พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อาทิตย์, 27 มกราคม 2008

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง

ลักษณะอาคาร
อาคารอเนกประสงค์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  เป็นอาคารหลังหนึ่งในกลุ่มอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง จังหวัดภูเก็ต เน้นลักษณะของอาคารไทยภาคใต้เฉพาะถิ่น ที่เป็นเรือนไม้มีหลังคา ๓ ด้าน  โดยมีด้านสกัดเป็นรูปจั่วยกพื้นสูง เสาเหลี่ยมหรือกลมหลังคามุงจาก โครงหลังคาเป็นเรือนฟูกคล้ายภาคกลาง ทางเข้าใหญ่อยู่ตรงด้านสกัดหน้าจั่วของอาคาร  ผนังเป็นเป็นไม้กระดานแผ่นมีสลักถอดได้  มีหน้าต่างขนาดเล็ก พื้นเป็นไม้กระดานหรือไม้ไผ่ทุบ  โครงเสาเป็นไม้ไผ่  ฝาเรือนเป็นไม้ไผ่ขัดแตะยอดจั่วมักเป็นไม้ไผ่สานลายขัดปิดยอดจั่ว


การออกแบบตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ จึงดัดแปลงรูปแบบอาคารดังกล่าวมาเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก โครงหลังคาเหล็กเลียนแบบหลังคาเรือนเครื่องผูก  ตัวอาคารมีลักษณะบ้านพื้นถิ่น  แต่นำวัสดุสมัยใหม่มาประยุกต์ในการก่อสร้างเพื่อความคงทนถาวร  จึงเป็นอาคารที่ทรงคุณค่าในแง่ของการอนุรักษ์แบบบ้านโบราณ  ซึ่งจากการคัดเลือกผลงานสถาปัตยกรรมดีเด่นของสมาคมสถาปนิกสยามพระบรมราชูปถัมภ์ ในงานนิทรรศการ “สถาปนิก ๓๐“ อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง ได้รับรางวัลออกแบบสถาปัตกรรมดีเด่น  ประเภทอาคารที่ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม ชื่อรางวัล Gold Medal ซึ่งเป็นผลงานของนายอุดม  สกุลพานิชย์

ในปีงบประมาณ ๒๕๓๙       อธิบดีกรมศิลปากร ได้อนุมัติเงินกองทุนโบราณคดี เป็นเงิน ๗,๘๘๘,๐๐๐.๐๐ บาท (เจ็ดล้านแปดแสนแปดหมื่นแปดพันบาทถ้วน)  เพื่อใช้ก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ตามรูปแบบที่สถาปนิกได้ออกแบบไว้และได้จัดสรรงบประมาณในปี ๒๕๔๐ เพิ่มเติมสำหรับเป็นค่าติดตั้งครุภัณฑ์ระบบสไลด์มัลติวิชั่นและวิดีโอคอมพิวเตอร์ภายในอาคาร    รวมทั้งผลิตสื่อสไลด์มัลติวิชั่น  สื่อวีดิทัศน์ เรื่องเมืองภูเก็ต รวมเป็นเงินประมาณ ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สองล้านบาทถ้วน)  รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๙,๘๘๘,๐๐๐ บาท (เก้าล้านแปดแสนแปดหมื่นแปดพันบาทถ้วน) เพื่อให้เป็นสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะกิจกรรมทางด้านศิลปวัฒนธรรม  เช่น การแสดงนาฏดุริยางคศิลป์ การฉาย สไลด์มัลติวิชั่น เพื่อให้บริการนักเรียน นักศึกษา และนักท่องเที่ยวที่เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง  รวมทั้งเป็นพื้นที่บริการชุมชนสำหรับหน่วยงานอื่น ๆ หรือชุมชนในท้องถิ่นเข้ามาใช้บริการอันเป็นแนวทางที่ทำให้ผู้คนได้รู้จักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง มากยิ่งขึ้น และส่งผลต่อความก้าวหน้าของพิพิธภัณฑ์ให้สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมและสถานศึกษานอกระบบที่สามารถก่อเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมอย่างแท้จริง.