บ้านขุนมรดก
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อาทิตย์, 27 มกราคม 2008

 

บ้านขุนมรดก


เรือนไทย(รน)ถิ่นภูเก็จ
ต้นแบบอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง      

 

เมื่อครั้งที่จังหวัดภูเก็ตแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำประวัติมหาดไทย  พัฒน์ จันทร์แก้ว ผศ.สุวัฒน์  วิรุฬห์สิงห์ และ สมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์ ได้เดินทางไปเก็บข้อมูลและถ่ายภาพประกอบประวัติของพ่อท่านสมเด็จเจ้า(พ่อท่านแช่มวัดฉลอง)  ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญตอนหนึ่งที่วุ่นจีน(อั้งยี่)ได้เผาหมู่บ้านในตำบลฉลองแห่งหนึ่ง  จึงได้ชื่อว่า บ้านไฟไหม้
      

คณะทำงานได้เดินทางไปที่บ้านไฟไหม้ หมู่ที่ ๔ ตำบลฉลอง อ.เมืองภูเก็ต พบบ้านของขุนมรดก(กลอน วัลยะเพ็ชร์) เป็น บ้านเรือนไทยถิ่นภูเก็จ เพียงหลังเดียวที่ยังคงรักษารูปแบบบ้านโบราณที่เก่าแก่ที่สุดของภูเก็ต เมื่อศึกษาในรายละเอียด  จึงทราบว่าเคยเป็นบ้านคุณปู่ของผู้ว่ามานิต  วัลยะเพ็ชร์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต(พ.ศ.๒๕๒๓ - ๒๕๒๘) จึงเรียกว่า "บ้านปู่ผู้ว่ามานิต" มาระยะหนึ่ง

 

                            หลวงมรดก  สมัยรัชกาลที่ ๔
                                               |
                                               V
                ขุนมรดก(กลอน  วัลยะเพ็ชร์) พ.ศ. ๒๔๑๙
                                           |
                                           |
                ช.ด้วน<----------------------------|
            |-------|                            |
            |                                       |
            |   ญ.วัน<-----------------------------|
            |   ช.เกษม<---------------------------|
            |          ช.ขุนสมหาญ(ชุ่ม วัลยะเพ็ชร์)<|
            |          |
            |          v
            |          นายมานิต  วัลยะเพ็ชร์
            |          อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต
            v
            นายเชื้อ  วัลยะเพ็ชร์
            เจ้าของบ้านขุนมรดก


      ในปี พ.ศ.๒๕๒๗  ในช่วงเตรียมการฉลอง ๒๐๐ ปีวีรสตรีเมืองถลาง  กลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ ได้เสนอให้มีการจัดสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง    ดร.เอกวิทย์  ณ ถลาง อธิบดีกรมสามัญศึกษาได้ช่วยประสานงาน  จนกระทั่งกรมศิลปากรมอบหมายให้ อุดม สกุลพาณิชย์ สถาปนิกเป็นผู้ออกแบบอาคารพิพิธภัณฑ์    ครั้งแรกได้ออกแบบเป็นแบบชิโนโปรตุกีส  สุมน คงสวัสดิ์ รองประธานกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จได้ทักท้วงให้ทบทวนรูปแบบอาคาร  เพราะสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีสแม้จะเป็นเอกลักษณ์เด่นในภูเก็ต  แต่ก็มีอายุเพียง ๑๐๐ ปี ภูเก็จมีอายุมากกว่า ๔๐๐ ปี   ยิ่งถลางด้วยแล้วมีชื่อปรากฏมาตั้งแต่ พ.ศ.๗๐๐  ภูเก็ตจึงน่าจะมีสถาปัตยกรรมที่เป็นของตนเอง หลังจากนั้นก็มีคณะกรรมการศึกษารูปแบบบ้านโบราณภูเก็ต บ้านปู่ผู้ว่ามานิตหรือบ้านขุนมรดกจึงโดดเด่นขึ้นมาจนมิมีบ้านหลังใดเทียบรัศมี เมื่อเทียบกับรูปกุฏิของพ่อท่านสมเด็จเจ้า (วัดฉลอง)แล้ว  เห็นว่าใกล้เคียงกันมาก  อุดม สกุลพาณิชย์ ก็ได้อาศัยรูปแบบ บ้านขุนมรดก(บ้านปู่ผู้ว่ามานิต)กับกุฏิพ่อท่านสมเด็จเจ้าเป็นต้นแบบอาคาร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง    และเป็นที่น่ายินดีและภาคภูมิใจร่วมกันที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง  ได้รับการยกย่องจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อ ๑๖ เมษายน ๒๕๓๐ เป็นสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคารส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม
นายเชื้อ  วัลยะเพ็ชร์  ควรได้รับการยกย่องที่ได้รักษาสภาพ "บ้านขุนมรดก"  อันเป็นเรือนไทยถิ่นภูเก็จเพียงหลังเดียวให้คงมีสภาพสมบูรณ์ที่สุดไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมในภูเก็ตสืบไป.