การเดินทางใช้เส้นทางหลวงแห่งชาติ หมายเลข ๕๐ จากแคว้นกาสี ผ่านเมืองอโยธยา เมืองของพระราม - พระลักษณ์ ที่เคยเรียนในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ เมืองนี้ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำอะจิราวดี สถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่มีลักษณะเหมือนโบสถ์พราหมณ์ พระอาจารย์จูมบรรยายอะไรบ้างฉันจำไม่แม่น รู้แต่ว่าได้สาระมากเหลือ ตอนแรกแม่ชีบุญเรืองบอกพวกเราว่าคงเดินทางถึงเมืองสาวัตถีไม่เกิน ๔ โมงเย็น แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอในอินเดีย สมดังคำกล่าวที่ว่า “เมืองเดินทางต้องทำใจ” เพราะเมื่อเข้าใกล้เมืองสาวัตถีมากขึ้นเท่าใด รถรา สรรพสัตว์ ผู้คน วุ่นวายสับสน ไม่แตกต่างอะไรกับวันแรกที่มาเยือนเมืองโกลกัตตา ฉันนั่งลุ้นไปตลอดทางกับลีลาการบีบแตร แซงรถคันหน้า หลบหลีกวัว ของรถคันที่ฉันนั่ง มีอยู่ครั้งหนึ่งที่คนขับรถเบรคจนฉันถลาไปติดเบาะข้างหน้า เพียงเพื่อหลีกวัวเทียมเกวียนคู่หนึ่งที่ผ่านมาตัดหน้าในระยะกระชั้นชิด รถผ่านเข้ามาในตลาดเมืองสาวัตถีเมื่อพลบค่ำ เหลือบมองนาฬิกาที่ข้อมือซ้ายเวลา ๑๙.๓๐ นาที ป่านนี้ที่เมืองไทยคงเป็นเวลา ๒๑ .00 น. คิดถึงละครช่องหนึ่งขึ้นมาจับใจ ตอนนี้ฉันติดนิยายน้ำไม่ดีอยู่เรื่องหนึ่งทางสถานีนี้ รถจอดเพื่อให้แม่ชีอรัญญาลงซื้อผักไว้สำหรับทำอาหารให้พวกเราในมื้อเช้าและมื้อเที่ยงของวันพรุ่งนี้ ฉันอยากลงไปเดินกับเค้าด้วย แต่ติดว่ามืดค่ำแล้วกลัวหลงทาง เลยได้แต่นั่งเอาหน้าตาแนบกับกระจกรถ มองดูความเคลื่อนไหวด้านนอก แถมยังสั่งข้าวโพดที่ปิ้งกับถ่านไฟแดง ๆ มากิน ๒ ฝัก ราคา ๕ รูปี แบ่งให้คนนั่งข้าง ๆ ๑ ฝัก แต่เจ้ากรรม ! เมื่อกัดกินไปได้ ๒ –๓ คำไม่ขาดไม่เกินไปจากนี้ ก็มีอันต้องวางลงเพราะจิตเกิดประหวัดคิดถึงอะไรบางอย่างที่ไม่ชวนให้กัดกินต่อ.... ตลาดค่ำของเมืองสาวัตถี/ข้าวโพดปิ้ง การเดินทางเสียเวลาเพราะคนขับหลงทางเล็กน้อย ถึงที่พัก คือวัดไทยสาวัตถีเมื่อเวลาเกือบ ๒ ทุ่ม แยกย้ายกันเข้าห้องนอน ห้องเรานอนรวมกัน ๖ คน จึงขอเตียงเสริม บรรยากาศโดยรวมถือว่าใช้ได้ ห้องน้ำถึงแม้จะอยู่นอกห้องแต่ก็เดินแค่ ๒ – ๓ ย่างก้าว แถมยังสะอาดสะอ้านดี ค่ำคืนนี้เรานอนในเมืองสาวัตถี ซึ่งเป็นเมืองที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนา เป็นศูนย์กลางของการเผยแผ่พระศาสนาของพระพุทธองค์ที่ยาวนานถึง ๒๕ ปี และยังเป็นที่ตั้งของวัดพระเชตวันมหาวิหาร ซึ่งเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าในครั้งพุทธกาลถึง ๑๙ พรรษา เป็นเมืองที่อยู่อาศัยของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี และบ้านขององคุลีมาล ที่มีแม่น้ำไหลผ่าน ครั้งหนึ่งแม่น้ำสายนี้เคยสัมพันธ์กับชีวิตของนางปฏาจาราผู้สูญเสียสามี บุตร และพ่อแม่ในคราวเดียวกัน จนถึงขั้นเสียสติวิปลาส พระพุทธองค์ต้องทรงเข้ามาโปรดจนนางได้ดวงตาเห็นธรรม และพุทธประวัติอีกหลายตอนที่สัมพันธ์กับเมืองนี้ รุ่งรางสว่างแล้ว ( ๕ กค.) เสร็จจากภาระกินก็ต่อด้วยภาระกิจของการเดินทางไปเยือนสถานที่ต่าง ๆ ภายในเมืองสาวัตถี อันได้แก่ ลำดับแรก เขตที่ตั้งของวัดพระเชตวันมหาวิหาร คณะ ฯ ไปที่อานันทโพธิ์ เป็นที่แรก เพื่อสักการะและถวายผ้าห่มต้นโพธิ์ ที่เชื่อกันว่า เป็นโพธิ์ต้นเดิมที่พระอานนท์ทรงปลูกเอาไว้ คณะ ฯ เดินวนทักษิณาวัตร ตัวฉันทำหน้าที่ตากล้อง พร้อมเดินตามหลังไปอย่างเงียบ ๆ พร้อมกับแม่ชีสุแก่นธรรม ชอบบรรยากาศเหลือเกิน สงบเงียบ ร่มเย็น ในระหว่างที่เดินอยู่นั้นมีใบโพธิ์ร่วงหล่นจากต้น ฉันจึงเก็บมาไว้กับตัว อ.ฤดี บอกว่าให้ลองดมกลิ่นใบโพธิ์นั้นดู ปรากฎว่ามีกลิ่นหอมนวลประหลาดเป็นที่อัศจรรย์ใจแก่ชาวคณะ ฯ ยิ่งนัก โพธิอานนท์ ที่เชื่อกันว่าเป็นต้นเดิมที่พระอานนท์ทรงปลูกด้วยตนเอง
จากนั้นเดินทางต่อไปที่พระคันธกุฎี ฤดูร้อน ฤดูหนาวและฤดูฝน อยู่ห่างจากต้นโพธิ์พระอานนท์ ประมาณ ๒๐ ย่างก้าว คณะได้นั่งปฏิบัติธรรม ณ สถานที่แห่งนั้น ส่วนตัวฉันเดินสำรวจไปล่วงหน้า พบว่า ณ สถานที่นี้ประกอบด้วย เขตพุทธาวาส กุฎีพระอานนท์ บ่อน้ำสรงสำหรับพระพุทธองค์ และธรรมสภาสำหรับประชุมสงฆ์ ในขณะที่สมาชิกนั่งทำสมาธิอยู่บริเวณพระคันธกุฎี ตัวฉันซึ่งเดินสำรวจพื้นที่ก็ได้เจอกับหมอนวดที่ทำมาหากินอยู่ในบริเวณโบราณสถาน ไม่พูดพล่ามทำเพลงด้วยว่ากระดูกกระเดี้ยวคงเคลื่อนผิดที่ผิดทางจากการนั่งรถ เลยใช้บริการของพ่อหมอเฒ่าคนนั้นท่ามกลางความหวาดหวั่นของตัวเองที่ไม่รู้ว่าคิดผิดหรือถูกที่เลือกใช้บริการ ใช้เวลาไปประมาณ ๓๐ นาที ฉันจ่ายไป ๕๐ รูปี พ่อเฒ่าหัวหมอจะขอเพิ่มเป็น ๑๐๐ รูปี เดือดร้อนถึงมาโนชต้องมาหย่าศึกฉันกับหมอนวด เพราะฉันไม่ยอมจ่ายเพิ่มแน่นอน ตกลงกันไว้เท่าไหร่ก็ควรจะเป็นไปตามนั้น นี่แหละแขกหัวหมอจริง ๆ ไม่งั้นคงไม่มีคำพูดว่า “ถ้าเจองูกับเจอแขกก็ให้ตีแขกก่อนตีงู” ฉันเลยรู้ซึ้งซึ่งที่มาของคำนี้
อาณาบริเวณของวัดพระเชตวันมหาวิหาร/ขวาล่างที่ธรณีสูบ คณะ เดินชมรอบ ๆ โบราณสถานเสร็จทุกจุด จึงออกมาด้านหน้าใกล้ประตูทางออกวัดพระเชตวัน ฯ เพื่อไปดูบ่อน้ำที่เล่าขานกันว่าเป็นที่ซึ่งแผ่นดินสูบพระเทวทัต ตอนบั้นปลายชีวิต เมื่อครั้งเดินทางมาเพื่อเฝ้าพระพุทธองค์ ส่วนด้านตะวันออกเฉียงใต้จากวัดศรีลังกา จะมีบ่อน้ำโบราณ เป็นอนุสรณ์ของนางจิณจมาณวิกา ที่ถูกแผ่นดินสูบ ที่สร้างบาป โดยกล่าวหาว่าพระบรมศาสดาล่วงละเมิดจนนางตั้งครรภ์แล้วไม่รับผิดชอบ (จำจากที่พระอาจารย์มหาแกะเล่า) บาปกรรมที่นางได้ทำไว้กับพระพุทธเจ้าครั้งนั้นหนักหนาสากรรจ์มากจนแผ่นดินก็ไม่อาจรับไว้ได้ ต้องแยกออก ส่งให้นางจิณจมาณวิกาไปสู่อเวจีตามกำลังบาปที่สร้างไว้ จากนั้นคณะ ฯ จึงเดินทางกลับวัดไทยสาวัตถีอีกครั้งเพื่อรับประทานอาหารเที่ยงช่วงบ่าย เดินทางไปยังคฤหาสน์ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้สร้างพระอารามเชตวันมหาวิหาร อนาถบิณฑิก มีความหมายว่า “ผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา หรือเศรษฐีขวัญใจคนจน” รถวิ่งผ่านกำแพงวัดเชตวันมหาวิหารมาไม่ไกล ก็เข้าสู่เมืองสาวัตถีโบราณ ซึ่งในอดีตเคยเป็นตลาดของชาววัง เมื่อมาถึงที่แห่งนี้ สิ่งแรกที่มองเห็นคือสถูปใหญ่ อันเป็นที่ตั้งของบ้านอนาถบิณฑิกเศรษฐี องคมนตรี ที่ปรึกษาสายเศรษฐกิจของพระเจ้าปเสนทิโกศล ที่สื่อให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ในอดีตกาลในความร่ำรวยของผู้เป็นเจ้าของบ้าน แต่สิ่งที่ฉันเห็นเบื้องหน้าคงเหลือเพียงร่องรอยของซากอิฐโบราณปะปนกับอิฐในยุคใหม่ และแล้วสัจธรรมที่ฉันสัมผัสได้ในวันนี้ ณ สถานที่แห่งนี้คือ “ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นนิรันดร์” นั่นเอง แดดร้อนได้ใจ ร้อนเหมือนคำโบราณที่กล่าวว่า “ร้อนจนตับแลบ” อาการตับแลบจะเป็นเหมือนที่ฉันกำลังเป็นขณะนี้หรือเปล่าหนอ ? คณะ ฯ เดินแถวต่อมายังบ้านบิดาขององคุลีมาล ได้ยินชื่อองคุลีมาล ฉันให้รู้สึกหวาดหวั่นพรั่นพรึง ย้อนนึกไปถึงเหตุการณ์สมัยที่เรียนวิชาประวัติพระพุทธศาสนา อาจารย์เล่าให้ฟังว่า องคุลีมาลเป็นคนเก่งมาก แต่ถูกอาจารย์หลอกให้ไปตายด้วยการบอกว่า หากองคุลีมาลฆ่าคนได้ครบหนึ่งพันคน จะสำเร็จได้ญาณวิเศษ องคุลีมาลก็ตระเวนฆ่าคนไปทั่ว แต่กลัวว่าจะลืมจำนวนคนที่เคยฆ่า จึงได้ตัดนิ้วคนที่ตัวเองฆ่าแล้วมาแขวนห้อยไว้เป็นสายสร้อย รอบคอ ที่บ้านบิดาขององคุลีมาล มีช่องเล็ก ๆ ให้ลอดผ่าน และให้อฐิษฐานจิตขออะไรได้ ๑ ข้อ แต่ฉันไม่ขอ มองดูทุกคนที่พยายามลอดกันอย่างทุลักทุเล เหตุที่ฉันไม่ขอเพราะคิดว่าตนคือที่พึ่งแห่งตน สำหรับฉันคำนี้คงเหมาะที่สุด เพราะเท่าที่ตรวจสอบฉันไม่เคยได้อะไรมาโดยที่ไม่เหนื่อยเลย หมายความว่า ต้องทำงานเท่านั้นถึงจะได้สิ่งที่พึงปรารถนา บ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐีและบ้านพ่อขององคุลีมาล จากนั้นเดินทางต่อไปยังเมืองแก้วสาวัตถีของอุบาสิกาบงกช สิทธิพล หรือที่สานุศิษย์เรียกท่านว่า "แม่ในแดนธรรม" อุบาสิกาบงกช ได้รับรางวัล "สตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนาแห่งโลก" เนื่องในโอกาสวันสตรีสากลแห่งสหประชาชาติ ประจำปี พ.ศ.๒๕๔๗ และรางวัลเกียรติคุณจากมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลกในปีเดียวกัน อาณาบริเวณสถานที่ปฏิบัติธรรมของคุณแม่บงกช กว้างขวาง ร่มรื่นไปด้วยพรรณไม้นานาชนิด มีพระพุทธรูปปางประทานพร ชื่อ "พระพุทธมหามงคลชัย มหาเมตตาธรรม ประทานพร เพื่อสันติภาพโลก" เป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอินเดีย มีขนาดหน้าตักกว้าง ๙.๙๙ เมตร สูง ๑๕ เมตร ความสูงจากฐานถึงยอดพระมหาเกศ ๓๓ เมตร ฟังจากที่วิทยากรบรรยาย ได้ความโดยสรุปว่า สถานที่แห่งนี้อุบาสิกาบงกช และสานุศิษย์เป็นผู้บุกเบิก เพื่อพลิกแผ่นดินพุทธภูมิอันรกร้างแห้งแล้ง ให้กลายเป็นดินแดนอันร่มรื่นด้วยต้นไทรขนาดใหญ่ถึง ๙,๙๙๙ ต้น บนผืนดินกว่า ๑๕๐ เอเคอร์ รอบ ๆ ซากปรักหักพังของวัดพระเชตวันมหาวิหาร สถานที่ปฏิบัติธรรมของคุณแม่บงกช เมืองแก้วสาวัตถี คณะ ฯ เดินเท้าต่อไปยังอาคารขนาดใหญ่ที่มีสถาปัตยกรรมแบบไทยอันวิจิตรประณีต ภายในอาคารและพื้นปูด้วยหินอ่อน เพื่อฟังบรรยายสรุปจากเจ้าหน้าที่ ส่วนฉันทำเนียน ๆ ด้วยการออกมาสำรวจพื้นที่ จริง ๆ ต้องการมานั่งรับลม ชมวิวมากกว่า เดินดุ่ม ๆ ออกมาเจอคนงานที่กำลังปลูกต้นไม้ เป็นชาวพื้นเมือง สอบถามได้ความว่าพวกเขาเหล่านั้นมีค่าแรงแค่ ๔๕ บาท แลกกับการทำงานวันละ ๘ ชั่วโมง ๔๕ บาทก็ถือว่ามากพอจะเลี้ยงครอบครัวได้ในแต่ละวัน จากการสังเกตการณ์ของฉันพบว่างานที่ทำก็ไม่ได้หนักหนาอะไรมากนัก ฉันไม่ได้ออกมาจากอาคารเพียงคนเดียว แต่ชวนมาโนชออกมานั่งที่ใต้ต้นไม้ด้วยกัน และในวันนี้เองฉันกับมาโนชได้ตกลงเป็นพี่น้องกัน ณ ใต้ต้นมะม่วง(อาม) มาโนชขอให้ฉันช่วยส่งดิกชันนารีภาษาอังกฤษ – ไทย มาให้ ซึ่งฉันก็รับปากในทันที เพราะรู้ว่านั่นคือหนทางในการได้ใช้ทำมาหากินของเขา วันนี้ฉันเลยรู้สึกอิ่มเอมใจอย่างไม่จบสิ้นเพราะสิ่งที่กระทำล้วนแล้วแต่นำความสุขใจมาให้ฉันทุกกรณี บนซ้าย--คนงานที่ได้ค่าแรงวันละ ๔๕ บาท/ซ้ายล่าง---มิสเตอร์มาโนช ออกจากสถานที่ของคุณแม่บงกช คนอื่นเค้าเดินบนคันนากันเป็นแถว ส่วนตัวฉันเห็นหนุ่มแขก ขับมอเตอร์ไซด์รุ่นโบราณแบบในหนังอินเดียมาบนเส้นทางที่ฉันกำลังเดิน เกิดอาการไม่อยากเดินขึ้นมาเฉย ๆ นึกอยากซ้อนท้ายชายหนุ่มขึ้นมากะทันหัน (จริง ๆ ขี้เกียจเดิน 555) หนุ่มรุ่นหลานอนุญาตให้ขึ้นรถได้ และคงงง ๆ ที่ใครก็ไม่รู้มาใช้ภาษามือภาษาปากบอกให้ไปส่งที่รถ ไม่แน่ใจว่า ณ บัดนี้เด็กหนุ่มคนนั้นจะหายงงหรือยัง ต่อด้วยการเพิ่มบุญโดยมาทอดผ้าป่า ณ วัดไทยเชตวันมหาวิหาร เป็นวัดไทยที่เพิ่งเริ่มมาบุกเบิกในเมืองสาวัตถี โดยคณะพระธรรมทูตไทย สายประเทศอินเดีย ที่ต้องการพลิกฟื้นดินแดนของพระพุทธศาสนาขึ้นมาใหม่ โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก ท่ามกลางปัญหานานับประการ ในต่างแดน ฉันเห็นแล้วขอบอกว่าพระธรรมฑูตเหล่านั้นมีความเพียรพยายามเป็นเลิศจริง ๆ วัดไทยเชตวัน ที่กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง สถานที่ต่อไป คือ ยมกปาฏิหาริย์ เมื่อไปถึงสถานที่ได้เห็น เนินดินสูงประมาณ ๕๐ เมตร ที่แห่งนี้พระพุทธองค์ทรงแสดงยมกปาฎิหารย์เพื่อโปรดประชาชนชาวสาวัตถีและข่มเจ้าลัทธิอื่นๆ และตรงนี้ทำให้ฉันได้เห็นความปาฎิหารย์ของผู้ร่วมขบวนทัวร์ บุคคลผู้นั้นคือ “ยายเหนียม” อายุอานามก็ไม่มากไม่น้อย ๘๕ ปีเท่านั้นเอง แถมยังเอวบางร่างกระจิ๊ดเดียว เวลาเดินกลัวท่านจะล้มแผละซะจริง ๆ แต่ด้วยแรงศรัทธาท่านไม่เคยสร้างปัญหาให้ใคร ๆ ต้องเป็นกังวล ทุกคนบอกท่านว่าอย่าเดินขึ้นไปข้างบนเลย เพราะกลัวจะเหน็ดเหนื่อยและหกล้ม แต่ท่านไม่ฟังคำทัดทานของผู้ใด กลับให้มาโนชหิ้วปีกขึ้นไปจนถึงฝั่งฝันของท่านจนได้ ปาฎิหาริย์มีจริง ณ ยมกปาฏิหาริย์ จากคุณยายเหนียม วัย๘๕ ปี ส่วนฉันเหมือนเดิมข้ามถนนไปสนทนาวิสาสะกับชาวบ้านชาวเมือง ไปดูเค้ากินการัมจายกับจาปาตีข้างทาง ดูถนนหนทาง รถราไปตามประสา ขณะที่คณะทะยอยลงมาจากยมกปาฏิหารณ์ คนขับรถชาวอินเดียร้องขอให้ฉันครวญเพลงไทยให้ฟัง ฉันไม่ขัดศรัทธา (หรืออยากโชว์ลูกคอ) เพลงที่ฉันนำเสนอในต่างแดนวันนั้นคือเพลง “ไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้” ปรากฏว่าเป็นที่ถูกอกถูกใจของพวกสารถียิ่งนัก คืนนี้กลับมานอนที่เดิม คือวัดไทยสาวัตถีอย่างอิ่มบุญ และอบอุ่นเพราะนอนกันเต็มห้องถึงหกชีวิต ความอบอุ่นจึงไม่ต้องพูดถึง....
|