มทศ.จห.44
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
จันทร์, 17 มกราคม 2011

จดหมายเหตุเมืองถลางและหัวเมืองปักษ์ใต้
ต้นฉบับของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต (ศวภ.)


ประสิทธิ  ชิณการณ์ : อ่านและวิเคราะห์

Click at the image to view full size
ฝากรูป

มทศ.จห.๔๔ (ใช้หมายเลขตรงกับ ฉบับ ศวภ ๔๔) 


คำอ่าน ๐ หนังสือข้าพเจ้าขุนพิฆาตไพริน ขุนหมื่นเมืองถลาง กราบเท้ามายังฝ่าเท้าท่านพระยาราชกปิตันเหล็ก ด้วยข้าพเจ้า ถือหนังสือท่านเจ้าพระยาสุรินทราชาพระยาถลางออกมายังฝ่าเท้าใบหนึ่ง ครั้นมาถึงเมืองไทร พระยาไทรให้ข้าพเจ้า ไปเกาะตะรุเตา ข้าพเจ้าจึงมิได้มากราบเท้าท่านและข้อราชการทั้งนี้ แจ้งมาให้ท่านตุวันสาเสดวาสันทุกประการ ผู้ถือหนังสือนี้ ด้วยท่านตุวันสาเสด ได้เข้าไปเฝ้า ณ กรุงบ้างแล้ว ๆ มีตราคุ้มห้ามอยู่ อนึ่งหนังสือท่านเจ้าพระยาสุรินพระยาถลางนั้น ข้าพเจ้าฝากมาแก่จีนลูกค้ามายังฝ่าเท้าท่านถึงไม่ถึงประการใดข้าพเจ้ามิแจ้ง แล้วถ้าหนังสือเจ้าพระยาสุรินพระยาถลางซึ่งข้าพเจ้าฝากแก่จีนมาถึงท่านแล้ว ขอท่านได้ตอบหนังสือเจ้าพระยาสุรินให้ตุวันเสดวาสันถือไปแจ้ง ณ เมืองคอนก็ตาม ณ เมืองถลาง หนังสือมา ณ วันอาทิตย์แรมค่ำหนึ่งเดือนเจ็ดปีกุนตรีศก 


วิเคราะห์ ๐ ขุนพิฆาตไพรินทร์ได้แจ้งสถานภาพของตนว่าเป็น "ขุนหมื่นเมืองถลาง" เป็นการ แนะนำตัวต่อพระยาราชกปิตัน ซึ่งคงจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเนื่องจากตำแหน่ง "ขุนหมื่น" นี้ เป็นตำแหน่งที่เจ้าเมืองสามารถจะแต่งตั้งใครขึ้นมาก็ได้ตามอำนาจที่มีอยู่ เพื่อให้ทำหน้าที่ต่าง ๆ ตามความจำเป็น ถือเป็นตำแหน่งขุนนางระดับผู้น้อยที่สุดในบ้านเมือง (ดูพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕) 


 หนังสือท่านเจ้าพระยาสุรินพระยาถลาง ที่กล่าวถึงในจดหมายฉบับนี้ น่าจะหมายถึงหนังสือเจ้าพระยาสุรินทราชา และพระยาเพชรคีรีศรีพิไชยสงคราม ตามเอกสารมทศ.จห. (ใช้หมายเลขตรงกับ ฉบับ ศวภ ๔๓ ซึ่งคงจะมอบหมายให้ขุนพิฆาตไพรินทร์ ถือไปหาพระยาราชกปิตัน ณ เมืองปีนัง แล้วขุนพิฆาตไพรินทร์คงจะเดินทางไปทางบก แวะเมืองไทรบุรีก่อนจะเข้าเมืองปีนัง จึงถูกพระยาไทรบุรี ใช้ให้ไปเกาะตะรุเตาเสีย ขุนพิฆาตไพรินทร์มีความสัมพันธ์กับพระยาไทรบุรีใกล้ชิดกันขนาดไหนไม่ทราบได้จึงต้องละทิ้งหน้าที่ในตำแหน่ง "ขุนหมื่นเมืองถลาง" กลับไปทำงานตามคำสั่ง พระยาไทรบุรี โดยฝากหนังสือ ของพระยาถลางเจ้านายโดยตรงแห่งตนให้ "จีนลูกค้า" นำไปยัง พระยาราชกปิตัน และเล่าเรื่องความจำเป็นในการทำเช่นนี้ให้ "ตุวันสาเสดวาสัน" รับรู้ไว้เพื่อจะได้บอกเล่าแก่พระยาราชกปิตันอีกทีหนึ่ง เพราะท่านผู้นี้ก็จะมาเมืองปีนังเช่นกัน


 คำว่า "ตุวัน" น่าจะมาจากคำมาเลย์ "ตวน" ซึ่งเป็นคำสรรพนามสำหรับบุรุษที่สามเมื่อผู้กล่าวถึงใช้ด้วยความเคารพนับถือ
 ข้อความท่อนสุดท้าย ของหนังสือขุนพิฆาตไพรินทร์บ่งบอกว่า เมื่อพระยาราชกปิตันจะตอบหนังสือเจ้าพระยาสุรินทราชาและพระยาถลาง ก็ให้ตอบแล้วฝากไปกับตุวันเสดวาสัน ถือไปยังเจ้าพระยาสุรินทราชาและพระยาถลาง ที่เมืองคอน คือนครศรีธรรมราช ก็ได้ หรือที่เมืองถลางก็ได้ นั้น สันนิษฐานว่าขุนพิฆาตไพรินทร์ คงจะไม่กลับไปยังเมืองถลางอีกแล้ว หรือหากจะกลับก็คงจะไม่มีกำหนดแน่นอน ความยุ่งยากทั้งนี้เกี่ยวเนื่องกับพระยาไทรบุรี ซึ่งกำลังคิดอะไรอยู่เราไม่ทราบ


 ข้อน่าคิดอีกอย่างหนึ่งคือ การตอบจดหมายเจ้าพระยาสุรินทราชาโดยให้ส่งไปทางเมืองนครศรีธรรมราชนั้น คงจะเนื่องจากเจ้าพระยาสุรินทราชาเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ ที่เมืองนครศรีธรรมราชรู้จัก และให้ความเคารพนับถืออยู่มาก เรื่องราวของเจ้าพระยาสุรินทราชาที่ผ่านมาทางนครศรีธรรมราชจึงได้รับการดูแลเอาใจใส่อำนวยความสะดวกให้เป็นอย่างดีด้วย ซึ่งเหตุผลข้อนี้มีข้อเท็จจริงอีกเรื่องหนึ่งในตอนที่เจ้าพระยาสุรินทราชาตัดทางขนส่งพระราชทรัพย์หลวงผ่านมะรุ่ย-เขาพนม ได้ขอร้องเจ้าพระยานครมิให้แต่งตั้ง "หลวงขุนหมื่น นายหมวดนายกอง" ออกมาประจำในด่านมะรุ่ย ปากพนม แต่เมืองถลางจะตั้งขึ้นเอง เจ้าพระยานครก็ยินยอม

ปาณิศรา(นก) ชูผล : บันทึก

ผช.หมายเหตุรักษ์ มทศ.

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( พฤหัสบดี, 14 กรกฎาคม 2011 )