บุคคลสำคัญในภูเก็ต๓
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
จันทร์, 28 มกราคม 2008

ตระกูล รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ตระกูล ตัณฑเวส

ตระกูล ตัณฑัยย์

ตระกูล ตัณฑวณิช

ตระกูล หงษ์หยก

ตระกูล ทองตัน

๓.๒  ตระกูลรัตนดิลก  ณ  ภูเก็ต
       พระยาถลาง(เจิม) 
      
ตระกูลรัตนดิลก ณ ภูเก็จ มีความสำคัญในฐานะที่เคยเป็นเจ้าเมืองถลางระหว่างปี พ.ศ.๒๓๖๗ -๒๓๘๐ และเป็นเจ้าเมืองภูเก็จระหว่างปี พ.ศ.๒๓๘๐–๒๔๓๓ และมีบทบาทและความสำคัญในการก่อตั้งเมืองภูเก็จ ที่ทุ่งคาและพัฒนาเมืองภูเก็จขนาดเล็กซึ่งเป็นเมืองบริวารของเมืองถลางให้เป็นเมืองขนาดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางทางการปกครองบริเวณหัวเมืองภาคใต้ชายฝั่งทะเลตะวันตกตลอดจนเป็นเมืองศูนย์กลางการผลิตและค้าขายแร่ดีบุกในสมัยรัชกาลที่ ๓-๕ เรื่องราวของตระกูลรัตนดิลก ณ ภูเก็ตคือเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการทางการเมืองการปกครอง ตลอดจนเศรษฐกิจและสังคมของเมืองภูเก็จและหัวเมืองภาคใต้ชายฝั่งทะเลตะวันตก
 ต้นตระกูลรัตนดิลก ณ ภูเก็ต สืบเชื้อสายมาจากแขกอินเดียชาวเมืองมัทราสที่เข้ามาค้าขายและตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองถลางมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี จนมีลูกหลานคนหนึ่งชื่อ เจิมหรือ เจ๊ะมะ ซึ่งต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นหลวงล่ามเมืองถลาง เมื่อเมืองถลางเสียแก่พม่าในปี พ.ศ.๒๓๕๒ หลวงล่าม(เจิม) ได้เป็นหัวหน้าหรือนายกองคอยดูแลรวบรวมผู้คนอยู่ที่เมืองถลาง และได้รับแต่งตั้งเป็นพระถลาง มาจนถึงปี พ.ศ.๒๓๖๗ ได้รับเลื่อนเป็นพระยาถลางหรือพระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม(เจิม) อยู่ในตำแหน่งเจ้าเมืองถลาง จนกระทั่งอสัญกรรมในปี พ.ศ.๒๓๘๐
 ทายาทของพระยาถลาง(เจิม) คือ พระภูเก็จ(แก้ว) ที่เก็ตโฮ่ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองภูเก็จระหว่าง พ.ศ.๒๓๘๐–๒๓๙๒ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ตระกูลรัตนดิลก ณ ภูเก็ตเข้าไปควบคุมแหล่งทรัพยากรที่สำคัญของเกาะภูเก็ต คือ ดีบุก พระภูเก็จ(แก้ว) จึงเป็นผู้บุกเบิกสร้างความเจริญให้บ้านทุ่งคากลายเป็นชุมชนใหญ่และกลายเป็นเมืองขึ้นมาในสมัยของพระยาภูเก็จ(ทัด) ทายาทของพระยาภูเก็จ(แก้ว)
 พระยาภูเก็จ(ทัด : พ.ศ.๒๓๙๒–๒๔๑๒) เป็นเจ้าเมืองนักพัฒนาที่มีความคิดก้าวหน้า ลงทุนทำเหมืองแร่ด้วยวิธีการจ้างกุลีจีนเช่นเดียวกับบิดา ซึ่งได้ผลดีกว่าวิธีเก่าคือเกณฑ์ไพร่ไปทำซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจของหัวเมืองชายฝั่งตะวันตกอีกด้วย กล่าวคือเจ้าเมืองได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ผูกขาดการทำภาษีชนิดต่าง ๆ ภายในตัวเมืองของตนด้วย เพื่อควบคุมชาวจีนที่ทำเหมืองและรับช่วงภาษีผูกขาดไปทำในตำบลและแขวงต่าง ๆ ก่อให้เกิดระบบเหมาเมืองขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ และต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕
 ภายใต้การปกครองตามระบบเหมาเหมืองในสมัยของพระยาภูเก็จ(ทัด) ได้สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้แก่ตระกูลรัตนดิลก ณ ภูเก็ต เป็นอย่างมาก แต่จุดอ่อนที่สำคัญของตระกูลรัตนดิลก ณ ภูเก็ต อยู่ที่ระบบเหมาเหมืองสามารถควบคุมชาวจีนที่อพยพเข้ามาได้เพียงแต่การจัดสรรแหล่งแร่และเรียกเก็บภาษีผูกขาดโดยผ่านทางจีนนายเหมืองซึ่งรับเงินทุนจากเจ้าเมืองไปทำแร่ดีบุก แต่ไม่สามารถปกครองดูแลกลุ่มชาวจีนเหล่านี้ได้ ดังนั้นเมื่อเกิดการวิวาทกันระหว่างกลุ่มชาวจีน พระยาภูเก็จ(ทัด) ก็ไม่สามารถจะระงับได้ ประกอบกับแร่ดีบุกเป็นสินค้าที่ไม่มีเสถียรภาพทางด้านราคา จะขึ้นลงตามปริมาณความต้องการของอุตสาหกรรมทำเหล็กวิลาดและกระป๋องในประเทศทุนนิยมศูนย์กลาง การทำเหมืองแร่ดีบุกจึงยังต้องเสี่ยงต่อปัญหานี้ เป็นอย่างมาก จึงกล่าวได้ว่า ความร่ำรวยของตระกูลรัตนดิลก ณ ภูเก็ต ในระบบเหมาเหมืองนั้น ตั้งอยู่บนรากฐานที่ไม่มั่นคง ถึงแม้ว่าพระยาภูเก็จ(ทัด) จะมีความสามารถทางด้านการค้า และชักชวนจีนมาลงทุนค้าขายและทำเหมืองแร่ จนกระทั่งเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้นมากกว่า เมืองอื่น ๆ แต่ทางฝ่ายรัฐบาลก็ยังเปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามาประมูลภาษีแข่งขันอยู่เสมอ
 ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๑๘ เป็นต้นมา ฐานะของตระกูลรัตนดิลก  ณ  ภูเก็ต เริ่มสั่นคลอนเมื่อต้องเพิ่มภาษีผูกขาดจากปีละ ๕,๒๐๐ ชั่งเป็นปีละ  ๖,๐๐๐ ชั่ง การก่อจลาจลของอั้งยี่ครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.๒๔๑๙ และ พ.ศ.๒๔๒๒ และราคาดีบุกในตลาดโลกตกต่ำลงในระยะเดียวกัน           ตระกูล รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จึงไม่สามารถส่งภาษีให้กับรัฐบาลได้ ครบตามจำนวน พร้อมกับการถึงแก่อสัญกรรมของพระยาภูเก็จ(ทัด) ในปี พ.ศ.๒๔๒๑
 ทายาทของตระกูลรัตนดิลก ณ ภูเก็ต คนต่อมาคือ พระยาภูเก็จ(ลำดวน :  ๒๔๑๒–๒๔๓๓) เป็นคนไม่ฉลาดเผอเรอใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย เอาเงินภาษีผลประโยชน์ที่เก็บได้ไปใช้ส่วนตัวมากจนติดค้างเงินภาษีจำนวนมาก เมื่อถูกซ้ำเติมจากการประมูลภาษีแข่งขันโดยพระยาอัษฎางคตทิศรักษา(ตันกิมเจ๋ง) ใน พ.ศ.๒๔๒๕ พระยาภูเก็จ(ลำดวน) จึงตัดสินใจคืนภาษีผูกขาดให้แก่รัฐบาล เพราะไม่สามารถจะรับทำต่อไปได้อีก
 ความเสื่อมสลายอำนาจของตระกูลรัตนดิลก ณ ภูเก็ต เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๑๘ เมื่อรัฐบาลเริ่มส่งข้าหลวงใหญ่จากส่วนกลางมาควบคุมดูแลการเก็บภาษีในเมืองภูเก็จ ตระกูลรัตนดิลก ณ ภูเก็ต ก็มิได้นิ่งเฉยต่อสิ่งที่ท้าทายผลประโยชน์และอิทธิพลของตน ดังจะเห็นได้จากการเข้าไปสร้างสายสัมพันธ์กับตระกูลขุนนางอิทธิพลในส่วนกลาง คือ ตระกูลบุนนาค โดยการแต่งงานระหว่าง คุณหญิงเลื่อม บุตรีของพระยาภูเก็จ(ทัด) กับ พระยามนตรีสุริยวงศ์(ชื่น บุนนาค) หลานชายของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค) ซึ่งมาเป็นข้าหลวงที่ออกมากำกับราชการเมืองชายฝั่งทะเลตะวันตก แต่เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง  บุนนาค) ถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ.๒๔๒๕ ตระกูลรัตนดิลก ณ ภูเก็ต ก็เริ่มเห็นชัดเจนว่า ตน “เล่นการเมืองผิดพรรค” เสียแล้ว ในที่สุดพระยาภูเก็จ(ลำดวน) ก็ถูกเรียกตัวไปเร่งรัดภาษีที่คั่งค้างจนถึงกับล้มละลาย บ้านเดิมของพระยาวิชิตสงคราม(ทัด) ถูกยึดไปเป็นของหลวงทดแทน
 เมื่อพระยาภูเก็จ (ลำดวน)    ถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ.๒๔๓๓ อำนาจและความมั่งคั่งของตระกูลรัตนดิลก ณ ภูเก็ต ก็หมดสิ้นไป เมื่อมีการใช้นามสกุลในสมัยรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานนามสกุลให้รองอำมาตย์โทหลวงวรเทศภักดี(เดช) ผู้สืบเชื้อสายมาจากพระยาวิชิตสงคราม(ทัด)     ว่า “รัตนดิลก ณ ภูเก็ต” เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๘
 อนุสรณ์ทีใช้ชื่อว่า วิชิตสงคราม เพื่อเป็นเกียรติแก่จางวางพระยาวิชิตสงคราม อดีตเจ้าเมืองภูเก็จก็เห็นจะได้แก่ ทางหลวงเทศาภิบาลขนาดกว้าง ๘–๑๒.๕ เมตร ความยาว ๑,๑๐๓ เมตร จากถนนปฏิพัทธ์ถึงหลักเขตเทศบาลเมืองภูเก็จหลักที่ ๑๒ และต่อไปเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๐๒๐ ไปตำบลกะทู้ ความยาว ๑๑.๓๕๑ กิโลเมตร ซึ่งรัชกาลที่ ๖ เมื่อทรงเป็นพระบรมโอรสาธิราชได้เสด็จเปิดถนนและพระราชทานนามว่า ถนนวิชิตสงคราม เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ร.ศ. ๑๒๘ และชื่อโรงเรียนในสังกัดสำนักงานการประถมศึกษา คือ โรงเรียนวิชิตสงคาม ซึ่งตั้งอยู่ที่ ๒๗/๑๒ ถนนเจ้าฟ้า ตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งโรงเรียนเดิมตั้งอยู่ริมถนนวิชิตสงครามสามแยกข้างสนามสุระกุล
 รวมทั้งซากปรักหักพังของบ้านพระยาวิชิตสงครามซึ่งตั้งอยู่บนเนื้อที่ ๑๐ ไร่ ๔๐ วา ล้อมรอบด้วยกำแพงก่ออิฐถือปูน อยู่ที่ตำบลท่าเรือใกล้ ๆ กับศาลเจ้าท่าเรือ และทางหลวงหมายเลข ๔๐๒ ในระยะทางประมาณ ๕๐ เมตรด้วย

๓.๓ ตระกูล “โชติกเสถียร”
      พระยาทิพโกษา (โต โชติกเสถียร)

เป็นข้าหลวงใหญ่ประจำหัวเมืองภาคใต้ชายฝั่งตะวันตกระหว่างปี พ.ศ.๒๔๓๔–๒๔๓๘ และเป็นผู้กำกับข้าหลวงใหญ่มณฑลภูเก็จคนแรก ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๓๘–๒๔๔๑
 พระยาทิพโกษา(โตหรือหมาโต โชติกเสถียร) เป็นบุตรคนโตของพระยาโชฎึกราชเศรษฐี(เถียน ต้นตระกูล โชติกเสถียร) เคยรับราชการทางฝ่ายปกครองในหัวเมือง สังกัดกรมท่า คือเป็นผู้ว่าราชการเมืองนครไชยศรี มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสุนทรบุรีศรีพิชัยสงคราม ในปี พ.ศ.๒๔๓๔ ได้โอนมารับราชการในกรมท่ากลาง เปลี่ยนราชทินนามใหม่เป็นพระยาทิพโกษา มีหน้าที่ในตำแหน่งลอย ๆ คือ ผู้ชำนาญการภาษีอากร และในปีเดียวกันนี้ก็ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้กำกับข้าหลวงใหญ่หัวเมืองภาคใต้ฝั่งทะเลตะวันตก มีอำนาจมากกว่าข้าหลวงใหญ่และข้าหลวงทั้งหมด แต่ไม่ต้องอยู่ประจำทางหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันตก โดยเฉพาะที่ภูเก็ตตลอดเวลา เพียงแต่ออกมาดูแลเป็นครั้งคราวเท่านั้น
 พระยาทิพโกษาเป็นผู้กำกับข้าหลวงใหญ่คณะที่ ๘ อันประกอบด้วย เจ้าหมื่นเสมอใจราช(ทองดี โชติกเสถียร) น้องชายคนรอง เป็นข้าหลวงใหญ่ที่ ๑ หลวงนริศรราชกิจ(สาย  โชติกเสถียร) น้องชายคนที่ ๒ เป็นข้าหลวงคนที่ ๒ และขุนสมุทโคจร(นุ่ม  ไชยโกมล) เป็นผู้ช่วยราชการของคณะข้าหลวง เหตุผลที่สำคัญที่ส่งคนในตระกูลโชติกเสถียรออกมาเป็นคณะข้าหลวงใหญ่ประจำทางหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตกครั้งนั้น ก็เพราะทั้ง ๓ ท่านเกิดในตระกูลพ่อค้า และรับราชการในกรมท่ามานานแล้วมีความชำนิชำนาญทางด้านการค้าและการภาษีอากรเป็นอย่างดี ประกอบทั้งข้าหลวงทั้ง ๓ มีเชื้อสายจีน และเป็นตัวแทนรัฐบาลออกไปติดต่อกับบรรดานายเหมืองและหัวหน้าอั้งยี่จีนที่มีอยู่มากมายในหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันตก
 พระยาทิพโกษา(โต โชติกเสถียร) ได้ดำเนินการจัดตั้งตำแหน่งกรมการเมืองในเมืองต่าง ๆ ให้ถูกต้อง มีสัญญาบัตรแต่งตั้งออกมาจากรัฐบาล พร้อมทั้งออกตรวจราชการตามหัวเมืองต่าง ๆ พบว่าเจ้าเมือง กรมการเมือง เมืองใดเกณฑ์ราษฎรใช้งานมากเกินไป จนราษฎรได้รับความเดือดร้อน ก็เสนอให้รัฐบาลยกเลิกการเกณฑ์แรงงานตามระบบไพร่ ซึ่งก็ได้รับความสำเร็จ พระยาทิพโกษา(โต โชติกเสถียร) ยังได้พยายามกำจัดอิทธิพลของพวกอั้งยี่ในเมืองตะกั่วป่าด้วยการส่งทหารเข้าไปประจำอยู่ และได้ยึดภาษีผูกขาดคืนมาจากพระยาเสนานุชิต(เอี่ยม  ณ  นคร) เจ้าเมืองตะกั่วป่า ซึ่งติดค้างภาษีนานติดต่อกันถึง ๗ ปี
 ต่อจากนั้น พระยาทิพโกษา(โต   โชติกเสถียร) เริ่มจัดให้เมืองต่าง ๆ ทำงบประมาณค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือนและรายปีเสนอไปยังรัฐบาลให้พิจารณาตัดทอนก่อนตามความเหมาะสมจึงจะนำมาใช้ได้ การทำงบประมาณค่าใช้จ่ายเช่นนี้เริ่มที่เมืองภูเภ็ตก่อนเป็นแห่งแรกในปี พ.ศ.๒๔๓๕ จากนั้นเมืองอื่น ๆ จึงทำบ้าง
 ในฐานะข้าหลวงใหญ่มณฑลคนแรก (พ.ศ.๒๔๓๘–๒๔๔๑) พระยาทิพโกษา  (โต  โชติกเสถียร) ได้เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งมณฑลภูเก็จ ตั้งแต่การแบ่งเขตการปกครองเมืองต่าง ๆ ออกเป็น อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จัดตั้งคณะผู้บริหาร มณฑลขึ้นมาเรียกว่า “กองมณฑล” ซึ่งประกอบด้วยข้าหลวงใหญ่ และข้าหลวงฝ่ายต่าง ๆ ในเมืองต่าง ๆ มีการแต่งตั้งผู้ว่าราชการเมืองและกรมการเมือง ซึ่งในมณฑลภูเก็จจะมีกรมการเมือง ๒ คณะ คือ กรมการเมืองในทำเนียบ กับ กรมการเมืองนอกทำเนียบ กรมการเมืองในทำเนียบหมายถึงข้าราชการประจำเมืองโดยทั่วไป ส่วนกรมการเมืองนอกทำเนียบได้แก่ที่ปรึกษาซึ่งแต่งตั้งจากผู้มีคุณวุฒิในเมือง
 นอกจากนั้น พระยาทิพโกษา(โต  โชติกเสถียร) ยังได้ดำเนินการปฏิรูปมณฑลภูเก็จทางด้านอื่น ๆ อีกมากมายหลายด้าน เป็นต้นว่า การรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน การตุลาการ การภาษีอากร การเกษตร การศึกษา การสาธารณสุข
 อย่างไรก็ตามการจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลยังไม่ทันสำเร็จ พระยาทิพโกษา(โต  โชติกเสถียร) ก็ถูกเรียกตัวกลับ หลังจากดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ได้เพียง  ๓ ปีเท่านั้น ทั้งนี้เพราะพ่อค้า ข้าราชการนายเหมือง และราษฎรทั่วไปได้ร้องเรียนไปยังรัฐบาลว่า “ทำความผิด” ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความผิดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงเพียงแต่เรียกตัวกลับ มิได้ลงโทษแต่อย่างใด
 สุนัย ราชภัณฑารักษ์ ได้สรุปถึงบั้นปลายชีวิตของพระยาทิพโกษา(โต โชติกเสถียร)ไว้สั้น ๆ ว่า“ส่วนพระยาทิพโกษานั้น ก็ได้รับราชการในตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็จ     โดยได้หลวงนริศรราชกิจ(สาย โชติกเสถียร) น้องชายเป็นปลัดมณฑลและทำหน้าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็จตลอดมา จนถึง พ.ศ.๒๔๔๑ จึงได้ลาออกจากราชการเพราะสูงอายุ และได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่๒๙ มกราคม ๒๔๕๓“

๓.๔ ตระกูล “ตันฑเวทย์”
หลวงอำนาจนรารักษ์(ตันค๊วด  ตันฑเวทย์(พระราชทาน ตัณฑะเวส )

หลวงอำนาจนรารักษ์(ตันค๊วด ตัณฑเวทย์) เป็นบุคคลสำคัญของจังหวัดภูเก็ต ด้วยเป็นผู้ทำให้เกิดประเพณีกินผักหรือประเพณีกินเจที่สมบูรณ์แบบขึ้นในจังหวัดนี้ และประเพณีนี้ได้รับความสนใจจากบุคคลทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ตลอดจนผู้ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียง ทั้งที่เป็นคนจีนและคนไทยต่างก็เข้าร่วมในประเพณีนี้เพิ่มจำนวนมากขึ้นๆ ทุกปี จนกลายเป็นประเพณีที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ตในปัจจุบัน
 หลวงอำนาจนรารักษ์เดิมชื่อตันค้วดหรือตันยกค้วด เกิดที่ตำบลล่วนแจ้ อำเภอตั้งฮั่ว จังหวัดจ่วนจิ้ว มณฑลฮกเกี้ยน ประเทศจีน เมื่อวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีจอ พ.ศ.๒๓๙๑ ได้รับการศึกษาพออ่านออกเขียนได้
 อาชีพเดิมของหลวงอำนาจนรารักษ์ทำไร่ทำนาอยู่ที่บ้านเกิดในประเทศจีนจนกระทั่งอายุบรรลุนิติภาวะแล้วจึงแต่งงานและได้บุตรเป็นหญิง ๑ คน ในที่สุดภรรยาถึงแก่กรรม ท่านจึงได้ลงเรือจากประเทศจีนมาประเทศไทย ตอนนั้นอายุได้ประมาณ ๒๓ ปี มาอยู่ที่ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต
 เมื่อหลวงอำนาจนรารักษ์มาอยู่ที่ตำบลกะทู้ครั้งแรก มีอาชีพในการทำเหมืองแล่น ซึ่งเป็นเหมืองที่เคลื่อนที่อาศัยน้ำตามธรรมชาติ มีกำไรพอสมควร ต่อมาก็ได้แต่งงานใหม่กับ นางสาวยกเหลียน ซึ่งเป็นคนจีนที่เกิดในประเทศไทย ต่อมาอีกได้เปลี่ยนกรรมวิธีการทำเหมืองจากเหมืองแล่นมาเป็นเหมืองหาบ ทำให้มีกำไรมากขึ้นมีคนงานเป็นร้อย ๆ คน ฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้นเรื่อย  ๆ จนกระทั่งเป็นคนร่ำรวยคนหนึ่ง
 ในสมัยสมเด็จพระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้จัดให้มีการปกครองโดยมีกำนันประจำตำบลขึ้น นายตันค๊วดหรือตันยกค๊วดในฐานะที่เป็นคนมีฐานะดีและมีคนงานในเหมืองเป็นจำนวนมากประกอบกับเป็นคนเคร่งครัดในศาสนามีศีลธรรม มีความยุติธรรม มีคุณธรรมประจำใจ เป็นที่นับหน้าถือตาของคนในตำบลกะทู้และจังหวัดภูเก็ต จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นกำนันตำบลกะทู้ และเป็นกรมการเมืองภูเก็ตในเวลาต่อมา
 ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมณฑทภูเก็ตกำนันตันค๊วดซึ่งมีตำแหน่งเป็นกรมการเมืองได้เป็นผู้ถวายการต้อนรับในอำเภอกะทู้ โดยเฉพาะบริเวณน้ำตกกะทู้ มีการประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการรับเสด็จเป็นอย่างดี เช่น จาน ชาม ช้อน ส้อม หม้ออุ่นข้าว ฯลฯ ล้วนแต่ประดิษฐ์จากไม้ไผ่ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา กำนันตันค๊วด ก็ได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระเจ้าอยู่หัวว่า “ตันฑเวทย์” และในฐานะที่กำนันตันค๊วดช่วยเหลือทางราชการด้วยดีตลอดมา ได้เสียสละเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริงคนหนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งให้เป็น “หลวงอำนาจนรารักษ์” ตั้งแต่วันที่ ๕ กันยายน พ.ศ.๒๔๕๖
 หลวงอำนาจนรารักษ์เป็นผู้ที่มีเมตตาธรรมต่อคนทั่วไป ตลอดจนคนพลัดบ้านพลัดเมืองที่เข้าไปอยู่ในตำบลของท่าน ท่านจะรับเลี้ยงโดยไม่คิดเงินทองใด ๆ ทั้งสิ้น บางคนอยู่เป็นสิบ ๆ ปีจึงจะมีงานทำแล้วแยกตัวไป บางคนก็ได้จัดการแต่งงานให้ และหากใครมีเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาลหรือมีผู้ต้องการนายประกัน หลวงอำนาจนรารักษ์จะรับเป็นนายประกันให้ทุกคน เวลาหลวงอำนาจนรารักษ์จะไปไหนมาไหน ก่อนจะขึ้นรถยนต์ส่วนตัวจะแจกเงินแก่ผู้ที่เข้ามาขอเป็นปกติ และจะมีผู้เข้าไปขอเป็นประจำมิได้ขาด หลวงอำนาจนรารักษ์เคยเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองของจีนที่กะทู้ ชื่อ “พรรคยี่หิ้น”  ซึ่งสามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีกับ “พรรคเกี้ยนเต็ก” ที่ตั้งอยู่ในตัวเมืองภูเก็ตได้ เพราะพรรคการเมืองของจีนในมณฑลภูเก็ตนี้เคยทะเลาะวิวาทกันตลอดมา โดยฝ่ายหนึ่งเข้าข้างกษัตริย์ อีกฝ่ายหนึ่งเข้าข้างฝ่ายปฏิวัติของประเทศจีน แม้จะมาอยู่ในประเทศไทยแล้วก็ยังมีความยึดถืออยู่ เคยมีการฆ่ากันตายลงเป็นจำนวนมาก คนไทยรู้จักในนามของกบฎ “อั้งยี่” แต่ตอนหลังด้วยความสามารถของหลวงอำนาจนรารักษ์ เมื่อเป็นหัวหน้าพรรคยี่หิ้นแล้วก็ได้แก้ปัญหาจนไม่มีเรื่องราวอะไรที่รุนแรงเกิดขึ้นอีกเลย เพราะได้ใช้หลักธรรมเข้าประสานทั้ง ๒ ฝ่ายจนเป็นที่เข้าใจกัน และทั้ง ๒ ฝ่ายตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินด้วยความสงบสุขตลอดมา
 สมัยที่หลวงอำนาจนรารักษ์ยังอยู่ที่ตำบลกะทู้จะเกิดไฟไหม้และเกิดโรคภัยเป็นประจำทุกปี มีคนล้มตาย เจ็บไข้ได้ป่วยแต่ละปีไม่น้อย มีอยู่คราวหนึ่งคณะงิ้วซึ่งเดินทางจากประเทศจีนมาแสดงที่กะทู้เป็นเวลานาน(เพราะกะทู้เป็นชุมชนที่มีชาวจีนอยู่เป็นจำนวนมาก)  งิ้วคณะนี้แสดงจนลืมภารกิจอื่น ๆ จนมีคนในคณะล้มป่วยลง ต่อมานึกขึ้นได้ว่าถึงเวลาถือศีลกินเจแล้วยังมิได้ทำ เมื่อวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๙ คณะงิ้วทุกคนก็ถือศีลกินเจหรือกินผักไปจนกระทั่งวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙ รวม ๙วัน ๙ คืน เพื่อเป็นสิริมงคลอันทำให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ หลวงอำนาจนรารักษ์พร้อมด้วยประชาชนในตำบลกะทู้หลายคนได้ร่วมพิธีกินเจกับคณะงิ้วครั้งนี้ด้วย
 หลังจากถือศีลกินเจในคราวนั้นแล้วหลวงอำนาจนรารักษ์ได้ปรารภกับคณะงิ้วและประชาชนว่า การกินเจหรือกินผักนี้ดี ทำให้สุขภาพแข็งแรง ประชาชนไม่เจ็บป่วย เรื่องร้ายต่าง ๆ จากอัคคีภัยและโจรภัยก็จะไม่มี น่าจะจัดให้มีเป็นประจำทุก ๆ ปี แต่คนในคณะงิ้วแจ้งว่า ถ้าจะให้มีการกินเจหรือกินผักให้ถูกต้องตามหลักของจีนแล้ว จะต้องไปเอาขี้เถ้าของธูปที่จีนเรียกว่า “เหี่ยวเอี๊ยน” มาจากมณฑลกังไสในประเทศจีน  หลวงอำนาจนรารักษ์จึงรับสมัครผู้อาสาไปเอา“เหี่ยวเอี๋ยน”จากประเทศจีน ปรากฏว่ามีคนจีนซึ่งเป็นคนงานในเหมืองคนหนึ่งเป็นผู้รับอาสา ทุกคนก็ได้เสียสละเงินให้กับผู้รับอาสานั้นเป็นจำนวนมาก ส่วนหลวงอำนาจนรารักษ์เองว่าจ้างเรือสามหลักให้ ๑ ลำ
 ผู้อาสาเดินทางไปประเทศจีน ๓ ปี ก็กลับมาภูเก็ต จอดเรือไว้ที่สะพาน(สะพานหินปัจจุบัน) แล้วรีบไปบอกหลวงอำนาจนรารักษ์ พอหลวงอำนาจนรารักษ์ทราบข่าวก็จัดกำลังคนเป็นจำนวนมากเพื่อจัดขบวนแห่ไปรับ “เหี่ยวเอี๊ยน” ไปไว้ที่ศาลเจ้ากะทู้ พอกินเจกินผักกันครบ ๙ วัน ๙ คืนแล้วจึงนำเหี่ยวเอี๊ยน ศาลเจ้ากระทู้ส่งพระระหว่างทางส่วนในตัวเมืองภูเก็ตส่งที่สะพานหิน เพื่อเป็นการส่งกลับ การแห่พระส่งพระก็เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบตั้งแต่บัดนั้นจนกระทั่งบัดนี้ พรรคการเมืองของจีน ๒ พรรคก็ค่อย ๆ สลายไป ๆ เพราะคนจีนทั้ง ๒ พรรคค่อย ๆ เข้าใจกัน   ซึ่งเกิดจากการเข้าร่วมประเพณีกินเจในตอนหลังอย่างทั่วหน้า เกียรติคุณของหลวงอำนาจนรารักษ์นอกจากเป็นผู้ริเริ่มประเพณีการกินผักหรือกินเจในจังหวัดภูเก็ตที่สมบูรณ์แบบแล้ว ยังเป็นคนใกล้ชิดของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ(คอซิมบี้)  ด้วย ได้ให้ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ตลอดจนบริจาคเงินทองและสิ่งของเพื่อช่วยพัฒนาภูเก็ตในยุคต้น  ๆ เป็นอย่างดี เช่น ได้บริจาคที่ดินจำนวนหนึ่ง เพื่อตัดทางไปยังหาดป่าตองในสมัยนั้น ปัจจุบันเป็นถนนถาวร และหาดป่าตองก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่รู้จักกันทั่วโลก
 บ้านของหลวงอำนาจนรารักษ์เดิมอยู่บ้านเลขที่ ๘ หมู่ที่ ๓ ถนนวิชิตสงคราม ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ต่อมาได้สร้างบ้านหลังใหญ่อีกหลังหนึ่งอยู่ในตัวเมืองภูเก็ต คือบ้านเลขที่ ๑๐๗ ถนนดีบุก อำเภอเมืองภูเก็ต บ้านเดิมที่กะทู้ ปัจจุบันนายประสิทธิ์  ตันฑเวทย์ อาศัยอยู่พร้อมด้วยครอบครัวซึ่งหลวงอำนาจนรารักษ์เองภายหลังได้อาศัยอยู่ที่บ้านในตลาดภูเก็ต ปัจจุบันบ้านทั้ง ๒ แห่งยังอยู่ในสภาพใช้การได้เป็นสิ่งก่อสร้างแบบเก่าแก่ที่ยังเหลืออยู่ในจังหวัดภูเก็ตซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก
 หลวงอำนาจนรารักษ์มีบุตรธิดา ๗ คน คือ นายจิ้นซุ่น  ตันฑเวทย์ นางกิ้มเต้า แก้วเกตุ นายจิ้นเซี้ยง ตันฑเวทย์ นางกิ้มเห้ว รัฐบุตร นางจิ้นห้อง  ตันฑเวทย์ นางกิ้มเค่ง ณ ระนอง และนายจิ้นหิ้น ตันฑเวทย์ สำหรับนายจิ้นหิ้น บุตรคนสุดท้อง ได้รับตำแหน่งกำนันสืบต่อมาบุตรคนอื่น ๆ ก็มีลูกหลานซึ่งมีฐานะตำแหน่งหน้าที่ที่สำคัญในจังหวัดภูเก็ตก็มีหลวงอำนาจนรารักษ์ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๘๔ ปี สุสานของท่านอยู่ใกล้ ๆ กับทางไปหาดป่าตอง ผลงานที่ท่านสร้างไว้ โดยเฉพาะการริเริ่มประเพณีกินเจนั้น ทำให้คนรุ่นหลังยังเอ่ยถึงนามของท่านสืบมา


๓.๕ ตระกูล “ตัณฑัยย์”
อำมาตย์ตรี  พระอร่ามสาครเขตร(ตันเพ็กฮวด  ตัณฑัยย์)

 อำมาตย์ตรี พระอร่ามสาครเขตร(ตันเพ็กฮวด) เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในฐานะนายเหมืองแร่ดีบุกและเจ้าของสวนยางพารารายใหญ่ ซึ่งขณะนั้นเป็นเศรษฐีอันดับ ๑ ในจังหวัดภูเก็ตมีบริเวณบ้านกว้างขวางในตลาดภูเก็ตมีรั้วซุ้มประตูบ้านและตัวอาคารบ้านเรือนเป็นศิลปะแบบจีนผสมโปรตุเกสซึ่งปัจจุบันยังเหลือไว้ให้ศึกษาได้ เช่น ที่ทำการบินไทยภูเก็ต ถนนระนอง และตัวอาคารโรงพยาบาลสิริโรจน์ ถนนกระบี่ อันแสดงถึงความรุ่งเรืองของพระอร่ามสาครเขตรในสมัยนั้น
 พระอร่ามสาครเขตร เดิมชื่อตันเพ็กฮวด ตัณฑัยย์ เป็นบุตรคนที่ ๔ ของพระอร่ามสาครเขตร(ตันหงิมจ้าว) เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๒๒ เวลา ๐๓.๐๐ น. ที่ตำบลตลาดเหนือ อำเภอทุ่งคา(อำเภอเมืองภูเก็ตปัจจุบัน)
 พระอร่ามสาครเขตรได้ไปศึกษาภาษาอังกฤษ ณ เกาะปีนัง เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วก็เดินทางกลับภูเก็ต มาประกอบอาชีพเหมืองแร่ดีบุกสืบต่อจากบิดา โดยเริ่มจากเหมืองหาบที่ตำบลทุ่งทอง(ปัจจุบันเป็นตำบลกะทู้) ซึ่งต้องใช้กำลังคนงานเป็นร้อย ๆ   คน   แล้วได้พัฒนาเป็นเหมืองสูบ ต่อมาได้เริ่มกิจการเหมืองแร่ โดยมีหุ้นส่วนกึ่งหนึ่งในกิจการร่วมกับหลวงอนุภาษภูเก็ตการ ที่เหมืองนาลึก ตำบลบางเทา(ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต) ที่เหมืองนาลึกนี้มีความอุดมของแร่มาก ทำให้มีกำไรมากมายจนพระอร่ามสาครเขตรได้นำกำไรมาขยายกิจการเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่งที่สำคัญคือ ได้สั่งต่อเรือขุดแร่ดีบุก โดยว่าจ้างบริษัท “Werf  Conrad” ประเทศฮอลแลนด์ เป็นเงินในขณะนั้นหลายแสนบาท แล้วนำมาประกอบบางส่วนที่ภูเก็ต เรือที่ต่อนี้เริ่มทำการขุดแร่ที่ตำบลปากถัก อำเภอกะปง จังหวัดพังงา ในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๒ นับเป็นเรือขุดลำแรกที่เจ้าของเป็นคนไทยแต่ผู้เดียว
 พระอร่ามสาครเขตรได้ทำการค้นหาแหล่งแร่ตั้งแต่ภูเก็ต พังงา จนกระทั่งถึงราชบุรี และได้รับประทานบัตรแหล่งแร่ดีบุกในอำเภอตะกั่วป่ามากมายเป็นรายใหญ่ในขณะนั้น นอกจากกิจการเหมืองแร่แล้วยังเป็นเจ้าของสวนยางพาราและสวนเงาะพันธุ์ “บังกะหลี” ซึ่งเป็นเงาะพันธุ์ดีที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยในสมัยนั้น จนหมู่บ้านที่พระอร่ามสาครเขตรสร้างสวนเงาะนั้นได้ชื่อว่า “บ้านสวนเงาะ” ซึ่งยังเป็นชื่อหมู่บ้านที่เรียกขานอยู่จนถึงปัจจุบัน หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ริมถนนเทพกระษัตรี   ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
 พระอร่ามสาครเขตรเป็นคนใจบุญสุนทาน บริจาคทรัพย์ช่วยเหลือคนยากจนอยู่เนือง ๆ และได้สร้างสาธารณประโยชน์คือ “สะพานพระอร่ามสาครเขตร” ข้ามคลองบางใหญ่ ที่ถนนภูเก็ตและทั้งยังได้บริจาคทรัพย์ช่วยเหลือทางราชการอยู่เสมอ จนได้รับพระราชทานนามสกุลว่า “ตัณฑัยย์”
 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงอร่ามสาครเขตร เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๕  และในปีเดียวกันนี้เองก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์เอกอีกด้วย และต่อมาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และยศดังนี้ วันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๗ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๕
วิจิตราภรณ์ วันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๐ ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ชั้นที่ ๕ วันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๐ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๕ ทิพยาภรณ์ วันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๑ ได้รับพระราชทานยศเป็นนายหมู่ใหญ่ในกรมเสือป่า
 ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๗๑ หลวงอร่ามสาครเขตรได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เลื่อนขึ้นเป็น “พระ” ในนามเดิมคือเป็น “พระอร่ามสาครเขตร” และในวาระใกล้ ๆ กันนี้ก็ได้รับพระราชทานยศเป็นอำมาตย์ตรีด้วย
 ในบั้นปลายของชีวิต อำมาตย์ตรีพระอร่ามสาครเขตร ได้เดินทางไปดูกิจการเหมืองแร่ในต่างประเทศและท่องเที่ยวรอบโลกกับบุตรชายคนโต คือ ขุนประเทศจีนนิกร(กวนฮก) ใน พ.ศ.๒๔๗๗ เมื่อเดินทางกลับถึงประเทศไทยก็ล้มป่วยเป็นโรคหัวใจและถึงแก่กรรม  ณ  โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๘ เวลา ๒๓.๐๐ น. รวมอายุได้ ๕๗ ปีกับ ๒ เดือน
 อำมาตย์ตรี พระอร่ามสาครเขตรมีภรรยา ๓ คน คือ นางสำลี  ตัณฑัยย์ นางยกโถ้ย  ตัณฑัยย์ และนางเคลือบ  ตัณฑัยย์ มีบุตรธิดาทั้งหมด ๑๖ คน เป็นชาย ๑๐ คน และหญิง ๖ คน เป็นบุตรของนางสำลี ๑ คน เป็นบุตรของนางยกโถ้ย  ๒ คน และเป็นบุตรของนางเคลือบ ๑๓ คน
 หลุมฝังศพของอำมาตย์ตรี พระอร่ามสาครเขตร ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลรัษฎา ริมถนนเทพกระษัตรี อำเภอเมืองภูเก็ต เป็นหลุมฝังศพที่ทำอย่างวิจิตรงดงาม ฝังของมีค่า เช่น เครื่องเพชร เครื่องทองคำ และรัตนชาติอื่น ๆ ไว้จำนวนมาก ซุ้มประตูทางเข้าหลุมฝังศพสร้างเป็นศิลปะ ๓ ชาติ คือ ไทย จีน และมลายู ทั้งตัวอาคารที่หลุมฝังศพและซุ้มประตูเป็นอนุสรณ์ศิลปะที่หาดูได้ยาก นับเป็นมรดกชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต


๓.๖ ตระกูล  “ตัณฑวณิช”
        หลวงบำรุงจีนประเทศ (ตันเนี่ยวหยี่)

 ทำเหมืองแร่เอง จนมีฐานะร่ำรวยและมีพวกพ้องมาก ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ ๆ วัดกลาง(วัดมงคลนิมิตร)แถวถนนดีบุก ประกอบกิจการค้าหลายอย่าง มีร้านค้าชื่อ “เลี่ยนบี้” มีโรงนำแข็งอยู่ที่ถนนเยาวราช(บริเวณโรงแรมภูเก็ตเมอร์ลินปัจจุบัน) มีโรงรับจำนำอยู่แถวถนนถลาง(ตรงร้านซินแอนด์ลีปัจจุบัน)
 ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ตันเนี่ยวหยี่ได้รับบรรดาศักดิ์หลวงบำรุงจีน ประเทศนายอำเภอจีน
 หลวงบำรุงจีนประเทศ(ตันเนี่ยวหยี่) มีบุตร ๙ คน ได้แก่ ม้าจ่าย ม้าไซ(พระพิไสยสรรพกิจ) ม้าจุ้น ม้าสุ่น ม้าฮก ม้าเค่ง ม้าเสียง (พระพิทักษ์ชินประชา)   ม้าคุ้น    และม้าหลาน
 พระพิทักษ์ชินประชา(ตันม้าเสียง) เกิดที่ภูเก็จ เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๗ ได้รับการศึกษาจากปีนัง จึงมีความรู้และพูดได้ถึง ๔ ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และภาษามาเลย์ เมื่อกลับมาเมืองไทยในปี พ.ศ.๒๔๔๔ เป็นระยะเวลาที่บิดาเสียชีวิตแล้ว ตันม้าเสียงได้เข้าสู่อาชีพเหมืองแร่ซึ่งมีทั้งเหมืองรู เหมืองหาบ และได้พัฒนามาใช้เครื่องจักรไอน้ำทำเหมืองสูบ เนื่องจากมีความรู้ความชำนาญในการทำเหมือง ในปี พ.ศ.๒๔๔๔ ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาของกรมโลหกิจเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่
 เหมืองแร่ที่ตันม้าเสียงทำนั้นมีทั้งที่ตำบลทุ่งคา ตำบลบางเหนียว ตำบลเชิงทะเล และที่ท้ายเหมือง จังหวัดพังงา
 ได้ถวายตัวเป็นข้าพึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระบรมโอรสาธิราช มหาวชิราวุธราชกุมาร เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๒ ฝึกหัดวิชาโทรเลขและรับราชการในกระทรวงโยธาธิการ กรมโทรเลขและไฟฟ้า
ต้นม้าเสียงได้รับสัญญาบัตรแต่งตั้งเป็นรองอำมาตย์โท หลวงพิทักษ์ชินประชา กรมการพิเศษเมืองภูเก็จ ถือศักดินา ๖๐๐ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๖ ขณะที่มีอายุประมาณ ๒๔ ปี ต่อมาในวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๗ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่        ๒     ชื่อวิจิตราภรณ์
 หลวงพิทักษ์ชินประชา(ตันม้าเสียง) ได้สมัครเข้าเป็นทหารเสือป่าซึ่งพระยาสุรพลพิพิธ(ชุบ โอสถานนท์) ผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ต เป็นนายหมวดโท ผู้บังคับกองพันเสือป่าจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๔๕๘ ได้บริจาคเงินช่วยราชนาวีสมาคมซื้อเรือรบทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อใช้ในการป้องกันพระราชอาณาจักรสยาม จำนวน ๑,๐๐๐ บาท
 ได้รับพระราชทานนามสกุล “ตัณฑะวณิช” จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๙ และในปีเดียวกันนี้ ได้บริจาคทรัพย์ส่วนตัวสร้างโรงเรียนให้แก่โรงเรียนภูเก็จสัตรี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๐ และพระราชทานนามว่า “โรงเรียนตัณฑวณิชวิทยาคม” เพื่อเป็นอนุสาวรีย์แห่งความจงรักภักดีของผู้สร้างตึกถวาย ดังกระแสความในพระราชดำรัสดังนี้ “เรามีความพอใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญให้มาเปิดโรงเรียนสัตรีในวันนี้  เพราะรู้สึกเป็นสาธารณสถานอันจะทำประโยชน์เพิ่มพูนความรุ่งเรืองแลความมั่นคงของจังหวัดภูเก็ตนี้ได้อย่างหนึ่งเป็นแน่แท้ การศึกษาที่ได้จัดมาแล้วโดยมากได้คำนึงถึงแต่การที่จะให้วิชาความรู้แก่กุลบุตรผู้ชาย พึ่งจะได้มาคิดแผ่ขยายการศึกษาของกุลสัตรีให้เจริญขึ้น ในเร็ว ๆ นี้ เพราะฉะนั้น การที่หลวงพิทักษ์ชินประชาได้มีความศรัทธาแลมีความจงรักภักดีจัดสร้างตึกนี้ขึ้นเป็นโรงเรียนแลถวายเป็นของหลวง นับว่าเป็นผู้ที่รู้สึกคุณประโยชน์ของการศึกษา ที่จะนำความเจริญมาสู่ชาติบ้านเมืองเป็นตัวอย่างอันดีของผู้ที่หวังประโยชน์แก่คณะแลแก่สำนักที่อยู่ของตน สมควรที่จะให้มีชื่อเสียงติดไว้ในเมืองนี้ เพราะฉะนั้นเราขอประกาศนามโรงเรียน ให้ตามนามสกุลของหลวงพิทักษ์ชินประชาให้ชื่อโรงเรียนนี้ว่า “ตัณฑวณิชวิทยาคม” เมื่อผู้ใดได้มาจังหวัดนี้แลได้มาถึงสถานที่นี้ ก็จะได้ระลึกถึงผู้ที่มีศรัทธาและมีความจงรักภักดีมั่นคงอยู่ในพระมหากษัตริย์ แลมีความเห็นแก่ประโยชน์ของชาติบ้านเมือง เหมือนตั้งอนุสาวรีย์แห่งความจงรักภักดีของตน     ให้ปรากฏสืบไปชั่วกาลนาน เราขอให้สถานที่นี้ตั้งถาวรสืบไป เปนที่ให้ทานวิชาแก่กุลสัตรีเพื่อจะได้ทำประโยชน์สำหรับเบื้องน่าแก่ชาติของเราต่อไป”
 ในปีเดียวกันนี้ หลวงพิทักษ์ชินประชา ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๕ ชื่อ ทิพยาภรณ์ เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน และเลื่อนจากรองอำมาตย์โทเป็นรองอำมาตย์เอก ส่วนการเป็นทหารเสือป่านั้น ได้เลื่อนเป็นนายหมู่โท นายหมู่เอก และนายหมู่ใหญ่ ตามลำดับ ในช่วงปี พ.ศ.๒๔๕๙–๒๔๖๑อำมาตย์ตรี หลวงพิทักษ์ชินประชาได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เป็นอำมาตย์ตรี พระพิทักษ์ชินประชา จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินประพาสมณฑลภูเก็ตในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๗๑
 ตลอดชีวิตของอำมาตย์ตรี พระพิทักษ์ชินประชา กรมการพิเศษเมืองภูเก็ต ได้สละทรัพย์สินเพื่อสาธารณประโยชน์และช่วยเหลือทางราชการอยู่เป็นประจำ นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว เช่น สมทบเงินจำนวน ๒,๐๐๐ บาทแก่กองทัพไทยเมื่อครั้งที่มีการเรียกร้องดินแดนอินโดจีน ร่วมบริจาคและเรี่ยไรเงินซื้อที่ดินสร้างศาลเจ้าไท้ซูจนสำเร็จ   และเป็นผู้จัดการศาลมาตลอด จนถึงแก่กรรม ฯลฯ
 อำมาตย์ตรี พระพิทักษ์ชินประชา มีบุตรธิดารวม ๑๑ คน คือ ยู่อี่(ขุนชินสถานพิทักษ์) ยู่เอี่ยว ยู่เกียง สวดศรี สวดจิต สวดเซ็ง ยู่เก่ง ยู่เลียง สวดเอ๋ง ยู่สิด และสวดเอี่ยม บุตรคนโตของท่าน คือ ขุนชินสถานพิทักษ์ ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนที่ ๒ ของจังหวัดภูเก็ต โดยการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๔๘๐ เป็นเทศมนตรีเมืองภูเก็ตหลายสมัยระหว่าง พ.ศ.๒๔๗๘–๒๔๘๒ ขุนชินสถานพิทักษ์(ยู่อี่ ตัณฑวณิช) มีบุตรที่เกิดจากภรรยาคนแรก นางวู่ซี้ ๔ คน คือ ประชา ตัณฑวณิช จันทราวรรณ ตัณฑวณิช ประธาน ตัณฑวณิช และจันทราภา  ตัณฑวณิช มีบุตรที่เกิดจากภรรยาคนที่ ๒ นางกัญญา ตัณฑวณิช ๒ คน คือสมชาย ตัณฑวณิช กับชยา  ตัณฑวณิช
 บุตรคนอื่น ๆ ของพระพิทักษ์ชินประชา มีหลายคนที่เข้ามามีบทบาทในองค์กรการปกครองท้องถิ่น เช่น นายกิตติ ตัณฑวณิช(ยู่เก่ง) เป็นนายกเทศมนตรีเมืองภูเก็ต ๒ สมัย ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๖–๒๔๙๘ นายเกรียงศักดิ์  ตัณฑวณิช(ยู่เกียง) เป็นเทศมนตรีเมืองภูเก็ต ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๐๑–๒๕๐๒ นายเอี่ยว  ตัณฑวณิช เป็นสมาชิกสภาเทศบาลในปี พ.ศ.๒๕๐๒ เป็นต้น
ปัจจุบันนี้  บุคคลในตระกูล   “ตัณฑวณิช” ก็ยังมีบทบาท ความสำคัญต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของจังหวัดภูเก็ต เช่นเดียวกับที่เคยเป็นมาในอดีตสมัยของหลวงบำรุงจีนประชา พระพิทักษ์ชินประชาและพระพิไสยสรรพกิจ บรรพชน   ผู้เป็นต้นกำเนิดของตระกูล “ตัณฑวณิช”

๓. ๗ ตระกูล “หงษ์หยก”
         หลวงอนุภาษภูเก็ตการ

หลวงอนุภาษภูเก็ตการเดิมชื่อจินหงวน หงษ์หยก ชีวิตเริ่มต้นจากการกำพร้าบิดาตั้งแต่อายุ ๙ ขวบ เมื่อเติบโตเป็นหนุ่มได้ทำงานอยู่กับพี่ชายคนโต(หลวงประเทศจีนารักษ์) ซึ่งเป็นนายเหมืองพังงา – ภูเก็ต ทำงานอยู่กับพี่ชายจนมีความรู้ความสามารถบ้างจึงขอแยกตัวมาทำเหมืองหาบที่ตำบลวิชิต(ระเงง) จังหวัดภูเก็ตกับเพื่อน ๆ และได้ประสบปัญหาจนขาดทุนแทบหมดตัว แต่ด้วยความมานะพยายามและความอดทน จึงสามารถดำเนินงานเปิดเหมืองสูบแห่งแรกในเมืองไทย โดยที่เป็นผู้ที่ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคจึงพยายามปรับปรุงแก้ไขวิธีการทำเหมืองได้ประสบความสำเร็จโดยการตั้งโรงไฟฟ้าเพื่อใช้ในกิจการทำเหมือง ทำให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตแร่ต่ำลง เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๔๗๓ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตได้เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดโรงไฟฟ้าพร้อมกับลงลายพระหัตถ์ประทานชื่อเหมืองว่า “เจ้าฟ้า” ไว้เป็นที่ระลึกต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจการเหมืองเจ้าฟ้า อันนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่าง ใหญ่หลวงแก่ วงศ์ตระกูล “หงษ์หยก”
 นอกจากดำเนินกิจการเหมืองสูบแล้ว หลวงอนุภาษยังได้ขยายกิจการทำเหมืองเรือขุด สวนยาง สวนมะพร้าว โรงงานแปรรูปไม้ โรงสีข้าว เรือเดินทะเล ระหว่างภูเก็ต – กันตัง ฯลฯ
 เมื่อมีความเจริญก้าวหน้าดีแล้วจึงได้จัดตั้งบริษัทอนุภาษและบุตร จำกัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๔๘๒ โดยได้จัดแบ่งให้ภรรยา บุตร ธิดา เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เพื่อเป็นการสร้างความเป็นปึกแผ่นถาวรให้แก่บุตรธิดาจนถึงปัจจุบันนี้
 เพราะได้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ให้กับท้องถิ่นและหน่วยราชการทั้งที่ไม่มีอนุสรณ์และที่มีอนุสรณ์ เช่น สร้างโรงเรียน สร้างวัด ยกที่ดินให้สร้างโรงพยาบาลมิชชั่น ฯลฯ จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงอนุภาษภูเก็ตการเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๔  และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๔
 นอกจากหลวงอนุภาษจะได้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์เองแล้ว ยังได้อบรมสั่งสอนบุตรหลานให้รู้จักเสียสละและบำเพ็ญประโยชน์เพื่อท้องถิ่น ซึ่งบุตรหลานทุกคนก็ได้บำเพ็ญตนสืบทอดเจตนารมณ์ของท่าน
 หลวงอนุภาษภูเก็ตการ เกิดวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๔๓๑ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๐๕ อายุ ๗๔ ปี แต่งงานกับคุณนายหลุยฮุ่น หงษ์หยก มีบุตรธิดารวม ๑๐ คน คือ
 ๑. นางยุพา  หงษ์หยก
 ๒. นายวิรัช  หงษ์หยก(ถึงแก่กรรม)
 ๓. นายวีระพงษ์  หงษ์หยก
 ๔.นายคณิต หงษ์หยก(ถึงแก่กรรม)
๕.นายฮกโป้ หงษ์หยก(เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก)
 ๖. นายยุวดี  เจริญพิทักษ์
 ๗. นายเอนก  หงษ์หยก
 ๘. นายณรงค์  หงษ์หยก
 ๙. นางยุพาวดี  สมุทรอักษฎงค์
 ๑๐. นายสานิต  หงษ์หยก

๓.๘ ตระกูล  “ทองตัน”
        ขุนชนานิเทศและหลวงชนาทรนิเทศ

 บรรพชนผู้เป็นต้นตระกูล “ทองตัน” ตระกูลใหญ่อีกตระกูลหนึ่งของเมืองภูเก็ต คือ นายตันเซียวเซอะเดินทางจากบ้านเกิดที่ตำบลน่ำฮั่วมณฑลฮกเกี้ยน มาอยู่เมืองภูเก็ตตั้งแต่อายุได้ ๑๑ ปี ประมาณปี พ.ศ.๒๔๑๙ ในสมัยรัชกาลที่ ๕
 ประสบความสำเร็จจากการเปิดร้านขายของชำแถวถนนถลาง ชื่อร้าน ซุ่ยหิ้นจั่ง และการค้าส่งออกหอม กระเทียม พริกไทย ระหว่างภูเก็ต – ตรัง และปีนังเมื่อมีฐานะมั่งคั่งขึ้น ได้ซื้อบ้านหลังแรก(อยู่ตรงหัวมุมถนนดีบุก – ถนนเทพกระษัตรี ด้านหลังโรงแรมซิตี้ปัจจุบัน) จากนั้นก็เริ่มกิจการเหมืองแร่ที่เหมือง โป้ฉ่าน บริเวณฝั่งตรงข้ามโรงเรียนดาวรุ่งในปัจจุบัน      และกิจการบ้านเช่าแถวถนนรัษฎา และถนนถลาง รวมแล้วไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ หลัง
 สร้างสถานบันเทิงสำหรับคนภูเก็ตสมัยนั้น คือโรงละคร ซึ่งต่อมาก็เปลี่ยนเป็นโรงภาพยนตร์ชื่อ “เฉลิมตันติ”(ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงภาพยนตร์สยามปัจจุบันได้เลิกกิจการจากฉายภาพยนตร์ไปแล้ว ลูกหลานในชั้นหลังได้เปลี่ยนเป็นสถานออกกำลังกายโดยใช้ชื่อว่า “สยาม สปอร์ต คลับ”
 ตันเซี่ยวเซอะ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากรัชกาลที่ ๖ เป็น “ขุนชนานิเทศ” มีตำแหน่งทางราชการเป็นกำนันตำบลทุ่งคา   เมืองภูเก็ต   ได้สร้างสิ่งสาธารณะประโยชน์แก่ชาวภูเก็ตหลายอย่าง โดยเฉพาะการบริจาคทรัพย์สินเงินทองและที่ดินสร้างศาลเจ้า ได้แก่ศาลเจ้า “ฮกหงวนก้ง”(อยู่ติดกับร้านหมี่ต้นโพ ใกล้วงเวียนหอนาฬิกา) ศาลเจ้า “เจ่งอ๋อง”(ตรงข้ามโรงพยาบาลวชิระ) ศาลเจ้า “เจ้าแม่กวนอิม”(ใกล้วงเวียนถนนบางกอก)
 ขุนชนานิเทศมีภรรยา ๒ คน ภรรยาคนแรกเป็นคนไทย ชื่อนางนุ้ย เป็นชาวจังหวัดตรัง มีบุตรด้วยกัน ๓ คน เป็นชายทั้งหมด คือ ตันเฉ่งห้อ  หรือ หลวงชนานิเทศ ตันเฉ่งก้าง     และตันเฉ่งเกียดหรือขุนตันติวานิชกรรม ส่วนภรรยาคนที่ ๒ ไม่มีบุตรด้วยกันเลย นอกจากนี้ขุนชนานิเทศยังมีบุตรบุญธรรมอีกคนหนึ่งเป็นผู้หญิง
 ขุนชนานิเทศถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๙
 หลวงชนาทรนิเทศหรือตันเฉ่งห้อเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๕  ได้รับการศึกษาจากเมืองปีนังตามความนิยมของคนจีนภูเก็ตสมัยนั้น เริ่มประกอบอาชีพช่วยบิดาทำการค้าและเหมืองแร่ และกิจการเรือสินค้าเดินสมุทรระหว่างประเทศถึง ๓ ลำด้วยกัน คือ เรือมหาชัย เรือซีแอน และเรือยูนิค ขณะที่กิจการเดินเรือรับส่งสินค้ากำลังรุ่งเรือง ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ เรือถูกรบกวนจากทหารญี่ปุ่นทำให้ดำเนินกิจการไม่ได้ จึงถอดเครื่องจักรในเรือมาใช้ในกิจการเหมืองแร่แบบเหมืองสูบฉีด
 ตันเฉ่งห้อได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงชนาทรนิเทศ” จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว    เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๔ ตำแหน่งกรมการเมืองพิเศษ ศักดินา ๖๐๐ ในฐานะที่เป็นผู้มีบทบาทสำคัญทางด้านการศึกษา และช่วยเหลืองานราชการมาโดยตลอด เป็นผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียน ดาวรุ่ง เป็นเจ้าของ ผู้จัดการ และครูผู้สอนในโรงเรียนภาษาจีน คือโรงเรียนส่องเต็ก ตลอดจนบริจาคที่ดินสร้างโรงเรียนวัดเทพนิมิตรและบริจาคทรัพย์ซื้อปืนใช้ในกิจการตำรวจเป็นจำนวนมาก ซื้อเครื่องมือตรวจมะเร็งในช่องปากให้แก่โรงพยาบาลวชิระ ภูเก็ตซึ่งเป็นเครื่องตรวจมะเร็งในช่องปากเครื่องแรกของไทย
 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ หลวงชนาทรนิเทศเป็นเสรีไทยคนหนึ่งที่มีบทบาทในการต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น
 ชีวิตส่วนตัวของหลวงชนาทรนิเทศมีภรรยา ๒ คน ภรรยาคนแรกชื่อไจ่หวั่นเป็นจีนชาวเมืองกัวลาลัมเปอร์ มีบุตรด้วยกันเป็นชาย ๗ คน หญิง ๖ คน  ภรรยาคนที่ ๒ เป็นคนไทยชื่อละมุน มีบุตรชาย ๔ คนหญิง ๑ คน คือ นายไทย ทองตัน นายสำราญ ทองตัน นายทวี ทองตัน นายกิตติ ทองตัน และนางสาว รำลึก ทองตัน
 หลวงชนาทรนิเทศถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗.