การวิเคราะห์ของนักเรียน
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อังคาร, 15 ธันวาคม 2009

 

สอนเด็กวิเคราะห์ปี53


 ศธ.  สั่ง  รร.ปรับตารางสอน  เพิ่มชั่วโมงกิจกรรม  ลดเนื้อหาซ้ำซ้อนลง 30%  เน้นให้เด็กคิดวิเคราะห์มากขึ้น  ต่อไปข้อสอบต้องมีทั้งอัตนัยและปรนัย  พร้อมจัดครูแนะแนวให้เด็กค้นพบตัวเองตั้งแต่ประถม

     นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  (ศธ.)  ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของ  ศธ.  ว่า  ศธ.มีนโยบายจะปรับกระบวนการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย  โดยจะเน้นให้เด็กคิดวิเคราะห์มากขึ้นและลดการสอนท่องจำเท่าที่จำเป็น  โดยจะเริ่มใช้หลักสูตรใหม่ปีการศึกษา  2553  ในเดือน  พ.ค.นี้  ซึ่งเป็นหลักสูตรที่สอนให้เด็กคิดวิเคราะห์มากขึ้น  ลดความซ้ำซ้อนของเนื้อหาวิชาลง  30%  นอกจากนั้นยังลดตัวชี้วัดที่ซ้ำซ้อนลงจากที่มีทั้งหมดกว่า  4,000  ตัวชี้วัดเหลือเพียง  2,165  ตัวชี้วัดเท่านั้น

     นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า  ทั้งนี้การตัดเนื้อหาที่ซ้ำซ้อนออกจะไม่ทำให้คุณภาพการเรียนการสอนลดลง  แต่จะมีผลดีตรงที่ทำให้เด็กมีโอกาสเรียนนอกห้องเรียนอย่างสร้างสรรค์มากขึ้น  โดยแต่ละ  รร.จะต้องออกแบบและสรุปว่าจะต้องมีกิจกรรมใดบ้างใน  3  เรื่องหลัก  คือ  1.ทุก  รร.จะต้องหาแหล่งเรียนรู้ใน  รร.ที่จะนำไปสู่การเรียนรู้นอกห้องเรียน  2.แหล่งเรียนรู้ภายในท้องถิ่นซึ่งทุกโรงเรียนจะต้องมีข้อสรุปว่าในท้องถิ่นของตนเองมีแหล่งเรียนรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบใดบ้าง   และข้อสุดท้าย  คือทุก  รร.จะต้องกำหนดการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน  เช่น  การเข้าค่าย  ทัศนศึกษา  ดนตรี  กีฬา  ศิลปะ  เป็นต้น  โดยนโยบายเรียนฟรี  15  ปีจะมีส่วนเข้าไปสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายด้วย

     อย่างไรก็ตาม  ทั้งหมดนี้นำไปสู่การปรับตารางสอน  ซึ่ง  รร.ต้องไปคิดว่าจากเดิมที่เด็กต้องเรียนทั้งหมดถึง  30  ชั่วโมง/สัปดาห์  ควรจะลดลงกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์  และจะมีชั่วโมงกิจกรรมกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์       ส่วนการปรับกระบวนการเรียนการสอน  แบ่งออกเป็น  2  ระดับ  คือ  สอนให้คิดวิเคราะห์ขั้นพื้นฐาน  ซึ่งจะเน้นในช่วงชั้นที่  1  และ  2  ตั้งแต่  ป.1-ป.6  คือสอนให้รู้จักสื่อสาร  สังเกต  สำรวจ  ค้นหา  และแยกแยะเป็น  ระดับที่สองคือ  การคือวิเคราะห์ระดับสูง ในช่วงชั้นที่  3-4  ตั้งแต่  ม.1-ม.6  คือสอนให้เด็กรู้จักการนิยาม  วิเคราะห์  สังเคราะห์  แก้ปัญหา  ตัดสินใจ  และคิดอย่างมีวิจารณญาณได้  ซึ่งจะส่งผลให้เกิดสิ่งใหม่คือกระบวนการสอนจะเน้นให้เด็กเขียนเรียงความและย่อความมากขึ้น  

     "ต้องยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมาเราขาดหายเรื่องนี้ไป  อีกทั้งต่อจากนี้ได้มอบเป็นนโยบายลงไปว่าข้อสอบของทุก  รร.ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  (สพฐ.)  จะต้องมีข้อสอบอัตนัยและปรนัยผสมกัน  และให้  สพฐ.ไปประสานกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ  (สทศ.)  เพื่อให้ข้อสอบการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ต  สอดคล้องกับการเรียนการสอน"  นายจุรินทร์กล่าว

     นอกจากนั้น  จะมีกระบวนการแนะแนวของครูที่ปรึกษาในทุกระดับ  และควรจะเริ่มแนะแนวเรียนอาชีพตั้งแต่  ม.1  เป็นอย่างช้า  ซึ่งทั้งหมดนี้  รร.ดี  3  ระดับ  จะเป็นแกนหลักสำคัญเป็นแม่ข่ายช่วย  รร.ต่างๆ.

อ้างอิง

http://www.norsorpor.com/ข่าว/n1810091/สอนเด็กวิเคราะห์ปี53