รหัสชีวิต DNA
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อังคาร, 19 กรกฎาคม 2016

01.รหัสชีวิต

Tree of Lifeภาพ Tree Of Life  โดย พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

รหัสชีวิต   โดย พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา….

  ☯ ก่อนจะเริ่ม ผมอยากจะบอกก่อนว่าเรื่องราวที่คุณจะอ่านต่อไปนี้นั้นยากและชวนปวดหัว แต่มันก็ไม่มีวิธีเล่าแบบไหนที่ง่ายไปกว่านี้แล้ว อดทนอ่านและทำความเข้าใจช้าๆ นะท่านนะ ความสนุกจะมาถึงเมื่อคุณเริ่มเข้าใจ มีขนมหวานอยู่ปลายทางข้างหน้า. จริงๆ นะ สาบานได้ !

26 มิถุนายน พ.ศ. 2543 ประธานาธิบดี บิล คลินตัน พร้อมกับนักวิทยาศาสตร์สาขาพันธุกรรมอีกสองคน จัดแถลงข่าวขึ้นที่ทำเนียบขาว มันคือการเฉลิมฉลองให้ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ทางวิทยาศาสตร์ของโลก ไม่ต้องสงสัยเลยว่านี่เป็นข่าวสำคัญ ถึงขนาดที่ประธานาธิบดีต้องการเป็นผู้แจ้งข่าวสารนี้ด้วยตัวเอง แผนที่พันธุกรรมมนุษย์ ฉบับสมบูรณ์อันแรกของโลก ซึ่งแสดงลำดับหน่วยพันธุกรรมถึง 2.85 พันล้านหน่วยที่ประกอบกันขึ้นเป็นยีนส์ของคนเราได้ถูกจัดทำสำเร็จ รหัสของชีวิตได้ถูกไขออกแล้ว ! นี่คือแผนที่มหัศจรรย์ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยทำขึ้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเราได้ก้าวข้ามมาสู่ยุครุ่งโรจน์แห่งวิทยาศาสตร์พันธุกรรมแล้ว. ในวันแถลงข่าวนั้น คลินตัน ถึงกับปล่อยมุขว่าเขาจะอยู่จนถึง 150 ปี  ซึ่งเป็นไปได้มากเลยว่า.. ก่อนปลายศตววรษที่ 21 นี้  มนุษย์เราอาจประสบความสำเร็จที่จะทำเช่นนั้นได้.  ในเมื่อเราเข้าใจในยีนส์ของเราดีพอ โอกาสที่จะเอาชนะโรคร้ายต่างๆ ก็มีสูงขึ้น.

ในขณะที่วิสัยทัศน์ของนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มองตรงไปสู่อนาคต มีนักวิทยาศาสตร์อยู่จำนวนหนึ่งที่ทำตรงกันข้าม ในความเป็นนักชีววิทยาของพวกเขา กลับมีความเป็นนักมานุษยวิทยา และนักประวัติศาสตร์อยู่ในตัวด้วย ดังนั้น แทนที่จะมองไปข้างหน้า พวกเขากลับมองย้อนไปในอดีต.

ที่แล็บเล็กๆ ในอ๊อกซ์ฟอร์ด ตัวอย่างดีเอ็นเอจากทั่วโลกถูกเก็บไว้ในห้องสมุดพันธุกรรมของที่นี่ พวกเขาใช้มันเพื่ออ่านข่าวสารย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ช่วงห้าหมื่นกว่าปีที่แล้วของมนุษย์.

ดีเอ็นเอ ก็เหมือนกับหนังสือประวัติศาสตร์ประชากรนั่นแหละ มันไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องมือหาตัวผู้ร้ายให้นักนิติเวชอย่างคุณหมอพรทิพย์ หรือช่วยพิสูจน์ว่าเด็กคนนี้เป็นลูกใครเท่านั้น มันยังเชื่อมโยงผู้คนทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในแต่ละซีกโลกเข้าด้วยกันได้ หนำซ้ำ มันยังระบุเวลาเอาไว้ในข้อมูลเหล่านั้นด้วย จากตัวอย่างดีเอ็นเอที่ได้จากทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ ได้ทำการวิเคราะห์ดีเอ็นเอของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างๆ มาเป็นเวลานานหลายชั่วคน โดยไม่มีการย้ายถิ่น เช่น ชนพื้นเมืองท้องถิ่น.. มีความเป็นไปได้ ที่จะพบข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับบรรพบุรุษของมนุษย์ซ่อนอยู่ในดีเอ็นเอเหล่านั้น และเมื่อเอาดีเอ็นเอไปเปรียบเทียบกับชนพื้นเมืองที่อยู่ในที่อื่น ก็น่าจะสามารถตรวจพบเบาะแสเกี่ยวกับการอพยพของบรรพบุรุษมนุษย์ได้.

เพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำพอ จึงต้องการตัวอย่างดีเอ็นเอเป็นจำนวนมากที่สุด เท่าที่จะหาได้จากทั่วโลก โดยเฉพาะจากในกลุ่มชนพื้นเมืองที่อยู่ในพื้นที่ที่ปิดกั้น มีสัมพันธ์กับภายนอกน้อยที่สุด ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสในการปะปนทางพันธุกรรมก็จะน้อยลงไปด้วย โชคไม่ดีนัก โลกสมัยใหม่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว เรื่องราวที่ซุกซ่อนอยู่ในชนพื้นเมืองที่เหลืออยู่ในโลกนี้กำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะหลอมละลายไปใน ‘เบ้าหลอม’ ทางวัฒนธรรม.

ชนพื้นเมืองดั้งเดิม อย่างเช่นพวกเซมังซาไกในประเทศไทย หันมาใช้ชีวิตแบบคนเมืองจนเกือบหมดแล้ว พวกมอเกนหรือยิปซีทะเล ก็ถูกบีบให้ขึ้นฝั่งแล้วมาใช้ชีวิตแบบคนบนฝั่ง ชนพื้นเมืองพากันทิ้งถิ่นฐานออกจากพื้นที่ของตนด้วยสาเหตุหลักสามประการ คือ หนึ่ง- หมดโอกาสและความหวังที่บ้านแล้ว  สอง- เชื่อว่ามีโอกาสที่ดีกว่ารออยู่ที่อื่น  สาม- ถูกบังคับให้ย้ายไป. ส่วนใหญ่ชนพื้นเมืองนั้น จัดว่ายากจนที่สุดในพวกที่ยากจนและอาศัยอยู่ในถิ่นฐานที่แร้นแค้น วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมถูกคุกคาม เด็กๆ ของพวกเขา ทิ้งถิ่นฐานไปหาความเจริญในเมืองใหญ่กันหมด ซึ่งก็คือ ‘เบ้าหลอม’ ที่ว่านี่แหละ เมื่อพวกเขาโดดลงไปในเบ้านั้นแล้ว ร่องรอยในดีเอ็นเอที่จะบอกเล่าเรื่องราวได้อย่างชัดเจนนี้ก็จะหายไป.

หลายคนอาจยังไม่รู้ตัวเลยว่า ทุกวันนี้ โลกกำลังอยู่ในภาวะที่วัฒนธรรมมากมายกำลังเสื่อมสูญ ความหลากหลายทางชีวภาพก็กำลังถึงขั้นวิกฤติ วิกฤติอันนึงที่เข้าขั้นสาหัสไปแล้วก็คือการสูญพันธ์ุของภาษา นักภาษาศาสตร์เชื่อว่าในช่วงปี ค.ศ.1500 มีภาษาพูดอยู่ในโลกมากมายราว 15,000 ภาษา จนกระทั่งทุกวันนี้  เหลือภาษาพูดอยู่ประมาณ 6,000 ภาษาเท่านั้น สำหรับคนที่พูดภาษาอังกฤษ  นี่อาจไม่เดือดร้อนอะไรเพราะภาษาอังกฤษ กลายเป็นภาษาสากลไปแล้ว ขอบอกว่า นี่คือหายนะอย่างแท้จริง เป็นไปได้ว่าเมื่อสิ้นศตวรรษนี้  เก้าสิบเปอร์เซ็นต์ของภาษาเหล่านี้จะสูญหายไป เราเสียภาษาไปทุกสองสัปดาห์ ในการอพยพเข้าสู่ ‘เบ้าหลอม’ นี้ พร้อมๆ กับการผสมผสานของยีนส์แบบ ‘รวมโลก’.

มันอาจน่ายินดี ที่เราได้ทะลายพรมแดนที่กีดขวางการสื่อสารของมนุษย์ไป  แต่การเพิกเฉยต่ออดีตนั้น ไม่ให้ผลดีแก่เราแน่นอน การเก็บรักษาสิ่งต่างๆ ไว้ให้ได้มากที่สุดนั้น มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย แม้ว่าบางสิ่งนั้น เราอาจจะไม่ได้ใช้มันมากนักก็ตาม ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องมีห้องสมุด มีพิพิธภัณฑ์ น่าขำนะ บางคนชอบแดกดัน เวลาพูดถึงบางสิ่งที่เก่าไปในความคิดเขาว่า ให้เอาไปเก็บพิพิธภัณฑ์ซะ แต่แม้แต่คนประเภทนี้ก็ยังต้องใช้ประโยชน์จากพิพิธภัณฑ์ ถ้าสิ่งต่างๆ เหล่านี้หายไปรวมถึงร่องรอยที่ว่าในดีเอ็นเอนี้ เราก็หมดโอกาสที่จะอ่านข่าวสารจากอดีตของเรา ซึ่งบางที อาจเป็นตัวแปรที่ช่วยให้เรารอดจากหายนะบางอย่างที่จะมาถึงในอนาคตก็เป็นได้ เช่น การกลายพันธ์ุของไวรัสที่ก่อโรค.. โรคระบาดในอดีตที่กลับมาอีก…ฯ

Luca   lucabook

ศาสตราจารย์ ลุยจิ ลูกา คาวาลลี่ สฟอร์ซา (Luigi Luca Cavalli Sforza) นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาเลี่ยน หนึ่งในคนที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการค้นหาความลับผ่านทางดีเอ็นเอของมนุษย์ พูดได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกแนวคิดเรื่องนี้เลยก็ว่าได้  อาจารย์ลูกา เชื่อมั่นตั้งแต่เมื่อสามสิบปีที่แล้วว่า ภายในดีเอ็นเอของมนุษย์นั้น ซ่อนข้อมูลบางอย่างที่เกี่ยวกับบรรพบุรุษเอาไว้ เพียงแต่เราจะต้องหาวิธีการที่จะอ่านข้อมูลเหล่านั้นให้ได้เสียก่อน.

ศจ.ลูกา เกิดที่เจนัว  ได้รับปริญญาแพทย์ศาสตร์มหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยแพฟเวียในปี 1944  เป็นศาสตราจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดมาตั้งแต่ปี 1970 (ปัจจุบันเกษียณแล้ว) เขาทุ่มเทเวลาให้กับการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการอพยพย้ายถิ่นของมนุษย์กับกลุ่มเลือด   ศจ.ลูกาและเพื่อนๆ นักวิทยาศาสตร์ ค้นคว้าวิจัยในเรื่องดังกล่าวนี้มาตั้งแต่ปี 50s ทำการสำรวจและเก็บตัวอย่างเลือดจากที่ต่างๆ ในโลก ต่อเนื่องยาวนานนับสิบปี นำเสนอแนวคิดนี้และตีพิมพ์ผลงานที่ท้าทายน่าตื่นตะลึงหลายชิ้นด้วยกัน เช่น The Gene-tics of Human Populations, The History and Geography of Human Genes..  นอกเหนือจากเป็นนักพันธุกรรมแล้ว เขายังสนใจงานมนุษยวิทยาสายอื่นๆ เช่น ด้านวัฒนธรรม เขานำเสนอความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาและส่งต่อทางวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับการพัฒนาทางพันธุกรรมในหนังสือชื่อ Cultural Transmission and Evolution.

lucatree

[ภาพข้างบน เป็นภาพแผนภูมิของอาจารย์ลูกาที่แสดงให้เห็นสาแหรกที่โยงพันธุกรรมของมนุษย์ตระกูลต่างๆ  ไปสู่ต้นสาแหรก ถ้าอยากทราบเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ศจ.ลูกา หาข้อมูลได้จากwikipedia.org หรืออาจค้นหาโดยการพิมพ์ชื่อหรือชื่อหนังสือของเขาได้ในกูเกิ้ลส์ มีเรื่องราวให้อ่านอีกอย่างจุใจ]

spencer

แต่คนที่มีความโดดเด่นที่สุดในแวดวงนักพันธุกรรมยุคนี้ คงไม่มีใครเกิน ดร. สเปนเซอร์ เวลส์ (Dr. Spencer Wells).

สเปนเซอร์จบปริญญาเอกทางชีววิทยาที่ฮาวาร์ด เคยทำงานวิจัยเป็นผู้ช่วย ศจ.ลูกาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด มีผลงานโดดเด่นด้านพันธุกรรมที่ทำให้เขาได้รับรางวัลมากมายทั้งที่ยังหนุ่มอยู่

journey
สเปนเซอร์เริ่มมีชื่อเสียงจากผลงานที่ออกมาในปี 2002   หนังสือชื่อ Journey of Man : A Genetic Odyssey ได้นำพาพวกเราย้อนรอยกลับไปสู่บรรพบุรุษเดียวกันที่อพยพออกจากแอ๊ฟริกา ถอยไปไกลกว่าห้าหมื่นปี ก่อนที่จะกระจายกันออกไปพิชิตโลก ทฤษฎีของ ศจ.ลูกา ได้รับการยืนยันว่าถูกต้อง นี่คือความรู้ที่ได้ทะลายกำแพงของการแบ่งแยกทางชาติพันธ์ุและสีผิวออกไป ความรู้นี้กำลังบอกกับเราว่า เราทั้งหมดในโลกล้วนเป็นพี่น้องกัน

spencerandsan
ในสารคดีชื่อเดียวกันนี้ ซึ่งสนับสนุนโดยเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก สเปนเซอร์พาเราเดินทางไปทั่วโลก เพื่ออธิบายว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไร และเพราะอะไรเราจึงได้ดูต่างกัน สเปนเซอร์ พาเราไปพบกับชนเผ่าที่เก่าแก่ที่สุดเผ่าหนึ่งในกาลาฮารี แอ๊ฟริกา ชื่อเผ่า ซาน บุ๊ชแมน (San Bushman) ดีเอ็นเอของชนเผ่านี้ ได้บอกให้พวกเรารู้ว่า  พวกเขาเป็นมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เชื่อมตรงใกล้ชิดที่สุดกับต้นสาแหรกในครอบครัวของเรา (M168) รูปแบบอย่างหนึ่งของภาษาที่เก่าแก่และได้สูญหายไปหมดแล้วในเผ่าพันธ์ุอื่น แต่กลับยังคงเหลืออยู่ในชนเผ่าซานนี้ นั่นคือภาษาที่มีเสียงคลิ๊ก (คนไทยเรารู้จักเผ่านี้แล้ว นิเซา ในเทวดาท่าจะบ๊องส์ไง)  อย่างอ่อนน้อมและสุภาพ สเปนเซอร์บอกกับพวกซานว่า “ผมมาจากคุณ.. เป็นเกียรติมากที่ได้มาพบกับพวกคุณที่เป็นต้นสายของพวกเรา เลือดของคุณบอกกับเราอย่างนั้น” มันน่าประทับใจที่ฝรั่งคนหนึ่งพูดกับคนพื้นเมืองแอ๊ฟริกันเช่นนั้น เราต้องไม่ลืมว่า แม้ทุกวันนี้ การเหยียดผิวก็ยังมีอยู่ คนยุโรปและคนอเมริกันเคยถือว่าคนดำเป็นสัตว์ ไม่เสมอเท่าเทียมกับคนขาวเช่นตน แต่วันนี้วิทยาศาสตร์กลับบอกว่า พวกเรามาจากพวกเขา  นี่จะทำให้ใครได้คิดบ้างหรือไม่ ยังเป็นที่กังขา.

สเปนเซอร์ ยังได้พาเราไปพบความเชื่อมโยงกับชนพื้นเมืองในอินเดีย ไปสู่ชาวเผ่าอะบอริจิ้นในออสเตรเลีย ไปสู่ชาวเผ่าชุกชีในรัสเซียตะวันออกเฉียงเหนืออันหนาวเย็น เชื่อมโยงไปสู่อินเดียนแดงเผ่านาวาโฮในอเมริกา และเขายังทำให้เราประหลาดใจ ด้วยการพาเราเข้าไปยังประเทศทาจิกิสตานในเอเชียกลาง ที่ซึ่งความคิดของการมีเชื้อสายไอริชของเขาได้ถูกโยนทิ้งไป เมื่อเขาได้ไปพบกับครอบครัวของมิยาซอฟ ชายผูู้สืบเชื้อสายแห่งตระกูลที่ซึ่งบรรพบุรุษบางคนในครอบครัวนี้ได้อพยพเข้าไปในยุโรป และต่อมาได้กลายเป็นบรรพบุรุษของต้นตระกูลเวลส์ ทั้งคู่นั่งมองหน้ากัน  จับมือและกอดกัน. อย่างไม่น่าเชื่อ พี่น้องจากปลายทางของสาแหรกสองเส้นได้มาบรรจบกัน นั่นเป็นภาพที่น่าประทับใจอย่างไม่ต้องสงสัย เราลืมไปสนิทว่าเวลส์นั้นเป็นคริสต์และมิยาซอฟเป็นมุสลิม นั่นไม่สำคัญเลยซักนิด.

นี่เป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผมจริงๆ ในท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งเช่นนี้ นี่แหละที่ทำให้ผมเปลี่ยนแนวคิดในการทำโปรเจ็คที่แต่แรกมีชื่อว่า ‘โครงการไซอํมีส’ มาสู่แนวทางการสำรวจของเวลส์และใช้ข้อมูลของเขาเป็นส่วนหนึ่งนับแต่นั้น แม้ว่างานที่ผมทำจะเกี่ยวกับดนตรี แต่มันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันได้เกี่ยวพันเข้ากับมานุษยวิทยาและชีววิทยาอย่างแยกไม่ออกเสียแล้ว.

deepancestry

หลังจากความสำเร็จของ Journey of Man สเปนเซอร์เปิดตัวโครงการใหม่ของเขาในอันดับต่อมา ”Genographic” คราวนี้เขาได้เปิดเผยให้เห็นรายละเอียดของเส้นทางการอพยพและข้อมูลของเผ่าพันธุ์ทุกกลุ่ม นี่เป็นแผนที่ที่ผมใช้เป็นพิมพ์เขียวในการสำรวจทางดนตรีของผมก็ว่าได้ นอกจากนี้ ทางโครงการ Genographic ยังได้เปิดรับการมีส่วนร่วมจากผู้คนทั่วโลก โดยการสั่งซื้อชุดตรวจสอบดีเอ็นเอ คุณแค่เก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อจากกระพุ้งแก้มของคุณ ส่งกลับไปที่แล็บแล้วก็รอราวเดือนหนึ่ง หลังจากนั้นคุณก็จะได้รับผลแล็บที่จะบอกรายละเอียดเกี่ยวกับบรรพบุรุษของคุณว่ามาจากไหน และได้เดินทางผ่านที่ใดมาบ้าง ส่วนทางโครงการก็จะได้ตัวอย่างดีเอ็นเอเพื่อการวิเคราะห์เพิ่มขึ้นในฐานข้อมูล ตอนที่หนังสือ Deep Ancestry ตีพิมพ์ สเปนเซอร์ก็มีตัวอย่างดีเอ็นเอจากการมีส่วนร่วมแบบนี้เพิ่มขึ้นถึงกว่า 160,000 ตัวอย่างเข้าไปแล้ว แน่นอน ผมไม่รอช้าที่จะทำการทดสอบนี้ ด้วยการสั่งชุดเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อนี้มา ขูดกระพุ้งแก้มตัวเอง แล้วก็ส่งกลับไปทันที.

หลังจากนั้นประมาณเดือนกว่าๆ เห็นจะได้ ผลก็ออกมา ผมถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Haplogroup O (M175) และนี่คือเส้นทางของบรรพบุรุษของผมถอยไปราว  31,000-79,000 ปี จากแอ๊ฟริกามาสุดตรงบริเวณที่นักวิชาการต่างเห็นพ้องกันว่าเป็นถิ่นฐานเก่าแก่ของชนเผ่าไท แถบกวางสี ในจีนตอนใต้.

map

ถ้าใครสักคน เกิดอยากที่จะสืบค้นต้นสาแหรกของวงตระกูลขึ้นมา ด้วยวิธีอื่น บางทีเขาอาจจะสืบย้อนไปได้ไกลพอสมควร แต่ในที่สุด เขาก็จะชนกำแพงและสืบสาวต่อไปไม่ได้อีก  แต่เชื่อไม๊ว่า ดีเอ็นเอไม่เป็นเช่นนั้น.. มันทะลายกำแพงนี้และดึงเราไปจนถึงรากลึกที่สุดของสาแหรกได้.

เมื่อมันวิเศษขนาดนี้แล้วเนี่ย.. ช่วยบอกหน่อย อะไรคือ ดีเอ็นเอ ?

สเปนเซอร์อธิบายง่ายๆ กับเราว่า..

“เจ้าโมเลกุลเหล่านี้นี่แหละที่พาเราย้อนไปได้ไกลในอดีต  มันเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่บรรพบุรุษมอบให้เราเป็นของขวัญติดตัวไปทุกหนแห่ง  เจ้าโมเลกุลเหล่านี้เรียงต่อเนื่องซ้ำกันเป็นเส้น เหมือนเทปเส้นเล็กๆ  มันร้อยเรียงกันเหมือนรหัสมอร์ส เพียงแต่ไม่ได้เป็นจุดๆ  แต่เป็นแท่ง ชุดละสี่อันต่อกันไปเรื่อยๆ บรรจุอยู่ในเกือบทุกเซลในร่างกายมนุษย์เรา พูดได้ว่า..มันเปรียบเหมือนแบบแปลนที่ใช้สร้างตัวตนและเลือดเนื้อที่ประกอบเป็นคุณนั่นแหละ มันเป็นแบบแปลนที่มีความเกี่ยวเนื่องกันกับแบบแปลนอันอื่นๆ แต่มหัศจรรย์ที่มันกลับมีความเป็นเอกเทศแตกต่างหลากหลายไม่ซ้ำกันเลยในแต่ละแบบแปลน มันมีข้อมูลมากมายอัดแน่นอยู่ในนั้น ถ้าคุณดึงเอาดีเอ็นเอออกมาจากเพียงแค่เซลเดียวแล้วคลี่ออก มันจะยาวเกือบหกฟุตทีเดียว และถ้าคุณดึงมันออกมาจากทุกเซลมาคลี่ต่อกัน  โดยทฤษฎีแล้ว.. มันจะยาวเท่ากับระยะทางไปดวงจันทร์แล้วกลับมาโลกหลายพันเที่ยวเชียวล่ะ !”

DNA มาจากคำเต็มว่า DeoxyriboNucleic Acid มันเป็นองค์ประกอบที่มีน้ำตาลเป็นแกน เหมือนแผ่นน้ำตาลที่ถูกเชื่อมเข้าด้วยกันกับฐานที่เป็น Nucleic Acid  ที่เรียกอีกอย่างว่า Nucleotides ซึ่งมีส่วนประกอบชุดละสี่ตัวในหนึ่งโมเลกุลดีเอ็นเอ และพวกมันก็เก็บรหัสที่ถูกเขียนเอาไว้ต่อเนื่องกันไปตลอดห่วงโซ่ดีเอ็นเอทั้งหมด.  Nucleotides สี่อันของแต่ละชุดมีชื่อเรียกว่า Adenine, Cytosine, Guanine และ Thymine.  อันที่จริงชื่อของมันก็ไม่สลักสำคัญอะไร ดังนั้นเราก็เลยเรียกมันสั้นๆ แค่ A,C,G และ T ก็พอแล้วล่ะ แต่ไอ้ที่สำคัญจริงๆ คือลำดับการจัดเรียงของแต่ละหน่วยอย่างเป็นสัดเป็นส่วนในยีนของเซลคนเรานี่ล่ะ มันช่วยกำหนดสีผิว, กำหนดแนวโน้มที่อาจจะเป็นโรคเบาหวานหรือกลายเป็นคนติดเหล้า,   กำหนดความสูงรวมทั้งลักษณะทางกายภาพทั้งหลายที่ระบุว่าเป็นตัวคุณ.. ยีนส์เหล่านี้กระจายอยู่ทั่วไปในกลุ่มยีน (จีโนม) ของคุณ มีแนวโน้มว่าจะมีความยาวอยู่ระหว่าง 5,000 – 50,000 nucleotides ประกอบเข้าด้วยกัน  โดยทั่วไปจีโนมของคนเรามีอยู่ประมาณ 30,000 ยีนส์.

dna
…แม้ว่าส่วนใหญ่ของจีโนมคือเส้นสายดีเอ็นเออันยาวเฟื้อยที่เราเองก็ไม่รู้ว่ามันทำอะไร แต่ก็เชื่อว่าบางส่วนของมันควรจะต้องมีหน้าที่อะไรซักอย่าง เช่น หน้าที่ควบคุมแบบเดียวกับที่ยีนส์สั่งเปิดหรือปิดการทำงานของเนื้อเยื่อที่ต่างๆ กันไป (เหมือนกับที่ทำให้ไตทำงานต่างกับปอดอะไรทำนองนั้น) แต่รวมๆ แล้วมันก็ดูเหมือนจะไม่ได้ทำประโยชน์อะไร มันเป็นอะไรที่นักพันธุกรรมเรียกว่า “junk DNA”  แม้ว่ามันจะเหมือนขยะสำหรับนักพันธุกรรมทั่วไป แต่สำหรับนักพันธุกรรมกลุ่มของสเปนเซอร์ที่ใช้จีโนมเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ นี่เป็นตัวหนังสือที่เขียนเรื่องราวของบรรพบุรุษของเราเอาไว้.

…ดีเอ็นเอทำงานอย่างไร ?  ง่ายมาก ! ถ้าคุณมีลูก คุณก็ได้ทำสำเนาดีเอ็นเอของคุณส่งต่อไปให้พวกเขา ร่องรอยดีเอ็นเอที่ถูกปล่อยออกไปนี้จะถูกทำสำเนาซ้ำไปทุกรุ่น นี่คือเหตุผลว่าทำไมลูกหลานเหลนโหลนคุณ ถึงดูคล้ายคุณมากกว่าจะไปดูคล้ายคนอื่น ในระหว่างการทำสำเนานี้ ซึ่งเป็นกระบวนการที่นักพันธุกรรมเรียกมันว่า replication, โมเลกุลดีเอ็นเอทั้งหมดก็จะทำหน้าที่เป็นต้นฉบับ เพื่อสร้างตัวมันเอง อีกเวอร์ชั่นหนึ่ง มีเอนไซม์เล็กจิ๋วอยู่เป็นล้านที่ทำงานนี้.

ลองนึกภาพ พระจากยุคกลางหลายๆ ท่าน แต่ละท่าน ได้รับมอบหมาย ให้คัดลอกคัมภีร์ที่ยาวที่สุดในโลกคนละหนึ่งแผ่นอย่างตั้งอกตั้งใจ เสร็จแล้วทุกแผ่นก็จะถูกเอามาประกอบรวมเป็นเล่มภายหลัง แม้ว่าพวกพระทั้งหลายจะระมัดระวังในการคัดเพียงใดก็ตาม บางคนก็อาจจะผิดพลาดได้ ยกตัวอย่างเช่น เขียนตัว ค เป็น ด  เป็นต้น..

โดยส่วนใหญ่แล้ว การสะกดผิดเช่นนี้มักถูกจับได้โดยเจ้าอาวาสประจำวิหารโมเลกุล มีชุดของเอนไซม์ที่คอยตรวจทานอ่านเอกสารอย่างระมัดระวังก่อนจะทำสำเนา กระนั้นไม่ว่าจะเข้มงวดเพียงไหน ก็ยังมีตัวสะกดผิดเล็ดรอดออกไปถึงตอนรวมเล่มจนได้ ในวงการพิมพ์เราเรียกตัวสะกดผิดว่า Typos แต่ในวิชาพันธุกรรม มันถูกเรียกว่า Mutation (การกลายพันธ์ุ).

อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดนี้ก็ถูกพบในอัตราที่ต่ำมาก คือผิดพลาดแค่ประมาณห้าสิบต่อพันล้าน Nucleotides ที่ประกอบกันขึ้นเป็นจีโนมของคนเรา และไอ้เจ้าตัวสะกดผิดนี่แหละ ที่กลับกลายเป็นวิวัฒนาการในโครงสร้างที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลาย เมื่อเรามองดูผู้คนในโลก มันช่างน่าอัศจรรย์ใจในความหลากหลายเหล่านั้น  ไม่มีคนสองคนที่ดูเหมือนกันเป๊ะ ยกเว้นแฝดเหมือน (ที่ซึ่งในกรณีแฝดเหมือน ก็ไม่ได้หมายความว่าเหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ไปหมด เพียงแต่เรามองไม่ออกต่างหาก อย่างเช่น พวกเขาอาจมีใบหูที่เล็กกว่ากันสองมิล..)  มนุษย์เรามีรูปร่าง ขนาด และสีผิวที่หลากหลายอย่างน่ามหัศจรรย์ คุณว่ามันไม่มหัศจรรย์หรอกหรือ ? เมื่อเราลองไตร่ตรองดูให้ดี จะเห็นว่าที่จริงเราล้วนเป็นสัตว์สายพันธ์ุเดียวกัน ถึงแม้บัดนี้เราจะดูไม่เหมือนกันแล้วก็ตาม  เกือบทั้งหมดของความแตกต่างทางรูปลักษณ์ที่เห็นเหล่านี้ มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่การกลายพันธ์ุของเราที่จุดใดจุดหนึ่งในอดีต และมันได้ส่งต่อๆ มายังผู้คนทั้งหลายที่เราพบเจอในวันนี้.

ความหลากหลายอันเหลือเชื่อของมนุษย์นี่แหละ   ที่ทำให้นักมานุษยวิทยายุคแรกๆ  จัดแบ่งมนุษย์ออกเป็นประเภทต่่างๆ . Cal Von Linnaeus นักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดน ผู้ทำการแยกแยะหมวดหมู่จัดลำดับชั้นให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายในโลก เขาสร้างระบบที่แบ่งสิ่งมีชีวิตออกเป็นสองพวก คือ พืชและสัตว์ สายพันธ์ุจำนวนมากกว่า 12,000 ชนิดถูกตั้งชื่อ และนายลินเนซนี่ก็เลือกชื่อ Homo Sapiens (แปลว่า คนฉลาด) ให้กับสายพันธ์ุมนุษย์เรา เชื่อได้แน่นอนว่างานแบบนี้เขาคงต้องทำกันอย่างรอบคอบระมัดระวังที่สุด สำหรับวิทยาศาสตร์แล้ว นี่เป็นงานที่สำคัญมาก แต่กระนั้น นายลินเนซ ก็ทำเลยเถิดไปกว่าที่ควร  ความที่แกมองเห็นมนุษย์ในที่ต่างๆ ของโลกมีลักษณะที่ต่างกันไป แกก็เลยจัดแบ่งมนุษย์ย่อยออกไปตามลักษณะที่เห็นเป็น 5 จำพวกด้วยกัน  afer คือพวกแอ๊ฟริกัน / americanus คือ อเมริกัน (พื้นเมือง) / asiaticusคือ เอเชียน / europaeus คือ ยุโรเปียน / และยังแถมพิเศษให้อีกอันคือ monstrosus เผ่าพันธ์ุแสนน่ารังเกียจ ที่เตรียมเอาไว้สำหรับมนุษย์ประเภทที่นายลินเนซไม่นิยมชมชอบ รวมไปถึงพวกตัวประหลาดที่มีอยู่จริงอย่างคนแคระ และที่นายลินเนซมั่วนิ่มขึ้นมาเองอย่างเช่น มนุษย์หัวแบน… นี่คือจุดเริ่มต้นของความวุ่นวาย สองร้อยกว่าปีต่อมา ในยุค 60s นักมนุษยวิทยากายภาพชาวอเมริกันชื่อ Carleton Coon แบ่งมนุษย์ออกเป็นประเภทต่างๆ ด้วยวิธีคล้ายกับลินเนซ และเขียนไว้ในหนังสือของเขาชื่อ The Origin of Races  ซึ่งได้กลายเป็นหนังสือที่นักเรียนมนุษยวิทยาทุกคนต้องอ่าน เพียงแต่นายคูน เปลี่ยนชื่อเรียกซะใหม่ คือ.. Caucasoids แทน europaeus / Negroids แทน afer / Mongoloids แทนทั้ง asiatics และ americanus.  แล้วยังแถมให้อีกสองประเภทคือ Capoid ใช้เรียกพวก Khoisan ในแอ๊ฟริกา ซึ่งก็คือพวกเผ่า San มนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุดนั่นแหละ อีกอันคือ Australoid ใช้เรียกพวกอะบอริจินในออสเตรเลียและนิวกินี  สิ่งที่ต่างกันระหว่างสองคนนี่ก็คือ ทฤษฎีของลินเนซนั้นอิงอยู่กับไบเบิ้ล เขาเชื่อว่าเผ่าพันธุ์แต่ละประเภทนี้คือผลงานของพระเจ้า แต่ของนายคูนมาทางเดียวกับดาร์วินตามทฤษฎีวิวัฒนาการ เขาเชื่อว่าครั้งหนึ่งมนุษย์มีพันธ์ุเดียว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็พัฒนาเปลี่ยนแปลงจนต่างสายพันธ์ุกันไปอย่างที่เห็นในทุกวันนี้ แม้ว่าคูนจะไม่ได้รวมเอาเผ่าพันธุ์พิสดาร monstrosus มาไว้ในทฤษฎีของเขา แต่เขาได้ทิ้งแนวคิดที่จะนำไปสู่การเหยียดผิวและเผ่าพันธ์ุเอาไว้ ด้วยการแสดงความเห็นว่า พวกแอ๊ฟริกันนี่ติดหล่มทางวิวัฒนาการมาตั้งแต่ล้านกว่าปีสมัยโฮโมอีเร็คตัสนู่น ขณะที่เผ่าพันธ์ุอื่นๆ เขาพัฒนากันไปหมดแล้ว จนกระทั่งมาเป็นมนุษย์ในยุคปัจจุบัน นี่เองที่ทำให้การจัดชั้นทางสังคมของคนผิวดำถูกกดต่ำลงไป. ถามว่า นายคูนเนี่ย เอาอะไรมาใช้กำหนดกฏเกณฑ์นี้ ?  แทบไม่มี ความรู้ในทางมานุษยวิทยาในยุคนั้น จำกัดอย่างมากเมื่อเทียบกับปัจจุบันนี้ ที่เขามีก็เช่นทฤษฎีเก่าอย่าง Morphology ของสมัยกรีกนู่น ซึ่งไม่ใช่ความรู้อะไรที่จะยืนยันได้หนักแน่นเลย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า เขาจะคิดว่าความหลากหลายของมนุษย์ที่ต่างกันไปอย่างที่เราเห็นนี้ คงต้องใช้เวลาเป็นล้านปี ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่ได้ใช้เวลานานขนาดนั้นเลย  มีอยู่วันหนึ่ง หนุ่มๆ ในอ๊อฟฟิซผมระริกระรี้หอนเห่ากันเกรียวกราวทีเดียว เมื่อหลานสาวของผมแวะมาหา เธอสวยเหมือนหลุดมาจากแม๊กกาซีน ทั้งที่ไม่ได้แต่งหน้าตาอะไรเลย ผมนึกถึงหน้าพ่อเค้าแล้วก็ สรุปในใจ.. = ค่อนข้างไปทางขี้เหร่..☺ ส่วนแม่ของเขาก็..คือ..☺ เอาว่าไม่ใช่คนสวยล่ะนะ. แต่ทำไมลูกมันถึงสวยได้ขนาดนั้นละหว่า !

ดูสิ นี่แค่วิวัฒนาการในหนึ่งรุ่นเท่านั้นเองนะเนี่ย.

mutation
ความสามารถของเราในการจัดลำดับดีเอ็นเอ เพื่อหาการเรียงตัวของ ไอ้เจ้า A-C-G-T เนี่ย มันยังไม่ถูกค้นพบจนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เอง เพราะว่าความเป็นไปได้ที่จะศึกษาเกี่ยวกับเรื่องดีเอ็นเอโดยตรง เพิ่งจะมีในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมานี่ จุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญนั้น เกิดขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งชื่อ Richard Lewontin ซึ่งตอนนั้นเขากำลังทำงานวิจัยที่dropheliaเกี่ยวกับแมลงวันผลไม้ Drosophila. การทดลองของเขาในปี 60s ได้เผยให้เห็นวิธีการใหม่ที่จะใช้ตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของโปรตีน  ด้วยวิธีการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ทำให้เขาสามารถวิเคราะห์การขยายตัวของข้อมูลได้อย่างมีระบบ วันนึงเขาก็เกิดความคิดที่จะประยุกต์วิธีการที่เขาใช้ในการศึกษาแมลงวันผลไม้นี้ ลองเอามาใช้ศึกษาวิเคราะห์การขยายตัวของข้อมูลกลุ่มเลือดมนุษย์ เขาต้องการใช้ข้อมูลนี้เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีของลินเนซและคูน ว่าจริงหรือ ที่เผ่าพันธ์ุมนุษย์แบ่งแยกย่อยต่างกันออกไป  เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริง การเปลี่ยนแปลงของโปรตีนส่วนใหญ่ที่พบในมนุษย์ก็จะต้องเป็นเอกเทศ ต่างกันไปอย่างสิ้นเชิงในแต่ละเผ่าพันธ์ุ. แต่ที่ลีวอนตินพบนั้นตรงกันข้าม มีความแตกต่างเพียงสิบกว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่พบ พวกเขาแชร์รูปแบบการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนที่เหมือนกันกว่า 85 เปอร์เซ็นต์   พูดได้ว่า.. ต่อให้มีใครเอาระเบิดปรมาณูมาทิ้งแล้วเหลือแต่พวกอังกฤษ พวกอะบอริจิน กับพวกเผ่าปิ๊กมี่เท่านั้นที่รอดอยู่ในโลก  ในตัวมนุษย์พวกนี้แต่ละคน ก็จะยังคงมีไอ้เจ้ารูปแบบการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม 85 เปอร์เซ็นต์ที่ว่านี้  อยู่ในตัวทุกคน ‘เหมือนกันทั้งหมด’. นี่หมายความว่า ลินเนซและคูนผิดมหันต์  มนุษย์ไม่ได้แบ่งแยกเป็นสายพันธ์ุย่อยเลย ตรงกันข้าม พวกเขามาจากครอบครัวเดียวกัน และนั่นเป็นจุดพลิกผันที่สำคัญมาก โดยเฉพาะสำหรับ ศจ.ลูกา คนที่เราได้กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น.

ฮ่าๆ เอาล่ะ.. ก่อนที่จะบานปลายกลายเป็นบทความทางชีววิทยาพันธุกรรมไป ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดการเบี่ยงเบนทางอาชีพของผมไปได้ ก็ขอตัดบทพอแค่นี้ก่อน ผมสัญญาว่าเหลือเรื่องปวดหัวแค่อีกตอนเดียวเท่านั้น จริงๆ (เอ..หรือว่าสองตอนกันแน่ ?) ในตอนถัดไปผมจะมาเล่าถึงครอบครัวของเรา ครอบครัวใหญ่ที่โยงใยถึงกันแต่ละครอบครัว.

 

Special Thanks to : Dr. Spencer Wells, National Geographics