ชาวบ้านทำวิจัย AAR
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อาทิตย์, 15 มิถุนายน 2008

สาร  biodata ฉบับที่ 47
สกว. กับงานวิจัยใน 3 จชต. (3)
ตอน

ชาวบ้านทำวิจัย AAR 5,000 บาท


เรียน สมาชิก biodata ทุกท่าน

 

        “สาร biodata” วันนี้ถึงคราวไขข้อสงสัยเรื่อง AAR (Alternative Activity Research) แล้วครับ


        เมื่อวันก่อน สกว. ได้พบกับผู้บริหารภาครัฐระดับจังหวัด  ท่านบอกว่ามหาวิทยาลัยต้องหันมาหาความจริงของเหตุการณ์ภาคใต้ เพื่อเราจะแก้ปัญหาได้ถูก  พวกเราเอง (หมายถึงผู้อยู่ในวงการวิจัย) ก็ทราบดีว่าความรู้จากการวิจัยของเราเรื่องนี้มีน้อยมาก  ต่างคนต่างพูดกันไปตามความรู้ (บางทีเป็นความเข้าใจ ซึ่งยังไม่ทราบว่าถูกหรือผิด) เท่าที่มีอยู่  บ้างก็ผสมอารมณ์เข้าไปด้วย  คนที่อยู่ไกลพื้นที่ก็ไม่เข้าใจเรื่องการอยู่ร่วมกันในพื้นที่แบบพหุวัฒนธรรม (แถมคนเหล่านี้ยังเป็นคนกำหนดนโยบายการแก้ปัญหาอีกด้วย)   นอกจากที่ สกว. ให้นักวิชาการหาความรู้จากพื้นที่ดังที่เล่าใน “สาร biodata” ฉบับที่ 46 แล้ว   สกว. ได้ให้ความสนใจกับคนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ได้ทำวิจัยด้วยตัวเอง  สมาชิก “สาร biodata” น่าจะเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องทำยากมาก  ลำพังเอาชีวิตให้รอดไปถึงพรุ่งนี้ก็ยากแล้ว  เหตุใดจึงต้องมาเพิ่มความยากให้กับชีวิตโดยการทำวิจัยอีก

 

        เมื่อปี 2549 สกว. เริ่มพัฒนาแนวคิดรูปแบบการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาทั้งพื้นที่ หรือเรียกย่อๆ ว่างาน ABC- R (Area-Based Collaborative Research) เพื่อให้มีการใช้ข้อมูลและความรู้ในการกำหนดทางเลือกที่เหมาะสมกับการพัฒนาของจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทย  (เรื่องงาน ABC-R นี้เล่ามาแล้วใน “สาร biodata “ ฉบับก่อนๆ  หาอ่านได้จาก http://biodata.trf.or.th)


        พื้นที่ 3 จชต. เป็นพื้นที่หนึ่งที่ สกว. เลือกเป็นพื้นที่การทำงานแบบ ABC-R  เมื่อทำงานมาได้ระยะหนึ่งก็พบข้อจำกัดในการทำงานที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ  เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีสถานการณ์พิเศษ  ที่ทำให้เราขาดกระบวนการและกลไกการทำงานที่เข้าถึงชุมชนต่างๆได้   นอกจากเริ่มพัฒนา “นักวิจัยผู้กล้า” ในพื้นที่ดังที่เล่ามาในฉบับก่อนแล้ว   สกว. ต้องคิดหารูปแบบการทำงานวิจัยแบบใหม่  และเรียกว่า เรียกว่า “การวิจัยกิจกรรมทางเลือก (AAR)” โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่กลางปี 2550  ที่ให้ชุมชนทำกิจกรรมร่วมกันบนพื้นฐานความต้องการร่วมกันของชุมชน ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ศาสนธรรมและบริบทของแต่ละพื้นที่ (ฟังดูเหมือนไม่ใช่วิจัยใช่ไหมครับ)


        การสนับสนุนการวิจัยแบบ ABR ได้กำหนดเงื่อนไขดังต่อไปนี้

1.        ชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของและบริหารจัดการร่วมกัน  โดยเป็นกิจกรรมที่สนับสนุนเพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูความสัมพันธ์  การสร้างบรรยากาศที่ดี (feel good) ให้กลับมา  และสร้างความเชื่อมั่นที่มีต่อกันระหว่างคนในชุมชนด้วยกันเองและกับคนนอกชุมชน
2.        เป็นกิจกรรมที่แก้ปัญหาของกลุ่มเป้าหมายผ่านกิจกรรมที่ดำเนินการทีละขั้นตอน  เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต่อไป
3.        กลุ่มเป้าหมายคือ เด็กกำพร้า/เยาวชน/สตรีและผู้นำศาสนา โดยเน้นกิจกรรมด้านอาชีพ/การศึกษา
 
      เป้าหมายที่สำคัญคือข้อ 1 ที่สร้างความสัมพันธ์/บรรยากาศที่ “feel good” ระหว่างกัน (เหตุการณ์ในพื้นที่ทำให้คนโหยหาสิ่งนี้มาก) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นที่มีต่อกันระหว่างคนในชุมชนด้วยกันเองและกับคนนอกชุมชน ซึ่งน่าจะนำไปสู่การเสริมความเข้มแข็งของการช่วยเหลือด้วยกันเองในชุมชน (social services)  ทั้งนี้เพราะเขาพึ่งคนนอก (ที่ไม่ใช่คนพื้นถิ่น) ไม่ได้เลย  


        งานวิจัยรูปแบบนี้เป็นงานวิจัยที่ต่างจากงานวิจัยโดยทั่วไป   ที่ขั้นตอนการทำจะแยกทำทีละกิจกรรม  แต่ละกิจกรรมใช้เวลาไม่นานนัก  อาจเป็น 1วัน 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน ก็ได้  โดยคิดวางแผนการเลือกกิจกรรมการดำเนินการร่วมกัน  และทุกๆ กลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจะมีเวทีแลกเปลี่ยนการทำงานร่วมกันเป็นระยะๆ เช่น ทุก 3 เดือน เพื่อสรุปบทเรียนร่วมกัน   หลังจากนั้นก็อาจคิดกิจกรรมต่อและลงไปปฏิบัติร่วมกันอีก   เมื่อทำกิจกรรมต่างๆ ไปได้สักระยะหนึ่ง ก็นำมาเชื่อมร้อยให้ต่อเนื่องกันโดยมีการสังเคราะห์ให้เข้าใจร่วมกันว่า  กิจกรรมนั้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ความรู้สึก feel good และฟื้นฟูความเชื่อมั่นที่มีต่อกัน (เนื้องานวิจัยซ่อนอยู่ตรงนี้ โดยคนทำเองก็ไม่รู้ตัว!!)  จบงานแล้วก็จะได้โครงการวิจัยปกติ (ที่ดูไม่ปกติ)   ตัวอย่างกิจกรรมที่ชุมชนทำร่วมกัน เช่น กิจกรรมการเลี้ยงน้ำชาในวันรอมาฎอน  กิจกรรมการจัดอบรมให้ความรู้ด้านศาสนาสำหรับเด็กเยาวชน  การเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจกลุ่มสตรีและเด็กกำพร้า ฯลฯ  

        หากจะเปรียบเทียบกันแล้วเราจะพบความคล้าย (หรือต่างกัน) ดังตาราง    งานวิจัยปกติ งานวิจัยแบบ AAR

เป้าหมาย  ความรู้  การปรับปรุงความสัมพันธ์และความรู้สึกต่อกันในสถานการณ์ไม่ปกติ 

(งานวิจัยปรกติ )                              :งานวิจัยแบบ AAR

(วิธีการ  ตั้งสมมติฐาน ออกแบบการวิจัย เก็บข้อมูล )              :ออกแบบกิจกรรมที่ใจต้องการทำ  ลงมือทำกิจกรรม  เอาสิ่งที่ทำมาคุยกัน วางแผนทำต่อ 
(สิ่งที่ทำให้บรรลุเป้าหมาย  สังเคราะห์ข้อมูลโดยอิงทฤษฎี )           :เวทีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมจากกิจกรรมที่ทำมาถอดบทเรียน และฟื้นฟูบรรยากาศเดิมให้คืนมา


        กิจกรรม AAR นี้ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับการดูละครที่เป็นซี่รีส์   เมื่อดูหลายๆ ตอนจนจบก็จะเข้าใจเรื่องทั้งหมด   กิจกรรม AAR ที่เอามาร้อยให้ต่อเนื่องกัน และให้จบด้วยการสังเคราะห์ให้เกิดความเข้าใจเช่นนี้  ทำท่าจะดีกว่าโครงการปกติ เพราะได้ผลที่เกิดกับคนหลายคนและขยายไปทั้งชุมชนด้วย  ดีกว่าดูละครเพราะเป็นเรื่องจริงของเขา  ไม่ใช่เรื่องแต่งของคนที่มีวัฒนธรรมต่างจากเขา


        โครงการนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่กลางปี 2550  และ สกว. ได้สนับสนุนทุนกิจกรรมรูปแบบนี้ไปจำนวนมาก  มีคนร่วมนับได้หลายพันคน   โครงการได้รับการตอบรับจากชาวบ้านว่าเป็นกิจกรรมที่ดีและเหมาะกับการทำงานชุมชนมาก  เพราะได้คิดวางแผนทำร่วมกัน  เกิดกระบวนการเรียนรู้และเป็นเจ้าของ  สิ่งที่ สกว. ค้นพบคือ AAR ทำให้คนที่เคยมี “พื้นที่ทางสังคม” อยู่แยกกัน (อาจจะด้วยเงื่อนไขทางสังคม-ศาสนา เช่น หญิง-ชาย) ได้มีโอกาสฟังกันอย่างลึกซึ้ง  ทำให้เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อกัน ที่เดิมอาจจะไม่ค่อยดีนักในบางเรื่อง  ทำให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจกันมากขึ้น  เกิด social service เช่น กิจกรรมร่วมกันดูแลกลุ่มสตรีที่ได้รับผลกระทบ  ข้อสรุปที่สำคัญสำหรับเรา (สกว.) คือ  งานนี้ไม่ใช่แค่เพียงการเอากิจกรรมมาเป็นกระบวนการวิจัยอย่างเดียว แต่ได้งานพัฒนาสังคมไปพร้อมๆ กันด้วยเลย


        สมาชิกบางท่านคงยังงงอยู่ว่าเรื่องนี้เป็นวิจัยได้อย่างไร?  ไม่เป็นไรครับ  คบกับ สกว. ไปเรื่อยๆ สักวันก็จะรู้เองว่ามีอะไรอื่นประเภทชวนงงอีกมาก
        สมาชิกที่สนใจงานวิจัยเพื่อพัฒนาจากฐานราก  กรุณาเข้าไปเพิ่มเติมข้อมูลตนเองที่ biodata  ในส่วนประวัติส่วนตัว  เมื่อ สกว. มีการจัดประชุมหรือ field trip ทีม biodata จะสุ่มคัดเลือกหาผู้โชคดีที่ สกว. จะ sponsor ให้เดินทางไปด้วย  

        ข้อมูลถึงวันที่ 5 มิถุนายน มีผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 5,707 ราย   เพิ่มจากสัปดาห์ที่แล้ว  44 ราย  มหาวิทยาลัยที่มาลงทะเบียนเพิ่มมากที่สุดคือ มหาวิทยาลัยมหิดล  จำนวน  20 ราย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
5 มิถุนายน 2551
http://biodata.trf.or.th
http://elibrary.trf.or.th