คฤหาสน์ชินประชา
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
เสาร์, 14 พฤศจิกายน 2009

บ้านชินประชา อดีตมีชีวิต

ภาพประกอบข่าว

 

น้ำทะเลสีฟ้าใสกับหาดทรายขาวนวลชวนมอง มักปรากฏเป็นภาพแรกเมื่อเอ่ยถึง "ภูเก็ต" ทว่า ความน่าสนใจของที่นี่ไม่ได้มีแค่ทะเล

  เพราะหากลองได้กวาดตามองไปรอบๆ เมือง จะพบว่าอาคารบ้านเรือนของชาวภูเก็ต ช่างมีเสน่ห์เย้ายวนชวนให้ไปเยี่ยมไปเยือนนัก โดยเฉพาะเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมแบบที่เรียกว่า "ชิโน-โปรตุกีส"

 บนถนนกระบี่ บ้านหลังใหญ่แทรกตัวอยู่ท่ามกลางแมกไม้เขียวขจี แม้วันนี้หน้าบ้านจะถูกบดบังทัศนียภาพด้วยอาคารพาณิชย์หลายชั้น แต่ความวิจิตรงดงามและความเก่าแก่ของตัวบ้าน ก็มีน้ำหนักพอที่จะดึงดูดให้ผู้คนที่สนใจเข้าไปเยี่ยมชม

 บ้านชินประชา  เป็นบ้านหลังแรกในภูเก็ต ที่ก่อสร้างโดยใช้สถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส (Sino-Portuguese Architecture) ซึ่งเป็นการผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบจีนและโปรตุกีสเข้าด้วยกัน ในช่วงปี พ.ศ.2411-2468 หรือระหว่างสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงปลายสมัยรัชกาลที่ 6 เศรษฐีภูเก็ตเชื้อสายจีนจะนิยมสร้างบ้านรูปแบบนี้กันมาก เพราะเป็นช่วงที่กิจการเหมืองแร่ดีบุกได้รับความสนใจ กอปรกับชาวโปรตุเกสเป็นชาติแรกในยุโรปที่เดินทางมาเกาะภูเก็ต และนำรูปแบบสถาปัตยกรรมมาเผยแพร่ ทำให้เกิดศิลปะผสมผสานที่งดงามแปลกตา

 ตรอกเล็กๆ ที่อยู่ข้างอาคารพาณิชย์ทันสมัยคือทางเชื่อมที่จะพาทุกคนไปยังบ้านชินประชาอายุ 106 ปี บ้านหลังนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2446 โดยพระพิทักษ์ชินประชา (ตันม่าเสียง) เจ้าของเหมืองแร่ดีบุกบนเกาะภูเก็ต และพ่อค้าสินค้าแบรนด์ "เหลียนบี้" ในเกาะปีนัง

 จรูญรัตน์ ตัณฑวณิช หรือ ป้าแดง ภรรยาคุณประชา ตัณฑวณิช ทายาทรุ่นที่ 4 (ถึงแก่กรรมแล้ว) เล่าว่า พระพิทักษ์ชินประชา เป็นลูกชายหลวงบำรุงประเทศ (ตันเนียวยี่) ชาวมณฑลฮกเกี้ยน ที่เดินทางมาประกอบธุรกิจในประเทศไทยและเกาะปีนัง จนร่ำรวยถึงขั้นเศรษฐี และให้กำเนิดลูกชายคนโต คือ พระพิทักษ์ชินประชา ที่จังหวัดภูเก็ต

 เมื่ออายุได้ 20 ปี พระพิทักษ์ชินประชาเริ่มสร้างบ้านหลังนี้ตามรูปแบบชิโน-โปรตุกีส เป็นหลังแรกของจังหวัดภูเก็ต หรือที่เรียกกันว่า "อังม่อเหลา" ด้วยตั้งใจว่าจะใช้เป็นเรือนหอ ใช้เวลาสร้างกว่า 2 ปีจึงแล้วเสร็จ ทว่า ภรรยากลับไม่ยอมย้ายมาอยู่ เนื่องจากสมัยนั้นบ้านหลังนี้อยู่ห่างไกลจากตัวเมือง ทั้งยังเป็นป่ารก พระพิทักษ์ชินประชาจึงเปิดบ้านนี้ไว้รับแขกและเพื่อนๆ ที่มาจากต่างจังหวัด

 พระพิทักษ์ชินประชา เป็นนายเหมืองผู้สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับภูเก็ตมาก และด้วยตระหนักถึงความสำคัญด้านการศึกษา จึงบริจาคทุนทรัพย์ส่วนตัวสร้างโรงเรียนสตรีให้ชาวภูเก็ต ซึ่งล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 พระราชทานนามว่า "โรงเรียนสตรีตัณฑวณิชวิทยาคม" เป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดีที่ปรากฏมาถึงทุกวันนี้ ส่วนบ้านชินประชานั้นเป็นมรดกตกทอดชิ้นสำคัญที่ลูกหลานยังคงรักษาไว้ คล้ายเป็นที่ระลึกแห่งความทรงจำ

 อักษรภาษาจีนที่อยู่เหนือประตูบ้านสลักคำว่า "เหลียนบี้" ซึ่งเป็นชื่อยี่ห้อสินค้าของหลวงบำรุงประเทศ ป้าแดง บอกว่า เหลียนบี้ แปลว่า ภูเขาดอกบัว เหตุที่นำอักษรสลักมาติดไว้ที่ประตูก็เพื่อเตือนใจให้รำลึกถึงความเหนื่อยยากของบรรพบุรุษที่ต่อสู้มาจนมีวันนี้

 ลักษณะบ้านชินประชาเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น ทางเข้ามีมุขยื่นออกมา หลังคาจั่ว ทาสีบ้านเป็นสีขาว ที่ประหน้าต่างทาสีเทา สีฟ้า ส่วนประตูหน้าสลักลวดลายและลงรักปิดทอง สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในความเป็นชิโน-โปรตุกีส หรือศิลปะผสมผสานของชาติตะวันออกกับตะวันตกของบ้านชินประชา คือ ซุ้มประตูมีลวดลายแบบโปรตุกีส หน้าต่างโปร่งเป็นแบบดัตช์ แต่ด้านข้างและด้านบนหน้าต่างมีลวดลายสวยงามตามอย่างฝรั่งเศส ส่วนลวดลายแกะสลักลงรักปิดทองสวยงามตามรูปแบบจีน ฯลฯ

 สังเกตที่ประตูข้างบ้าน มีรถลากประดับด้วยผ้าแพรสีสันสวยงามจอดอยู่ ป้าแดง บอกว่า บ้านชินประชาเป็นสถานที่จำลองการจัดงานแต่งงานแบบจีนโบราณผสมผสานรูปแบบพื้นเมืองภูเก็ตที่เรียกว่า "บาบ๋า" ซึ่งเมื่อถึงบ้านชินประชาก็จะเปิดรับคู่รักคู่แต่งงานที่ประสงค์จะถ่ายภาพร่วมกัน ณ เคหสถานแห่งนี้

 เมื่อเปิดประตูผ่านเข้าไปในตัวบ้าน สิ่งแรกที่สร้างความแปลกตาให้กับผู้พบเห็นก็คือ "ซิมแจ้" หรือ บ่อน้ำกลางบ้าน ป้าแดงบอกว่า ซิมแจ้ เป็นเอกลักษณ์หนึ่งของบ้านชินประชา ซึ่งนอกจากจะช่วยระบายอากาศ ทำให้บ้านไม่ร้อนแล้ว ยังถูกหลักฮวงจุ้ยด้วย

 สีสวยๆ ของกระเบื้องปูพื้น เป็นอีกหนึ่งความสนใจที่จะพลาดชมไม่ได้ เพราะพื้นหินอ่อนลายๆ แบบนี้สั่งมาโดยตรงจากประเทศอิตาลี วัสดุที่มาพร้อมๆ กัน คือรั้วบ้านจากฮอลแลนด์ เป็นรั้วเหล็กที่สั่งหล่อพิเศษเป็นรูปดอกไม้ ปัจจุบันไม่มีให้ชมแล้ว เพราะการปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ทำให้มีการทุบทิ้งโบราณวัตถุที่เป็นสมบัติของประเทศชิ้นนี้ไป

 เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่เป็นมรดกตกทอดที่หลวงบำรุงประเทศนำมาจากเมืองจีน อย่างเก้าอี้มุขกับเครื่องกังไสก็เป็นอุปกรณ์ถ่วงน้ำหนักเรือ ในคราวที่อพยพมาเมืองไทยด้วยเรือสำเภา นอกจากนี้ยังมีเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ ที่โดยมากซื้อหามาจากเกาะปีนัง ด้วยสมัยนั้นการซื้อขายทางเรือผ่านเกาะปีนังสะดวกกว่าเดินทางเข้ามาเมืองหลวงมาก ซึ่งเฟอร์นิเจอร์ที่มีจำหน่ายบนเกาะปีนังก็มักจะเป็นสินค้าจากประเทศตะวันตก เจ้าของบ้านจึงหาซื้อมาใช้สอยเพื่อความสะดวกสบายตามแบบฉบับเจ้าสัวกิจการเหมืองแร่ ซึ่งร่องรอยความทันสมัยในยุคนั้นที่ผ่านมาถึงยุคนี้ ได้แก่ นาฬิกาผู้หญิงถือโคมไฟมาจากฝรั่งเศส เตียงนอนทรงหรูจากอังกฤษ พัดลมใช้น้ำมันก๊าดจากอเมริกา ชุดเฟอร์นิเจอร์ไม้จากปีนัง ฯลฯ

 เจ้าของบ้านคนปัจจุบัน บอกว่า บ้านหลังนี้เคยใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ไทย และต่างประเทศมาแล้วหลายเรื่อง หากใครอยากเห็นว่าสวยงามอย่างไร แวะเข้าไปชมได้ทุกวัน เปิดให้ชมเวลา 11.30 - 14.00 น. เท่านั้น สอบถามก่อนเยี่ยมชมได้ที่ 0-7621-1281, 0-7621-1167

 

 

***

หมายเหตุภูเก็จ

สารานุกรม มทศ.

อ้างอิง

การช่างฝีมือ3วัฒน์ สถาปัตยกรรม
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( พฤหัสบดี, 22 มีนาคม 2018 )