มทศ.จห.45
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
จันทร์, 17 มกราคม 2011

จดหมายเหตุเมืองถลางและหัวเมืองปักษ์ใต้
ต้นฉบับของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต (ศวภ.)


ประสิทธิ  ชิณการณ์ : อ่านและวิเคราะห์

 

Click at the image to view full size
ฝากรูป

มทศ.จห.๔๕ (ใช้หมายเลขตรงกับ ฉบับ ศวภ ๔๕) 


คำอ่าน ๐ หนังสือท่านเจ้าพระยาถลาง มายังโต๊ะพระยาราช ด้วยจะต้องการปืนคาบศิลาชาติสุตันชาติฝรั่งเศส สักสองร้อยกระบอก ดินผะสิวดำสัก ๒๐-๓๐ หีบจะซื้อไว้รักษาบ้านเมืองให้ท่านช่วยจัดแจงว่ากล่าวให้ลูกค้าผู้หนึ่งผู้ใดช่วยบรรทุกปืนชาติสุตัน/ฝรั่งเศส ดินผะสิวดำมา ณ เมืองถลาง ตูข้าจะจัดดีบุกให้ ตามราคาไม่ให้ขัดสน อนึ่ง นายเรือบาหวาติดหนี้หลวงถึงห้าสิบภาราเศษนายเรือบาหวาผัดต่อกรมการ ๆ ให้นายเรือบาหวาผัดส่งเงินอยู่ ภายหลังนายเรือบาหวา พาบุตรภรรยาหนี กรมการให้ติดตามสืบสาว จะเอาตัวนายเรือบาหวาสิบผู้โดยสาร ซึ่งไปสลุปลำเดียว ด้วยกปิตันวิราเสนได้เนื้อความว่ากปิตันวิราเสน ออกสลูปแต่ปากน้ำเมืองถลางมาถึงแหลมเกาะยาว และกปิตันวิราเสน ได้ยิงปืนใหญ่ในสลูปที่หนึ่ง นายเรือบาหวาตีกรรเชียง มาถึงสลูปกปิตันวาราเสน ๆ ให้ทิ้งสาย ในสลูป ให้นายเรือบาหวา นายเรือบาหวารับผูกหัวเรือเข้าแล้วพากันแล่นใบถึงเกาะปุเหล้าสะเดา นายเรือบาหวาบอกแก่กปิตันวิราเสนว่าอดน้ำจะแวะเข้าเกาะปุเหล้าสะเดา จึงกปิตันวิราเสนแก้สายให้นายเรือบาหวาพาเรือไป และให้สืบผู้มีชื่อถึง ๒-๓ ปาก ให้การต้องคำกัน และฝ่ายกรมการ จะยึดเอากปิตันวิราเสนให้ส่งนายเรืองบาหวา และตูข้าเห็นว่าโต๊ะพระยานายท่านอยู่ ณ เกาะปุเหล้าปีนังตูข้าอยู่ ณ เมืองถลาง ๆ กับปุเหล้าปีนัง เป็นทางค้าขายไปมาหากันอยู่เนือง ๆ จึงตูข้าว่ากล่าวรำงับกรมการ ไว้มีหนังสือ บอกเนื้อความมาถึงโต๊ะพระยานายท่านให้แจ้งวิราเสนเอาตัวบาหวาส่งให้แก่กรมการ จึงกรมการกับกปิตันวิราเสนจะไม่ได้วิวาทแก่กันสืบไป เกาะปุเหล้าปีนัง กับเมืองถลางจะได้ไปมาค้าขายแก่กันสืบไปดุจดังแต่ก่อนสะดวกและให้โต๊ะพระยานายท่าน พิเคราะห์ตรึกตรองดูการให้ละเอียดจงหนักอย่าให้เนิ่นช้านอนใจอยู่ได้ หนังสือมา ณ วันเสาร์ เดือนเก้าแรมสิบสามค่ำปีกุนนักษัตรตรีศก  


วิเคราะห์ ๐ ปีกุนตรีศก จุลศักราช ๑๑๕๓ พ.ศ.๒๓๓๔ นั้น เป็นช่วงที่พระยาเพชรคีรีศรีพิไชยสงคราม (เทียน) เป็นเจ้าพระยาถลางอยู่ บริวารของพระยาราชกปิตัน คือ กปิตันวิราเสน ค่อนข้างจะวางตัวไม่เหมาะสมในการยินยอมให้ลูกหนี้ของเมืองถลางอาศัยบารมีหลีกเลี่ยงการเกาะกุมตัว เพื่อยึดทรัพย์ไปชดใช้หนี้สิน กรมการเมืองถลางจึงคิดจะใช้อำนาจบ้านเมืองปฏิบัติต่อกปิตันวิราเสน ซึ่งขณะนั้น สันนิษฐานว่าคงจะเข้ามาตั้งสำนักงานและคลังสินค้าอยู่ที่เมืองถลางเช่นเดียวกับที่พระยาราชกปิตัน เคยทำมาก่อน แต่พระยาเพชรคีรีศรีพิไชยสมคราม (เทียน) ประมุขเมืองถลางไม่เห็นด้วย จึงสั่งระงับไว้ก่อน แล้วมีหนังสือฉบับนี้ไปยังพระยาราชกปิตันที่เกาะปีนังนับว่าเป็นวิธีปฏิบัติการทางการทูตที่ละมุนละม่อมอย่างหนึ่ง ในสมัยนั้นจะสังเกตเห็นถ้อยคำที่ใช้ว่า เด็ดขาดบีบคั้นพอสมควรแต่ก็รักษาไว้ซึ่งความสุภาพไม่ก้าวร้าวเช่น "-ขอให้โต๊ะพระยานายท่านพิเคราะห์ตรึกตรองดูการ ให้ละเอียดจงหนัก อย่าให้เนิ่นช้านอนใจอยู่ได้-" ดังนี้เป็นต้น 


 ในการศึกษาชีวประวัติพระยาเพชรคีรีศรีพิไชยสงคราม รามคำแหง เจ้าพระยาถลาง, จะพบว่าท่านผู้นี้มีคุณสมบัติ ที่จัดได้ว่าเป็น "รัตนบุรุษ" ผู้หนึ่งของเมืองถลาง เพราะมีทั้งความกล้าหาญ, ความฉลาดในนโยบายต่างประเทศ คือการทูตฯ ซึ่งหากท่าน ได้รับราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในพระมหานครแล้วคงจะเจริญในหน้าที่ราชการจนถึงระดับสูงสุด หากแต่เป็นเจ้าเมืองชายขอบก็ยังเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์ จนถึงขั้นผู้สำเร็จราชการทั้ง ๘ หัวเมืองฝั่งตะวันตก เสียดายแต่ต้องมา จบชีวิตลงเพราะการสงครามกับพม่าซึ่งมีกองกำลังถึงหมื่นสองพันคนเหลือวิสัยที่เมืองถลางเล็ก ๆ จะต้านทานได้

ปาณิศรา(นก) ชูผล : บันทึก

ผช.หมายเหตุรักษ์ มทศ.