มทศ.จห.37
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พฤหัสบดี, 30 ธันวาคม 2010

จดหมายเหตุเมืองถลางและหัวเมืองปักษ์ใต้
ต้นฉบับของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต (ศวภ.)


ประสิทธิ  ชิณการณ์ : อ่านและวิเคราะห์

 

Click at the image to view full size
ฝากรูป

มทศ.จห.๓๗ (ใช้หมายเลขตรงกับ ฉบับ ศวภ ๓๗) 


คำอ่าน ๐ ข้าพเจ้าออกหลวงเพชรภักดีศรีพิไชยสงครามยุกรบัตรเมืองถลางขอบอกมายังท่านพระยาราชกปิตัน ด้วยข้าพเจ้าแต่งให้แขกมารกัน ถือหนังสือมายังท่าน ว่าพณะหัวเจ้าท่านเจ้าพระยาสุรินทราชาและท่านพระยาเทพอรชน ข้าหลวงมีชื่อ ถือตราออกมาชำระดีบุก ณ เมืองถลาง แต่ข้าพเจ้าและกรมการ ข้าพเจ้าขัดสนด้วยเงินเหรียญซึ่งจะให้แก่ท่านข้าหลวงและข้าพเจ้าจะขอพึ่งพระยานายท่าน ช่วยจัดผ้าขาวกาษาอย่างดี ผ้าขาวผุดดอก ผ้าขาวก้านแย่ง และปืนคาบศิลาอย่างดีคู่หนึ่ง และของทั้งนี้ จะเป็นค่ามากน้อยเท่าใดขอท่านได้บอกมาให้แจ้งจะได้เอาเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวาย เพราะบุญพระยานายท่านและครั้นท่านข้าหลวงมีชื่อกลับเข้าไปแล้ว ข้าพเจ้าจัดดีบุกให้ต่อครั้งหลังมีให้ขัดสน ถ้าได้มากน้อยเท่าใดให้ส่งให้แก่กูลามารกันตามมีหนังสือมานี้ และ ณ เมืองถลางขัดสนด้วยยาฝิ่นให้พระยานายท่านได้ปันให้มาสักปีบและราคามากน้อยเท่าใดให้พระยานายท่านบอกมาให้แจ้ง ขอบอกมา ณ วันอังคารเดือนสิบขึ้นหกค่ำปีระกาเอกศก 


วิเคราะห์ ๐ พ.ศ.๒๓๓๒ เป็นปีสำคัญของหัวเลี้ยวหัวต่อในการผลัดเปลี่ยนผู้ว่าราชการเมืองถลาง อีกครั้งหนึ่ง จากพระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ (ทองพูน ณ ถลาง) เป็นพระยาทุกรราช (เทียน ประทีป ณ ถลาง)  
 เจ้าพระยาสุรินทราชา ในจดหมายฉบับนี้ คือเจ้าพระยาสุรินทราชา (จัน จันทโรจน์วงศ์) ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตกฯ ซึ่งได้รับตำแหน่งนี้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๒๙ เป็นต้นมา


 นัยแห่งจดหมายฉบับนี้ กล่าวถึง การที่เจ้าพระยาสุรินทราชาได้เข้าไป ณ กรุงเทพมหานครแล้วกลับออกมาพร้อมด้วย พระยาเทพอรชน ข้าหลวงมีชื่อผู้ถือตรารับสั่งให้มาชำระค่าภาษีดีบุกที่ติดค้างอยู่ ณ เมืองถลาง


 หลวงเพชรภักดีศรีพิไชยสงครามยกรบัตรเมืองถลาง ช่วยเหลือตัวเองด้วยการขอความสนับสนุนจากพระยาราชกปิตันเรื่องเงินเหรียญที่จะจ่ายเป็นค่าภาษีติดค้าง และขอความร่วมมือในการจัดหาของมีค่าเพื่อทูลเกล้าฯ เป็นราชบรรณาการด้วย


 หลวงเพชรภักดีศรีพิไชยสงคราม กล่าวถึงกรมการ (เมืองถลาง) อื่น ๆ ด้วยว่าถูก "ชำระดีบุก" เช่นเดียวกัน แต่จะเป็นท่านผู้ใดบ้าง และสามารถแก้ไขเหตุการณ์ให้หลุดพ้นจากความผิดไปได้หรือไม่อย่างไรเอกสารต่าง ๆ ของเมืองถลาง ไม่ได้แสดงหลักฐานบ่งชัด
 แต่เหตุการณ์เกี่ยวกับเรื่อง "ชำระดีบุก" ที่เมืองถลาง เห็นเหตุการณ์เกี่ยวโยงไปถึงการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ว่าราชการเมืองเกือบทุกครั้ง
 ผู้สนใจศึกษาเรื่องนี้ จะพบข้อสังเกตว่า หลังจากการ "ชำระดีบุก" ครั้งพ.ศ.๒๓๓๒ นี้แล้ว พระยาทุกรราช (เทียน ประทีป ณ ถลาง) ก็มีบทบาทในฐานะผู้ว่าราชการเมืองถลางหรือเจ้าพระยาถลางสืบมาจนได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็น "พระยาเพชรคีรีศรีพิไชยสงคราม รามคำแหง" เจ้าพระยาถลางและผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตก ๘ หัวเมือง ใน พ.ศ.๒๓๓๕

ปาณิศรา(นก) ชูผล : บันทึก

ผช.หมายเหตุรักษ์ มทศ.