มทศ.จห.42
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
จันทร์, 17 มกราคม 2011

จดหมายเหตุเมืองถลางและหัวเมืองปักษ์ใต้
ต้นฉบับของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต (ศวภ.)


ประสิทธิ  ชิณการณ์ : อ่านและวิเคราะห์

 

Click at the image to view full size
ฝากรูป

มทศ.จห.๔๒ (ใช้หมายเลขตรงกับ ฉบับ ศวภ ๔๒) 


คำอ่าน ๐ หนังสือท่านเจ้าพระยาสุรินทราชาอธิบดีศรีพิไชยสงครามรามภักดีพิริยพาหะ ผู้สำเร็จราชการ ณ เมืองถลางบางคลี ตะกั่วทุ่งตะกั่วป่า แปดหัวเมืองมาถึง ท่านพระยาราชกปิตัน ซึ่งเป็นอธิบดีผู้ใหญ่อยู่ ณ เมืองปุเหล้าปีนัง ด้วยมีข้อราชการแจ้งไปว่าพวกแขกโจรเหล่าร้ายคบคิดกันยกเป็นกองทัพมา จะทำจุลาจลแก่เมืองปุเหล้าปีนังนั้นก็มีความวิตกถึงท่านอยู่หนักหนาแต่พิเคราะห์เห็นว่า อรินณราชศัตรู หมู่ประจามิตรในท้องทะเลทั้งนั้นจะคิดมาทำร้ายแก่ท่านก็เห็นจะอับปราชัยพ่ายแพ้ไปเอง ถึงกระนั้นก็อย่าให้ท่านไว้ใจแก่การสงคราม ถ้าท่านวัฒนาการจำเริญสุขยืดยาวสืบไปก็ยังจะได้เป็นที่พำนักอาศัยไปมาถึงกันสืบไปอยู่ อนึ่งถ้าเดชะอานุภาพแห่งท่านพวกหมู่ประจามิตรคงคิดอับปราชัยพ่ายแพ้ไปแล้ว ให้ท่านช่วยจัดปืนคาบศิลาต้องอย่างให้ได้สักสามพันสี่พันกระบอกกับดินประสิวดำ ศิลาปากนกได้จงมากส่งเข้ามา ณ เมืองถลาง จะจัดดีบุกส่งให้มิให้ขัดสน แล้วจะได้เป็นทางไมตรีกันสืบไป หนังสือมา ณ วันประหัส เดือนสามขึ้นเจ็ดค่ำศักราช ๑๑๕๒ ปีจอ โทศก 


วิเคราะห์ ๐ ปีจอ โทศก จุลศักราช ๑๑๕๒ พ.ศ.๒๓๓๓ นั้น สุลต่านไทรบุรี ตัดสินพระทัย นำกำลังเข้าบีบคั้นพระยาราชกปิตัน ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการเช่าเกาะปีนังที่พระองค์ต้องการ แต่พระยาราชกปิตันโดยความช่วยเหลือของ กัปตันแกล้ส (ซึ่งเคยนำเรืองมาลุแก่อำนาจเมืองถลางเมื่อ พ.ศ.๒๓๓๒ ปีระกาเอกศก ตามเอกสาร ศวภ ๓๘ ตามชื่อ ที่ชาวถลางเรียกว่า "กปิตันกอแร้") ผู้ห้าวหาญก็สามารถต้านทานกองกำลังของสุลต่านไทรบุรีไว้ได้อย่างเหนียวแน่นจนในที่สุดสุลต่านไทรบุรีจำต้องขอสงบศึกและพระยาราชกปิตันยินดีจ่ายค่าชดเชยต่าง ๆ ให้เป็นรายปี เพื่อจะได้ครอบครองเกาะปีนังต่อไป สัญญาลงชื่อกันในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๓๓๔ (ค.ศ.๑๗๙๑) 


 กองกำลังของสุลต่านไทรบุรีประกอบด้วยทหารประจำการแต่น้อย มีพวกสลัดเข้าร่วมด้วยจำนวนมาก เนื่องจากมีสินน้ำใจหรือค่าจ้างเป็นผลประโยชน์ ฉะนั้นข่าวที่แพร่สะพัดมาถึงเมืองถลาง จึงสะพัดมาในรูปแบบของ "พวกแขกโจรเหล่าร้าย"
 เมืองถลาง หวาดผวาอยู่กับภัยสงครามทั้งจากพม่า และจากโจรสลัดอยู่เป็นนิจมิได้สงบสติลงได้ จึงต้องจัดซื้ออาวุธไว้ป้องกันเมืองอยู่ประจำ
 บางโอกาสการสั่งซื้ออาวุธของเมืองถลาง มิได้เจาะจงเพียงเพื่อป้องกันเมืองเท่านั้น หากยังเป็นการสั่งซื้อเพื่อส่งไปยังกรุงเทพมหานคร ตามนโยบายของส่วนกลางอีกด้วย เพราะการสั่งซื้อปืนใหญ่ หรือปืนรุ่นใหม่จากยุโรปนั้น ซื้อผ่านทางเมืองถลางจะสะดวกกว่าผ่านทางอื่นเนื่องจากเมืองถลางมีดีบุก ส่วนที่เป็น "พระราชทรัพย์หลวง" ติดค้างอยู่สามารถนำเอาไปเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนอาวุธปืนแทนการนำส่งเข้าท้องพระคลังที่กรุงเทพฯ ได้ แล้วจึงขนเอาปืนไปแทน

ปาณิศรา(นก) ชูผล : บันทึก

ผช.หมายเหตุรักษ์ มทศ.