ภูเก็ตสมัยรัชกาลที่ ๑
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
ศุกร์, 15 กุมภาพันธ์ 2008
ภูเก็ตยุครัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ ๑ :ประสิทธิ ชิณการณ์
(จถล.2322)


สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

 

(ช่วงรัชกาลที่ ๑) ครั้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติ ณ กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๕ แล้วได้ทรงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งภายในพระนคร และหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อความเหมาะสม จนถึงปี พ.ศ.๒๓๒๗ ทรงเห็นว่าหัวเมืองฝ่ายใต้ ได้แก่ เมืองนครศรีธรรมราช และเมืองบริวารหลายเมืองไม่เต็มใจถวายความจงรักภักดีตามควรแก่เหตุการณ์จึงโปรดให้ขุนนางใหญ่ (เข้าใจว่าคงเป็นพระยาธรรมไตรโลก) เชิญสารตราตั้งออกมาแต่งตั้งเจ้าอุปราช (พัฒน์) อันเป็นบุตรเขยเจ้านคร (หนู) ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช แต่ให้มียศเพียงเจ้าพระยาตามประเพณีเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ส่วนเจ้านคร (หนู) ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าประเทศราชแต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น ทรงโปรดให้ถอดออกเสียจากตำแหน่งพระเจ้านครศรีธรรมราช ให้กลับเข้าไปอยู่กรุงเทพฯ

ฝ่ายพระยาธรรมไตรโลก ซึ่งเลื่อนขึ้นกินตำแหน่งเจ้าพระยาฦาราชนิกูล พร้อมด้วยพระยาพิพิธโภคัย นั้นเมื่อได้จัดการมอบเมืองนครศรีธรรมราชให้แก่เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ฯ คนใหม่แล้วก็เดินทางมายังเมืองตะกั่วทุ่ง เพื่อถอดถอนเจ้าพระยาอินทวงศา ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตกอีกด้วย

 

เจ้าพระยาอินทวงศา ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตก และพระยาสุรินทราชาพระยาพิมลขันนั้นเป็นขุนนางผู้ถวายความภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอย่างสูงสุดเช่นเดียวกับพระยาพิชัยดาบหัก โดยเฉพาะเจ้าพระยาอินทวงศานั้นมีตำแหน่งสูงสุดในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถึงชั้นอัครมหาเสนาบดี การที่จะเปลี่ยนใจกระทันหันมาถวายความภักดีต่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่นั้น ย่อมไม่อาจจะกระทำได้โดยง่าย ฉะนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจระหว่างการยิมยอมให้พระยาธรรมไตรโลก ผู้เป็นแม่ทัพใหญ่ มีอำนาจอาญาสิทธิเด็ดขาด เกาะกุมเอาตัวไป หรือกระทำการต่อสู้เพื่อป้องกันตัวอันเป็นการเสี่ยงต่อการถูก "จับตาย" เจ้าพระยาอินทวงศาจึงเลือกเอาวิธีอย่างอื่นคือกระทำอัตนิวิบาตกรรมก่อนที่จะถูกจับตาย พระยาสุรินทราชา พระยาพิมลขัน เจ้าเมืองถลางก็ยอมฆ่าตัวตายเพื่อมิให้ได้ชื่อว่าเป็น "ข้าสองเจ้าบ่าวสองนาย" และได้ถึงแก่อนิจกรรมลง ณ เมืองถลาง ก่อนหน้าที่พม่าจะเข้าโจมตีเพียงประมาณ ๑ เดือน คงเหลือเพียงท่านผู้หญิงจันกับ เมืองภูเก็จ (เทียน) เจ้าเมืองภูเก็จและเครือญาติที่ยอมโอนอ่อนผ่อนปรนเข้าอยู่ในบังคับบัญชาของพระยาธรรมไตรโลก ผู้สำเร็จราชการเมืองถลางกับทั้งหัวเมืองฝั่งตะวันตกทั้ง ๘ หัวเมืองแต่โดยดี

พระยาธรรมไตรโลก แต่งตั้งให้พระยาทุกราช (ทองพูน) ตำแหน่งกรมการปลัดเมืองถลางแต่ครั้งพระยาสุรินทราชา พระยาพิมลขัน ขึ้นเป็นผู้ว่าราชการเมืองถลาง ปรากฏหลักฐานตามเอกสารจดหมายเหตุเมืองถลาง ฉบับลงวันที่ ๒๗ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๒๘ วันอาทิตย์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะเส็ง สัพศก จุลศักราช ๑๑๔๗ ความตอนหนึ่งว่า ดังนี้

"ออกหลวงเพชรภักดีศรีพิไชยสงคราม ยุกรบัตร บอกมายังท่านพระยาราชกปิตัน ด้วยท่านพระยาทุกราช ผู้ว่าราชการเมืองถลาง สั่งว่า ด้วยให้นายทองดีหลานท่านคุมเอาสิ่งของท่านพระยาราชกปิตันเข้าไปทูลเกล้า ฯ ถวาย มีตรารับสั่งตอบออกมาข้อหนึ่งว่า ได้ส่งตัวอย่างพระกระบวร ให้ท่านพระยาราชกปิตันคุมออกไปทำ ณ เมืองเทศ และให้เชิญท่านพระยาราชกปิตันมาฟังตรารับสั่ง ณ วัดนาล่าง หนังสือมา ณ วันอาทิตย์ เดือนสิบสอง แรมสิบเอ็ดค่ำ จุลศักราชพันร้อยสี่สิบเจ็ด ปีมะเส็งสัพศก"

พระยาราชกปิตัน (กัปตัน ฟรานซิส ไลท์) นำกองเรือสินค้าอังกฤษแวะเข้ามาทำการค้าขายที่เมืองถลาง ตั้งแต่พ.ศ.๒๓๑๕ สนิทสนมกับครอบครัวพระยาสุรินทราชา พระยาพิมลขัน และท่านผู้หญิงจันเป็นอย่างดียิ่ง ครั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองขึ้นกับเมืองถลาง ก็เห็นเป็นการไม่สะดวกที่จะอยู่เมืองถลางต่อไป ประกอบกับมีความขัดแย้งกับพระยาธรรมไตรโลกด้วยเรื่องดีบุกจำนวนหนึ่งร้อยภารา ซึ่งรับพระราชทานเป็นทุนสำรองมาจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชครั้งแผ่นดินธนบุรี เพื่อจัดหาซื้อปืนจากประเทศยุโรป และภารกิจอันนั้นได้เสร็จสิ้นลงแล้ว แต่พระยาธรรมไตรโลกยังกล่าวหาว่า พระยาราชกปิตัน คงค้างเงินค่าดีบุกจำนวนนี้อยู่ กับอีกประการหนึ่ง พระยาราชกปิตันมีพ่อค้าบริวารที่เดินเรือระหว่าง ตะนาวศรี ทวาย มะริด และเมืองถลางอยู่ประจำ ได้ข่าวเป็นที่แน่นอนว่า พม่ากำลังสะสมเสบียงและเตรียมกำลังทัพเพื่อที่จะยกมาตีเมืองถลางในเวลาที่ไม่นานนัก หากพระยาราชกปิตันอยู่ยังเมืองถลาง ก็คงจะถูกท่านผู้หญิงจันขอร้องให้ช่วยรบ พม่า ซึ่งเป็นการเสี่ยงต่อความพ่ายแพ้มากกว่าชนะ เนื่องจากคาดคะเนว่า เมืองถลางกำลังขัดแย้งกันอยู่กับแม่ทัพจากกรุงเทพฯ คือพระยาธรรมไตรโลก และกองกำลังฝ่ายไทยมีจำนวนน้อย คงไม่อาจเอาชนะพม่าซึ่งยกมาเป็นทัพใหญ่ได้แน่นอน ฉะนั้นพระยาราชกปิตัน จึงรีบทวงหนี้จากเมืองถลาง ซึ่งก็ไม่ได้สมตามที่ใจคิดแต่แม้ไม่ได้หนี้สินคืนอย่างที่ต้องการ พระยาราชกปิตัน ก็รีบเร่งออกกองเรือสินค้าถอยจากเมืองถลางไป ก่อนที่กองทัพพม่าจะเข้ามาถึง จุดหมายของพระยาราชกปิตันที่ไปคือ บังคลาเทศ หรือเมืองมังค่า ตามที่ปรากฏในจดหมายเหตุเมืองถลางสมัยนั้น.

พ.ศ. ๒๓๒๘ เมื่อพม่ายกมาตีได้เมืองตะกั่วป่า เนื่องจากเมืองนี้มีพลเมืองน้อยไม่อาจต้านทานกองทัพได้ เจ้าเมืองจึงอพยพผู้คนหนีศึกละทิ้งเมืองเข้าป่า พม่าก็กวาดต้อนเอาทรัพย์สิน และปืนใหญ่น้อยเข้าเป็นของตน แล้วยกลงมาถึงค่ายปากพระซึ่งเจ้าพระยาฦๅราชนิกูล พระยาธรรมไตรโลก และพระยาพิพิธโภไคย ตั้งกำลังรักษาอยู่ พระยาธรรมไตรโลก ในฐานะผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตกบังคับบัญชาเมืองถลาง จึงเกาะเอาตัวท่านผู้หญิงจันจากเมืองถลางไปไว้ที่ค่ายปากพระ ละทิ้งเมืองถลางให้ผู้คนอพยพหนีเข้าป่า

พม่าเข้าโจมตีค่ายปากพระ พระยาธรรมไตรโลก และพระยาพิพิธโภไคย สู้ไม่ได้ต้องหลบหนีไปทางเมืองพังงา ในพงศาวดารเมืองถลางให้ถ้อยคำว่า พระยาธรรมไตรโลกตาย ในสนามรบ แต่ความจริงปรากฏตามเอกสารจดหมายเหตุเมืองถลาง ในปีพ.ศ.๒๓๓๐ ว่า พระยาธรรมไตรโลกยังมีชีวิตอยู่และถูกลงโทษด้วยคดีฉ้อฉลพระยาราชกปิตันเกี่ยวกับเงินค่าดีบุกหนึ่งร้อยภาราที่สมเด็จพระเจ้าตากสินพระราชทานแก่พระยาราชกปิตัน( ศวภ.๓๓)

เมื่อค่ายปากพระเสียแก่พม่า และแม่ทัพใหญ่หนีไปทางฝั่งตะวันออก ท่านผู้หญิงจันและบริวารจำต้องถอยกลับมายังเมืองถลางเพื่อตั้งหลักสู้ใหม่

ตามที่ได้เล่าขานกันว่าท่านผู้หญิงจันและทหารเมืองถลางได้สร้างค่ายเป็นพิเศษขึ้นต่อสู้กับพม่าเป็นพิเศษนั้น เมื่อศึกษาข้อเท็จจริงแล้ว เป็นเรื่องที่ไม่อาจเป็นไปได้ เนื่องจากท่านผู้หญิงจันทราบข่าวศึกจากพระยาราชกปิตัน ในเดือนอ้าย ปีมะเส็ง ขณะที่พระยาสุรินทราชาพระยาพิมล (ขัน) กำลังป่วยหนักอยู่แล้วก็ถึงแก่อนิจกรรมลง หลังจากนั้นพระยาธรรมไตรโลกก็มาเกาะเอาตัวท่านผู้หญิงจันและบริวารไปยังค่ายปากพระ เมื่อแตกจากค่ายปากพระ ท่านผู้หญิงจันกลับมายังเมืองถลาง พม่าก็ยกกำลังติดตามมาและเข้าโจมตีในเดือน ๒ (บางแห่งว่าเดือนยี่ข้างแรม) นั่นเอง ไม่มีเวลาเหลือให้ท่านผู้หญิงจันและทหารเมืองถลางทำการสร้างค่ายได้ทัน ค่ายที่ใช้ในการต่อสู้จึงเป็น”ป้อมค่ายของเรเนอ แชร์บอนโน” เจ้าเมืองถลางชาวฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.๒๒๒๔ - ๒๒๒๘ สมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ยังคงเหลือซากให้พออาศัยใช้ต่อสู้พม่าได้เท่านั้น แต่อาศัยสติปัญญาในเชิงยุทธการ เช่น การล่อหลอกให้ข้าศึกเข้าใจผิดคิดว่าฝ่ายเมืองถลาง มีกำลังหนุนมาจากนครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นทุกวัน กับการใช้อาวุธปืนที่จัดซื้อไว้เพื่อส่งต่อไปยังกรุงเทพมหานคร แต่ยังรอมรสุมอยู่ กับปืนสำหรับรักษาเมืองถลางที่เจ้าเมืองทุกคนเอาใจใส่จัดซื้อไว้นั้น เข้าทำการระดมยิงด้วยยุทธวิธี “ปูพรม” ดังที่เรียกขานกันในสมัยนั้นว่า “พิรุณสังหาร” ทำให้ข้าศึกล้มตายลงอย่างไม่คาดคิดมาก่อน จนเสียขวัญ และไม่กล้าจู่โจมอีก ในที่สุดก็ต้องล่าถอยไปภายใน ๑ เดือน เป็นชัยชนะด้วยสติปัญญา ซึ่งเป็นความประหลาดใจของผู้คนทั่วไปอย่างยิ่ง เป็นบทเรียนของพม่าที่ได้นำมาแก้แค้นอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๓๕๒ และเป็นครั้งสำคัญที่เมืองถลางต้องเสียหายอย่างยับเยิน จนต้องทิ้งร้างอยู่นานถึง ๑๘ ปี (จาก พ.ศ.๒๓๕๒ ถึง พ.ศ.๒๓๗๐)

เสร็จศึกพม่าลงเมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีมะเส็ง สัพศก จุลศักราช ๑๑๔๗ ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ.๒๓๒๘ แล้ว กรมการเมืองถลางก็มีใบบอกเพื่อกราบทูลพระกรุณาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ตามความในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ว่าดังนี้

“ฝ่ายกรมการเมืองถลาง ครั้นทัพพม่าเลิกกลับไปแล้ว ได้ข่าวว่าทัพหลวงสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จพระราชดำเนินออกมาตีทัพพม่าทางบกแตกไปสิ้นแล้ว จึงบอกข้อราชการมากราบทูลพระกรุณาขณะเมื่อทัพหลวงยังเสด็จอยู่ที่เมืองสงขลาฉบับ ๑ บอกเข้ามากราบทูลพระกรุณา ณ กรุงเทพพระมหานครฉบับหนึ่ง และขณะที่สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จกลับเข้าถึงพระนครแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชโองการโปรดใช้มีตราออกไปยังเมืองถลาง ตั้งกรมการผู้มีความชอบในการสงครามเป็นพระยาถลางขึ้นใหม่ แล้วโปรดตั้งจันทร์ภรรยาพระยาถลางเก่า ซึ่งออกต่อรบพม่านั้นเป็นท้าวเทพสตรี โปรดตั้งมุกน้องหญิงนั้นเป็นท้าวศรีสุนทร พระราชทานเครื่องยศโดยควรแก่อิสตรีทั้ง ๒ คน ตามสมควรแก่ความชอบในการสงครามนั้น แล้วโปรดตั้งให้หลวงสุวรรณคีรีเป็นพระยาสงขลา----” (พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร อนุญาตให้สำนักพิมพ์คลังวิทยาพิมพ์ พ.ศ.๒๕๐๕ หน้า ๑๒๗-๑๒๘)

แต่พระราชพงศาวดาร ฯ มิได้มีรายละเอียดถึงสำเนาสารตราตั้ง และไม่มีรายชื่อเจ้าเมืองถลางซึ่งได้รับการแต่งตั้งใหม่นั้น แต่ประการใด

ขุนนรภัยพิจารณ์ (ไวย์ ณ ถลาง) ผู้เรียบเรียงประวัติตระกูล ณ ถลาง ได้เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า

“---ครั้นถึงปีมะเมีย อัฐศก ศักราช ๑๑๔๘ (ตรงกับ พ.ศ.๒๓๒๙) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ให้มีท้องตราออกมาเมืองถลางตั้งผู้มีความชอบในการสงครามดังนี้ คือ โปรดเกล้า ฯ ให้นายทองพูนบุตรชายคนที่ ๓ ของจอมทองคำ เป็นพระยาถลางว่าราชการเมืองถลางต่อไป--- ” (ขุนนรภัยพิจารณ์, ประวัติตระกูล ณ ถลาง, พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์เอกพระยาภักดีพิพัฒนผล (เจริญ ณ ถลาง) พ.ศ.๒๔๙๙ หน้า ๑๗)

ความข้อนี้สอดรับกับพงศาวดารเมืองถลาง ในประชุมพงศาวดาร ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า

“---ขุนนางเมืองถลางนั้น จอมเถ้าอยู่บ้านดอน จอมร้างอยู่บ้านตะเคียน จอมเถ้ากับจอมร้างเป็นลูกพ่อเดียวกันคนละมารดา ลูกหลานมะหุมอยู่บ้านดอนได้เป็นพระยาถลางเจียดทอง---”(ประชุมพงศาวดาร, ก้าวหน้า พ.ศ.๒๕๐๖ เล่ม ๑ หน้า ๔๙๗)

หนังสือ “ประวัติตระกูล ณ ถลาง” ของขุนนรภัยพิจารณ์ (ไวย์ ณ ถลาง) ยังได้กล่าวเนื้อความต่อไปอีกว่า

“เมื่อมีชัยชนะแก่ข้าศึกพม่าแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรัชกาลที่ ๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นพระยาถลางว่าราชการเมืองถลางต่อไป จึงเป็นอันว่าบรรดาข้าราชการในเมืองถลางตั้งแต่เดิมมาเพิ่งจะมีพระยาถลาง (ทองพูน) นี้เป็นคนแรกที่ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ในกาลครั้งนั้น จึงจัดว่าเมืองถลางได้มีเกียรติยศฟุ้งเฟื่องขึ้นเสมอหัวเมืองชั้นใน----” (ประวัติตระกูล ณ ถลาง, อ้างแล้ว, หน้า ๒๔)

ในตอนต้นได้กล่าวถึงคุณทองพูน บุตรจอมเฒ่า (หรือจอมทองคำ) บ้านดอน ไว้แล้วว่า ครั้งที่พระยาสุรินทราชาพระยาพิมล (ขัน) มาเป็นเจ้าเมืองถลางเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๙ นั้น คุณทองพูน ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นพระยาทุกราช กรมการเมืองถลาง ที่ปลัดเมือง ครั้นพระยาสุรินทราชาพระยาพิมล (ขัน) ถูกถอดถอนออกจากราชการเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พระยาธรรมไตรโลก ผู้เป็นแม่ทัพใหญ่ ก็ได้แต่งตั้ง พระยาทุกราช (ทองพูน) ขึ้นเป็นผู้ว่าราชการเมือง ถลาง ในปี พ.ศ.๒๓๒๗ ครั้นเกิดศึกพม่าขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๒๘ พระยาทุกราช (ทองพูน) ท่านผู้หญิงจัน และเมืองภูเก็จ (เทียน) ก็ได้ร่วมกันต่อสู้พม่าจนเลิกทัพกลับไป สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทจากใบบอกของกรมการเมืองถลาง ถึงชัยชนะต่อพม่า ซึ่งควรแก่การพระราชทานปูนบำเหน็จแก่ผู้มีความชอบในการสงคราม และโดยเหตุที่ท่านผู้หญิงจัน กับคุณมุกนั้น แม้จะมีความสามารถสูงส่งในการรวบรวมผู้คนและอำนวยการรบด้วยยุทธวิธีที่ล้ำเลิศ จนสามารถขับไล่พม่าให้ถอยกลับไป แต่เนื่องจากสถานภาพเป็นสตรีเพศ ซึ่งไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ชาติไทยว่า ได้รับการยกย่องให้เป็นถึงเจ้าเมือง ก็ต้องให้เป็นไปตามประเพณีดั้งเดิมที่เคยปฏิบัติสืบทอดกันมา จึงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าให้ได้เป็น “ท้าวเทพกระษัตรี” ซึ่งนับว่าเป็นเกียรติยศสูงส่งอันหาได้ยากเช่นกัน ส่วน เมืองภูเก็จ (เทียน) บุตรชายท้าวเทพกระษัตรีนั้น เนื่องจากยังมีอายุน้อยอยู่ และยังมีญาติผู้ใหญ่ คือ พระยาทุกราช (ทองพูน)ผู้ว่าราชการเมืองถลาง เป็นผู้ประกอบความดีในการสงครามเป็นที่ปรากฏอยู่อีกคนหนึ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ เมืองภูเก็จ (เทียน) เลื่อนยศและบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นพระยาทุกราช (เทียน) เป็นเจ้าเมืองภูเก็จ ตามเดิม และให้เป็นกรมการเมืองถลางในตำแหน่งปลัดเมืองอีกด้วยแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนพระยาทุกราช (ทองพูน) ผู้ว่าราชการเมืองถลางระหว่างสงครามพม่า ซึ่งยังไม่มีตราตั้งเป็นทางราชการให้มีตราตั้งขึ้นใหม่โดยให้เจ้าพระยาสุรินทราชา (จัน) เป็นผู้อัญเชิญสารตราตั้งออกมาจากกรุงเทพมหานครมาถึงเมืองถลางเมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๙ และทรงแต่งตั้งให้เจ้าพระยาสุรินทราชา (จัน) เป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตกทั้ง ๘ หัวเมืองในคราวเดียวกันนั้นด้วย

พระยาถลาง (ทองพูน) จึงได้เป็นพระยา ถลางคนแรกที่ได้รับพระราชทานเจียดทอง และตราตั้งเป็นทางราชการ ซึ่งสันนิษฐานว่า คงจะมีราชทินนาม ว่า “พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม นิคมคามบริรักษ์ ฯ” แต่ไม่อาจจะค้นหาสำเนาตราตั้งได้ ถึงกระนั้นก็พอมีข้อสันนิษฐานเพิ่มเติมยืนยันได้อีกสถานหนึ่งนั่นคือ ราชทินนามนี้ได้เป็นราชทินนามสืบทอดแก่ขุนนางตระกูล ณ ถลาง ในโอกาสต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ ซึ่งได้มีการแต่งตั้งผู้ว่าราชการเมืองถลางขึ้นในบรรดาศักดิ์และราชทินนามว่า “พระยาณรงค์เรืองฤทธิประสิทธิสงคราม นิคมคามบริรักษ์ สยามพิทักษ์ภักดี (หนู)” ท่านผู้นี้มีฐานะเป็น “เหลน”ของพระยาณรงค์เรืองฤทธิประสิทธิสงคราม ฯ (ทองพูน) สมัย พ.ศ. ๒๓๒๙ (สุนัย ราชภัณฑารักษ์ ๒๕๑๗ : ๑๖๔ และบัญชีเครือญาติต้นตระกูล ณ ถลาง,หนังสือประวัติตระกูล ณ ถลาง, ขุนนรภัยพิจารณ์ ฯ อ้างแล้วหน้า ๒๖ )

เมืองภูเก็จ (เทียน) ผู้ได้รับเลื่อนยศขึ้นเป็นพระยาทุกราชเจ้าเมืองภูเก็ตและปลัดเมืองถลางในครั้งนั้นมีความปรารถนาและมีความหวังอันแรงกล้าที่จะได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองถลางปรากฏตามจดหมายที่มีไปถึงพระยาราชกปิตัน ที่เกาะปีนัง ในปีนั้นเอง ความว่า

“หนังสือท่านเจ้าเมืองภูเก็จผู้เป็นพญาทุกราช ให้มายังท่านพญาราชกปิตันด้วยท่านพญาราชกปิตันให้กปิตันสินทุกข้าวสารมาจำหน่ายให้แก่เจ้าคุณมารดาบ้างนั้น คุณของท่านพญาราชอยู่แก่ข้าพเจ้ามากหาที่สุดมิได้อยู่แล้ว แล้วข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้าของหลวง ณ เมืองสงขลาครั้งนี้ไปโดยขัดสน หามีของซึ่งจะเอาไปถวายเป็นอันมากไม่ ข้าพเจ้าได้แต่ดินอีหรอบไปถวายหีบหนึ่งกับปืนสุตันแปดกระบอก แล้วข้าพเจ้าอดษากราบทูลด้วยเงินหลวงซึ่งค้างอยู่แก่เจ้าคุณผู้ตาย แลภาษีดีบุก ซึ่งให้เรียกภาราชั่งนั้น ก็โปรดให้ซื้อขายเหมือนแต่ก่อน จึงมีรับสั่งว่าแก่ข้าพเจ้าว่า ให้ข้าพเจ้าเป็นพญาทุกราชออกไปก่อนเถิด เข้ามาครั้งหลังจึงจะให้เป็นพญาถลาง ออกไปนั้น ในของหลวงวังหน้าเห็นดูข้าพเจ้าเป็นอันมากอยู่ และ ณ เดือนสามข้างแรม ข้าพเจ้ากับเจ้าคุณมารดา จะเข้าไปเฝ้าของหลวง ณ กรุงเทพ แลจะไปทางเกาะตะลิโบง ให้โตกพญาท่านช่วยเห็นดูจัดเรือใหญ่ให้มารับสักลำ จะได้ให้เจ้าคุณมารดาขี่ไป แล้วตัวข้าพเจ้าจะไปกราบเท้าโตกพญาท่านให้เถิง ณ เกาะปุเหล้าปีนัง ให้โตกพญาท่านช่วยจัดปืนแลของจะได้เอาไปถวาย เพราะบุญของโตกพญาท่าน ข้าพเจ้าก็จะได้เป็นใหญ่ต่อไป แลอนึ่ง ณ เมืองถลางทุกวันนี้ ข้าพเจ้ากับเจ้าพญาถลางก็วิวาทกัน หาปกติกันไม่ แลข้าพเจ้าแต่งให้นายเพชร นายทองแก้ว นายทิดพรม มากราบเท้าโตกท่านบอกให้รู้ข่าวพลางก่อน ให้โตกพญาท่านช่วยจัดปืนน้อยอย่างดี ข้าพเจ้าจะถือยิงเองให้มาด้วยสักบอกหนึ่ง แล้วถ้าข้าพเจ้าเข้าไปบางเกาะครั้งนี้ เจ้านายโปรดสมความคิดออกมา เถิงมาทว่าโตกท่านจะต้องการดีบุกเมืองถลางมากน้อยเท่าใด ข้าพเจ้าไม่ให้ขัดสน ปราณีบัติมา ณ วัน (ลบเลือนอ่านไม่ได้) ปีมะเมีย อัฐศก. (จดหมายเหตุเมืองถลาง ฯ ศวภ. ๒๓)

วันเดือนปีในจดหมายฉบับนี้ลบเลือนด้วยตราตำแหน่งที่ประทับลงบนเลขบอกวันเดือนปีของจดหมายพอดี จึงอ่านไม่ได้ความว่าเป็นวันอะไร เดือนอะไร คงมีแต่ปีมะเมียอัฐศก ซึ่งเป็นจุลศักราช ๑๑๔๘ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๒๙ ที่มีการแต่งตั้งเจ้าเมืองถลางขึ้นใหม่ หลังสงครามพม่า

อนึ่ง ตามวิธีปฏิบัติในการเขียนจดหมายติดต่อกับพ่อค้าอังกฤษที่เมืองปีนังของขุนนางเมืองถลางสมัยนั้น มักจะเขียนในหน้ามรสุมลมสินค้า คือหลังฤดูฝนผ่านพ้นไปแล้ว เพื่อจะได้ฝากไปกับนายเรือกำปั่นที่เข้ามาเทียบท่าทำการขนถ่ายสินค้าจากยุโรป และอินเดียลงจำหน่ายที่เมืองถลางแล้วรับเอาสินค้าแร่ดีบุก และของป่า ผลิตภัณฑ์ทางทะเลจากเมืองถลางเป็นการแลกเปลี่ยนกลับออกไป ขุนนางเมืองถลางจึงถือโอกาสนี้เขียนจดหมายฝากไปถึงบุคคลที่รู้จัก หรือพ่อค้าที่เคยติดต่อซื้อขายกันมาก่อนยังเกาะปีนัง เพื่อส่งข่าวคราวหรือสั่งซื้อสินค้าที่ต้องการ ซึ่งจดหมายดังกล่าวนี้มักจะเขียนขึ้นในระยะเวลาที่พร้อมกันหรือใกล้เคียงกันเกือบทุกฉบับ ฉะนั้น วันเดือนปีที่ลบเลือนหายไปในจดหมายฉบับที่อ้างอิงข้างต้น จึงอาจเทียบเคียงค้นหาจากจากจดหมายฉบับอื่น ๆ ที่มีผู้เขียนขึ้นในช่วงเวลานั้นได้บ้าง เช่น จดหมายของท้าวเทพกระษัตรี ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ เดือน มีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๙ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะเมียอัฐศก จุลศักราช ๑๑๔๘ ไปถึงพระยาราชกปิตัน ความบางตอนมีว่า

“---แลอยู่ทุกวันนี้ ณ เมืองถลาง พม่าตีบ้านเมืองเป็นจุหลาจลอดข้าวปลาอาหารเป็นหนักหนา ตูข้ายกมาตั้งทำดีบุกอยู่ ณ ตะปำ ได้ดีบุกบ้างเล็กน้อยเอาซื้อข้าวแพงได้เท่าใดซื้อสิ้นเท่านั้น-----อนึ่งตูข้าจัดได้ดีบุกสิบภารา เป็นส่วนของเจ้าหลิบแปดภารา ส่วนตูข้าสองภาราจัดให้มาแก่ท่าน แลเจ้าหลิบนั้นได้แต่งให้จีนเฉี่ยวพี่ชาย แลตูข้าได้แต่งนายแช่มจีนเสมียนอิ่ว คุมเอาดีบุก ไปถึงท่านให้ช่วยซื้อข้าวให้ อนึ่งถ้าข้าว ณ เกาะปุเหล้าปีนังขัดสน ขอท่านได้ช่วยแต่งให้ผู้หนึ่งผู้ใดไปช่วยจัดซื้อข้าว ณ เมืองไซย ถ้าได้ข้าวแล้วนั้น ขอให้ท่านช่วยแต่งสลุปกำปั่นเอามาส่งให้ทัน ณ เดือนสิบเอ็ด เห็นว่าจะได้รอดชื่อเห็นหน้าท่านสืบไป เพราะใบบุญของท่าน และธุระซึ่งว่ามาทั้งนี้แจ้งอยู่แก่ใจกปิตันสินสิ้นแล้วทุกประการได้ว่าหนักใจมาเป็นหนักหนา หนังสือมา ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น สิบเอ็ดค่ำ เดือนห้า ปีมะเมียอัฐศก” (จดหมายเหตุเมืองถลาง, ศวภ. ๑๗)

จดหมายฉบับนี้ สันนิษฐานว่าคงจะเขียนขึ้นในเวลาเดียวกันกับจดหมายของพระยาทุกราชเจ้าเมืองภูเก็จ เล่าเรื่องสถานภาพทางเมืองถลางหลังสงครามพม่าว่าอดอยากขัดสนด้วยข้าวสารจะบริโภค และแจ้งแก่พระยาราชกปิตันว่า ท้าวเทพกระษัตรี พร้อมด้วยครอบครัวและบริวาร มิได้อยู่ที่เมืองถลางแล้ว แต่ได้ยกออกมาตั้งทำดีบุกอยู่ที่ตะปำ คือบ้านสะปำ บริเวณที่เมืองภูเก็จ บุตรชายได้ค้นพบแหล่งแร่ดีบุกขนาดใหญ่ จนได้รับพระราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นเจ้าเมืองใหม่ขึ้นในชื่อบรรดาศักดิ์ “เมืองภูเก็จ” ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กรุงธนบุรี สาเหตุที่ต้องยกออกมาอยู่ ณ บ้านสะปำ ก็เนื่องจากเหตุการณ์ตามจดหมายของ พระยาทุกราช ที่เขียนขึ้นในเวลาเดียวกันคือ “ ณ เมืองถลางทุกวันนี้ ข้าพเจ้ากับเจ้าพญาถลางก็วิวาทกัน หาปกติกันไม่ --” นั่นเอง การทะเลาะวิวาทกันระหว่างเจ้าพญาถลาง (ทองพูน) กับพระยาทุกราช (เทียน) ซึ่งมีศักดิ์และฐานะเป็นลุงกับหลานครั้งนี้ คงไม่มีเรื่องราวอื่นใด นอกจากเรื่องของการที่มีความประสงค์ตรงกันในตำแหน่งเจ้าเมืองถลางหลังสงครามพม่า ซึ่งผู้เป็นลุงได้รับแต่งตั้งจากทางราชการไปก่อนแต่หลานเพียงแต่ได้รับคำมั่นสัญญาจาก” ในของหลวงวังหน้าว่า ให้เป็นพระยาทุกราชออกไปก่อน เข้ามาครั้งหลังจึงจะให้เป็นพระยาถลางออกไป---” จึงกลายเป็นศึกสายเลือดเมืองถลางขึ้นอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่เคยเกิดขึ้น ตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อสิ้นบุญ “จอมร้าง” บิดาของท้าวเทพกระษัตรี

ท้าวเทพกระษัตรี - ท้าวศรีสุนทร และ พระยาทุกราช (เทียน) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองภูเก็จ และควบตำแหน่งกรมการปลัดเมืองถลางอยู่ด้วย มีความแตกแยกไม่ลงรอยกับพระยาณรงค์เรือง ฤทธิประสิทธิสงคราม (ทองพูน) เจ้าเมืองถลาง ชวนกันยกออกมาตังหลักทำดีบุกอยู่ที่บ้านสะปำในเขตเมืองภูเก็จ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีแร่ดีบุกอุดมสมบูรณ์ที่สุดในเกาะถลาง ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๒๙ เมื่อขุดหาแร่ดีบุกได้ ก็ส่งขายให้กับพ่อค้าชาวอังกฤษในสังกัดของพระยาราชกปิตัน ซึ่งไปเช่าเกาะปีนังจากพระยาไทรบุรี ตั้งเมืองขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.๒๓๒๙

แร่ดีบุก เป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้อย่างสำคัญแก่เกาะถลางและแก่เมืองไทยมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย และกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ยิ่งในสมัยที่กรุงธนบุรี พึ่งฟื้นตัวจากสงครามกู้ชาติ จำต้องเร่งรีบแก้ไขความอดอยากยากแค้นของประชาชน และพัฒนาเมืองด้วยแล้วพูดได้ว่าแร่ดีบุกมีความสำคัญยิ่งกว่าช้างเผือกที่เคยช่วยสามัญชนให้ได้เป็นเจ้าเมืองเสียด้วยซ้ำไป ครั้นล่วงถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งก็เป็นช่วงที่เมืองไทยต้องการเงินตราจากต่างประเทศเพื่อทนุบำรุงบ้านเมืองไม่ยิ่งหย่อนกว่าสมัยกรุงธนบุรี แร่ดีบุกก็ยังเป็นที่ต้องการของแผ่นดินอยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกัน เหตุนี้ การที่ท้าวเทพกระษัตรีและบุตรชาย ได้ยึดเอาแหล่งผลิตแร่ดีบุกขนาดใหญ่ของเกาะถลางไว้ในอำนาจปกครอง จึงเป็นการได้เปรียบทางปัจจัยที่จะดำเนินการต่อสู้แย่งชิงเอาตำแหน่งเจ้าเมืองถลางมาให้แก่พระยาทุกราช (เทียน) ตามแผนการที่กำหนดไว้อย่างรอบคอบ

จดหมายเหตุเมืองถลางบางฉบับ และบางตอนที่ตัดทอนมาพิมพ์ประกอบไว้ต่อไปนี้จะช่วยอธิบายและยืนยันถึงเหตุการณ์ดังกล่าวแล้วได้เป็นอย่างดี เช่น

วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๓๐ พระยาทุกราช ได้เขียนจดหมายถึงพระยาราชกปิตัน ณ เมืองปีนังความว่า

“หนังสือข้าพเจ้าพระยาทุกราชผู้เป็นพระยาปลัด ขอบอกมายังโต๊ะท่านพระยาราชกปิตัน ด้วยมีตราทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมออกมา ณ เมืองถลาง ว่ากรมการเมืองถลางกับพระยาธรรมไตรโลก พระยาฦๅเจ้าราชกูล ออกมาแต่ก่อนคิดอ่านหักเอาเงินของโต๊ะพระยาท่านไว้ว่าโต๊ะพระยาท่านติดเงินแต่ครั้งพระยาตากเป็นเจ้า นั้นบอกท้องตราซึ่งให้พระยาธรรมไตรโลก เจ้าราชกูลถือมาทำให้โตกพระยาท่านโกรธขึ้ง นั้นทรงพระกรุณาเอาโทษแต่พระยาธรรมไตรโลกเจ้าราชกูลข้าหลวงและกรมการ ณ เมืองถลางซึ่งได้คิดอ่านพร้อมกันฉ้อเอาเงินโตกพระยาท่านนั้น ล้นเกล้าล้นกระหม่อมประภาษทรงวิตกคิดเถิงจะใคร่ได้พบโตกพระยาท่านปรึกษาราชกิจบ้านเมือง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมมีตราให้จมื่นชำนาญไภยชนถือออกมาเถิงโตกพระยาท่านแล้ว ให้โตกพระยาท่านคิดอ่านให้ชอบข้อราชการในทางพระไมตรี แลถ้าโตกพระยาท่านคิดอ่านตลอดสะดวกไปได้ให้ชอบในกระแสข้อการครั้งนี้ เถิงมาทว่าเมืองถลางจะทำดีบุกได้มากน้อยประการใดเห็นไม่พ้นเงื้อมมือโตกพระยาท่านเป็นเที่ยงแล้ว ข้าพเจ้าผู้เป็นลูกหลานข้างนี้ก็จะได้เป็นที่พึ่งที่ยึดสืบไปแลให้โตกพระยาท่านคิดความตักตวงดูในน้ำใจแต่ที่ชอบ ข้าพเจ้าขอปราณีบัติมา ณ วันอังคาร เดือนยี่ แรมสิบสี่ค่ำ จุลศักราชพันร้อยสี่สิบเก้า ปีมะแม นพศก” (ศวภ.๓๓ )

และจดหมายอีกฉบับหนึ่ง ความว่า

“หนังสือท่านพระยาปลัดผู้เป็นเจ้า

พระยาถลางบอกมายังท่านโตกพระยาราช ด้วยมีตราออกมาแต่กรุงครั้งนี้ว่า หลวงคลังเข้าไปกราบทูลให้เอาภาษีภาราละชั่งเหมือนครั้งก่อน และของหลวงให้มีตราออกมาถามข้าพเจ้าว่ายังจะเอาภาษีแก่ราษฎรภาราละชั่งได้หรือมิได้ในท้องตรามีเนื้อความเป็นหลายประการนั้น ข้าพเจ้าจะบอกขอภาษีเสีย แลโตกพระยาราชได้เห็นดูช่วยจัดของถวายให้มา แลข้าพเจ้าให้ยี่ลิบผู้เป็นขุนล่ามพลอยสลุป กปิตันวิราเสนบรรทุกดีบุกมาสิบห้าภารา ให้ท่านช่วยจัดของ ปืนสุตัน สักร้อยบอก ผ้าแพรอัดตหลัด ผ้าขาว ผ้าลายพรม แลเงินเหรียญ จะได้จ่ายซื้อดีบุกให้แก่ราษฎรสักสามพันสี่พัน แลข้าวสารสักสิบเกวียน เกลือสักสองเกวียน ของทั้งนี้ท่านได้เห็นดูช่วยจัดให้มาจะได้ใช้การขัดสน ข้าพเจ้าจะขอติดหนี้ท่านสักห้าสิบภารา มาเถิงเมืองถลางจะใช้ให้ครึ่งหนึ่งก่อน แลดีบุกราษฎรจะทำขึ้นไปอีกในมรสุมนี้ ข้าพเจ้าจะจัดแจงแก้ไขให้คงได้ไป ณ เกาะปุเหล้าปีนังทั้งนั้น แลการที่จะรบพม่านั้น ของหลวงโปรดให้คนมาช่วยรักษาเมืองถลางสองพันแล้ว แลแต่ราษฎร ณ เมืองถลางจะให้ขึ้นขุดแต่ต้นมรสุม แลการ ณ เมืองถลางทุกวันนี้ไป ข้าพเจ้าทำอยู่เหมือนหนึ่งเกาะปุเหล้าปีนังของท่านเองเหมือนกัน แลให้ท่านเห็นดูเร่งให้ยี่ลิบผู้เป็นขุนล่ามกลับมาเมืองถลางโดยเร็ว จะได้เอาของไปให้กับ (อ่านไม่ได้) --หนังสือมา ณ วันอังคาร เดือนสิบ ขึ้นหกค่ำ ปีระกานักษัตร เอกศก” (ศวภ.๓๖)

วันอังคาร เดือนสิบ ปีระกา จุลศักราช ๑๑๕๑ ตรงกับ พ.ศ.๒๓๓๒ เทียบกับสุริยคติแล้ววันอังคาร เดือนสิบ ที่เขียนจดหมายฉบับนี้ จะตรงกับวันขึ้น ๕ ค่ำ ไม่ใช่ ๖ ค่ำ คลาดเคลื่อนไปเพียงหนึ่งวัน ส่วนวัน เดือน และปี จะตรงกับวันที่ ๒๕ เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๓๓๒

จากจดหมายฉบับนี้ จะเห็นความคืบหน้าในการที่พระยาทุกราช (เทียน) เลื่อนจากตำแหน่งพระยาปลัดเมืองถลาง ขึ้นเป็น “เจ้าพระยาถลาง” ในราชทินนามเดิม

ส่วนจดหมายอีกฉบับหนึ่งความว่า

“หนังสือท่านพระยาเพชรคีรีศรีสงคราม เจ้าพระยาถลาง บอกมายังท่านพระยาราชกปิตันผู้เป็นเจ้าเมืองเกาะปุเหล้าปีนัง ด้วยปะลิบกอหริกมาบอกว่า ท่านพระยาราชกปิตันสั่งมาว่า แขกเสกหะลีเหล่าร้ายซึ่งเป็นโจร พ้นเกาะปุเหล้าปีนังมาเข้า ณ ปากน้ำเมืองไทร แลเห็นว่าพระยาไทรเป็นใจคิดอ่านเข้าด้วยกันกับแขกเหล่าร้ายจะคิดอ่านตีแห่งใดยังมิรู้ แลอย่าให้ข้าพเจ้าไว้ใจแก่ราชการ ให้ตระเตรียมอยู่นั้น เป็นพระคุณของท่านซึ่งบอกมาให้รู้ตัวนั้นเป็นหนักหนาอยู่แล้ว แลข้าพเจ้าให้จัดแจงตั้งค่ายปากน้ำ ให้ผู้คนลงไปประจำรักษาค่ายปากน้ำอยู่ทุกแห่งอ่าวทุ่ง เถิงมาทว่าพระยาไทรจะพาแขกเสกหะลีมาตี ณ เมืองถลางนั้น จะได้กลัวเกรงแก่แขกเหล่านี้หามิได้ มาหว่ามันจะยกมามากสักเท่าใด ก็จะต่อสู้จนสิ้นชีวิตจะได้กลัวเกรงหามิได้ อย่าให้ท่าน พระยาราชกำดิงแก่น้ำจิตเลย

อนึ่ง ถ้ากำปั่นเรือบรรทุกปืนคาบศิลา ปืนบอเรียม มาจำหน่ายแก่เมืองถลาง ข้าพเจ้าจะจัดดีบุกให้ตามราคามิให้ขัดสน อนึ่ง ข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทครั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ใหญ่แก่คนทั้งแปดหัวเมือง แล้วให้ข้าพเจ้าคิดอ่านรักษาบ้านเมืองอย่าให้เสียแก่ข้าศึกศัตรูสิ่งใดได้ แลข้าพเจ้าขัดสนด้วยดินผะสิวดำแลปืนซึ่งจะรักษาบ้านเมือง แลถ้าสลุปกำปั่นบันทุกปืนและดินผะสิวดำเข้ามามากน้อยเท่าใด ให้ท่านพระยาราชช่วยคิดอ่านว่ากล่าวให้นายกำปั่นเข้ามาค้าขาย ณ เมืองถลาง ข้าพเจ้าจะจัดดีบุกซื้อปืนและดินนั้นไว้รักษาบ้านเมืองต่อไป แลข้าพเจ้าจัดได้ลูกแตงจีน แลไก่ให้มาแก่ท่าน ลูกแตงจีน ๕๐ ลูก ไก่ ๑๐๐ ตัว ให้มาแก่ท่านเป็นกับข้าวไปพลางก่อน หนังสือมา ณ วันอังคาร เดือนยี่ ขึ้นสิบสี่ค่ำ ปีจอโทศก” (ศวภ.๓๙)

จดหมายฉบับนี้ตรงกับวันที่ ๑๘ เดือนมกราคม พ.ศ.๒๓๓๓ สรุปใจความได้ว่า ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระยาทุกราช เลื่อนขึ้นเป็นพระยาเพชรคีรีศรี (พิไชย) สงคราม (รามคำแหง) ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตก ๘ หัวเมือง แทนเจ้าพระยาสุรินทราชา (จัน) ซึ่งทรงพระราชดำริจะขอให้เข้าไปอยู่กรุงเทพมหานคร เพื่อโปรดให้เป็นอัครมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ แต่เจ้าพระยาสุรินทราชายังกราบทูลปฏิเสธอยู่ เพราะเห็นว่าอยู่บ้านนอกสบายกว่าอยู่ในกรุง

นามเต็มของพระยาเพชรคีรี ฯ นั้น คือ พระยาเพชรคีรีศรีพิไชยสงคราม รามคำแหง แต่เห็นทีอาลักษณ์จะเขียนตกไปบางคำ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับจดหมายฉบับอื่นแล้วจะพบว่าผิดไปคือ จดหมายฉบับลงวันที่ ๕ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๓๕ ความว่า

“หนังสือท่านพระยาเพชรคีรีศรีพิไชยสงคราม รามคำแหง ท่านพระยาถลาง มายังท่านโตะพระยาราชกปิตัน เจ้าเมือง ณ เกาะปุเหล้าปีนัง ด้วยมีตราโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมออกมา ให้ตูข้ายกทัพไปตีเมืองมฤท แลบัดนี้ตูข้าให้ขุนชำนาญ นายหมุนมาเถิงท่านจะขอให้ช่วยของซึ่งขัดสนจะเอาไปเป็นเสบียงทัพให้ท่านให้มาแก่กำปั่นให้ทัน ณ เดือน ๑๒ ข้างแรม อนึ่งขุนชำนาญขัดสนจะขอปันเอาสินค้าภาราหนึ่งสองภาราก็ดี ให้ท่านให้แล้วให้มีหนังสือมาจะเจียดเอาค่ามาให้ หนังสือมา ณ วันจันทร์ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีชวด จัตวาศก” (ศวภ.๔๗)

พ.ศ.๒๓๓๕ ทรงพระราชดำริการศึกเมืองทวายมะริด ซึ่งถูกพม่าเข้ายึดครองเป็นการละเมิดอธิปไตยของไทยซึ่งมีอยู่เหนือเมืองทั้งสองนี้ จึงโปรดให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จนำกองทัพเรือลงมาเตรียมกำลังอยู่ที่ช่องสิงขร ประจวบคีรีขันธ์ และโปรดให้เกณฑ์กองทัพหัวเมืองปักษ์ใต้ทั้งปวงเป็นกองทัพเรือยกกำลังไปสมทบกองทัพเรือของสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวร ฯ ณ ช่องสิงขรนั้นด้วย พระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงคราม รามคำแหง พระยาถลาง จึงได้ตระเตรียมเสบียงอาหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ แล้วเคลื่อนกำลังทัพเรือจากเมืองถลางไปสู่ช่องสิงขรตามพระราชโองการในโอกาสนั้นตามหลักฐานเอกสารจดหมายเหตุที่นำมาอ้างอิงไว้ข้างต้นนี้

ผลการสงครามกับพม่าในครั้งนั้น ปรากฏตามพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับหอสมุดแห่งชาติว่า

“ฝ่ายสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งยกออกไปต่อเรือรบที่สิงขร เร่งต่อทำทั้งกลางวันกลางคืนจนเรือแล้วเสร็จ โปรดให้พระยาจ่าแสนยากร พระยาไกรโกษา ซึ่งไปเกณฑ์กองทัพแล้ว ตามเสด็จมากับพระยาพิไชยบุรินทรา พระยาแก้วเการพ นายทัพนายกอง คุมเรือออกไปเมืองทวาย ส่งกองทัพแล้ว เสด็จกลับมาประทับอยู่แขวงเมืองชุมพร ครั้นกองทัพยกไปถึงเมืองมะริดได้ข่าวว่า เมืองมะริดกลับใจเป็นกบฏ กองทัพจึงยกเข้าตีเมืองมะริด ปืนป้อมและปืนหน้าเมืองระดมยิงหนาแน่นนักเข้าเมืองหาได้ไม่ ก็แจวเรือเข้าหาเกาะหน้าเมืองมะริด เกาะหน้าเมืองนั้นมีเขาอยู่ พระยาเสน่หาภูธรทำพิณพาทย์อยู่ในเรือ เมื่อข้ามจะไปเข้าเกาะนั้นปืนพม่ายิงถูกวงฆ้องๆ กระจายไปถูกคนตีฆ้องเจ็บแต่หาตายไม่ พระยาไกรโกษา พระยาพิไชยบุรินทรา พระยาจ่าแสนยากร พระยาแก้วเการพ และนายทัพนายกองไปถึงเกาะเข้าพร้อมกัน เอาปืนใหญ่ขึ้นบนเขาช่วยกันยิงระดมเข้าไปในเมืองมะริด พม่าทนลูกปืนมิได้ ขุดหลุมทำสนามเพลาะเอากระดานบังตัวกันลูกปืน ปืนที่เมืองมะริดก็ซาลงยังแต่จะแตก--” (พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์,เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), กรมศิลปากรอนุญาตให้สำนักพิมพ์คลังวิทยาพิมพ์, พ.ศ.๒๕๐๕ หน้า ๑๙๙-๒๐๐)

ความในพระราชพงศาวดารฯ ยังมีต่อไปอีกมาก สรุปผลการสงครามว่า ทัพเรือของสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มิได้พ่ายแพ้แก่พม่าเมืองมะริด หากกำลังจะยึดเมืองมะริดได้อยู่แล้ว แต่บังเอิญทัพบกซึ่งเป็นทัพหน้า ในบังคับบัญชาของเจ้าพระยามหาเสนา(ปลี) ไปเสียทีแก่พม่า ถึงกับต้องเสียตัวแม่ทัพ คือ เจ้าพระยามหาเสนาในสนามรบ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช “ทรงพระราชดำริว่าจะทำการต่อไปไม่ตลอด จึงโปรดให้ถอยกองทัพทั้งปวงลงมาแม่น้ำน้อย-----แล้วโปรดให้นายฉิมมหาดเล็กเป็นเชื้อชาวชุมพร ถือตรารีบไปเฝ้าสมเด็จพระอนุชาธิราช สถานมงคล ฉบับ ๑ นายฉิมได้ตราแล้วรีบไปขึ้นที่เมืองเพชรบุรี เดินบุกไปเฝ้าที่เมืองกระกราบทูลราชการเมืองทวายตามท้องตรา สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรฯ เสียพระทัยนัก รับสั่งว่าการจะสำเร็จอยู่แล้วกลับไม่สำเร็จไปได้ จึงสั่งให้ขึ้นไปบอกนายทัพนายกองให้ล่าทับจากเมืองมะริด พอกองทัพพม่ายกลงมาถึงเมืองมะริด กองทัพไทยจัดการจะล่าทัพเรือ พม่าก็เข้าตีกองทัพไทย ได้รบกัน กองทัพไทยต่อเรือรบครั้งนั้นมีตะกูดทั้งหน้าทั้งท้าย ล่าถอยเรือเอาท้ายลงมา ยิงปืนหน้าเรือรับพม่าแข็งแรงพม่าก็ยิง ต่างคนต่างยิงกัน ถึงฝั่งจึงทิ้งเรือเสียขึ้นบก พม่าก็ขึ้นบกติดตามกองทัพไทย พระยาจ่าแสนยากร (ทุเรียน) รับพม่าแข็งแรง พม่าหาอาจล่วงเกินเข้ามาได้ไม่ นายทัพนายกองก็ไม่มีผู้ใดเป็นอันตราย เสียแต่เรือรบและปืนบาเหรี่ยมสำหรับเรือ----”(พระราชพงศาวดารกรุง รัตนโกสินทร์ คลังวัฒนา ๒๕๐๕ หน้า ๒๐๒–๒๐๓)

พระยาเพชรคีรีพิไชยสงคราม รามคำแหง (เทียน) จึงได้กลับมายังเมืองถลางดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองถลาง และผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตกทั้ง ๘ สืบต่อมา

ส่วนเจ้าพระยาสุรินทราชา (จัน) นั้น สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดให้มีตราให้หาเข้าไปกรุงเทพ ฯ ว่าจะให้เป็นที่อัครมหาเสนาบดี แทนที่เจ้าพระยากลาโหมเจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมในการศึกเมืองทวาย-มะริด พ.ศ. ๒๓๓๖ เจ้าพระยาสุรินทราชาเข้าไปถึงกรุงเทพฯ แล้วพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์โปรดพระราชทานเสื้อผ้าจะเอาไว้ให้อยู่ ณ กรุงเทพฯ เจ้าพระยาสุรินทราชาคิดเห็นว่าอยู่บ้านนอกได้ความสุขมาก จึงอ้อนวอนเจ้าคุณพลเทพบิดาเจ้าพระยาบดินทรเดชา ขอให้กราบทูลพระกรุณาคิดจะไม่อยู่กรุงเทพฯ ว่าด้วยชรา เป็นเสนาบดีขึ้น เจ้าชีวิตเสด็จพระราชดำเนินไปถึงไหนก็ต้องตามไปถึงนั่น ก็จะมีความลำบาก จึงทำเรื่องราวขอกราบทูลพระกรุณาว่า จะขอออกมาอยู่เมืองนอกตามเดิม จะจัดแจงทางรับส่งพระราชทรัพย์เมืองพังงา เมืองถลาง เมืองตะกั่วทุ่ง จะขนขึ้นไปเขาศกก็กันดาร เชี่ยวแก่งเป็นหลายแห่ง พระราชทรัพย์ก็สูญหายเป็นอันตรายเสียหลายครั้งมาแล้ว เห็นว่าทางบกระยะป่าเดินมาช้าแต่สองคืนไม่สู้กันดาร ถึงพนมล่องตลอดลงไปถึงพุนพิน ตลอดออกไปถึงพุมเรียง ที่รับส่งพระราชทรัพย์ไม่สู้กันดาร ขอพระราชทานช้างเกณฑ์บรรทุกเมืองนคร ๑๐ ช้าง เมืองไชยา ๑๐ ช้าง รวมช้าง ๒๐ ช้าง ให้หลวงพิทักษ์คชกรรม์เป็นนายกองคุมช้างคอยรับส่งพระราชทรัพย์ พระราชทานช้างและที่ปากพนมปากลาว ได้มาตามเรื่องราวเจ้าพระยาสุรินทราชาให้กราบทูลพระกรุณา มีแจ้งอยู่ในท้องตราพระคชสีห์นั้นแล้ว-----”(ประชุมพงศาวดารฯ สำนักพิมพ์ก้าวหน้า พ.ศ.๒๕๐๖ เล่มที่ ๑ หน้า ๕๐๑-๕๐๒)

เจ้าพระยาสุรินทราชา (จัน) ถึงแก่ อสัญกรรมเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๕๐ มีบุตรชายสืบสกุลที่เมืองถลางชื่อเริก (หรือฤกษ์) สมรสกับคุณทุ่มบุตรีของพระยาเพชรคีรีศรีพิไชยสงครามรามคำแหง (เทียน) ต่อมาหลังศึกพม่า พ.ศ.๒๓๕๒ แล้ว คุณฤกษ์ผู้นี้ได้เป็นเจ้าเมือง ถลาง ชาวถลางเรียกขานกันว่า พระยาถลางฤกษ์ (สุนัย ราชภัณฑารักษ์,ภูเก็ต พ.ศ.๒๕๑๗ หน้า ๑๖๑)

พระยาเพชรคีรีศรีพิไชยสงครามรามคำแหง เจ้าเมืองถลาง ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองต่อเนื่องกันนานร่วม ๒๐ ปี เป็นระยะเวลาที่ปลอดศึกสงครามจากพม่า บ้านเมืองร่มเย็น ราษฎรพลเมืองจึงมีเวลาตั้งหน้าตั้งตาประกอบการอาชีพขุดหาแร่และถลุงดีบุกขายแก่พ่อค้าชาวอังกฤษ แลกเปลี่ยนสินค้าและเงินเหรียญเข้าสู่บ้านเมืองได้โดยสม่ำเสมอ ก่อให้เกิดความมั่งคั่ง สมบูรณ์อยู่กินแบบพอเพียงเรื่อยมา

ครั้นลุถึงปี พ.ศ.๒๓๕๒ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จสวรรคต เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ ปีมะเส็งเอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑


 
 
  

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( พุธ, 28 มีนาคม 2018 )