สืบสานวัฒนธรรมถิ่นใต้
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
ศุกร์, 02 กันยายน 2016

นางสาวเจริญศรี หมื่นละม้าย  นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร

วัฒนธรรม คือ ลักษณะที่แสดงถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติ และศีลธรรมอันดีของประชาชนและวัฒนธรรมเป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษมาสู่ลูกหลานในปัจจุบัน

ปัจจุบันวัฒนธรรมแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกันหรือในบางท้องถิ่นมีคล้ายคลึงกัน มีการผสมผสานกัน เพราะโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์มีการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกกันมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มต่างชาติ ที่ต่างศาสนากัน ซึ่งในกลุ่มคนเหล่านี้ย่อมมีการยอมรับและถ่ายทอดสืบปฏิบัติกันต่อมา วัฒนธรรมของภาคใต้ก็มีมากหลากหลายไม่แพ้ชาติอื่นเช่นกัน ถึงแม้จะเป็นวัฒนธรรมที่คนต่างชาติ ต่างถิ่น มองดูว่าเป็นวัฒนธรรมที่ไม่สำคัญ เป็นเรื่องที่ไร้สาระ แต่สำหรับคนภาคใต้กลับมองว่าเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญมากสำหรับพวกเขา เพราะเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษเพราะมีความเชื่อความศรัทธากับในสิ่งที่กระทำ แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อบรรพชนที่ให้กำเนิดตนมา ซึ่งวัฒนธรรมที่ดิฉันกล่าวมาข้างต้น คือ การทำบุญวันสารทเดือนสิบ ถือเป็นงานบุญประเพณีที่สำคัญในภาคใต้ ไม่ว่าลูกหลานหรือญาติพี่น้องของคนในครอบครัวไปอยู่ที่ไหนก็จะกลับมาบ้าน เพื่อมากราบไหว้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และผู้ที่เคารพนับถือเพื่อแสดงออกของการกตัญญูรู้คุณและรวมถึงการได้มาทำบุญให้กับผู้ที่ล่วงลับ ซึ่งการทำบุญวันสารทเดือนสิบจะนิยมทำกันในสองช่วง คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ เป็นการปล่อยตายายหรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วออกจากนรก มายังโลกมนุษย์ เพื่อมาขอรับส่วนบุญกุศลจากญาติพี่น้อง หรือที่นิยมเรียกกันว่า วันรับตายาย หลังจากนั้นในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ จะเป็นวันที่  ส่งตายาย เพื่อกลับไปยังที่เดิม ซึ่งในวันนั้นพวกลูกหลานจะยกปิ่นโตไปวัด ร่วมกันตักบาตรถวายอาหารแก่พระสงฆ์ เมื่อเสร็จพิธีทางศาสนาช่วงเช้าก็ร่วมกัน ตั้งเปรตเพื่อแผ่ส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และเมื่อเสร็จพิธีกรรมของพระสงฆ์ ลูกหลานก็ร่วมกัน ชิงเปรต นอกจากได้รับความสนุกแล้ว ลูกหลานที่ไปวัดก็ร่วมรับประทานอาหารกันที่วัดอย่างมีความสุขพร้อมสีหน้าที่อิ่มบุญกันถ้วนหน้า

ฉะนั้นในฐานะที่ดิฉันเป็นลูกหลานชาวปักษ์ใต้คนหนึ่งที่อยากเชิญชวนให้เด็กเยาวชนในยุคสังคมปัจจุบันช่วยกันอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมถิ่นใต้ให้คงอยู่คู่กับลูกหลานอย่างยาวนาน โดยตระหนักตรงที่ว่า ไม่มีเขาในวันนั้น คงไม่มีพวกเราในวันนี้

คติชน คติชน :คติชนวิทยา

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( จันทร์, 26 กันยายน 2016 )