ช่วงบ่ายแวะร้านข้างทางเพื่อให้คนขับดื่มการัมจายและกินจาปาตี (คนอินเดียเค้าไม่กินข้าวเช้านะ ฉันสังเกตดูคนขับรถและผู้ช่วยไกด์จะกินข้าวเช้าประมาณบ่าย ๒ ทุกวัน) ฉันก็ลงเดินสำรวจนั่นนี่ไปตามประสา เรียกว่าเค้าจอดทุกที่ฉันก็ลงเพื่อเข้าห้องน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ทุกครั้งเช่นกัน แม่ชีสุแก่นธรรมบอกว่าไม่ต้องอายหรอกลูก คนอินเดียเค้าก็ทำแบบเรา แต่หลายที่ที่เราแวะ สาวแขกอินเดียส่งสายตามองเราอย่างประหลาด ๆ จนบางครั้งฉันรู้สึกหน้าร้อนเล็ก ๆ ขึ้นมาเหมือนกัน หน้าตาของจาปาตีและวิธีการปิ้งแป้งให้สุก พูดถึงร้านรวงข้างถนนหรือหลาย ๆ ที่ที่ผ่านมาเห็นผู้ชายร้อยละ ๙๙ เป็นคนขายของในร้าน หาผู้หญิงนั่งเฝ้าร้านยากมาก แทบจะไม่มีให้เห็น ฉันจึงเห็นด้วยที่สุดกับคำกล่าวว่า “เมืองใช้ผัวเฝ้าห้าง” เพราะผู้ชายเฝ้าห้างร้านจริง ๆ รวมถึงเป็นผู้ทำอาหารขาย อย่างจาปาตีหรือการัมจายทุกร้านที่แวะกินมีผู้ชายเป็นคนทำทั้งนั้น เมืองใช้ผัวเฝ้าห้าง รถฝ่าสายฝนจนมาถึงพิพิธภัณฑ์สารนาท พวกเราเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ค่าเข้าชมแค่ ๒ รูปี ถูกแสนถูก ฉันรู้สึกเป็นสุขเมื่อได้เดินชมพิพิธภัณฑ์ตามประสาคนที่ผูกพันกับงานลักษณะนี้ พิพิธภัณฑ์ที่นี่มีโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมหลายชิ้น โดยเฉพาะพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา นั่งขัดสมาธิ ทำจากหินแกะสลัก ที่ได้รับการยกย่องจากสหประชาชาติว่าสวยงามที่สุดในโลกอันดับ ๑ ฉันเห็นด้วยว่าจริงที่สุดเพราะเป็นปฎิมากรรมที่มีพุทธศิลป์งดงามมาก ประติมากรช่างรังสรรค์เสียจริง ๆ ยังมีสิ่งล้ำค่าชวนดูอีกอย่างในพิพิธภัณฑ์คือ หัวเสาตราสิงห์ที่เป็นตราราชการแผ่นดินของอินเดีย เป็นรูปสิงโต ๔ ตัวหันหลังชนกัน สร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช และพระอวโลกิเตศวรในลัทธิมหายาน โบราณวัตถุเหล่านี้ ไม่สามารถถ่ายรูปได้ เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์ของกรมศิลปากรบ้านเรา ที่ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปเพราะเป็นระบบการรักษาความปลอดภัยนั่นเอง จากนั้นไปนมัสการมูลคันธกุฎี ที่พุทธเจ้าทรงจำพรรษาครั้งแรก ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกับพิพิธภัณฑ์สารนาถ ท่ามกลางสายฝนโปรยปราย คณะ ฯ ได้สวดมนต์ และนั่งสมาธิ ณ ธัมเมกขสถูป ที่มีลักษณะทรงบาตรคว่ำก่อด้วยหินทราย เป็นสถานที่แสดงปฐมเทศนา โดยมีพระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นองค์แรก และยังเป็นสถานที่ที่เกิดขึ้นแห่งวันอาสาฬหบูชาในโลก ฉันทอดตามองภาพเหล่านั้นด้วยความรู้สึกสงบนิ่งและเยือกเย็น บริเวณธัมเมกขสถูปกับการสวดมนต์เจริญจิตภาวนาสมาธิ สักพักฉันเดินสำรวจโบราณสถานรอบ ๆ และมานั่งรอคณะอยู่ด้านหน้าธัมเมกขสถูปกับลาวาและมาโนช ผู้ช่วยไกด์ชาวอินเดีย นั่งพูดคุยซักถามเรื่องราวในอินเดียและเรื่องส่วนตัวของทั้งสองคน ลาวาพูดภาษาไทยได้ค่อนข้างดี เพราะเคยบวชเป็นสามเณรอยู่วัดไทยพุทธคยาหลายปี จนปัจจุบันก็ยังเป็นเด็กวัดอยู่ จึงสามารถช่วยงานพระและแม่ชีได้เป็นอย่างดีในการรับคณะ ฯ คนไทย ระหว่างนั่งรอก็มีบรรดาขอทานเดินมาทำตาละห้อยอยู่ข้าง ๆ รั้ว พวกเค้าไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาภายในเขตโบราณสถาน จึงได้แต่วนเวียนอยู่รอบนอก แต่นั่นก็หาทำให้พวกเค้าย่อท้อในการตามตื้อนักท่องเที่ยวไม่ โดยเฉพาะรานีและมหารานีที่มาจากเมืองไทย เพราะคงรู้กิตติศัพท์เรื่องคนไทยใจบุญนั่นเอง ฉันหยอกล้อเล่นกับบรรดาขอทานด้วยการทำท่าเหมือนที่เค้าทำให้ฉันดู ปรากฎว่าเรียกเสียงหัวเราะได้คำใหญ่ ๆ เพราะฉันคงทำท่าได้ดีกว่าเค้า (มั้ง) หรือไม่ก็ทำได้น่าเกลียดกว่าเป็นหลายเท่า จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาทำให้ฉันคิดหาวิธีการเอาตัวรอดจากขอทานเหล่านั้นด้วยการทำท่าทางอย่างที่เขาทำ บางครั้งก็ทำหน้าดุใส่ หรือไม่ก็วิ่งไปเกาะแขนมาโนชพร้อมร้องว่า help me please ๆ เพื่อให้มาโนชพูดจาภาษาเดียวกันว่าอย่ามารบกวนฉัน สนามหญ้าบริเวณโบราณสถาน จากนั้นฉันจึงเดินทอดน่องเอื่อย ๆ อย่างไม่เร่งร้อนเพราะมีเวลาท่ามกลางสายฝนพรำๆ ออกไปด้านนอกเพราะอยากกินมะม่วง ภาษาฮินดีเรียกมะม่วงว่า “อาม” (อันนี้ลาวากับมาโนชบอก) ขอบอกว่ามะม่วงที่อินเดียอร่อยมาก รสชาติหวานเนียน ๆ กินแล้วอยากกินอีก ราคาก็ไม่แพงกิโลละ ๒๐ – ๓๐ บาท มีวางขายอยู่ทั่วไป เมื่อได้มะม่วงมาสมใจอยากก็สอดส่ายสายตาหาของที่ระลึกที่มีวางขายเป็นแถว สินค้ายอดนิยมก็เห็นจะเป็นพระพุทธรูปดินเผาปางสารนาถหรือปางปฐมเทศนา ที่มีวางขายทุกร้าน คนขายก็เหมือน ๆ กับที่ผ่านมาที่คิดว่าตื้อเท่านั้นที่ครองโลก พากันมาเดินล้อมหน้าล้อมข้างแล้วมาล้อมหลัง ทำยังกะว่าฉันเป็นนางงามก็ไม่ปาน (อิอิ) ตอนแรกบอกราคาซะสูงลิบลิ่ว พอฉันทำไม่สนใจไปถามราคาร้านอื่น คนขายคนนั้นก็มากระซิบกระซาบว่า ๑๐ รูปีก็ได้จากราคาเดิม ๕๐๐ รูปี เอากะเค้าสิ เมื่อฝ่าฝูงชนคนขอทานมาขึ้นรถ คนขายก็ยังไม่วายมายืนเข้าแถวกันหน้าสลอนอยู่ข้างรถเพื่อร้องขายและร้องขอ ฉันหยิบยื่นลูกอมให้ไปบ้าง ที่กล้าให้เพราะขึ้นมานั่งบนรถแล้ว มีพรรคพวกเยอะคงไม่กล้าตามมารุมทึ้งบนรถแน่นอน จากนั้นคณะ ฯ ไปต่อที่เจาคันธีสถูป ซึ่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโมกุล แต่ทรุดโทรมไปตามกาลเวลาเหลือเพียงเนินดิน เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าพบปัญจวัคคีย์ครั้งแรกหลังจากตรัสรู้ สร้างขึ้นในสมัยศตวรรษที่ ๗ เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงว่า ครั้งเมื่อปัญจวัคคีย์หลีกหนีพระพุทธองค์ ด้วยสำคัญผิดเพราะมีมิจฉาทิฏฐิอย่างแรงกล้า ได้มาอาศัยอยู่ที่นี้ หลังจากทรงตรัสรู้แล้ว พระพุทธองค์ทรงมีพระเมตตาเสด็จมาโปรดปัญจวัคคีย์ สันนิษฐานว่าพบกัน ณ ที่จุดนี้เป็นครั้งแรก และได้ทำความเข้าใจกันในเบื้องต้น มาถึงตรงนี้ฉันรู้สึกสงสารพระพุทธเจ้าขึ้นมาจับใจที่พระองค์ท่านใช้ความเพียรพยายามเป็นอย่างสูง หลังจากที่ตรัสรู้แล้วด้วยการเดินเท้าจากพุทธคยามายังเมืองพาราณสี เป็นระยะทาง ๒๐๐ กว่ากิโล คิดดูเถอะว่าขนาดเรานั่งรถกระดูกกระเดี้ยวแทบจะหักจนยำได้ แต่ในสมัยพุทธกาลจะไม่ลำบากหนักหนาสากรรจ์กว่านี้หรือ ฉันรู้สึกบ่อน้ำตื้นขึ้นมาทันที ฉันไม่ได้ลงไปดูเจาคันธีสถูป เพราะฝนตก รู้สึกชื้น ๆ และเห็นบรรดาขอทานมารอรับอยู่ตรงข้างรถ เลยนั่งแจกลูกอมอยู่บนรถดีกว่า คืนนี้พวกเราพักที่วัดไทยสารนาถ และทอดผ้าป่า ตอนพลบค่ำฉันแอบย่องไปตีท้ายครัวของวัด พบแม่ชีที่มาเรียนต่อระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยเมืองพาราณสี หาข้าวหาน้ำและมะม่วงให้ฉันกิน รู้สึกซาบซึ้งในเมตตาจิตของแม่ชีเป็นที่ยิ่ง ก่อนนอนฉันขอให้ อ.เอี่ยมนภาเล่าพุทธประวัติให้ฟังอีกเช่นเคย จนหลับไปตอนไหนก็ไม่ทราบวันที่ ๔ กค. ตื่นมาเวลา ๔ นาฬิกาของอินเดีย วันนี้มีทริปไปล่องคงคามหานที ตื่นเต้นสุด ๆ กระวีกระวาดแต่งองค์ทรงเครื่องด้วยชุดขาวเหมือนเช่นทุกวัน ตั้งแต่มาอินเดียฉันปล่อยวางเรื่องการประทินโฉมไปเกือบหมด เรียกว่าขี้เกียจแม้กระทั่งจะหยิบแป้งมาแต่งหน้า มีความรู้สึกว่าไม่รู้จะทาจะแต่งไปทำไม อะไรที่ไม่ปรุงแต่งนี่ดีที่สุดแล้วเพราะสังคมบนรถคันนี้มาเพื่อลดละเลิกและปล่อยวางกันทั้งนั้น ไม่แปลกใจเลยว่าเมื่อจบทริปอินเดียหน้าฉันจึงกร้านดำไม่แตกต่างอะไรกับคนแถบนั้น เพราะเดินกลางแดดเปรี้ยง ๆ ถือร่มอยู่ในมือแต่ไม่นึกอยากจะกาง แถมครีมกันด่งกันแดดก็ไม่นำพาซะอีก รถเคลื่อนที่ไปสู่ท่าน้ำคงคาเมื่อเวลา ๕ นาฬิกา ฝนยังคงตกปรอย ๆ ทั้ง ๆ ที่ตกมาแล้วทั้งคืน ที่อินเดียนี่ไฟดับบ่อยมาก วัดที่พักก็เดี๋ยวดับเดี๋ยวติดอยู่อย่างนั้นเกือบทั้งคืน อาจเป็นพราะว่าทางวัดใช้เครื่องปั่นไฟเอง หรือไม่ก็คงเป็นมาตรการประหยัดน้ำมัน รถมาจอดให้พวกเราลงไม่ไกลจากท่าน้ำมากนัก แล้วจึงเดินขบวนตามพระอาจารย์ไปเป็นแถว ด้วยเป็นเวลาเช้าตรู่ร้านรวงจึงยังไม่เปิด ฉันเห็นคนที่ไม่มีบ้านซุกตัวนอนหลับอยู่แถวหน้าร้านหลายคน ฉันรีบละสายตาไปทางอื่น ก็คงไม่แตกต่างอะไรกับคนจรหมอนหมิ่นบ้านเราที่ไม่มีแม้กระทั่งโอกาสให้ตัวเองได้แสวงหา มาอินเดียนี่คุ้มสุดคุ้มกับสิ่งที่ได้เห็นถือเป็นศูนย์รวมของความหลากหลายที่ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว ก่อให้เกิดทัศนวิสัยของผู้ที่ได้พบเห็นแตกต่างกันออกไปตามต้นทุนทางความคิดของแต่ละคน แม่ค้าขายมาลัย เส้นทางไปท่าน้ำคงคามหานที รีบจ้ำอ้าวก้าวยาว ๆ ตามคณะไปเพราะเห็นคนเริ่มหนาตาขึ้น บนทางเท้ามีคนวางพวงมาลัยขายเป็นแถว คงเป็นเครื่องบูชาพระแม่คงคาเป็นแน่แท้ ระหว่างทางที่เดินลงไปสู่ท่าน้ำคงคาเห็นเจ้าพิธีกรรมต่าง ๆ กำลังปฏิบัติการ บางรายได้เชิญชวนให้เราร่วมพิธีกรรมด้วย แต่ฉันขอบาย เพราะกลัวไปไม่ทันขบวน และยังเห็นช่างตัดผมริมทางที่ตัดกันจะ ๆ แบบไม่ต้องอาศัยเก้าอี้เอนนอนแบบบ้านเรา นั่งหันหน้าเข้าหากันบนเก้าอี้ตัวเล็ก ๆ (ภูเก็ตเรียก บั๋งกู๋ – ตรัง เรียก ดานม้า--ผู้เขียน) ตัดกันตรงนั้นแถมยังโกนหนวดกันเคราให้กันอีก ฉันเลยเรียกช่างเหล่านั้นว่าพ่อกัลบกริมทาง คงคามหานที ศรัทธาแห่งฮินดูชน แต่อนิจจา...เมื่อมาถึงท่าคงคามหานที การณ์กลับไม่เป็นไปดั่งหวัง ด้วยเหตุว่าฝนที่ตกมาทั้งคืนทำให้กระแสน้ำในแม่น้ำคงคาไหลเชี่ยวกราก และหมุนวน หัวหน้าคณะทัวร์กลัวจะเกิดอันตรายกับพวกเราจึงไม่อนุญาตให้ลงเรือไปล่องแม่น้ำคงคา คงได้แต่เก็บเกี่ยวภาพแห่งความทรงจำเอาไว้แค่บนบกเท่านั้นเอง ฉันซื้อกระทงดอกกุหลาบจากเด็กผู้หญิงคนหนึ่งมาในราคา ๑๐ รูปี ด้วยว่าคุณเธอตามล่าตามล้างฉันเหลือเกิน เมื่อได้กระทงฉันก็จุดเทียน พยายามอยู่หลายครั้งแต่ด้วยลมที่พัดมาปะทะทำให้เทียนดับอยู่ร่ำไป ฉันเลยตัดสินใจลอยไปทั้ง ๆ ที่เทียนไม่ติดนั่นแหละ ขณะที่หย่อนกระทงลงน้ำก็ได้อธิษฐานจิตว่าขอให้ฉันได้มีโอกาสมาเยือนอินเดียอีก....ด้วยความรู้สึกอิ่มเอมใจ ประมาณว่าสิ่งที่ฝันได้เป็นจริงแล้ว กระทงคงไม่หลงทางที่ท่าน้ำคงคา../ท่ากรีดกรายนิ้วฉันดีแท้ (กรั๊กๆ) เมื่อสมควรแก่เวลาคณะ ฯ ก็เดินทางกลับ ฉันเห็นคนมารออาบน้ำจากแม่น้ำคงคาทั้งผู้หญิงผู้ชาย เด็กและคนสูงวัย คนอินเดียเชื่อกันว่าแม่น้ำคงคาจะสามารถชำระบาปได้ และเป็นที่อยู่ของเทพเจ้า เหมือนดังคำกล่าวที่ฉันเคยอ่านพบว่า “เมื่อศรัทธาแล้วก็ไม่จำเป็นต้องค้นคว้าหาคำตอบ” ฉันจากลาท่าน้ำคงคามาพร้อมคำถามในใจว่า “เมืองนี้วุ่นวายจริงหนอ” ศรัทธามหาชน กลับมากินข้าวเช้าที่วัด อาหารอร่อยทุกมื้อเพราะคนทำเป็นแม่ชีไทย ก่อนกลับฉันเดินตัวปลิวไปหน้าวัดเพราะหมายตาร้านขายผ้ากาสีไว้ตั้งแต่เมื่อวาน มาเมืองพาราณสีสิ่งที่ขึ้นชื่อนอกจากแม่น้ำคงคาแล้ว ผ้ากาสีก็ติดอันดับต้น ๆ ของการสรรหาไว้คู่กับตัว ร้านยังไม่เปิดทำการ แต่ก็ไม่สามารถสกัดกั้นแรงปรารถนาของฉันได้ ทั้เพราะทั้งเคาะประตูร้าน ทั้งเรียกหา จนคนขายต้องลุกมาเปิดร้านด้วยอาการงง ๆ โห...เมื่อเปิดไฟในร้านดูอะไรจะงดงามได้ปานนี้ ทั้งผ้าพันคอ ทั้งส่าหรี ละลานตระการตาที่สุดเท่าที่เคยพบมา อ.ปู่และอ.เอี่ยมนภาตามมาสมทบ ฉันคว้ามาได้ ๓ ผืน เป็นผ้าพันคอผืนบางเบา ด้วยเวลาที่เร่งรีบ อ.ปู่และอ.เอี่ยม คว้าผ้ากาสียาว ๖ หลาได้คนละผืน ต่อรองได้ผืนละ ๘๐๐ บาท จากราคาขายผืนละ ๑,๒๐๐ บาท จะถูกหรือแพงในวินาทีนั้นไม่สนแล้ว เพราะอยากได้และรถกำลังจะเคลื่อนที่ ฉันเอากะเค้ามั่งเพราะอยากได้ไว้ประจำบ้าน หิ้วขึ้นมาบนรถผู้คนฮือฮาด้วยว่าฉันเลือกสีผ้าได้ถูกใจผู้สูงวัย (อิอิ) ยังเสียดายอยู่จนบัดนี้ว่า ทำไมฉันถึงไม่เลือกซื้อผ้าคลุมไหล่หรือผ้าพันคอมาสัก ๒๐ หรือ ๓๐ ผืนเพื่อแจกจ่ายญาติมิตร ??? (คำถามที่ไม่อยากหาคำตอบเพราะรู้ดีว่าอัฐน้อยนั่นเอง ) ในวันนี้จากลาพาราณสีมาด้วยความอาลัยหา...หวังไว้ว่าเมื่อบุญพาวาสนาส่งฉันจะได้กลับมายังคงคามหานทีอีกครา.
ร้านขายผ้ากาสีหน้าวัดไทยสารนาถ ตอนก่อนหน้านี้ |