รถจิ๋วพลังไฮโดรเจน
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พฤหัสบดี, 05 พฤศจิกายน 2009

"รถไฮโดรเจนจิ๋ว"

กระตุ้นต่อมความคิดเด็กไทย

พัฒนานวัตกรรมกู้วิกฤติโลก

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์3 พฤศจิกายน 2552 12:43 น.

สารพัดชุดสื่อการเรียนรู้เรื่องพลังงานทดแทนที่ช่วยให้เด็กและเยาวชนเข้าใจหลักการใช้พลังงานทดแทนผลิตกระแสไฟฟ้าได้ไม่ยาก 1 ชุดใหญ่ ประกอบไปด้วย 12 ชุดคิต สำหรับศึกษาพลังงานทดแทนรูปแบบต่างๆ สนนราคาประมาณ 1 แสนกว่าบาท

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
นายยศวัจน์ จิรโชคชัยวงษ์ กับชุดจำลองรถต้นแบบพลังงานไฮโดรเจน (H-racer) สิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยมจากนิตยสารไทม์ในปี 2549 ที่วันนี้มาถึงประเทศไทยพร้อมให้เด็กไทยได้เรียนรู้เรื่องพลังงานทดแทนแบบเข้าใจง่ายกันแล้ว

ชุดจำลองรถต้นแบบพลังงานไฮโดรเจน สำหรับศึกษาหลักการทำงานของเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และการแยกน้ำด้วยไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ชุดละ 10,000 บาท

ชุดศึกษาพลังงานไฮโดรเจนที่ได้จากแอลกอฮอล์ ซึ่งแอลกอฮอล์เป็นพลังงานทดแทนรูปแบบหนึ่งที่ประเทศไทยสามารถผลิตได้

ชุดศึกษาความหลากหลายของพลังงานทดแทน ทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานไฮโดรเจนจากน้ำ

"รถพลังน้ำ" (Hydrocar) เพียงแค่เติมน้ำก็ขับเคลื่อนรถไปได้ด้วยพลังงานไฮโดรเจนจากน้ำ และได้ของเสียเป็นไอน้ำที่ผันกลับมาใช้ใหม่ได้

ชุดคิต "รถไฮโดรเจนจิ๋ว" สื่อการเรียนรู้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนรูปแบบใหม่จาก "ฮอริซอน" ผู้ผลิตเซลล์เชื้อเพลิงระดับโลก หวังกระตุ้นต่อมความคิดเยาวชนไทยให้ริเริ่มสร้างสรรค์-ต่อยอดนวัตกรรมสำหรับโลกอนาคตที่ไร้น้ำมันเชื้อเพลิง พร้อมเตรียมร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในไทยพัฒนานวัตกรรมเซลล์เชื้อเพลิงของคนไทย
       
       นายยศวัจน์ จิรโชคชัยวงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮอริซอน เมโทรโพลิส จำกัด ผู้นำเข้านวัตกรรมแห่งการเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีพลังงานทดแทน เปิดเผยว่า บริษัทได้นำเข้าชุดสื่อการเรียนการสอนเซลล์เชื้อเพลิงในรูปแบบชุดจำลองรถต้นแบบพลังงานไฮโดรเจน (H-racer) ซึ่งจะช่วยให้เด็กและเยาวชนไทยรู้จักและทำความเข้าใจกับหลักการของเซลล์เชื้อเพลิงและรถพลังงานไฮโดรเจนได้ง่ายขึ้น รวมถึงชุดสื่อการสอนพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่างๆ ทั้งพลังงานลม น้ำ และแสงอาทิตย์
       
       ชุดสื่อการเรียนรู้ H-racer ประกอบด้วยรถขนาดจำลองที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจน, เซลล์เชื้อเพลิงชนิดแลกเปลี่ยนโปรตอน (PEMFC) ขนาดไม่ถึง 1 วัตต์ ภายในตัวรถ และสถานีไฮโดรเจนพร้อมแผงโซลาร์เซลล์ขนาด ซึ่งจำลองมาจากรถเซลล์เชื้อเพลิง และสถานีผลิตไฮโดรเจนจากน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ที่เริ่มมีการนำมาใช้จริงในบางประเทศแล้วขณะนี้
       
       นายยศวัจน์อธิบายหลักการใช้งานชุดการเรียนรู้ H-racer ว่า เมื่อเติมน้ำลงในสถานีไฮโดรเจน และให้แผงโซลาร์เซลล์ได้รับแสงแดดเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าไปแยกน้ำให้ได้เป็นก๊าซไฮโดรเจนและออกซิเจน จากนั้นเติมไฮโดรเจนเข้าสู่ถังเก็บไฮโดรเจนที่อยู่ในตัวรถเซลล์เชื้อเพลิง เพื่อทำให้รถเคลื่อนที่ได้แทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งชุดสื่อการเรียนรู้นี้จะช่วยให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการทำงานของรถพลังงานไฮโดรเจน เซลล์เชื้อเพลิง และการแยกไฮโดรเจนจากน้ำด้วยกระแสไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น ทั้งยังมีความปลอดภัยสูงเนื่องจากมีปริมาณไฮโดรเจนน้อยมาก
       
       "จุดมุ่งหมายสำคัญของการนำเข้าชุด H-racer คือใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กไทยได้ศึกษาเทคโนโลยีพลังงานไฮโดรเจน และเกิดความคิดต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนและเซลล์เชื้อเพลิงขึ้นในอนาคต เช่น รถเซลล์เชื้อเพลิง หรือโรงไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจน เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาดไม่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม มีน้ำเป็นแหล่งพลังงานอย่างเหลือเฟือ และการผลิตไฮโดรเจนจากน้ำยังช่วยเพิ่มออกซิเจนในบรรยากาศด้วย ตลอดจนปลูกฝังให้เยาวชนตระหนักถึงการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน" นายยศวัจน์บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์
       
       อีกทั้งปัจจุบันในประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งที่มีไฮโดรเจนเป็นของเสียและปล่อยทิ้งสู่บรรยากาศเป็นจำนวนหลายล้านตันต่อวัน ซึ่งนายยศวัจน์บอกว่าไฮโดรเจนเหล่านั้นสามารถนำมาใช้ป้อนเป็นพลังงานให้กับเซลล์เชื้อเพลิงได้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์กัน ทั้งที่ในบางประเทศได้เริ่มนำพลังงานไฮโดรเจนมาใช้เป็นพลังงานทดแทนกันแล้ว เช่น เยอรมนี แคนาดา และสหรัฐฯ และจะยิ่งมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในอนาคต โดยเชื่อว่าในอีกไม่กี่ปีจะเริ่มมีรถพลังงานไฮโดรเจนเข้ามาจำหน่ายในไทย
       
       ขณะที่แผนพัฒนาพลังงาน 15 ปี ของไทยกำหนดให้เริ่มใช้พลังงานไฮโดรเจนเป็นพลังงานทดแทนในปี 2562 จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะต้องส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานไฮโดรเจนกันอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้ และควรเริ่มตั้งแต่การให้การศึกษาแก่เยาวชนตั้งแต่ในโรงเรียน เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่เยาวชนจะสามารถต่อยอดเป็นเทคโนโลยีได้ในอนาคต
       
       นอกจากนั้น เมื่อเร็วๆ นี้บริษัทฮอริซันยังได้เซ็นสัญญาร่วมมือวิจัยกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เป็นระยะเวลา 1 ปี ในการพัฒนาประสิทธิภาพพลังงานไฮโดรเจนจากไฮโดรเจนที่เหลือทิ้งหรือได้จากกระบวนการต่างๆ และในอนาคตยังวางแผนที่จะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมเซลล์เชื้อเพลิงและพลังงานไฮโดรเจน เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่เป็นของคนไทย โดยขณะนี้มีบางมหาวิทยาลัยที่สนใจจะร่วมทำวิจัยด้วยกันแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำข้อตกลงกันอย่างเป็นทางการ
       
       "หากจะทำให้มีการนำพลังงานไฮโดรเจนมาใช้เป็นพลังงานทดแทนในประเทศไทยได้จริง รัฐบาลจะต้องเห็นความสำคัญและผลักดันอย่างจริงจัง สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานไฮโดรเจนให้มากกว่านี้ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนักวิจัยให้มากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนในการศึกษาของเยาวชนไทยตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อให้ไทยมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเองทันเวลา" นายยศวัจน์ กล่าว
       
       ทั้งนี้ ชุดสื่อการเรียนรู้เชลล์เชื้อเพลิงและพลังงานไฮโดรเจน H-racer เคยได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยมจากนิตยสารไทม์ในปี 2549 โดยมีราคาจำหน่ายชุดละ 10,000 บาท และเป็นหนึ่งในชุดสื่อการเรียนการสอนพลังงานทดแทนอีกหลายชุด ที่ผลิตโดยบริษัทฮอริซัน ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ผู้ผลิตเซลล์เชื้อเพลิงรายใหญ่ของโลก
       
       บริษัท ฮอริซอน เมโทรโพลิส จำกัด ได้นำชุดสื่อการเรียนการสอนพลังงานทดแทนรูปแบบต่างๆ, เซลล์เชื้อเพลิงขนาด 12-5,000 วัตต์, จักรยานพลังงานไฮโดรเจน และอื่นๆ ไปร่วมจัดแสดงและจำหน่ายในงาน "เวิลด์ไดแด็ค เอเชีย2009" (Worlddidac Asia 2009) งานแสดงเทคโนโลยี สื่อ และวัสดุอุปกรณ์ด้านการศึกษาและฝึกอบรมนานาชาติ ที่สมาคมเวิลด์ไดแด็ค ร่วมกับ บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 ต.ค. 52 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
       
       พิเศษ! สำหรับผู้สนใจชุดอุปกรณ์การเรียนรู้ดังกล่าว ฮอริซอนจะมอบส่วนลด 10% เมื่อซื้อชุดสื่อการเรียนการสอนพลังงานทดแทนทุกรายการ ภายในงาน Worlddidac Asia 2009 พร้อมมอบของแถมอีกมากมาย

 

อ้างอิง

 http://www.norsorpor.com/ข่าว/n1752976/รถไฮโดรเจนจิ๋ว%20%20กระตุ้นต่อมความคิดเด็กไทย%20พัฒนานวัตกรรมกู้วิกฤติโลก