ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อังคาร, 12 กุมภาพันธ์ 2008

ท้าวเทพกระษัตรี – ท้าวศรีสุนทร


ไพโรจน์  เสรีรักษ์ : สรุปความ
----- ---- ---- ---- ---- ----(จถล.2309)

 ท้าวเทพกระษัตรี (จัน)  พี่  ท้าวศรีสุนทร (มุก) น้อง  ทั้งสองเป็นวีรสตรีสามัญชนชาวใต้แท้  โดยสายพันธุ์ชาติบรรพ์นักปกครองและเป็นวีรสตรีไทยสามัญชน  สองท่านแรกของชาติไทยที่ได้รับการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์ถาวรเด่นสง่าผงาดผ่าเผย  เป็นที่เคารพสักการะน้อมรำลึกถึงวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของท่านท้าวทั้งสองในการปกป้องรักษาเมืองถลาง  รักษาเอกราชของชาติของแผ่นดินที่อริราชศัตรูรุกล้ำเข้าโจมตีหวังยึดครองดังเหตุการณ์ปรากฎที่ถูกบันทึกไว้ในพงศาวดารเมืองถลางอย่างชัดเจนละเอียดแล้ว  ได้บอกให้เรียนรู้ว่า

 พระเจ้ากรุงอังวะ ( พระเจ้าปดุง  กษัตริย์พม่า:ผู้บันทึก)  สั่งให้บุกทัพเข้ามารุกรานหัวเมืองฝ่ายใต้พร้อมกันทั้ง  ๒  ฝั่งของไทยใน  พ.ศ.  ๒๓๒๘  โดยแบ่งกองทัพบกเข้าตีเมืองกระบุรี  ชุมพร  ไชยา  ตลอดลงไปจนถึงเมืองนครศรีธรรมราช  ขณะนั้นกองทัพไทยในเมืองพระนคร(เมืองหลวง)  ยังติดพันการศึกอยู่ที่กาญจนบุรี  ยกลงมาช่วยรบไม่ทัน  เมืองกระบุรี  เมืองชุมพร  เมืองไชยาและเมืองนครศรีธรรมราช  จึงปราชัยแก่ข้าศึก  ส่วนทัพเรือก็บุกเข้าตีได้เมืองตะกั่วป่า  เมืองตะกั่วทุ่ง  แล้วยกเลยไปตั้งค่ายล้อมเมืองถลางไว้  ประจวบกับขณะเดียวกันนั้น  พระยาถลาง  (เจ้าเมืองถลาง : ผู้เขียน)  ถึงแก่อนิจกรรมยังไม่มีการแต่งตั้งเจ้าเมืองคนใหม่  ภริยาพระยาถลางชื่อ จัน กับน้องสาวชื่อ  มุก  จึงคิดอ่านการศึกกับกรมการเมืองทั้งปวงให้ตั้งค่ายใหญ่ขึ้น  ๒  ค่าย  ไว้ป้องกันรักษาเมือง  ฝ่ายพม่าล้อมเมืองอยู่เดือนเศษ  ก็ยังตีหักเข้าเมืองไม่ได้  เมื่อหมดเสบียงอาหารก็ให้เลิกทัพกลับไป  สงครามครั้งนี้เรียกว่า  “สงคราม  ๙  ทัพ “  สำหรับเมืองถลางต่อมามีการสู้รบกับพม่าอีกหลายครั้ง  ซึ่งมาในรูปแบบกองโจร  จนถึงปี  พ.ศ.  ๒๔๕๓  ต้นรัชกาลที่  ๓  เมืองถลางจึงแตกถูกพม่าปล้นฆ่าเผาทำลายอาคารบ้านเมือง ป้อมกำแพงจนหมดสิ้น  เมืองถลางกลายเป็นเมืองร้าง

 
ท้าวเทพกระษัตรี  (ท่านผู้หญิงจัน)
ท้าวศรีสุนทร (คุณมุก)
พญาถลางทองพูน ณ ถลาง
พญาถลางเทียน  (พญาเพชรคีรีศรีพิไชยสงครามรามคำแหง) เมืองภูเก็จ พญาทุกรราชเทียน (จดหมายพญาเทียน)
แม่ปราง
เจ้าคุณมารดาทอง
พระยกบัตรจุ้ย
มหาดเล็กเนียม
ทองเพ็ง  
 

 

 ด้วยวีรกรรมผู้นำกองทัพ  ชาวเมืองทั้งหญิงชาย  รบพม่าจะประสบความสำเร็จชำนะพม่าข้าศึกครั้งยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยปรากฏว่าในประวัติศาสตร์ไทยสตรีสามัญท่านใดที่มีจิตใจแกล้วกล้า  อาจหาญ  เฉลียวฉลาดในเชิงยุทธ์  สามารถนำพากองทัพออกรบกับกองทัพอริราชศัตรู  ต้องเลิกทัพหนีกลับไป  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  จึงพระราชทานเครื่องยศสถาปนาให้  จัน  เป็น  ท้าวเทพกระษัตรี  ให้  มุก  เป็น  ท้าวศรีสุนทร  วีรสตรีไทยให้เป็นเกียรติยศสืบไป  เป็นที่ภาคภูมิใจของวงศ์ตระกูลและชาวเมืองถลาง  เมืองภูเก็ตตลอดมา  แต่ชาวเมืองทั่วไป    เรียกขานกันสั้น ๆ  ว่า  ย่าจัน(ท่านผู้หญิงจัน)  ย่ามุก(คุณมุก)

 วีรกรรมของวีรสตรีทั้ง  ๒  ท่าน อันแสดงถึงความกล้าหาญ  เด็ดเดี่ยว  โดดเด่น  ของท่านท้าวนั้น แม้กาลจะล่วงเลยมานาน  ถึง  ๒๑๗  ปี แล้ว  ก็ยังเป็นที่ระลึกถึงและกล่าวขานกันไม่วางเว้นของประชาชนทั้งชาวถลางและภูเก็ตเสมอมา  ด้วยเหตุนี้จึงได้พร้อมใจร่วมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ของท่านท้าวทั้ง  ๒   ขึ้นไว้  โดยประดิษฐาน  ณ  บนแท่นคอนกรีตประดับหินอ่อน  องค์อนุสาวรีย์มีรูปพรรณลักษณะยืนเคียงคู่กัน  หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์รมดำ  ขนาดใหญ่เท่าครึ่งตัวจริง  ทรงผมดอกกระทุ่มหวีเสย  สวมเสื้อแขนยาวทรงกระบอก  ปกคอสั้นปล่อยชายเสื้อคลุมตะโพกคล้องสะไบเฉียงรอบคอย้อยผ้าลงเป็นรูปไขว่ทับพันรัดใต้ราวนมทั้ง ๒  นุ่งผ้าโจงกระเบน ชายล่างอยู่ในระดับครึ่งแข้ง  มือขวาท้าวเทพกระษัตรีกุมด้ามดาบไม่หุ้มฝัก  แขนแนบตะโพก ปลายดาบชี้เยื้องออกเป็นมุมฉากกับลำแขนไปทางขวา  มือซ้ายงอข้อศอกขึ้นจับแขนขวาตรงกึ่งกลางระหว่างข้อศอกกับข้อมือของท้าวศรีสุนทร  ในลักษณะยึดไว้  ส่วนมือซ้ายของท้าวศรีสุนทรปล่อยวางแนบลำตัวลงไปไม่ถืออะไร  มือขวาถือกำดาบ  เช่นเดียวกับท้าวเทพกระษัตรีอยู่ในท่าที่เตรียมพร้อมเข้ารบข้าศึก  ทั้ง  ๒  ยืนคู่กันในท่าหันข้างให้กันนิด ๆ  สายตาจ้องเพ่งตรงไปข้างหน้าทางด้านทิศเหนือ

 อนุสาวรีย์ประดิษฐานบนแท่นคอนกรีตทรงสี่เหลี่ยมคางหมูเท่ากันทั้งสี่ด้าน  ประดับหินอ่อนสูง  ๓  เมตร  ตั้งถาวรอยู่ที่วงเวียนสี่แยกถนนเทพกระษัตรีตัดกับถนนศรีสุนทร  ในเขตหมู่ที่  ๓  และหมู่ที่  ๕  ตำบลศรีสุนทร (ทั่วไปเรียกว่า  สี่แยกท่าเรือ : ผู้เขียน)  อำเภอถลาง  จังหวัดภูเก็ต  โดยอัญเชิญมาประดิษฐานเมื่อวันที่  ๒๔  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๑๐  ซึ่งเดิมได้หลักฐานว่าเป็นวันที่ตรงกับวัน  ชัยชนะพม่าข้าศึกของชาวเมืองถลาง   เมื่อปี  พ.ศ.  ๒๓๒๘  คือวันที่พม่าแตกทัพหนีไปจากเมืองถลาง (จากการศึกษาเอกสารหลายฉบับและจากจดหมายพระยาสุรินทราชา เทียบวันตามสุริยคติแล้ว วันถลางชนะศึกคือวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๓๒๘)

 ต่อมาเมื่อวันที่  ๒๓  พฤษภาคม  พ.ศ.  ๒๕๑๐  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ  (รัชการที่  ๙)   ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงกระทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี – ท้าวศรีสุนทร  แห่งนี้ 

 บนพนังฐานอนุสาวรีย์มีข้อความจารึกไว้เพื่อเทิดทูนเกียรติยศของท่านท้าวทั้ง  ๒  และให้ผู้คนทั่วไปได้ทราบ  มีใจความว่า
 “  ท้าวเทพกระษัตรี (จัน)  ท้าวศรีสุนทร (มุก)  ได้กระทำการป้องกันรักษาเมืองถลางเมื่อ  พ.ศ.  ๒๓๒๘  ตีหักเอาเมืองได้  พม่าแตกทัพกลับไปเมือง  ๒ ฯ๑๔๔ ปีมะเส็ง สัปตศก  จ.ศ.  ๑๑๔๗  เป็นวีรกรรมอันควรแก่ชาวเมืองถลาง  ตลอดจนชาวไทยทั่วไปยกย่องสรรเสริญ  ชาวเมืองถลางโดยการนำของนายอ้วน  สุระกุล  ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต  ชวนกันสร้างขึ้นไว้เมื่อ  ๕ ฯ๙ ๖  มะเมียอัฐศก  จ.ศ.  ๑๓๒๘  ๒๘  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๐๙  เวลา  ๐๘.๐๙  น.  ขอให้ดวงวิญญาณของวีรสตรีทั้งสอง  จงสถิตเป็นมิ่งขวัญปกป้องชาวถลางสืบไป”

ชีวประวัติท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร

 สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๒๙ เล่ม ๔ สถาบันทักษิณคดีศึกษา  มหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ  สงขลา ( ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยทักษิณ ) ผศ.สงบ  ส่งเมือง  และ อาจารย์ดวงใจ  เอช เรียบเรียง ให้ได้ศึกษาเรียนรู้ซึ่งขอนำเอามาถ่ายทอดเพื่ออ่านทั่วไปประจักษ์ดังต่อไปนี้

ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร

 ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร เป็นวีรสตรีที่สำคัญของเมืองถลางและขอชาติไทย เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน  ถือกำเนิดจากตระกูลเมืองถลาง  ซึ่งมีอิทธิพลสูงสุดในเมืองถลาง  ในระยะที่เมืองนี้มีฐานะเป็นศูนย์อำนาจปกครองหัวเมืองภาคใต้ชายฝั่งตะวันตกตั้งแต่ตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา  ท้าวเทพกระษัตรีมีชื่อเดิมว่า “จัน” ส่วนท้าวศรีสุนทรมีชื่อเดิมว่า “มุก” ตามพงศาวดารเมืองถลาง  ซึ่งเขียนจากคำบอกเล่าในปี พ.ศ.๒๓๘๔  โดยลูกหลานของตระกูลเมืองถลาง  กล่าวถึงบิดามารดาของท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทรไว้ว่าสืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองไทรบุรี  ดังปรากฏข้อความตอนหนึ่งในพงศาวดารดังนี้คือ “…ได้รู้ได้เห็นเองว่าเมืองถลางแต่ก่อนนั้นจอมร้างบ้านตะเคียนเป็นเจ้าเมือง  เมียจอมร้างเป็นแขกเมืองไทร หม่าเสี้ยลูกมะหุมเฒ่าก่อน  ผัวตายเป็นหม้ายอยู่  มะหุมน้องบากมาเอาเงินมรดกห้าพันเศษ  หม่าเสี้ยขัดใจไม่อยู่เมืองไทยมาอยู่เมืองถลางได้กับจอมร้างเป็นผัวมีลูกชาย ๒ คน หญิง ๓ คน รวม ๕ คน หญิงชื่อ จันเป็นท้าวเทพกระษัตรี  หญิงถัดมาชื่อมุกเป็นท้าวศรีสุนทร…” และน้องคนอื่น ๆ ได้แก่ หมา เป็นหญิงกับน้องชายอีก ๒ คน คือ พระยาถลาง (อาด) กับพระพล เรือง กรมการเมืองถลาง  แต่ในหนังสือประวัติท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร หรือประวัติตระกูล ณ ถลาง ซึ่งเขียนโดยขุนนรภัยพิจารณ์ ( ไวย ณ ถลาง ) สมาชิกคนหนึ่งในตระกูล ณ ถลาง เรียบเรียงไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ กล่าวไว้แตกต่างออกไปว่า  บิดาของบุคคลทั้ง ๒ ชื่อจอมทองคำ เจ้าเมืองถลาง เป็นบุตรจอมร้างกับนางซาเรีย น้องสาวเจ้าเมืองไทรบุรี  ส่วนมารดาชื่อ ศรีทองไม่ทราบชาติกำเนิด
 อย่างไรก็ตาม  ไม่ว่าท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทรจะเป็นลูกจอมร้างหรือจอมทองคำ  แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าบุคคลทั้ง ๒ เป็นคนตระกูลเจ้าเมืองถลาง  ซึ่งมีอำนาจขึ้นในเมืองนี้ในระยะที่รัฐบาลไทยทางภาคกลางกำลังอ่อนแอ  เพราะพ่ายแพ้ต่อการสู้รบกับพม่าและตระกูลเจ้าเมืองถลางในระยะดังกล่าวพยายามที่จะรักษาของตนในเกาะนี้เอาไว้  โดยพยายามที่จะสร้างสายสัมพันธ์ทางเครือญาติกับตระกูลเจ้าเมืองอื่น ๆ เป็นต้นว่าเมืองไทรบุรี  ตะกั่วทุ่ง  นครศรีธรรมราช และกับข้าหลวงที่ส่งมาจากส่วนกลาง

 ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทรซึ่งเป็นธิดาคนโตและคนรองของตระกูลเมืองถลาง  จึงได้รับการเลี้ยงดูและฝึกฝนอบรมมาตั้งแต่เด็ก ๆ เพื่อรับภาระอันหนักยิ่งของตระกูลเมืองถลางในการควบคุมดูแลไพร่พล ขุดหาแร่ดีบุกโดยการทำเหมืองขุด  การแสวงหาเครื่องบริโภคและอุปโภคซึ่งขาดแคลนและหายากมากโดยเฉพาะข้าวที่ใช้เลี้ยงไพร่ซึ่งมีจำนวนมาก  การหาตลาดเพื่อจำหน่ายดีบุก  การแสวงหาอาวุธเพื่อป้องกันภัยจากโจรสลัดและพม่า  การรักษาสถานภาพของตระกูล  ในฐานะเจ้าเมืองถลางซึ่งมีผลประโยชน์เกี่ยวพันกับดีบุกและกลุ่มบุคคลภายนอกคอยฉกฉวยแย่งชิงอยู่ตลอดเวลา  ไม่ว่าจากไทรบุรี นครศรีธรรมราช พม่า ชาวอังกฤษ และรัฐบาลกลาง ตระกูลเมืองถลาง ของท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร  ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่บุคคลทั้ง ๒ ถึงแม้จะเป็นผู้หญิงแต่เป็นพี่ใหญ่ของครอบครัวของตนมาตั้งแต่เด็ก ๆ ตามลักษณะโดยทั่วไปของครอบครัวทางภาคใต้ ถึงแม้จะถือว่าผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า  แต่ลูกผู้หญิงคนโตก็ได้รับการฝึกอบรมให้เข้ารับภาระช่วยเหลือครอบครัวไม่น้อยไปกว่าผู้ชาย   

 ไม่มีหลักฐานชั้นต้นใด ๆ ระบุวันเดือนปีเกิดของท้าวเทพกระษัตรีไว้ แต่สุนัย ราชภัณฑารักษ์ ได้สันนิษฐานไว้ในหนังสือท้าวเทพกระษัตรีว่าฯ ว่า ท้าวเทพกระษัตรีคงเกิดในราว พ.ศ.๒๒๗๘ หรือหลังจากนั้นประมาณไม่เกิน ๕ ปี โดยคาดเดาเอาว่าในปีที่เกิดศึกถลางในปี พ.ศ.๒๓๒๘ ท้าวเทพกระษัตรี คงจะมีอายุประมาณ ๕๐ ปี ตั้งแต่เกิดจนเติบโตเป็นสาว  วิถีชีวิตของท้าวเทพกระษัตรีต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเกาะถลางที่สับสนวุ่นวายมากที่สุดยุคหนึ่ง ดังปรากฏหลักฐานในพงศาวดารเมืองถลางตอนหนึ่งว่า

“…ขุนนางเมืองถลางนั้นจอมเฒ่าอยู่บ้านดอน  จอมร้างอยู่บ้านตะเคียน จอมเฒ่ากับจอมร้างเป็นลูกพ่อเดียวกันคนละมารดา  ลูกหลานมะหุม อยู่บ้านดอนได้เป็นพระยาถลางเจียดทอง…เดิมแต่ก่อนบ้านดอนกับบ้านตะเคียนสามัคคีรสกันดีมีชื่อเสียงสืบกูลวงศ์เป็นเจ้าเมืองสืบมา  ฝ่ายบ้านลิพอนจอมสุรินคิดมิชอบ  จะตั้งตัวเป็นใหญ่  มีตราออกมาให้จับจอมสุรินฆ่าเสีย  เป็นโทษขบถต่อแผ่นดินสิ้นเชื้อผู้ดีลงเมืองถลางว่าง  พระยาถลางคางเซ้งชาวกรุงออกมาเป็นเจ้าเมือง  พระยาถลางอาดเป็นเจ้าเมืองขึ้น
ผู้ร้ายยิงพระยาถลางตายเมืองก็ว่างอยู่  ได้แขกไทรมาเป็นเจ้าเมืองอยู่หน่อยหนึ่งพวกถลางคิดรบแขกตั้งแต่ค่ายที่ไม้ขาวปากสาคูดั้งร่อจึงตั้งตัวขึ้น…”

 เหตุการณ์ที่สับสนวุ่นวายข้างต้นได้กลายเป็นสิ่งเร้าช่วยกระตุ้นให้ท้าวเทพกระษัตรีกลายเป็นหญิงผู้กล้าหาญ  มีไหวพริบที่จะต่อสู้เพื่อรักษาสถานภาพของครอบครัวอยู่ตลอดเวลา  แม้แต่การแต่งงานครั้งแรกของท่านกับหม่อมศรีภักดีหรือนายภักดีภูธร ชาวเมืองตะกั่วทุ่งผู้มีอิทธิพลก็ต้องการจะสร้างความสัมพันธ์กับเมืองนครศรีธรรมราช  ซึ่งทางเมืองนครศรีธรรมราชส่งออกไปเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองตะกั่วทุ่ง  คงราว ๆ ในระยะที่เมืองนครศรีธรรมราชตั้งตัวเป็นอิสระ  หลังจากหม่อมศรีภักดีถึงแก่อสัญกรรมไม่นานนัก  ท้าวเทพกระษัตรีได้แต่งงานใหม่กับพระยาพิมลอดีตเจ้าเมืองกระบุรี  และกรมการเมืองคนสำคัญของเมืองชุมพรทั้งนี้เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ตระกูลเมืองถลางกับขุนนางอิทธิพล  ซึ่งเข้าใจว่าพระยาพิมลนั้นเป็นข้าหลวงมาจากเมืองหลวง  เพราะภายหลังได้ส่งบุตรธิดาที่เกิดจากท้าวเทพกระษัตรี ๒ คน คือแม่ทองมากับนายเนียมเข้าไปถวายรับราชการฝ่ายในและฝ่ายหน้าในเมืองหลวง ดังปรากฏหลักฐานในพงศาวดารเมืองถลางตอนหนึ่ง “…แล้วได้กับพระยาพิมล  มีลูกหญิงชื่อแม่ทองมาไปถวายเป็นมารดาเจ้าครอกอุบลลูกถัดมาชาย…ชื่อนายเนียมเป็นมหาดเล็กครั้งแผ่นดินต้น…”
 พระยาพิมลหลังจากแต่งงานกับท้าวเทพกระษัตรีก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองถลางอยู่ระยะหนึ่ง แต่ต่อมามีความผิดจึงโปรดให้ย้ายไปเป็นเจ้าเมืองพัทลุง หลังจากนั้นพระยาถลาง (เทียน)ซึ่งเป็นบุตรชายคนโตของท้าวเทพกระษัตรี กับหม่อมศรีภักดี ก็ได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นเจ้าเมืองถลางคนต่อมา  ท้าวเทพกระษัตรีต้องรับภาระต่าง ๆ ในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่และแม่ของเจ้าเมืองไม่น้อย เนื่องจากทางเมืองหลวงเริ่มส่งข้าหลวงออกมาเร่งส่วยทางหัวเมืองชายฝั่งตะวันตกของภาคใต้ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี โดยเฉพาะระหว่างปี พ.ศ.๒๓๑๙–๒๓๕๐ ทำให้เกิดเรื่องขัดแย้งบ่อย ๆ กับบรรดาข้าหลวงเหล่านั้น ดังปรากฏหลักฐานหลายแห่งในเอกสารเมืองหลวง ภาวะการณ์เช่นนี้ทำให้ท้าวเทพกระษัตรีพยายามแสวงหามิตรใหม่  เพื่อรักษาสถานภาพของตระกูลของตนในเมืองถลางเอาไว้  โดยหันไปสนิทสนมกับพ่อค้าชาวอังกฤษซึ่งเข้ามารับซื้อแร่ดีบุก ตั้งห้างร้านในเมืองถลาง  โดยเฉพาะกับฟรานซิส ไลท์ หรือพระยาราชกปิตัน อดีตพ่อค้าชาวอังกฤษและต่อมาได้เป็นผู้ว่าการเกาะปีนังของอังกฤษคนแรก

 ในเอกสารเมืองถลางซึ่งส่วนหนึ่งเป็นจดหมายส่วนระหว่างท้าวเทพกระษัตรีกับฟรานซิส ไลท์ได้บ่งบอกให้เห็นว่าบุคคลทั้ง ๒ มีความสนิทสนมกันมากมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตลอดตั้งแต่ฟรานซิส ไลท์ ได้เป็นผู้ว่าเกาะปีนังแล้ว  ดังตัวอย่างจดหมายฉบับหนึ่งซึ่งท้าวเทพกระษัตรียังมีบรรดาศักดิ์เป็นเพียงท่านผู้หญิง มีไปถึงฟรานซิส ไลท์ตอนปลายปี พ.ศ.๒๓๒๗ ก่อนพม่ายกทัพมาตีเมืองถลางเล็กน้อย มีข้อความตอนหนึ่งว่า…
 “…หนังสือท่านผู้หญิง (จัน:-ผู้เขียน) มาถึงลาโตก (ไลท์:-ผู้เขียน) ด้วยมีหนังสือไปนั้นได้แจ้งแล้ว  ครั้นจะเอาหนังสือเรียนแก่พระยาถลาง พระยาถลางป่วยหนักอยู่ และซึ่งว่ามาค้าขาย  ณ เมืองถลางขาดทุนหนักหนาช้านานแล้วนั้น  เห็นธุระของลาโตกอยู่  แต่หากว่าลาโตกเมตตาเห็นดูข้าเจ้า จึงเปลืองทุนเป็นอันมาก…แลมีราวข่าวว่าพม่าจะมาตีเมืองถลาง  ท่านพระยาถลางเจ็บหนักอยู่ถ้าพม่ายกมาจริง ข้าเจ้าจะได้พึ่งลาโตกเป็นหลักที่ยึดต่อไป แลซึ่งว่าจะเอาดีบุก ค่าผ้านั้น ท่านพระยาถลางยังเจ็บหนัก มิได้ว่ากล่าวก่อน ถ้าพระยาถลางคลายป่วยแล้ว จะได้ปรึกษาว่ากล่าว…ครั้นข้าเจ้าจะลงไปพบลาโตกนั้น  เจ้าคุณยังเจ็บหนักอยู่จึงให้เมืองภูเก็จ (หมายถึงพระยาทุกรราษฎร์บุตรชาย:-ผู้เขียน) ลงมาลาโตก ได้เห็นดูงดอยู่ก่อน ถ้าเจ้าคุณค่อยคลายป่วยขึ้นข้าเจ้าจะลงมาให้พบลาโตก…”

 ท้าวเทพกระษัตรีได้แยกกันอยู่กับพระยาพิมลระยะหนึ่ง  คือช่วงที่พระยาพิมลไปเป็นเจ้าเมืองพัทลุง  ภายหลังจึงกลับมาเป็นเจ้าเมืองถลางและอยู่ร่วมกันอีก  พระยาพิมลถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ.๒๓๒๘ อันเป็นปีที่ ๔ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  หลังจากที่พระองค์ทรงสถาปนากรุเทพฯเป็นนครหลวงแห่งใหม่ได้ ๓ ปีเท่านั้น  พระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่าก็ได้ยกกองทัพมาตีไทยหลายทาง(ที่เรียกว่าสงคราม ๙ ทัพ:-ผู้เขียน)ด้วยเข้าใจว่าไทยเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ บ้านเมืองระส่ำระสาย  พม่ายกทัพมาครั้งนี้มีเกงหวุ่นแมงยีหรือแกงวุ่นแมงยี  อัครเสนาบดีเป็นแม่ทัพภาคใต้แยกเป็นทัพบก  ทัพเรือ ทัพบกมุ่งตีหัวเมืองปักษ์ใต้ตามทางเดินทัพ คือ เมืองกระ (อำเภอกระบุรี จังหวัดระนองในปัจจุบัน) เมืองชุมพร ซึ่งก็สามารถตีเมืองทั้งสามได้  พม่าได้ริบทรัพย์สมบัติ เผาบ้านเรือนเสียหายยับเยินแล้วยกทัพต่อไปตีเมืองไชยา และเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งก็สามารถตีได้เช่นกัน สำหรับทัพเรือเมื่อตีหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันตกอันได้แก่ ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่งได้แล้ว ก็ยกทัพมุ่งมาตีเมืองถลางทันที เมื่อเจ้าเมืองถลางเพิ่งถึงแก่อนิจกรรมไปเช่นนี้ ก็ไม่มีเจ้าเมืองคอยบัญชาการรบ ท่านผู้หญิงจันและคุณมุกน้องสาวร่วมกับเจ้าเมืองภูเก็จ คือ พระยาทุกรราษฏร์ (เทียน) บุตรชาย และคณะกรรมการเมืองจึงเตรียมป้องกันเมืองถลางทันที

 ชัยภูมิของเมืองถลางในครั้งนั้นมีท่าเรือสำคัญอยู่ห่างออกไปเรียกว่า ท่าตะเภา ส่วนด้านหลังเมืองเป็นป่ารก ยากแก่การเข้าโจมตี ท่านผู้หญิงจันจึงแน่ใจว่าพม่าจะต้องยกทัพเรือเข้ามาทางท่าตะเภา แล้วโจมตีเมืองถลางทางด้านหน้า การป้องกันเมืองจึงได้กระทำที่จุดนี้ ในการวางแผนป้องกันเมืองนั้นมีการตั้งค่าย ๒ แห่ง คือที่บ้านค่ายแห่งหนึ่งและที่เกาะตะเคียนอีกแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ก็มีกำลังไปตั้งมั่นอยู่หลังวัดพระนางสร้าง ความคาดหมายของท่านผู้หญิงจันมิได้ผิด เพราะพม่ายกทัพเรือมาทางท่าตะเภาจริง กำลังทัพพม่าในครั้งนี้มีมากกว่ากำลังเมืองถลางมากนัก ท่านผู้หญิงจันจึงคิดอุบายที่จะทำให้พม่าเกรงกลัวไม่กล้ายกตีเมืองถลางโดยกลางวัน ท่านผู้หญิงจันเลือกหญิงวัยกลางคนจำนวนร้อย ๆ คนให้แต่งตัวเป็นชายถือปืน แล้วท่านผู้หญิงจันกับนางมุกก็แต่งตัวเป็นชายขึ้นคานหาม โห่ร้อง ทำทำจะเข้าตีพม่า พม่าเห็นดังนั้นก็ออกมานอกค่ายจึงถูกปืนจากฝ่ายเมืองถลางล้มตายหนีเข้าค่ายไป ครั้นพอกลางคืนท่านผู้หญิงจันก็ส่งให้ทหารลอบออกไปซ่อนตัวภายนอก พอรุ่งเช้าก็จัดขบวนเดินเข้าค่าย ทำอย่างนี้อยู่เรื่อย ๆ เพื่อให้พม่าสำคัญผิดว่าชาวเมืองถลางมีกำลังมาหนุน พม่าก็รู้สึกเกรงกลัว ไม่กล้ายกทัพเข้าตี จึงได้แต่ล้อมเมืองถลางไว้ เมื่อล้อมอยู่นานถึง ๑ เดือน เสบียงอาหารก็ร่อยหรอ พวกพม่าเองก็ถูกชาวถลางฆ่าไปหลายร้อย แม่ทัพพม่าจึงสั่งให้ถอยทัพกลับในวันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีมะเส็ง ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ.๒๓๒๘ จะเห็นได้ว่าท่านผู้หญิงจันนั้นแม้เป็นหญิงแต่ก็มีใจเด็ดเดี่ยว เข้มแข็ง กล้าหาญ เป็นคนฉลาด มีไหวพริบดี กลอุบายดี และแน่นอนว่ากำลังทางด้านอาวุธที่ใช้ในครั้งนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากฟรานซิส ไลท์มาก่อนส่วนหนึ่ง

 เมื่อพม่าเลิกทัพไปแล้ว  คณะกรรมการเมืองก็ได้มีใบบอกเล่าเหตุการณ์รบให้คนนำไปกราบทูลกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ซึ่งเสด็จยกพลมาทางบก ประทับอยู่ที่สงขลาฉบับหนึ่งอีกฉบับหนึ่งได้นำไปกราบทูลพระบาทสมเด็จฯพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.๒๓๒๙  รัชกาลที่ ๑ จึงโปรดเกล้าฯให้ท่านผู้หญิงจันเป็นท้าวเทพกระษัตรีและนางมุกเป็นท้าวศรีสุนทร แล้วทรงแต่งตั้งพระยาทุกรราษฏร์ (เทียน)บุตรชายคนโตของท่านผู้หญิงจันเป็นพระยาถลางสืบต่อไป  พระยาถลาง (เทียน) ผู้นี้ได้มีบุตรหลานสืบตระกูลต่อมาจนปัจจุบัน คือ สกุล ประทีป ณ ถลาง

 ท้าวเทพกระษัตรีมีบุตรธิดาทั้งหมด ๗ คน เป็นบุตรธิดาจากสามีคนแรก คือหม่อมศรีภักดี ๒ คน คือ คนโตเป็นหญิงชื่อปราง คนรองเป็นชายชื่อเทียน ซึ่งต่อมาได้เป็นพระยาถลาง (เทียน) หรือรู้จักกันทั่วไปว่า “พระยาถลางหืด” เป็นต้นตระกูล ประทีป ณ ถลาง และบุตรธิดาจากสามีคนที่ ๒ คือ พระยาพิมล (ขัน) ๕ คน คือ คนโตชื่อทองมา ได้ถวายตัวเป็นเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๑ คนที่ ๒ เป็นชายชื่อจุ้ย ได้เป็นพระยายกกระบัตรเมืองถลาง คนที่ ๓ ชื่อเนียม เป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๑ คนที่ ๔ และคนที่ ๕ ชื่อแม่กิ่มและแม่เมือง เป็นหญิงทั้ง ๒ ไม่ได้รับราชการ

 ในหนังสือประวัติท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร หรือประวัติตระกูล ณ ถลาง กล่าวถึงครอบครัวท้าวศรีสุนทรไว้ว่า

 “…เมื่ออายุพอสมควร บิดาจัดการให้คุณมุกหรือท้าวศรีสุนทร แต่งงานกับนายอาจ คนกรุงเทพมหานครที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านวังเมืองถลาง กับบิดาชื่อจอมพล และเมื่อพี่เขยได้เป็นเจ้าเมืองถลาง สามีของคุณมุกก็ได้เป็นปลัดผู้ช่วยร่วมกันปกครองบ้านเมือง ตัวคุณมุกเป็นหมันจึงไม่มีบุตรสืบตระกูล…”(กลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จได้ตรวจสอบหลักฐานเทียบเคียง  ไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานใดใกล้เคียงกับที่ระบุไว้)
แต่น่าเสียดายที่ไม่ปรากฎหลักฐานเกี่ยวกับท้าวศรีสุนทรจากแหล่งอื่นเลย ไม่ว่าในทางพงศาวดารเมืองถลาง เอกสารเมืองถลางและแหล่งอื่น ๆ ฐานะของท้าวศรีสุนทรจึงเป็นเพียงน้องสาวคู่คิดและคอยสนับสนุนท้าวเทพกระษัตรีอยู่เบื้องหลัง จึงยกย่องให้เป็นวีรสตรีมีฐานะทัดเทียมกับพี่สาว

 จากหลักฐานทั้งหมดที่ประมวลมา พอจะทำให้เห็นชีวประวัติและผลงานของท้างเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร ซึ่งได้ดิ้นรนต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จในชีวิตระดับหนึ่งอย่างไรก็ตาม ถ้าหากไม่มีการประเมินผลความสำเร็จของท่านทั้งสองในศึกถลางครั้งนั้นแล้ว การเขียนชีวประวัติและผลงานครั้งนี้คงไม่สมบูรณ์

 ความสำเร็จในการรักษาเมืองถลางจองท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทรในขณะที่เมืองถลางไม่มีเจ้าเมืองมีแต่ข้าหลวงของรัฐบาลกลางประจำอยู่ที่ทำเนียบปากพระ ชายฝั่งแผ่นดินใหญ่ตรงข้ามกับเกาะภูเก็ต เมื่อเกิดศึกพม่าข้าหลวงเหล่านั้นต่างประสบชะตากรรมต่าง ๆ กัน คือ

 “พระยาธรรมไตรโลกรบกับพม่าที่ปากพระ พระยาธรรมไตรโลกตาย พระยาพิพิธโภไคย หนีไปทางเมืองพังงา” สภาพการณ์เช่นนี้ย่อมมีผลเกื้อกูลต่อความสำเร็จของท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทรให้โดดเด่นขึ้น พลังความสามัคคีของชาวถลางภายใต้การนำของวีรสตรีทั้ง ๒ ย่อมเป็นที่ประจักษ์แจ้งต่ออังกฤษและรัฐบาลกลางเป็นอย่างดี ฟรานซิส ไลท์เคยเสนอต่อบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ที่กัลกัตตาให้ยึดเกาะถลางเป็นสถานีการค้าของอังกฤษในการขยายกิจการค้าไปยังตะวันออกไกล แต่การที่ท้าวเทพกระษัตรีและชาวเมืองถลางได้แสดงวีรกรรมที่ห้าวหาญครั้งนั้นได้กลายเป็นเหตุผลสำคัญทำให้ฟรานซิส ไลท์และบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษหันไปเลือกเกาะปีนังซึ่งเป็นเกาะร้างไม่มีผู้คนแทน สำหรับทางฝ่ายรัฐบาลกลางได้ส่งข้าหลวงใหญ่คนใหม่ คือ “เจ้าพระยาสุรินทราชา (จันทร์ จันทโรจวงศ์)”ออกมาประจำอยู่ที่ปากพระพร้อมด้วยกำลังไพร่พลมากกว่าเดิม

 หลังจากศึกถลางไม่นานนัก ชื่อของท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร เริ่มหายไปจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ หลังจากปี พ.ศ. ๒๓๓๑ แล้วไม่พบหลักฐานว่ามีการติดต่อกับฟรานซิส ไลท์อีก หนังสือประวัติท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร ได้กล่าวถึงวาระสุดท้ายของวีรสตรีทั้ง ๒ ไว้ว่า:-

 “…ท้าวเทพกระษัตรีถึงแก่กรรมที่เมืองถลาง บั้นปลายของชีวิตท่านอาศัยอยู่กับบุตรชายคนโตซึ่งเป็นเจ้าเมืองถลางที่วังท่าเรือ:- (ผู้เขียน) ส่วนท้าวศรีสุนทรตามหลานชื่อเนียมกับทองมาไปอยู่กรุงเทพมหานคร และถึงแก่กรรมในกรุง…” แต่ก็ไม่ทันพบหลักฐานเกี่ยวกับวัน เดือน ปี ที่ถึงแก่กรรมของวีรสตรีทั้ง ๒


 แม้การเวลาล่วงเลยมานานกว่า ๒๐๐ ปี ก็ตาม (พ.ศ.๒๓๒๘–๒๕๔๕ = ๒๑๗ ปี) แต่วีรกรรมอันแสดงถึงความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ของท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทรนั้น ยังเป็นที่กล่าวถึงระลึกถึงของทั้งถลาง ชาวภูเก็ตและชาวไทยทั่วไปอยู่เสมอมา ด้วยเหตุนี้จึงได้ร่วมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นเป็นเครื่องน้อมรำลึกสักการะ จวบจนบัดนี้เมื่อชาวเมืองถลางภูเก็ตจะเดินทางออกนอกจังหวัด เมื่อผ่านอนุสาวรีย์ของท่านทั้ง ๒ ต่างก็ประนมมือไหว้ไปทางอนุสาวรีย์ทันที บ้างก็ไหว้เพื่อแสดงความเคารพระลึกถึงในคุณงามความดีของท่าน บ้างก็ไหว้เพื่อขอพรให้ท่านคุ้มครองปกป้องให้ปลอดภัยในการเดินทาง และขอให้ประสบความสำเร็จในกิจการงานที่ตนเดินทางไปทำเหมือนท่านที่มีความสำเร็จในการรักษาเมืองถลาง

 ความบันทึกย่อต่อไปนี้ เป็นคำให้การของพลโท รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ นักปราชญ์ด้านประวัติศาสตร์ไทย อาจารย์สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ ประธานกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ ซึ่งกรุณาเป็นวิทยากรบรรยายรายงานผลการสัมมนาประวัติศาสตร์ครั้งที่ ๒ ประวัติท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร รวมเล่มพิมพ์เมื่อ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๓ ในหัวข้อ การบรรยายเรื่องความสัมพันธ์ของเมืองถลางกับธนบุรี กรุงเทพฯและเมืองนครศรีธรรมราช ในย่อหน้าสุดท้าย (เอกสารหน้า หน้า ๕) พลโท รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์  บอกให้รู้กันว่า

 …มาพูดถึงถลาง กองทัพเรือพม่ามาตีตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่งได้ ท่านผู้หญิงจันซึ่งถูกเกาะกุมตัวหนีมาได้ มาซ่องสุมที่เมืองถลางต่อสู้กบพม่าไม่น่าจะทัน ท่านน่าจะได้เตรียมการรบมาก่อน โดยรู้จากตะกั่วป่าว่าพม่ามาแน่แล้ว จึงมีการเตรียมทัพ ท่านท่านผู้หญิงจันเก่งมากในเรื่องเศรษฐกิจ การค้า การปกครอง ส่วนเรื่องการสู้รบเมืองถลางไม่มีกำแพงเมือง มีแต่เป็นค่ายที่ทำจากไม้เป็นเสาต้นใหญ่มาตั้งเรียกระเนียด ซึ่งน่าจะมีการทำไว้ก่อนการตั้งค่ายต้องอาศัยภูมิประเทศ  ความแข็งแรงของไม้มาทำป้อม พม่าก็มีเป็นค่ายใหญ่น่าจะอยู่ที่โคกตะโหนด ซึ่งเป็นที่รวมเสบียงอาหาร ยุทโธปกรณ์ แจกให้แก่หมวดหมู่ให้ไปตี รุกได้ก็รุก รุกไม่ได้ก็ถอย ทำกันอยู่หลายวัน  ผมไม่ทราบว่าท่านมีดีอะไรอยู่ พม่าไม่สามารถสู้ได้เลย ท่านเก่งแน่ ผมจึงเรียนว่า ผมภูมิใจในการเป็นคนภูเก็ต ได้แม่ทัพที่เก่งกล้าสามารถ แต่ในหนังสือบอกว่าพม่าอดอยากแล้วถอยเรือกลับ ไม่ใช่นะครับ พม่านั้นสู้ไม่ได้และอดด้วยจึงถอย และในรูปคณะของท่านผู้หญิงจันไล่ตีตามไปถึงหาดและมีเขียนด้วยว่าท่านผู้หญิงจันไล่ตีพม่าจนกระทั่งหนีลงเรือไป  ลักษณะห้าวหาญอย่างท่านผู้หญิงจันคุณหญิงมุก คงไม่ให้พม่าถอยไปง่าย ๆ ท่านรู้ว่าพม่าอ่อนหิวโหย ท่านต้องตามแน่ ศึกจบลงในวันที่ ๑๓ มีนาคม รวมเวลาแล้วไม่ถึง ๒ เดือน
อาจารย์สมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์ กรุณาเป็นวิทยากรในเรื่องเดียวกัน ขอเพิ่มเติม ความว่า
 กรุณาดูเอกสารหน้า ๒๙ หลักต่อไปมีภาพ ท่านท้าวเทพกระษัตรีและจดหมายเหตุเมืองถลางฉบับที่ ๑ ตามหลักฐานหนังสือท่านผู้หญิงมาถึงลาโตกในบรรทัดที่ ๕ “…แลมีข่าวว่า พม่าจะมาตีเมืองถลางท่านพญาถลางเจ็บหนักอยู่ ถ้าพม่ายกมา จึงข้าเจ้าจะได้พึ่งลาโตกเป็นหลักยึดต่อไป…” อันนี้ผมเรียนว่า ที่พลโทรวมศักดิ์ถามว่ากี่เดือน ดูจากฉบับที่ ๒ ขวามือ หนังสือเจ้าพระยาสุรินทราชา บรรทัดที่ ๕ “…ได้รบพุ่งต้านต่อด้วยพม่า ร้างรากันอยู่เถิงประมาณเดือนหนึ่ง ฝ่ายพม่าล้มตายเจ็บป่วยลงประมาณ ๓๐๐ ถึง ๔๐๐ คน พม่ายกเลิกแตกไป ณ วันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๔ ค่ำ มีมะเส็ง สัพศกนั้น…” เทียบแล้วเป็นวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๓๒๘

 ฉบับที่ ๓ ต่อ หนังสือท่านผู้หญิงถึงพระยาราชกปิตัน ในบรรทัดที่ ๗ “…บ้านเมืองเป็นจุลาจลอดข้าวปลาอาหารเป็นหนักหนา ตูข้ายกมาตั้งทำดีบุกอยู่ ณ ตะปำ ได้ดีบุกบ้างเล็กน้อย…”  ”…แลอนึ่ง เมื่อพม่ายกมานั้น พญาธรรมไตรโลกให้เกาะเอาตัวตูข้าไปไว้ ณ ปากพระ ครั้นพม่ายกมาตีปากพระได้กลับแล่นหนีมา ณ บ้าน…” ข้อความตอนนี้ขัดแย้งกับที่ท่านพลโทรวมศักดิ์ค้านไว้

พลโทรวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ กล่าวต่ออีกว่า ก็เป็นอันว่ามาจากปากพระ
 เมื่อสงครามสงบเกิดเป็นความดีความชอบ ได้รับแต่งตั้งเป็นท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร…
 ขอเรียนอีกนิด ที่อ่าวเลพัง เกาะทะ เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ วัดพระนางสร้างก็เช่นกัน ได้ข่าวว่ามีเข้าของหมดแล้ว แล้วเราจะเอาอะไรไปเชิดชู

 ทั้งหมดที่นำมาบันทึกบอกเล่าแล้วนี้เป็นเพียงบทความสั้น ๆ โดยสรุปในเหตุการณ์ครั้งสำคัญเท่านั้น เพื่อให้รู้ว่าทำไมจึงต้องสร้างอนุสาวรีย์ให้ท่านทั้ง ๒ ประกอบด้วยยังมีผู้คนส่วนมากเมื่อมีโอกาสเดินทางผ่านอนุสาวรีย์นี้ก็มักจะพูดว่าในลักษณะไม่รู้จักประวัติและคุณความดีอันยิ่งใหญ่ของท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทรทีให้กับชาติบ้านเมืองมีประการใดท่านทั้ง ๒ ประกอบวีรกรรมอะไร เป็นต้น ผู้เขียนจึงมีดำริว่า เห็นควรเขียนหยิบยกเอาประวัติการสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้ออกมาเผยแพร่เพื่อให้เป็นที่กระจ่างสำหรับผู้คนที่ยังไม่รู้จักดีนัก ก็เรียบเรียงเนื้อหาสาระในทำนองสรุปเอาอ่านในลักษณะเชิงส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ นอกเหนือจากนี้หากมีผู้อ่านหรือผู้สนใจปรารถนาจะศึกษาเรียนรู้ให้ลึกซึ้งละเอียดพิสดาร ก็ให้หาหนังสือประวัติความเป็นมาประวัติศาสตร์เมืองถลาง_ภูเก็ต ของผู้เขียนซึ่งได้ศึกษาค้นคว้าและเรียบเรียงที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่สามารถไว้แล้วผู้เขียนยินดีให้เป็นวิทยาทาน เพื่ออุทิศกุศลกรรมที่ประพฤติปฏิบัตินี้แด่ดวงวิญญาณท่านท้าวเทพกระษัตรี(จัน)ท่านท้าวศรีสุนทร(มุก)

 ความเหี้ยมโหดและชอบรุกรานก่อสงครามกับประเทศเพื่อบ้าน(ไทย)หลายครั้งหลายหน ได้สร้างความเคียดแค้นชิงชังแก่ชาวไทยยิ่งนัก สมเด็จกรมพระราชวังบวรในรัชกาลที่ ๑ ได้พระราชนิพนธ์เพลงยาวนิราศ เมื่อ พ.ศ.๒๓๓๖ ความว่า
  “ไอ้ชาติพม่ามันอาธรรม์
เที่ยวล้างขอบขัณฑ์ทุกพารา
แต่ก่อนก็มิให้มีความสุข
รบรุกฆ่าฟันเสียหนักหนา
ยับเยินเป็นป่าทุกตำบล
มันไม่คิดบาปกรรมทำลำบาก
แต่พลัดพรากจากกันทุกแห่งหน
มันเหล่าอสัตย์ทรชน
ครั้งนี้จะป่นเป็นธุลี” 

สดุดีวีรชนไทย
 
 “สุริโยทัยพระแม่เจ้า         วีรสตรีเอย
 แซงทัพเจ้าแปรชนะ          จักรพรรดิเจ้า
 ถูกฟันพระอังสะ                สะพายแล่ง  ขาดนา
 สูญชีพพิทักษ์ท้าว            และด้าวแดนไทย

 จันมุกสองพี่น้อง                   หญิงถลาง
 ยอดวีรสตรีทาง                     ปักษ์ใต้
 คุมทัพขับพม่าปาง                  ศึกใหญ่  ปดุงนา
 ท้าวเทพกระษัตรีพี่ได้               ฝ่ายน้องศรีสุนทร

 คุณหญิงโมแม่เจ้า                 ชาวไทย  อีสาน
 พลีร่างเพื่อชาติใจ                    อธึกห้าว
 ปราบทัพอนุปลาตไป               จากถิ่นไทยแล
พระนั่งเกล้าฯโปรดเกล้า           ยศท้าวสุรนารี

 ของพระคุณเจ้าพระเทพญาณโมลี  ปัตตานี


  “เปลก็ไกว        ดาบแกว่ง        แข็งหรือไม่
 ใช่อวดหยิ่ง        หญิงไทย        มิใช่ชั่ว
 ไหนไถถาก         กรากกรำ        ไหนทำครัว
 ใช่ดีแต่              จะยั่ว             ผัวเมื่อไหร่
 แรงเหมือนมด        อดเหมือนกา        กล้าเหมือนหญิง
 นี่จะจริง           เหมือนว่า          หรือหาไม่        
เมืองถลาง       ปางจะจอด         รอดเพราะใคร
 เพราะหญิงไทย          ไล่ฆ่า            พม่าแท้”

 ของพระเจ้าบรมวงศ์กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
 กุมภาพันธ์  ๒๕๔๕
 

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( พฤหัสบดี, 22 มีนาคม 2018 )