งาตราประทับมณฑลภูเก็จ
เขียนโดย ผศ.สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์   
จันทร์, 10 ตุลาคม 2011

งาตราประทับมณฑลภูเก็จ

(มห.ภูเก็จ 992)
ภาพงาตราประทับ  

หลักฐานการเริ่มต้นชื่อ ถลาง ที่นักค้นคว้ารายงานให้ทราบว่า ถลาง มาจาก JUNK CEYLON ซึ่งปรากฏอยู่ในแผนที่เดินเรือของคลอดิอุส ปโตเลมี เมื่อ พ.ศ.๗๐๐ กาลล่วงมาถึง พ.ศ.๑๕๖๘ โจฬะทมิฬยกกองทัพมาตีอาณาจักรศรีวิชัยที่ไชยา ทัพหน้าตั้งอยู่ที่บ้านม่าหนิก "มณินครัม"(มะ-นิ-นะ-คะ-รัม) ซึ่งเป็นภาษาทมิฬ จำแนกได้เป็น ๒ คำ คือ มณิ คือ มณี อันเป็นส่วนหนึ่งของ แก้วมีค่า ส่วน นครัม คือ นคร หรือ เมือง รวมความหมายเป็น เมืองแก้ว

เมื่อ ๒๐๐ กว่าปีที่แล้ว บุตรชายของท่านผู้หญิงจัน(ท้าวเทพกระษัตรี) คือ นายเทียน ประทีป ณ ถลาง ได้เป็นเจ้าเมืองภูเก็จ ต่อมาได้เป็นพระยาทุกรราช และท้ายสุด พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น พระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง เจ้าพระยาถลาง ก็คงชื่อ เพชร และ คีรี ซึ่งหมายถึง ภูเขาแก้ว หรือ ภูเก็จไว้ดั่งเดิม

ภูเก็จ เป็นชื่อเมืองอยู่ในมณฑลภูเก็จ ที่มีตราประทับมหาดไทย ประจำมณฑลภูเก็จ เมื่อเลิกการปกครองแบบมณฑลไปแล้ว ตราประทับก็หมดหน้าที่การใช้งาน ถูกทิ้งไว้ที่สโมสรข้าราชการเมืองภูเก็ต จนกระทั่งนายสุบิน สมวงษา ทำความสะอาดสโมสรจึงได้พบตราประทับมหาดไทยมณฑลภูเก็จ และได้นำไปมอบให้นายสกุล ณ นคร รองประธานกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จเก็บรักษาไว้

ตราประทับชิ้นนี้ทำจากงาช้างมี ๒ ส่วน คือส่วนที่เป็นวงกลมของตราประทับ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕.๕ ซม. ตรงกลางเป็นรูปหัวสิงห์ เหนือหัวสิงห์มีอักษร "มหาดไทย" ด้านล่างหัวสิงห์มีอักษรว่า "มณฑลภูเก็จ" อีกส่วนเป็นด้าม เมื่อสวมติดกับตราวงกลมวัดส่วนสูงได้ ๘ ซม. จึงนับได้ว่าเป็นตราประทับรูปสิงห์ "มหาดไทย มณฑลภูเก็จ" ที่เป็นหลักฐานภูเก็จชิ้นเดียวที่ทำจากงาช้าง.

 
มณฑลภูเก็จ ตั้งเมื่อ พ.ศ.2440  จึงมีตราสอดคล้องกับที่ตั้งมณฑล

ปี พ.ศ.๒๕๕๔ งาประทับมณฑลภูเก็จในความครอบครองของกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ เคยเก็บรักษาอยู่ที่อุทยานแห่งการเรียนรู้กรทอง ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต  พ.ศ.๒๕๖๑ แสดงอยู่ที่ห้องสมุดโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย
พ.ศ.๒๕๕๗ ดร.สุขกมล วงศ์สวรรค์ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง ได้เสนองาตราประทับมณฑลภูเก็จ พิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นศิลปะโบราณวัตถุ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๗ เล่ม ๑๓๑ ตอนพิเศษ ๗๐ ง หน้า ๒๐ ลำดับที่ ๒๖

 (มห.ภูเก็จ 992)

 

***

สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์

อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปเพื่ออ่านมันได้

โทร. 081 326 2549

พจนสารอันดามัน

การช่างฝีมือ ประณีตศิลป์

. จห.ภูเก็จ ๒๓๓๕
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( พุธ, 28 มีนาคม 2018 )