สารทเดือนสิบ : ปรีชา นุ่นสุข
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
ศุกร์, 15 กุมภาพันธ์ 2008


สารทเดือนสิบ

 

ปรีชา นุ่นสุข

 

เมื่อเอ่ยถึง "สารทเดือนสิบ" ใคร ๆ ก็นึกถึงเมืองนครศรีธรรมราช ทั้งนี้ก็เพราะว่างานเดือนสิบเป็นงานประจำปีอันยิ่งใหญ่ของเมืองนครศรีธรรมราช ส่วนงานทำบุญเดือนสิบเป็นพิธีกรรมของชาวพุทธภาคใต้โดยทั่วไปชาวภาคใต้ไม่ว่าจังหวัดใด เมื่อถึงวันสารทอันสำคัญนี้จะร่วมทำบุญกันพร้อมหน้า

ประเพณีสารทเดือนสิบเป็นประเพณีที่ได้รับมาจากอินเดียเหมือนกับประเพณีอีกหลาย ๆ อย่างที่ชาวภาคใต้รับมา ทั้งนี้เพราะว่าชาวภาคใต้ติดต่อกับอินเดียมานานก่อนดินแดนส่วนอื่น ๆ ของประเทศไทย วัฒนธรรมและอารยธรรมของอินเดียส่วนใหญ่ จึงถ่ายทอดมายังชาวภาคใต้เป็นแหล่งแรก

ในศาสนาพราหมณ์มีประเพณีอยู่อย่างหนึ่งเรียกว่า "เปตพลี" เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศแก่ผู้ตายประเพณีนี้ต่อเนื่องกันมาก่อนพุทธกาล ครั้นถึงสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นว่าประเพณีดังกล่าวมีคุณค่าแก่การรักษาไว้ จึงทรงอนุญาตให้อุบาสกอุบาสิขากระทำต่อไป ดังหลักฐานที่ปรากฏในพุทธประวัติเล่ม ๒ มัชฌิมโพธิกาลปริจเฉทที่ ๙ ตอนหนึ่งว่า

"พระเจ้าพิมพิสารทรงทำปุพพเปตพลี ภายหลังแต่ทรงนับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ชะรอยจะอนุโลมตามธรรมเนียมของพราหมณ์จึงมักเป็นการเลี้ยงและถวายไทยธรรมแก่พราหมณ์ บางทีจะได้กราบทูลเรียนพระปฏิบัติแด่พระศาสนาแล้วก็ได้ ในวันทรงปุพพเปตพลี พระเจ้าพิมพิสารเชิญเสด็จพระคาถาพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ไปทรงอังคารที่พระนิเวศน์ พระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วทรงบริจาคไทยธรรมต่าง ๆ รวมทั้งผ้าด้วยแก่พระภิกษุสงฆ์ แล้วทรงอุทิศบุรพบิดรพระศาสดาทรงอนุโมทนาด้วยคาถามีคำว่า อทาสิ เม อกาสิ เม"" เป็นต้น แปลความว่า ญาติก็ดี มิตรก็ดี ระลึกถึงอุปการะอันท่านทำแล้วในกาลก่อนว่า ท่านได้ให้แล้วแก่เรา ท่านเป็นญาติ เป็นมิตร เป็นสาขาของเราพึงให้ทักษิณเพื่อเปตชน ไม่พึงทำการร้องไห้เศร้าโศกรำพึงถึง เพราะการอย่างนี้ไม่เป็นเพื่อประโยชน์แก่เปตชน ญาติทั้งหลายย่อมตั้งอยู่อย่านั้นเอง ส่วยทักษิณานี้ท่านทั้งหลายบริจาคทำให้ตั้งไว้ดีในสงฆ์ ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่เปตชนนั้น โดยฐานะสิ้นกาลนาน ท่านทั้งหลายได้แสดงญาติธรรมนี้ด้วย ได้ทำบูชาเปตชนให้ยิ่งด้วย ได้เพิ่มกำลังให้แก่ภิกษุทั้งหลายด้วย เป็นอันได้บุญไม่น้อยเลย"" (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, พุทธประวัติ เล่ม ๒ มัชฌิมโพธิกาล, พิมพ์ครั้งที่ ๙ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๑๕ หน้า ๑๔-๔๕.) "

ประเพณีสารทเดือนสิบของเมืองนครก็เกิดขึ้นตามพุทธานุญาตของพระพุทธองค์ และด้วยเหตุผลในทำนองเดียวกับที่ชาวอินเดียมีประเพณีเปตพลี เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบุพการีนั่นเอง

ควรที่จะได้ทำความเข้าใจกับคำว่า "สารท" สักเล็กน้อย คำว่า "สารท" เป็นภาษาบาลี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ ให้ความหมายว่า "เกี่ยวกับ หรือ เกิดในฤดูใบไม้ร่วง, เทศกาลทำบุญสิ้นเดือนสิบ" ซึ่งตรงกับคำว่า "ศารท" ในภาษาสันกฤต"

เทศกาลเดือนสิบเป็นเทศกาลประกอบด้วยการทำบุญที่จัดขึ้นด้วยเหตุผลหลายประการกล่าวคือ

ประการแรก ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา เชื่อว่าในปลายเดือนสิบนั้นปู่ย่าตายาย และญาติพี่น้องซึ่งล่วงลับไปแล้วนั้น โดยเฉพาะคนที่มีบาปมากจะตกนรกซึ่งเรียกว่า "เปรต" จะได้รับการปล่อยตัวจากพญายม เพื่อให้ขึ้นมาพบญาติพี่น้องและลูกหลานของตนในเมืองมนุษย์ในแรมค่ำหนึ่ง เดือนสิบ และให้กลับลงไปอยู่ในนรกดังเดิมในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ ดังนั้น ในโอกาสที่ญาติพี่น้องที่ตกนรกได้ขึ้นมาเยี่ยมเยียนนี่เอง ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็พยายามที่จะหาอาหารต่าง ๆ ไปทำบุญตามวัดต่าง ๆ เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปที่ขึ้นมาจากนรกคือวันแรมคำหนึ่ง เดือนสิบ ซึ่งชาวนครบางท้องที่เรียกวันนี้ ว่า "วันหมรับเล็ก"* (คำว่า หมรับ มาจากคำว่าสำรับ เป็นคำที่รับมาจากเขมร พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ ให้ความหมายว่า "เครื่อง หมวด ชุด วง (ของหรือคนรวบรวมกันเข้าได้ไม่ผิดพวก) ในที่นี้หมายถึงภาชนะที่ใส่กับข้าวคาวหวาน" จากคำว่า "สำรับ" กลายเสียงมาเป็น "สำหมรับ" ตามสำเนียงของชาวปักษ์ใต้ แต่ชาวภาคใต้นิยมตัดเสียงให้สั้นจึงเหลือเพียง "หมรับ" การที่ชาวภาคใต้บางท้องที่เรียกวันแรกค่ำหนึ่งเดือนสิบว่า "วันหมรับเล็ก" สันนิษฐานว่าคงจะเป็นเพราะพิธีการและองค์ประกอบในพิธีวันนั้นไม่ยิ่งใหญ่เท่ากับวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ อันเป็นวัน "หมรับใหญ่" เช่น วันหมรับเล็ก จะไม่ค่อยมีขนมพองและขนมลา แต่คงมีขนมแห้งชนิดอื่น ๆ ทั้งเพราะชาวเมืองยังไม่ได้ทำกันในระยะนั้น จำไปทำขนมพองขนมลากันต่อเมื่อใกล้ถึงวันหมรับใหญ่ ขนมพอทำเสร็จจะนำไปเป็นของฝากญาติผู้ใหญ่และผู้อาวุโสในโอกาสที่ไปกราบไหว้ประจำปี เพราะต้องไปกราบไหว้ญาติผู้ใหญ่และผู้อาวุโสในวันสารททุก ๆ ปี) ครั้งถึงกำหนดวันที่ผู้ล่วงลับจะต้องกลับไปอยู่ในนรกตามเดิม (คือวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ ก็มีการจัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลเป็นการส่งผู้ที่ล่วงลับไปแล้วอีกครั้งหนึ่ง ชาวนครบางท้องที่เรียกวันที่ว่า "วันหมรับใหญ่"

ประการที่สอง ในปลายเดือนสิบเป็นเทศกาลสารทนั้นเป็นระยะทีพืชพันธุ์ต่าง ๆ กำลังให้ผล ดังนั้นชาวเมืองซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพทางการเกษตรจะชื่นชมกับผลงานที่ตนสู้ลงทุนลงแรงมานานหลายเดือน การแสดงออกซึ่งความชื่นชมที่นิยมกระทำกันก็คือจัดงานบุญตามประเพณีทั้งที่เปลี่ยนและไม่เปลี่ยนสภาพของพืชผลเหล่านั้น ประเพณีการทำบุญโดยเอาพืชผลไปถวายพระนั้น แม้ในเวลานอกเหนือประเพณีสารทก็กระทำกันดังจะเห็นได้จากคำที่ผู้เฒ่าผู้แก่เตือนให้เรานำพืชผลที่ออกครั้งแรกของพืชผลแต่ละต้นไปถวายพระ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนและครอบครัว และยังผลประโยชน์ในการทำมาหากินในภายภาคหน้าสืบไป งานทำบุญที่จัดขึ้นตรงกันประเพณีสารทที่เป็นประเพณีทางศาสนา เพราะเวลาประจวบเหมาะเข้าพอดี

ประการที่สาม เพื่อเป็นการแสดงความสนุกสนานประจำปีร่วมกัน ชาวภาคใต้มักนิยมชมชอบการละเล่น งานรื่นเริง และงานสนุกสนานประเภทต่าง ๆ มากมาย ลักษณะนี้นับว่าตรงกับลักษณะนิสัยของคนไทยนั่นเอง ดังนั้นเมื่อมีโอกาสก็พยายามหาทางจัดงานรื่นเริงทันที จังหวะที่ทำบุญรับญาติผู้ล่วงลับที่ขึ้นมาจากนรก และการทำบุญในโอกาสที่ได้รับผลิตผลทางการเกษตรนี้นับเป็นจังหวะที่ดีที่ควรจะจัดงานรื่นเริงควบคู่กับประเพณีนั้นเสีย

ประการสุดท้าย เพื่อนำพืชผลต่าง ๆ ที่ชาวเมืองได้รับจากการเกษตรไปทำบุญสำหรับพระภิกษุจะได้เก็บไว้เป็นเสบียงในระยะฤดูฝน ซึ่งจะเริ่มในปลายเดือนสิบ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเห็นว่าในระยะฤดูฝนพระภิกษุบิณฑบาตยากลำบากจึงนำเสบียงทั้งที่เป็นพืชผักและอาหารสำเร็จรูปจำพวกของแห้งไปถวายสำหรับบริโภคในฤดูฝน

การจัดเสบียงอาหารที่จะไปถวายนั้นจัดเป็นสำรับเรียกว่า "หมรับ" นั่นเอง แล้วถวายโดยวิธีให้พระภิกษุจับสลาก เรียกว่า "สลากภัต" เพื่อกันการครหานินทาทั้งปวงซึ่งจะเกิดพระภิกษุและชาวเมืองผู้ถวาย เป็นอันว่าการถวายในครั้งนี้พระมิได้รับประเคน เมื่อจับฉลากได้ก็ให้ศิษย์เก็บไว้ แล้วนำมาประเคนถวายเป็นมื้อ ๆ ไป ทั้งนี้ เพราะว่าพระภิกษุสะสมอาหารมิได้

แต่เดิมนั้น การจัดหมรับนิยมใช้ภาชนะซึ่งเป็นกระบุงทรงเตี้ย สานด้วยตอกไม้ไผ่ขนาดเล็กใหญ่นั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้จัด แต่ระยะหลัง ๆ นี้มักจัดกันตามสะดวกไม่จำเป็นต้องเป็นกระบุงเช่นเดิม อาจจะเป็นกระจาด ถาด กระเซอ โคม (กะละมัง) หรือถังใบโต ๆ ก็ได้

ส่วนการลำดับสิ่งของลงบรรจุในหมรับและสิ่งของที่ใช้นั้น ดิเรก พรตตะเสน กล่าวได้ว่า "การจัดหมรับเท่าที่ผู้เขียนเคยเห็นประมาณสามสิบสี่สิบปีมาแล้ว ชั้นแรกเขาใส่ข้าวสารรองกระบุง แล้วใส่หอมกระเทียม พริก เกลือ กะปิ น้ำตาล ฯลฯ บรรดาเครื่องปรุงรสอาหารที่จำเป้นครบหมด ต่อไปก็เป็นจำพวกอาหารแห้ง เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม และพืชผัก สำหรับประกอบอาหารคาวหวานที่เก็บไว้ได้นานเป็นพิเศษ เช่น มะพร้าว ฟัก มัน กล้วย (ที่ยังไม่สุกงอม) อ้อย ข้าวโพด ตะไคร้ และพืชผักอื่น ๆ บรรดามีในเวลานั้น ของใช้ในกิจประจำวัน เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันก๊าด (สมัยนั้นการไฟฟ้ายังไม่เจริญ) ไต้ ไม้ขีดไฟ พิมเสน กระทะ ถ้วยชาม เข็ม ด้าย ของสำหรับในเชี่ยนหมาก ได้แก่ หมาก พลู กานพลู การบูร พิมเสน สีเสียด ปูน ยาเส้น บุหรี่ ยาสามัญประจำบ้าน ธูปเทียน เป็นต้น ถัดขึ้นมาก็ใส่สิ่งที่เป็นหัวใจของหมรับ คือ ขนม ๕ อย่าง อันเป็นเอกลักษณ์บุญเดือนสิบของชาวพุทธภาคใต้ โดยเฉพาะ ได้แก่ ขนมพอง ซึ่งมีความฟ่องลอยมุ่งหมายจะอุทิศส่งให้เป็นแพสำหรับบุรพชนใช้ล่องข้ามห้วงมพรรณพตามคติพุทธศาสนา ขนมลา เป็นแพรพรรณ เครื่องนุ่งห่ม ขนมกง (ขนมไข่ปลา) เป็นเครื่องประดับ ขนมดีซำเป็นเงินเบี้ยสำหรับใช้สอยขนมบ้า สำหรับบุรพชนได้ใช้เล่นสะบ้าต้อนรับสงกรานต์

ผู้เฒ่าบางคนกล่าวว่าขนมที่เป็นหัวใจของหมรับนั้นมี ๖ อย่าง โดยเพิ่มลาลอยมัน (ขนมรังนก) ซึ่งใช้ต่างฟูกหมอนเข้าไปอย่างหนึ่ง ถึงจะเป็น ๕ อย่างหรือ ๖ อย่างก็ตาม เราจะเห็นได้ว่าขนมที่เป็นหัวใจของหมรับนั้นเป็นขนมแห้งที่สามารถเก็บไว้ได้นาน ๆ โดยไม่บูดเน่า นอกจากนี้ยังมีประเภทเครื่องเล่นและของใช้ต่าง ๆ อีกด้วย ส่วนใหญ่เป็นของพื้นเมือง เช่น นำไม้เถียะ (ไม้หยี) หรือไม้ระกำ หรือกระดาษ หรือใบลานมาทำเป็นรูปสัตว์ เช่น ไก่ นก ปลา และช้างม้า เป็นต้น หรือทำเป็นรูปละครรำ หรือจัดเป็นรูปหนังตะลุง หรือทำเป็นอาวุธต่าง ๆ เช่น ปืน มีด พร้า และขวาน เป็นต้น บางทีก็จัดเป็นกระถางต้นไม้ดอกไม้ชนิดต่าง ๆ ก็มี ส่วนจำพวกของใช้ก็มีอยู่หลายอย่าง เช่น กระชอน กระจ่า และตะกร้า เป็นต้น การที่จะพิจารณาว่าควรทำเครื่องเล่นตุ๊กตา หรือเครื่องใช้ชนิดใดไปถวายพระในวันสารท โดยวิธีติดหมรับนั้น ผู้ถวายมักจะพิจารณาก่อนว่าผู้ที่ตนจะอุทิศส่วนกุศลไปให้นั้นชอบอะไรเป็นพิเศษก็ถวายสิ่งนั้น

ในวันแรม ๑๓ ค่ำ เดือนสิบ ชาวเมืองต้องรีบเสาะหาสิ่งต่าง ๆ ทั้งนี้แต่ละบ้านแต่ละเรือนนั้นมีผลผลิตและสิ่งของของต่าง ๆ ที่จะให้ในการจัดหมรับไม่เหมือนกัน จึงขาดเหลือสิ่งเหล่านี้ไม่เหมือนกัน ดังนั้นวิธีการที่จะได้มาซึ่งสิ่งของที่ขาดอยู่คือการไปซื้อหาที่ตลาด พ่อค้าแม่ค้าต่างจะนำของต่าง ๆ ไปขายกันมากเป็นพิเศษ เพราะรู้ความต้องการในโอกาสนี้ดี สินค้าที่พ่อค้าแม่ค้านำไปขายส่วนใหญ่มักจะเป็นสิ่งของที่ใช้ในการจัดหมรับที่กล่าวมา ดังนั้นตลาดทุกแห่งจึงแน่นขนัดเป็นพิเศษ เพราะแทบทุกบ้านมักจะมุ่งหาซื้อของที่ตลาดกันทั้งนั้น วันนี้เองที่ชาวภาคใต้เรียกว่า "วันจ่าย"

วันรุ่งขึ้นวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือนสิบ ก็ชวนกันไปวัด โดยเลือกวัดที่อยู่ใกล้บ้านหรือวัดที่บรรพบุรุษของตนนิยมการไปวัดในวันนี้เพื่อนำของที่เตรียมมาแต่วันก่อนไปจัดหมรับ จะจัดกันให้สวยงามอย่างไรก็ได้ บางทีก็หาเครื่องตกแต่งมาประกอบกันจนหรูหราทีเดียว หมรับจะหรูหราหรือใหญ่โตมากน้อยเพียงใดอยู่ที่ฐานะของผู้จัด วันนี้เรียกว่า "วันยกหมรับ" นอกจากจะยกหมรับไปวัดแล้วยังนำอาหารไปถวายพระด้วย นอกจากนี้มักจะเอาอาหารและขนมเดือนสิบอีกส่วนหนึ่งไปวางไว้ที่ต่าง ๆ เช่น ทางเข้าประตูวัด ริมกำแพงวัดและโคนต้นไม้ เป็นต้น เพื่อแผ่ส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับที่ปราศจากญาติหรือวันนี้ญาติไม่ได้มาร่วมทำบุญ เรียกว่า "ตั้งเปรต" แต่การตั้งเปรตในระยะหลังนิยมสร้างเป็นร้านขึ้นมาให้สูงพอสมควรแต่ไม่ให้สูงเกินไป เพราะผู้คนจะได้นำขนมมาวางรวมกันได้โดยสะดวก ร้านที่สร้างขึ้นเพื่อตั้งเปรตเรียกว่า "หลาเปรต" (หลาก็คือศาลา)

เมื่อเอาขนมมาตั้งเปรตบนหลาเปรตเรียบร้อยแล้วมักหาสายสิญจน์มาผูกไว้กับหลาเปรต ส่วนปลายอีกข้างหนึ่งพระสงฆ์จะใช้มือจับเมื่อสวดบังสุกุล หลังจากที่พระสงฆ์สวดมนต์ฉันภัตตาหารและบังสุกุลอัฐิรวมเรียบร้อยแล้ว เพื่อแผ่ส่วนกุศลไปยังผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์ก็เก็บสายสิญจน์ ผู้คนทั้งเฒ่าแก่หนุ่มสาวและเด็ก ๆ ก็จะเฮโลกันเข้าไปแย่งขนมที่ตั้งเปรต แย่งกันอุตลุด เพราะถือว่าเป็นการกินของที่เหลือจากการเซ่นไหว้บรรพชนนั้นได้กุศลแรง เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวอย่างยิ่ง ลักษณะการแย่งกันไปเอาขนมที่ตั้งเปรตนั้นเรียกว่า "ชิงเปรต"

เพื่อเพิ่มพูนความสนุกสนานในการชิงเปรต บางแหล่งสร้างหลายหลาเปรตให้สูง โดยมีเสาไม้ไผ่หรือไม้หมากเพียงเสาเดียว เสานี้ขูดผิวจนลื่นแล้วทาน้ำมัน พอถึงตอนชิงเปรตผู้คนจะแย่งกันปีนขึ้นไป ขณที่ปีนป่ายจึงมักตกลงมาเพราะเสาลื่น หรือไม่ก็เพราะถูกคนอื่นดึงพลัดตกลงมา กว่าจะมีผู้ปีนไปถึงหลาเปรตได้ต้องใช้ความพยายามอยู่นานเป็นการเพิ่มความสนุกขึ้นเป็นพิเศษ

ในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบซึ่งเป็น "วันสารท" ชาวบ้านจะชวนกันนำอาหารต่าง ไปถวายพระอีกวันหนึ่งมีการทำบุญเพื่อเป็นการฉลองหมรับที่จัดไว้ตั้งแต่วันแรม ๑๔ ค่ำ เรียกวันนี้ว่า "วันหลองหมรับ" (หลองก็คือฉลอง) มีการทำบุญเลี้ยงพระ บังสุกุลเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไป นับว่าเป็นวันที่มีพิธีการสำคัญวันหนึ่ง เพราะถือว่าหากมิได้จัดวันนี้ บรรพบุรุษและญาติมิตรผู้ล่วงลับไปแล้วจะอดอยากทุกข์ทนอย่างมาก ลูกหลานญาติที่ยังอยู่ก็จะกลายเป็นคนอกตัญญูไป

ประเพณีสาราทเดือนสิบของภาคใต้ นับวันแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงพิธีการและรูปแบบไปทุกขณะ ดังนั้นประเพณีที่เราเห็นทุกวันนี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นมาบ้าง ดังเช่นที่นครศรีธรรมราชซึ่งเห็นว่าในวันจ่าย คือ วันแรม ๑๓ ค่ำ เดือนสิบ เป็นวันที่ชาวนครจะชวนกันไปชุมนุมซื้อของที่ที่นัดหมายหรือตามตลาดจ่ายต่าง ๆ กันมาก ดังนั้นประมาณ ๕๐ ปีมานี้จึงได้มีผู้คิดเห็นว่าควรจัดงานรื่นเริงสมทบกับประเพณีสารทเดือนสิบด้วย โดยจัดที่สนามหน้าเมืองดังที่ ดิเรก พรตตะเสน ได้เขียนเล่าไว้ว่า

…งานออกร้านในเทศกาลบุญสารทเดือนสิบ ในสนามหน้าเมืองเกิดขึ้นโดยนัยดังกล่าวในครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ ด้วยความร่วมมือของกรมการจังหวัดนครศรีธรรมราช อันมีพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (สิน เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผู้ราชการจังหวัด กับพระยาภัทรนาวิกธรรมจำรูญ (เอื้อน ภัทรนาวิก) ขณะนั้นยังเป็นหลวงรามประชาผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช และดำรงตำแหน่งนายกศรีธรรมราชสโมสร * (ศรีธรรมราชสโมสรในชั้นแรกสุดเรียกว่า นครสามัคคี" ดังหลักฐานที่ปรากฏในจดหมายเหตุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. ๑๒๘ พ.ศ. ๒๔๕๒ "จากที่วัดท่าโพธิ์โดยย้อนทางกลับลงมาเลี้ยวเข้าไปที่นครสามัคคี ซึ่งตั้งอยู่ริมสนามตรงหน้าพลับพลาออกมา กรรมการได้เชิญไปเป็นผู้อุปถัมภ์ข้าพระพุทธเจ้าได้รับรองแล้ว เขาเชิญเลี้ยงน้ำชาด้วย นครสามัคคีเป็นสโมสรข้าราชการเมืองนี้ ได้เริ่มตั้งแต่ขึ้น ร.ศ. ๑๒๖" ) ด้วย

ทั้งสองท่านที่กล่าวนามมานี้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงจัดงานขึ้นในปีนั้น ๓ วัน ๓ คืน เริ่มตั้งแต่วันแรก ๑๒ ค่ำ หน้าวันจ่ายวันนึ่ง และสิ้นสุดในวันแรม ๑๔ ค่ำ หลังวันจ่ายวันหนึ่งเฉพาะค่าผ่านประตูเก็บผู้ใหญ่ ๑๐ สตางค์ เด็ก ๕ สตางค์ สมัยนั้นเงินมีค่า จึงรู้สึกว่าแพงมาก เก็บเงินได้ในครั้งนั้นรวมค่าโรงร้านด้วยเกือบสามพันบาท งานออกร้านในเทศกาลบุญสารทเดือนสิบ ครั้งแรกได้ทั้งหมดสร้างสโมสรซึ่งเดิมเป็นโรงมุงจาก ฝากระดานพื้นปูอิฐ สร้างมาแต่ พ.ศ. ๒๔๕๑ สมัยพระยาตรังคภูบาล (ถนอม บุณยเกตุ) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดขณะนั้น กำลังทรุดโทรมโย้เย้จะพังอยู่พอดี สโมสรที่สร้างขึ้นใหม่ด้วยเงินรายได้จากการออกร้านในเทศกาลบุญสารทเดือนสิบ พ.ศ. ๒๔๖๖ ก็คือสโมสรข้าราชการ ณ สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช…."

นับแต่นั้นมาก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของงามมาเป็นสำคัญ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าชาวภาคใต้ยังคงรักษาเนื้อหาสาระของงานไว้อย่างมั่นคง กล่าวคือทุกคนรู้ว่าประเพณีสารทเดือนสิบเป็นประเพณีที่แสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณในบรรพชน เป็นประเพณีที่ญาติพี่น้องจะได้มาพบปะแสดงความรักห่วง และสอบถามสารทุกข์สุกดิบซึ่งกันและกัน ชาวภาคใต้ถือว่าความกตัญญู และความรักในเชื้อสายเหล่ากอเป็นคุณธรรมที่จะส่งเสริมให้เกิดสุขและความสำเร็จในการประกอบอาชีพสืบไป

ภาคผนวก วิธีปรุงขนมเดือนสิบ

ขนมที่ใช้ประกอบหมรับในประเพณีทำบุญสารทเดือนสิบมีอยู่หลายอย่าง แต่ขนมที่จำเป็นอย่างขาดไม่ได้มีอยู่ ๕ อย่าง คือ ขนมลา ขนมพองง ขนมบ้า ขนมดีซำ และขนมไข่ปลา ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ต่อไปนี้จะได้กล่าวถึงวิธีทำขนมทั้ง ๕ อย่าง โดยอาศัยตำรับของคุณอักษร มณีวัตร อาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดพระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเค้าโครงดังนี้

 

 

(๑) ขนมลา

เครื่องปรุง ข้าวเจ้า น้ำตาลทราย และน้ำผึ้งจากเคี่ยวให้ข้น น้ำมันมะพร้าวใหม่ ๆ (หรือน้ำมันอื่น ๆ ) ไข่ ต้ม (ใช้เฉพาะไข่แดง

วิธีทำ ล้างข้าวเจ้าให้สะอาดแล้วหมักใส่กระสอบจูดไว้ ๒ คืน พอครบกำหนดแล้วล้างให้หมดกลิ่น โม่ให้ละเอียด นำแป้งที่โม่แล้วไปกรอง ๒ ครั้ง เพื่อให้ได้แป้งที่ขาวสะอาดและละเอียด นำแป้งนี้ไปบรรจุลงในถุงผ้าบาง ๆ นำไปแขวนหรือวางให้สะเด็ดน้ำ เมื่อเห็นว่าแป้งแค่นมากแล้วนำไปวางราบลง หาของหนัก ๆ วางทับไว้เพื่อให้แห้งสนิท

วิธีผสม นำแป้งที่แห้งแล้วนำไปตำให้ร่วนแล้วใส่น้ำผึ้งที่เตรียมไว้คลุกเคล้ากันจนเข้ากันดีแล้ว เอามือจุ่มโรย (ทอด) ดูเมื่อเห็นว่าเป็นเส้นดีและโรยได้ไม่ขาดสายก็ใช้ได้ ลองชิมดูรสจนเป็นที่น่าพอใจ

วิธีโรยหรือทอด โรย (ทอด) ด้วยกะทะขนาดใหญ่ กะทะนั้นตั้งอยู่บนเตาไฟอ่อน ๆ ให้เอาน้ำมันผสมไข่แดงทาให้ทั่วกะทะ พอกะทะร้อนได้ที่ดีแล้ว เอาแป้งที่ผสมได้รสดีแล้วใส่กะลามะพร้าวขนาดใหญ่หรือขันหรือกระป๋องที่ทำขึ้นอย่างประณีตสำหรับโรยแป้งโดยเฉพาะโดยเจาะรูที่ก้นเป็นรูเล็ก ๆ จำนวนมากแล้วนำไปโรงลงในกะทะ วิธีการโรยก็วนไปวนมาให้ทั่วทั้งกะทะหลาย ๆ ครั้ง จนได้ขนาดใหญ่ตามที่ต้องการ เมื่อขนมในกะทะสุก แล้วก็พับแล้วนำมาวางซ้อน ๆ กันให้น้ำมันสะเด็ด แล้วโรยแผ่นใหม่ต่อไปแต่ก่อนที่จะโรย ต้องทาน้ำมันผสมไข่แดงที่กะทะทุกคราวไป

(๒) ขนมพอง

เครื่องปรุง ข้าวเหนียวและน้ำมันมะพร้าวใหม่ (หรือน้ำมันอื่น ๆ)

วิธีทำ แช่ข้าวเหนียวไว้ ๑ คืน เมื่อครบกำหนดแล้วล้างให้สะอาด เมื่อนึ่งข้าวเหนียวสุกแล้ว เอาข้าวเหนียวนั้นไปใส่ในแบบพิมพ์ ขณะที่ข้าวเหนียวยังร้อน ๆ อยู่ พิมพ์ส่วนมาทำด้วยไม้ไผ่แผ่นบาง ๆ สูงประมาณ ๑ เซนติเมตรมาพับเป็นรูปต่าง ๆ ตามที่ต้องการ เช่น รูปข้าวหลามตัด รูปวงกลม และรูปสามเหลี่ยม เป็นต้น เมื่อจัดข้าวเหนียวลงในพิมพ์ได้ดีแล้วนำไปผึ่งแดดทั้งที่พิมพ์อยู่ด้วย เมื่อข้าวเหนียวแห้งและแกะออกจากพิมพ์ นำไปทอดในกะทะใบโต ๆ ซึ่งมีน้ำมันอยู่ค่อนกะทะ เรียกว่า "ส่ายพอง" พยายามส่ายแผ่นพองในน้ำมันร้อน ๆ จนข้าวเหนียวแต่ละแผ่นพองทั่วแล้วก็เอาขึ้นมาวางในตะแกรงให้สะเด็ดน้ำมัน

(๓) ขนมบ้า

เครื่องปรุง ข้าวเหนียว งาขาว งาดำ น้ำตาลเคี่ยว และน้ำมันมะพร้าวใหม่ (หรือน้ำมันอื่น ๆ)

วิธีปรุง แช่ข้าวเหนียวไว้หนึ่งคืน เมื่อครบกำหนดแล้วล้างให้สะอาดหมดกลิ่น แล้วนำไปใส่ในตะแกรงให้สะเด็ดน้ำแล้วตำให้ละเอียด และร่อนด้วยตะแกรง เอาแป้งที่ร่อนแล้วนั้นไปผสมกับน้ำตาลทรายเคี่ยวให้เข้ากันด้วยดี ชิมรสให้หวานพอเหมาะและไม่ให้แป้งเหลวเกินไป ปั้นแป้งนั้นเป็นลูกกลม ๆ แบน ๆ เช่น ลูกสะบ้า เส้นผ่าศูนย์กลางราว ๑๐ ซม. วางเรียงไว้ในกระด้งหรือถาด โรยด้วยงาขาวงาดำซึ่งคั่วสุกแล้ว นำไปทอดในน้ำมันร้อน ๆ จนสุก ตักขึ้นวางในตะแกรงจนสะเด็ดน้ำมัน (๔) ขนมดีซำ เครื่องปรุง ข้าวเจ้า น้ำตาลทรายเคี่ยว และน้ำมันมะพร้าวใหม่ ๆ (หรือน้ำมันอื่น ๆ) วิธีทำ แช่ข้าวเจ้าไว้ ๑ คืน เมื่อครบกำหนดแล้ว ล้างให้สะอาดหมดกลิ่น นำไปใส่ตะแกรงให้สะเด็ดน้ำนำไปตำให้ละเอียดแล้วร่อนด้วยตะแกรงน้ำไปผึ่งแดด แล้วผสมกับน้ำตาลเคี่ยวคนให้เข้ากันดี ชิมรสตามต้องการนำมาปั้นเป็นรูปกลม ๆ แบน ๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๑๐ ซม. นำไปทอดในน้ำมันร้อน ๆ จนสุกแล้วตักขึ้นวางไว้ในตะแกรงให้สะเด็ดน้ำมัน (๕) ขนมกงหรือขนมไข่ปลา เครื่องปรุง ถั่วเขียว น้ำตาลทรายเคี่ยว หัวกะทิ ไข่ และน้ำมันมะพร้าวใหม่ ๆ (หรือน้ำมันอื่น ๆ) วิธีทำ คั่วถั่วเขียวจนสุก โม่ทั้งเปลือกจนละเอียด ร่อนด้วยตะแกรงนำมาคลุกกับน้ำตาลเคี่ยว แล้วคลึงให้เป็นรูปวงรีขนาดพองาม นำไปชุบแป้ง (ซึ่งทำด้วยข้าวเหนียวผสมหัวกะทิและไข่เล็กน้อย โดยคลุกสิ่งเหล่านี้ให้เข้ากันให้ดีไม่ต้องให้ข้นมากนัก) แล้วทอดด้วยน้ำมันร้อน ๆ ครั้นสุกแล้วตักไปวางในตะแกรงให้สะเด็ดน้ำมัน บรรณานุกรม ดิเรก พรตตะเสน "ประเพณีสารทเดือนสิบของจังหวัดนครศรีธรรมราช" ในวิชชา ๒ (๑) : ๒๓-๒๔ ,มิถุนายน - กันยายน ๒๕๑๙. ปรีชา นุ่นสุข "ขนมเดือนสิบ" ในเดือนสิบ ๒๓ นครศรีธรรมราช : จังหวัดนครศรีธรรมราช ๒๕๒๓. ปรีชา นุ่นสุข "ประเพณีสารทเดือนสิบของจังหวัดนครศรีธรรมราช " เดือนสิบ ๒๒ นครศรีธรรมราช จังหวัด นครศรีธรรมราช ๒๕๒๒. วิเชียร ณ นคร และคนอื่น ๆ นครศรีธรรมราช กรุงเทพหมานคร : โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์ ๒๕๒๑. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พุทธประวัติ เล่ม ๒ มัชฌิมโพธิกาล พิมพ์ครั้งที่ ๙ กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย ๒๕๑๕. อนุมานราชธน, พระยา สารานุกรม โดยเสฐียรโกเศศ (นามแฝง) กรุงเทพฯ : บรรณาคาร ๒๕๑๖. อาเทศคดี, ขุน "ความเป็นมาของงานเดือนสิบของจังหวัดนครศรีธรรมราช" ในเดือนสิบ ๒๒ นครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ๒๕๒๒.