ชื่อภูเก็จ มณิคราม จังค์ซีลอน บางโจ ท่านผู้หญิง
เขียนโดย ผศ.สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์   
พุธ, 03 มิถุนายน 2009

ชื่อภูเก็จ

มณิคราม จังค์ซีลอน บางโจ ท่านผู้หญิง 

 

ประสิทธิ ชิณการณ์

ที่ปรึกษากลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ   

 

ฝากรูป 

ภูเก็จ หลักฐานจากงาตราประทับมณฑลภูเก็จ

สมบัติในครอบครองของกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ

 

 

การเรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ จำต้องย้อนไปศึกษาตำนานเมืองนครศรีธรรมราช เพราะอาณาจักรนครศรีธรรมราชยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองในภาคใต้ ปรากฏให้ศึกษาได้ตั้งแต่ พุทธศตวรรษที่ ๑๑ เป็นต้นมา 

 

แม้ว่าปโตเลมี นักภูมิศาสตร์ชาวกรีก จะรู้จักเกาะถลางในชื่อ "จังค์ซีลอน"(Junk Ceylon) มาก่อนแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. ๗๐๐ แต่เกาะถลางก็ยังไม่มีประวัติความเป็นมาของตนเองให้ศึกษาได้ ยังต้องอาศัยตำนาน และประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช เป็นแนวศึกษาอยู่จนสิ้นสมัยกรุงสุโขทัย ครั้งเมืองนครศรีธรรมราช ยังอยู่ในยุค "นครตามพรลิงค์" (พุทธศตวรรษที่ ๑๑ ) เกาะถลาง ผนวกอยู่ในมหานครตามพรลิงค์เป็นเมืองบริวารลำดับที่ ๑๑ มีตราสุนัขเป็นสัญลักษณ์ของเมือง เรียกชื่อว่า "สุนัขนาม" หรือ เมืองปีจอ ในบรรดาเมือง ๑๒ นักษัตร

 อนุสรณ์สำคัญของเรื่องนี้ปรากฏอยู่ที่ชื่อ "กระหมา" หรือตำบลกมลาปัจจุบัน ซึ่งชาวอังกฤษชื่อร้อยโทเจมส์ โลว์ เคยบันทึกเรื่อง "รูปสุนัข" ของเกาะถลางไว้ในหนังสือ " จดหมายเหตุเจมส์ โลว์ " (กรมศิลปากร : ๒๕๑๙ ) ว่าเมื่อ พ.ศ.๒๓๖๓ นั้น รูปปั้นสุนัขยังมีเรื่องมีราวปรากฏอยู่ 

 

สมัยอาณาจักรตามพรลิงค์ พ.ศ. ๑๕๖๘ กองทัพทมิฬโจฬะ จากแคว้นตันโจ อินเดียตอนใต้ ได้ยาตราข้ามมหาสมุทรอินเดียมาสู่แหลมตะโกลา-ตะกั่วถลางค์ ยกพลขึ้นบกที่ฝั่งตะวันตกของเกาะ ยึดพื้นที่ราบอันเป็นชุมชนดั้งเดิมของเมือง "กระหมา" ตลอดมาถึงบ้าน "บางโจ" (ฬะ) เพื่อเป็นแหล่งสะสมสะเบียงสำหรับกองทัพที่จะยาตราไปยังตามพรลิงค์ซึ่งเป็นแผนการพิชิตอาณาจักรแหลมไทยของโจฬะทมิฬครั้งนั้น ให้นามชื่อท้องถิ่นที่ยึดได้นี้ว่า "มณิกครัม" อันเป็นชื่อเดียวกันกับเมืองแก้วในแคว้นตันโจ หลักฐานปรากฏอยู่จนบัดนี้ที่ "บ้านมานิก" ซึ่งเป็นชื่อโบราณติดตรึงอยู่ไม่ลบเลือน เช่น เดียวกับ "บางโจ(ฬะ) " ที่ชาวบ้านทั่วไปถือว่าเป็นชื่อภาษาไทยมาแต่ดั้งเดิม. 

กองทัพทมิฬโจฬะ(ซึ่งเรียกชื่อในจารึกภาษาทมิฬที่พบตรงโคนต้นตะแบก เขาพระนารายณ์ อำเภอตะกั่วป่า ว่า "กองหน้า") นั้น เมื่อได้ตั้งมั่นอยู่ที่มณิกครัมแล้วก็ออกสำรวจพื้นที่จากฝั่งตะวันตกของเกาะออกสู่ฝั่งตะวันออกโดยอาศัยสายน้ำน้อยใหญ่ที่ไหลผ่านพื้นที่ราบลุ่ม "มณิกครัม" อย่างมากมายในครั้งนั้น จากการสำรวจดังกล่าว ทำให้ทมิฬโจฬะพบว่า ทางฟากตะวันออกของเกาะแถบนี้ ยังมีพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก และมีอ่าวจอดเรือที่ดีอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะอ่าวแห่งหนึ่ง ธรรมชาติอำนวยยิ่งนัก เพราะมีเกาะเล็ก ๆ คอยกำบังมรสุมตะวันออก (คือ เกาะมะพร้าว และเกาะรังน้อย-ใหญ่ ในปัจจุบัน) จึงยึดครองพื้นที่ดังกล่าวนี้ไว้ประกอบกิจกรรมกองทัพ และให้ชื่อสถานที่แห่งนี้ว่า "สลาปำ" ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ (๒๕๓๘) อธิบายคำ "สลาปำ" ไว้ใน หนังสือ "หลักภาษาไทย " ว่า " ------ ดังปรากฏจากคำอธิบายของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งทรงไว้ในหนังสือเรื่อง ประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ ในลังกาทวีป ตอนกล่าวถึงจดหมายเหตุเรื่องสมณทูตในลังกาทวีป หน้า ๓๔๐ ว่า "ออกจากบ้านกันตาระวะดี เวลา ๓ ยาม ถึง สลาปำ เวลาเช้า -----" แสดงว่า ชื่อ "สลาปำ" มีอยู่ในดินแดนทมิฬมาก่อนแล้ว ทมิฬโจฬะจึงได้นำมาใช้ที่นี่และเมื่อคำนี้มาถึงเมืองไทย ก็ค่อย ๆ เปลี่ยนจาก สลาปำ เป็น สะปำ ได้ไม่ยาก คำว่า "สปำ" ซึ่งมาจาก "สลาปำ" นี้

ท้าวเทพกระษัตรี เคยใช้ในจดหมายเหตุของท่านที่มีไปถึง พระยาราชกปิตัน เมืองปินัง เมื่อวันพฤหัสบดี เดือนสิบเอ็ด ปีมะเมียอัฐศก ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๙ จุลศักราช ๑๑๔๘ เรียกชื่อว่า "ตะปำ" (ตามหลักภาษาไทยนั้นย่อมใช้ ต. แทน ส. ได้ เช่น สะพาน เป็น ตะพาน. สำรวจ เป็นตำรวจ)  อย่างไรก็ตาม ชาวพื้นเมืองในภูเก็จ คงเรียกชื่อท้องถิ่นแห่งนี้ว่า "ปำ" สั้น ๆ เท่านั้น แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันดี มาตั้งแต่โบราณกาล จากที่ราบลุ่ม "มานิกคราม" มาจรดที่ราบริมทะเล "สลาปำ" ซึ่งชาวทมิฬยึดครองตั้งแต่ พ.ศ. ๑๕๖๘ จนถึง พ.ศ. ๑๖๐๓ เป็นระยะเวลานานประมาณ ๓๕ ปี นั้นนอกจาก สลาปำ หรือสะปำ จะเอื้อประโยชน์ในการจอดพักเรือรบ เรือสินค้า และสะสมสะเบียงอาหารด้วยการประกอบ การเกษตรอย่างได้ผลสมบูรณ์ยิ่งแล้ว แผ่นดินผืนนี้ยังอำนวยประโยชน์แก่ชาวทมิฬด้วยการผลิตแร่ดีบุกอย่างมากมายอีกด้วย เนื่องจากในแถบที่ริมแม่น้ำน้อยใหญ่มากสายนั้น ยังมีแร่ดีบุกเกลื่อนกลาดอยู่ ไม่ยากแก่การแสวงหา สมควรแก่สมญานาม "เมืองแก้ว" หรือ "เกาะแก้ว" ที่ทมิฬเรียกขานโดยแท้. 

 

ล่วงมาถึงสมัยกรุงธนบุรี พ.ศ. ๒๓๑๕ กัปตันฟรานซิส ไลท์ ชาวอังกฤษ ได้เข้าไปขอพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งสำนักงานค้าแร่ดีบุกขึ้นที่บ้านท่าเรือ เมืองถลางและได้สมรสกับหญิงสาวชาวถลางชื่อมาร์ติน่า โรเซลล์ ลูกผสมบิดาโปรตุเกส-มารดาไทย (พระยาราชกปิตัน(ฟรานซิส ไลท์) กรมศิลปกร : ๒๕๑๗) ไลท์ ได้รับการสนับสนุนจากธนบุรี เป็นอย่างดีตลอดมา. 

 

ในระหว่างนั้น คุณเทียนบุตรชายท้าวเทพกระษัตรี(สมัยที่ยังเป็นคุณหญิงจันนอกราชการ) ได้ค้นพบแหล่งแร่ดีบุกขนาดใหญ่ที่บริเวณซึ่งชาวทมิฬโจฬะเคยยึดครองมาเมื่อ ๙๐๐ ปีก่อน (คือบริเวณมานิก, บางคู, เกาะแก้วและสปำ) พระยาพิมลอยา บิดาเลี้ยงซึ่งได้รับการอภัยโทษ แล้วให้ออกมาดูแลการค้าดีบุกแก่พ่อค้าอังกฤษที่เกาะถลาง จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงโปรดให้คุณเทียน มีตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองในท้องที่ ๆ ได้พบแร่เหล่านั้น เนื่อง จากถือว่าคุณเทียนได้ทำคุณประโยชน์แก่แผ่นดินในการค้นพบโภคทรัพย์อันมีมูลค่าสูงมีผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของกรุงธนบุรีซึ่งพึ่งกอบกู้อิสรภาพจากพม่าได้ใหม่ ๆ บ้านเมืองยังคงขาดแคลน ต้องการสินค้าแลกเปลี่ยนเงินตราจากต่างประเทศมาทะนุบำรุงอาณาประชาราษฏร์อย่างสำคัญ  คุณเทียนยังมี อายุไม่ครบ ๓๑ ปี (ตามประวัติศาสตร์ที่วิเคราะห์ว่าคุณเทียนเกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๘ ) ไม่สามารถรับพระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้นสัญญาบัตร เป็น ขุน หลวง พระ หรือ พระยาได้ (ดูกฎหมายตราสามดวง,องค์การค้าคุรุสภา ๒๕๓๗ เล่ม ๕ หน้า ๑๔๙) จึงได้รับพระราชทานราชทินนามเป็นพิเศษว่า "เมืองภูเก็จ" ตำแหน่งเจ้าเมืองภูเก็จมีศักดินา ๖๐๐ ไร่ ให้มีอำนาจ เกณฑ์ผู้คนราษฏรที่ไร้สังกัดอื่นใดไปตั้งหลักฐานบ้านเรือนในเมืองภูเก็จซึ่งจะตั้งขึ้นใหม่ได้ตามสมควรแก่การ ส่วนท้าวเทพกระษัตรี ซึ่งยังมีตำแหน่งคุณหญิงอยู่นั้น ให้สถาปนาขึ้นเป็น "ท่านผู้หญิง" ตามธรรมเนียมประเพณีแต่โบราณ ซึ่งสืบทอดต่อกันมาว่า เมื่อบุตรได้รับยศศักดิ์ อันเป็นความชอบในแผ่นดิน ผู้เป็นบุพการี(โดยเฉพาะบิดา ถ้ามีชีวิตอยู่)ก็ได้รับผลแห่งความดี นั้นรับพระราชทานเลื่อนยศสูงขึ้นไปด้วย คำว่า "เมืองภูเก็จ" และ "ท่านผู้หญิงจัน" จึงได้อุบัติขึ้นในประวัติศาสตร์ไทยเป็นครั้งแรก เพิ่มขึ้นจากคำว่า "ถลางบางคลี" และ "คุณหญิงจัน"ที่เคยมีมาแต่เดิม

Click at the image to view full size
ฝากรูป

พ.ศ.๒๓๒๘ พม่ายกทัพมารุกรานถลาง แต่ถูกท่านผู้หญิงจัน(ก่อนจะเป็นท้าวเทพกระษัตรี) ทำการต่อสู้จนต้องถอยทัพกลับไปด้วยความเสียหายมากมาย เมืองถลางปลอดจากศึกพม่า สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งพระยาปลัดเมืองผู้ทำหน้าที่ผู้ว่าราชการเมืองถลางอยู่ในระหว่างทำศึกกับพม่า ชื่อพระยาทุกรราช(ทองพูน) บุตรชายของจอมเฒ่า หรือ จอมทองคำบ้านดอน ขึ้นเป็นพระยาณรงค์เรืองฤทธิประสิทธิสงครามเจ้าเมืองถลาง แต่งตั้ง "เมืองภูเก็จ(เทียน)" เป็นพระยาทุกรราช ตำแหน่งปลัดเมืองถลาง และแต่งตั้งท่านผู้หญิงจัน เป็นท้าวเทพกระษัตรี" กับคุณมุก เป็น "ท้าวศรีสุนทร" ปูนบำเหน็จความชอบในราชการสงคราม ท้าวเทพกระษัตรี และพระยาทุกรราช (เทียน) ผิดหวังจากตำแหน่งเจ้าเมืองถลาง ที่เคยคาดคิดไว้ก่อน จึงยกออกจากเมืองถลางมาอยู่เมืองภูเก็จที่ "ตะปำ" จดหมายเหตุของท่านผู้หญิงจันหรือท้าวเทพกระษัตรี ที่มีไปยังพระยาราชกปิตัน คู่ค้าแร่ดีบุก ณ เกาะปีนัง มีความตอนหนึ่งว่า "...ตูข้ายกมาทำดีบุกอยู่ ณ ตะปำ..." ซึ่งหมายถึงการโยกย้ายครอบครัวอันประกอบด้วยบุตรธิดา ญาติ และข้าทาส บริวารทั้งปวงมา"ตั้ง"มั่นอยู่ที่สะปำ อันเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมในการตั้งตัวเป็นอิสระและประกอบอาชีพที่ยั่งยืน นายเลิศ อารีย์ราษฎร์ อดีตกำนันตำบลสะปำ (ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็นตำบลเกาะแก้ว) เมื่อมีชีวิตอยู่ (ประมาณ พ.ศ.๒๔๙๐) เล่าว่า ที่สะปำนี้ มีละแวกหนึ่งที่ชาวบ้านยังเรียกขานที่แหล่งนั้นว่า "บ้านแม่ปราง" ซึ่งคงหมายถึง "แม่ปราง" บุตรคนโตของท้าวเทพกระษัตรีก็เป็นได้ ผลจากแหล่งแร่สำคัญที่ผลิตได้ของภูเก็จ (สะปำ) สมัยนั้น สามารถนำส่งภาษีดีบุกเข้าสู่ท้องพระคลังได้ในอัตราสูง นอกจากนั้นแล้ว มูลค่าของดีบุกที่ขายแก่อังกฤษจำนวนมาก ยังสามารถซื้ออาวุธปืนและดินประสิว นำส่งยังกรุงเทพมหานครได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย พระยาทุกรราชเจ้าเมืองภูเก็จซึ่งควบตำแหน่งพระยาปลัดเมืองถลางอยู่ จึงได้รับความชอบเลื่อนขึ้นเป็น"พระยาเพชรคีรีศรีพิไชยสงครามรามคำแหง พระยาถลาง" ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๓๒ สืบต่อมา.    

Click at the image to view full size
ฝากรูป

 

***

มห.ภูเก็จ

สารานุกรม มทศ.

วัฒนธรรม2วัฒน์ ภาษาสื่อสาร

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อาทิตย์, 22 พฤษภาคม 2011 )