ภูเก็ตมั่นใจ พร้อมเป็นศูนย์วิจัยไอทีโลก
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พุธ, 27 กุมภาพันธ์ 2008
คนภูเก็ตมั่นใจว่าพร้อมเป็นศูนย์วิจัยไอทีระดับโลก
 
ความก้าวหน้าด้านไอทีของ จ.ภูเก็ต หลังถูกวางยุทธศาสตร์ให้เป็นเมืองไอทีของภาคใต้ ได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานในท้องถิ่น
 
และล่าสุด! ซิป้า มีแนวคิดที่จะชวนบริษัทไอทีระดับโลกมาตั้งศูนย์วิจัยไอทีที่ภูเก็ต เพราะภูมิประเทศและศักยภาพด้านโทรคมนาคมพร้อม
 
ทันตแพทย์พงษ์ศักดิ์ เกิดวงษ์บัณฑิต ประธานอนุกรรมการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)  หรือ ซิป้า สาขาภูเก็ต กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจด้านไอทีในภูเก็ตของซอฟต์แวร์ อินดัสตรีย์ โปรโมชั่น เอเจนท์ซี่-ภูเก็ต ปี ค.ศ. 2005 พบว่า ภูเก็ตมีความพร้อมด้านไอซีทีดีกว่าเมื่อเทียบกับการใช้งานด้านไอทีของประเทศไทยโดยรวม ต่อการสำรวจ 100 คน เช่น จำนวนเลขหมายโทรศัพท์ที่ให้บริการต่อ 100 คน ภูเก็ตอยู่ที่ 66.20% ขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ 11% จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 53.60 : 12% และสัดส่วนของสถานประกอบการที่ใช้คอมพิวเตอร์ 76.60 : 20.50%


ขณะนี้ภูเก็ตมีสายไฟเบอร์ ออพติก สำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตรอบเกาะแล้ว ซึ่งซิป้าก็กำลังประสานกับหน่วยงานโทรคมนาคม เช่น บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพื่อคุยถึงความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเฉพาะเกาะภูเก็ต เพื่อให้การติดต่อสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตระหว่างเซิร์ฟเวอร์ที่ตั้งในภูเก็ตมีความรวดเร็วขึ้น
 
นอกจากโครงสร้างด้านโทรคมนาคมแล้ว การเชื่อมโยงข้อมูลแบบ One Stop Service ของหน่วยงานต่าง ๆ ในภูเก็ตก็ไม่แพ้ใคร เบื้องต้นหน่วยงานสาธารณสุขและโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขรวม 23 แห่ง ได้เชื่อมโยงข้อมูล ถึงกันหมด จึงสามารถรวบรวมข้อมูลของ โรคระบาดที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ได้ทันท่วงที รวมทั้งบริการแบบอี-เซอร์วิส    ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ภูเก็ต   ก็สามารถเชื่อมโยงข้อมูลผู้เข้าเมืองกับโรงแรม ที่พักเพื่อตรวจสอบได้
 
และอนาคตอันใกล้ ซิป้าเตรียมเปิดตัวระบบจัดหางานเฉพาะคนภูเก็ตผ่านเว็บไซต์ โดยผู้ประกอบการและผู้สมัครงานต้องเข้ากรอกรายละเอียด ซึ่งเป็นการจับคู่จ้างงานที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้
  
ทันตแพทย์พงษ์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า ความพร้อมด้านโครงสร้างโทรคมนาคมใน จ.ภูเก็ต ค่อนข้างดี เช่น การให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านเอดีเอสแอล ปัจจุบันมีให้บริการ 8,000 พอร์ต ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานอย่างมาก แต่โครงสร้างการให้บริการบางอย่างยังไม่มีคุณภาพจึงต้องมีการปรับปรุง
 
ส่วนการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรซิป้าภูเก็ตจับมือกับเทศบาลนครภูเก็ตตั้ง “ศูนย์พัฒนาทักษะและการเรียนรู้ไอซีที” เปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่คนในชุมชน พร้อมอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ปีละกว่า 30 ครั้ง ทั้งกับนักเรียนนักศึกษาและประชาชนในชุมชน
 
นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า ภูเก็ตมองเรื่องไอทีมาเป็นสิบปีแล้ว ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมเรื่องไอทีให้กับประชาชนตั้งแต่เด็กเล็ก จนถึงประชาชนในหมู่บ้าน โดยศูนย์พัฒนาทักษะและการเรียนรู้ไอซีที ซิป้าจะช่วยเรื่องการวางหลักสูตรการอบรม ขณะที่เทศบาลภูเก็ตจัดหางบประมาณเพื่อใช้ในการบริหารจัดการ โดยขณะนี้ตั้งเป้าใช้งบบริหารประมาณ 3 ล้านบาท/ปี ซึ่งเป็นงบส่วนหนึ่งของการสนับสนุนทางด้านการศึกษาของท้องถิ่นที่ได้รับจากรัฐบาล
 
ศูนย์พัฒนาทักษะและการเรียนรู้ไอซีทีภูเก็ตเปิดให้บริการตั้งแต่ 5 ธ.ค. 2550 มีเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงกับเด็กและบุคคลทั่วไป 70 เครื่อง โดยในห้องฝึกอบรมจะมีคอมพิวเตอร์บริการ 40 เครื่อง หลังเปิดให้บริการ 2 เดือนกว่า มียอดผู้เข้าใช้บริการแล้วกว่า 17,000 คน
 
ความพร้อมด้านโทรคมนาคมที่มีศักยภาพสูง การให้ความรู้ด้าน ไอทีแก่ชุมชน และเป็นภูมิประเทศที่มีแหล่งท่องเที่ยวสวยงาม ซึ่งกว่า    80% ของรายได้ในภูเก็ตมาจากการท่องเที่ยว
 
ดร.รุ่งเรือง ลิมชูปฏิภาณ ผู้อำนวยการซิป้า จึงมีแนวคิดผลักดัน จ.ภูเก็ต ให้เป็นศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมไอซีทีแห่งชาติ หรือ เดอะ เวิลด์ พาราไดส์ ออฟ ไอซีที อาร์ แอนด์ ดี อินโนเวชั่น  (The World Paradise of ICT R&D Innovation) โดยกลางเดือน มี.ค.นี้ ซิป้าจะลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อศึกษาความพร้อมในการตั้งศูนย์วิจัยไอทีร่วมกับบริษัทไอทีต่างชาติ และตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาความพร้อม คาดจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน จึงได้ข้อสรุป
 
เป้าหมาย ช่วง 2 ปีแรกของการตั้งศูนย์วิจัยไอที คาดหวังมีบริษัทไอทีต่างชาติ 2-3 บริษัท เข้าร่วมโครงการ ก่อนขยายเป็น 20 บริษัท ใน 6 ปี ซึ่งระหว่างนี้ก็เปิดโอกาสให้บริษัทไอทีของไทยเข้าไปมีส่วนร่วมได้ โดยเงินลงทุนสำหรับการดำเนินงานขณะนี้อยู่ในขั้นตอนศึกษา ส่วนสถานที่ตั้งศูนย์วิจัยต้องหารือกับหน่วยงานท้องถิ่นในภูเก็ตรวมทั้งรัฐบาลอีกครั้ง
 
หากโครงการตั้งศูนย์วิจัยไอทีภูเก็ตสำเร็จคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์ไทยได้ถึง 1 แสนล้านบาท ภายใน 3 ปี และมีรายได้เข้าภูเก็ตมากขึ้นซึ่งอาจส่งผลให้ค่าครองชีพของภูเก็ตสูงขึ้นตามไปด้วย
 
ปัจจุบันตลาดรวมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทยปีที่ผ่านมามีมูลค่า 5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าของซอฟต์แวร์จากผู้ประกอบการไทย 20% โดยคาดว่าปีนี้ตลาดซอฟต์แวร์ในประเทศไทยจะเติบโตประมาณ 10% ส่วนมูลค่าการส่งออกซอฟต์แวร์ของผู้ประกอบการไทยจากการสำรวจของศูนย์เทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ปี พ.ศ. 2549 พบมีมูลค่าเพียง 2 พันล้านบาท จากมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์ทั่วโลก 25 ล้านล้านบาท ส่วนข้อมูลปี พ.ศ. 2550 เนคเทคไม่ได้ทำการสำรวจ.