ไดโนเสาร์มีเขายาว
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อาทิตย์, 06 มิถุนายน 2010
พบฟอสซิลไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ตัวใหญ่เขายาวสุดๆ ในเม็กซิโก
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์2 มิถุนายน 2553 11:49 น.

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
ภาพจำลองลักษณะหน้าตาของไดโนเสาร์สปีชีส์ใหม่ Coahuilaceratops magnacuerna ที่มีเขายาวที่สุดเท่าที่เคยพบมา (เอเอฟพี)

พบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ในทะเลทรายของเม็กซิโก มีเขายาวโดดเด่นเป็นเอกลักณ์ วัดอายุได้ในยุคครีเตเชียสตอนปลาย นักวิทย์เผยดินแดนเม็กซิโกยังมีฟอสซิลไดโนเสาร์รอให้พบอีกมาก เชื่อเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญช่วยไขปริศนาแผ่นดินเม็กซิโกยุคโบราณ
       
       นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยยูทาห์ (University of Utah) สหรัฐอเมริกา เปิดเผยถึงการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์สปีชีส์ใหม่อายุ 72 ล้านปี ในประเทศเม็กซิโก เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา นับว่าเป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์ที่มีเขายาวที่สุดเท่าที่เคยสำรวจพบ ซึ่งทีมวิจัยกำลังจะตีพิมพ์หนังสือบันทึกรายละเอียดของการสำรวจครั้งนี้ในสัปดาห์หน้า
       
       ในระหว่างการสำรวจหาซากดึกดำบรรพ์ในเขตทะเลทรายโกอาวีลา (Coahuila desert) ประเทศเม็กซิโก ระหว่างปี 2002-2003 ด้วยการสนับสนุนของสมาคมเนชันแนลจีโอกราฟิก (National Geograpic Society) และมหาวิทยาลัยยูทาห์ ทีมนักวิจัยก็ค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ชนิดหนึ่งซึ่งมีทั้งฟอสซิลของไดโนเสาร์ตัวเต็มวัย และไดโนเสาร์รุ่นเยาว์ที่มีขนาดประมาณแรดในปัจจุบัน
       
       เมื่อศึกษาซากดึกดำบรรพ์ที่ค้นพบตามหลักทางวิทยาศาสตร์ทำให้นักวิจัยรู้ว่าฟอสซิลดังกล่าวเป็นของไดโนเสาร์กินพืชสปีชีส์ใหม่ที่มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 6.7 เมตร มีความสูงราว 1.8 เมตร น้ำหนักราว 4.5 ตัน และมีลักษณะเด่นคือมีเขายาวถึง 1.22 เมตรงอกออกมาจากบริเวณเหนือดวงตาทั้งสองข้างยาว นับว่าเป็นไดโนเสารห์เขายาวที่สุดเท่าที่เคยพบ ซึ่งนักวิจัยให้ชื่อสปีชีส์ว่า โกอาวีลาเคราโทพส์ แมกนาเคอร์นา (Coahuilaceratops magnacuerna)
       
       "เรารู้เรื่องไดโนเสาร์ในเม็กซิโกน้อยมาก ซึ่งการค้นพบนี้เพิ่มองค์ความรู้ให้แก่เราเกี่ยวกับไดโนเสาร์ที่เคยมีชีวิตอยู่บนแผ่นดินเม็กซิโกในยุคครีเตเชียสตอนปลายอย่างประมาณมิได้" คำบอกเล่าในเอเอฟพีของมาร์ค โลเวน (Mark Loewen) หัวหน้าทีมวิจัยจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยายูทาห์ (Utah Museum of Natural History) ซึ่งในยุคสมัยที่ไดโนเสาร์ยังมีชีวิตอยู่บนแผ่นดินเม็กซิโกบริเวณดังกล่าวมีสภาพเป็นปากแม่น้ำที่มีความชุ่มชื้นคล้ายกับชายฝั่งของอ่าวสหรัฐฯ (US Gulf Coast) ในปัจจุบัน
       
       ทั้งนี้ ซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์จำนวนมากถูกพบในบริเวณที่เต็มไปด้วยฟอสซิลของทากและหอยกาบทะเล ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าไดโนเสาร์มักอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้ชายฝั่งทะเล
       
       นอกจากนั้นชั้นหินที่นักวิทยาศาสตร์พบไดโนเสาร์ Coahuilaceratops ยังเต็มไปด้วยซากฟอสซิลของไดโนเสาร์ปากเป็ดที่ทับถมกันอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งนักวิจัยสันนิษฐานว่าไดโนเสาร์เหล่านี้อาจจะจบชีวิตพร้อมกันทั้งหมดในขณะที่มีพายุเฮอริเคนพัดกระหน่ำในพื้นที่บริเวณดังกล่าว ซึ่งในยุคครีเตเซียสตอนปลายเมื่อช่วงประมาณ 97-65 ล้านปีที่แล้ว ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงกว่าในปัจจุบัน จึงเกิดน้ำท่วมแผ่นดินอเมริกากลางได้อย่างง่ายดาย
       
       "เรามั่นใจว่าฟอสซิบไดโนเสาร์ที่พบในเม็กซิโกจะเป็นชิ้นส่วนที่สำคัญในการไขปริศนาโบราณของแผ่นดินทวีปที่เป็นเกาะแห่งนี้" สกอต แซมพ์สัน (Scott Sampson) นักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยายูทาห์ กล่าว

ข่าวล่าสุด ในหมวด
พบฟอสซิลไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ตัวใหญ่เขายาวสุดๆ ในเม็กซิโก
พบสะพานส่งน้ำโบราณในเยรูซาเลม ย้อนเวลาถึงยุค “พระเยซู”
ย้อนเผ่าพันธุ์ "มนุษย์โบราณ" ในไทย
"คน" กับ "ลิง" สิ่งมีชีวิตคู่ขนาน
ส่วนหนึ่งของเราคือ มนุษย์ "นีอันเดอร์ทัล"

 

อ้างอิง

http://www.norsorpor.com/ข่าว/n2041607/10%20ภาพลวงที่คุณไม่ควรเชื่อสายตาตัวเอง