อำพัน
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พฤหัสบดี, 01 ตุลาคม 2009

 

ชาวบ้านตื่นเก็บอำพันจากวาฬกลางทะเลพังงา


ภาพจาก นสพ.ไทยรัฐ


เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ผู้สื่อข่าวจ.พังงา รายงานว่า ชาวบ้านหินลาด หมู่ที่ 3 ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี จำนวนมากแห่เก็บ อำพัน ที่ถูกคลื่นซัดเข้าชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวมะพร้าว เกาะระ หมู่ที่ 3 ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา จำนวนมาก แต่ละก้อนมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากกว่า 5 กิโลกรัม โดยอำพันเหล่านี้ ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นของมีค่ามาแต่โบราณมีการซื้อขายกันในราคาที่สูงมาก เป็นสารคล้ายก้อนไขมันที่ถูกขับถ่ายออกมาจากวาฬชนิดหนึ่ง ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาแต่โบราณ เนื่องจากอำพันที่พบเหล่านี้ สามารถนำไปสกัดเป็นหัวน้ำหอมได้ เบื้องต้นมีพ่อค้าจากประเทศมาเลเซียติดต่อขอซื้อในราคากิโลกรัมละ 70,000 บาท ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังเก็บไว้ไม่ยอมขาย นายเยี่ยมสุริยา พาลุสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ได้นำ ดร.สุพจน์ จันทราภรณ์ศิลป์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากางทะเล ชายฝั่ง และป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าราษฎรหลายรายเก็บ อำพัน ที่เป็นก้อนขนาดใหญ่ได้จำนวนมาก น้ำหนักรวมประมาณ 300 กิโลกรัม

นายเยี่ยมสุริยา กล่าวว่าการพบ อำพัน ของราษฎรในอำเภอคุระบุรีครั้งนี้ถือเป็นเรื่องดี เพราะแสดงให้เห็นว่าจังหวัดพังงายังมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ เป็นแหล่งอาศัยและหากินของวาฬ และสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งใกล้สูญพันธุ์อีกหลายชนิด นอกจากจะมีคุณค่าทางธรรมชาติแล้ว ยังจะก่อให้เกิดผลดีกับการท่องเที่ยวของจังหวัดพังงา ซึ่งกำหนดจะเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ดร.สุพจน์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น ยืนยันได้ว่าสิ่งที่ราษฎรเก็บได้ เป็น อำพัน ที่เกิดมาจากการสะสมอาหารในรูปไขมันของปลาวาฬหัวทุย ซึ่งกินปลาหมึกเป็นอาหาร โดยจะขับถ่ายออกมาพร้อมกับมูลปลาวาฬ สามารถนำไปสกัดเป็นหัวน้ำหอม และผสมยาจีนสำหรับบำรุงกำลัง จึงทำให้มีมูลค่าสูงมาก เพราะหายาก ปกติจะพบเป็นเศษ แต่ครั้งนี้พบเป็นก้อนขนาดใหญ่มีน้ำหนักมากกว่า 300 กิโลกรัม การพบครั้งนี้ไม่ใช่เป็นลางบอกเหตุร้าย และไม่สามารถเชื่อมโยงได้ว่าจะเป็นลางไม่ดีอย่างที่ราษฎรบางรายเข้าใจผิดอยู่ แต่เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าชายทะเลและชายฝั่งของจังหวัดพังงา ยังมีความสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาศัยและหากินของสัตว์น้ำนานาชนิด ดูจากขนาดและความสมบูรณ์ของอำพันที่ราษฎรในพื้นที่เก็บได้นี้ น่าเชื่อว่าจะมาจากการขับถ่ายของปลาวาฬหัวทุย ขนาดใหญ่ความยาวไม่น้อยกว่า 20 เมตร น้ำหนักมากกว่า 15 ตัน ซึ่งเข้ามาหากินบริเวณใกล้ชายฝั่งทะเลของจังหวัดพังงา

อ้างอิง

http://www.giggog.com/crime/cat4/news22919/

 

อัมพันจากทะเล ขี้ปลาวาฬ กก.ละหมื่นบาท

Pic_36542

ชาวประมงพังงา ออกเรือเก็บ "ขี้ปลาวาฬ" หรืออัมพัน กลางทะเล ชี้นำไปสกัดเป็นน้ำหอมคุณภาพดี และทำเป็นยารักษาโรคบางอย่างได้ มีราคาซื้อ-ขายกันอยู่ที่กิโลกรัมละนับหมื่นบาท ....

ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (30ก.ย.) ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า ที่บ้านหินลาด ม.3 ต.คุระ อ.คุระบุรี จ.พังงา มีชาวประมงพื้นบ้านออกหาปลาในทะเลพบ ขี้ปลาวาฬ หรือ อำพัน ลอยอยู่กลางทะเลเป็นจำนวนมาก และบางส่วนได้ถูกคลื่นซัดเข้ามาติดอยู่ตามบริเวณโขดหินและชายหาดซึ่งขี้ปลาวาฬ สามารถนำไปสกัดเป็นน้ำหอมคุณภาพราคาสูง และสามารถทำเป็นยารักษาโรคบางอย่างได้ ซึ่งชาวบ้านจำนวนมากได้ออกทะเลเพื่อเก็บขี้ปลาวาฬ มาขายให้กับพ่อค้า ซึ่งมีราคาประมาณ 30,000 – 50,000 บาทต่อกิโลกรัม 



นายสุพจน์ จันทราภรณ์ศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญฯ สถาบันวิจัย และพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ขี้ปลาวาฬชนิดนี้เป็นปลาวาฬหัวทุยขนาดลำตัวยาว 20–25 เมตร น้ำหนัก 20–30 ตัน ซึ่งจะชอบกินอาหารประเภทปลาหมึกเป็นพิเศษ สาเหตุสำคัญของการเกิดขี้ปลาวาฬ เนื่องจากส่วนของอาหารที่กินเข้าไปยังย่อยไม่ได้ที่จะสะสมอยู่ในกระเพาะอาหาร ในรูปของไขมัน เมื่อสะสมนานเข้าจะจับตัวเป็นก้อนไขมัน เรียกว่า อัมพัน ซึ่งมีขนาดใหญ่มากอยู่ในกระเพาะ และจะถ่ายออกมาเรื่อยๆ พร้อมกับขี้ ซึ่งส่วนที่เป็นขี้จริงๆจะสลายไป ส่วนที่เป็นไขมัน หรือที่เรียกว่าอัมพันยังจับเป็นก้อนลอยอยู่ตามผิวน้ำในทะเล ซึ่งมักจะพบอยู่ในปลาวาฬตัวใหญ่ๆ ส่วนประโยชน์นั้น สามารถนำไปสกัดเป็นหัวน้ำหอมที่มีราคาแพงมาก ซึ่งปกติจะมีไม่มากขนาดนี้ แต่ที่ชาวบ้านไปพบในครั้งนี้มีมากกว่าปกติทั่วไป ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลก 

นายสมชาย บุญเทียม อายุ 40 ปี อาชีพประมงพื้นบ้านเจ้าของขี้ปลาวาฬ อยู่ 83/25 บ้านหินลาด ม.3 ต.คุระ อ.คุระบุรี จ.พังงา กล่าวว่า ขณะตนเองออกเรือหาปลาบริเวณใกล้เกาะระ – เกาะพระทอง ได้มองเห็นวัตถุเป็นก้อนสีเหลืองขนาดต่างๆ เป็นจำนวนมากลอยปริ่มน้ำอยู่กลาง ทะเล จึงเก็บขึ้นมาดู พบว่าเป็นขี้ปลาวาฬ ซึ่งตนเองเคยเก็บมาได้แล้วครั้งหนึ่งเมื่อก่อนเกิดเหตุคลื่นยักษ์สึนามิ จึงทำให้ทราบว่าสามารถนำไปขายเป็นราคาได้ จึงเก็บมาไว้ที่บ้าน เพื่อเตรียมนำไปขายให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อ โดยครั้งก่อนเคยนำไปขายให้กับพ่อค้าที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาในราคากิโลกรัมละ 3,000 บาท แต่มาทราบในภายหลังว่าขี้ปลาวาฬดังกล่าวมีราคาซื้อ-ขายกันกิโลกรัมละนับหมื่นบาท

อ้างอิง

http://www.thairath.co.th/content/region/36542

Thairath

ไทยรัฐออนไลน์

วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2552
----------------------------

ชาวบ้านไม้ขาวภูเก็ตพบขี้ปลาวาฬ ผู้เชี่ยวชาญชี้เหตุจากคลื่นลมแรง

 a-  A+ 

เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น.วันที่ 2 ตุลาคมนี้ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากตัวแทนประชาชนที่อยู่อาศัยใกล้กับบริเวณ ชายหาดไม้ขาว ที่เป็นที่ตั้งของโรงแรม เจ ดับบลิว มาริออท ภูเก็ต รีสอร์ท แอนด์ สปา ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ว่าพบวัตถุลักษณะคล้ายขี้วาฬ โดยกลุ่มประชาชนที่อยู่บริเวณดังกล่าวได้พยายามเก็บรวบรวมไว้มากถึง 10กิโลกรัม และยืนยันว่าวัตถุดังกล่าวเหมือนกับสิ่งที่ประชาชนพบที่บ้านหินลาด ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 30 กันยายนนี้

อย่างไรก็ดีเมื่อเดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ชายหาดไม้ขาวที่ประชาชนอ้างว่า เก็บขี้วาฬได้พบว่าในปัจจุบันชายหาดนี้เปิดเป็นร้านขายอาหาร-ของที่ระลึกและนวดแผนโบราณริมชายหาดและมีกลุ่มประชาชนจำนวนมากยืนมุงดูวัตถุที่เชื่อว่าเป็นขี้วาฬ มีลักษณะสีขาวขุ่นอมเหลือง ส่งกลิ่นคาวเล็กน้อยและชาวบ้านเก็บไว้ในถุงพลาสติกใสสีขาวจำนวน2 ถุง มีน้ำหนักประมาณ10 กิโลกรัม จากการสอบถามผู้เกี่ยวข้องทราบว่าถ้าเป็นขี้ปลาวาฬหรือน้ำเชื้อปลาวาฬจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 40,000-50,000 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม คือจะมีโรงงานมารับซื้อไปทำน้ำหอมหรือเครื่องสำอางชื่อดัง และเมื่อวันที่ 30 กันยายนี้ได้มีประชาชนบ้านหินลาด จังหวัดพังงาพบขี้วาฬเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกันและประชาชนทั่วไปตื่นตัวและสนใจข่าวดังกล่าวมาแล้ว

นางวิภาดา ก้านขาว อายุ 43 ปี อยู่บ้านเลขที่ 75/1 หมู่ที่ 2 ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เจ้าของวัตถุที่เชื่อว่าเป็นขี้วาฬกล่าวว่า       ตนเองมีอาชีพเป็นหมอนวดชายหาดให้บริการนักท่องเที่ยวที่พักอยู่ที่โรงแรม ใกล้ชายหาดจนกระทั่งเมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมาพบเห็นขี้วาฬถูกคลื่นซัดลอยมาติดชายหาดเป็นจำนวนมาก และเห็นกลุ่มประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านไม้ขาวและหมู่บ้านใกล้เคียงต่าง มาเก็บกลับไปไว้ที่บ้านเช่นเดียวกัน และเฉพาะตนเองได้เก็บสะสมไว้เรื่อยมาจนถึงวันที่ 2 ตุลาคมนี้ จนกลายเป็นก้อนขนาดใหญ่ มีน้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัม

นางวิภาดา ก้านขาว กล่าวด้วยว่า เท่าที่ทราบชาวไทยใหม่หรือชาวเลในสมัยก่อนเคยบอกว่าถ้าพบขี้วาฬดังกล่าวถูกคลื่นซัดลอยมาติดชายหาด ขอให้เก็บไว้ เพราะสามารถขายได้ราคาสูง เนื่องจากเป็นที่ต้องการของโรงงานทำน้ำหอมหรือเครื่องสำอาง แต่ขณะนี้ยังไม่มีพ่อค้าหรือโรงงานมาติดต่อขอรับซื้อแต่อย่างใด จึงต้องเก็บรวบรวมเอาไว้ก่อน

ในขณะที่นายสุพจน์ จันทราภรณ์ศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน จังหวัดภูเก็ตกล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า วัตถุที่ชาวบ้านพบ คือ ขี้วาฬหรืออำพันปลาวาฬ เป็นสิ่งที่วาฬหัวทุยถ่ายติดมากับอุจจาระ เป็นสารประเภทไขมัน หรือ Red tide ที่วาฬย่อยไม่ได้ ที่สำคัญพบเฉพาะวาฬหัวทุยเท่านั้น เนื่องจากกินหมึกเป็นอาหารวันละหลาย 100 กิโลกรัม ทำให้มีไขมันสะสมมาก ในทางวิชาการนั้นแต่ละตัวจะมีขี้วาฬประมาณ 1 ตันและจะถ่ายเป็นประจำ แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สามารถย่อยสลายกลายเป็นอาหารของสัตว์ทะเลชนิดอื่นได้

นอกจากนี้นายสุพจน์ จันทราภรณ์ศิลป์ กล่าวว่าในอดีตมีการล่าวาฬชนิดนี้ เพื่อนำไขมันของมันไปสกัดเป็นน้ำหอม และในระยะนี้ในทะเลอันดามันพบมากทั้งที่บ้านหินลาด อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงาและที่ชายหาดไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เนื่องจากเป็นช่วงที่คลื่นลมแรง ในช่วงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พาดผ่านพื้นที่ ทำให้พัดขี้วาฬเข้าสู่ชายฝั่ง เพราะตามปกติแล้วจะลอยอยู่กลางทะเลเท่านั้น สำหรับพฤติกรรมของวาฬหัวทุย มักจะหากินในทะเลลึก หรือไม่ว่ายเข้าใกล้ฝั่ง ยกเว้นเข้ามาคลอดลูกเท่านั้น สำหรับสถิติข้อมูลกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน จังหวัดภูเก็ต ที่จัดเก็บมาตั้งแต่ปี 2516 ถึงปัจจุบันพบซากและตัวเป็น ๆ ของวาฬหัวทุยในทะเลอันดามัน ตั้งแต่จังหวัดระนอง ไปถึงจังหวัดสตูล จำนวนทั้งสิ้น13 ตัว

 

อ้างอิง

http://news.phuketindex.com/government/phuket-67-173170.html

 

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( จันทร์, 05 ตุลาคม 2009 )