอดีตนักบอลทีมชาติโชว์เดาะบอล

 นายแฟรงกลิน โลโบส อดีตนักฟุตบอลทีมชาติชิลี วัย 53 ปี คนงานเหมืองที่ได้รับการช่วยเหลือเป็นคนที่ 28 ได้แสดงทักษะของนักฟุตบอลด้วยการเดาะฟุตบอลด้วยเท้าและเข่าเป็นช่วงสั้นๆ เมื่อวันพุธ หลังจากก้าวออกจากแคปซูล "ฟีนิกซ์" เขาสวมกอดญาติ และประธานาธิบดีปิเนรา ที่รอรับอยู่ นายโลโบสเป็นคนเดียวในชาวเหมือง 33 คน ที่ชาวชิลีรู้จักเป็นอย่างดีก่อนหน้าจะเกิดเหตุร้ายครั้งนี้ เพราะเขาเคยเป็นนักฟุตบอลทีมชาติชิลี ที่ผ่านเข้าไปเล่นในการแข่งขันรอบสุดท้ายที่ "ลอสแองเจลิส โอลิมปิก" ปี 2527

 นายโลโบสทำงานเป็นคนขับรถบรรทุกที่พาคนงานเหมืองเข้าและออกจากเหมือง เขากำลังอยู่ในเหมืองกับคนงานที่เขาขับเข้าไปตอนที่เกิดเหตุเหมืองถล่ม โชคดีไม่มีใครตาย แต่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกนาน 17 วันกว่าที่โลกจะรู้ว่าพวกเขายังมีชีวิตอยู่ 

22 ชั่วโมงแห่งความหวัง

 เจ้าหน้าที่กู้ภัยเริ่มช่วยคนงานเหมืองคนแรกขึ้นมาได้เมื่อเวลา 00.11 น.เมื่อวันพุธตามเวลาท้องถิ่น ตรงกับเวลา 10.11 น.ในประเทศไทย คือนาย ฟลอเรนซิโอ อวาลอส ผู้ออกมากอดบุตรชายวัย 7 ขวบกับภรรยา และประธานาธิบดีปิเนรา ที่มารอต้อนรับอยู่

 ก่อนหน้านี้มีการคาดกันว่าปฏิบัติการกู้ภัยจะสามารถนำตัวผู้ประสบภัยขึ้นมาจากใต้ดินในช่วงปลายเดือนธันวาคม โดยพิจารณาจากปัจจัยด้านการขุดเจาะอุโมงค์กู้ภัยที่ต้องใช้เวลานาน แต่เมื่อผู้เชี่ยวชาญด้านการทำเหมืองจากเยอรมนีและสหรัฐจัดหาอุปกรณ์การขุดเจาะมาช่วยเหลือ ทำให้ปฏิบัติการกู้ภัยเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และถูกจารึกในประวัติศาสตร์ของการกู้ภัยช่วยเหลือคนงานเหมืองจำนวนมากที่ติดอยู่ในความลึก 622 เมตรได้สำเร็จ ปฏิบัติการดังกล่าวยังนำมาซึ่งความภาคภูมิใจและความรักชาติของชาวชิลีอีกด้วย

 คนงานเหมืองทั้งหมดมีสุขภาพดีกว่าที่คาดไว้ แม้จะติดอยู่ในเหมืองใต้ดินถึง 69 วัน ทั้งที่หลังเกิดเหตุไม่นานมีการคาดหมายว่าคนงานเหมืองทั้งหมดเสียชีวิตไปแล้ว ดังนั้นคำพูดของประธานาธิบดีปิเนราที่กล่าวกับนายวิคเตอร์ เซคเวีย คนงานเหมืองคนที่ 15 ที่ได้รับการช่วยเหลือขึ้นมาจากใต้ดินว่า "ยินดีต้อนรับสู่การมีชีวิต" จึงเป็นเรื่องที่ไม่เกินเลยไปจากความเป็นจริง

 ทีมงานกู้ภัยยังได้ตั้งชื่อแคปซูลกู้ภัยทรงเรียวคล้ายตอร์ปิโดความยาว 13 ฟุตว่า "ฟีนิกซ์" ตามตำนานที่กล่าวถึงนกไฟที่สามารถฟื้นคืนชีวิตได้จากกองเถ้าถ่าน เพื่อต้อนรับการเกิดใหม่ของคนงานเหมืองทั้งหมดที่ได้รับความช่วยเหลือกลับสู่พื้นดินจากความลึกกว่าครึ่งกิโลเมตร ทั้งยังวางแผนด้วยความเอาใจใส่ต่อรายละเอียด มีการติดตั้งกล้องวิดีโอติดตามสภาพของคนงานและติดตั้งระบบออกซิเจนในแคปซูล พร้อมทั้งให้คนงานเหมืองทั้งหมดสวมเสื้อกันหนาวเพื่อป้องกันอากาศเย็นและแว่นตาดำกันแดดเพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วยเมื่อเผชิญกับสภาพความเปลี่ยนแปลงของอากาศและสภาพแสงบนพื้นผิว

 ภารกิจกู้ภัยคนงานเหมืองชิลีครั้งนี้เสร็จสิ้นสมบูรณ์เมื่อหน่วยกู้ภัยทั้ง 6 คน ที่ลงไปจัดลำดับการให้ความช่วยเหลือและตรวจสุขภาพคนงานเหมืองทั้ง 33 คน กลับขึ้นสู่พื้นดินโดยสวัสดิภาพ โดยนายมานูเอล กอนซาเลซ ผู้เชี่ยวชาญด้านการกู้ภัยที่ได้ลงไปช่วยเหลือคนงานเป็นคนแรก ได้กลับขึ้นมายังพื้นดินเป็นคนสุดท้ายเมื่อเวลา 12.32 น. ตามเวลาท้องถิ่นในชิลี
 
นานาชาติร่วมยินดี

 ประธานาธิบดีอีโว โมราเลส แห่งโบลิเวีย ได้เดินทางไปยังเหมืองทองแดง ในเมืองซาน โฮเซ เพื่อต้อนรับนายการ์โลส มามานี วัย 23 ปี คนงานเหมืองชาวโบลิเวียที่ได้รับการช่วยเหลือขึ้นมาเป็นคนที่ 4 และได้กล่าวขอบคุณชิลีที่ได้ให้การช่วยเหลือชาวโบลิเวียในครั้งนี้ว่า "ในนามของรัฐบาลโบลิเวีย ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าจะตอบแทนความพยายามในครั้งนี้ได้อย่างไร"

 ด้านประธานาธิบดีเฟลิเป คัลเดรอน แห่งเม็กซิโก กล่าวแสดงความยินดีต่อปฏิบัติการกู้ภัย และชื่นชมปฏิบัติการครั้งนี้ว่านอกจากจะช่วยคนงานเหมืองออกจากใต้ดินแล้ว ยังได้กอบกู้ความหวังในเรื่องคุณค่าของมนุษยชาติ และ ทำให้ประชาชนทั่วโลกได้ประจักษ์ถึงความมุมานะ เอาชนะสถานการณ์เลวร้ายได้ ในโอกาสนี้เม็กซิโกร่วมยินดีและเฉลิมฉลองกับความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่นี้ด้วย

 ส่วนนายเควิน รัดด์ รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย กล่าวชื่นชมว่า ความสำเร็จของปฏิบัติการช่วยคนงานเหมืองชิลีกว่า 22 ชั่วโมง เป็นชัยชนะของจิตใจของมนุษย์ และเป็นเรื่องน่ายกย่องในความอดทนและความเฉลียวฉลาดที่สร้างความประทับใจไปทั่วโลก นอกจากนี้รัฐบาลชิลีควรได้รับคำชมสำหรับการทำงานอย่างมืออาชีพและกระตือรือร้น และการที่รัฐบาลทุ่มเทนำผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกมาช่วยในปฏิบัติการครั้งนี้

 ทั้งนี้ นายรัดด์ กล่าวว่า ออสเตรเลียมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือคนงานเหมืองชิลีในครั้งนี้ เพราะได้สนับสนุนเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญและการสนับสนุนของภาคเอกชน และได้กล่าวชมบริษัททำเหมืองของออสเตรเลีย ทั้ง บีเอชพี บิลลิตัน และเอ็กซ์ตราตา คอปเปอร์ ที่ได้สนับสนุนความรู้ด้านความปลอดภัยของเหมืองและการบริหารการกู้ภัย

 ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศไต้หวันแสดงความยินดีแก่คนงานเหมือง และวางแผนเชิญพวกเขาทั้ง 33 คนไปเยือนไต้หวันด้วย โดยความคิดนี้เป็นของส.ส.ฝ่ายค้าน เพื่อไปร่วมงานเทศกาลดอกไม้นานาชาติในกรุงไทเปที่จะจัดขึ้นในเดือนหน้า

เชื่อเลข 33 นำโชค

 สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่ามีหลายคนที่เชื่อโชคลาง มีความเชื่อว่าเลข 33 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือคนงานเหมืองชิลีทั้ง 33 คน ให้เป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว

 นายมิคาอิล โพรเอสตาคีส ผู้จัดการบริษัท ดริลเลอร์ ซัพพลาย คอมพานี ซึ่งเข้าร่วมในการขุดเจาะอุโมงค์กู้ภัย และเชื่อถือในเรื่องโหราศาสตร์ กล่าวว่า ใช้เวลาทำงาน 33 วัน ในการขุดเจาะอุโมงค์กู้ภัยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 66 เซนติเมตร หรือ 33 คูณ 2 ขณะที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าปฏิบัติการกู้ภัยเริ่มขึ้นในวันที่ 13 ตุลาคม 2010 ซึ่งเขียนได้ว่า 13/10/10 ซึ่งบวกรวมกันได้  33 ส่วน น.ส.มาเรีย เซโกเวีย น้องสาวของคนงานเหมืองชื่อ ดาริโอ เซโกเวีย บอกว่า ทุกอย่างเป็นเลข 33 ทั้งหมด ซึ่งมหัศจรรย์มาก

 สมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มคาทอลิกให้ความเห็นว่า พระเยซูอายุ 33 ปีตอนที่ถูกตรึงไม้กางเขน และบางคนก็ชี้ว่า โน้ตแผ่นแรกที่คนงานเหมืองส่งขึ้นมาจากใต้ดินเพื่อบอกว่าพวกเขายังมีชีวิตอยู่ เขียนเป็นภาษาสเปนว่า "เราทั้งหมด 33 คนยังอยู่ในที่หลบภัย" นั้น มีตัวอักษรบวกกับช่องไฟยาวรวมทั้งหมด 33 ตัว

 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 1

กลางๆ 

santa2010-10-14 17:08:11

ต้องขอชื่นชมจริง ๆๆ ครับกับภาวะผู้นำของท่านประธานาธิบดีชิลี เพราะหาก วันที่ 17 ส.ค .ท่านไม่ยืนยันว่าพวกเขายังมีชีวิตอยู่ บริษัท ฯ คงจะยกเลิกการค้นหาแล้ว เพราะเป็นอุบัติภัยท่ีไม่เคยปรากฏมาก่อน ยังไม่มีประสบการณ์ในการช่วยเหลือ ต้องใช้เทคนิค ทุนมากมายทีเดียว และก็ต้องขอชมทุกฝ่ายท่ีเกี่ยวข้องเมื่อผู้นำยืนยันอย่างนั้นทุกคนก็ลงมือปฏิบัติ คิดหาเทคนิควิธีที่ดีที่สุด แล้วตัดสินใจลงมือปฏิบัติ เชื่อฟังกัน และแก้ปัญหาที่จะเกิดขึนอย่างสุขุม ต้องชื่นชมทุกคนที่เกี่ยวข้องและรวมถึงผูู้ที่อยู่ใต้ดินด้วยกำลังใจดีมาก ๆๆๆ ครับ ชื่นชมครับ

 

http://www.komchadluek.net/detail/20101014/76260/%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%9A33%E0%B8%84%E0%B8%99.html

 

 

ซานติอาโก (เอพี/รอยเตอร์ส/บีบีซี นิวส์) – สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานอ้างคำกล่าวของรัฐมนตรีสาธารณสุขชิลีซึ่งเปิดเผยว่า ได้มีการเผยแพร่ภาพวีดีโอของคนงานเหมืองที่ติดอยู่ใต้อุโมงค์ลึก 700 เมตรที่เหมืองทองแดง ทางตอนเหนือของชิลีตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคมเป็นครั้งแรก ซึ่งบันทึกได้จากกล้องขนาดเล็กที่ส่งผ่านไปยังอุโมงค์แคบๆ ภาพที่เห็นชี้ว่าคนงานเหมืองส่วนใหญ่ถอดเสื้อผ้าเหงื่อโทรมกายแถมหนวดเครา เฟิ้ม แต่ทุกคนยืนยันยังแข็งแรงดีพร้อมรอความช่วยเหลือด้วยความหวังเต็มเปี่ยม และว่าเวลาว่างส่วนใหญ่จะนั่งคุยกันและวางแผนว่าจะใช้ชีวิตภายในอุโมงค์ อย่างไรต่อไป

ขณะที่ทนายความของครอบครัว ราอูล บัสตอส 1 ในคนงานเหมือง 33 คน ที่ติดอยู่ในอุโมงค์ใต้ดินเหมืองทองแดง ซาน โฆเซ ประกาศจะฟ้องร้องเจ้าของเหมือง กรณีบกพร่องด้านระบบรักษาความปลอดภัย และเจ้าหน้าที่รัฐ ฐานสะเพร่าอนุญาตให้เปิดเหมืองใหม่อีกครั้ง นับตั้งแต่อุบัติเหตุเมื่อปี 2551

ด้านศาลท้องถิ่นของชิลีมีคำสั่งอายัดเงิน 1 ล้าน 8 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 57 ล้านบาท ซึ่งบริษัทผู้ดำเนินการเหมือง ซาน โฮเซ่ จะได้รับจากรัฐบาลเป็นค่าจำหน่ายทองแดง โดยเงินจำนวนนี้จะกันไว้เป็นเงินช่วยเหลือคนงานทั้ง 33 คน ที่ติดค้างอยู่ในเหมืองที่ถูกหินถล่มปิดทางออกมานานถึง 3 สัปดาห์ ซึ่งขณะนี้คนงานบางคนเริ่มมีปัญหาสุขภาพแล้ว โดยรัฐมนตรีสาธารณสุขของชิลี เปิดเผยว่า คนงาน 3-4 คน มีปัญหาเรื่องการนอนและเป็นตะคริวจากการอยู่ในที่แคบเป็นเวลานาน ขณะที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยระบุว่ามีคนงาน 9 คน ที่อ้วนเกินกว่าจะนำตัวออกมาจากอุโมงค์ขนาด 66 เซนติเมตร ที่กำลังจะขุดเจาะได้

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่กู้ภัยเจาะช่องส่งเสบียง และทยอยส่งอาหารและน้ำดื่มให้กับคนงานเป็นที่เรียบร้อย และเตรียมส่งยา รวมถึงอุปกรณ์สื่อสารตามไปอีกในเร็ววันนี้ รวมถึงมีรายงานว่า เตรียมจะส่งเครื่องฉายภาพขนาดเล็กและอุปกรณ์เพื่อความบันเทิงลงไปให้คนงาน เหล่านี้คลายความเบื่อหน่ายเมื่อต้องติดอยู่ใต้ดินเป็นเวลานาน ๆ ล่าสุดญาติของคนงาน 2 คนที่ติดอยู่ใต้ดินเตรียมส่งวิดีโอฟุตบอลของมาราโดนา โรนัลดินโญ และเปเล่ ซึ่งเป็นนักเตะที่มีชื่อเสียง และคาดว่าจะช่วยทำให้ขวัญกำลังใจดีขึ้น

ขอขอบคุณข่าวจากแนวหน้า และCNN Youtube

http://www.oknation.net/blog/prompzy/2010/08/28/entry-2

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อาทิตย์, 17 ตุลาคม 2010 )