มทศ.จห.3
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พฤหัสบดี, 30 ธันวาคม 2010

จดหมายเหตุเมืองถลางและหัวเมืองปักษ์ใต้
ต้นฉบับของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต (ศวภ.)


ประสิทธิ  ชิณการณ์ : อ่านและวิเคราะห์

Click at the image to view full size
ฝากรูป

มทศ.จห.๓ (ใช้หมายเลขตรงกับ ฉบับ ศวภ ๓) 


คำอ่าน ๐ หนังสือท่านพระยาสุรินทราชาพระยาพิมลขัน(พญาถลางพิมลอยา)ให้ไว้แก่กปิตัน บังเกน ด้วยกปิตันบังเกน  บรรทุกปืนชาติตุระหมัดมาจำหน่าย ณ เมืองถลาง สี่ร้อยเก้าสิบ บอกคิดหกบอกต่อภารา เป็นดีบุกแปดสิบเอ็ดภาราห้าแผ่นสามบาทสลึง และไดรับเอาปืนชาติตุระหมัดสี่ร้อยเก้าสิบบอกไว้แล้ว และดีบุกนั้น ฝ่ายกปิตันบังแกนว่าจะไปเมืองมะละกาก่อน จึงจะกลับมารับเอาดีบุก ถ้ากปิตันบังเกนกลับมาแต่เมืองมะละกาแล้วจึงจะส่งดีบุกค่าปืนให้ตามหนังสือสัญญาซึ่งทำให้นี้ปิดตราให้ไว้ ณ วันอังคาร เดือนเก้าขึ้นสองค่ำ ศักราชพันร้อยสามสิบเก้าปีระกานศก ๐ 


วิเคราะห์ ๐ สุนัย ราชภัณฑารักษ์ วิเคราะห์ว่าพระยาสุรินทราชาพระยาพิมลขันเป็นบุคคลคนเดียวกัน โดยเอกสารฉบับนี้ได้ระบุทั้งยศตามตำแหน่งเจ้าเมืองถลาง ซึ่งสมัยนั้นมีบรรดาศักดิ์ว่า "พระยาสุรินทราชา" แต่ระบุชื่อตัวคือ พระยาพิมลขัน(พญาถลางพิมลอยา) เพื่อชี้ชัดว่า "พระยาสุรินทราชา"ที่กล่าวถึงในเอกสารฉบับนี้ คือพระยาสุรินทราชาผู้นี้เท่านั้น มิได้หมายถึงพระยาสุรินทราชาที่เคยรับตำแหน่งเจ้าเมืองถลางมาก่อน หรือจะมารับตำแหน่งภายหลัง 


 กปิตันบังเกน หรือบังแกน ที่เอกสารฉบับนี้เอ่ยนามเป็นคู่สัญญานั้น คงจะเป็นคนเดียวกันกับที่ปรากฏนามอยู่ในเอกสารมทศ.จห.๒ (ใช้หมายเลขตรงกับ ศวภ ๒) ที่ได้วิเคราะห์ผ่านมาแล้ว
 ปืนชาติตุระหมัด คงจะเป็นปืนนชนิดเดียวกับที่เอกสาร ศวภ ๒ เรียกว่าปืนชาติเจะรอมัดซึ่งเป็นการเรียกชื่อเพี้ยนไปทั้ง ๒ ฉบับจากคำว่า "เยอรมัน"


 ค่าปืนทั้งหมดสี่ร้อยเก้าสิบกระบอก คิดเทียบราคากับดีบุกแล้ว ต้องจ่ายดีบุกให้เป็นค่าปืนแปดสิบเอ็ดภาราห้าแผ่นสามบาทสลึงซึ่งความข้อนี้น่าสนใจวิเคราะห์อย่างยิ่ง


 ตามที่เคยศึกษาว่าดีบุกหนักหนึ่งภาราเทียบได้กับน้ำหนักฝ่ายจีนสามหาบ หรือ ๓๐๐ชั่งจีน สมัยเมื่อ ๒๐๐ ปีที่ผ่านมานี้ เมืองถลางคงจะมาไม่มีเครื่องมือสำหรับชั่งของหนักมากๆ ได้ถึงคราวละ ๓๐๐ ชั่งเป็นแน่ฉะนั้นการหลอมดีบุกออกมาเป็นผลึกโลหะจึงคงจะต้องแบ่งออกเป็นผลึกหรือเป็นแผ่นให้มีน้ำหนักเพียงพอที่จะขึ้นตาชั่งได้สะดวก คือ อาจจะเป็นแผ่น (ผลึก) ละ ๒๐ ชั่ง จะยกเคลื่อนย้ายหรือแบกขนก็ไม่หนักแรงเกินไป ดีบุกแผ่น(ผลึก) ๑๕ แผ่น ก็จะมีน้ำหนักหนึ่งภารา (๓๐๐ชั่ง)


 คำว่า "บาท-สลึง" ในเอกสารฉบับนี้ คงมิได้หมายถึงมาตราเงินตรา เนื่องจากเมืองถลางยุคนั้นยังใช้เงินเหรียญมลายูเป็นสื่อซื้อขายอยู่ ดังจะได้พบในเอกสารจดหมายเหตุ ฉบับต่อๆไป


 คนโบราณนั้น นิยมเรียกส่วนที่ไม่ครบหน่วยการนับหรือการชั่ง ออกเป็น "กึ่ง" เป็น "บาท""และ "เป็น สลึง" คำว่า บาท ในเอกสารฉบับนี้ จึงมีความหมายถึงน้ำหนัก ๑ ใน ๔ ของแผ่นดีบุก ซึ่งถ้าดีบุกหนึ่งแผ่นมีน้ำหนัก ๒๐ ชั่ง ส่วนที่เรียกเป็นบาทก็คือ ๕ ชั่งสามบาท ก็คือ ๑๕ ชั่ง


 สำหรับคำว่า "สลึง" ตามความหมายของคนสมัยก่อน ก็หมายถึง "เสี้ยว" หรือ ๑ใน ๔ ของบาท คือ ๑ ชั่ง กับเศษอีก ๑ใน ๔ ของชั่ง หรือ ๑ ชั่งกับ ๕ ตำลึง(น้ำหนัก)
 อย่างไรก็ตาม คำวิเคราะห์นี้ เป็นเพียง "ตาบอดคลำช้าง" เท่านั้น เนื่องจากยังไม่สามารถจะค้นหาหลักเกณฑ์หรือหลักฐานใดๆ มายืนยันได้แน่นอน


 พระยาสุรินทราชาหรือพระยาถลางพิมลขันซื้อปืนจำนวนนี้จากพ่อค้าอังกฤษ ก็คงจะเป็นการซื้อไว้ใช้สำหรับป้องกันเมืองถลางเอง เพราะไม่มีการกล่าวอ้างว่าให้จัดส่งเข้าไปยังกรุงเทพมหานครแต่อย่างใด

 

ปาณิศรา(นก) ชูผล : บันทึก

ผช.หมายเหตุรักษ์ มทศ.