บุคคลสำคัญของภูเก็ต
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อาทิตย์, 27 มกราคม 2008

บุคคลสำคัญของจังหวัดภูเก็ต


ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร  พระครูวิสุทธิวงศาจาริย์ญาณมุนี(พ่อท่านแช่ม) พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี  

 

ส่วนนี้ไว้เชื่อมโยง (เพราะความเร็วเน็ตไม่พอ ไม่สามารถอัพโหลดทั้งหมดได้ในไฟล์เดียว) 

ประสิทธิ  ชิณการณ์  สกุล  ณ นคร  เฉ่ง  เลิศกิจสมบูรณ์  เลียบ  ชนะศึก  ไชยยุทธ  ปิ่นประดับ  จิ้ว  ประโมงกิจ  ประชา  ตัณฑวณิช  ตระกูล ณ ถลางและประทีป ณ ถลาง  ตระกูลรัตนดิลก ณ ภูเก็ต  พระยาถลาง(เจิม)  ตระกูล “โชติกเสถียร”  พระยาทิพโกษา (โต โชติกเสถียร)  ตระกูล “ตันฑเวทย์”  หลวงอำนาจนรารักษ์(ตันค๊วด  ตันฑเวทย์(ตัณฑะเวส) ตระกูล “ตัณฑัยย์” พระอร่ามสาครเขตร ตระกูล “ตัณฑวณิช”  หลวงบำรุงจีนประเทศ ตระกูล “หงษ์หยก” หลวงอนุภาษภูเก็ตการ ตระกูล  “ทองตัน”  ขุนชนานิเทศและหลวงชนาทรนิเทศ ตระกูล “อุปัติศฤงค์”  ฮั่นก๋วน  แซ่หงอ ตระกูล “ตันบุญ ณ ระนอง”  ขุนเลิศโภคารักษ์ (ตันเค่หลิ่ม หรือ หลิ่ม  ตันบุญ) ตระกูล “อุดมทรัพย์”  ขุนวิเศษนุกูลกิจ  ตระกูล “ดิลกแพทย์”  พระเวชกิจพิศาล (เจิม  ดิลกแพทย์)  ตระกูล “วานิช”  เจียร วานิช  เอกพจน์  วานิช อัญชลี  (วานิช)เทพบุตร  ตระกูล “เอกวานิช” โสภณ  เอกวานิช  ตระกูล “จิรายุส” เจียะออ แซ่เจี่ย  ตระกูล “บุญเปกข์ตระกูล” รอด บุญเปกข์ตระกูล อ้วน สุระกุล สุนัย  ราชภัณฑารักษ์  มานิต  วัลยะเพ็ชร์  หลวงพิทักษ์ทวีป  เกษม  สุทธางกูร นะหุษ รักแต่งาม ประจวบ  ไมพานิช จตุพุฒิ ไมพานิช เจ็ว แซ่ตัน(ตันสัตยาเลิศ) คุณหญิงกาญจนา ณ ระนอง ติลก ถาวรว่องวงศ์ บัณฑิต  คันฉ่อง พระคีรีรัฐธรรมคณี (เจ้าคณะจังหวัดภูเก็ต) บันลือ  ตันติวิท ครรชิต   ตัมพานุวัตร  ไมตรี  บุญสูง อาทร  ต้องวัฒนา ราชัน  กาญจนะวณิชย์ เกียติ วงศ์กสิกิจ  สมจิตร  ช่อผล  อุทัย   สุขศิริสัมพันธ์.

บุคคลสำคัญของจังหวัดภูเก็ต


 โดยเนื้อที่และจำนวนประชากรของจังหวัดภูเก็ต เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ ของประเทศไทยแล้ว ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่ค่อนข้างเล็กมาก แต่เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญอย่างยิ่งไม่ว่าทางสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการเมืองการปกครอง มาตั้งแต่สมัยโบราณ จนกระทั่งปัจจุบัน และต่อไปในอนาคต ซึ่งเนื้อหาสาระได้ปรากฏในส่วนอื่น ๆ ของหนังสือเล่มนี้แล้ว


 ดังนั้นบุคคลสำคัญของท้องถิ่นภูเก็ตจึงมีปริมาณและคุณภาพอยู่เป็นจำนวนมากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบุคคลสำคัญของจังหวัดใหญ่อื่น ๆ ดังปรากฏหลักฐานอยู่แล้ว    ขอประมวลสรุป ผลงานของบุคคล สำคัญดังกล่าว เป็นส่วน ๆ ไปตามลำดับ และที่เสนอนี้เป็นเพียงจำนวนหนึ่ง จากจำนวนบุคคลสำคัญของท้องถิ่นภูเก็ตที่พอรวบรวมได้เท่านั้น ทั้งนี้ เนื้อหาบางตอนมีผู้เขียนไว้แล้ว   บางตอนนำสาระมารวบรวมเรียบเรียงใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าประสงค์ของหนังสือเล่มนี้

 

๑.บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์
  ๑.๑ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร


 
ท้าวเทพกระษัตรี เดิมชื่อ จัน เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๒๗๘ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกฐกรุงศรีอยุธยา เป็นบุตรคนหัวปีของพระยาถลางจอมร้าง มีพี่น้องร่วมบิดา มารดา ๔ คน คือ น้องหญิงชื่อ มุก และชื่อหมา น้องชายชื่อ อาดและชื่อ เรือง คุณจันเกิดที่บ้านตะเคียน(ภายหลังตั้งเป็นตำบลตะเคียนแล้วรวมกับตำบลบ้านดอนตั้งเป็นตำบลเทพกระษัตรี)
 พ.ศ.๒๒๙๗ คุณจันได้แต่งงานกับหม่อมศรีบุตรของจอมนายกองเมืองตะกั่วทุ่ง ซึ่งเป็นชาวนครศรีธรรมราช ขณะนั้นเป็นผู้ช่วยราชการเมืองตะกั่วทุ่งมีบรรดาศักดิ์ เป็นนายภักดีภูธร มีบุตรด้วยกัน ๒ คน คนพี่เป็นหญิงชื่อ ปราง คนน้องเป็นชายชื่อ เทียน อยู่มาถึง พ.ศ.๒๓๐๒ นายภักดีภูธรถึงแก่กรรม คุณจันจึงพาลูกกลับไปอยู่กับบิดาที่เมืองถลางตามเดิม
 พ.ศ.๒๓๐๕ คุณจันได้แต่งงานใหม่กับพระยาพิมลขัน มีบุตรด้วยกัน ๓ คน คนโตเป็นหญิงชื่อ ทอง น้องชาย ๒ คน ชื่อจุ้ย กับชื่อ เนียม อยู่ร่วมกันมาจนกระทั่งพระยาถลางจอมร้างผู้บิดาถึงแก่กรรมลงในปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ขณะที่กรุงศรีอยุธยากำลังคับขัน และในที่สุดก็เสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ ส่วนทางเมืองถลางที่เกิดกรณีพิพาทกันในวงศ์ญาติ เรื่องแย่งตำแหน่งเจ้าเมือง ระหว่างพระยาพิมลขันเขยใหญ่กับนายอาดน้องเมีย ในที่สุดเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชผู้ปกครองดูแลหัวเมืองปักษ์ใต้ได้ตัดสินให้พระปลัดอาด เป็นพระถลางเจ้าเมือง ส่วนพระยาพิมลขันนั้นได้ไปเป็นเจ้าเมืองพัทลุง ไม่แต่ลำพังมิได้พาคุณจันกับลูก ๆ ไปด้วยเพราะผิดใจกันในเรื่องที่ถูกน้องเมียฟ้องแย่งตำแหน่งเจ้าเมืองถลางไปได้ พ.ศ.๒๓๑๒ พระยาพิมลขันได้พ้นจากตำแหน่งเจ้าเมืองพัทลุงออกไปทำมาหากิน ค้าขายส่วนตัวที่ปีนัง เพราะได้ช่วยพาเจ้านครฯ หนีการจับกุมของกองทัพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแต่หนีไม่พ้น และได้กลับไปคืนดีกับคุณจันอยู่ด้วยกันที่เมืองตะกั่วทุ่ง และได้บุตรด้วยกันอีก ๒ คนเป็นหญิงชื่อ กิ่ม กับชื่อ เมือง พ.ศ.๒๓๑๙ เจ้านครฯ ได้สถาปนาให้มียศอย่างเป็นพระเจ้าประเทศราชมีนามว่าพระเจ้าขัตติยราชนิคมสมมุติมไหสวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช เพราะระหว่างอยู่ในกรุงได้รับราชการด้วยความจงรักภักดี พระเจ้านครศรีธรรมราชระลึกถึงพระยาพิมลขันว่าเป็นผู้มีบุญคุณพาพระองค์หนีไปในยามยาก จึงแต่งตั้งให้เป็น พระยาสุรินทราชาพระยาถลางขึ้นใหม่ และคุณจันก็ได้เป็นท่านผู้หญิงภริยาเจ้าเมืองพระยาสุรินทราชาเจ้าเมืองถลาง ได้ปกครองบ้านเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ ได้จัดซื้ออาวุธปืนไว้ใช้ในราชการ ๔๙๐ กระบอก เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม  พ.ศ.๒๓๒๐ สำหรับเมืองถลางใช้เองส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งส่งไปยังเมืองนครฯ และส่งไปถวายเพื่อเป็นกำลังรักษาพระนครบ้าง การเก็บภาษีอากรเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรมและพอเหมาะพอควร จึงทำให้มีเรือสินค้าต่างประเทศมาแวะติดต่อเสมอ ๆ
 พ.ศ.๒๓๒๘ พระยาสุรินทราชาขันปกครองเมืองถลางเป็นเวลา ๑๐ ปี ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๓๒๘ พระยาสุรินทราชาขันก็ถึงแก่อนิจกรรม ทิ้งท่านผู้หญิงจันภรรยาให้เป็นม่ายและในเดือนธันวาคมปีนี้เอง มีข่าวทัพพม่ายกมาถึงเมืองตะกั่วป่า พระยาธรรมไตรโลก ได้มีหมายมาเกณฑ์กำลังพลเมืองถลางให้ไปช่วยป้องกันค่ายปากพระ แต่เมื่อพระยาถลางถึงอนิจกรรมพม่าตีเมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่งแตกแล้วเลยมาตีค่ายปากพระแตกไปด้วย พระยาไตรโลกก็ตายในที่รบ ฝ่ายกองทัพพม่าได้ยกมาล้อมเพื่อจะตีเอาเมืองถลางต่อไป กองทัพเมืองถลางอันมีแม่ทัพกับรอง คือท่านผู้หญิงจันกับคุณมุก น้องสาว กับไพร่พลชาวถลางทั้งหญิงชายได้ต่อสู้รักษาเมืองเป็นสามารถ จนกองทัพพม่าไม่อาจตีหักเอาเมืองได้ จึงต้องเลิกทัพล่าถอยลงเรือกลับไปแต่วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๓๒๘ เวลาที่ได้ต่อสู้กันประมาณเดือนหนึ่ง เหตุที่ได้ชัยชนะแก่พม่าในครั้งนี้ ก็เพราะเป็นการต่อสู้เพื่อรักษาบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง ชาวถลางทั้งหลายจึงพร้อมใจกันรบพุ่งอย่างสุดกำลัง นอกจากจะมีกำลังใจในการต่อสู้แล้วยังมีอาวุธยุทโธปกรณ์เพียงพอพร้อมสรรพ ดังนั้นเราจึงไม่ควรลืมการปฏิบัติหน้าที่ราชการอันรอบคอบเห็นการณ์ไกลของพระยาสุรินทราชาพระยาพิมลขัน ขณะยังเป็นเจ้าเมืองถลาง
 เมื่อพม่าเลิกทัพกลับไปแล้ว ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ตั้งท่านผู้หญิงจันเป็นท้าวเทพกระษัตรี และคุณมุกน้องสาวเป็นท้าวศรีสุนทร ถึง พ.ศ.๒๓๓๒ ได้โปรดให้นายเทียนบุตรชายคนโต ของท่านท้าวเทพกระษัตรี ที่เกิดกับนายภักดีภูธร เป็นพระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง เจ้าเมืองถลาง
 ท่านท้าวเทพกระษัตรีมีอายุยืนยาวมาจนถึง พ.ศ.๒๓๓๕  เพราะปรากฏชื่อของท่านในจดหมายพระยาถลางเทียน ซึ่งมีไปถึงพระยาราชกปิตันในปีนั้น เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ความว่า เจ้าคุณมารดาแก่ลงกว่าแต่ก่อนแล้วก็ไม่สบายเหมือนแต่ก่อน ดังนั้นท่านก็คงจะถึงแก่อนิจกรรมหลังจากนั้นไม่นานนักซึ่งน่าจะเป็นในพ.ศ.๒๓๓๖ ส่วนท่านท้าวศรีสุนทรก็คงจะถึงแก่อนิจกรรมในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ชีวประวัติของวีรสตรีศรีเมืองถลางทั้ง ๒ ท่านก็เป็นอันสิ้นสุดยุติลง

 

       ๑.๒ พระครูวิสุทธิวงศาจาริย์ญาณมุนี(พ่อท่านแช่ม)
                 ตำแหน่ง สังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ต

 

พ่อท่านแช่มชาตะ ๒๓๗๐
มรณภาพ  ๒๔๕๑
 พ่อท่านแช่ม เป็นบุตรชาวบ้านในตำบลบ่อแสน อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา พ่อแม่ส่งให้มาอยู่ ณ วัดฉลอง เป็นศิษย์ของพ่อท่านเฒ่าตั้งแต่เล็ก เมื่อมีอายุพอจะบวชได้ ก็บวชเป็นสามเณร และ ต่อมาเมื่อมีอายุถึงที่จะบวชเป็นพระภิกษุก็บวชเป็นภิกษุจำพรรษา อยู่ ณ วัดฉลองนี้ พ่อท่านแช่ม ได้ศึกษาวิปัสสนาธุระจากท่านพ่อท่านเฒ่าจนเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญทางวิปัสสนาธุระเป็นอย่างสูง ความมีชื่เสียงของพ่อท่านแช่มปรากฎชัดในคราวที่พ่อท่านแช่มเป็นหัวหน้าปราบอั้งยี่ ซึ่งท่านจะได้ทราบต่อไปนี้
 ในปีพุทธศักราช ๒๔๑๙ กรรมกรเหมืองแร่เป็นจำนวนหมื่น ในจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียงได้ซ่องสุมผู้คนก่อตั้งเป็นคณะขึ้นเรียกว่า อั้งยี่ โดยเฉพาะพวกอั้งยี่ในจังหวัดภูเก็ตก่อเหตุวุ่นวายถึงขนาดจะเข้ายึดการปกครองของจังหวัดเป็นของพวกตน ทางราชการในสมัยนั้นไม่อาจปราบให้สงบราบคาบได้ พวกอั้งยี่ถืออาวุธไล่ ยิง ฟัน ชาวบ้านล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านไม่อาจต่อสู้ป้องกันตนเองและทรัพย์สิน ที่รอดชีวิตก็หนีเข้าป่าไป เฉพาะในตำบลฉลองชาวบ้านได้หลบหนีเข้าป่า เข้าวัด ทิ้งบ้านเรือนปล่อยให้พวกอั้งยี่เผาบ้านเรือนหมู่บ้านซึ่งพวกอั้งยี่เผา ได้ชื่อว่า  บ้านไฟไหม้ จนกระทั่งบัดนี้
 ชาวบ้านที่หลบหนีเข้ามาในวัดฉลอง เมื่อพวกอั้งยี่รุกไล่ใกล้วัดเข้ามาต่างก็เข้าไปแจ้งให้พ่อท่านแช่มทราบ และนิมนต์ให้พ่อท่านแช่ม หลบหนีออกจากวัดฉลองไปด้วย พ่อท่านแช่มไม่ยอมหนี ท่านว่า ท่านอยู่ที่วัดนี้ตั้งแต่เด็กจนบวชเป็นพระและเป็นเจ้าวัดอยู่ขณะนี้จะให้หนีทิ้งวัดไปได้อย่างไร
 เมื่อพ่อท่านแช่มไม่ยอมหนีทิ้งวัด ชาวบ้านต่างก็แจ้งพ่อท่านแช่มว่า เมื่อพ่อท่านไม่หนี พวกเขาก็ไม่หนีจะขอสู้มันละ พ่อท่านมีอะไรเป็นเครื่องคุ้มกันตัวขอให้ทำให้ด้วย พ่อท่านแช่มจึงทำผ้าประเจียดแจกให้โพกศีรษะคนละผืน เมื่อได้ของคุ้มกันคนไทยชาวบ้านฉลองก็ออกไปชักชวนคนอื่น ๆ ทีหลบหนีไปอยู่ตามป่า กลับมารวมพวกกันอยู่ในวัด หาอาวุธ ปืน มีด เตรียมต่อสู้กับพวกอั้งยี่ พวกอั้งยี่ เที่ยวรุกไล่ ฆ่า ฟัน ชาวบ้าน ไม่มีใครต่อสู้ก็ชะล่าใจ ประมาทรุกไล่ ฆ่าชาวบ้านมาถึงวัดฉลอง ชาวบ้านซึ่งได้รับผ้าประเจียดจากพ่อท่านแช่มโพกศีรษะไว้ก็ออกต่อต้านพวกอั้งยี่ พวกอั้งยี่ไม่สามารถทำร้ายชาวบ้านก็ถูกชาวบ้านไล่ ฆ่า ฟันแตกหนีไป ครั้งนี้เป็นชัยชนะครั้งแรกของไทยชาวบ้านฉลอง ข่าวชนะศึกครั้งแรกของชาวบ้านฉลอง รู้ถึงชาวบ้านที่หลบหนีไปอยู่ที่อื่น ต่างก็พากันมายังวัดฉลอง รับอาสาว่า ถ้าพวกอั้งยี่มารบอีกก็จะต่อสู้ ขอให้พ่อท่านแช่มจัดเครื่องคุ้มครองตัวให้ พ่อท่านแช่มก็ทำผ้าประเจียดแจกจ่ายให้คนละผืน พร้อมกับแจ้งแก่ชาวบ้านว่า “ ข้าเป็นพระสงฆ์ จะรบราฆ่าฟันกับใครไม่ได้ พวกสูจะรบก็คิดอ่านกันเอาเอง ข้าจะทำเครื่องคุณพระให้ไว้สำหรับป้องกันตัวเท่านั้น” ชาวบ้านเอาผ้าประเจียดซึ่งพ่อท่านแช่มทำให้โพกศีรษะเป็นเครื่องหมายบอกต่อต้านพวกอั้งยี่
 พวกอั้งยี่ให้ฉายาคนไทยชาวบ้านฉลองว่า พวกหัวขาว ยกพวกมาโจมตีคนไทยชาวบ้านฉลองหลายครั้ง ชาวบ้านถือเอากำแพงพระอุโบสถเป็นแนวป้องกันอั้งยี่ไม่สามารถตีฝ่าเข้ามาได้ ภายหลังจัดเป็นกองทัพเป็นจำนวนพัน ตั้งแม่ทัพ นายกอง มีธงรบ ม้าล่อ เป็นเครื่องประโคมขณะรบกัน ยกทัพเข้าล้อมรอบ กำแพงพระอุโบสถ ยิงปืน พุ่งแหลน พุ่งอีโต้ เข้ามาที่กำแพง เป็นที่น่าอัศจรรย์ที่บรรดาชาวบ้านซึ่งได้เครื่องคุ้มกันตัวจากพ่อท่านแช่มต่างก็แคล้วคลาดไม่ถูกอาวุธของพวกอั้งยี่เลย รบกันจนเที่ยงพวกอั้งยี่ยกธงขอพักรบ ถอยไปพักกันใต้ร่มไม้ หุงหาอาหาร ต้มข้าวต้มกินกัน ใครมีฝิ่นก็เอาฝิ่นออกมาสูบ อิ่มหนำสำราญแล้วก็นอนพักผ่อนชาวบ้านแอบดูอยู่ในกำแพงโบสถ์ เห็นได้โอกาสขณะที่พวกอั้งยี่เผลอก็ออกไปโจมตีบ้าง พวกอั้งยี่ไม่ทันรู้ตัวก็ล้มตายและแตกพ่ายไป หัวหน้าอั้งยี่เผลอก็ออกไปโจมตีบ้าง  พวกอั้งยี่ไม่ทันรู้ตัวก็ล้อมตายและแตกพ่ายไป หัวหน้าอั้งยี่ประกาศให้สินบน ใครสามารถฆ่าหรือจับตัวพ่อท่านแช่มวัดฉลองไปมอบตัวให้จะให้เงินถึง ๕,๐๐๐ เหรียญ
 เล่าลือกันทั่วไปในวงการอั้งยี่ว่า คนไทยชาวบ้านฉลองซึ่งได้รับผ้าประเจียดของพ่อท่านแช่มโพกศีรษะ ล้วนแต่เป็นยักษ์มารคงทนต่ออาวุธ ไม่สามารถทำร้ายได้ ยกทัพมาตีกี่ครั้ง ๆ ก็ถูกตีกลับไปในที่สุดเจรจาขอหย่าศึกยอมแพ้แก่ชาวบ้านศิษย์พ่อท่านแช่ม โดยไม่มีเงื่อนไข
 คณะกรรมการเมืองภูเก็ต ได้ทำรายงานกราบทูลไปยังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้คณะกรรมการเมืองนิมนต์พ่อท่านแช่ม ให้เดินทางไปยังกรุงเทพมหานครมีพระประสงค์จะทรงปฏิสันถารกับพ่อท่านแช่มด้วยพระองค์เอง พ่อท่านแช่มและคณะเดินทางถึงกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานสมณศักดิ์พ่อท่านแช่ม เป็นพระครูวิสุทธิวงศาจาริย์ญาณมุนี ให้มีตำแหน่งเป็นสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ต อันเป็นตำแหน่งสูงสุดซึ่งบรรพชิตจักพึงมีในสมัยนั้น
 ในโอกาสเดียวกัน ทรงพระราชทานนามวัดฉลอง เป็น วัดไชยธาราราม
 จากคำบอกเล่าของคณะผู้ติดตามพ่อท่านแช่มไปในครั้งนั้นแจ้งว่ามีพระสนมองค์หนึ่งในรัชกาลที่ ๕ ป่วยเป็นอัมพาต พ่อท่านแช่มได้ทำน้ำพระพุทธมนต์ให้รดตัวรักษา ปรากฏว่าอาการป่วยหายลงได้เร็วจนสามารถลุกนั่งได้อนึ่ง การเดินทางไปและกลับจากจังหวัดภูเก็ตกับกรุงเทพมหานครในสมัยนั้นลำบากมาก ต้องเดินทางรอนแรมผ่านจังหวัดต่าง ๆ โดยทางเท้า ขากลับเดินทางผ่านวัด ๆ หนึ่งในจังหวัดชุมพร พ่อท่านแช่มและคณะได้เข้าพักระหว่างทาง ณ ศาลาหน้าวัดเจ้าอาวาสวัดนั้นนิมนต์ให้พ่อท่านแช่มเข้าไปพักในวัด แต่พ่อท่านแช่มเกรงใจ และแจ้งว่าตั้งใจจะพักที่ศาลาหน้าวัดแล้วก็ขอพักที่เดิมเถิด เจ้าอาวาสและชาวบ้านในละแวกนั้นบอกว่า การพักที่ศาลาหน้าวัดอันตรายอาจเกิดจากพวกโจร จะมาลักเอาสิ่งของพ่อท่านแช่มและคณะไปหมด พ่อท่านแช่มตอบว่า เมื่อมันเอาไปได้ มันก็คงเอามาคืนได้ เจ้าอาวาสและชาวบ้านอ้อนวอน พ่อท่านแช่มก็คงยืนยันขอพักที่เดิม เล่าว่า ตกตอนดึกคืนนั้น โจรป่ารวม ๖ คน เข้ามาล้อมศาลาไว้ ขณะนั้นคนอื่น ๆ หลับหมดแล้ว คงเหลือแต่พ่อท่านแช่มองค์เดียวพวกโจรเอื้อมเอาของไม่ถึง พ่อท่านแช่มก็ช่วยผลักของให้ สิ่งของส่วนมากบรรจุปี๊บใส่สาแหรก พวกโจรพอได้ของก็พากันขนเอาไป
 รุ่งเช้าเจ้าอาวาสและชาวบ้านมาเยี่ยม ทราบเหตุที่เกิดขึ้นก็พากันไปตามกำนันนายบ้านมาเพื่อจะไปตามพวกโจร พ่อท่านแช่มก็ห้ามมิให้ตามไป ต่อมาครู่หนึ่ง พวกโจรก็กลับมา แต่การกลับมาคราวนี้หัวหน้าโจรถูกหามกลับมาพร้อมกับสิ่งของซึ่งลักไปด้วย กำนันนายบ้านก็เข้าคุมตัว หัวหน้าโจรปวดท้องจุกเสียดร้องครางโอดโอย ทราบว่าระหว่างที่ขนของซึ่งพวกตนขโมยไปนั้น คล้ายกับมีเสียงบอกว่า ให้ส่งของกลับไปเสีย มิฉะนั้น จะเกิดอาเพท พวกโจรไม่เชื่อขนของต่อไปอีกหัวหน้าโจรจึงเกิดมีอาการจุกเสียดขึ้นจนไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เลยปรึกษากันตกลงขนสิ่งของกลับคืน พ่อท่านแช่มสั่งสอนว่า ต่อไปขอให้เลิกเป็นโจร อาการปวดก็หาย กำนันนายบ้านจะจับพวกโจรส่งกรมการเมืองชุมพร แต่พ่อท่านแช่มได้ขอร้องมิให้จับกุมขอให้ปล่อยตัวไป
 ไม่เพียงแต่ชนชาวไทยในภูเก็ตเท่านั้นที่มีความเคารพเลื่อมใสในองค์พ่อท่านแช่ม ชาวจังหวัดใกล้เคียงตลอดจนชาวจังหวัดต่าง ๆ ในมาเลเซีย  เช่น  ชาวจังหวัดปีนัง เป็นต้น ต่างก็ให้ความเคารพนับถือในองค์พ่อท่านแช่มเป็นอย่างสูง โดยเฉพาะชาวพุทธในจังหวัดปีนัง ยกย่องพ่อท่านแช่มเป็นเสมือนสังฆปาโมกข์เมืองปีนัง ด้วย
 การปราบอั้งยี่ในครั้งนั้น เมื่อพวกอั้งยี่แพ้ศึกแล้วก็หันมาเลื่อมใสให้ความเคารพนับถือต่อพ่อท่านแช่มเป็นอย่างมาก แม้แต่ผู้ซึ่งนับถือศาสนาอื่นก็มีความเคารพเลื่อมใสต่อพ่อท่านแช่ม   เกิดเหตุอาเพทต่าง ๆ ในครัวเรือนต่างก็บนบานพ่อท่านแช่มให้ช่วยจัดปัดเป่าให้ ชาวเรือพวกหนึ่งลงเรือพายออกไปหาปลาในทะเลถูกคลื่น และพายุกระหน่ำจนเรือจวนล่ม ต่างก็บนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ให้คลื่นลมสงบ แต่คลื่นลมกลับรุนแรงขึ้น ชาวบ้านคนหนึ่งนึกถึงพ่อท่านแช่มได้ ก็บนพ่อท่านแช่มว่าขอให้พ่อท่านแช่มบันดาล ให้คลื่นลมสงบเถิด รอดตายกลับถึงบ้านจะปิดทองที่ตัวพ่อท่านแช่มเล่าให้พ่อท่านแช่มทราบและขอปิดทองที่ตัวท่าน พ่อท่านแช่มบอกว่า ท่านยังมีชีวิตอยู่จะปิดทองยังไง ให้ไปปิดที่พระพุทธรูป ชาวบ้านกลุ่มนั้นก็บอกว่า ถ้าพ่อท่านไม่ให้ปิดหากแรงบนทำให้เกิดอาเพทอีก จะแก้อย่างไร ในที่สุดพ่อท่านแช่มก็จำต้องยอมให้ชาวบ้านปิดทองที่ตัวท่านโดยให้ปิดที่แขนและเท้าชาวบ้านอื่น ๆ ก็บนตามอย่างด้วยเป็นอันมาก พอพ่อท่านแช่มออกจากวัดไปทำธุระในเมือง ชาวบ้านต่างก็นำทองคำเปลวรอคอยปิดทองที่หน้าแข้งของพ่อท่านแทบทุกบ้านเรือนจนถือเป็นธรรมเนียม เมื่อกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จมาจังหวัดภูเก็ตนิมนต์ให้พ่อท่านแช่มไปหา ก็ยังทรงเห็นทองคำเปลวปิดอยู่ที่หน้าแข้งของพ่อท่านแช่มนับเป็นพระภิกษุองค์แรกของเมืองไทยที่ได้รับการปิดทองแก้บนทั้ง ๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่
 แม้แต่ไม้เท้าของพ่อท่านแช่ม ซึ่งท่านถือเป็นประจำกายก็มีความขลังประวัติความขลังของไม้เท้ามีดังนี้ เด็กหญิงรุ่นสาวคนหนึ่ง เป็นคนชอบพูดอะไรทะลึ่ง จึงบนพ่อท่านแช่มว่า ขอให้อาการปวดท้องหายเถิด ถ้าหายแล้วจะนำทองไปปิดที่ของลับของท่านพ่อท่านแช่มอาการปวดท้องก็หายไป เด็กหญิงคนนั้นเมื่อหายแล้วก็ไม่สนใจ ถือว่าพูดเป็นเล่นสนุก ๆ ต่อมาอาการปวดท้องเกิดขึ้นมาอีกพ่อแม่สงสัยจะถูกแรงสินบน จึงปลอบถามเด็ก เด็กก็เล่าให้พ่อแม่ฟัง พ่อแม่จึงนำเด็กไปหาพ่อท่านแช่ม พ่อท่านแช่มกล่าวว่า ลูกมึงบนสัปดนอย่างนี้ใครจะให้ปิดทองอย่างนั้นได้ พ่อแม่เด็กต่างก็อ้อนวอนกลัวลูกจะตายเพราะไม่ได้แก้บน ในที่สุดพ่อท่านคิดแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้โดยเอาไม้เท้านั่งทับสอดเข้าให้เด็กหญิงคนนั้นปิดทองที่ปลายไม้เท้า กลับบ้านอาการปวดท้องจุกเสียดก็หายไป ไม้เท้าของพ่อท่านแช่มอันนี้ยังคงมีอยู่ และใช้เป็นไม้สำหรับจี้เด็ก ๆ ที่เป็นไส้เลื่อน เป็นฝีเป็นปาน อาการเหล่านั้นก็หายไปหรือชะงักการลุกลามต่อไปเป็นที่น่าประหลาด
 พ่อท่านแช่มมรณภาพในปี พ.ศ.๒๔๕๑ เมื่อมรณภาพบรรดาศิษย์ได้ตรวจหาทรัพย์สินของพ่อท่านแช่มปรากฏว่าพ่อท่านแช่มมีเงินเหลือเพียง ๕๐  เหรียญเท่านั้น   ความทราบถึงบรรดาชาวปีนังและจังหวัดอื่นในมาเลเซีย ต่างก็นำเงิน    ขนเอาเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น มีข้าวสาร เป็นต้น มาช่วยเหลือหลายเรือสำเภา งานศพของพ่อท่านแช่มจัดได้ใหญ่โตมโหฬารที่สุดในจังหวัดภูเก็ตหรืออาจจะกล่าวได้ว่ามโหฬารที่สุดในภาคใต้บารมีของพ่อท่านแช่มก็มีมาจนกระทั่งปัจจุบัน

 

๑.๓ มหาอำมาตย์โทพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี


พระยารัษฎานุประดิษฐ์ นามเดิมคือ คอซิมบี้ ณ ระนอง  “ซิมบี้” แปลว่า  “ผู้มีจิตใจงาม” พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯเกิดเมื่อวันพุธเดือน ๕ ปีมะเส็ง พ.ศ.๒๔๐๐ ชื่อ-สกุลเดิมของท่านคือ ซิมบี้ แซ่คอ ต้นตระกูล ณ ระนอง เป็นจีนฮกเกี้ยนชื่อ คอซู้เจียง เกิดที่บ้านแอซู่ แขวงเมืองเจียงจิวหู มณฑลฟูเกี้ยน ในปี พ.ศ.๒๓๔๐ เมื่ออายุประมาณ ๒๕ ปี ออกจากเมืองจีนมาเป็นกรรมกรอยู่ที่ปีนังเพื่อหาทุนทำการค้า เดินทางมาเมืองไทยเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๗มาประกอบอาชีพค้าขายอยู่ที่เมืองตะกั่วป่า โดยได้รับอุปการะจากท้าวเทพสุนทร เมื่อมีทุนรอนมากขึ้นก็ย้ายตั้งหลักแหล่งอยู่ที่เมืองพังงาและขยายกิจการค้าทางเรือระหว่างหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันตกกับเกาะปีนัง ในปี พ.ศ.๒๓๘๗ ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ผูกขาดทำดีบุกที่เมืองกระบุรีและระนอง และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่หลวงรัตนเศรษฐีนายอากรดีบุกแทนที่เจ้าภาษีคนก่อน จึงย้ายครอบครัวไปอยู่ที่เมืองระนอง ทำอากรดีบุกอยู่กว่า ๑๐ ปี เงินภาษีอากรส่งไม่ได้ขาดค้าง ในปี พ.ศ.๒๓๙๘ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นที่พระรัตนเศรษฐี(คอซู้เจียง) เจ้าเมืองระนอง เมืองบริวารของเมืองชุมพร ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๐๕ จึงโปรดเกล้าฯ ให้แยกเมืองระนองเป็นอิสระจากชุมพรขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และเลื่อนบรรดาศักดิ์เจ้าเมืองขึ้นเป็นพระยารัตนเศรษฐี(คอซู้เจียง) ผู้ว่าราชการเมืองระนอง ถือศักดินา ๘๐๐
ความมั่งคั่งร่ำรวยจากการผูกขาดทำภาษีอากรแบบ “เหมาเมือง” ในเมืองระนอง ทำให้พระยารัตนเศรษฐี(คอซู้เจียง) สามารถขยายกิจการออกไปหลายอย่าง ทั้งด้านการค้าขายและเหมืองแร่ ได้ตั้งห้างโกหงวนขึ้นที่ปีนังสำหรับซื้อขายสินค้าจากเมืองระนอง และขยายการทำเหมืองแร่ดีบุกและกิจการค้าในเมืองหลังสวนอีกเมืองหนึ่ง
 พระยารัตนเศรษฐี(คอซู้เจียง) ลาออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองในปี พ.ศ.๒๔๒๐ แต่ก็ได้รับโปรดเกล้าฯ เพิ่มยศเป็นพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี(คอซู้เจียง) จางวางกำกับราชการเมืองระนอง จนถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.๒๔๒๕
 พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี(คอซู้เจียง) มีภรรยา ๒ คน มีบุตรกับภรรยาคนแรก  ๕  คน   คือ  หลวงศรีโลหภูมิพิทักษ์(คอซิมเจ๋ง) ผู้ช่วยราชการเมืองระนอง พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี(คอซิมก๊อง) ผู้ว่าราชการเมืองระนอง(พ.ศ.๒๔๒๐–๒๔๓๙) และผู้ช่วยราชการเมืองระนอง พระยาอัษฎงคตทิศ รักษา(คอซิมซิม) ผู้ว่าราชการเมืองกระบุรีข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลชุมพร(พ.ศ.๒๔๘๙–๒๔๔๔) หลวงศรีสมบัติ(คอซิมจั๋ว)และพระยาจรูญราชโภคากร(คอซิมเต็ก) ผู้ว่าราชการเมืองหลังสวน(พ.ศ.๒๔๒๑–๒๔๔๑) และมีบุตรกับภรรยาคนที่ ๒ คือ คุณหญิงกิ้มอีก ๑ คน คือพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี(คอซิมบี้) บุตรทั้ง ๖ คนของพระยารัตนเศรษฐี(คอซู้เจียง) มีทายาทสืบต่อกันมาเป็นจำนวนมากกว่า ๗๐ คน แต่ส่วนใหญ่ได้หันไปประกอบอาชีพส่วนตัว ที่รับราชการมากกว่า ๒๐ คน กล่าวได้ว่า ตระกูล ณ ระนอง เป็นตระกูลที่แผ่สาขาเครือญาติออกไปอย่างกว้างขวางในระยะเพียง ๒-๓ ชั่วคนเมื่อบิดาของท่านถึงแก่อนิจกรรมไปแล้วท่านจึงมีโอกาสรับราชการโดยการสนับสนุนของพี่ชาย คือพระยารัตนเศรษฐี(คอซิมก๊อง) ได้นำท่านเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่หลวงบริรักษ์โลหวิสัย ผู้ช่วยราชการเมืองระนอง ในปี พ.ศ.๒๔๒๕ ขณะที่ท่านมีอายุ  ๒๕ ปี เมื่อตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองกระบุรีว่างลงในปี พ.ศ.๒๔๒๘ จึงได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาอัษฎงคตทิศรักษา ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองกระบุรี
 เมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองกระบุรี ทรงทอดพระเนตรเห็นความสามารถของพระยาอัษฎงคตทิศรักษา(คอซิมบี๊) ที่ได้สร้างเมืองกระบุรีขึ้นใหม่ที่ตำบลน้ำจืด และความเจริญที่พระยาอัษฎงคตทิศรักษา(คอซิมบี๊) ได้สร้างให้กับเมืองกระบุรี ก็ทรงโปรดปรานมาก ในปี พ.ศ.๒๔๓๓ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองตรังและในปี พ.ศ.๒๔๔๔ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็จ ซึ่งท่านได้ดำรงตำแหน่งนี้อยู่ถึง ๑๒ ปี จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ.๒๔๕๖ ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลในปี พ.ศ.๒๔๕๖ พระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่งพร้อมกันไปด้วย
 พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ เป็นข้าราชการหัวเมืองที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น ทั้งยังเป็นที่โปรดปรานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึง ๒ รัชกาล คือพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเชื่อถือในความสามารถ โปรดหารือด้วยในกิจการบ้านเมืองจนได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นพิเศษให้ห้อยกระบี่เดินเข้าเฝ้าได้โดยไม่ต้องหมอบคลาน พระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถือเสมือนว่าพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ เป็นพระสหายใกล้ชิดไว้วางพระราชหฤทัยปรับทุกข์สุขได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรีผู้หนึ่งและมีพระราชดำริจะเลื่อนให้เป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตร แต่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ กราบบังคมทูลไม่ขอรับพระราชกรุณา จึงโปรดเกล้าพระราชทานสายสะพายช้างเผือกชั้นที่ ๑ แต่ท่านยังไม่ทันได้รับพระราชทานก็ถูกหมอจันทร์ แพทย์ประจำเมืองตรังยิงและเสียชีวิตเสียก่อน
 พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ เสียชีวิตที่บ้านจักรพงษ์ รัฐปีนัง เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๖  การที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ได้รับเลือกให้เป็นข้าหลวงมณฑลหรือสมุหเทศาภิบาลต่างพระเนตรพระกรรณในมณฑลภูเก็จ ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อความมั่นคงของชาติ ถือว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดา จะต้องผ่านการกลั่นกรองและได้รับการยอมรับจากข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทย และเป็นที่รู้จักตลอดจนมีผลงานเป็นที่พอใจของข้าราชการและราษฎรในท้องถิ่นด้วย ซึ่งปรากฏว่าพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ สามารถผ่านขั้นตอนดังกล่าวได้อย่างง่ายดาย ดังปรากฏในพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยสมัยนั้นว่า “พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ทรงคุณวุฒิเป็นข้อสำคัญที่รู้จักเอาแบบแผนที่ดีทั้งของไทย ของฝรั่ง และของจีน มาประกอบกับอุบายใช้ทุนนิยมทำการให้สำเร็จประโยชน์ได้มาก จะยกแต่บางเรื่องมาเล่าพอเป็นอุทาหรณ์…. พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ไปชวนพ่อค้าที่เมืองปีนังให้เอาเรือไฟไปขายสินค้าที่เมืองตรัง… นอกจากบำรุงสินค้า พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ชอบทำถนนเบิกที่สองข้างทางให้เป็นทำเลกสิกรรม แล้วชวนคนต่างเมือง แม้จนพวกจีนชาวปีนังให้มาจองที่ลงทุนทำเรือกสวนไร่นา ชาวเมืองตรังเองถ้าใครตั้งหน้าทำมาหากินจริง ๆ ก็ลดหย่อนการกะเกณฑ์เรียกใช้… สามารถคิดแผนผังสร้าง   เมืองที่ตำบลกันตังขึ้นใหม่ ได้ตั้งเมืองว่าโดยย่อเพราะพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ได้แสดงความสามารถเป็นอย่างแปลกให้ปรากฏที่เมืองตรังแล้ว เมื่อตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็จว่างลง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยารัษฎานุประดิษฐ์ เป็น สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็จเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๔”
 พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ อยู่ที่เมืองภูเก็จถึง ๑๒ ปี ได้สร้างความเจริญให้กับเมืองภูเก็จหลายอย่าง ซึ่งเราจะพบเห็นร่องรอยในอดีตสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ปกครองเมืองภูเก็จและอนุสรณ์สถานที่จะรำลึกถึงความดีของท่านอยู่ทั่วไปในเมืองภูเก็ต เช่น ศาลากลางจังหวัด ธนาคารชาร์เตอร์ด อาคารสถานีตำรวจภูธร ตลาดใหญ่ โรงพยาบาลวชิระ ตลอดจนถนนหนทางสายต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยของท่านบางสายเช่น สายขึ้นเขารัง ก็ใช้ชื่อ “คอซิมบี้” ของท่านเป็นชื่อถนน นอกจากนี้พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ยังเป็นนักปกครองยอดเยี่ยม สามารถกระตุ้นผู้นำกลุ่มต่าง ๆ ในเมืองภูเก็จ เช่น พระอร่ามสาครเขตร์ พระพิทักษ์ชินประชา ฯลฯ ให้เข้ารับใช้บ้านเมืองและสร้างความเจริญให้แก่บ้านเมืองอย่างเต็มกำลัง ทำให้เมืองภูเก็จสมัยที่ท่านเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลเจริญรุ่งเรืองสูงสุด เป็นเมืองตัวอย่างที่สงบสุขปราศจากโจรผู้ร้าย คำกล่าวยกย่องของชาวภูเก็ตและชาวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันตกที่ยกย่องให้ท่านเป็น  “ดวงประทีปแห่งชายฝั่งทะเลตะวันตก”หรือ “ยอดนักปกครองในรอบ ๒๐๐ ปีของชายฝั่งทะเลตะวันตก” ฯลฯ จึงเป็นคำกล่าวที่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง
 พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ได้รับยกย่องจากคณะทำงานกิจกรรมวันข้าราชการพลเรือนเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕ ว่า เป็น ๑ ใน ๕ ของข้าราชการพลเรือนดีเด่นสาขาการปกครองในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งนับว่าเป็นเกียรติประวัติที่น่าชื่นชมยิ่ง และที่น่าสนใจสำหรับตัวท่านก็คือ ในบรรดานักปกครองทั้ง ๕ ท่านนั้น พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ เป็นผู้เดียวที่ไม่มีความรู้ทางหนังสือ ท่านเขียนหนังสือไม่ได้เลยไม่ว่าภาษาใด ๆ เว้นแต่เซ็นชื่อ กระนั้นท่านกลับพูดภาษาต่าง ๆ ได้ดีถึง ๙ ภาษา คือ ไทย มลายู อังกฤษ ฮินดูสตานี และภาษาจีน อีก ๕ ภาษา ทั้งยังได้แต่งตำราสอนราษฎรเกี่ยวกับการทำมาหากินไว้หลายเรื่อง  เช่นเรื่องการปลูกข้าว การเลือกเมล็ดพืช การเลี้ยงสัตว์จำพวกใช้งานและสัตว์จำพวกที่เลี้ยงเป็นอาหาร เป็นต้น โดยบอกให้เลขานุการประจำตัวจดตามคำบอกแล้วพิมพ์แจกจ่ายราษฎรท่านสามารถตรวจเอกสารราชการต่าง ๆ ได้โดยฟังจากคำอ่านของเลขานุการ พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ มีความจำเป็นเลิศ มีปฏิภาณไหวพริบและช่างสังเกตเป็นเยี่ยมรวมทั้งการหมั่นติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวในวงการต่าง ๆ การได้เดินทางไปในที่ต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศ ตลอดจนพบปะวิสาสะกับท่านผู้รู้ในหลาย ๆ สาขาวิชาชีพทำให้ท่านเป็นผู้มีความรู้มากผู้หนึ่ง จัดเป็นพหูสูตที่ยากที่จะหาสมุหเทศาภิบาลหรือเจ้าเมืองคนใดในยุคสมัยเดียวกันเสมอเหมือนได้
 จังหวัดภูเก็ตได้มีการสร้างรูปปั้นของท่านไว้เป็นอนุสาวรีย์เหมือนที่จังหวัดตรัง ซึ่งประดิษฐานอยู่บนเขารัง สถานที่ผักผ่อนและสวนสุขสภาพกลางเมืองภูเก็จ เพื่อเชิดชูเกียรติคุณของท่านให้สมกับคำกล่าวเก่าแก่ที่ติดปากชาวภูเก็ตและใกล้เคียงว่า “ภูเก็ตเป็นเมืองที่มีข้าราชการดี พระดี และผู้หญิงดี”

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( พฤหัสบดี, 31 มกราคม 2008 )