มทศ.จห.33
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พฤหัสบดี, 30 ธันวาคม 2010

จดหมายเหตุเมืองถลางและหัวเมืองปักษ์ใต้
ต้นฉบับของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต (ศวภ.)


ประสิทธิ  ชิณการณ์ : อ่านและวิเคราะห์

 

Click at the image to view full size
ฝากรูป

มทศ.จห.๓๓ (ใช้หมายเลขตรงกับ ฉบับ ศวภ ๓๓) 


คำอ่าน ๐ หนังสือข้าพเจ้าพระยาทุกรราชผู้เป็นพระยาปลัด ขอบอกมายังโต๊ะท่านพระยาราชกปิตัน ด้วยมีตราทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมออกมา ณ เมืองถลาง ว่ากรมการเมืองถลางกับพระยาธรรมไตรโลก พระยาฦาเจ้าราชกูลออกมาแต่ก่อน คิดอ่านหักเอาเงินของโต๊ะพระยาท่านไว้ ว่าโต๊ะพระยาท่านติดเงินแต่ครั้งพระยาตากเป็นเจ้านั้น บอกท้องตราซึ่งให้พระยาธรรมไตรโลก เจ้าราชกูล ถือมา ทำให้โต๊ะพระยาท่านโกรธขึ้งนั้น ทรงพระกรุณาเอาโทษแก่พระยาธรรมไตรโลก เจ้าราชกูล ข้าหลวง และกรมการพระยาท่านนั้น ล้นเกล้าล้นกระหม่อมประภาษทรงวิตกคิดถึง จะใคร่ได้พบโต๊ะพรยาท่าน ปรึกษาราชกิจบ้านเมือง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม มีตราให้จมื่นชำนาญไภยชน หลวงปราบณรงค์เอาตราลุวางถึงโต๊ะพระยาท่านแล้ว ให้โต๊ะพระยาท่าน คิดอ่านให้ชอบข้อราชการในทางพระราชไมตรี และถ้าโต๊ะพระยาท่านคิดอ่าน ตลอดสะดวกไปได้ ให้ชอบในกระแสข้อราชการครั้งนี้ ถึงมาดว่าเมืองถลางจะทำดีบุกได้มากน้อยประการใดเห็นไม่พ้นเงื้อมมือโต๊ะพระยาท่านเป็นเที่ยงแล้ว ข้าพเจ้าผู้เป็นลูกหลานข้างนี้ ก็จะได้เป็นที่พึ่งที่ยึดสืบไป และให้โต๊ะพรยาท่านคิดความตักตวงดูในน้ำใจแต่ที่ชอบ ข้าพเจ้าขอปรานีบัติมา ณ วันอังคาร เดือนยี่แรมสิบสี่ค่ำ จุลศักราชพันร้อยยี่สิบเก้าปีมะแมนพศก 


วิเคราะห์ ๐ เป็นที่น่าสังเกตว่า "พระยาธรรมไตรโลก" ซึ่งพงศาวดารเมืองถลาง กล่าวถึงว่า เป็นข้าหลวงใหญ่ ถืออาญาสิทธิ์จากกรุงเทพมหานคร เพื่อจักการเรื่องเมืองถลางใน พ.ศ.๒๓๒๘ และมาตั้งอยู่ค่ายปากพระ แล้วเจ้าพระยาอินทวงศา ผู้สำเร็จราชการคนเดิมกระทำอัตวินิบาตกรรมลง แล้วพม่ายกมาตีค่ายปากพระ พระยาธรรมไตรโลกเสียชีวิตในที่รบนั้นเอกสารฉบับนี้ เป็นหลักฐานที่ระบุชัดว่า พระยาธรรมไตรโลก และพระยาฦาเจ้าราชกูล มิได้เสียชีวิตระหว่างสงครามพม่า หากแต่ยังมีชีวิตต่อมา จนถูกลงโทษฐานคบคิดกับ "กรมการ ณ เมืองถลาง" ฉ้อฉลเงินทองของพระยาราชกปิตัน ในระหว่างที่มีอำนาจเป็นผู้ดูแลเมืองถลางและหัวเมืองฝั่งตะวันตกอยู่นั้น ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระยาราชกปิตันเบื่อหน่ายต่อการทำการค้าติดต่อกับเมืองถลางในเวลาต่อมา แม้ว่าสงครามพม่าจะสุดสิ้นลงแรมปีแล้วก็ตาม เรื่องราวที่พระยาราชกปิตัน ไม่ยอมนำเรืองเข้ามาซื้อขายสินค้ากับเมืองถลางทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกรมพระราชวังบวรฯ จึงทรงวิตก ห่วงใยและทรงเข้าแก้ไขเหตุการณ์ ด้วยการทรงมีพระราชสาส์นให้ข้าหลวงถือผ่านมาทางเมืองถลางเพื่อให้พระยาทุกรราช (เทียน) ซึ่งทรงทราบว่า สนิทสนมกับพระยาราชกปิตันถึงขนาดที่นับถือกันเป็น "ลูกหลาน" ช่วยเป็นสื่อกลางเจรจากับพระยาราชกปิตันอีกแรงหนึ่ง ขณะนั้น พระยาทุกรราช มีตำแหน่งเป็นกรมการปลัดเมืองถลาง โดยมีพระยาณรงค์เรื่องฤทธิ์ (ทองพูน ณ ถลาง) เป็นผู้ว่าราชการและการฟื้นฟูสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับฟรานซิส ไลท์ ครั้งนี้ มิได้ผ่านผู้ว่าราชการเมืองถลาง แต่กลับผ่านทางพระยาปลัดซึ่งไม่ค่อยจะถูกชาตากับผู้ว่าราชการ จึงเป็นเรื่องที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง 


 สรุปข้อน่าสังเกตในจดหมายฉบับนี้มีอยู่ ๒ ประการใหญ่ ๆ คือ
 ๑. พระยาธรรมไตรโลกมิได้เสียชีวิตที่ค่ายปากพระในสงครามพม่า พ.ศ.๒๓๒๘ ตามที่ระบุไว้ในพงศาวดารเมืองถลางฉบับหอสมุดแห่งชาติ แต่มาถูกลงโทษฐานฉ้อโกงใน พ.ศ.๒๓๓๐
 ๒. พระยาทุกรราช (เทียน ประทีป ณ ถลาง) ซึ่งพยายามที่จะได้อำนาจเหนือเมืองถลางตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๒๙ แต่ไม่สำเร็จ ครั้นล่วงมาถึง พ.ศ.๒๓๓๐ ก็มีนิมิตที่ดีจากการที่ทรงโปรดฯ ให้เป็นสื่อกลางประสานสัมพันธไมตรี กับพระยาราชกปิตัน ซึ่งย่อมเป็นความดีความชอบอย่างสำคัญ

 

ปาณิศรา(นก) ชูผล : บันทึก

ผช.หมายเหตุรักษ์ มทศ.