อาชีพที่เกี่ยวเนื่องจากการทำเหมืองแร่
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พฤหัสบดี, 10 มกราคม 2008

อาชีพที่เกี่ยวเนื่องจากทำเหมืองแร่

ไชยยุทธ ปิ่นประดับ
---------

 การทำเหมืองแร่ดีบุกช่วยให้เศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้น ทั้งจากการค้าขายและด้านการใช้แรงงานของชุมชนในละแวกนั้นและแรงงานจากต่างถิ่น  คนที่เกี่ยวข้องกับเหมืองแร่จะต้องใช้เครื่องบริโภคอุปโภคจำนวนมาก  จึงมีอาชีพหลากหลายที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่

การทำเหมืองรู (ปล่อง) เรียกว่าถ่อข้าง จะทำในพื้นที่ราบและเชิงเขา ใช้แรงไม่มากนัก  คนในท้องถิ่นจะมีงานทำจากการตัดไม้มาค้ำยันและผ่าไม้เป็นกระดานขนาดหนาแผ่นละ ๒ เซ็นติเมตร ยาวประมาณ ๑.๒๐ เมตร รวมทั้งไม้กลมขนาดต่าง ๆ ใช้ค้ำยันในเหมืองรู  เมื่อขุดแร่ขึ้นมาได้ก็ล้างแร่ดีบุกให้สะอาด นำไปขายตามบริษัทห้างร้านที่รับซื้อแร่ดีบุก  แต่มีความจำเป็นจะต้องซื้ออุปกรณ์ในการขุดแร่จากห้างร้านในชุมชนเมือง เช่น จอบ เสียม นอกจากอุปกรณ์ในท้องถิ่น เช่น ปุ้งกี๋ หรือเชือกหวายบางชนิด แล้วเงินส่วนที่เหลือได้แบ่งกันมาใช้จ่ายในท้องถิ่นนั้น ๆ 

 

การทำเหมืองหาบ (เหมืองใหญ่) เรียกว่า เบ่งหลอง  ในสมัยก่อนการทำเหมืองหาบ โดยมากจะทำในพื้นที่ราบ เจ้าของเหมืองจะต้องมีทุนจ้างคนงานหรือชวนพรรคพวกหรือกรรมกรที่เข้ามาเป็นกุลีเข้าหุ้นส่วน เมื่อมีการขุดเอาแร่ดีบุกขึ้นมาขายได้กำไรแล้วจึงมาแบ่งกันหรือจะขยายการทำเหมืองแร่ต่อไป

การทำเหมืองหาบนั้นจะต้องใช้กรรมกรอย่างน้อย ๆ ก็ต้อง ๑๐๐ คนขึ้นไปจนถึง ๙๐๐ คน ในจำนวนกรรมกรเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจจากคนงานที่ใช้เงินหมุนเวียนแต่ละวันนับเป็นเงินจำนวนไม่น้อยที่ต้องสะพัดไปยังร้านขายน้ำชา กาแฟ ร้านอาหารและอื่น ๆ  นอกเหนือจากนี้   ยังจะต้องซื้ออุปกรณ์จากชุมชนเมือง และอุปกรณ์จากท้องถิ่นที่หาได้ในบริเวณใกล้ ๆ จากที่ทำเหมือง เช่น ไม้กลม ไม้กระดาน ปุ้งกี๋ เชือกหวาย ฯลฯ เมื่อขุดแร่ขึ้นมาได้ก็มีแผนกล้างแร่ดีบุก จากนั้นจึงนำไปขายหรือถลุงแร่เสียเอง จึงส่งออกไปขายยังต่างประเทศต่อไป เมื่อเจ้าของเหมืองได้เงินจากการขายแร่ดีบุกแล้วจะนำเงินเข้าธนาคารฝากไว้เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนต่อไป หรือจัดซื้อข้าวปลาอาหารแห้งมาเตรียมสำรองไว้เพื่อไว้ขายให้กรรมกรกุลีต่อไป คนงานเหล่านี้ที่อยู่อาศัยทางเจ้าของเหมืองหรือนายเหมืองจะเป็นผู้จัดทำที่พักให้อยู่อาศัยฟรี การสร้างที่พักอาศัยและอุปกรณ์ต่าง ๆ ทางเจ้าของเหมืองจะต้องซื้อจากร้านค้าในชุมชนเมือง แต่บางอย่างต้องอาศัยวัสดุจากธรรมชาติ เช่น ไม้กลม ไม้เสา หรือหวาย ฯลฯ จากชุมชนชนบทหรือจากท้องถิ่นที่วัสดุต่าง ๆ มีอยู่

การทำเหมืองสูบ (สั่วป้อง) จะต้องขออนุญาตจากรัฐบาลในการทดลองแร่ และขอประทานบัตรในการทำเหมือง  การทำเหมืองสูบต้องทำในพื้นที่ราบเป็นส่วนใหญ่    และจะต้องใช้พื้นที่กว้างมากพอสมควร นายเหมืองจะต้องมีทุนมากพอที่จะสามารถซื้อที่ดิน ซื้อเครื่องจักรสูบดิน และเครื่องสูบน้ำ สร้างรางแร่ ขุดคลองทำนบกั้นน้ำ  กั้นดินมูลทรายท้ายราง และดินเลน อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำเหมืองแร่ดีบุกอย่างเพียงพอ หรือถ้าหากนายเหมืองอาจจะซื้อเครื่องจักรกลทุ่นแรง เช่น รถขุดดิน รถบูลโดเซอร์ รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ด้วยทั้งนี้ล้วนแต่ต้องสั่งซื้อจากบริษัท ห้างร้าน ในชุมชนเมืองทั้งสิ้น การทำเหมืองแร่ดีบุกแบบเหมืองสูบ ต้องสร้างโรงเรือน ดังนี้

๑. สำนักงาน (ชิ่นเต้งป๋าง) เป็นที่ทำงานของนายเหมืองนั้น ๆ มีสมุห์บัญชีเป็นตัวแทนเจ้าของเหมือง มีผู้จัดการเหมืองแร่ (จงสุน) ผู้ช่วยผู้จัดการเหมือง (ยี่กัง) หัวหน้าช่างเครื่อง (เถาชิ้ว) ผู้ช่วยหัวหน้าช่าง (ยี่ฉิ้ว) และเสมียน สำนักงานจะใช้เป็นสถานที่ปรึกษางาน เป็นที่ล้างแร่ให้สะอาด และเป็นที่เก็บอุปกรณ์

๒. ที่พักคนงาน (กงสี) เป็นที่สำหรับให้กรรมกรทั่วไปได้พักอาศัย ซึ่งทางเหมืองจะสร้างเป็นห้องแถวยาวยกพื้นสูงทั้งสองข้าง  หันเท้าเข้าหากัน ตรงกลางทางเดินช่วงนี้ห่างประมาณ ๑.๕๐ เมตร เพื่อให้การเดินไปมาได้สะดวก  ที่พักของกรรมกรเหมืองนี้อย่างน้อยเหมืองหนึ่ง ๆ จะต้องมีกรรมกร ๓๐–๔๐ คน จะต้องสร้างส้วมให้ด้วย เพื่อให้คนงานใช้ และคนงานในท้องถิ่นอีกประมาณ ๒๐ คน รวมแล้วทั้งหมด ๔๐–๖๐ คน

๓. สถานที่หุงข้าว (จ้งผ้อแป๋)  ตั้งแต่ระดับผู้จัดการจนถึงกรรมกรกินวัน ๒ เวลา คือ มื้อเที่ยงและมื้อเย็น  ในสมัยก่อนมีคนจีนที่เป็นกรรมกรเหมืองมาก ทางเหมืองจะต้องหุงข้าวต้มเสริมเข้าไปอีก ๒ เวลา คือ เวลาเช้ามืด และเวลาประมาณหลัง ๒ ทุ่ม รวมเป็น ๔ มื้อ ต่อมาทางเหมืองได้ตัดเหลือเพียง ๒ มื้อเท่านั้น

๔. ร้านขายกาแฟและของชำ (ถ่อจู้) มีหน้าที่ขายน้ำชา กาแฟ และกับข้าว ให้คนงานที่เป็นกรรมกร และเป็นตัวแทนทางเหมืองมีหน้าที่รับคนงานประเภทรายวัน (ลูกจ้างชั่วคราว) และมีหน้าที่จ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างรายวัน  เมื่อเลิกจากทำงาน หัวหน้างานหรือนายการปั้น (กังเถา) จะแจกคูปองให้กับคนงานเหล่านั้น (เชี้ยม) ซึ่งทางเหมืองได้ทำขึ้นแทนเงิน กรรมกรที่ทำงานจะนำเชี้ยมมาให้ที่ร้านกาแฟ (ถ่อจู้) เพื่อจะได้ลงในสมุดบัญชีค่าแรงต่อไป เมื่อครบกำหนดจ่ายเงิน คือ ๑๕ วันครั้ง ร้านกาแฟ (ถ่อจู้) จะไปรับเงินจากสมุห์บัญชีและหักลบบัญชีค่าอาหาร ค่ากาแฟ และหักค่าน้ำให้กับคนหุงข้าว (จ้งผ่อ) ที่ได้หาบน้ำไปให้พวกคนงานได้ดื่มกิน ส่วนเงินที่เหลือจะเป็นของกรรมกรต่อไป
คำว่า “เชี้ยม” เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน  ทางเจ้าของเหมืองจะทำเชี้ยมขึ้นโดยใช้ไม้กระดานบางหนา ๐.๕ เซ็นติเมตร กว้าง ๓ เซ็นติเมตร  ยาว ๑๕ เซ็นติเมตร และที่หัวของไม้จะใช้มีดแกะให้เป็นรูปลักษณะเครื่องหมายเป็นรอยหยัก ทาสีเหลือง แดง และดำ แยกประเภท หมายถึงและเทียบเป็นอัตราเงิน ในสมัยก่อน มีมูลค่าอันละ ๑๕ บาท ๑๐ บาท  และ ๕ บาท และยังมีอีกประเภทหนึ่ง คือ เอาสังกะสีมาตัดมีขนาดความกว้าง ๔ เซ็นติเมตร ยาวประมาณ ๑๐ เซ็นติเมตร และส่วนหัวจะมีเครื่องหมายเป็นรอยหยัก ทาสีขาว หรือสีเขียว เทียบเป็นอัตราเงินมีมูลค่าอันละ ๑ บาท  ๕๐ สตางค์ หรือ ๒๕ สตางค์ การทำงานตามเหมืองแร่ดีบุกในสมัยก่อน อัตราค่าแรง อาจจะแตกต่างกันไปตามหน้าที่ที่รับผิดชอบแต่ละแผนก

๕. เหมืองจะต้องสร้างบ้านพักอาศัยให้กับผู้จัดการเหมือง (จงสุน) ผู้ช่วยผู้จัดการ (ยี่กัง) หัวหน้าช่างเครื่อง (เถาชิ้ว) และผู้ช่วยช่างเครื่อง (ยี่ชิ้ว) และหัวหน้ากะคือนายการปั้น อีก ๓ คน (กังเถา) สร้างเป็นห้องแถวให้คนละ ๑ หลัง หรือ ๑ ห้อง รวมถึงสมุห์บัญชีหรือเสมียน     แต่ถ้าหากว่าเหมืองแร่ดีบุกอยู่ใกล้ชุมชนกึ่งเมือง บางครั้งบ้านเรือนของบรรดาหัวหน้าหรือเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ อยู่ไม่ไกลจากเหมืองเกินไปก็จะกลับไปพักที่บ้าน  เมื่อถึงเวลามาทำงานพวกเขาเหล่านั้นจึงกลับมาทำงานที่เหมืองตามเวลา  หากมีการกู้แร่ดีบุกในวันรุ่งขึ้น บรรดาหัวหน้าทั้งหลายจะต้องนอนที่เหมืองเพื่อคอยดูแลอยู่บนหัวราง เพื่อป้องกันการขโมยแร่ดีบุกในเวลากลางคืน หรือนอนที่สำนักงานด้วยเตียงผ้าใบ(ป้ออี้) และในสำนักงานแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ทำงานของสมุห์บัญชี และเสมียนอีกด้วย  สำนักงานนี้จะต้องกั้นห้องให้เป็นสัดส่วน  แบ่งให้เป็นห้องเก็บอะหลั่ยเครื่องยนต์ประเภทต่าง ๆ ห้องล้างแร่ดีบุก ห้องย่างแร่ดีบุกให้แห้งพร้อมเก็บแร่ดีบุกใส่กระสอบไว้ในห้องนี้ด้วย ห้องเก็บอุปกรณ์เหมือง ห้องสมุห์บัญชี ห้องเก็บข้าวสาร และอื่น ๆ เมื่อล้างแร่ดีบุกจนสะอาดบรรจุกระสอบเก็บไว้ในห้องพิเศษรอขนส่งไปขายให้บริษัทหรือห้างร้านในชุมชนเมืองหรือโรงถลุงแร่ดีบุกต่อไป  ส่วนด้านหน้าของสำนักงานจะไว้สำหรับเป็นที่เก็บรถบรรทุกสัมภาระของเหมือง ฯลฯ
การเตรียมดำเนินการทำเหมืองแร่ดีบุก ทางเจ้าของเหมืองจะต้องจัดเตรียมซื้อที่ดิน ขอประทานบัตร ขอสำรวจพื้นที่ ขออนุญาตสำรวจแร่และขอดำเนินการทำเหมืองแร่ดีบุก ฯลฯ ดูบริเวณสถานที่ตั้งโรงเครื่องสูบดินบริเวณขุมเหมือง โรงเครื่องสูบน้ำสำหรับฉีดดินหน้าเหมือง รางกักเก็บแร่ดีบุก และโรงเก็บหญ้าคา ตามลำดับความสำคัญ ทางเหมืองจะต้องหาผู้จัดการเหมือง สมุห์บัญชี และหัวหน้าช่างเครื่อง จะต้องสั่งอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้ ส่วนผู้จัดการจะต้องสั่งไม้ขนาดต่าง ๆ เช่น ไม้เสาใหญ่ (ตั่วเที่ยว) เสาเล็ก (เส้วเที่ยว) ไม้โข้โบ้กะโส้  ไม้ ๘ ศอก และ ๖ ศอก มาสร้างรางเหมืองแร่และโรงเครื่องจักร ทำสำนักงานและกงสีนอกจากนี้แล้วทางเหมือง การเตรียมดำเนินงานจะต้องขุดคลองน้ำเพื่อนำน้ำมาใช้เพื่อสูบไปฉีดหน้าดินในขุมเหมือง ทำนบกั้นน้ำฝนที่ตกหนักน้ำจะเข้ามาท่วมในขุมเหมืองจะทำให้เสียหายแก่เครื่องจักร ได้ ฯลฯ นอกจากนี้แล้วยังต้องทำนบกั้นดินมูลทรายที่สูบขึ้นมาจากขุมเหมืองมาบนราง  จากนั้นดินทรายสู่ท้ายรางเป็นที่กักเก็บ และยังต้องทำทำนบกั้นดินเลน และมีประตูระบายน้ำใสลงสู่แม่น้ำลำคลองต่อไป  แต่ถ้าหากน้ำที่สูบไปฉีดหน้าเหมืองไม่เพียงพอก็จะต้องนำน้ำที่จะปล่อยลงคลองนั้นไปให้กับโรงสูบน้ำเพิ่มให้เพียงพอเพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรคในการหยุดเหมือง ฯลฯ
เจ้าของเหมืองจะต้องเตรียมมอเตอร์หรือเครื่องจักรสูบดิน สูบน้ำ (ในสมัยก่อนจะต้องหล่อแท่นเครื่องด้วยปูนซีเมนต์ แต่ปัจจุบันทำแบบสมัยใหม่)  กระเพาะหมูสูบดิน สูบน้ำ ท่อสูบดิน ท่อสูบน้ำ ขนาดต่างๆ ที่จะใช้ ประตูน้ำ กระบอกฉีดน้ำ และแท็งก์น้ำมันดีเซล นอกเหนือจากนี้ยังมีอุปกรณ์อื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมากที่ทางเหมืองจะต้องจัดเตรียมให้พร้อม 

๑. อาชีพคนทำเหมืองแร่ดีบุก
 การทำเหมืองแร่ดีบุกนั้นเป็นอาชีพหนึ่งของคนภูเก็ตที่มีมาแต่โบราณ เนื่องจากการทำเหมืองแร่ดีบุก ต้องใช้ทรัพยากรหลายด้าน ทั้งทรัพยากรบุคคล และทรัพยากรธรรมชาติ  จึงเกิดอาชีพที่เกี่ยวเนื่องจากการทำเหมืองแร่อย่างหลากหลาย เช่น นายเหมืองจะต้องสืบเสาะแสวงหาบรรดาผู้บริหารที่สามารถมาทำให้กิจการของเหมืองแร่ดีบุกให้มีกำไรได้ แต่ถ้าหากนายเหมืองไม่มีประสบการณ์ในการทำเหมืองแร่ดีบุกด้วยแล้วย่อมไม่เข้าใจในการสรรหาผู้บริหาร ย่อมมีโอกาสประสบกับการขาดทุนสูง  ฉะนั้นการสรรหาคนมาเป็นผู้บริหารมีตามลำดับดังต่อไปนี้
ผู้จัดการ (จ้งสูน)  ๑ คน เป็นลูกจ้างรายเดือน มีหน้าที่วางรูปแบบบริเวณที่จะทำการสร้างตั้งกิจการเหมือง เช่น สำนักงาน (ชิ่นเต่งป๋าง) ที่พักคนงาน (กงสี) ที่หุงข้าว (จ้งผ้อแป๋) ร้านขายกาแฟ (เตี้ยมหม้า) บ้านพักอาศัย ที่ตั้งตัวรางแร่ โรงเครื่องสูบดิน สูบน้ำ ควบคุมดูแลแร่ดีบุกทั้งที่อยู่ในขุมเหมือง ตลอดจนอยู่ที่สำนักงานและรับผิดชอบทั่วไป 
รองผู้จัดการ (ยี่กัง) ๑ คน เป็นลูกจ้างรายเดือน มีหน้าที่ควบคุม ดูแลคนงานประจำทำงานกลางวัน และดูแลบริเวณเหมือง และรับผิดชอบในการจ่ายคูปองค่าแรงคนงานเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้อง
สมุห์บัญชี (ชิ่นเต้ง) ๑ คน เป็นลูกจ้างรายเดือน เป็นตัวแทนเจ้าของเหมือง มีหน้าที่ควบคุมดูแลด้านการบัญชี การจ่ายเงิน ดูแลแร่ดีบุกที่อยู่ในสำนักงาน นำแร่ดีบุกไปขายยังบริษัทหรือห้างร้าน ติดต่อประสานงาน  เป็นผู้สั่งอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้สำรอง
เสมียน เป็นผู้ช่วยของสมุห์บัญชี เป็นลูกจ้างรายเดือน มีหน้าที่ช่วยดูแลแทนสมุห์บัญชี ทำบัญชี หน้าที่ตรวจดูสต็อคเบิกจ่ายอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้แก่คนงาน บางครั้งก็ดูแลสำนักงานไปด้วยในตัว
หัวหน้าช่างเครื่อง (เถ่าชิ้ว) ๑ คน เป็นลูกจ้างรายเดือน มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลพนักงานดูแลเครื่องยนตร์  โดยเฉพาะซ่อมแซมเครื่องยนตร์ เครื่องจักรกล ปะผุท่อสูบดิน สูบน้ำ เตรียมอุปกรณ์เกี่ยวกับเครื่องยนตร์ให้พร้อม สั่งอะไหล่เกี่ยวกับเครื่องยนตร์
ผู้ช่วยหัวหน้าช่างเครื่อง (ยี่ชิ้ว) ๑ คน เป็นลูกจ้างรายเดือน มีหน้าที่รับผิดชอบแทนหัวหน้า เมื่อหัวหน้าไม่อยู่และเป็นที่ไว้วางใจให้คอยดูแลพนักงาน ดูแลเครื่องจักรกล ซ่อมแซมและอุปกรณ์
อื่น ๆ ให้คงสภาพที่ใช้การได้อยู่เสมอ และควบคุมลูกน้องอีก ๒-๓ คน หรือเหมืองใดมีเครื่องจักรกลทุ่นแรงจะต้องเพิ่มพนักงานขึ้นอีกตามจำนวน
พนักงานดูแลเครื่องยนตร์สูบดิน สูบน้ำ มีจำนวน ๖ คน เป็นลูกจ้างรายเดือน เวลาปฏิบัติงานจะต้องลงตามกะ(บั้น) พนักงานดูแลเครื่องจักรจะหมุนเวียนกันเพราะว่าทางเหมืองเขาได้กำหนดไว้เป็นสากลของเหมืองว่าเว้นแบ่งเป็น ๖ กะ กะหนึ่งมี ๔ ชั่วโมง หมุนเวียนกันไปตลอด เช่นเริ่มเข้าทำงานเวลา ๐๗.๐๐น., ๑๑.๐๐ น., ๑๕.๐๐ น., ๑๙.๐๐ น.,  ๒๓.๐๐ น.,  และ ๐๓.๐๐ น.
คนงานทั่วไป (จับกัง) เป็นลูกจ้างรายวัน มีหน้าที่ทำงานตามที่ผู้จัดการหรือผู้ช่วยมอบหมายให้ไปทำงานของกิจการของเหมือง เว้นแต่มีการกู้แร่ดีบุกจากราง  คนงานทั่วไปเหล่านี้จะต้องมาช่วยกู้แร่ด้วย หรือเหมืองมีเหตุจำเป็นในงานเร่งด่วน พวกคนงานทั่วไปเหล่านี้จะต้องเร่งทำให้จนเสร็จ เช่น รางแร่หักพังลงมา น้ำจะท่วมขุมเหมือง ฝ่ายโรงเครื่องจักร ดูแลท้ายรางกักเก็บมูลดินทราย ฯลฯ คนงานทั่วไปนี้มีจำนวนไม่น้อยกว่า ๖ คน หรือ ๑๐ คนขึ้นไป ตามความจำเป็นของแต่ละเหมืองไม่เท่ากัน
หัวหน้ากะหรือนายการปั้น (กังเถา) มีจำนวน ๓ คน เป็นลูกจ้างรายเดือน มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลคนงานแต่ละแต่ละกะ กะหนึ่ง ๆ มีตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ ดังนี้
หัวหน้ากะ (นายการปั้น)   ๑ คน
พนักงานดูแลเครื่องยนต์สูบดิบ ๑ คน
พนักงานดูแลเครื่องยนต์สูบน้ำ  ๑ คน
คนงานดูแลปากท่อดูดดิน  ๑ คน
คนงานฉีดน้ำ   ๑ คน
คนงานคุ้ยดินร่องน้ำ   ๒ คน
คนงานดูแลหัวสูบ   ๑ คน
คนงานเก็บเศษไม้   ๒ คน
คนงานดูแลบนรางหิน  ๑ คน
คนงานดูแลหัวราง (เถาจั่ม)  ๑ คน
คนงานดูแลฉีดน้ำบนราง (ยี่จั่ม) ๑ คน

วิธีการทำงานกะ (ปั้น)

คนงานในจำนวน ๓๖ คน แบ่งเป็น ๓ กะ กะหนึ่งมีจำนวน ๑๓ คน หัวหน้ากะหรือนายการปั้น เป็นผู้ควบคุมดูแลกรรมกรทั้งหมด  ตามกะที่ทางนายเหมืองได้กำหนดไว้ กะที่ ๑ จะเริ่มตั้งแต่ ๐๗.๐๐ น. ถึง ๑๑.๐๐ น. กะที่ ๒ จะมารับช่วงตั้งแต่ ๑๑.๐๐ น. ถึง ๑๕.๐๐ น. กะที่ ๓ จะมารับช่วงตั้งแต่ ๑๕.๐๐ น. ถึง ๑๙ .๐๐ น. จะทำการหมุนเวียนไปตลอด ๒๔ ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด เมื่อทำงานครบ ๑ สัปดาห์ จึงจะมีการหมุนเวียนกะกันอีกครั้งจากกะที่ ๑ ไปทำงานในกะที่ ๒  กะที่ ๒ จะไปทำงานในกะที่ ๓ กะที่ ๓ จะไปทำงานกะที่ ๑ ตลอดไปทั้งกลางวันและกลางคืน  เมื่อกรรมกรทำงานครบทั้ง ๘ ชั่วโมง หัวหน้ากะจะแจกคูปองให้กับกรรมกร ๆ จึงนำคูปองนั้นไปให้กับร้านขายกาแฟ (ถ๋อจู้) ต่อไป
สำหรับผู้ช่วยผู้จัดการควบคุมคนงานทั่วไป (จับกัง) พวกกรรมกรเหล่านี้จะทำงานเฉพาะกลางวัน  จะเริ่มทำงานตั้งแต่เวลา ๐๗.๐๐ น. ถึง ๑๑.๐๐ น. และจะทำงานต่ออีกครั้งตั้งแต่เวลา ๑๓.๐๐ น. ถึง ๑๗.๐๐ น. เมื่อเลิกงานผู้ช่วยผู้จัดการจะจ่ายคูปองค่าแรงให้กับกรรมกร จากนั้นจึงนำไปให้กับร้านกาแฟ (ถ๋อจู้)
การจ้างงานเหมืองแร่ดีบุกเหมืองหนึ่ง ๆ จะต้องใช้คนงานจำนวนไม่น้อยกว่า ๔๐–๖๐ คน ซึ่งทำให้มีอาชีพและรายได้เกิดขึ้นในท้องถิ่นที่มีการทำเหมืองแร่ดีบุก นอกจากนี้ยังทำให้ร้านขายน้ำชา กาแฟ ร้านค้าขายในท้องถิ่นมีรายได้จากกรรมกรเหมืองแร่มาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นอีก ทั้งอาชีพในท้องถิ่นบางอย่างจะนำมาขายให้กับทางเหมืองโดยตรง จะทำให้คนในท้องถิ่นมีอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้น
การเปิดดำเนินงานเหมืองแร่
เมื่อทางเหมืองได้ดำเนินการในด้านการก่อสร้างทำนบ ขุดคูน้ำ ปลูกสร้างรางกู้แร่ โรงเครื่องจักร สำนักงาน ที่พักคนงาน ฯลฯ เป็นที่เรียบร้อย  ทางเหมืองจะต้องไปแจ้งทางเจ้าหน้าที่โลหะกิจหรือทรัพยากรธรณีจังหวัดในปัจจุบัน ขออนุญาตทดลองเครื่องหรือขออนุญาตดำเนินการเปิดเหมืองเป็นทางการ เมื่อทางเจ้าหน้าที่โลหะกิจหรือทรัพยากรธรณีจังหวัดอนุญาตให้ดำเนินการได้ตามขั้นตอนของทางราชการ
ทางเจ้าของเหมืองจะทำการฉีดหน้าดินเพื่อให้เครื่องจักรสูบดินทรายรวมทั้งแร่ดีบุกที่ปนอยู่ขึ้นมา บนรางกักเก็บแร่ดีบุก เมื่อครบ ๗–๑๐ วัน หรือ ๑๕ วัน จะกู้แร่ครั้งหนึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณของแร่ดีบุกบนรางจะมากน้อยแค่ไหน เมื่อจะมีการกู้แร่ในขุมเหมืองจะต้องหยุดฉีดหน้าดิน ฝ่ายหัวหน้าช่างเครื่องจะต้องซ่อมแซมเปลี่ยนอะไหล่เครื่องสูบดินหรือส่วนอื่น ๆ แต่เครื่องสูบน้ำใสจะต้องสูบน้ำมาล้างแร่บนรางตลอดจนกู้แร่เสร็จจึงขนแร่ดีบุกจากรางไปล้างให้สะอาดยังสำนักงานเพื่อบรรจุใส่กระสอบแล้วรอนำไปจำหน่ายให้กับบริษัทหรือห้างร้านต่อไป
ก่อนที่จะนำแร่ดีบุกไปจำหน่ายให้กับบริษัทหรือห้างร้านของสมุห์บัญชีจะต้องเสียค่าภาคหลวง และขอใบขนแร่ดีบุกไปยังปลายทาง จึงจะนำแร่ดีบุกที่บรรจุกระสอบไปขายให้กับบริษัทห้างร้านต่อไป
ผลได้จากการทำเหมืองแร่ดีบุก
 การทำเหมืองแร่ดีบุกช่วยให้เศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตเจริญเกือบทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นในเขตชุมชนเมือง และชุมชนบ้านนอกที่ห่างไกลออกไป ทำให้เกิดอาชีพต่าง ๆ และเศรษฐกิจของชุมชนนั้น ๆ ได้มีการขยายตัวเจริญอย่างรวดเร็ว  
การทำเหมืองแร่ดีบุกต้องอาศัยแรงงานจากกรรมกรจำนวนมาก ในอดีตต้องอาศัยแรงงานจากชาวจีนเป็นสำคัญหรือชาวต่างถิ่นเข้ามาทำงานเหมืองหนึ่ง ๆ จะต้องใช้กรรมกรมาเป็นแรงงานอย่างน้อยตั้งแต่ ๔๐ คน ถึง ๖๐ คน หรืออาจจะมากกว่านั้น แต่ถ้าหากเหมืองใดมีอุปกรณ์ในการทำเหมืองแร่ดีบุก เช่น เครื่องจักรกลทุ่นแรง มามีส่วนร่วมในการทำเหมือง เหมืองนั้น ๆ จะใช้แรงงานจากกรรมกรน้อยลง  ด้วยเหตุเอาเครื่องจักรกลทุ่นแรง เข้ามาช่วยในการทำเหมืองขุดดิน ขุดคูน้ำ ทำนบ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องใช้แรงงานจากกรรมกรให้มากจนเกินไป การใช้กรรมกรจึงขึ้นอยู่กับขนาดของเหมืองนั้น ๆ 
การทำเหมืองแร่ดีบุกไม่ว่าจะเป็นเหมืองแร่ประเภทใด  ต้องอาศัยอุปกรณ์จากภายนอกเพิ่มขึ้น กัน จนทำให้เกิดโรงร้าน โรงงาน อาชีพต่าง ๆ เกิดขึ้นมีส่วนสัมพันธ์กันทุกกระบวนการที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่บรรดานายเหมืองทั้งหลาย กรรมกรและคนร่อนหาแร่ตามท้ายรางเหมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
๒. อาชีพขายน้ำชา-กาแฟ มีไว้บริการแก่ผู้ที่เดินทางสัญจรไปมาระหว่างชุมชนเมืองกับชุมชนกึ่งบ้านเมืองกับชุมชนบ้านนอก    ยังใช้เป็นสถานที่สนทนาเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ หรือพบปะสังสรรค์ในยามว่าง
๓. อาชีพทำขนมแห้งหรือขนมสด ทั้งแบบจีนหรือแบบพื้นเมือง ผู้ขายจะนำไปฝากตามร้านขายน้ำชากาแฟ และนำออกเร่ขายตามบ้านทั่วไปหรือขายส่งไปยังสถานที่สั่งทำ
๔. อาชีพขายของชำเบ็ดเตล็ด ได้แก่ ข้าวสาร น้ำตาล น้ำมัน และของแห้ง ตลอดจนเครื่องบริโภคอื่น ๆ ด้วย
๕. อาชีพขายอาหารสด ได้แก่ เนื้อหมู เป็ด ไก่ กุ้ง ปู ปลา เป็นต้น
๖. อาชีพขายประเภทพืชผักสด ผักดองของแห้ง และอื่น ๆ ซึ่งเป็นอาหารหลักอีกประเภทหนึ่งที่ทุกคนจำเป็นต้องใช้บริโภค ทั้งขายปลีกและขายส่งไปยังชุมชนหรือตามเหมืองแร่ที่ได้ดำเนินการอยู่
๗. อาชีพขายประเภทเครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้าอาภรณ์ ซึ่งใช้เป็นเครื่องอุปโภคประเภทต่าง ๆ
๘. อาชีพขายเครื่องประดับ เครื่องสำอางแต่ละยุคแต่ละสมัยนิยม
๙. อาชีพตัดแต่งผมและเสริมสวย ตัดเย็บเสื้อผ้า
๑๐. อาชีพขายเสื้อผ้าสำเร็จรูป
๑๑. อาชีพขายรถจักรยาน จักรยานยนตร์และอะไหล่
๑๒. อาชีพบริการรับซ่อมมอเตอร์ไฟฟ้า ไดนาโม และเครื่องแยกแร่ดีบุกด้วยไฟฟ้า
๑๓. อาชีพขายเหล้า บุหรี่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
๑๔. อาชีพในภัตตาคารและร้านอาหาร มีทั้งประเภทชั้นหนึ่ง และประเภททั่ว ๆ ไปตลอดจนแผงลอย และหาบเร่
๑๕. อาชีพขายของป่า ได้แก่จาก หวาย ไม้ไผ่ ไม้ต่าง ๆ ด้ามมีด ด้ามจอบ ด้ามขวาน ฯลฯ ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติทั้งยังเป็นภูมิปัญญาจากชาวบ้านที่ได้จัดทำขึ้นมาเพื่อไว้จำหน่ายปลีกและส่งไปตามชุมชนเมือง หรือเหมืองแร่ ที่มีการทำเหมืองแร่ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องใช้ในการปลูกสร้างอาศัยต้องใช้วัสดุจากธรรมชาติในชนบท
ตามปกติวัสดุจากธรรมชาติที่ชาวบ้านชนบทที่ห่างไกลได้ไปจัดหามาเพื่อทำเป็นสิ่งปลูกสร้างหรือเป็นที่ปลูกสร้างบ้านอาศัย วัสดุจากธรรมชาติก็ย่อมมีประโยชน์  เมื่อได้เกิดมีการทำเหมืองแร่ดีบุกเกิดขึ้น  วัสดุจากธรรมชาติย่อมมีประโยชน์มากขึ้นตามลำดับ จนทำให้กลายเป็นเศรษฐกิจของชุมชนที่ห่างไกลดีขึ้นด้วยการจ้างงานหรือผู้ที่หาวัสดุมาแปรรูปหรือประดิษฐ์เป็นสิ่งของเพื่อนำไปจำหน่ายให้กับร้านค้าในชุมชนเมือง หรือไม่ก็นำไปขายให้กับทางเหมืองโดยตรง  โดยไม่ต้องผ่านร้านค้าในชุมชนเมือง  ทำให้ผู้ที่หาวัสดุมาขายมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยตรง  วัสดุจากธรรมชาติที่เป็นปัจจัยสำคัญในการปลูกสร้างอาคารโรงเรือน และใช้ในการทำเหมืองแร่ดีบุกที่มีส่วนทำให้มีงานทำในลักษณะพิเศษ มีดังนี้
ไม้กระดานหรือไม้แปรรูปเป็นไม้เหลี่ยมขนาดต่าง ๆ  ด้ามจอบ ด้ามมีดพร้า ด้ามพลั่ว และด้ามขวาน ฯลฯ
ไม้ไผ่สำหรับทำกลอนมุงหลังคาจาก ทำเป็นฝากั้นห้อง ทำหมวกกันแดดกันฝน และทำตะกร้า
หวายซึ่งนำมาแปรรูปใช้ในการมุงจาก หรือผูกมัดในการต่อท่อส่งน้ำ ทำเป็นปุ้งกี๋ และสายปุ้งกี๋
ไม้เสาใหญ่  มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ ๘–๑๒ นิ้ว ความยาวตั้งแต่ ๓๐ ฟุตขึ้นไป ส่วนปลายจะต้องไม่น้อยกว่า ๔-๕ นิ้ว แต่ถ้าหากว่ามีความจำเป็นจะต้องใช้ไม้เสาใหญ่ใช้ในกรณีพิเศษอีกด้วย
ไม้เสาเล็ก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ ๕-๖ นิ้ว ความยาวตั้งแต่ ๒๐ ฟุตขึ้นไป  ส่วนปลายเสาจะต้องไม่น้อยกว่า ๓-๔ นิ้ว
ไม้โข้โบ้ เป็นไม้รองจากเสาเล็ก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓-๓.๕ นิ้ว ยาว ๑๒ ศอก
ไม้กะโส้  เป็นไม้รองจากไม้โข้โบ้ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒-๒.๕ นิ้ว ยาว ๑๒ศอก
ไม้ ๘ ศอก เป็นไม้ชนิดเดียวกับไม้โข้โบ้ แต่มีความยาวเพียงแค่ ๘ ศอกเท่านั้น
ไม้ ๖ ศอก เป็นชนิดเดียวกับไม้กะโส้ แต่มีความยาวเพียงแค่ ๖ ศอกเท่านั้น
จากมุงหลังคา เช่น จากใบมะพร้าว จากใบพวน (ใบหวาย)
เสื้อกันฝนสมัยโบราณ (จั่งสุ้ย) ทำด้วยต้นปาล์มชนิดหนึ่งในป่าเรียกว่าต้นรกชก
หญ้าคาสำหรับใช้กันน้ำเซาะดินทรายพังตามคูน้ำหรือตามที่กักมูลดินทรายของท้ายรางเหมือง
ต้นเลา (ส้อพง) เป็นกอไม้ประเภทเดียวกับอ้อ  ใช้ป้องกันน้ำเซาะดินพังตามคูน้ำหรือคลอง
เมื่อวัสดุธรรมชาติที่ได้กล่าวมาแล้วเป็นอุปกรณ์ส่วนหนึ่งในการประกอบการทำเหมืองแร่ดีบุก มีตัวแทนเป็นผู้จัดซื้อจัดจ้างให้คนในชุมชนไปจัดหาวัสดุดังกล่าวมาขายให้กับทางเหมืองแร่ดีบุก ทำให้เกิดการจ้างงานขึ้นอีกแขนงหนึ่งในชุมชนนั้น  ๆ และเป็นการค้าอีกรูปแบบหนึ่ง
๑๖. อาชีพช่างตีเหล็ก  ช่างตีเหล็กจะต้องเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการตีเหล็ก สามารถในการต่อเหล็กให้ติดกัน การตีเหล็กเป็นชนิดต่าง ๆ เช่น มีดพร้า จอบจีน คราด ขวานจีน ชะแลงปากสี่เหลี่ยมปลายแหลมด้ามเหล็กทั้งอัน ชะแลงปากแบนด้ามเหล็กทั้งอัน ชะแลงปากแบนชนิดด้ามต่อด้วยไม้ เหล็กงัดตาปูตีนหมู เหล็กคราด มีดทำครัว และอื่น ๆ ที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ
๑๗. อาชีพขายรถยนตร์ทั้งประเภทบรรทุก รถยนตร์โดยสาร และรถเก๋ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจการเหมืองแร่ที่ใช้ตามห้างร้าน รวมถึงรับส่งผู้โดยสารทั่วไป 
๑๘. อาชีพขายน้ำมันประเภทต่าง ๆ ได้แก่ เบนซินพิเศษ เบนซินธรรมดา โซล่าหมุนเร็ว โซล่าหมุนช้า น้ำมันเครื่อง น้ำมันก๊าด ฯลฯ น้ำมันประเภทต่าง ๆ ใช้ทั้งในกิจการเหมืองแร่ดีบุกและใช้อุปโภคตามบ้านเรือนที่ห่างไกลจากชุมชนเมือง มีทั้งขายปลีกและขายส่ง
๑๙. อาชีพขายอุปกรณ์การทำเหมืองแร่ ได้แก่ ตาปู สกรู ประตูน้ำ จอบฝรั่ง ขวานฝรั่ง พลั่วตักดินสว่านเจาะรูทั้งไม้และเหล็ก ค้อนใหญ่และเล็ก และอุปกรณ์อื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งอุปกรณ์สำเร็จรูปและอะไหล่มีทั้งสแตนเลส ทองเหลือง และเหล็กขนาดต่าง ๆ เพื่อใช้ในงานกลึงต่อไปอุปกรณ์ในการทำเหมืองที่เป็นโลหะ
อุปกรณ์ในการทำเหมืองแร่ดีบุกนั้นมีความจำเป็นอย่างหนึ่งที่จะขาดเสียมิได้นอกเหนือจากที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังต้องอาศัยอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้มีตั้งแต่ชิ้นเล็กจนไปถึงชิ้นใหญ่หรือบ้างก็เป็นอุปกรณ์ชิ้นส่วนต่าง ๆ ซึ่งได้รวมอยู่ด้วย อุปกรณ์บางส่วนที่มีความสำคัญที่เห็นได้ชัดเจน ดังนี้
ประตูน้ำตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ ๑๒ นิ้ว   เป็นเหล็กหล่อหรือทองเหลือง
สกรูน้อตตั้งแต่ ๓/๘ นิ้ว จนถึง ๕/๘ นิ้ว มีความยาวตั้งแต่ ๑ นิ้ว จนถึง ๑๑–๑๒ นิ้ว
ตาปู ตั้งแต่ขนาด ๑-๖ นิ้ว
แหวนรองน้อต ใช้ตามสกรูน้อตชนิดนั้น ๆ
สว่านเหล็กใช้ไม้มีขนาดตั้งแต่ .๕-๑.๕ นิ้ว
เลื่อยเหล็กมีทั้งสั้นและยาว
ขวาน มีดพร้า พลั่ว จอบ ชะแลง ฯลฯ
เตาย่างแร่   จิ๊ก สังกะสี
อะไหล่ และชิ้นส่วนต่าง ๆ ฯลฯ
เครื่องไม้เครื่องมือในการซ่อมแซมบำรุงรักษา
อุปกรณ์ดังกล่าวนี้บางอย่างจะต้องสั่งจากต่างประเทศ  แต่ปัจจุบันภายในประเทศก็ได้ผลิตขึ้นมาใช้เองเป็นจำนวนมากจึงไม่จำเป็นต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ 
วัสดุที่เป็นยางที่ใช้กับเหมืองแร่ดีบุก
 นอกจากวัสดุจากธรรมชาติและโลหะต่าง ๆ แล้ว ยังจะมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วยเช่นกัน คือ ยาง หรือยางสังเคราะห์ ที่ได้นำไปแปรรูปเป็นชิ้นส่วนต่าง ๆ ของกิจการเหมือง ยางนี้เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งที่จะขาดเสียมิได้ในการประกอบการทำเหมืองแร่ดีบุก แต่คนส่วนใหญ่อาจจะมองข้ามไป ประโยชน์ของยางมีทั้งกันซึม กันรั่ว กันอากาศเข้าออกได้ จึงมีความจำเป็นจะต้องใช้ยางหรือยางสังเคราะห์  ดังนี้
 ยางแปรรูปเป็นยางแผ่น  เพื่อรองหน้าแปลนข้อต่อหรือใช้รองรับการสึกหรอในบางส่วน
 ยางแปรรูปเป็นท่อดูดทรายและท่อน้ำ
 ยางแปรรูปเป็นถังใส่แร่ดีบุกจากการกู้แร่
 ยางแปรรูปเป็นโอริงกันน้ำมันรั่ว อากาศรั่วเข้าออกได้
 ยางแปรรูปเป็นชิ้นส่วนต่าง ๆ ใช้ในอุตสาหกรรมการทำเหมืองแร่ดีบุก
 ยางแปรรูปเป็นสายน้ำมันไฮโดรลิก
๒๐. อาชีพในโรงหล่อเหล็ก ซึ่งเป็นโรงหล่อ กระเพาะหมู และใบพัดสูบดินทรายขนาดตั้งแต่ ๖ นิ้ว ถึง ๑๒ นิ้ว ข้อต่อ ข้องอ มีตั้งแต่ขนาด ๙๐ องศา ถึง ๔๕ องศา เป็นต้น และนอกเหนือจากนี้ยังหล่อไว้ใช้กลึงทำเป็นอะไหล่อย่างอื่น  ในโรงหล่อเหล็กนั้นมีช่างทำแบบพิมพ์ไม้ ช่างทำพิมพ์สำหรับหล่อเหล็ก
๒๑. อาชีพในโรงกลึงมีหน้าที่กลึงสิ่งของ ของเหมือง เช่น กลึง กระเพาะหมู  เกลียวใบพัดสูบดิน ฝาปิด กระเพาะหมู  ใบพัดสูบน้ำ  สกรู หาซื้อจากห้างร้านไม่ได้ กรรมกรในโรงกลึงนี้มีหลายหน้าที่ซึ่งจัดเป็นแผนก เช่น ช่างกลึง ช่างฟิต ช่างเครื่อง ช่างเหล็ก ช่างเชื่อม และช่างอื่น ๆ เท่าที่จำเป็นวัสดุที่เป็นโลหะที่นำมาแปรรูป
วัสดุในการทำเหมืองแร่ดีบุกต้องอาศัยวัสดุที่เป็นโลหะชนิดต่าง ๆ มาทำเป็นวัสดุอุปกรณ์ในการทำเหมืองจะเป็นวัสดุที่เป็นเหล็กหล่อหรือเหล็กแผ่น เหล็กกลมหรือทองแดงทองเหลือง ย่อมมีความจำเป็นทั้งสิ้น แต่ขึ้นอยู่กับความจำเป็นที่จะต้องใช้ในกิจการประเภทไหน จึงจะเหมาะสม การทำเหมืองแร่ดีบุกจึงมีความจำเป็นจะใช้วัสดุที่เป็นโลหะดังนี้
เหล็กหล่อ  ใช้หล่อเป็น กระเพาะหมูสูบดิน สูบน้ำ ใบพัดสูบดิน สูบน้ำ ข้อต่อ ข้องอ ปากดูดดิน หัวกระบอกฉีดน้ำ  และอื่น ๆ
เหล็กเหนียว  คือเหล็กธรรมดาใช้ทำเพลาตามขนาดที่ต้องการ  เหล็กแผ่นใช้ทำท่อส่งน้ำสำหรับฉีดดินในขุมเหมืองและใช้ดัดแปลงหรือกลึงตามที่ทางเหมืองต้องการ
ทองแดง ใช้กลึงเป็นเครื่องอะไหล่ เช่น สายไฟ ท่อน้ำมัน และอื่น ๆ เป็นต้น
ทองเหลือง ใช้กลึงเป็นตุ๊กตารองรับเพลา และอื่น ๆ
ตะกั่ว ใช้อาบผิวหน้าตุ๊กตารองรับเพลาเครื่องจักร
 วัตถุดิบส่วนใหญ่สั่งมาจากต่างประเทศเป็นบางส่วนหรือภายในประเทศ แต่ปัจจุบันภายในประเทศมีมากขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องสั่งจากนอกประเทศ
๒๒. อาชีพขายอุปกรณ์การก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์ อิฐ ปูนขาว สังกะสี เป็นต้น
๒๓. อาชีพขายเครื่องยนต์สูบดิน รวมทั้งมอเตอร์  อุปกรณ์เครื่องไฟฟ้า  อะไหล่ ตั้งแต่เครื่องขนาด ๕ แรงม้าขึ้นไปจนถึง ๕๐๐ แรงม้า ซึ่งส่งมาจากยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น เป็นต้น บริษัทห้างร้านสั่งอะไหล่ของเครื่องยนตร์เข้ามาด้วยพร้อมกับท่อดูดดินทราย และยังได้เป็นตัวแทนจัดสั่งซื้อเครื่องจักรทุ่นแรง ได้แก่ รถขุดดิน รถบูลโดเซอร์ ตั้งแต่ขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่เพื่อใช้ในกิจการเหมืองแร่ดีบุก
๒๔. อาชีพในบริษัทเรือขนส่งทางทะเล รับทำหน้าที่ขนส่งสินค้า ได้แก่ เครื่องจักร  เครื่องจักรกล ทุ่น อุปกรณ์ในการทำเหมือง ในสมัยก่อนได้บรรทุกรถยนตร์และของอื่น ๆ ตอนขาเข้า และตอนขาออกบริษัทเรือขนส่งจะบรรทุกแร่ดีบุก ยางพารา ถ่านไม้ และสินค้าอื่น ๆ ไปยังต่างประเทศ
๒๕. อาชีพในบริษัทขนส่งภายในจังหวัดภูเก็ต มีหน้าที่รับบรรทุกสิ่งของระหว่างเรือมายังบริษัทและห้างร้านที่ได้บรรทุกมาจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นสินค้าในการทำเหมืองแร่  รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น
๒๖. อาชีพรับซื้อแร่ดีบุก ซึ่งมีมาแต่โบราณควบคู่กันมากับการขุดร่อนหาแร่ รวมถึงการทำเหมืองแร่ดีบุก เมื่อขุดร่อนหาแร่ดีบุกมาได้มากก็ขายให้กับบริษัทห้างร้านที่ใหญ่ แต่ถ้าหากขุดร่อนมาได้เพียงเล็กน้อยก็ขายให้กับร้านค้าย่อย   ร้านค้าย่อยจึงนำไปขายให้กับบริษัทใหญ่ในเมืองต่อไป
๒๗. อาชีพการธนาคาร ซึ่งได้เข้ามาดำเนินกิจการในจังหวัดภูเก็ตเป็นจำนวนมาก ธนาคารเป็นสถาบันการเงินที่ใช้หมุนเวียนในการทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็นบริษัท ห้างร้าน ร้านค้าตลอดจนถึงประชาชนทั่ว ๆ ไป
๒๘. อาชีพในโรงต้มกลั่นสุรา มีไว้เพื่อบริการคนงานกรรมกรทั่ว ๆ ไป รวมถึงชาวบ้านทั้งชุมชนเมือง และชุมชนชนบท ซึ่งในสมัยก่อนสุราที่ได้ผลิตขึ้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นที่นิยมแพร่หลายส่งไปจำหน่ายยังต่างจังหวัดอีกด้วย
๒๙. อาชีพในโรงถลุงแร่ดีบุก ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยก่อน เมื่อมีผู้ผูกขาดดีบุกจะต้องรับซื้อแร่ดีบุกจากการร่อนหาแร่ พวกนายเหมืองมาทำการถลุงเพื่อให้เป็นโลหะ แล้วจึงส่งไปจำหน่ายต่อไป ต่อมาจึงได้มีโรงถลุงแร่ดีบุกของบริษัทไทยซาร์โกได้เปิดดำเนินการมาจนถึงทุกวันนี้ ได้เปิดรับซื้อแร่ดีบุกจากบรรดาพวกนายเหมืองและห้างร้านทั่วไป
๓๐. อาชีพขายไม้แปรรูปไม้ ที่ได้นำมาแปรรูปจากโรงเลื่อยเป็นที่พักอาศัยทั่ว ๆ ไป ยังนำไปทำในกิจการของเหมืองแร่ดีบุก เป็นต้น
๓๑. อาชีพในโรงรับจำนำ  เมื่อกล่าวถึงโรงรับจำนำนั้นมีมาตั้งแต่โบราณเช่นกันเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้บรรดาชาวบ้านและกรรมกรทั่วไปได้มีโอกาสหมุนเงินนำสิ่งของไปจำนำในคราวที่จำเป็น
๓๒. อาชีพการโรงแรม   บ้านเมืองใดก็ตามเมื่อมีความเจริญเกิดขึ้นก็จะต้องมีโรงแรมไว้บริการแก่ผู้ที่ทำธุรกิจที่สัญจรไปมา ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจทางด้านการค้าหรือการท่องเที่ยว ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่มาทำธุรกิจและสัญจรไปมา
๓๓. อาชีพในโรงงานทำเส้นหมี่ เช่น เส้นหมี่เหลือง บี้หู้น หมี่ซั่ว และเส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่ดังกล่าวนี้เป็นอาหารประเภทหนึ่งเป็นที่นิยมของชาวภูเก็ตที่ชอบรับประทานมาแต่โบราณ  ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่ได้มาลิ้มลองเส้นหมี่ภูเก็ตอีกด้วย
๓๔. อาชีพในโรงฝิ่น  ในสมัยอดีตโรงยาฝิ่นมีผู้ผูกขาดภาษีฝิ่น ชาวจีนที่ได้มาประกอบอาชีพการทำเหมืองหรือกรรมกรทั่วไปนิยมสูบกันมาก ต่อมาสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีกฎหมายให้ยกเลิกการสูบฝิ่น ทำให้โรงยาฝิ่นหมดไปจากภูเก็ตตั้งแต่บัดนั้น
๓๕. อาชีพในโรงบ่อนการพนัน  เมื่อพูดถึงการพนันก็เป็นที่นิยมของชาวภูเก็ตส่วนหนึ่งไม่ว่าจะเป็นนอกระบบหรือในระบบ ก็มีการเล่นอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่นิยมเล่นไพ่จีนมากกว่า เพราะคนจีนที่มาทำเหมืองแร่ดีบุกได้นำการเล่นไพ่จีนเข้ามาจนถึงทุกวันนี้ แต่ปัจจุบันนี้เด็กรุ่นใหม่ไม่นิยมเล่น
๓๖. อาชีพในโรงโสเภณี (โรงเตี้ยม) ที่เกิดขึ้นได้ก็เพราะเหมืองแร่ดีบุก  ซึ่งเมืองที่เจริญส่วนใหญ่จะมีโรงหญิงโสเภณี เป็นสถานเริงรมย์ไว้บริการประเทืองอารมณ์เพื่อความสุขแก่พวกกรรมกรชาวเหมืองทั่วไป
๓๗. อาชีพขับรถรับจ้าง ครั้งแรกก็เกิดขึ้นมาจากชาวจีนที่ลากรถรับจ้าง (ล่างเชี้ย) รถม้า(เบ้เชี้ย) และรถสองแถว (รถโบ้ถ้อง) รับส่งผู้โดยสารจากชุมชนชนบทสู่เมือง หรือจากชุมชนเมืองสู่ชนบท สิ่งเหล่านี้ที่ได้เกิดขึ้นก็เพื่ออำนวยความสะดวกในการไปมาหาสู่ซึ่งกันและกัน
๓๘. อาชีพการก่อสร้างทั่วไป ชาวภูเก็ตส่วนใหญ่จะเป็นกรรมกรรับจ้างนอกเหนือจากการทำเหมืองแร่ดีบุกแล้ว  ยังมีอาชีพก่อสร้างบ้านเรือนอีก
การปลูกสร้างรางกักเก็บแร่ดีบุกเป็นรางทำด้วยไม้ชนิดต่าง ๆ ซึ่งตั้งอยู่บนเสาโครงไม้ มุงหลังคาจากหรือสังกะสี การที่ต้องยกรางแร่นั้นจะต้องตั้งให้สูงกว่าระดับพื้นดิน  เป็นการแก้ปัญหาในเรื่องท้ายรางกู้แร่ถ่ายดินกรวดทรายได้สะดวก ในการยกรางกู้แร่จะต้องยกให้สูงจากระดับพื้นดินประมาณ ๑๔–๑๕ ฟุต ขนาดความกว้างและความยาวจะต้องขึ้นอยู่กับปริมาณของดินกรวดทรายที่สูบขึ้นมาจากขุมเหมือง  แต่ถ้าเป็นเหมืองสูบขนาด ๘ นิ้ว รางกู้แร่จะต้องมีความกว้าง ๘–๑๐ ฟุต ความยาว ๑๖๐–๒๔๐ ฟุต ความลาดชันของรางตั้งแต่หัวรางจนถึงท้ายราง ประมาณ ๓-๕ องศา  จะต้องทำที่แยกหินออกก่อนถึงหัวราง (ซั่วเก้ง) ตอนหัวรางจะต้องทำที่กักเก็บดินทรายและแร่ดีบุก (กุ่ย) จะต้องมีรางระบายน้ำออกเพื่อให้ออกสู่ข้างรางแร่ (เสี้ยจุ้ย) เพื่อที่จะได้เก็บดินทรายอย่างเต็มที่แล้วจึงปล่อยออกสู่รางใหญ่ บนรางจะต้องมีไม้ขวางกั้นขนาด ๒x๓x๘ ฟุต ห่างเป็นระยะ ๘ ฟุตต่อ ๑ ช่วง ตลอดจนถึงท้ายราง เพื่อป้องกันแร่ดีบุกไหลลงสู่ท้ายราง
เมื่อทางเหมืองได้สูบดินทรายขึ้นสู่บนรางกู้แร่เป็นเวลาพอสมควร ๕-๗ หรือ ๑๐–๑๕ วัน ก็จะหยุดเครื่องสูบดินเพียงแต่เดินเครื่องสูบน้ำขึ้นมาล้างดินกรวดทรายออกเรียกว่า กู้แร่ การกู้แร่บนรางนี้เป็นการกู้เอาแต่แร่ดีบุก ซึ่งมีแร่ธาตุอื่น ๆ เจือปนอยู่ จึงขนย้ายไปล้างแร่ที่สำนักงานที่ทำการเหมืองต่อไป เพื่อล้างแร่ให้สะอาดปราศจากมลทินแร่ธาตุอื่น ๆ เพื่อเตรียมส่งออกจำหน่ายต่อไป
การปลูกโรงเครื่องจักรสูบดิน สูบน้ำและอื่น ๆ เมื่อมีการทำเหมืองแร่ดีบุกก็มีความจำเป็นจะต้องสร้างโรงเครื่องจักรสูบดินจากขุมเหมืองที่ได้ฉีดหน้าดินพังลงมายังบ่อสูบ การสร้างโรงเครื่องจักรสูบดินกับสูบน้ำอยู่รวมแห่งเดียวกัน เพราะเครื่องจักรที่มีกำลังเพียงพอและน้ำที่จะสูบไปฉีดหน้าดินก็สะดวกจึงทำให้เครื่องจักรทั้งสูบดินและสูบน้ำไปในตัวพร้อมปั่นไฟฟ้าไปใช้ด้วย
แต่ก็มีเหมืองแร่บางแห่งจะต้องปลูกสร้างโรงเครื่องสูบดินและสูบน้ำคนละที่ เพราะว่าน้ำที่จะสูบนำมาฉีดดินหน้าเหมืองนั้นก็ไม่จำเป็นจะต้องแยกกัน ส่วนน้ำที่สูบขึ้นมาก็ต่อท่อส่งไปยังขุมเหมืองและบนรางล้างแร่
การปลูกสร้างต่าง ๆ บางครั้งทางเจ้าของเหมืองมักจะจ้างเหมาเพื่อความรวดเร็ว เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ ในการดำเนินกิจการเหมือง และยังเป็นรายได้อีกแขนงหนึ่งที่มาจากการทำเหมืองแร่ดีบุกเช่นกัน
๓๙. อาชีพซ่อมรถยนตร์ รถจักรยานยนตร์ และรถจักรยาน  เป็นอาชีพที่ทำรายได้ดีอีกอย่างหนึ่ง เพราะว่าเมืองภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวมีรถยนตร์และรถจักรยานยนตร์เพิ่มมากขึ้น
๔๐.อาชีพทำตัวถังรถรับจ้างสองแถวด้วยไม้  อาชีพทำตัวถังรถรับจ้างสองแถวนี้เป็นเอกลักษณ์ ของจังหวัดภูเก็ตมานาน และเป็นต้นแบบ ได้มีผู้นำรูปแบบไปดัดแปลงทำขึ้นเองในต่างจังหวัด ซึ่งปัจจุบันก็ยังประกอบอาชีพนี้อยู่
๔๑.อาชีพบัดกรีตะกั่วเกี่ยวกับเครื่องยนต์หม้อน้ำรถยนต์
๔๒. อาชีพโรงเลื่อยไม้แปรรูป
๔๓. อาชีพทำจักสานหมวก เสื่อ ตระกร้า เข่ง ภาชนะต่าง ๆ
๔๔. อาชีพทำโรงศพจีนและไทย และพิธีกงเต็ก
๔๕. อาชีพทำการเกษตร และกสิกรรมพืชผักต่าง ๆ และการเลี้ยงหมู เป็ด ไก่ ฯลฯ
๔๖. อาชีพทำรองเท้ายาง และรองเท้าไม้
๔๗. อาชีพร้านขายยาสมุนไพรจีน ยาสำเร็จรูป และสมุนไพรไทย
๔๘. อาชีพสถานบันเทิง โรงภาพยนตร์ โรงรำวง ไนต์คลับ หนังตะลุง
๔๙. อาชีพแพทย์รักษาผู้ป่วยโรคต่าง ๆ
๕๐. อาชีพร้านขายเครื่องเขียนแบบพิมพ์ โรงพิมพ์ และหนังสือประเภทต่าง ๆ
๕๑. อาชีพร้านขายเครื่องเซ่นไหว้ บูชา ธูป เทียน ฯลฯ ทั้งจีนและไทย
๕๒. อาชีพขายผลไม้ทุกชนิด
๕๓. อาชีพการทำสวนยาง สวนมะพร้าว
๕๔. อาชีพทำโรงอิฐ ทำก่อสร้าง
๕๕. อาชีพโรงน้ำแข็งอุปโภค และบริโภค
๕๖. อาชีพโรงทำปลาเค็มตากแห้ง
๕๗. โรงเรียนเอกชนสอนภาษาจีน และภาษาไทย
๕๘. อาชีพการท่องเที่ยว
๕๙. อาชีพโรงทำน้ำโซดา น้ำส้ม น้ำหวาน และน้ำซาซี่
๖๐. อาชีพทำเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งทั่วไป
๖๑. โรงสีข้าว ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว
๖๒. ร้านขายเครื่องครัว ถ้วยชามต่าง ๆ
๖๓. โรงทำซอสถั่วเหลือง ซีอิ้วขาว เต้าเจี้ยว เต้าเจี้ยวดำ ฯลฯ
๖๔. อาชีพเตาเผาถ่านไม้ป่า และไม้ทะเลส่งออก
๖๕. อาชีพรับจ้าง  เมื่อเกิดเป็นคนแล้วส่วนใหญ่จะต้องมีอาชีพรับจ้างไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่มีกิจการเป็นของตัวเอง ตราบนั้นก็ต้องเป็นกุลีหรือกรรมกรรับจ้างต่อไป
จากการทำเหมืองแร่ดีบุกในอดีต จังหวัดภูเก็ตได้ชื่อว่าเป็นเมืองดีบุกและร่ำรวยที่สุดของประเทศไทย ทำให้บ้านเมืองเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตที่ได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปเรื่อย ๆ โดยมิได้หยุดอยู่กับที่  นอกเหนือจากได้มีบริษัทห้างร้าน ร้านค้าปลีกย่อย โรงแรม  โรงงานตลอดจนทุกสาขาอาชีพล้วนแต่ได้รับผลพวงมาจากการทำเหมืองแร่ดีบุกนั้นเองที่ทำให้เกิดกิจการต่างๆ มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้ขยายเติบโตขึ้น จนทำให้ประชาชนทั้งภายในจังหวัดภูเก็ตและที่มาจากต่างจังหวัดได้มาประกอบอาชีพต่าง ๆ มากขึ้นตามลำดับ
๖๖.อาชีพช่างแผนที่
  การวางแผนที่สังเขปลงในเนื้อที่มากๆจะต้องทำเครื่องหมายในแผนที่ แต่ต้องตัดสินใจว่าเอาระยะห่างกันสักแค่ไหน ในการตรวจรองแร่ขั้นต้น เช่น แผนที่ขนาด ๑/๒๐,๐๐๐ หรือแผนที่อาจเล็กเกินไป จะทำการไชชิดเกินไปไม่ได้บางครั้งอาจบันทึกรายละเอียดไม่ได้ จำเป็นจะต้องขยายแผนที่ให้ใหญ่  เพื่อที่จะบันทึกรายละเอียดได้มากเท่าที่จะหาได้ เมื่อทำการรังวัดหมดต้องเตรียมแผนที่ให้เรียบร้อย ก่อนที่จะทำการตัดแนวเขตของพื้นที่ดิน เมื่อเตรียมการทำการตรวจลองแร่ ให้พร้อมเสียก่อน เช่นที่พักอาศัย จะเช่าหรือปลูกสร้างใหม่ แต่จะต้องหาที่สร้างที่พักให้อยู่ใกล้แม่น้ำลำคลองเป็นที่สำคัญที่สุด
 ช่างแผนที่กับพวกช่างรังวัดตัดแนวเขตควรแยกกันในการปฏิบัติงาน การทำเหมืองโครงการใหญ่ๆ ก็ไม่ควรประหยัดค่าใช้จ่ายในการสำรวจรองแร่ เพราะเป็นการเสี่ยงต่อการขาดทุนได้
 การวางแนวแผนที่สำรวจเราไม่จำเป็นจะต้องตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมเสมอไป อาจเป็นรูปอะไรก็ได้ ฯลฯ แต่สำหรับแผนที่ที่จะใช้ในการสำรวจรองแร่ทำเหมืองนั้นควรจะเป็น ๑/๒,๐๐๐ เพราะจะทำให้เห็นได้ชัด ถ้าหากมีการสำรวจรองแร่เพิ่มเติมหรือที่เรียกกันว่า  (ซอยเข้าระหว่าง) ช่องของแผนที่ดินได้ง่ายแต่ถ้าหากแผนที่เล็กขนาด ๑/๘,๐๐๐ หรือ ๑/๑๖,๐๐๐ แต่ถ้าหากจะขยายอาจจะเป็นการยุ่งยากขึ้นบ้าง ฉะนั้นแผนที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีขนาดที่ทำงานได้คล่องตัวได้มากที่สุดเพราะแผนที่จะแตกต่างกันมาก
 เมื่อได้แผนที่มาจะต้องดูมุมทุกมุมให้ดี ก็ตั้งจุดขึ้นมา ๑ จุด  จะตั้งจุดหนึ่งจขุดใดก็ได้ว่าจะมีระยะเท่าใดซึ่งแต่ละจุดจะไม่เท่ากัน เพราะขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ บางก็ยากและบางแห่งก็ขึ้นรูปแผนที่ง่ายในการวัดหาจุดต่างๆ ที่สำคัญเวลาวัดมุมและเส้นตรงจากจุดหนึ่งไปยังจุดต่าง ๆ จะต้องวัดให้แน่นอนในการวัดนี้มีเทคนิคจะต้องใช้วิชาช่างเป็นอย่างมาก ฯลฯ แต่ต้องระวังให้ดีจะต้องมีการเพิ่มการลด และทิศเหนือให้ถูกต้องด้วย ข้อระวังที่สุดคืออย่าจุดให้ผิด หรือขีดเส้นแผนที่ผิดเป็นอันขาด
มาตราที่จำเป็นใช้ในแผนที่สำรวจลองแร่
ส่วนมากจะเรียกกันว่า "เชน" เท่ากับ ๑๐ วา
๑   เชน    เท่ากับ   ๑๐ วา หรือ ๒๐ เมตร หรือ ๖๖ ฟุต
๒   เชน   เท่ากับ   ๒๐ วา หรือ ๔๐ เมตร หรือ ๑๓๒ ฟุต หรือ ๑ เส้น
๔ ตารางเส้น คือ ๑ ไร่  หรือ ๔๐๐  ตารางวา  หรือ ๑,๖๐๐    ตารางเมตร
 การทำแผนที่ ๑/๒,๐๐๐ จะต้องใช้กระดาษตาราง จะนับที่ช่องตาราง ๔ ช่องในแผนที่เท่ากับ ๑ ไร่ ซึ่งในกระดาษได้ทำช่องเอาไว้  ๑ ช่อง ต่อ ๑ ตารางเซ็นต์ หรือ ๑ เซ็นต์ เท่ากับ ๒๐ เมตร นั้นเอง แต่ถ้าหากไม่ครบ ๔ ช่อง ก็หาเศษออกมากี่ตารางแล้ว ก็จะได้ตัวเลขที่ชัดเจน
 เมื่อเราได้แผนที่ตามที่ต้องการ มีสำรองจำนวนหลายชุด จากนั้นก็มาเริ่มใหม่จากทิศหนึ่งทิศใด ซึ่งเป็นจุดที่เราตั้งใจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการตัดแนวล่วงหน้า ๑๐ - ๑๕ วัน วัดระยะปักหลักจุดที่เรียกว่า (ไชแร่) ตามแผนที่นี้ ก็เริ่มจาก A หรือ ก และ B หรือ จะเรียงตามลำดับไปจนสุดของแผนที่ แต่ถ้าหากพื้นที่ยังยาวออกไปเกินจากแผนที่ก็ให้ใช้หมายเลขทับกันก็ได้แต่ขอให้เป็นที่เข้าใจกัน
 เมื่อเราได้แผนที่สมบูรณ์ พอสมควรแล้ว จะต้องปักหลุมสำรวจ ไชแร่ จะต้องดูแผนที่ ตามรูปแบบที่ได้กำหนดไว้ในแผนที่การสำรวจไชแร่ ส่วนมากมักจะไชแร่สุ่มดูตัวอย่างห่าง ๆ ซึ่งได้แบ่งตามแผนที่เป็นตารางตามเนื้อที่เป็นช่วง ๆ เมื่อเจอหลุมที่มีแร่ก็จะเอาที่มีแร่มาไชซอยให้ชิด เพื่อที่จะได้ทราบว่าบริเวณหลุมใกล้เคียงนั้น ๆ มีปริมาณของแร่หรือเปล่า แต่ถ้าหากมีแร่จะมีการไชแร่ให้ชิดขึ้นตามที่ได้กำหนดไว้ในแผนที่
 เมื่อมีการไชแร่ทุกหลุมจะต้องทำเครื่องหมายไว้ทุก ๆ หลุมเป็นพิเศษ เพื่อเป็นการป้องกันหลงลืม ในการตรวจสอบ
๖๗.อาชีพช่างตัดแนวเขต
 ช่างทำแผนที่กับช่างตัดแนวเขต  เสมียนจดสีดินควรจะแยกกันคนละชุด ช่างแผนที่กับช่างคำนวณแร่ ควรจะเป็นคนเดียวกัน ส่วนช่างตัดแนวเขต ๑ คน เสมียนจดสีดิน ๑ คน
 ช่างตัดแนวเขต การที่เอาพวกไชแร่เข้าไปในสถานที่กะว่าจะทำเหมืองตามที่ได้วางรูปแผนที่ไว้ ทางฝ่ายช่างต้องตัดเขตให้เรียบร้อยก่อนที่จะเอาพวกไชแร่เข้าไป เพราะพวกไชแร่นี้จะต้องใช้จำนวนคนหลายคน  แต่ถ้าหากพวกไชแร่เข้าไปรอ  ไม่มีที่ไชแร่ต้องเสียเงินค่าแรงให้เขาเสียเปล่า ๆ
 ช่างตัดแนวเขตไชแร่นี้จะต้องพยายามหาข้อมูลต่าง ๆ ให้มากที่สุดและให้บันทึกไว้ มาแจ้งช่างแผนทีให้ลงในแผนที่ไว้เป็นพวก  จะต้องเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือเข้าไปดังต่อไปนี้
 ๑. กระดาษแผนที่ จะต้องตัดสำรองไปหลาย ๆ แผ่น เพื่อป้องกันฉีกขาด หรือเปียกน้ำ แผนที่ซึ่งมีดีกรี เพื่อหาท่อเหล็ก (ถ้ามี) หรือหาจุดที่เริ่มต้น  หรือแผนที่ตัดมาจากกรมทรัพยากรธรณี
 ๒. กระดาษไข กระดาษตารางใช้เพื่อขยายแผนที่
 ๓. ดินสอดำที่เหลาดินสอ หรือมีด ดินสอสี และยางลบ
 ๔. โปรเทคเตอร์ หาทิศได้ชนิดกลมยิ่งดี
 ๕. ไม้บรรทัดชนิดดี พร้อมปากกา
 ๖. เข็มทิศ ชนิด พริสแมติค คอมปาสส์
 ๗. โซ่รางวัด หรือเทป หรือเชือก
 ๘. มีดพร้า ขวาน เลื่อย หินลับมีด ๑ ชุด เพื่อใช้ถางป่า
 ๙. ตะเกียงน้ำมันก๊าซ พร้อมน้ำมัน
 ๑๐. เวชภัณฑ์ และเครื่องยาต่าง ๆ
ก.ยาแก้หวัด
ข. ยาแก้ปวดท้อง
ค. ยาแก้มาเลเลีย
ง. ยาใส่แผลสด ยาแดง และยาเหลือง
  จ. ยาแก้งูกัด และแมลงกัดต่อย เช่น เซรุ่ม ยาหม่อง
  ฉ. ยาแก้เคล็ดยอก  ฯลฯ
 ๑๑. กระดาษแข็ง ลังไม้หรืออะไรก็ได้ใช้รองทำแผนที่ได้
 ๑๒. บ้านพักพออยู่ได้ กันน้ำค้างและน้ำฝน
 ๑๓. ข้าวสารอาหารแห้ง พอสมควร
 ๑๔. ผ้าห่มกันหนาว รองเท้า ผ้าใบ หมอน เสื่อปูนอน
 ๑๕. รถยนต์ บางครั้งสถานที่ทำงานอยู่ห่างไกลจะต้องใช้รถยนต์ไว้ซื้ออาหาร และเพื่อให้ใช้ซ่อมแซมเครื่องไชแร่
 ๑๖. การเงิน เช่นเงินสำรองจ่าย ค่าอาหาร และอื่น ๆ
๖๘.อาชีพเสมียนจดสีดินควบคุมการดูแลการไชแร่
 การจดสีดินก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากในการไชแร่  เสมียนจดสีดินกับนายเหมืองจะต้องเข้าใจในการบันทึก แต่ถ้าไม่เข้าใจอาจจะตีความหมายไม่ถูกต้องหรืออ่านบันทึกมาไม่รู้เรื่อง นายเหมืองส่วนมากไม่ค่อยสนใจ จะดูหรือก็ต่อเมื่อดินแข็งหรือดินเหนียวแข็ง จะทำให้ค่าของการสูบดิน ตกต่ำ อาจจะเพิ่มค่าใช้จ่ายบางส่วนเพิ่มขึ้น การคำนวณ ก็ผิดพลาด ทำให้เหมืองขาดทุนทั้งที่ไชแร่แล้ว แร่ดีเปิดทำเหมืองได้
 อนึ่งการหาเสมียนไชแร่ จะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติพิเศษ ๑๐ ประการ คือ
 ๑. เป็นบุคคลที่ไว้เนื้อเชื่อใจของนายเหมือง หรือเป็นลูกหลานก็ยิ่งดี
 ๒. เป็นคนไม่มกมุ่นเกี่ยวกับเรื่องอบายมุขต่าง ๆ เช่น การพนัน เหล้า หรือผู้หญิง ซึ่งจะพาให้เสียงานได้ง่าย และจะต้องเก็บความลับให้ได้
 ๓. เป็นผู้ที่ทนแดดทนฝน   ร่างกายแข็งแรงสมบุกสมบัน     และควรจะผ่านงานการไชแร่มาก่อน
 ๔. เป็นผู้ที่ดูแผนที่ทิศต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เวลาไชแร่ ตรงไหนมีแร่เวลาล้างตัวอย่าง จะได้ตามถูกเส้นแร่
 ๕. เป็นผู้ที่มีอัถยาสัยดี มีมนุษย์สัมพันธ์ หากมีโอกาศติดต่อเจ้าของที่ดิน เพื่อที่จะทำการไชแร่ต่อไปอีก
 ๖. เป็นผู้ที่สามารถควบคุมการเงิน คนงานไชแร่ เป็นผู้รับผิดชอบในการทำงาน ตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้
 ๗. เป็นผู้ที่รู้จักรับผิดชอบงาน และประถมพยาบาลได้
 ๘. เป็นผู้ขับขี่รถยนต์ จักรยานยนต์ได้
 ๙. เป็นผู้เคยผ่านงานไชแร่มาบ้าง หรือเคยขึ้นทดลองไชแร่ด้วยตนเอง
 ๑๐. เป็นผู้ที่จดสีดินเป็น และบันทึกให้นายจ้างอ่านเข้าใจ
 ทั้งหมดนี้เป็นข้อสำคัญมาก คือข้อ ๑๐ ในการบันทึกต่าง ๆ จะต้องให้นายเหมืองเข้าใจ แต่ส่วนมากมักจะไม่เข้าใจในรายละเอียด
ดินควรจะแยกออกเสียก่อนว่ามีกี่ชั้น
 ๑. เปลือกดินชั้นบน
 ๒. ดินหรือดินเหนียว
 ๓. ดินกะสะ
 ๔. ดินดาน
การแยกดินแต่ละชั้นดังต่อไปนี้
 ๑. คำว่าเปลือกดิน นั้นหมายถึง ก่อนที่จะไชแร่ จะต้องขุดหลุม ลึกประมาณ ไม่เกิน ๕ ฟุต ดินที่เปลือกดินนี้จะต้องเก็บตัวอย่าง มิฉะนั้นถ้าเปลือกดินเกิดมีแร่ การคำนวณอาจจะผิดพลาดได้
 ๒. คำว่า ดินหรือดินเหนียว ชั้นนี้เป็นชั้นดินที่ลึกลงไป จากชั้นเปลือกผิวดิน เมื่อเริ่มไชแร่ บางครั้งอาจจะลึกถึง ๓๐ - ๔๐ ฟุต ก็ได้ การเก็บตัวอย่างดินนี้สำคัญ เมื่อดินเปลี่ยนสีหรือเปลี่ยนลักษณะ จากทรายละเอียดเป็นทรายหยาบ ควรจะตัดเอาไว้เป็น ๑ ตัวอย่าง อย่าได้คำนึงว่าจะลึกหรือตื้นขนาดไหน ไม่ควรตัดดินทุก ๆ ๕ ฟุต อย่างที่นิยมทำกันอยู่หลาย ๆ แห่ง แต่ถ้าดินไม่เปลี่ยนสีหรือลักษณะ ก็ตัดทีละ ๕ ฟุต แม้ว่าจะตัด ๕ ฟุต พอลงไปอีก ๑/๒ ฟุต หรือ ๑ ฟุต ดินเกิดเปลี่ยนสีเราก็ควรจะตัดตัวอย่างทันที ดังตัวอย่างเช่น
 มีดิน ๕ ฟุต แรกไม่มีแร่   -๐๐ มีดิน ๖ นิ้ว
 มีดิน ๑ ฟุต มีแร่  -๒๐ มีดิน ๓ นิ้ว
 มีดิน ๔ ฟุต ไม่มีแร่  -๐๐ มีดิน ๘ นิ้ว
 ใน ๕ ฟุตแรกจะไม่กล่าวถึง แต่จะกล่าวถึง ๑ ฟุตกับ ๔ ฟุต หลังถ้าตัด ๕ ฟุตก็จะกลายเป็น ๕ ฟุต มีแร่ ๒๐ มีดิน ๑๑ นิ้ว จะทำให้การคำนวณคลาดเคลื่อนไปได้
 ๓. คำว่า กะสะ มีความลึกไม่เหมือนกัน แต่กะสะนี้เป็นส่วนที่มีแร่ ควรจะตัดความลึกไม่เกิน ๓ ฟุต ต่อหนึ่งตัวอย่าง จนสุดความลึกของกะสะ
 ๔. คำว่าดินดาน อันนี้มีส่วนสำคัญมาก อาจจะมีดินเหนียวผสมกับดินดาน ปิดอยู่ชั้นบน ถ้ามีการสงสัยก็ควรจะไชให้ทะลุดินดานลงไปจนแน่ใจ หรือจะต้องปรึกษากับผู้มีประสบการณ์ หรือไปดูเขาไชแร่บ่อย ๆ ถ้าเป็นดินดานแท้  จะไม่มีน้ำถ้ามีน้ำก็ตอนที่ใส่น้ำลงไป ฉะนั้นถ้าหากสงสัยก็ควรให้เขาเก็บดินดานตัวอย่างเก็บมาดู ส่วนใหญ่มักจะอุดติดอยู่กับท่อเป็นส่วนมาก
ถังตวงดิน และการตวงดิน
 ถังตวงดินไชแร่นั้น เป็นถังมาตราฐานตายตัว เพราะดินที่ตวงนี้จะได้ ๔ ลูกบาตรฟุต และการที่ใส่น้ำดินเมื่อพ้นจากดินที่อัดตัวก็จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น ถ้าตวงดินจึงมีมาตราฐานอยู่ ๒ ชนิด คือ ๑๐ นิ้ว และ ๑๕ นิ้ว
 ถังตวงชนิด ๑๐ นิ้ว เป็นถังกรมเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด ๗ ๑/๒ นิ้ว มีความสูง ๑๒ นิ้ว ภายในจะมีรอยเส้นขีดห่างเป็นระยะ ๑ นิ้วตลอด เวลาตวงจะต้องใส่น้ำเอาไว้ ๒ นิ้ว เพื่อต้องการให้เทดินออกจากถังง่ายขึ้น
 ถังตวงชนิด ๑๕ นิ้ว เป็นถังกลมเช่นกัน เส้นผ่าศูนย์กลางขนาด ๘ ๑/๒ นิ้ว ถังสูง ๑๒ นิ้วเช่นกัน ถังชนิดนี้จะต้องมีรอยเส้นขีดในถังห่างกัน ๓/๔ น้ำ มีรอยขีดทั้งหมด ๑๕ ขีด ถังชนิดนี้เวลาตวงดินไม่ต้องใส่น้ำขึ้นอยู่กับผู้ที่สันทัดกรณีจะใช้ถังตวงชนิด แบบไหนอย่างไร
 ถังตวงนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมากจะต้องไม่ให้เกิดการผิดพลาด  การคำนวณต่าง ๆ ในช่วงระหว่างนี้ดินเป็นสิ่งสำคัญเท่ากับแร่ ผลคำนวณต่าง ๆ จะออกมาจากดิน
 การตวงดิน เมื่อเวลาเอาดินออกจากท่อเก็บดิน โดยการเทดินและทรายลงในที่รองรับให้สังเกตดูว่าน้ำขุ่นขั้นนั้นสักกี่เปอร์เซ็น จึงทำการตวงดิน ว่าเป็นทรายกี่เปอร์เซ็น จากนี้ก็เอาน้ำใส่แล้วเทน้ำขุ่นข้นออกเป็นจำนวนหลาย ๆ ครั้งแต่ต้องระวังให้มากที่สุด เพราะน้ำขุ่นข้นจะพาแร่ ออกไปด้วยจะทำให้การคำนวณผิดพลาดได้

การตัดดิน และการเขียนตัวอย่างแร่
 การตัดดินตัวอย่างไม่ควรตัดดินเกินครั้งละ ๕ ฟุต ส่วนดินกะสะไม่ควรเกินครั้งละ ๓ ฟุต และจะตัดดินเวลาดินเปลี่ยนสี
 ดินหลุมหนึ่ง ๆ ก็มีหลายตัวอย่าง เช่น ไชแร่หลุมที่ D๑๑ เมื่อเริ่มขุดผิวดินลึกประมาณ ๕ ฟุต แรกก็ควรตวงดิน ๑๐ น้ำ หรือ ๑๐ มาร์ค เอาไว้เป็นตัวอย่าง ที่ ๑ ตัดกระดาษชิ้นเล็ก ๆ เขียนตามหมายเลข D๑๑/๑ เมื่อไชลงไปอีก ๕ ฟุต เท่ากับ ๑๐ ฟุต ดินไม่เปลี่ยนก็จะต้องตัดตัวอย่างและเขียนลงในกระดาษ D๑๑/๒ เป็นตัวอย่างที่ ๒ จะต้องทำทุก ๆ ๕ ฟุตไปเลื่อย จนถึงชั้นกะสะสุดท้าย จึงนำตัวอย่างดินไปล้างเอาแต่แร่จึงทำการ ย่างให้แห้งใส่ถุง และเขียนหมายเลขดังกล่าวใส่ห่อแร่ตัวอย่าง อย่าให้ผิดพลาดหรือหลงลืมเป็นอันขาด  เพราะการทำเหมืองแร่ดีบุกจะต้องเอาตัวอย่างแร่ไปคำนวณ ในการดำเนินการต่อไป

ตารางรายละเอียดเพื่อจดสีดิน

ตัวอย่างที่ ส่วนลึก รวมลึก 
รายการ จำนวนดิน
๑/๔ ล.บ. ฟุต 
หมายเหตุ
    น้ำขุ่นข้น ทราย 




๕ ๕



๓ ๕

๑๔
๑๙
๒๒ เปลือกดินสีเหลือง - แดง ปนทราย
ดินสีแดง - เหลืองปนทรายละเอียด
ดินสีแดง - เหลืองปนทรายละเอียด
ดินสีเหลือง - ขาวปนดินเหนียวอ่อน
กะสะทรายปนดินเหนียวขาว-เหลืองหิน
ดานสีเหลืองอ่อน
มีหินประบน  ๔%
มีดินอยู่ในประเภท A
มีดินอยู่ในประเภท B ๑๐

๑๑
๑๒
๘ ๘



๗ 

หมายเหตุ
 ความหมาย คำว่า A, B, C. นั้นคือ เป็นความหมายของหัวหน้าควบคุมไชแร่ เขาจะเป็นผู้กำหนดว่า A  หมาย สมมุติว่าดินแข็ง B ดินแข็งปานกลาง C เป็นดินดาน หรือ จะแข็งอ่อนนั้นขึ้นอยู่กับการเขียน คำบรรยาย ฯลฯ
๖๙. การล้างตัวอย่างแร่มี  ๒ ขั้นตอน
 ๑. แร่ที่ไชขึ้นมาได้นั้น จะต้องล้างชนิดเรียกว่า (หยาบ ๆ ) ในตอนแรก จะล้างที่บริเวณที่ไชแร่นั้น จะล้างแบบเอาแต่ดินทรายออกแต่ ผู้ที่ล้างแร่ จะต้องมีความรู้ความชำนาญ เป็นพิเศษเพราะว่าเป็นแร่ตัวอย่าง การล้างจะต้องใช้เลียงร่อนแร่แกว่งแบบเบา ๆ ช้า ๆ เพื่อป้องกันแร่ออกไป และเป็นผู้ที่ไว้ใจได้ เก็บรักษาความลับได้เป็นอย่างดี
 ๒. เมื่อได้ตัวอย่างแร่จากที่ไชแร่ทุก ๆ หลุม จะต้องส่งไปให้ช่างผู้ชำนาญการในการล้างแร่ตัวอย่างอีกครั้งทุกห่อ และทุกชั้น ด้วยมือและเครื่องไฟฟ้าที่ในเมือง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเสมียนไชแร่ หรือหัวหน้าควบคุมใด ๆ ทั้งสิ้น เมื่อทำการล้างแร่ตัวอย่างครั้งสุดท้ายแล้ว ทางเจ้าของเหมืองจึงส่งไปให้ช่างผู้คำนวณอีกครั้ง
อุปกรณ์ การไชแร่นั้นมี ๒ ชนิด
 เครื่องไชแร่ นั้นมี ๒ แบบ คือ แบบมีข้อต่อเกลียวนอกเกลียวใน และอีกแบบคือ มีข้อต่อแบบ SOCKET มีประสิทธิภาพมากในการไชแร่ อุปกรณ์ในการไชแร่นั้น ทั้งหมดมีจำนวน ๓๙ รายการ ฯลฯ และยังมีสิ่งที่จำเป็นอีกมาก
 การจัดวางอุปกรณ์ ต่าง ๆ จะต้องวางให้เป็นระเบียบเรียบร้อยสะดวกในการยิบยื่น ให้กับคนที่อยู่ข้างบน จะต้องหยิบตามลำดับ ทั้งเป็นการรวดเร็วด้วย ฯลฯ
การไชแร่ในคลองหรือตามบึง
 การไชแร่ในลำคลอง หรือตามบึง จะต้องทำแพขึ้นเป็นพิเศษเพิ่มเติมขึ้นอีก จะต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายเป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ขึ้นอีกหลายอย่าง ฯลฯ

๗๐. อาชีพคนงานไชแร่ และคนของนายเหมือง
 หัวหน้าไชแร่ เป็นผู้สรรหาลูกน้องทั้งหมด เป็นที่ไว้ใจได้ซื่อสัตย์สุจริต ในการทำงาน มีสิทธิหักค่าหัวจากลูกน้องได้ด้วย เมื่อมีการสรรหาลูกน้อง หัวหน้าจะต้องจ่ายเงินล่วงหน้าให้กับลูกน้องสุดแล้วแต่จะตกลงกัน เรียกว่าเงิน (ตัวหยิ่น)
 การไชแร่เป็นงานหนักจะต้องทำงานรวดเดียว เริ่มตั้งแต่เวลา ๐๗.๐๐ น. ถึง ๑๔.๐๐ น. เลิกงาน มีเวลาพักเที่ยง กินอาหารเพียง ๑๕-๓๐ นาที เท่านั้น
เจ้าหน้าที่คนงานของบริษัท มี ๓ คนดังนี้
 ๑. เสมียน จดสีดิน เป็นผู้ควบคุมคนงาน ทั้งหมด "เป็นหัวหน้า"
 ๒. เสมียน ตัวแนวเขต มีหน้าที่ลงแผนที่ ๆ ไชไปแล้ว
 ๓. คนล้างแร่ที่สะอาด เฉพาะของบริษัท
คนงานไชแร่คิดค่าแรงเป็นรายวันมีดังนี้
 ๑. หัวหน้าไชแร่ (บอริ่ง)    ๑  คน
 ๒. พวกคนงานไชแร่    ๘ คน
 ๓. คนล้างแร่โดยใช้เลียงแบบหยาบ ๆ   ๑  คน
 ๔. คนทำครัว (หุงข้างให้กับพวกคนงาน)    ๑  คน
 ๕. คนหาบน้ำ      ๒ คน
 ๖. คนงานตัดป่า       ๓  คน
 ๗. คนงานเฝ้าเครื่องไชแร่ (บอริ่ง) เมื่อเลิกงาน ๒  คน
หมายเหตุ   คนงานไชแร่ทั้งหมดจะต้องเป็นคนของหัวหน้าที่ได้สรรหามาทั้งหมด เป็นที่ไว้ใจได้ทุก
                   คน หรือจะเป็นคนงานของบริษัทโดยเฉพาะก็ย่อมมีประโยชน์ให้กับบริษัทเป็นอย่างดี

๗๑. อาชีพการคำนวณดินจะต้องประสานงานกัน
 ช่างคำนวณดิน  กับเสมียนจดสีดิน จะต้องประสานงานกันเป็นอย่างดี ช่างคำนวณถ้าเป็นไปได้ควรจะไปดูการไชแร่ ดูสีดิน จะต้องคอยควบคุม ดูแล ต้องพยายามศึกษา สภาพของพื้นที่นั้น ๆ หรือดินนั้น ๆ บันทึกรายละเอียดลงในกระดาษ ว่าเป็นอย่างไร ฯลฯ
 การคำนวณตัวอย่างแร่ เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เช่นกัน ช่างคำนวณจะต้องใช้วิชาการเทคนิคโดยเฉพาะดิน, หิน, แร่ ต่าง ๆ จะต้องคิดออกมาเป็นตัวเลขที่ชัดเจน และแม่นยำ จะต้องใช้เครื่องชั่ง แบบช่างทอง แบบจีนอันเล็ก  เป็นต้นมีขายในประเทศมาเลเซีย เพราะทางมาเลเซียเขานิยมใช้กันมาก ต่อมาจึงได้แพร่หลายเข้ามายังประเทศไทย
 นอกจากนี้แล้วเมื่อมีการคำนวณเสร็จเป็นที่เรียบร้อย จะต้องลงในบันทึก ตามช่องตารางตามที่ได้กำหนดไว้ ให้ถูกต้อง เพื่อที่จะได้ทำการตรวจสอบ หรือทำการศึกษาในการที่จะดำเนินกิจการเหมืองแร่ต่อไป
 ดังได้กล่าวมาแล้วเพียงคล่าว ๆ เพราะลายละเอียดในการคำนวณนั้นมีมากมายหลายขั้นตอนของการคำนวณ ซึ่งใช้เครื่องชั่งลักษณะแบบจีน  ก้านยาว มี  ๒ ชนิด ชนิดแบบ ๕ ชั่ง กับ ๑๐ ชั่ง  แต่ที่เขียนว่า ๑๐ ชั่งนั้น ความจริงไม่ใช่มาจากแร่ ๑๐ ชั่งจริง ๆ คือเอาแร่มาเทียบหรือย่อส่วน กับตาชั่ง  ๑๐ ชั่ง  ของ ๑๐๐ ส่วนก็คือ ๑ ชั่งนั้นเอง
 สูตร  ๑๐  ชั่ง = .๑ ชั่งของตาชั่งนี้
  ๑ ชั่ง =  ๑/๑๐๐
 เทียบเท่า ต่อ ๑๐๐  ส่วนนั่นเอง
 เมื่อตามสูตรที่ตวงดินก็ได้ ๑ ต่อ ๑๐๐ ส่วน และเครื่องชั่งก็เทียบเท่า ๑ ต่อ ๑๐๐ ส่วน เช่นกัน เมื่อตัวเลข  ที่ออกมาก็เทียบเท่า ๑ ชั่ง ลูกบาตรหลา
 เมื่อสูตรการคำนวณ  ๑-๑๐๐ ส่วนแร่นี้แล้ว ก็ไม่ยากต่อการคำนวณแร่  แต่ที่ยากนั้นก็คือภาคปฏิบัติ  ซึ่งจะต้องใช้เวลาทำการศึกษา  หาความรู้ความชำนาญ  จากการตัดดิน  และการตรวจที่ถูกต้องการเขียนสีดินให้ผู้คำนวณเข้าใจง่าย เมื่อการคำนวณเสร็จจะต้องลงในสมุดบันทึกลายละเอียด แต่ละหลุมแต่ละชั้นของดิน จำนวนแร่ที่ไชมาได้ พร้อมกับลงลายละเอียดในแผนที่ด้วยเช่นกัน  ส่วนที่หลุมไชแร่ ก็เช่นเดียวกัน จะต้องทำหลักหมุดเขียนหมายเลข  อักษรตามที่ได้กำหนดไว้เช่นกัน  เพื่อที่จะได้พิจารณากันต่อไปในขั้นที่จะดำเนินกิจการเหมืองแร่

วิธีการเจาะพิตติ้งหรือขุดบ่อสำรวจ
 การทำพิตติ้งหรือ ขุดบ่อแบบสำรวจ  จะต้องทำก่อนการไชแร่  หรือทำที่ไชแร่ไม่ลง  เพราะชั้นล่างมีหินมาก  หรือตามไหล่เขา ที่พวกไชแร่ไปทำได้แต่มีปัญหา หรืออุปสรรคเกี่ยวกับน้ำ  จึงจำเป็นจะต้องใช้วิธีพิตติ้ง  หรือขุดเป็นบ่อแทน  แต่ถ้าหากที่ตามหนองบึง ที่มีน้ำมาก ๆ ก็ย่อมมีปัญหาเหมือนกัน  หรือควรจะทำในฤดูแล้ง  ที่ไม่มีฝนตกชุกเท่านั้น ฯลฯ
 สรุปถ้ามีการสำรวจจะมีผลที่ แน่นอนสักแค่ไหน  ในเมื่อสิ่งแวดล้อมและคนทำงานไม่ประสานกันก็ทำให้เหมืองนั้นแย่ได้เหมือนกัน  การทำเหมืองนั้นเป็นงานที่สำคัญมากเพราะต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมาก  จะต้องสรรหาผู้คนที่มีความรู้ความสามารถโดยเฉพาะ  จะต้องประสานงานกันหลายฝ่าย  เรื่องหูเบาเป็นเรื่องที่น่าหนักใจมากที่สุดและเป็นอันตราย  นายทุนที่ไม่รู้เรื่องในการทำเหมืองนั้น แต่นึกว่าตัวเองรู้เสียทุกอย่าง ๆ ไม่ยอมรับฟังเหตุผลของผู้ผ่านงานหรือผู้มีประสบการณ์มาก่อน  ซึ่งยังมีอีกจำพวกหนึ่งรับฟังจากบุคคลภายนอก เกิดมีความเชื่อไม่ปรึกษาผู้จัดการฝ่ายบริหาร ซึ่งเหมืองแต่ละแห่ง สภาพพื้นที่แต่ละแห่งไม่เหมือนกัน วิธีทำงานย่อมจะแตกต่าง  ฉะนั้นเหตุผลทุกอย่างจะต้องปรึกษากัน  ไม่ใช่ถือว่าตัวเองเป็นนายทุนจะทำอะไรก็ได้

๗๒. อาชีพการสำรวจแหล่งแร่
การลงทุนในการเปิดทำเหมืองแร่ดีบุกต้องใช้เงินจำนวนมาก  นายเหมืองจะมั่นใจในการเปิดเหมือง ณ แหล่งใด จำต้องพึ่งนักสำรวจแร่(ถ่ามต๋างหรือบอริ่ง)
นักสำรวจมักเป็นกลุ่มมีอย่างน้อย ๑๕ คน  มีหน้าที่ไชแร่ ๘ คน หาบน้ำ ๒ คน  ล้างแร่ ๑ คน เสมียน ๑ คน ช่างรางวัด ๒ คน และหัวหน้าสำรวจอีก ๑ คน   ถ้าสำรวจในแหล่งที่มีหน้าดินตื้นจะใช้เวลาประมาณ ๒๐ วันในเนื้อที่ประมาณ ๕๐ ไร่


๗๔. อาชีพร่อนแร่ท้ายรางเหมือง
เมื่อทางเหมืองได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการฉีดดินสูบขึ้นบนรางและทางเหมืองฉีดถึงชั่นกะสะ  บรรดาผู้หญิงตามชนบทที่มีอาชีพในการร่อนแร่ที่ท้ายราง จึงสามารถไปร่อนแร่ได้ตั้งแต่ก่อนรุ่งอรุณเป็นต้นไป
ครั้นทางเหมืองได้ฉีดดินครบกำหนดกู้แร่  บรรดาคนร่อนแร่จะไปรอการกู้แร่ของเหมือง เป็นจำนวน๔๐–๕๐ คน ขณะที่ทางเหมืองทำการกู้แร่ แร่ที่อยู่บนรางจะหลุดลอดไหลลงสู่ท้ายรางเป็นปริมาณมาก จึงเป็นโอกาสของคนร่อนแร่จะร่อนแร่ได้มาก
 เมื่อได้แร่ส่วนหนึ่งจากในวันกู้แร่ จะนำแร่ที่สะสมมารวมกันล้างให้สะอาดปราศจากมลทินอื่น ๆ จึงนำไปขายให้กับพ่อค้ารับซื้อแร่ดีบุกตามชุมชนกึ่งเมือง  พ่อค้าจึงนำแร่ดีบุกที่ได้รับซื้อจากคนร่อนแร่นำไปขายให้กับบริษัทหรือห้างร้านในชุมชนเมืองต่อไป
การร่อนแร่จะต้องมีใบอนุญาตจากกรมทรัพยากร ใบอนุญาตร่อนแร่จะต้องต่ออายุใบอนุญาตปีละ ๑ ครั้ง ตลอดไป ส่วนร้านค้าย่อยที่รับซื้อแร่ดีบุกจะต้องขออนุญาตซื้อแร่และใบขนแร่ดีบุกไปจำหน่าย
การร่อนแร่ท้ายรางเหมืองส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงทั้งหมด ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ กลายเป็นธรรมเนียมในการร่อนแร่ นับเป็นอาชีพหนึ่งของผู้หญิงที่มีรายได้จากการร่อนแร่ท้ายรางเหมือง ทำให้เศรษฐกิจของชุมชนนั้น ๆ มีเงินหมุนเวียนและทำให้ฐานะในครอบครัวดีขึ้น.