ศึกถลาง
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อาทิตย์, 09 สิงหาคม 2009


ศึกถลาง ๒๓๒๘

 

สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์
กลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ
๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖


เป็นธรรมเนียมของพม่าที่ถือว่าเมื่อสยามประเทศมีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินหรือตั้งราชวงศ์ใหม่ กำลังของไทยอ่อนแอลงเป็นโอกาสอันดีที่พม่าจะมารุกรานไทย

ลุพุทธศักราช ๒๓๒๘ สยามประเทศผลัดเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติสถาปนาพระบรมมหาจักรีวงศ์ได้เพียง ๓ ปี ฝ่ายพม่าคิดว่าไทยคงเกิดความไม่สงบในแผ่นดิน เช่นเคยเป็นมาในกาลก่อน พระเจ้าปดุงแห่งพม่าฮึกเหิมคิดจะแผ่พระบรมเดชานุภาพครอบคลุมสยามประเทศเพื่อให้เกิดเกียรติยศเป็นมหาราชแห่งสุวรรณภูมิดุจแผ่นดินพระเจ้าบุเรงนองมหาราช ประกอบกับทหารที่ทำสงครามแล้วมีชัยชนะทุกแห่งเกิดความกำเริบคิดว่าหากยกมาตีสยามประเทศก็คงมีชัย จึงประกาศยกทัพใหญ่ล่วงล้ำเข้าสู่อาณาจักรสยาม จำนวน ๙ ทัพ รวมพลได้ประมาณ ๑๔๔,๐๐๐ คน ใน ๙ ทัพ ของพม่าคือทัพของแก่งหวุ่นแมงยี ได้รับบัญชาให้มาตีปักษ์ใต้ แกงหวุ่นแมงยีสั่งให้ยี่หวุ่นคุมกองทัพเรือ ๓,๐๐๐ คน เข้าตีตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง และเมืองถลาง

ช่วงที่พม่าเข้าตีปักษ์ใต้ เจ้าเมืองถลางถึงแก่อนิจกรรม และท่านผู้หญิงจันผู้เป็นภรรยาก็ถูกเกาะกุมตัวไปอยู่ที่ค่ายปากพระ เมื่อพม่าตีเมืองตะกั่วป่าตะกั่วทุ่งแตกและค่ายปากพระเสียแก่พม่า ท่านผู้หญิงจันก็ตีฝ่าวงล้อมกลับค่ายบ้านเคียน บ้านเรือนถูกรื้อ คนเฝ้าบ้านหลบหนีภัยไปหมดสิ้น ไม่มีผู้ใดอยู่ดูแลรักษา ท่านผู้หญิงจันกับคุณมุกจึงเร่งรีบชักชวนชาวเมืองถลางทั้งชายหญิงให้พร้อมใจกันต่อสู้ป้องกันแผ่นดินเมืองถลาง ร่วมกันสร้างและเสริมค่ายหลังวัดพระนางสร้างและค่ายเมืองถลางบ้านเคียน

พม่ายกทัพเรือเข้ามาทางอู่ตะเภา เดินทัพเข้าคลองบางใหญ่ ตั้งค่ายรายล้อมเมืองถลางอยู่ที่ทุ่งนา(โคกชนะพม่า) ท่านผู้หญิงจันกับคุณมุกนำทแกล้วทหารหาญและชาวเมืองถลางเข้ารบพุ่งต้านต่อกับพม่าอยู่ได้ประมาณเดือนเศษ พม่าล้มตายลงราว ๓๐๐–๔๐๐ คน แล้วแตกทัพกลับไปเมื่อวันจันทร์แรม ๑๔ ค่ำเดือน ๔ ปีมะเส็ง สัปตศก จุลศักราช ๑๑๔๗ ตรงกับวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๓๒๘ นับเป็นวันถลางชนะศึกที่ชาวไทยภาคภูมิใจสืบมาจนทุกวันนี้

ความทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ปูนบำเหน็จให้ท่านผู้หญิงจันเป็นท้าวเทพกระษัตรี และคุณมุกเป็นเป็น ท้าวศรีสุนทร ดำรงยศอันมีศักดิ์สมควรแก่ฐานานุรูปเป็นศรีแก่เมืองถลางและวงศ์ตระกูลสืบมา

บทละคร “วีรสตรีศรีถลาง” เป็นเหตุการณ์เมื่อ ๒๐๘ ปี (พ.ศ.๒๕๓๖)ทีผ่านมา ณ กาลนั้น

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อาทิตย์, 09 สิงหาคม 2009 )