ถือศีลกินผัก : สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ |
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ. | |
เสาร์, 12 มกราคม 2008 | |
ประเพณีกินผักสมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ ปรับปรุง ๑๒ มกราคม ๒๕๕๑ กลุ่มภาพขบวนแห่พระจีน
เทศกาลที่ชาวพุทธฝ่ายมหายานในประเทศไทยได้ปฏิบัติในช่วงเดือน 9 ตามกำหนดปฏิทินจีน โดยยึดถือว่าไม่บริโภคเลือดและเนื้อสัตว์ บริโภคแต่ผักและผลไม้นั้น ชาวภูเก็ตเรียกว่า “กินผัก” หรือ “กินเจ” ประวัติเกี่ยวกับประเพณีกินผัก เล่ากันว่า เมื่อครั้งพุทธกาล พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ รัตนสถานแดนสุขาวดีได้ตรัสตอบพระโพธิสัตว์ชุศรีว่า ดาวพระเคราะห์ทั้งเจ็ดมีแสงสว่างรุ่งเรืองในเทวพิภพ พร้อมกับพระกายพระโพธิสัตว์อีกสององค์ รวมเป็นเก้าองค์ คือพระวิชัยโลกมนจรพุทธะ ปรากฏเป็นพระอาทิตย์ จีนเรียกว่า ไท้เอี้ยงแซ พระศรีรัตนโกลประภาโฆษอิศวรพุทธะ ปรากฏเป็นพระจันทร์ จีนเรียกว่า ไท้อิมแซ พระเวปุลลรัตนโลกสุวรรณพุทธะปรากฏเป็นดาวอังคาร จีนเรียกว่า ฮวยแซ พระอโศกโลกวิชัยมงคลพุทธะ ปรากฏเป็นดาวพุธ จีนเรียกว่า จุ้ยแซ พระวิสุทธิอาศรมโลกเวปุลลปรัชญาวิภาคพุทธะ ปรากฏเป็นดาวพฤหัสบดี จีนเรียกว่า บักแซ พระธรรมมติธรรมสาครจรโลกมโนพุทธะ ปรากฏเป็นดาวศุกร์ จีนเรียกว่า กินแซ พระเวปุลลจันทร์โลกไภสัชชไวฑูรย์พุทธะ ปรากฏเป็นดาวเสาร์ จีนเรียกว่าโท้วแซ ทั้งเจ็ดพระองค์เป็นพระพุทธเจ้าในอดีต และมีพระโพธิสัตว์อีกสององค์ คือพระศรีสุขโลกปัทมครรภอลังการโพธิสัตว์ ปรากฏเป็นดาวราหู จีนเรียกว่า ล่อเกาแซ แลพระศรีเวปุลลสังสารโลกสุขอิศวรโพธิสัตว์ ปรากฏเป็นดาวเกตุ จีนเรียกว่า โกยโต้วแซ ชาวจีนเรียกเทพเจ้าเก้าองค์ว่า เก้าอ๊วง หรือ กิ๊วอ๊วง หรือ กิ๋วหอง เทพทุกองค์คือกำเนิดมาเป็นมนุษย์ตามวันนั้น ๆ การขอพรต่อเทพทั้งเก้านั้น ผู้ขอพรต้องกระทำตนให้บริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา และใจ เช่น ชำระล้างกายให้สะอาด สวมเสื้อผ้าชุดสีขาว ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่บริโภคเลือดเนื้อสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ งดเสพประเวณี ไม่พูดเท็จไม่เสพของมึนเมา การปฏิบัติทั้งหมดนั้นติดต่อกันครบสามวัน ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ชาวจีนเรียกว่า เช้ง เชื่อว่ามีอำนาจพิเศษบางประการ เช่น ลุยถ่านไฟลุกโชนได้โดยไม่มีอันตราย วิรัช ติมอธิกุล กล่าวถึงพิธีกินผักว่า การกินผักในเมืองไทยเพิ่งมีมาเมื่อร้อยกว่าปี บ้างว่าเริ่มในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยนั้นเรือสำเภาไทยขึ้นล่องติดต่อกับเมืองจีนเป็นประจำ ชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่อพยพมาหาเลี้ยงชีพในเมืองไทย ชาวจีนแต้จิ๋วมักประกอบอาชีพในภาคกลาง ชาวจีนฮกเกี้ยนมักประกอบอาชีพในภาคใต้ เช่นอาชีพทำเหมืองที่ภูเก็ต ครั้งหนึ่งเกิดโรคระบาดที่เมืองภูเก็จ(ปัจจุบันคือที่ตลาดกะทู้) มีผู้แนะนำให้สะเดาะเคราะห์ด้วยการถือศีลกินผัก จึงสามารถขจัดเป่าโรคร้ายลงได้ การกระทำครั้งแรก ๆ นั้นเข้าใจกันว่ายังทำไม่ถูกวิธี คณะงิ้วที่มาแสดง ณ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ก็รับอาสาไปเมืองจีน(มณฑลฮกเกี้ยน(ฝูเจี้ยน)และ/หรือมณฑลกังไส)เพื่อไปศึกษาพิธีกรรมกินผักที่สมบูรณ์แบบ ล่วงสามปีคณะงิ้วกลับมา และนำ “เหี่ยวเอี๊ยม” หรือธูปที่จุดติดต่อมาจากมณฑลกังไสกลับมาถึงจังหวัดภูเก็ต เรือสำเภามาถึงท่าเรือสะพานหินที่บ้านบางเหนียว จังหวัดภูเก็ต ในคืนเก้าโง่ยโซ่ยชิ้ด ตรงกับวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๙ ของจีน รุ่งเช้าวันที่ ๘ ของเทศกาลกินผัก ชาวกะทู้จึงจัดขบวนไปรับ “เหี่ยวโห้ย” หรือ “เหี่ยวเอี๊ยม” พร้อมด้วยคัมภีร์ และเลี่ยนตุ่ยหรือป้ายชื่อแห่ไปศาลเจ้ากะทู้ การจัดพิธีกินผักในปีต่อ ๆ มาในวันที่ ๘ ของเทศกาลจึงได้จัดขบวนไปรับพระที่สะพานหิน สถานที่เป็นศูนย์กลางจัดงานกินผัก ได้แก่ ศาลเจ้าที่คนทั่วไปเรียกว่า โรงพระ ชาวภูเก็ตเรียกว่า อ๊าม ในวัน ๑ ค่ำ เดือน ๙ ของจีนเป็นวันเริ่มต้นเทศกาลกินผัก ชาวบ้านช่วยทำความสะอาดศาลเจ้า เครื่องบูชาเทพเจ้าและโรงครัว เมื่อถึงเวลาบ่ายมีพิธียกเสาไม้ขนาดใหญ่เรียกว่า เสาโกเต๊ง เสมือนยกเสาธงมหาชัยไว้ประจำอ๊ามถึงเที่ยงคืน ที่ศาลเจ้าก็ประกอบพิธีอัญเชิญยกอ๋องส่องเต่ เป็นเทพเจ้าองค์ประธาน และอัญเชิญเทพทั้งเก้ามาเป็นเทพประจำพิธี พร้อมกับจุดตะเกียงน้ำมันเก้าดวงชักขึ้นแขวนไว้ปลายเสาโกเต๊งให้เป็นสัญลักษณ์แห่งดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์สถิตไว้ตลอดเทศกาลกินผัก พิธีกรรมสำคัญของเทศกาลกินผักเกี่ยวข้องกับวิญญาณเทพเจ้า ต้องได้รับความเห็นชอบจากเทพเจ้ามาประทับร่างทรง และกระทำทุกอย่างในพิธีเทพเจ้าเป็นผู้กระทำโดยผ่าน “ร่างทรง” หรือ “ม้าทรง” ม้าทรงคือ คนที่เทพเจ้าเห็นว่าเป็นผู้เหมาะสมที่นำวิญญาณเข้าครองร่างให้กระทำกิจพิธีแทนเทพเจ้านั้น ๆ เพราะวิญญาณล้วน ๆ ไม่สามารถต่อการสื่อสารกับคนทั่วไปจึงอาศัยม้าทรงเป็นสื่อ อาวุธประจำเทพเจ้าแต่ละองค์แตกต่างกัน เช่น เหล็กแหลมสั้นหรือยาว ลูกตุ้มหนาม ดาบคมเดียว ดาบสองคม ขวาน แส้ มีด หอก และกริช เดิมเทพเจ้าแสดงอภินิหารด้วยการสะบัดแส้ไปที่ม้าทรง หรือใช้ดาบขวานฟันหลังพอเป็นรอยแผลไม่ลึกนัก ใช้ลูกตุ้มเหล็กเหวี่ยงสัมผัสกาย ใช้มีดหรือดาบ หรือขวานเชือดลิ้นให้เลือดไหลแล้ว เขียนกระดาษหรือผ้าเรียกว่า “ฮู้” ดูประหนึ่งว่าเทพเจ้าบันดาลให้ม้าทรงไปแสดงความเจ็บปวดให้คนเห็นเพราะเทพเจ้ารับเคราะห์เหล่านั้นแทนม้าทรง หลังจากนั้นม้าทรงใช้เหล็กแหลมมากกว่าหนึ่งเมตรแทงกระพุ้งแก้ม เดินไปไหนไม่สะดวกเพราะต้องระวังไม่ให้เหล็กที่ยาวออกไปนั้นไปปะทะสิ่งใด ๆ บางปีม้าทรงตัดลิ้นตนเอง เมื่อลิ้นขาดก็ใช้เหล็กแหลมเสียบลิ้นเดินไปอวดอิทธิฤทธิ์ กล่าวกันว่าหลังจากตัดลิ้มผ่านไปแล้วนานไม่ต่ำกว่าหนึ่งชั่วโมง ก็สามารถต่อลิ้นนั้นให้ติดได้ดังเดิม ในช่วงเทศกาลกินผัก เทพเจ้ามีพระประสงค์ออกโปรดสัตว์ กรรมการศาลเจ้าก็ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่าจะออกโปรดสัตว์วันใดและไปที่ไหน ส่วนใหญ่จะออกโปรดสัตว์ในช่วงเช้า ศาลเจ้าใดที่มีม้าทรงจำนวนมากบางแห่งนับได้เป็นร้อยองค์ ขบวนแห่ก็จะยาวเหยียดเป็นระยะทาง ๒๐๐ - ๓๐๐ เมตร ประกอบกับขบวนธงทิว รถนำ รถตามขบวนแห่เกี้ยวเล็กเกี้ยวใหญ่ ขบวนโหลก๊อฉ่าได้แก่ ฉาบเล็ก ฉาบใหญ่ ไท้ โล่และกลอง เป็นกลุ่ม ๆ ละ ๓- ๕ คน สลับกับเกี้ยวเป็นตอน ๆ ก็ทำให้ขบวนยาวเป็นกิโลเมตร ก่อนเวลาเคลื่อนขบวน เทพเจ้าเข้าประทับร่างม้าทรงที่แต่งองค์ทรงเครื่องครบถ้วน มีอาวุธครบมือพร้อมพี่เลี้ยงหรือผู้ติดตามองค์ละอย่างน้อย ๑ คน ในขบวนจะมีเก่วหรือเกี้ยวที่อัญเชิญหุ่นพระจีน มีคนหามเกี้ยวขนาดเล็กอย่างน้อยเกี้ยวละ ๔ คน ส่วนตัวเหรียนหรือเกี้ยวใหญ่ มีคนหามไม่ต่ำกว่า ๑๐ คน ผู้หามเกี้ยวแต่ละคนมีผ้าโพกหรือคลุมศีรษะและมีสำลีอุดหูไว้กันเสียงและแรงระเบิดของประทัดตลอดเส้นทางเดินโปรดสัตว์ซึ่งมีระยะทางเดินไม่ต่ำกว่า ๕ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ ๒-๓ ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เส้นทางที่เทพเจ้าผ่านออกไปโปรดสัตว์ ผู้ศรัทธาตั้งโต๊ะจัดผลไม้ ขนม น้ำชา ไว้ถวาย เมื่อเทพเจ้าในร่างม้าทรงเดินผ่านจะเข้าไปรับของถวาย โดยหยิบถ้วยชาจิบดื่มแล้วส่งให้ผู้ที่เทพเจ้าเห็นควร และรับของถวายแจกจ่ายกันรับประทาน สิ่งของที่เทพเจ้ารับแล้วส่งต่อให้นั้นผู้ศรัทธาเชื่อว่าเป็นสิ่งอันเป็นมงคลยิ่งควรแก่การปีติยินดีในเทศกาลกินผัก พิธีกรรมสมัยก่อนผู้ศรัทธาที่จะถวายประทัดเพียงแต่จุดประทัดทั้งชุดโยนใส่เก่ว แต่บัดนี้ได้วิวัฒนาการเป็นการเอาประทัดมาผูกติดเป็นแพยาวตั้งแต่ ๑ เมตร ไปถึง ๒๐ เมตร ที่ยาวมาก ๆ มักผูกเชือกใส่รอกแขวนไว้บนตึก ๔ ชั้นขึ้นไป จุดแล้วค่อย ๆ หย่อนปลายเชือกให้ประทัดระเบิดบนเก่วหรือเกี้ยวพระติดต่อไปนาน ๆ ถึง ๑๐ นาที นาทีหนึ่งต้องเสียเงินประมาณ ๑,๐๐๐ บาท ความศรัทธาในลักษณ์เช่นนี้เห็นควรได้รับการพิจารณาทบทวน นอกจากการแสดงปาฏิหาริย์ของม้าทรงกับอาวุธประจำกายแล้ว เทพเจ้าจีนที่ประทับทรงก็ทรงก็จะพาม้าทรงและผู้ที่กินผักถึงชั้น “เช้ง” แล้วเดินผ่านกองไฟหรือที่เรียกว่า ลุยไฟ เพื่อเป็นการเผาผลาญสิ่งไม่ดีออกไปจากร่างแต่ร่างกายจะไม่มีรอยเผาไหม้พุพองจากถ่านไฟที่ลุกโซนแดงแต่ประการใด กรรมการศาลเจ้าก่อกองไฟด้วยถ่าน แผ่กระจายกองถ่านเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวประมาณ ๔ เมตร ถ่านไฟหนา ๑ ฟุต เทพเจ้าในร่างทรงจะเดินบ้างวิ่งบ้างผ่านกองไฟไปทีละองค์ เมื่อเทพเจ้าผ่านไปหมดแล้วก็จะอนุญาตให้ผู้ที่ “เช้ง” แล้วเท่านั้นเดินผ่านกองไฟได้ ผู้ที่เช้งบางคนลังเลใจว่าเช้งจริงหรือไม่ มักจะวิ่งผ่านกองไฟ หากมั่นใจก็จะเดินแต่เดินเร็วกว่าปกติ บางคนจะอุ้มหุ่นพระจีนผ่านกองไฟด้วย การแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ที่น่าหวาดเสียวอีกอย่างหนึ่งคือ การไต่บันไดมีด มีดที่นำมาติดตั้งหงายไว้ที่ขั้นบันไดจะต้องลับให้คมมีความยาวประมาณ ๘๐ เซนติเมตร ติดตั้งไว้ที่บันไดทางขึ้น ๓๖ ขั้น ทางลง ๓๖ ขั้น บันไดสูงราว ๑๒ เมตร เทพเจ้าที่ประทับร่างม้าทรงจะเหยียบลงบนคมมี ก้าวเท้าเหยียบบนคมมีดในขั้นสูงสุดแล้วก็ปีนลงอีกทางหนึ่งด้วยการหันหน้าเข้าหาบันได มือจับขั้นบันไดมีด เท้าก็ก้าวเหยียบเลื่อนลงไปจนถึงพื้นเป็นที่อัศจรรย์ ไม่ปรากฏว่าใบมีดบาดมือหรือเท้าของม้าทรงแต่ประการใด ในวันสุดท้ายของเทศกาลกินผัก ศาลเจ้าจะจัดพิธีสะเดาะเคราะห์ให้กับผู้ศรัทธา เรียกว่า “โก๊ยห่าน” จะกินผักจนเช้งหรือไม่กินผักก็สามารถเข้าร่วมพิธีโก๊ยห่านได้ พิธีนี้จะเป็นส่วนหนึ่งหรือจัดโดยเอกเทศจากเทศกาลกินผักก็ได้ แต่เมื่อศาลเจ้าจัดพิธีกินผักแล้ว เทพเจ้าก็มาประชุมพร้อมเพรียงกันจำนวนมาก พิธีโก๊ยห่านเพื่อการสะเดาะเคราะห์ต่อหน้าเทพเจ้าก็เป็นพิธีอันสมควรยิ่ง ผู้ที่ประสงค์จะร่วมสะเดาะเคราะห์ต้องเตรียมรูปภาพตัวเอง ทำด้วยกระดาษทอง ตัดเป็นรูปคนมีหัวลำตัวมือและขา ต้นกุยช่าย ๑ ต้น เศษผม เศษเล็บ และเหรียญกษาปณ์ นำไปที่บริเวณพิธี ข้อห้ามอย่างหนึ่ง คือ ห้ามนำเครื่องหนังติดตัวเข้าไปในพิธี ผู้ที่รัดเข็มขัดหรือใช้กระเป๋าหนังก็ต้องเอาออกจากตัว ผู้ชายจะได้รับการทำพิธีก่อน เมื่อเดินไปกึ่งทางจะต้องข้ามหม้อดินที่เผาไม้เทพทาโรมีควันหอม เทพเจ้าบางองค์รับหน้าที่ประทับตราลงบนหลังเสื้อของผู้เข้าร่วมพิธี เมื่อเดินไปสิ้นสุดทางก็ทิ้งรูปแทนตนเอง เศษเล็บและผมลงในภาชนะที่จัดไว้ ต้นกุยช่ายก็นำไปเก็บที่โรงครัว เหรียญก็เก็บไว้บำรุงศาลเจ้า เมื่อผู้ชายผ่านหมดแล้ว ผู้หญิงก็เดินตามไป ไม่ต้องข้ามหม้อดินเหมือนผู้ชาย ส่วนเด็ก ๆ ที่เดินไม่ถนัด พ่อแม่ก็อุ้มเข้าร่วมพิธีได้ วันสุดท้ายของเทศกาลกินผัก แต่ละศาลเจ้าจะจัดขบวนแห่ไปส่งพระที่สะพานหิน ยกเว้นศาลเจ้ากะทู้ที่ส่งพระเมื่อพ้นหมู่บ้านออกไปเพียงเล็กน้อย ก่อนการส่งพระ ที่ศาลเจ้าจะทำพิธีซงเก๊ง คือการสวดมนต์ อ่านรายชื่อผู้ศรัทธา และร่วมกินผัก รวบรวมธูปเผาพร้อมกระดาษทองในวันทำพิธีส่งกิ๋วหองไต่เต่ วันส่งพระช่วงกลางคืนมีขบวนแห่ ผ่านไปทางไหนตลอดระยะทางมีโต๊ะเครื่องถวายเทพเจ้า เมื่อพระจีนในร่างทรงผ่านไปถึงจะจุดประทัดถวายมากน้อยตามกำลังเงิน วันที่ ๑๐ ของเทศกาล มีพิธีลดเสาโกเต๊ง คานไม้ไผ่ที่ยกไว้ปลายเสาตั้งแต่วันแรกของเทศกาล ผู้ศรัทธาได้รับวัตถุมหามงคลและอัญเชิญหุ่นพระจีนที่นำมาประดิษฐานในศาลเจ้าคืนกลับเคหสถาน ตลอด ๙ วัน ๙ คืน ในเทศกาลกินผัก ผู้มีจิตศรัทธาร่วมถือศีลกินผักแสดงออกถึงความเมตตากรุณาต่อสัตว์เสมือนหนึ่งช่วยต่อชีวิตของสัตว์ให้ยืนนานออกไปอีก ดังที่เสถียร โพธินันทะ ได้กล่าวไว้ในหนังสือประวัติการกินผักเดือนเก้าจีน
“ไม่เอาชีวิตของสัตว์มาต่อเติมบำรุงชีวิตของเรา ไม่เอาเลือดของสัตว์มาเป็นเลือดของเรา ไม่เอาเนื้อของสัตว์มาเป็นเนื้อของเรา”
คนที่ถือศีลกินผักได้เพียงคืนเดียวก็คืนชีวิตให้สัตว์โลกอยู่อย่างยั่งยืนได้แล้ว คนเดียวถือได้ ๙ วัน ย่อมคือชีวิตสัตว์ได้มากขึ้น แต่เทศกาลกินผักมิได้ถือปฏิบัติอยู่คนเดียว มีผู้ศรัทธาเป็นร้อยคน พันคน หมื่นคน แสนและล้านคน ชีวิตสัตว์อันเป็นเพื่อนร่วมทุกข์กับเราก็ได้ชีวิตคืนจำนวนมากยิ่งขึ้น เมื่อมหาชนมีแต่ความเมตตากรุณาเป็นผลให้โลกมีแต่สันติสุขยิ่งขึ้น พิธีกรรมในเทศกาลกินผักสะท้อนให้เห็นสาระแห่งการดำเนินชีวิตหลายประการ เช่น ผู้ถือศีลกินผัก ต่างมีความเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตน และเชื่อว่าเทพเจ้าย่อมคุ้มครองรักษา ดังนั้นการลุยไฟ การใช้อาวุธทำร้ายร่างกายจึงไม่ใช่เป็นสิ่งน่ากลัว ถือว่าการกระทำดังนี้ยิ่งทำให้ทวีความบริสุทธ์ของร่างกายและจิตใจ เช่น การลุยไฟ โดยถือว่าไฟเป็นตัวเผาผลาญความชั่วทั้งมวล อีกประการหนึ่งผู้มีจิตศรัทธาจำนวนมากไปร่วมพิธีกรรม แสดงให้เห็นถึงสามัคคีธรรมในชุมชน ต่างมีสิ่งยึดมั่นในจิตใจเหมือนกันทุกคน.
บรรณานุกรม ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์. พุทธศาสนาและความเชื่อ. กรุงเทพฯ : บริษัทเคล็ดไทยจำกัด, ๒๕๓๑. ดวงใจ เอช และเสริมศักดิ์. “กินเจ” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ ๒๕๒๙. กรุงเทพฯ : สถาบันทักษิณคดีศึกษา. ๒๕๒๙ เทพ สาริกบุตร และคณะ พรหมชาติฉบับราษฎร์. กรุงเทพฯ : ลูกส.ธรรมภักดี. ๒๕๒๑. ประสิทธิ ชิณการณ์. “ประเพณีของชาวภูเก็ตที่นักท่องเที่ยวควรทราบ” ใน ประเพณีเกาะภูเก็ต. ภูเก็ต : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต, ๒๕๓๑. ปิ่น มุทุกันต์, พ.อ. “ถือศีลกินเจ” ในประวัติงานถือศีลกินเจ. กรุงเทพฯ : ชินวุฒิ, ๒๕๒๓. ลำจวน มงคลรัตน์. กำเนิดรามเกียรติ์. กรุงเทพฯ : อำนวยสาส์น, ๒๕๒๗. วิรัช เติมอธิกุล. “ความเป็นมาของการกินเจ” ใน ประวัติงานถือศีลกินเจ. กรุงเทพฯ : ชินวุฒิ, ๒๕๒๓. วิชัย สกุลตัน. “โก๊ยห่าน” ในประเพณีเกาะภูเก็ต” ภูเก็ต : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต, ๒๕๓๑ เสถียร โพธินันทะ. “ประวัติการกินเจเดือนเก้าจีน” ใน ประวัติงานถือศีลกินเจ. กรุงเทพฯ : ชินวุฒิ,๒๕๒๓. อัครา บุญทิพย์. “กินผัก” ในประเพณีเกาะภูเก็ต. ภูเก็ต : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต, ๒๕๓๑. อุดม เมธาธำรงศิริ. “ประเพณีกินผักที่ภูเก็ต” ใน ประวัติงานถือศีลกินเจ. กรุงเทพฯ : ชินวุฒิ, ๒๕๒๓.
*** มห.ภูเก็จ สารานุกรม มทศ. วิถีชีวิตชาวในทู วิถีชิตชาวในทู เจี๊ยะฉ่าย กินผัก เจี๊ยะฉ่าย
กลุ่มภาพชุดกินผัก ๒๕๕๓ ขบวนแห่พระจีน ภาพชุด ๒ ประเพณีกินผัก : สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ ประเพณีกินผัก : หรินทร์ สุขวัฒน์ ภาพยกเสาโกเต๊ง อ๊ามท่าเรือ ศาลเจ้าท่าเรือ ภาพลดเสาโกเต๊ง อ๊ามบางเหนียว อาหารกินผักเจี๊ยะฉ่าย อาหารเจ กินเจ |
|
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อาทิตย์, 20 มีนาคม 2011 ) |