มทศ.จห.29
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พฤหัสบดี, 30 ธันวาคม 2010

จดหมายเหตุเมืองถลางและหัวเมืองปักษ์ใต้
ต้นฉบับของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต (ศวภ.)


ประสิทธิ  ชิณการณ์ : อ่านและวิเคราะห์

 

Click at the image to view full size
ฝากรูป

มทศ.จห.๒๙ (ใช้หมายเลขตรงกับ ฉบับ ศวภ ๒๙)


คำอ่าน ๐ หนังสือเจ้าพระยาแก้วโกรพพิไชยบดินทร์ศรีสุรินทรเดชะไชยมหัยสวรรค์อนันท์มทมหพิริยพาปรากรมพาหะเจ้าพระยาพัทลุง มาถึงพระราชกปิตัน ด้วยรู้กิตติศัพท์เลื่องลือไปว่าพระยาราชกปิตันมาตั้งอยู่ ณ เกาะหมากหน้าเมืองไทยเป็นที่พึ่งพำนักแก่แขกจีนไทยลูกค้านาประเทศทั้งปวงไปมาอาศัย เราก็มีน้ำใจยินดีจะใคร่ให้ไปมาค้าขายด้วย แต่พึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ออกมาครองเมืองพัทลุง ยังมิได้ให้ขึ้นมาทำดีบุก ณ เมืองตรังก่อน ถ้าให้มาทำดีบุก ณ ที่ตรัง ได้มากน้อยเท่าใดแล้วจะให้มาค้าขายเป็นทองแผ่นเดียวกัน และบัดนี้มีหนังสือโต๊ะซังกวา ซึ่งเป็นพระปลัดตรังบอกราวข่าวไปว่า อ้ายพม่าไปจ้างฝรั่งเศสจะให้มาตีเอาเมืองไทร เมืองถลางในเดือนสิบสองเดือนอ้ายนี้และเมืองพัทลุงก็อยู่หว่างกลาง จะไว้ใจแก่ราชการมิได้ บัดนี้แต่งให้หลวงปะเหลียนโต๊ะประกอ ขุนอาดณรงค์ คนมีชื่อ คุมเรือมาสามลำขอซื้อปืนซึ่งขาดมั่นคงให้ได้สองร้อยบอก สุพรรณห้าหาบ ศิลาปากนกห้าพันอัน และได้จัดเงินค่าปืน สุพรรณ ศิลา ให้มาด้วยแล้วถ้าซื้อปืนศิลาปากนกได้ตามหนังสือ และเงินนั้น ไม่พอค้างเกินไปมากน้อยเท่าใด ให้มีหนังสือบอกไปให้แจ้งจะได้คิดเงินและดีบุกให้ออกมามิให้ค้างเกิน ถ้าพระยาราชกปิตันจะต้องการสิ่งใดอันใด ซึ่งมีอยู่ ณ เมืองพัทลุงฝ่ายบก ให้มีหนังสือบอกไปให้แจ้ง จะจัดให้ออกมามิให้ขัดสน หนังสือมา ณ วันอังคาร เดือนสิบสองแรมสามค่ำปีมะแม นพศก 


วิเคราะห์ ๐ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๒๗ เป็นต้นมา หัวเมืองปักษ์ใต้ มีการเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจในการปกครองเรื่อยมา เช่นเปลี่ยนตัวเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) ในพ.ศ.๒๓๒๗ เปลี่ยนตัวผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตก ๘ เมือง จากเจ้าพระยาอินทวงศาเป็นพระยาธรรมไตรโลก ในปีเดียวกัน พ.ศ.๒๓๒๙ เปลี่ยนเจ้าเมืองถลาง เป็นพระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ (ทองพูน ณ ถลาง) และเปลี่ยนผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตกจาก พระยาธรรมไตรโลก เป็นเจ้าพระยาสุรินทราชา (จัน จันทโรจวงศ์) 


 พ.ศ.๒๓๓๐ เปลี่ยนผู้ว่าราชการเมืองตรัง จากคนเดิมเป็นคนใหม่ และเปลี่ยนเจ้าพระยาพัทลุง จากคนเก่าเป็นคนใหม่เช่นเดียวกัน
 ทั้งนี้ ก็เพื่อความเหมาะสม ในการรักษาเอกภาพของการปกครองที่ผลัดแผ่นดินจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มาเป็น สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระปฐมบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕ และสร้างกรุงเทพมหานครขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.๒๓๒๕ นั้นด้วย
 ครั้นสมโภชพระมหานครเสร็จสิ้นลง หลังพระบรมราชพิธีบรมราชาภิเษกใน พ.ศ.๒๓๒๘ แล้วก็ทรงมีพระราชดำริถึงหัวเมืองปักษ์ใต้ ที่บางเมืองยังมีผู้ปกครองที่ฝักฝ่ายอยู่ข้างสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอยู่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนแปลงตัวผู้ปกครองใหม่ตามที่จำเป็นอยู่เรื่อยมา


 สินค้าสำคัญของหัวเมืองปักษ์ใต้ นอกจากดีบุกแล้ว ยังมีช้างป่าที่เป็นสินค้าส่งออกอีกอย่างหนึ่ง ท่าเรือที่ส่งช้างออกต่างประเทศ คือ ตรัง และช่องปากพระ


 อาวุธปืนจากยุโรป เป็นสินค้าสำคัญที่ไทยสั่งซื้อจากกัปตันฟรานซิล ไลท์ หรือพระยาราชกปิตัน ซึ่งได้ไปเช่าเกาะปีนังจากพระยาไทรบุรีตั้งหลักแหล่งมั่นคงอยู่ที่นั่นตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๒๘ เป็นต้นมา


 อาวุธปืนและดินประสิว ตลอดจนถึงศิลาปากนกสำหรับปืนเล็กยาวประเภทปืนคาบศิลานั้น เจ้าเมืองฝ่ายปักษ์ใต้สั่งซื้อไว้ป้องกันตนเองแล้ว ยังสั่งซื้อตามรับสั่งของพระมหากษัตริย์ เพื่อส่งเข้าสู่กรุงเทพมหานครอีกด้วย เรือเมืองตรังและท่าเรือปากพระรวมทั้งเมืองถลางเป็นท่าเรือสำหรับขนถ่ายสินค้าประเภทปืนเล็กปืนใหญ่เพื่อนำส่งต่อสู่กรุงเทพมหานคร ตามฤดูกาลที่เอื้ออำนวย

ปาณิศรา(นก) ชูผล : บันทึก

ผช.หมายเหตุรักษ์ มทศ.