เชือกแม่เหล็กยักษ์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
เสาร์, 22 ธันวาคม 2007

นาซาพบเชือกแม่เหล็กยักษ์

แหล่งกำเนิดพลังงานแสงเหนือ

โดย ผู้จัดการออนไลน์17 ธันวาคม 2550 11:19 น.
 

   เอเอฟพี/เอเยนซี/สเปซด็อทคอม - ดาวเทียมของนาซาจับภาพเชือกแม่เหล็กขนาดยักษ์ที่เชื่อมโยงจากโลกถึงดวงอาทิตย์ได้เป็นครั้งแรก ทำให้นักวิทยาศาสตร์พบแหล่งกำเนิดพลังงานแสงเหนือ ที่แท้เกิดจากอนุภาคที่มีประจุของดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ผ่านเชือกแม่เหล็ก ไม่ใช่เกิดจากแสงอาทิตย์ชนกับอนุภาคในชั้นบรรยากาศโลกอย่างที่เข้าใจ
       
       กลุ่มดาวเทียมธีมิส 5 ดวง (Time History of Events and Macroscale Interactions during Substorms: THEMIS) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) จับภาพเชือกแม่เหล็กที่เชื่อมโยงระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ได้เป็นครั้งแรก ทำให้นักวิทยาศาสตร์รู้ที่มาของแสงเหนือหรือพลังงานที่เราสังเกตเห็นในรูปของแสงสีต่างๆ ที่ขั้วโลกเหนือว่ามีกำเนิดจากอนุภาคประจุของดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ผ่านสนามแม่เหล็กบริเวณดังกล่าว
       
       "เราเชื่อว่าอนุภาคของลมสุริยะพัดผ่านมาตามทางสนามแม่เหล็กที่เชื่อมถึงกันระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดพลังงานพายุแม่เหล็กโลก (geomagnetic storm) และแสงออโรรา (auroras)" เดวิด ไซเบค (David Sibeck) นักวิทยาศาสตร์ ศูนย์การบินอวกาศกอดดาร์ด (Goddard Space Flight center) ของนาซา กล่าวระหว่างแถลงผลการศึกษาที่สหภาพธรณีฟิสิกส์อเมริกา (American Geophysical Union) ซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ

แสงเหนือ
 

แสงเหนือที่ปรากฏเหนือท้องฟ้าประเทศสวีเดน บันทึกไว้เมื่อปี 2549 ล่าสุดดาวเทียมของนาซาบันทึกปรากฏการณ์ของเชือกแม่เหล็กในอวกาศที่ทำให้เกิดแสงเหนือได้ 

   ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เคยสังเกตอนุภาคประจุของดวงอาทิตย์ที่ทำให้เกิดแสงเหนือ (Northern Lights) หรือแสงขั้วโลกเหนือ (aurora borealis) มาบ้างแล้ว แต่ยังไม่เคยมียานอวกาศหรือดาวเทียมดวงไหนบันทึกโครงสร้างหรือแผนที่การเดินทางของอนุภาคเหล่านั้นได้
       
       กระทั่งเมื่อวันที่ วันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา แสงขั้วโลกเหนือ ปรากฏขึ้นบนท้องฟ้าเหนืออลาสกาและแคนาดานานกว่า 2 ชั่วโมง และกลุ่มดาวเทียมธีมิสสามารถจับภาพการเคลื่อนที่ของอนุภาคประจุและสนามแม่เหล็กจากอวกาศไว้ได้
       
       อำนาจของพายุแม่เหล็กโลกทำให้แสงออโรราใช้เวลาเดินทางข้ามผ่านท้องฟ้าด้วยความเร็วประมาณ 644 กิโลเมตรต่อนาที ทั้งนี้ อนุภาคไม่ได้เคลื่อนที่ต่อเนื่องกันตลอดเวลา 2 ชั่วโมง แต่เคลื่อนที่เป็นช่วงๆ อย่างต่อเนื่องเนื่อง ช่วงละประมาณ 10 นาที และพลังงานที่ปล่อยออกมานั้นเทียบเท่ากับการเกิดแผ่นดินไหวความแรงระดับ 5.5
       
       ต่อมา วันที่ 20 พ.ค. กลุ่มดาวเทียมธีมิสพบบริเวณที่คล้ายกับเป็นเชือกแม่เหล็กที่เชื่อมระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์เป็นครั้งแรก พบว่ามีลักษณะบิดหมุนเป็นเกลียวคล้ายเส้นเชือก มีขนาดใหญ่มากและกว้างประมาณโลกของเรา โดยอยู่เหนือขึ้นไปจากพื้นผิวโลกประมาณ 65,000 กิโลเมตร ซึ่งบริเวณดังกล่าวเรียกว่า "แมกนีโตสเฟียร์" (magnetosphere) เป็นบริเวณที่ลมสุริยะเริ่มปะทะกับสนามแม่เหล็กโลก ทำให้เกิดการม้วนตัวเป็นเส้นเชือกแม่เหล็กและคลายออกอย่างรวดเร็ว อนุภาคของลมสุริยะก็จัดเรียงตัวกันใหม่อย่างรวดเร็วตามรูปร่างของเชือกแม่เหล็ก
       
       อย่างไรก็ดี ทีมนักวิทยาศาสตร์หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากลุ่มดาวเทียมธีมิสจะสามารถบันทึกปรากฏการณ์ลักษณะเดียวกันนี้ได้อีกครั้งในปีหน้า เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่กระจ่างชัดเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของแสงเหนือ

แสงเหนือ ท้องฟ้าอลาสก้า

แสงเหนือพาดผ่านท้องฟ้าเหนืออลาสกา บันทึกไว้เมื่อเดือน ก.พ. 2550