อนุสรณ์เมืองถลาง
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
เสาร์, 10 กรกฎาคม 2010
ฝากรูป

 

รายงานการประชุมโครงการอนุสรณ์สถานเมืองถลาง
วันจันทร์  ที่  28  มิถุนายน พ.ศ.  2553
ณ  ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต


วาระที่  1   ประธานแจ้งที่ประชุมทราบ 


 1.  เรื่องการสร้างอนุสรณ์สถานเมืองถลาง  ไม่ได้เป็นงานเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นงานของส่วนรวมของคนทั้งจังหวัด  ดังนั้นควรจะมีการเชิญประชุมสมาชิกกลุ่มใหญ่  เพื่อให้ได้รับรู้ด้วย


 2.  เรื่องงบประมาณที่ทางอบจ.ให้กับโครงการเพื่อจัดทำรั้ว  จำนวน  6  ล้านบาท  ตอนนี้อบจ.ได้ทำเรื่องงบประมาณไว้ในแผนปีงบประมาณ  54   แล้ว  โดยจะให้เงินเป็นจำนวน  10  ล้านบาท
 3.  เรื่องการส่งโครงการสร้างอนุสรณ์สถานเมืองถลางเข้าประกวดโครงการดีเด่นระดับประเทศของจังหวัดภูเก็ต

 
ท้าวเทพกระษัตรี  (ท่านผู้หญิงจัน)
ท้าวศรีสุนทร (คุณมุก)
พญาถลางทองพูน ณ ถลาง
พญาถลางเทียน  (พญาเพชรคีรีศรีพิไชยสงครามรามคำแหง) เมืองภูเก็จ พญาทุกรราชเทียน (จดหมายพญาเทียน)
แม่ปราง
เจ้าคุณมารดาทอง
พระยกบัตรจุ้ย
มหาดเล็กเนียม
ทองเพ็ง  
 

วาระที่  2  เรื่องรับรองรายงานการประชุม
 ที่ประชุมรับรองรายงานการประชุม  ครั้งที่  2/2553  เมื่อวันที่  30  เมษายน  2553

วาระที่  3    เรื่องเพื่อทราบ


 1.   เลื่อนกำหนดการวางศิลาฤกษ์อนุสรณ์สถานเมืองถลาง   ประธานแจ้งที่ประชุมทราบว่าจากการที่ต้องเลื่อนการวางศิลาฤกษ์ที่ผ่านมาเนื่องจากทางคณะกรรมการเตรียมการไม่ทัน  แต่ทางสำนักพระราชวังได้ตอบรับมาแล้วว่า สมเด็จพระเทพฯ  ได้ทรงตรัสว่าให้ดำเนินการก่อนเมื่อเสร็จแล้วจะเสด็จ ฯ มาเป็นองค์ประธานประกอบพิธีเปิดให้


 2.  จากการที่กรมศิลปากรได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาการสร้างอนุสาวรีย์ฯ  ในการประชุมครั้งที่  4/2553  เมื่อวันที่  14  พฤษภาคม  2553  ที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักการให้จังหวัดภูเก็ตก่อสร้างอนุสรณ์สถาน  บริเวณนาหลวง  หมู่ที่  3  ตำบลเทพกระษัตรี  อำเภอถลาง  จังหวัดภูเก็ต  โดยใช้ชื่อ  อนุสรณ์สถานเมืองถลาง  ที่ประชุมมีความคิดเห็นว่าน่าจะมีการจัดสัมมนาประวัติศาสตร์  ครั้งที่  3  ขึ้น  เพื่อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชื่อและเนื้อหาประวัติศาสตร์อีกครั้ง  โดยมี อบจ.  เป็นเจ้าภาพในการจัดครั้งนี้  ดังนั้นการเปลี่ยนชื่อโครงการต้องกระทำหลังการสัมมนาประวัติศาสตร์เมืองถลาง ครั้งที่  3  ก่อน

 

วาระที่  4  เรื่องเพื่อพิจารณา
 4.1   การจัดเตรียมเอกสารเพิ่มเติมให้กรมศิลปากรเพื่อประกอบการพิจารณา  ประกอบด้วย
  1.    แผนผังบริเวณที่กำหนดให้เป็นพื้นที่ก่อสร้างอนุสาวรีย์  โดยระบุให้ชัดเจน
  2.  รูปแบบภาพร่างอนุสาวรีย์พร้อมแนวคิดในการออกแบบ
  3.   ระบุชื่อหน่วยงานหรือเอกชนที่รับผิดชอบในการดำเนินการ
ซึ่งคุณประเจียด  อักษรธรรมกุล  ได้เสนอที่ประชุมว่าทางคณะกรรมการได้ดำเนินการในเรื่องแผนผังและระบุชื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบเรียบร้อยแล้ว  แต่ยังขาดในเรื่องของรูปแบบอนุสาวรีย์  ซึ่งได้นำเรียนที่ประชุมว่าในการทำ  TOR  ของการออกแบบ ถ้าหากว่าต้องการให้ทันในปีนี้จะต้องไม่มีการประกวด  ต้องว่าจ้างโดยทีมงานผู้ชำนาญการเป็นผู้ออกแบบ
ที่ประชุมเสนอรายละเอียดและคุณสมบัติของผู้ออกแบบควรเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญระดับชาติ  เช่น  กรมศิลปากร  กองสถาปัตยกรรม  กองประติมากรรม  ที่ประชุมมอบหมายให้ทางมูลนิธิท้าวเทพกระษัตรี ฯ ร่วมกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลางดำเนินการสรรหาชื่อบุคคล
งบประมาณในการว่าจ้างทางผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตรับ(ปากว่าจะ)ดำเนินการจัดหางบประมาณให้  โดยขอให้ทางคณะกรรมการประสานงานกำหนดและแจ้งให้ทราบ
4.2 รายชื่อคณะกรรมการจัดทำขอบเขตงาน  (TOR) 
อาจารย์สมหมายเสนอที่ประชุมว่าในการตั้งคณะกรรมการจัดทำขอบเขตงาน  TOR   น่าจะระบุชื่อหน่ายงานดีกว่าระบุชื่อบุคคลเพราะบุคคลส่วนใหญ่เป็นตัวแทนจากหน่วยงานทั้งสิ้น 
ที่ประชุมชี้แจงให้ทราบว่าการทำ  TOR      จำเป็นต้องระบุให้ชัดเจนว่าเป็นชื่อบุคคลใด แต่สามารถระบุได้ว่ามาจากหน่วยงานใด  บุคคลนั้นจะมอบหมายให้บุคคลอื่นมาแทนได้

4.3  เรื่องกำหนดวันวางวางศิลาฤกษ์อนุสรณ์สถานเมืองถลาง
ที่ประชุมเสนอให้กราบบังคมทูลขอพระราชทานวโรกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวเพื่อขอให้พระองค์ทรงเจิมศิลาฤกษ์เพื่อเป็นมงคลแก่ชาวภูเก็ต  หลังจากนั้นพระองค์จะโปรดเกล้า ฯ ให้ตัวแทนพระองค์มาทำพิธีเปิด  ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ  (มอบให้มูลนิธิท้าวเทพฯ ร่วมกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลางประสานทางพระราชวังเพื่อขอเข้าเฝ้า)

วาระที่  5  เรื่องอื่น ๆ
 1.  คุณชาญ  วงศ์สัตยนนท์  กรรมการมูลนิธิท้าวเทพฯ  ได้เสนอที่ประชุมว่า  น่าจะมีการทำแผนการดำเนินการของโครงการนี้  โดยการกำหนดขั้นตอน  ระยะเวลา  งบประมาณ  ในการดำเนินการว่าเริ่มและจบเมื่อไร  โดยเสนอว่า
 -  ควรว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาโครงการเพื่อทำหน้าที่เขียนแผนการดำเนินการ  ควบคุมการก่อสร้าง  การใช้งบประมาณ  ตลอดจนการบริหารการจัดการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้  โดยมีคณะกรรมการคอยกำกับ
 -  ควรกำหนดเจ้าภาพให้ชัดเจน  เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการของคนทั้งจังหวัดหน่วยงานที่สามารถเป็นศูนย์รวมของทั้งจังหวัดได้ก็คือ  จังหวัดภูเก็ต
 -  ควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการทำงาน  กำหนดบทบาทและหน้าที่ให้ชัดเจนเพื่อง่ายต่อการขับเคลื่อนโครงการ  เช่น  คณะกรรมการกำกับ  คณะกรรมการ  TOR  คณะกรรมการดูแลงบประมาณ  คณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย
 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ  ให้ดำเนินการปรึกษาหารือแนวทางการทำแผนการดำเนินการโครงการเพื่อให้โครงการเป็นไปตามแผนที่วางไว้แต่ขอให้เป็นแผนระยะสั้น   และมอบหมายให้จังหวัดภูเก็ต  โดยกลุ่มยุทธศาสตร์  เป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนโครงการ 

 

ประชุมกลุ่มย่อยของมูลนิธิท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร

๒๐ กันยายน ๒๕๕๓

ฝากรูป
ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อังคาร, 13 กุมภาพันธ์ 2018 )