งาช้างตราประทับมณฑลภูเก็จสมบัติในครอบครองของกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ ภาษาในวัฒนธรรมภูเก็จ
สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ โทร. 08-1326-2549 ท่านผู้หญิงจัน(ท้าวเทพกระษัตรี)ก่อนศึกถลาง พ.ศ.๒๓๒๘ ได้มีหนังสือไปถึงพญาราชปิตัน(กัปตันฟรานซิส ไลท์) เมื่อวันอังคาร เดือนอ้าย ปีมะเส็ง สัปตศก
เล่าเรื่องว่าเจ้าเมืองถลางคือพญาถลางพิมลอยาขันผู้เป็นสามีกำลังป่วยหนัก สามีที่ค้างค่าผ้านั้นจะจัดส่งดีบุกไปให้ในภายหลัง ทราบว่าพม่าจะมาตีเมืองถลาง จึงให้เมืองภูเก็จ(พญาถลางเทียน ประทีป ณ ถลาง)ลงมาพบพญาราชกปิตันเพื่อขอให้พญาราชกปิตันช่วยต้านศึกพม่า แต่ในเหตุการณ์ครานั้น พญาราชกปิตันไม่ได้ช่วยเมืองถลาง หมายเหตุฉบับ ศวภ ๑๕ คำอ่าน ๐ หนังสือท่านผู้หญิงมาเถิงลาโตก ด้วยมีหนังสือไปนั้น ได้แจ้งแล้ว ครั้นจะเอาหนังสือเรียนแก่พระยาถลาง พระยาถลางป่วยหนักอยู่และซึ่งว่ามาค้าขาย ณ เมืองถลางขาดทุนหนักหนาช้านานแล้วนั้นเห็นธุระของลาโตกอยู่ แต่หากว่าลาโตกเมตตาเห็นดูข้าเจ้า จึงเปลืองทุนเป็นอันมาก ทนระมานอยู่ด้วยความเห็นดู แลซึ่งว่าแต่งกำปั่นแล้วจะลากลับไป แลมีราวข่าวว่า พม่าจะมาตีเมืองถลาง ท่านพระยาถลางเจ็บหนักอยู่ ถ้าพม่ายกมาจริง ข้าเจ้าจะได้พึ่งลาโตกเป็นหลักที่ยุดต่อไป แลซึ่งว่าจะเอาดีบุกค่าผ้านั้น ท่านพระยาถลางยังเจ็บหนัก มิได้ปรึกษาว่ากล่าว ถ้าท่านพระยาถลางคลายป่วยแล้ว จะได้ปรึกษาว่ากล่าว จักเตือนให้ ซึ่งว่าเจ้ารัดจะไปเยี่ยม ขุนท่ามิให้ไปนั้น ข้าเจ้าจะให้ไปว่าหลวงยุกบัตร และขุนท่า ไม่ให้ยุดหน่วงไว้ ครั้นข้าเจ้าจะลงมาให้พบลาโตกเอง เจ้าคุณยังเจ็บหนักอยู่ จึงให้เมืองภูเก็จลงมา ลาโตกได้เห็นดูงดอยู่ก่อนถ้าเจ้าคุณค่อยคลายขึ้นข้าเจ้าจะลงมาให้พบลาโตก และขันนั้นไม่แจ้งว่าเป็นขันอะไรให้บอกไปแก่เมืองภูเก็จให้แจ้ง ข้าเจ้าจะเอาลงมาให้ อนึ่งคนซึ่งรักษาบ้านเฝ้าค่ายนั้นขัดสนด้วยยาฝิ่นที่จะกินให้ลาโตกช่วยว่ากปิตันอีกสะกัดให้ ๆ ยาฝิ่นขึ้นมาสักเก้าแท่นสิบแท่น แล้วถ้าพ่อลาโตกจะขึ้นมาได้ ให้ขี่ชื่นมาสักที หนังสือมา ณ วันอังคาร เดือนอ้าย ขึ้น ๕ ค่ำ ปีมะเส็งสัพศก
หลังเสร็จศึกถลาง พ.ศ.๒๓๒๘ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงจัน เป็นท้าวเทพกระษัตรี
หมายเหตุฉบับ ศวภ ๑๗ คำอ่าน ๐ หนังสือท่านผู้หญิงจำเมริญมายังท่านพระยาราชกปิตันเหล็กให้แจ้งด้วยมีหนังสือฝากให้แก่นายเรือตะนาวถือมาเถิงเป็นใจความว่า เมื่อท่านอยู่ ณ เมืองมังค่ารู้ข่าวไปว่าพม่ายกมาตีเมืองถลาง จะได้เมืองถลางประการใด และตูข้าลูกเต้าทั้งปวงจะได้ไปด้วยหรือประการใดมิได้แจ้ง ต่อท่านมาเถิงเมืองไชย รู้ไปว่าเมืองถลาง ไม่เสียแก่พม่า และตูข้าลูกเต้าทั้งปวงอยู่ดีกินดี ค่อยวางใจลง ในหนังสือมีเนื้อความเป็นหลายประการนั้น ขอบใจเป็นหนักหนา พระคุณหาที่สุดมิได้ และอยู่ทุกวันนี้ ณ เมืองถลาง พม่าตีบ้านเมืองเป็นจุลาจลอดข้าวปลาอาหารเป็นหนักหนา ตูข้ายกมาตั้งทำดีบุกอยู่ ณ ตะปำได้ดีบุกบ้างเล็กน้อยเอาซื้อข้าวแพงได้เท่าใดซื้อสิ้นเท่านั้น และอนึ่งเมืองพม่ายกมานั้น พระยาธรรมไตรโลกให้เกาะเอาตัวตูข้าลงไปไว้ ณ ปากพระ ครั้นพม่ายกมาตีปากพระได้กลับแล่นหนีมา ณ บ้าน และคนซึ่งให้รักษาบ้านเรือนอยู่นั้น แล่นทุ่มบ้านเรือนเสีย ข้าวของทั้งปวงเป็นอันณรายมีคนเก็บริบเอาไปสิ้นและอยู่ทุกวันนี้ยากจนขัดสนเป็นนัก จดหมายดังกล่าวมีอายุมากกว่า ๒๐๐ ปี อ่านแล้วให้ความรู้และเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มีคำให้ศึกษาเป็นจำนวนมาก มีชื่อสถานที่ เช่น ตะปำ ซึ่งศาสตราจารย์ ดร.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ได้แสดงความเห็นว่าคือบ้านสะปำ เป็นภาษาทมิฬ หมายถึง ฝั่งน้ำ มีคำภาษาถิ่นที่ชาวภูเก็ตยังคงใช้ เช่น (แลมี)ราวข่าว(ว่า), (ลาโตกได้)เห็นดู(งดอยู่ก่อน), (ท่านผู้หญิง)จำเมริญ(มายังท่าน), (คนซึ่งให้รักษาบ้านเรือนอยู่นั้น แล่น)ทุ่ม(บ้าน เรือนเสีย) คำ จำเมริญ(เจริญ) ภาษากลางไม่มี ร ควบกล้ำ ม เมื่อศึกษางานที่มีคำใต้ปนอยู่และมี มฺร มฺล เช่นคำ หฺมฺรุ่ย(ผักรสร้อน) มฺล้าง(ล้างผลาญ) จึงอ่านเดาว่าคือ มะรุ่ย มะล้าง คำหลังจะปรากฏในโคลงของศรีปราชญ์ก่อนถูกประหาร มีผู้ใดอ่าน มฺล้าง บ้าง การใช้คำที่มี มฺร มฺล หฺมฺร หฺมฺล จึงเป็นอัตลักษณ์ประการหนึ่งของภาษาถิ่นใต้และภาษาถิ่นภูเก็ต
ปู่ครูหลวกกว่าปู่ครูในเมือง(สุโขทัย)นี้ ต่างลุกมาแต่(นคร)ศรีธรรมราช ปรากฏในหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เมื่อ ปี พ.ศ.๑๘๓๕ เป็นหลักฐานแสดงว่า นักปราชญ์ชั้นยอดทางภาษาอยู่ในอาณาจักรศิริธรรมนคร ได้ขึ้นไปกรุงสุโขทัยเพื่อช่วยให้ สุโขทัยมีนักปราชญ์เพิ่มขึ้น จึงได้ช่วยถวายคำบันทึกไว้ในหลักศิลาจารึก ปรากฏคำที่ชาวภูเก็ตยังคงใช้แทนตลาดสดว่า บานส้าน ใน ศิลาจารึกใช้ว่าตลาดปสาน ใช้ทั่วไปว่า พลาซ่า บาร์ซา การจำแนกอักษร ๓ หมู่เป็น อักษรสูง อักษรกลาง และอักษรต่ำนั้น ชาวใต้ใช้เขียนแทนเสียงพูด ไม่มีนักภาษาท่านใด ยืนยันว่า ชาวภูเก็ตในอดีตตั้งแต่ พ.ศ.๗๐๐ ที่แหลมจังซีลอน(Junk Ceylon) ซึ่งหมายถึงถลางหรือเกาะภูเก็ต พูดจาทักทายสื่อสารกันเป็น สำเนียงเสียงใด แต่มีคำที่เป็นลายลักษณ์ปรากฏในสมุดข่อยก็ดี จดหมายเหตุเช่นจดหมายของท้าวเทพกระษัตรีก็ดี ช่วยให้พวกเรา ทราบว่า คำที่ใช้อักษรสูงเมื่ออกเสียงจะเป็นเสียงระดับสูงมากกว่าคำที่ใช้อักษรต่ำ และคำที่ใช้อักษรกลางจะมีเสียงในระดับกลาง ๆ ไม่มีเสียงใดที่ออกเสียงในระดับสูงกว่าคำที่ใช้อักษรสูง และไม่มีเสียงใดออกเสียงระดับต่ำกว่าคำที่ใช้อักษรต่ำ อักษรสูง(ข ฃ ฉ ฐ ถ ผ ฝ ศ ษ ส ห) เมื่อใช้เขียนเป็นพยัญชนะต้น เช่น ขา ฉาน ผู้ สาว หาย เมื่ออกเสียง ระดับเสียงจะสูงกว่าการใช้ อักษรกลาง(ก จ ฎ ฏ ด ต บ ป อ) กา จาน ตู้ บ่าว อาย และคำทั้งที่ใช้อักษรสูงและอักษรกลางนั้น จะออกเสียงสูงกว่าคำที่ใช้อักษร ต่ำ(ค ฅ ฆ ง ช ซ ฌ ญ ฑ ฒ ณ ท ธ น พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ฬ ฮ) คา งาน ชู้ ว่าว วาย ให้ออกเสียงเทียบคำ คา กา ขา, งาน จาน ฉาน, ชู้ ตู้ ผู้, ว่าว บ่าว สาว, วาย อาย หาย และลองออกเสียงเป็นภาษากลาง จะเห็นได้ว่า ระดับเสียงจะสับสน ไม่เป็นไปตามระดับเหมือน ที่ออกเสียงเป็นภาษาถิ่นภูเก็ต นี่เป็นหลักฐานยืนยันว่าชาวภูเก็ตใช้อักษรสูง อักษรกลางและอักษรต่ำเพื่อแทนเสียงในระดับสูง ระดับกลาง และระดับต่ำสอดคล้องกับอักษรพยัญชนะต้นที่ใช้ จึงเป็นอัตลักษณ์ทางภาษาถิ่นภูเก็ตอีกประการหนึ่ง ในการอธิบายทางหลักภาษา สามารถกล่าวได้ว่า ชาวภูเก็ตใช้ คน ค้า คา ม้า ออกเสียงในระดับเสียงต่ำ หากต้องการออกเสียงใน ระดับสูง ชาวภูเก็ตก็จักใช้อักษรสูงแทนเป็น ขน ข้า ขา หมา จะเห็นได้ว่าการใช้อักษรต่ำเพื่อแทนเสียงระดับต่ำ เมื่อออกเสียงสูง ก็จัก ใช้อักษรสูง ชาวภูเก็ตอ่าน คนขน ค้าข้า คาขา ม้าหมา ไม่เป็นไปตามที่ออกเสียงภาษากลาง นักภาษาศาสตร์ได้ศึกษาภาษาถิ่นใต้รวมถึงภาษาถิ่นภูเก็ตด้วย พบว่าชาวใต้มีระดับเสียงหรือที่พวกเรารู้จักว่าเป็นวรรณยุกต์นั้น มีถึง ๗ ระดับ ใช้ตัวเลข 1 2 3 4 5 6 และ 7 แทนระดับเสียง ทั้งที่ภาษากลางมีเพียง ๕ ระดับคือ สามัญ(0) เอก(7) โท(1) ตรี(2) และจัตวา(6) เมื่อกำหนดให้ใช้ตัวเลขแทนระดับเสียงหรือวรรณยุกต์ จะเห็นว่าภาษากลางไม่มีเสียงระดับ 3 และ 4 ชาวใต้ทั่วไปไม่มีระดับเสียง 0 แต่ชาวภูเก็ตมีการยืมคำจากจีนฮกเกี้ยนมาใช้ จึงพบเสียงระดับ 0 บางคำ เช่นคำ เกอ้า [ke:0 ?a:1] น. หิ้ง ชั้นคว่ำถ้วยจาน., โกยเตี๋ยว [ko:y0 ti:aw6] น. ก๋วยเตี๋ยว.; ก้วยเตี๋ยว ก็ใช้. ซึ่งจะต้องศึกษาในประเด็นนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ตัวอย่างคำที่ยกตัวอย่างนี้ ให้อ่านเป็นเสียงภูเก็ต (ห้ามอ่านเป็นภาษากลาง) ระดับ 1 (ระดับเสียงโท) เช่น สาย ขาย เหฺมฺรย ศีล ไข่ เห็น หัว ขอน เหมีย หวาย ผี ผุดผึดผัด สอน สังสี สักหิน หมา หวง หวัง หลวง เหล็ก ระดับ 2 (ระดับเสียงตรี) เช่น หญ้า ข้า ฆ่า ส้ม เข็ดไข้ โหะเหม็ดฉาด สิ้น (โก)ซุ้ย ข้น ขั้ว เจี๊ยะ ถู้ด สอบ หลับ ระดับ 3 (ระดับเสียงสูงกว่าสามัญ) เช่น กา กก ตา ยาย แก จีน ดิน ไต บาน ปืน อาง ระดับ 4 (ระดับต่ำกว่าเสียงโท) เช่น ป้า อ๊าม บี้ง เก้า เจ้า ได้ ต้อง เบื้อง ปิ้ง อ้าง ระดับ 5 (ระดับต่ำกว่าสามัญ) เช่น นา คา ลุง คง งู ชี ซอย ทอน ธง นอน พง ฟอง ภู แมว ยอน ราง แล แวว เฮ ระดับ 6 (ระดับเสียงจัตวา) เช่น แม่ ย่า ค่ำ พี่ ว่า แง่ง เช่า เท่ง น่อง เพลียะ พ่าน ม่วง มอด ย่าง ร่วง ลอด ระดับ 7 (ระดับเสียงเอก) เช่น ม้า มฺล้าง นุ้ย ท้า แคว็ด ไม้ น้อง นก คุ้ย เพชร ย้อย รุ้ง ล้า แว้ง หากเรียงระดับเสียงจากต่ำสุดไปหาสูงสุด จะได้ระดับ 7 ระดับ 6 ระดับ 5 ระดับ 3 ระดับ 4 ระดับ 1 ระดับ 2 ตัวอย่างคำไปตามลำดับ ระดับเสียง เช่น ม้า แม่ นา กา ป้า ขาย ข้าว หรือระดับเสียงจากสูงสุดไปหาต่ำสุด ตัวอย่างคำเช่น หลับ หัว อ๊าม จีน นอน ค่ำ แคว็ด ชาวภูเก็ตมีเสียงพิเศษที่เป็นอัตลักษณ์อีก ๔-๕ ประการ คือ มีเสียง ย และ ว สะกดตามหลังคำที่ใช้สระอีและสระอู เช่น ดีปลี จะ ออกเสียงเป็น ดีย-ปลีย, สูสี เป็น สูว-สีย, ดูดี เป็น ดูวดีย; เปลี่ยนเสียงสระอือในหลายคำเป็นเสียงสระอี+ย เช่น รูสะดือ เป็น รุว-ดีย, หนังสือ เป็น หนัง-สีย, มือถือ เป็น มีย-ถีย; ชาวจังหวัดอื่นออกเสียงโอะลดรูป ในคำ นก ถนน รถยนต์ ชน แต่ชาวภูเก็ตเปลี่ยนเป็น เสียงเอาะ จะออกเสียงเป็น หน็อก หน็อน ร็อด ย็อน ช็อน; ชาวภูเก็ตเปลี่ยนเสียงเอะที่มีตัวสะกด เป็นเสียงแอะ เช่น เด็ก เจ็ด เป็ด เห็ด เห็บ เก็บ เป็น แช่น แด็ก แจ็ด แป็ด แห็ด แห็บ แก็บ แป็น; ชาวภูเก็ตเปลี่ยนเสียงจากสระเสียงยาวที่มีตัวสะกดแม่กก เช่น ปลีก-ปลิ, แทก-แทะ, แตก-แตะ, แปลก-แปละ, เปียก-เปียะ, พวก-พัวะ, หลีก-ลิ, ลูกเหลียก-ลุเลียะ การออกเสียงของชาวภูเก็ตไม่เป็นไปตามหลักการใช้ภาษากลาง และไม่เป็นไปตามหลักของชาวใต้ทั่วไปอยู่หลายประการ เมื่อจำเป็น ต้องใช้อักขระเพื่อเขียนแทนเสียง จึงก่อให้เกิดปัญหาในการเขียน เพราะต้องใช้อักษรที่ใช้อยู่ในภาษาไทยกลางเป็นหลัก และชาวใต้มี หลักในการใช้อักษรต่ำและอักษรสูงอยู่ก่อนแล้ว ยิ่งก่อให้เกิดปัญหาทบเท่าทวีคูณให้การเขียนคำของชาวภูเก็ตเพิ่มความยุ่งยากขึ้นอีก ชาวภูเก็ตยังมีคำยืมจีนอีกเป็นพันคำ แต่ละคำก็มีปัญหาในการเขียน เทศกาลสารทจีนจะเขียนอย่างไร พ้อต่อ หรือ ผ้อต่อ, ศาลเจ้า-อ๊าม-อ๊ำ-อ้ำ, กิวอ๋องไต่เต่-กิ๋วอ๋องตั่ยเต่-กิ้วอ๋องไตเต้-กิวอ๋องไต้เต, จิ่มแจ้-ฉิ่มแช่-ชี้มแจ้, อังหม่อต๊าน-อั้งมอต้าน-อังม้อต้าน- อังมอตาน, หลาวเต้ง-หล่าวเต๊ง-เหลาเต๊ง-เลาเต้ง, งอกากี-หงอก่ากี่-หงอข่าขี้-หงอค้ากี่-หงอคากี้, รถโปท้อง-รถโพถอง-รถโป้ถ้อง- รถโพทอง-รถโผถ้อง, ก๋ง-ก้อง-ก๊อง-ก้ง-ก๊ง, อาหม้า-อาม่า-อ่าม้า, โกเจียว-โก้เจี้ยว-โก๊เจี๊ยว, บีโกมอย-บีโก้ม่อย-บี้โกหมอย... ชาวภูเก็ตเรียก รูสะดือ ว่า รุวดีย, ลูกเหลียก-ลุเลียะ, รถบรรทุกนกกระแทกกระดอนที่ทางแยกจนนกน็อค-ร็อดถุกหน็อกแทะแยะทางแยะ จ็อนหน็อกน็อก จึงไม่ควรเขียนตามคำที่ออกเสียงเพราะอ่านแล้วสื่อความยากมาก แต่จะให้เขียนประการใด ชาวภูเก็ตคงต้องแสดงทัศนะ คำ รูสะดือ จะให้เขียน รูสะดือ หรือ รูดือ หรือ รุวดีย, มะละกอ จะให้เขียน ลอกอ ล่อกอ หลอกอ หลอก๋อ ล่อก๋อ ..., ค็องแจ็บเม้งฮั่ว กันบอบและคั่ยหนุ่ยเฮ่อ หรือ คงเจ็บเหม้งหัวกันบอบแหละไข่นุ้ยเหอ. สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ บันทึกเมื่อ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๙ |