ภูเก็ตยุครัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ ๒ :ประสิทธิ ชิณการณ์
เขียนโดย ประสิทธิ ชิณการณ์   
ศุกร์, 15 กุมภาพันธ์ 2008

  

ภูเก็ตยุครัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ ๒

: ประสิทธิ ชิณการณ์ 

 (จถล.2321)

สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมโอรสาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลซึ่งได้สำเร็จราชการในตำแหน่งพระมหาอุปราชอยู่แล้ว ก็ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยสิริราชสมบัติในกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๒ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ในวันถัดมา

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกได้เริ่มขึ้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๐ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีมะเส็งเอกศก จุลศักราช ๑๑๕๑ (พ.ศ.๒๓๕๒) ติดตามด้วยกิจการต่าง ๆ อันเนื่องต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นต้นว่า พระราชพิธีอุปราชาภิเษก, การแต่งตั้งพระสมณศักดิ์ทางพระพุทธศาสนา, การสถาปนาพระเกียรติยศเจ้านายในพระราชวงศ์, การแต่งตั้งขุนนางชั้นผู้ใหญ่, ทั้งหลายเหล่านี้กว่าจะเสร็จสิ้นลงก็ถึงเดือน ๑๑ ปีเดียวกัน

ฝ่ายพระเจ้าประดุงแห่งพม่า ได้ตระเตรียมกองทัพเพื่อจะยกมาทำสงครามกับไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๕๑ แต่ต้องเลิกล้มความตั้งใจลงเนื่องจากการเกณฑ์ผู้คนเข้ากองทัพเป็นไปด้วยความขัดข้องระส่ำระสาย ไม่อาจจะรวบรวมกำลังรี้พลให้ครบถ้วนตามความประสงค์ได้ จึงให้ยับยั้งการเคลื่อนกองทัพมายังเมืองไทยไว้ก่อน แต่อะเติ่งวุ่นแม่ทัพผู้ตระเตรียมรี้พลและเสบียงอาหารไว้ได้จำนวนหนึ่งแล้ว ขอนำทัพมาตีเมืองชุมพร, เมืองตะกั่วป่า,เมืองตะกั่วทุ่ง และเกาะถลาง กวาดต้อนครอบครัวหาทรัพย์สินมาใช้คืนทุนรอนที่ได้ลงไป พระเจ้าปะดุงก็ทรงอนุญาต อะเติ่งวุ่นจึงยกกองทัพลงมาตั้งอยู่ที่เมืองทวาย กะเกณฑ์ให้ต่อเรือรบใหญ่น้อยเป็นอันมาก

 

ครั้น ถึงเดือน ๑๑ ปีมะเส็ง เอกศก พ.ศ.๒๓๕๒ อะเติ่งวุ่นจึงให้แยฆองเป็นนายทัพคุมพล ๔,๐๐๐ คน ลงเรือรบมาตีเกาะถลาง (พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฯ ฉบับหอสมุด พิมพ์ที่คลังวิทยา, พ.ศ. ๒๕๐๕ หน้า ๓๙๗)

คำให้การของเชลยพม่าที่ไทยจับได้ในศึกครั้งนั้น ชื่อ งะษาตะนะออง หรือ เจยะดุเรียงกะยอ ให้ปากคำว่า

“ ณ วันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะเส็งเอกศก (ศักราช ๑๑๗๑ พ.ศ. ๒๓๕๒) อะเติงวุ่นเกณฑ์ให้งะอูเจ้าเมืองทวายเป็นแม่ทัพ อ้ายเจยะดุเรียงกะยอ เป็นปีกขวา สิงคะดุเรียงเจ้าเมืองมะริดเป็นปีกซ้าย คุมกองทัพ อะเติ่งวุ่น ๖,๐๐๐ คน เจ้าเมืองทวาย ๓,๐๐๐ คน เจ้าเมืองมะริด ๑,๐๐๐ คน รวม ๑๐,๐๐๐ คน ปืนหลัก ๒๐๐ ปืนคาบศิลา ๓,๕๐๐ ปืนหน้าเรือกระสุน ๓ นิ้ว ๒๐ ให้พละยางอองทวาย กับงะมยตเลทวายเป็นยกบัตรทัพ ดินดำเสมอบอก ๓๐๐ นัด เข้ากัน ๓,๗๒๐ บอก ข้าวสารคนละ ๓ สัด เรือ ๒๓๐ ลำ ให้ยกไปตีเมืองถลาง กองทัพยกลงไปพร้อมมูลกันอยู่ เรือหาหลบหลีกหนีหายแลเรือแตกไม่ ครั้นไปถึงเมืองตะกั่วป่า อ้ายเจยะดุเรียงกะจอ เป็นปีกขวาคุมคน ๓ ทัพยกเข้าตีเมืองตะกั่วป่า ชาวเมืองหาสู้รบไม่ แตกหนีไป ได้ปืนหลัก กระสุน ๓ นิ้ว ๑๓ กระสุน ๔ นิ้ว ๒ ปืนคาบศิลา ๙ รวม ๒๔ กระบอก ข้าวเปลือกประมาณ ๒ พันสัด ขนใส่เรือ จับได้หญิงแก่ ๒ คนครั้นรุ่งขึ้น สิงคะดุเรียงปีกซ้าย คน ๕ พัน เข้าตีบ้านนาเตย ๆ หาสู้รบไม่ หนีไป ได้ปืนหลัก กระสุน ๓ นิ้ว ๒๐ กระสุน ๔ นิ้ว ๕ ปืนคาบศิลา ๑๓ รวม ๓๘ บอก ข้าวเปลือกประมาณ ๓,๐๐๐ สัด จึงบอกหนังสือไปถึง งะอู แม่ทัพ ๆ ยกมาตั้งอยู่นาเตย คน ๓ พัน อ้ายเจยะดุเรียงกะจอ คน ๓.๐๐๐ ยกไปทางเรือกองหนึ่ง เกณฑ์ให้ อ้ายสิงคตุเรียง คน ๓,๐๐๐ ยกไปทางบกกองหนึ่ง ให้อยู่รักษาเรือ ๑,๐๐๐ คนกำหนดกองทัพบกเรือพบกัน ณ ปากพระ แล้วกองอ้ายเจยะดุเรียงกะจอ ยกข้ามไปถึงบ้านสาคู พบกองตระเวนไทยได้รบสู้กันครู่หนึ่งไทยถอยไป ตามไปถึงบ้านตะเคียน ไทยถอยไปเข้าค่ายเมืองถลาง กองทัพพม่าตั้งอยู่บ้านตะเคียน ๗ วัน สิงคตุเรียงให้กองทัพหนุนมาอีก พันหนึ่ง จึงเข้าไปตั้งค่ายล้อมเมืองถลาง ๑๕ ค่ายได้สามด้าน ๆ ใต้ตั้งอยู่ยังไม่รอบ

เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีมะเส็งเอกศก ศักราช ๑๑๗๑ (พ.ศ. ๒๓๕๒) เพลากลางคืนเข้าตีค่ายเมืองถลาง ไพร่ถูกปืนใหญ่ตายประมาณ ๕๐๐ เศษ ป่วยเจ็บเป็นอันมาก ถอยเข้าค่ายมีหนังสือแม่ทัพพม่าให้ปลัดซ้ายจำเอาอ้ายเจยะดุเรียงกะจอลงไปท่าเรือ อ้ายเจยะดุเรียงกะจอรับอาสาว่าจะตีเอาเมืองถลางให้จงได้ แม่ทัพถอดปล่อยกลับมา แล้วมีหนังสือปลัดซ้ายมาว่างะอูแม่ทัพป่วยตายแล้ว ให้เลิกทัพถอยกลับมาตั้งอยู่ ณ ปากจั่น ประมาณเดือนเศษ อะเติ่งวุ่นให้งะซ่านเป็นแม่ทัพลงมาให้ฆ่าอ้ายเจยะดุเรียงกะจอปลัดขวา อ้ายสิงคะตุเรียงปลัดซ้าย เสีย ให้ตั้งแยจักตะกุนเป็นปลัดขวา แยละสุระจอเป็นปลัดซ้าย นายทัพนายกองทั้งปวงพร้อมกันปรึกษาว่า จะขอรับประกันตัวไว้ให้เป็นกองหน้าไปตีเอาเมืองถลางให้จงได้ ถ้ามิได้จึงให้ฆ่าเสีย งะซ่านแม่ทัพจึงงดไว้ไม่ให้ฆ่า ให้ยกไปตีเมืองถลาง อะเติ่งวุ่นมีหนังสือลงมาถึงงะซ่านแม่ทัพว่าได้ให้ตุเรียงษาละกะยอคุมคน ๘ พัน ยกเข้าไปเมืองชุมพรแล้ว กองทัพพม่าป่วยเจ็บล้มตายหนีหายเสียเป็นอันมาก คงได้คนไปล้อมเมืองถลาง ๖ พัน ตั้งล้อมอยู่ ๒๐ วัน ตุเรียงษาละกะยอยกกองทัพมาอีก ๕ พันเข้าตีเมืองถลางพร้อมกัน เมืองถลางแตก ได้ปืนใหญ่กระสุน ๓-๔ นิ้ว ๘๔ กระบอก ปืนหลัก ๒๑ ปืนคาบศิลา ๕๐ รวม ๑๕๕ กระบอก ครอบครัว ๓๐๐ เศษ ดีบุก ๓ พันปึก ส่งปืนใหญ่น้อยครอบครัวไป ณ เมืองทวาย อะเติ่งวุ่นให้ อ้ายโมและอ้ายยักภูลงมาฟังราชการ ณ เมืองถลาง บอกว่าอะเติ่งวุ่นมีหนังสือส่งตัวเจ้าเมืองถลางขึ้นไปเมืองอังวะ ว่าให้ตุเรียงษาละกะยอ คุมคน ๑๒,๐๐๐ ไปตีเมืองถลางแตกแล้วได้ปืนใหญ่ปืนน้อยและครอบครัวส่งมาเมืองทวาย ให้กองทัพตั้งรักษาเมืองถลางอยู่ เจ้าอังวะให้ตั้งอะเติ่งวุ่นเป็นมหาเสนา และตุเรียงษาละกะยอเป็น... จารึกชื่อใส่แผ่นทองมาให้อะเติ่งวุ่น พระราชทานกลอง... ๗ ใบมาให้ด้วย และงะซ่านแม่ทัพ ให้งะพยุชาวมะริดเป็นอคุบจเรพี่เมียลักษมานา คุมคน ๓๐ คน ถือหนังสือไปเมืองไทรลำหนึ่ง เคมันฝรั่งย่างกุ้งคุมไพร่ลูกเรือ ๒๕ คน เอาดีบุก ๓ พันปึกบรรทุกสลุปลำหนึ่งไปแลกดินดำ ณ เกาะหมาก ในหนังสือไปเมืองนั้นว่า แต่ก่อนเมืองไทรขึ้นแก่เมืองพม่า บัดนี้ตีเมืองถลางได้แล้ว เกาะรังนกทั้งปวงจะยกให้สิ้น ให้พระยาไทรจัดแจงดอกไม้เงินดอกไม้ทองไปถวายตามอย่างธรรมเนียม งะพยุและเคมันฝรั่งก็ลงเรือไปประมาณ ๑๕ วัน เคมันฝรั่งนายสลุปกลับมาถึงเมืองถลาง บอกงะซ่านแม่ทัพว่า แลกดินดำหาได้ไม่ ได้แต่ผ้าอัตหลัด ๓ ม้วน ผ้ากำมะหยี่แดง ๒ ม้วน กำมะหยี่เขียวม้วนหนึ่ง ผ้าแพรเขียว ๓ ม้วน สักหลาดแดง ๓ พับ สักหลาดเขียว ๒ พับ รวมเป็น ๕ พับ ผ้าขาวบาง ๒ พับ ยาสูบ ๒๐๐ ชั่ง ปลาแห้งหาง ๓๐๐ ชั่ง มาส่งให้งะซ่านแม่ทัพแล้ว เคมันฝรั่งหนีไป กองทัพงะซ่านซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองถลางนั้นแตกไปถึงเมืองปากจั่น อะเติ่งวุ่นให้ลงมาจับเอาตัวงะซ่านแม่ทัพ และแยจักตุคนปลัดทัพขึ้นไปเมืองทวาย ไปได้ ๒ วัน เรือซึ่งไปเมืองไทรกลับมาพบกองทัพ ณ ปากจั่น พระยาไทรมีหนังสือตอบให้ขุนนางแขกมาด้วยคนหนึ่ง มีผ้าขาว ๓ พับ เทียนใหญ่ ๕๐ เล่ม แพรแดง ๒ ม้วน แพรเขียว ๓ ม้วน ใส่หีบมาใบหนึ่ง เป็นของฝากมาให้อะเติ่งวุ่น ในหนังสือพระยาไทรนั้นว่า กองทัพไทยก็ออกไปเฝ้าอยู่ ๓ พัน ครั้นจะเข้าโจมตีก็เห็นยังขัดอยู่ ขอกองทัพพม่าสัก ๖ พัน ยกออกไปตีเมืองไทรจึงจะเข้าได้โดยสะดวก ---(คำให้การของเชลยพม่า ฯ ถ่ายสำเนาไมโครฟิล์มเก็บรักษาไว้ ณ หอจดหมายเหตุในหอสมุดแห่งชาติ พิมพ์เผยแพร่โดยอำเภอถลาง พ.ศ.๒๕๔๐)

คำให้การของเชลยพม่าที่ชื่อ งะษาตะนะออง หรือเจยะดุเรียงกะยอ ซึ่งถูกทหารไทยจับได้ภายหลังที่เมืองถลางแตก เมื่อ พ.ศ.๒๓๕๒ ผู้นี้ ยังมีข้อความอีกมาก แต่ตัดตอนมาเพียงบางส่วน เพื่ออ้างอิงว่าเมืองถลาง ในปี พ.ศ.๒๓๕๒ นั้น กำลังรุ่งเรือง พม่าจึงมุ่งหมายมาตีเพื่อปล้นสะดมเอาทรัพย์สิน โดยระดมพลจำนวนมากถึง ๑๒,๐๐๐ คน เมืองถลางครั้งนั้นทำการป้องกันเมืองอย่างเข้มแข็ง มีปืนใหญ่กระสุน ๓-๔ นิ้ว ร่วม ๑๐๐ กระบอก พม่ากวาดเอาไปได้ถึง ๘๔ กระบอก ปืนหลัก ๒๑ กระบอก ปืนคาบศิลา อีกจำนวนหนึ่ง พระยาเพชรคีรีศรีพิไชยสงคราม เจ้าเมืองถลางคงมุ่งหมายจะรักษาเมืองโดยใช้ปืนใหญ่เป็นกำลังสำคัญในการยิงแบบ “ปูพรม” ซึ่งเคยประสบชัยชนะมาในการทำสงครามเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๘ เนื่องจากมีกำลังทหารน้อย จึงต้องอาศัยอาวุธปืนจำนวนมากเข้าต่อสู้ และก็ได้รับผลในระยะต้น ๆ กล่าวคือ ครั้งแรกที่พม่ายกเข้าโจมตี ก็ถูกระดมยิงด้วยปืนใหญ่น้อย ล้มตายลงถึง ๕๐๐ คนเศษ บาดเจ็บอีกต่างหาก ถึงกับผู้บัญชาการทัพหน้าของพม่าถูกจับตัวไปเพื่อลงโทษฐานปล่อยให้เสียกำลังทหารอย่างมากมายแต่เมื่อพม่าเรียนรู้ถึงยุทธวิธีฝ่ายไทย ก็ทำอุบายล่าถอยไปพักอยู่ไกลถึงปากจั่นใกล้เมืองมะริด แล้วเข้าจู่โจมใหม่อีกครั้งในยามที่ไทยกลับตัวไม่ทัน

ในการจู่โจมครั้งใหม่นั้น พม่าใช้ยุทธวิธีใหม่ ด้วยการลำเลียงปืนใหญ่ขึ้นไปตั้งบนเนินเขาทางทิศตะวันตกของเมืองถลาง คือเขาพระแทว แล้วยิงลงใส่ตัวเมืองกระทำเช่นเดียวกับที่สมเด็จพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงกระทำเอากับเมืองมะริดในศึกไทยพม่า พ.ศ.๒๓๓๖ จนเมืองมะริดสุดปัญญาจะป้องกัน พม่าได้นำยุทธวิธีอันนี้กลับมาใช้กับเมืองถลางเป็นการตอบแทน ปรากฏตามเอกสารอ้างอิงประวัติศาสตร์ของมลายู ชื่อ “ซาแอ็ร์ สุลต่าน เมาลานา” (Syair Sultan Maulana) ซึ่งสุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ได้ปริวรรตและนำเสนอต่อที่ประชุมสัมมนาประวัติศาสตร์ถลาง ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยขอนำข้อความบางตอนมาอ้างอิง ดังนี้

“---ฝ่ายพม่านั้นยกบุกเข้าโจมตีถลาง อย่างหนัก มีการสร้างค่ายหลายแห่ง มีการเคลื่อนค่ายอยู่เรื่อย ๆ และล้อมกำแพงเมืองถลางไว้โดยรอบ คนถลางนั้นก็ยิงปืนตอบโต้ออกจากกำแพงอย่างไม่หยุดยั้งเหมือนกัน เสียงปืนดังไกลไปถึงเอโกร์นาฆา (เกาะนาคา - ผู้เรียบเรียง)

กองทัพของเคดาห์ ตาลีบง สงขลาแยกกันออกเรือไปจากเอโกร์นาฆา เรือของเตอมึงฆงเกิดรั่วอย่างแรงต้องช่วยกันพยุงไปที่ช่องแคบเลเฮร์ (ช่องแคบระหว่างเกาะยาวใหญ่กับเกาะยาวน้อย-ผู้เรียบเรียง) ทำให้ขบวนกองทัพเรือต้องเสียรูป ครั้นตกคืนวันศุกร์ฤกษ์งามยามดีก็ยกกองทัพออกจากช่องแคบเลเฮร์เข้าไปใกล้ตันณงณัมบู (คือ แหลมยามู-ผู้เรียบเรียง) ระหว่างทางเรือของเตอมึงฆงเกิดรั่วเหมือนเก่าอีก เช้ามืดต้องแวะเข้าแอบอยู่เกาะปอนาฆา (เกาะนาคา-ผู้เรียบเรียง) พอใกล้สว่างก็พายเรือเข้าไปใกล้ตันณงณัมบู ส่วนกองทัพพม่านั้นพอฟ้าสว่างก็ยกขบวนไปที่ค่ายแล้วยิงปืนใหญ่เข้าใส่ก่อน เท่าที่มองเห็นพม่ามีเรือรบ ๑๙ ลำ เป็นเรือว่างเปล่า เพราะผู้คนนั้นไปรวมกันอยู่ในค่าย พม่าสร้างค่ายห้าแห่งเรียงกันอยู่บนภูเขาและติดปืนใหญ่ไว้พร้อม กองทัพไทยยกพลไปถึงชายหาดก็ระดมยิงไปที่ค่ายพม่าแตกกระเจิง---”

เรื่องราวตอนนี้เป็นเรื่องราวที่เมืองถลางถูกพม่ายึดครองไว้แล้ว แต่ก็แสดงถึงยุทธวิธีของพม่าที่ตั้งปืนใหญ่ไว้บนภูเขาแล้วยิงลงมา

เอกสารฝ่ายมลายูยังได้กล่าวถึงอีกตอนหนึ่ง เล่าถึงพม่าเผาเมืองถลางว่า

“----มลายูและสยามถอยทัพไปตั้งหลักที่ เกาะญอร์ (เข้าใจว่าเกาะยาว-ผู้เรียบเรียง) พักทัพที่นั่นได้หนึ่งวัน คืนวันนั้นก็เห็นเพลิงลุกโชติตรงกลางเมืองถลาง รุ่งเช้าเมื่อพายเรือไปที่เกาะเปอนาฆา จึงทราบจากพวกถลางที่หนีนั้นว่า พม่าเผาเมืองถลางจนเสียหายแล้ว กองทัพเรือท้อใจมาก เพราะหวังว่าจะได้รับกำลังสนับสนุนจากกองทัพบก รอกันจนนานจนถึงสี่สิบวันแล้วยังไม่มีใครมาเสบียงก็ไม่มีเพิ่มจึงจำต้องถอยตัว กองเรือนครศรีธรรมราชและข้าหลวงนั้น ชวนกันกลับโดยไม่บอกใครเลย ทำให้กองกำลังจากตาลีบง สงขลา และเคดาห์ น้อยใจ ประกอบกับข้าวสารก็หมดและหลายคนต้องอดอยากจึงยิ่งท้อแท้หมดกำลังใจแต่พอไปถึงเกาะปัญฌัง (เข้าใจว่าเป็นเกาะลันตา-ผู้เรียบเรียง) ก็ได้พบเรือเสบียงที่นั่น เมื่อได้อาหารพอเพียงก็ยกกำลังกองเรือย้อนกลับไปที่เกาะเมอรูวะ (เกาะละวะ-ผู้เรียบเรียง) อีกครั้ง พยายามวางแผนหาลู่ทางที่จะเข้าไปช่วยถลาง แต่ติดขัดอยู่ที่ต้องรอกองทัพบกไปถึงเสียก่อน รอนานยี่สิบวันยังไม่มีกำลังทหารจากกองทัพบกไปถึงที่นั่น---”

วิเคราะห์ตามยุทธนาการที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ก็จะเห็นว่า เมืองถลาง ที่ถูกพม่าทำลายลงใน พ.ศ.๒๓๕๒ นั้น ตั้งอยู่ที่ฟากตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะ คือส่วนที่เป็น”เมืองถลางบางโรง” มิได้ตั้งอยู่ตามฟากตะวันตกดังเช่นที่เคยเข้าใจกันมาแต่เดิม

กล่าวแล้วว่า พม่าตีเมืองถลางเมื่อ พ.ศ.๒๓๕๒ นั้น ได้ว่าจ้างทหารฝรั่งเศสให้มาช่วยรบด้วย ปรากฏหลักฐานตามจดหมายเหตุของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสชื่อ มองซิเออร์ราโบ เขียนถึง มองซิเออร์เรกเตนวาลต์ ที่เกาะปีนัง เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ค.ศ.๑๘๑๐ (พ.ศ.๒๓๕๓) ความว่า

“ที่เกาะหมากคงจะได้ทราบข่าวกันแล้ว ในเรื่องที่พม่าได้เผาเมือง และเผาป้อมที่เมืองภูเก็ต ข่าวนี้เป็นข่าวที่จริง พม่าได้มาล้อมเมืองภูเก็ตอยู่ ๔ อาทิตย์ ไทยกับพม่าได้สู้รบกันอย่างสามารถ ได้ล้มตายเป็นอันมากทั้งสองฝ่าย จนผลที่สุดพม่าได้แหกเข้าเมืองได้ จึงได้เอาไฟเผาป้อม ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของชาวเกาะภูเก็ตเสียหมดสิ้น พวกชาวบ้านได้ถูกอาวุธตายบ้างก็มี พม่าได้จับชาวเมืองเป็นเชลยก็มาก แต่โดยมากพวกพลเมืองได้แตกหนีเข้าป่าหมด

ส่วนตัวข้าพเจ้านั้น ได้มาถึงเมืองภูเก็ตเมื่อวันเสาร์ เวลา ๒ ยาม รุ่งขึ้นได้ทราบว่าจะเกิดรบกันขึ้นแล้ว และว่าพม่าได้ลงจากเรือขึ้นบกมาแล้ว ข้าพเจ้าจึงฉวยหนังสือสวดมนต์กับเครื่องยาถุงหนึ่งซึ่งข้าพเจ้ามีติดตัวอยู่เสมอสำหรับรักษาคนป่วยไข้ แล้วข้าพเจ้าก็ได้หนีเข้าไปอยู่ในป้อม ในเวลาที่พม่าล้อมเมืองอยู่นั้น ข้าพเจ้าได้พักอยู่ในป้อมตลอดเวลา และมีความหวาดหวั่นไม่หยุดเลย แต่โดยที่พระเป็นเจ้าได้ช่วยข้าพเจ้าหาได้ถูกบาดเจ็บไม่ ในระหว่างนั้นข้าพเจ้าได้เป็นธุระรักษาคนป่วยเจ็บ และเอาพระนามของพระเยซูเที่ยวสั่งสอนคนทั่วไป พระเป็นเจ้าได้โปรดให้คนเข้ารีต มีผู้ใหญ่ ๓ คน เด็กเล็ก ๆ ๒๐ คน ในผู้ใหญ่ ๓ คน นั้น เป็นพระสงฆ์เสีย ๒ คน ในคืนที่ข้าศึกจะตีป้อมแตกนั้น ข้าพเจ้าได้ให้น้ำมนต์แก่คนเหล่านี้เข้ารีตก่อนที่พม่าได้มาในป้อม

เมืองถลาง ซึ่งดำรงความมั่งคั่งสมบูรณ์สืบกันมาไม่น้อยกว่า ๔๐ ปี นับแต่แผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี จนถึงพ.ศ. ๒๓๕๒ ต้องถูกพม่าทำลายลงด้วยกำลังพลรบมหาศาล ถึง ๑๒,๐๐๐ คน เรือรบกว่า ๒๐๐ ลำ เหลือกำลังที่ชาวเมืองเล็ก ๆ อย่าง ถลางจะสามารถต่อต้านไว้ได้ แม้จะมีอาวุธร้ายคือปืนใหญ่ ปืนหลัก และปืนเล็กไม่น้อยกว่า ๒๐๐ กระบอกประกอบด้วยเชิงยุทธการที่เข้มแข็งแต่ก็ต้องพ่ายแพ้แก่กำลังพลมหึมาผสมด้วยยุทธวิธีอันเด็ดขาดที่ไทยได้ใช้มาก่อน นั่นคือ การลำเลียงปืนใหญ่ขึ้นตั้งไว้บนภูเขา แล้วยิงระดมใส่ลงในตัวเมืองทำลายทั้งทรัพย์สินและขวัญของทหารให้หมดสิ้นลงถึงกับต้องยอมจำนนในการศึกเพื่อรักษาชีวิตราษฏรทั้งเด็กเล็กผู้ใหญ่และคนชราเอาไว้ตามธรรมเนียมประเพณีการสงครามสมัยก่อน

พระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง พระยาถลาง พร้อมด้วยครอบครัว และบริวารตลอดจนขุนนางคนสำคัญของเมืองถลาง ถูกพม่าจับตัวกวาดต้อนเอาไปยังกรุงอังวะ ตามกฎแห่งการทำสงครามแห่งสมัยนั้นเช่นเดียวกัน

ชาวถลางชั้นไพร่ ข้าทาส และสามัญชน ต่างบ้านแตกสาแหรกขาด หลบหนีทหารพม่าเข้าป่าเข้าดงไปจนเกือบจะหมดแผ่นดิน

ครั้นกองทัพไทยยกออกมาเพื่อขับไล่พม่าที่กำลังเข้ายึดครองเมืองถลางอยู่ พม่าเห็นว่าจะสู้กองทัพหลวงของไทยไม่ได้ ก็ทำการเผาเมืองถลางที่ยึดไว้นั้นเสีย แล้วพากันหลบหนีกลับไป ทิ้งแต่เพียงซากเมืองถลางที่มอดไหม้ไว้ให้แก่ไทย

ล่วงถึงปี พ.ศ. ๒๓๗๐ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเห็นความสำคัญของการค้าขายและการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างแข็งขัน ทรงพระราชดำริว่า เมืองถลางเคยรุ่งเรืองและมั่งคั่งสมบูรณ์มาก่อนเนื่องจากเป็นแหล่งแร่ดีบุกที่สำคัญ สามารถทำเป็นสินค้าขาออก ที่นำผลประโยชน์มาสู่ประเทศได้เป็นอย่างดี กลับต้องมาเป็นเมืองร้างไร้ผู้คนเข้าไปทำมาหากินขุดหาแร่ดีบุกอย่างเป็นล่ำเป็นสันเหมือนแต่ก่อนมา จึงโปรดให้มีการฟื้นฟูขึ้นใหม่ โดยชักชวนชาวถลางเดิมที่ละทิ้งถิ่นฐานไปอาศัยอยู่ ณ ฟากฝั่งพังงา ให้กลับมาตั้งถิ่นฐานยังบ้านเดิมที่เมืองถลางอีกครั้งหนึ่งเมืองถลางจึงก่อขึ้นใหม่เรียกว่า “เมืองถลางใหม่” หรือ “เมืองใหม่” ฝังหลักเมืองลงในพื้นที่ราบกว้างทางส่วนเหนือของเกาะถลาง ริมคลองเมืองใหม่ ซึ่งไหลไปออกทะเลทางทิศตะวันเหนือ บริเวณที่เรียกขานกันต่อมาว่า “ท่ามะพร้าว”

ระหว่างเวลาก่อนจะได้รับการฟื้นฟูใหม่นั้น บ้านเมืองแตกแยกระส่ำระส่าย ผู้คนอพยพด้วยกลัวภัยพม่ากระจัดกระจายไปอยู่หลายแห่ง เช่น พังงา และกระบี่ เป็นต้น ส่วนในเมืองถลางเองนั้นมีขุนนางเชื้อสายแขกมัทราษฎร์อยู่คนหนึ่งคือ หลวงล่าม ไม่ได้หนีออกจากเมืองถลางไปอยู่ ณ ที่แห่งใด จึงรวบรวมผู้คนเท่าที่เหลืออยู่ขณะนั้น ตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้นตามเหตุการณ์ที่จำเป็น แล้วขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งยังมีกำลังเข้มแข็งอยู่เจ้าพระยานครศรีธรรมราชจึงตั้งให้หลวงล่าม แขกมัทราษฎร์ผู้นี้เป็น พระถลาง (เจิม) เจ้าเมืองถลาง (สุนัย ราชภัณฑารักษ์,ภูเก็ต, พ.ศ. ๒๕๑๗ หน้า ๑๕๘)

ชาวถลางส่วนใหญ่หนีออกจากเมืองถลางข้ามฟากไปทางพังงา แล้วรวมกลุ่มก่อตั้งบ้านเมืองขึ้นใหม่ที่ริมแม่น้ำพังงา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาถลางบุญคง ออกมาเป็นที่พระยาถลาง ซ่องสุมรวบรวมผู้คนไว้ได้ตั้งเป็นถิ่นฐานบ้านเรือนลง ชาวถลางได้ดำรงชีวิตสืบสายเลือดถลางยังดินแดนใหม่ต่อมา ร่วม ๑๘ ปี (ประชุมพงศาวดาร ภาค ๒ สำนักพิมพ์ก้าวหน้า พ.ศ.๒๕๐๖ เล่ม ๑ หน้า ๕๐๓)

ครั้นต่อมาประมาณ พ.ศ. ๒๓๗๐ ในรัชกาลที่ ๓ ได้โปรดยกเมืองถลางกลับเป็นหัวเมืองขึ้นกรุงเทพ ฯ ตามเดิม พระถลางเจิมก็คงจะได้เลื่อนเป็นพระยาถลางสืบต่อมา

ฝ่ายเมืองภูเก็ต พงศาวดารไม่ได้ชี้ชัดไว้มากนัก กล่าวเพียงว่า “หลวงภูเก็จข้างคดเป็นเจ้าเมือง แล้วได้นายศรีชายนายเวรเป็นพระภูเก็จ แล้วได้มาบิดาหลวงปลัดอุด”(พงศาวดารเมืองถลาง,ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒ อ้างแล้วหน้า ๔๙๙)

ย้อนความไปยังปี พ.ศ.๒๓๓๒ ซึ่งพระยาทุกราช (เทียน) ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาถลาง (ตามเอกสารจดหมายเหตุเมืองถลาง ศวภ.๓๙) ย่อมแสดงว่าตำแหน่งเจ้าเมืองภูเก็จจะต้องว่างลง ฉะนั้นผู้จะเป็นเจ้าเมืองภูเก็จในขณะนั้นก็น่าจะเป็น หลวงภูเก็จข้างคด ตามที่พงศาวดารกล่าวถึง หลังจากสิ้นสมัยหลวงภูเก็จข้างคด ก็จะเป็นสมัยของนายศรีชายนายเวรได้เป็นพระภูเก็จสืบต่อมา สิ้นสมัยนายศรีชายนายเวรซึ่งเป็นพระภูเก็จ เมืองถลางถูกพม่าตีแตก พร้อม ๆ กับเมือง ภูเก็จก็ถูกทำลายด้วยในช่วงแห่งความระส่ำระส่ายนี้ เมืองภูเก็จจึงได้แก่บิดาหลวงปลัดอุด ซึ่งวิเคราะห์ตามคำให้การชาวถลางแล้ว เห็นว่าไม่ค่อยจะมีผู้รู้จักชื่อเสียงเรียงนามดีนัก

เมื่อหลวงล่ามเจิม ได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นพระยาถลางในรัชกาลสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระยาถลางเจิม มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อแก้ว ซึ่งสุนัย ราชภัณฑารักษ์ สันนิษฐานไว้ว่า

“----จึงอาจเป็นได้ว่า เมื่อพระยาถลางเจิมได้เลื่อนเป็นพระยาถลางขึ้นกรุงเทพฯแล้ว ก็คงจะได้คิดอ่านตั้งเมืองภูเก็จเป็นเมืองขึ้นของเมืองถลางขึ้นมาใหม่ โดยให้บุตรชายชื่อแก้วออกไปเป็นเจ้าเมือง---”(สุนัย ราชภัณฑารักษ์. ภูเก็ต. พ.ศ. ๒๕๑๗ หน้า ๑๖๕)

พระยาถลางเจิม เป็นคนไทยเชื้อสายแขกมัทราษฎร์ มีความคิดอ่านโน้มเอียงไปทางทำมาค้าขายตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ซึ่งได้เดินทางจากประเทศอินเดียมาสู่ราชอาณาจักรสยาม ฉะนั้นจึงไม่เป็นการแปลกแต่อย่างใดในการที่ครอบครัวของพระยาถลางเจิม ผู้คุ้นเคยกับกิจการของบ้านเมืองถลางมาก่อน ตั้งแต่สมัยที่เมืองถลางกำลังรุ่งเรืองด้วยการค้าแร่ดีบุก จนกระทั่งเมืองถลางล่มสลายลงเพราะฝีมือพม่า จะรู้ลึกซึ้งถึงแหล่งแร่ดีบุกสำคัญของเกาะถลางว่ามีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในบริเวณที่เป็นเมืองภูเก็จ คือบ้านสะปำ, บางคู, สามกอง และกะทู้

ด้วยเหตุนี้เอง จึงสนับสนุนให้นายแก้ว ผู้บุตรชายได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองภูเก็จ นายแก้วได้รับบรรดาศักดิ์ เป็น พระภูเก็จโลหเกษตรารักษ์ ตั้งสำนักว่าราชการเมืองอยู่กลางบริเวณอันเป็นแหล่งแร่ดีบุกมหาศาลที่หมู่บ้านในตำบลกะทู้ ซึ่งต่อมาชาวจีนได้ขนานนามใหม่ว่า “บ้านเก็ตโฮ่” หรือ “เกียดโห” ตามเหตุการณ์ในสมัยหลัง หมู่บ้านนี้อยู่ริมคลองบางใหญ่ ซึ่งตั้งต้นที่เทือกเขานาคเกิด ไหลคดเคี้ยวผ่านที่ราบกว้างของหมู่บ้านกะทู้, หมู่บ้านสามกอง, หมู่บ้านทุ่งคา ออกสู่ทะเลอ่าวภูเก็จทางทิศตะวันออก เรือกำปั่นสามารถแล่นเข้าไปรับส่งสินค้าได้ตั้งแต่ปากน้ำอ่าวภูเก็จตลอดไปจนถึงหมู่บ้านเก็ตโฮ่ ที่สำนักราชการของเจ้าเมืองตั้งอยู่. นับเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมแก่การตั้งเมืองในสมัยก่อนนั้นมาก


 
 
  

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( พุธ, 28 มีนาคม 2018 )