เรียงความวันภาษาไทย:น้ำฝน ยิ้มฉอด
เขียนโดย น้ำฝน ยิ้มฉอด   
อังคาร, 30 พฤศจิกายน 1999

วันภาษาไทยแห่งชาติ

            วันภาษาไทยแห่งชาติ ตรงกับวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ของทุกปี เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปทรงอภิปรายเรื่อง "ปัญหาการใช้คำไทย" ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย               ทางคณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย และมีความห่วงใยในปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นต่อภาษาไทย รวมถึงเพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้คนไทยทั้งชาติได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือกันทำนุบำรุง ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป จึงได้เสนอขอให้รัฐบาลประกาศให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคมของทุกปี เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ

                ภาษาไทย   ภาษานั้นหากจะพูดให้เข้าใจง่ายก็คือเครื่องมือที่มนุษย์ใช่ในการสื่อสาร มีทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน ร่วมไปถึงการแสดงลักษณะท่าทางต่าง ๆ เพื่อให้มนุษย์เข้าใจซึ่งกันและกัน หรือที่เรียกว่า         วัจนภาษาและอวัจนภาษา นั้นเอง ส่วนคำว่า ไทย นั้นมีความหมายที่ลึกซึ้งซึ่งไทยเรารู้ดี คำว่า ไทย หมายความว่า อิสรภาพ เสรีภาพ หรืออีกความหมายหนึ่งคือ ใหญ่ ยิ่งใหญ่ เพราะการจะเป็นอิสระได้จะต้องมีกำลังที่มากกว่า แข็งแกร่งกว่า เพื่อป้องกันการรุกรานจากข้าศึก คำนี้เป็นคำไทยแท้ที่เกิดจากการสร้างคำที่เรียก "การลากคำเข้าวัด" ซึ่งเป็นการลากความวิธีหนึ่ง ตามหลักคติชนวิทยา คนไทยเป็นชนชาติที่นับถือกันว่า ภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาที่บันทึกพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นภาษาอันศักดิ์สิทธิ์และเป็นมงคล เมื่อคนไทยต้องการตั้งชื่อประเทศว่า ไท ซึ่งเป็นคำไทยแท้ จึงเติมตัว ย เข้าไปข้างท้าย เพื่อให้มีลักษณะคล้ายคำในภาษาบาลีสันสกฤตเพื่อความเป็นมงคลตามความเชื่อของตน ภาษาไทยจึงหมายถึงภาษาของชนชาติไทยผู้เป็นไทนั่นเอง

                จะเห็นได้ว่าการได้มาซึ่งภาษาไทยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ฉะนั้น ภาษาไทยของเราจึงเป็นมากกว่าเครื่องมือที่คนไทยเรานั้นใช้ในการสื่อสาร แต่ยังบ่งบอกถึงความเป็นชาติ ความเป็นเอกราชของไทยเราที่มีมาเนินนาน ทั้งนี้ภาษาไทยยังสะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของไทยเราแต่เดิมมา ภาษาไทยนั้นมีความงามที่เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์อยู่ในตัว คือควรค่าแก่การศึกษาหาความรู้ เพราะมีประวัติความเป็นมาอย่างช้านาน และยังบอกเล่าเรื่องราวความเป็นศิลปวัฒนธรรม ขบธรรมเนียม ประเพณีไทย   ได้ด้วยตัวของภาษาไทย ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ไม่เหมือนชาติใดในโลก

               

                ไทยเราโชคดีที่มีภาษาไทยเป็นเสมือนสมบัติของชาติ เรามีภาษาที่ควรค่าแก่การรักษา ภาษาไทย              นั้นมีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน ภาษาไทยมีความหลากหลายไปตามลักษณะภูมิประเทศของไทย ที่แบ่ง เป็นภูมิภาค เหนือ กลาง อีสาน ใต้ เรียกได้ว่าหลากหลายและมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่โดดเด่นไม่เหมือนกันในแต่ละภูมิภาค ภาษาไทยในแต่ละภูมิภาคก็ยังสะท้อนให้เห็นถึง ลักษณะความเป็นอยู่วัฒนธรรม ประเพณีของภาคนั้น ๆ  ภาษาไทยจึงทำหน้าที่มากกว่าเครื่องมือในการสื่อสาร เพราะภาษาไทยเป็นเสมือนความเป็นชาติ ความเป็นไท ความเป็นเอกราช ความเป็นหนึ่ง 

ทุกวันนี้ภาษาไทยนั้นเปลี่ยนแปลงไปมากมายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพูดการเขียน การใช้ภาษาในด้านต่าง ๆ  ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ตามยุคสมัยก็ดี หรือมาจากปัจจัยอื่น ๆ ก็ดี ส่งผลทั้งด้านบวกและลบ ให้กับภาษาไทย  จริงอยู่ที่ภาษาต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่บางครั้งการเปลี่ยนแปลงบางอย่างก็ไม่ได้มีความจำเป็น และไม่ได้ส่งผลในด้านดีแต่อย่างไร การเปลี่ยนแปลงของภาษาก็ควรเป็นไปในทางสร้างสรรค์ การใช้ภาษาแปลกใหม่ ภาษาวัยรุ่น ฟรุ้งฟริ้ง วุ้งวิ้ง นั้นทำได้หากเราใช้ให้ถูกต้องตามกาลเทศะ ถูกที่ถูกเวลา  ส่วนภาษาเขียนก็เช่นกันไม่ว่าจะเป็น  ชั้น ร๊ากกก เทอ  ต่าง ๆ เหล่านี้ที่มักพบเห็นได้ตามโซเชียลเน็ตเวิร์ค ก็ไม่ได้ผิดแปลกอะไร หากเราตระหนักอยู่เสมอเกี่ยวกับกาลเทศะ ส่วนการใช้ภาษาต่างประเทศนั้น นั้นก็ควรคำนึงถึง บทบาทและโอกาส  จะใช้ภาษาอย่างไรก็ควรหันมองกลับไปถึงความเป็นมา  แน่นอนว่าความเป็นมาของภาษาไทยนั้นบอกเล่าเรื่องราวความเป็นไท ที่ไทยเรารู้ดี แล้วเหตุใดไทยเราจริงไม่ภาคภูมิใจในภาษาไทยของเรา

เนื่องในโอกาสวันภาษาไทย ขอเชิญชวนเยาวชนชาวไทย หันมาใส่ใจในภาษาไทย  ใช้ภาษาไทย    ให้ถูกต้อง เหมาะสม เพียงคิดก่อนใช้สักนิด เพื่อให้ภาษาอันงดงามนี้อยู่คู่ไทยเราไปช้านาน  อนาคตของภาษาไทยในวันหน้าขึ้นอยู่กับการตระหนักก่อนใช้ภาษาในวันนี้  หากเราต้องการบอกเล่าเรื่องราวของภาษาไทย ที่ถ่ายทอดจากความเป็นไทไปสู่เยาวชนรุ่นหลัง อย่าลืมหันมาใส่ใจภาษาไทยเสียแต่วันนี้ การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง เหมาะสม  ไม่ใช่เรื่องยากหากเราใส่ใจ คิดสักนิดก่อนใช้ คำนึงถึงกาลเทศะ ความถูกต้องเหมาะสม เพียงเท่านี้เราก็มีส่วนช่วยอนุรักษ์ รักษา ภาษาไทย ภาษาชาติ ให้อยู่คู่ประเทศไทยไปช้านาน

              http://th.wikipedia.org/wiki/ภาษาไทย

              http://th.wikipedia.org/wiki/วันภาษาไทยแห่งชาติ

***

ผลงาน  

วันภาษาไทย 

 

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อาทิตย์, 23 สิงหาคม 2015 )