บุคคลสำคัญในภูเก็ต๔
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
จันทร์, 28 มกราคม 2008

ตระกูล อุปัติศฤงค์

ตระกูล ตันบุญ  ณ ระนอง

ตระกูล อุดมทรัพย์

ตระกูล ดิลกแพทย์

ตระกูล วานิช

ตระกูล เอกวาณิช

ตระกูล จิรายุส

ตระกูล บุญเปกข์ตระกูล

๓.๙ ตระกูล “อุปัติศฤงค์”
       นายฮั่นก๋วน  แซ่หงอ

 ตระกูลอุปัติศฤงค์ เป็นอีกตระกูลหนึ่งของเมืองภูเก็ตที่สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยและชื่อเสียงจากธุรกิจการค้าขายและทำเหมืองแร่เช่นเดียวกับตระกูลอื่น ๆ ต้นตระกูลเป็นพ่อม่ายลูกติดที่เดินทางออกจากมณฑลฮกเกี้ยนมาประกอบอาชีพในเมืองภูเก็ต เมื่อประมาณ ๘๐ ปีมาแล้ว พ่อม่ายคนนี้คือนายฮั่นก๋วน แซ่หงอ ซึ่งอายุในขณะนั้นประมาณ ๓๐ ปี ส่วนลูกชาย คือ นายชั่นเหล แซ่หงอ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นนายจเร อุปัติศฤงค์
 นายฮั่นก๋วน  เข้ามาเริ่มต้นด้วยการเป็นเสมียนในบริษัทซุ่ยหิ้นของพวกตระกูลทองตัน บริษัทบิดาของหลวงชนาทรนิเทศหรือตันเฉ่งห้อ นายฮั่นก๋วนยึดอาชีพเป็นเสมียนมาหลายปีเลี้ยงตัวเองและบุตรชาย พยามยามเก็บหอมรอบริบใช้จ่ายอย่างประหยัด มัธยัสถ์ จนสามารถเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งพอจะเป็นเงินทุนในการทำธุรกิจการค้าแล้ว จึงได้ลาออกจากการเป็นเสมียนมาเปิดร้านค้าของตนเองชื่อร้านซินฮ่องซุ่ย จำหน่ายพวกของชำทุกชนิด เช่น ข้าวสาร เกลือ นมตราแหม่มทูนหัว ฯลฯ ต่อมาเมื่อประสบความสำเร็จในธุรกิจการค้าก็รับเป็นตัวแทนจำหน่ายเบียร์ตราสิงห์ตั้งแต่บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่เปิดโรงงานเบียร์ใหม่  ๆ และได้ขออนุญาตขอเปิดโรงงานเหล้ากะทู้ผลิตเหล้าขาวตรารวงข้าว(ปัจจุบันเลิกกิจการแล้ว) เข้าหุ้นส่วนในเหมืองแร่บ่านหงวนร่วมกับตระกูลตันติวิท(บริษัทตันติโกวิท) เปิดเหมืองแร่ที่บ้านยุน และตั้งโรงงานยางแผ่นรมควันส่งนอก โดยมีลูกชายคือนายจเร อุปัติศฤงค์ ช่วยเหลือทำงานในบริษัท
 หลังจากที่นายฮั่นก๋วนประสบความสำเร็จในธุรกิจการค้าและเหมืองแร่ ก็ได้แต่งงานครั้งที่สองกับนางหลิมบี้ แซ่หลิม ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น นางกรองทอง มีบุตรชายหญิงรวม ๗ คน คือ
 ๑.นายสุริยะ(ตุ่น) อุปัติศฤงค์ ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทภูเก็ตทองสิน ซึ่งเป็นโรงงานยางแผ่นรมควันส่งออก กรรมการผู้จัดการบริษัทไทยทองรับซื้อแร่ดีบุก และกรรมการผู้จัดการบริษัทซินฮ่องซุ่ย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้า และตัวแทนจำหน่ายเบียร์ตราสิงห์ด้วย บริษัทแม่มีหุ้นส่วนทำเหมืองแร่กับตระกูล ตันติวิท เพื่อให้ทั้งสองตระกูลเป็นทองแผ่นเดียวกัน  จึงได้ขอแต่งงานกับนางสันทนา(ตันติวิท) อุปัติศฤงค์ มีบุตรด้วยกัน ๕ คน
 ๒.นายวิจิตร์ (สิ่ว)  อุปัติศฤงค์ ตำแหน่งผู้จัดการธนาคารยูไนเต็ดมาลายันแบงค์  คอร์เปอเรชั่น(ยูเอ็มบีซี)  แต่งงานกับนางเกษมศรี (หงษ์หยก)  อุปัติศฤงค์ มีบุตร ๔ คน
 ๓.นายวิสันต์(ซิ้ว) อุปัติศฤงค์ มีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ   เหมืองแร่ บ้านยุน      และบริษัทเรือขุดแร่สหพิบูลย์แต่งงานกับนางสุวรรณี(หงษ์หยก) อุปัติศฤงค์ พี่สาวของนางเกษมศรี
 ๔. นางเบญจา(อุปัติศฤงค์) จินดาพล แต่งงานกับนายอรัญ  จินดาพล มีบุตร ๕ คน คนหนึ่งในจำนวน ๕ คน คือ นายเรวุฒิ  จินดาพล อดีต ส.ส.จังหวัดภูเก็ต
 ๕. นายวิจารณ์(อ้วน) อุปัติศฤงค์ เป็นศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียมีครอบครัวอยู่ในสหรัฐอเมริกา
 ๖. นายวิจารณ์ (ซิ้ม) อุปัติศฤงค์ เป็นคนเดียวในตระกูลที่รับราชการ มีตำแหน่งผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจ กรมทรัพยากรธรณี มีครอบครัวอยู่ที่กรุงเทพฯ
 ๗. นางสุวิมล(อุปัติศฤงค์) อร่ามวิทย์ แต่งงานกับนายธรรมนูญ อร่ามวิทย์ ทำงานอยู่บริษัทวิคส์ ตั้งรกรากอยู่กรุงเทพฯ เช่นกัน
 นายชั่นเหลหรือจเร อุปัติศฤงค์ เป็นผู้ที่ช่วยสร้างฐานะให้ตระกูลมีฐานะร่ำรวยและมั่งคั่ง รับหน้าที่เป็นประธานกรรมการบริษัทในเครือของบริษัทซินฮ่องซุ่ยทั้งหมด ได้แต่งงานกับนางเรวดี (หงษ์หยก)            อุปัติศฤงค์ บุคคลที่ช่วยคิดตั้งนามสกุลอุปัติศฤงค์ ซึ่งเดิมเป็นตระกูลแซ่หงอนั้นคือ ขุนอาทรฯ เกษียณ นายฮั่นก๋วนรับให้มาทำงานในบริษัทเป็นที่ปรึกษา
 ทายาทในตระกูลอุปัติศฤงค์ทุกคนล้วนสำเร็จการศึกษาในต่างประเทศ และต่างก็มีความสามัคคีกัน มีลูกหลานในตระกูลร่วม ๕๐ คน
 ความมั่นคงในธุรกิจการค้าและวงศ์ตระกูลที่เริ่มต้นจากนายฮั่นก๋วนซึ่งเข้ามาอยู่ภูเก็ตรุ่นเดียวกับขุนเลิศโภคารักษ์ในด้านทรัพย์สิน ที่ดิน มีหลายจังหวัดรวมแล้วไม่น้อยกว่าหมื่นไร่ มีบริษัทในเครือหลายบริษัท ซึ่งสามารถสร้างงานให้ชาวภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียงนับพันคนนับว่าเป็นตระกูลหนึ่งที่ได้ช่วยพัฒนาแรงงานและช่วยเหลือทางราชการมากพอสมควร

๓.๑๐ ตระกูล “ตันบุญ ณ ระนอง”
 ขุนเลิศโภคารักษ์ (ตันเค่หลิ่ม หรือ หลิ่ม  ตันบุญ

 คนภูเก็ตนั้นนอกจากจะมีความภาคภูมิใจในภูมิประเทศอันอุดมด้วยธรรมชาติที่งดงามแล้ว ยังมีความภูมิใจในความเป็น “คนภูเก็ต” ที่ล้วนแล้วแต่เป็นคนดี สุภาพเรียบร้อยโอบอ้อมอารี และมุ่งก่อประโยชน์ส่วนตนไปพร้อม ๆ กับให้ประโยชน์แก่ส่วนรวมอีกด้วย
 พระยารัษฏานุประดิษฐ์มหิศรภักดี(คอซิมบี้ ณ ระนอง) ได้เคยกล่าวไว้ในท่ามกลางที่ประชุมเสนาบดี ต่อพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “คนภูเก็ตมีอยู่ไม่กี่คนก็จริงแต่ก็เป็นคนทุกคน” คำกล่าวอันคมคายนี้กลายมาเป็นคตินิยมของคนภูเก็ตตลอดมา
 ขุณเลิศโภคารักษ์(ตันเค่หลิ่มหรือ หลิ่ม ตันบุญ) ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่พยายามสะสมความดีงามทั้งส่วนตัวและส่วนรวมตามคตินิยมอันดีนี้จนตลอดอายุไขของท่าน ชีวิตของท่านจึงเป็นทั้งตัวอย่างของคนทำงานก่อร่างสร้างตัวจากความยากจนขึ้นมาจนถึงระดับคนร่ำรวย เป็นตัวอย่างของนักสังคมสงเคราะห์ที่เข้าใจถึงความขาดแคลนและความทุกข์ยากของผู้อื่น เป็นทั้งนักปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับคตินิยมของคนภูเก็ต ทั้งในด้านจริยธรรม การเสียสละ และการตั้งตนไว้ชอบ
 ตันเค่หลิ่ม เดินทางจากมณฑลฮกเกี้ยนลงเรือใบรอนแรมมาถึงภูเก็ตด้วยความมุ่งมุ่นที่จะมาเผชิญโชค เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๘ งานแรกที่เริ่มต้นชีวิตบนเกาะภูเก็ตก็คือกรรมกรในเหมืองหาบที่ต้องอาบเหงี่อต่างน้ำทั้งวัน จากนั้นก็ลาออกมาเป็นคนเฝ้าสวนผักของผู้มีอันจะกินแซ่เดียวกัน มีรายได้เดือนละ ๖ บาท
 งานลำดับต่อมาคือเฝ้าเรือยนต์ของบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ ติน เดรดยิ่ง ได้รับเงินเดือน ๆ ละ ๓๖ บาท จากนั้นก็ซื้อเรือแจวรับจ้างขนส่งผู้โดยสารจากเรือเดินสมุทร“มาตัง” ขึ้นท่าเรือภูเก็ต(ท่านเรศร์) จนเก็บเงินได้จำนวนหนึ่งก็เปลี่ยนจากเรือแจวมาเป็นเรือยนต์ จากเรือยนต์รับจ้างส่งคนโดยสารเพียงสัปดาห์ละครั้ง ขยับขยายงานเป็นรับเหมาทำไม้ฟืนส่งบริษัท ตันเค่หลิ่ม จึงกลายเป็น “คอนแทรกเตอร์” คนสำคัญของบริษัทเรือขุดแร่ทุ่งค่าฮาเบอร์ฯ ตั้งแต่นั้นมา
 พ.ศ.๒๔๗๔ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเลียบหัวเมืองปักษ์ใต้ ตันเค่หลิ่มได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตให้ทำหน้าที่นายเรือพระที่นั่งนำเสด็จฯ ประพาสเมืองกระบี่ จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนเลิศโภคารักษ์ ถือศักดินา ๔๐๐ และพระราชทานนาม สกุลว่า “ตันบุญ” เพื่อให้เป็นสิริมงคลรับราชการเป็นกรมการพิเศษของเมืองภูเก็ต สนองพระมหากรุณาธิคุณ สืบไป
 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผู้จัดการบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ฯ และกงสุลอังกฤษที่ภูเก็ตต้องอพยพจากภูเก็ต จึงฝากเอกสารหลักฐานสำคัญของบริษัทไว้กับขุนเลิศโภคารักษ์ ซึ่งท่านก็ต้องรับภาระหน้าที่นี้และต้องเผชิญกับการคุมขังทรมานจากทหารญี่ปุ่นอย่างหนัก แต่ท่านไม่ยอมบอกที่ซ่อนเอกสารนั้นเลยเมื่อสงครามเลิก ทางบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ฯ ก็ตอบแทนขุนเลิศฯ โดยให้ทำเหมืองในที่ดินของบริษัทที่เรือขุดไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยชักเพียง ๑๒  เปอร์เซ็นต์      ก็ปรากฏว่าโชคดีพบแร่ดีบุก ขุดได้เดือนละ ๓๐๐–๔๐๐ หาบต่อเดือน ประกอบกับเป็นช่วงที่ราคาแร่สูงมาก ต่อจากนั้นก็เปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ ๆ คุณภาพดี ก็สามารถขยายงานได้อย่างกว้างขวาง ถึง ๗-๘ เหมืองในเวลาเดียวกัน ทำให้ท่านสามารถสร้างฐานะขึ้นสู่ระดับที่มั่นคงได้ภายในระยะเวลาเพียง ๑๐ ปี คือจาก พ.ศ.๒๔๙๓–๒๕๐๒
 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินประพาสภูเก็ต ขุนเลิศโภคารักษ์ได้รับเกียรติจากทางราชการให้ช่วยเหลือจัดหาสิ่งของในการรับเสด็จ ตลอดจนเป็นกรรมการรับเสด็จในส่วนที่เป็นงานเบ็ดเตล็ด อันไม่เกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดินขุนเลิศฯ ก็ถือเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่พยายามปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตั้งใจอย่างดีที่สุด จนความทราบถึงฝ่าละอองธุลีพระบาท โปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ และเมื่อวันเสด็จพระราชดำเนินกลับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ชั้นที่ ๔ ให้เป็นบำเหน็จ
 ขุนเลิศโภคารักษ์ได้พยายามประกอบคุณงามความดีสนองพระมหากรุณาธิคุณอยู่ไม่ขาดสาย           อาทิเช่น สละทรัพย์บำรุงการศึกษา บำรุงศาสนา บำรุงโรงพยาบาล บำรุงมูลนิธินวฤกษ์ และสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย ทุกโอกาสที่พึงปฏิบัติ จนมีชื่อเสียงว่าเป็น “เศรษฐีใจบุญ” ขุนเลิศโภคารักษ์ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังต่อไปนี้
พ.ศ.๒๔๙๘ ได้รับเบญจมาภรณ์มงกุฎไทย
พ.ศ.๒๕๐๐ ได้รับเบญจมาภรณ์ช้างเผือก
พ.ศ.๒๕๐๒ ได้รับรัตนาภรณ์ ร.๙ ชั้น ๔
พ.ศ.๒๕๐๔ ได้รับจัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย
พ.ศ.๒๕๐๕ ได้รับจัตุรถาภรณ์ช้างเผือก
พ.ศ.๒๕๑๐ ได้รับตริตาภรณ์มงกุฎไทย และเหรียญกาชาดสรรเสริญ
พ.ศ.๒๕๑๕  ได้รับตริตาภรณ์ช้างเผือก
โดยที่ถือว่ามีบ้างแล้วต้องเผื่อแผ่ผู้อื่น โดยที่ถือว่าเป็นคนของพระราชา และโดยที่ถือว่าเป็นคนของท้องถิ่นที่จะต้องให้ความร่วมมือกับทางราชการ ขุนเลิศโภคารักษ์จึงมีบทบาทต่อสาธารณชนอยู่ตลอดเวลา ท่านขุนเลิศฯ จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการอะไรต่อมิอะไรมากมายจนท่านเองก็จำไม่ได้หมด แต่ไม่ว่าจะเป็นกรรมการหรือไม่ก็ตาม เมื่อมีงานให้ช่วยก็จะยินดีช่วยทั้งนั้น ซ่อมวัดขยายอาคารเรียน สร้างตึกใหม่ให้โรงพยาบาล(เช่นตึกศูนย์บริการโลหิต “เลิศโภคารักษ์” โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต) ซ่อมอำเภอ ขุดบ่อน้ำ ฯลฯ ท่านจะต้องมีส่วนร่วมทั้งนั้น ทั้งในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียง
 วัยสูงอายุอันควรเป็นวัยแห่งการพักผ่อน แต่ขุนเลิศโภคารักษ์หายอมหยุดพักไม่ ท่านยังคงทำงานอยู่ตลอดเวลา งานล่าสุดของท่านนอกเหนือจากงานเหมืองแร่ สวนยาง ตัวแทนจำหน่ายสินค้าในเครือบริษัทปูนซิเมนต์ไทยแล้วท่านยังได้ดำเนินการสร้างศูนย์การค้าเลิศโภคารักษ์ขึ้นเป็นศูนย์การค้าแห่งแรกของจังหวัดภูเก็ต โดยวางผังให้มีโรงภาพยนต์ สถานแล่นโบว์ลิ่ง อาคารพาณิชย์และโรงแรมชั้นหนึ่ง เช่นเดียวกับศูนย์การค้าทั่วไปในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นงานที่สร้างความเจริญให้กับท้องถิ่นด้วย ศูนย์การค้าแห่งนี้เริ่มสร้างในปี พ.ศ.๒๕๑๒
 พ.ศ.๒๕๑๔ เมื่อทางราชการจังหวัดภูเก็ต มีความประสงค์จะได้ที่ดินสำรองไว้ขยายวิทยาลัยครูภูเก็ต ขุนเลิศโภคารักษ์ก็มีความยินดีบริจาคที่ดินที่เคยขุดหาแร่ผ่านไปแล้วจำนวน ๒๕๐ไร่ โดยประมาณ ให้แก่ทางราชการเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่วิทยาลัยครูภูเก็ตในวโรกาสอันเป็นวันมหามงคลพระราชพิธีรัชดาภิเษก ซึ่งการบริจากครั้งนี้เป็นการบริจาคครั้งสุดท้ายของขุนเลิศโภคารักษ์เพราะหลังจากนั้นขุนเลิศฯ ก็ล้มป่วยและถึงแก่กรรม โดยไม่มีโอกาสได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตริตาภรณ์ช้างเผือกด้วยมือของท่านเองเหมือนที่เคยได้รับมาในครั้งก่อน ๆ
 ชีวิตครอบครัว ขุนเลิศโภคารักษ์สมรสกับนางเลิศโภคารักษ์ โฮ่ย แซ่หลิม) เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๓ มีธิดาคนเดียวคือคุณหญิงกาญจนา(ตันบุญ) ณ ระนอง ซึ่งสมรสกับคุณอุ่น ณ ระนอง จากตระกูลเศรษฐีเมืองระนอง   ผู้เป็นหลาน   (ปู่น้อย)   ของพระยารัษฎานุประดิษฐ์(คอซิมบี๊ ณ ระนอง) มีทายาทสืบสกุล ๔ คน คือ นายวิจิตร ณ ระนอง  นางวิมลวรรณ  (ณ ระนอง)    บรรเลงจิต นางวิภาพรรณ(ณ ระนอง) คูสุวรรณ และนายวิบูลชัย ณ ระนอง เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการร่วมบริหารกิจการในกลุ่มเพิร์ลสืบต่อมาทุกวันนี้
 คนที่โดดเด่นในตระกูล     คือ นายวิจิตร  ณ ระนอง ซึ่งคุมธุรกิจโรงแรมและมีบทบาทสำคัญในวงการท่องเที่ยวทั้งระดับจังหวัด ระดับภาคใต้ และระดับประเทศ และดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิก

๓.๑๑ ตระกูล “อุดมทรัพย์”
          ขุนวิเศษนุกูลกิจ

 ขุนวิเศษนุกูลกิจ(วิเศษ  อุดมทรัพย์)หรือนายตันเอ่งกี่ เกิดที่จังหวัดภูเก็ต เป็นบุตรของนายตันบ๊าคและนางหีด(นุ้ย) ชาวตำบลป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
 เดิมนายตันบ๊าค เป็นคนจีนมณฑล ฮกเกี้ยน มีความรู้และประสบการณ์อาชีพทำเหมืองแร่จากประเทศจีนมาก่อน ประมาณ พ.ศ.๒๓๘๐ นายตันบ๊าคได้เดินทางเข้ามาตั้งรกรากที่ภูเก็ต แล้วทำเหมืองแร่แบบเหมืองหาบที่กะทู้ ปัจจุบันเป็นบริเวณที่ตั้งที่ว่าการอำเภอกะทู้
นายตันบ๊าคมีภรรยา ๒ คน คือ นางหีด และนางซ่วนห๋อง ชาวกะทู้มีบุตรธิดา ๙ คน และนายตันเอ่งกี่เป็นบุตรคนแรกซึ่งกำเนิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๒ นายตันเอ่งกี่ได้เรียนรู้และทำเหมืองสืบมาจากบิดา โดยเป็นผู้ดูแลกิจการเหมืองแร่ในตำแหน่งผู้จัดการตั้งแต่อายุ ๑๖ ปี ซึ่งขณะนั้นเปิดเหมืองหาบมีอยู่ ๑๗ รางหรือ ๑๗ หน้าเหมือง ใช้ชื่อบริษัทว่า “งิ้มกี่” มีคนงานเป็นคนจีน จำนวนพัน ๆ คน เพราะเหมือง ๑ รางใช้คนงาน ๒๐๐ กว่าคน พ.ศ.๒๔๔๐ - ๒๔๖๐ กิจการเหมืองแร่แบบเหมืองหาบมารับจ้างแรงงานน้อยลง การทำเหมืองแร่ก็ต้องพัฒนาเปลี่ยนไปเป็นการทำแบบเหมืองรูหรือเหมืองอุโมงค์(ได้รับแบบอย่างมาจากรัฐอิโปห์ประเทศมลายา ขณะนั้น) โดยใช้วิธีการขุดเป็นอุโมงค์เจาะลงไปตามสายแร่ซึ่งผ่านการบอริ่งแล้ว ตอนนั้นยังมีความอุดมสมบูรณ์ของแร่อยู่มากสามารถหาได้ง่ายพ.ศ.๒๔๖๐ - ๒๔๘๐ นายตันเอ่งกี่ ได้ย้ายกิจการเหมืองแร่ไปทำที่บ้านนากก ต.ฉลอง พัฒนามาเป็นระบบเครื่องจักรไอน้ำสตีม หมุนสายพาน ประกอบกับสมัยนั้นป่าไม้ที่ใช้ทำฟืนยังมีมาก และได้ดำเนินกิจการจนถึงยุคการใช้เครื่องจักรดีเซลหมุนช้า ในสมัยสงครามโลกครั้งที่  ๒  มีการสั่งเครื่องจักรใหม่ ๆ เข้ามา
พ.ศ.๒๔๙๕ ได้ไปทำเหมืองแร่ที่บ้านนาลึก ต.เชิงทะเล อ.ถลาง ใช้เครื่องดีเซลหมุนช้า เป็นเหมืองสูบฉีด
ในด้านชีวิตส่วนตัวของนายตันเอ่งกี่ มีภรรยาประมาณ ๑๒ คน มีบุตรธิดา ๓๘ คน ชาย ๑๙ คน หญิง ๑๙ คน ในจำนวนบุตรธิดาทั้งหมดมีนายเปรม  อุดมทรัพย์ ซึ่งเป็นบุตรคนโตของนายตันเอ่งกี่ กับนางเพ็กภรรยาชาวจีน เป็นผู้ได้รับการศึกษาเป็นเนติบัณฑิตจากประเทศอังกฤษคนแรกของจังหวัดภูเก็ต(พ.ศ.๒๔๗๘–๒๔๗๙) กลับมาดำเนินกิจการเหมืองแร่ต่อจากบิดา
นอกจากกิจการเหมืองแร่แล้ว นายตันเอ่งกี่ยังมีกิจการถลุงแร่และรับซื้อแร่ มาถลุงอยู่ที่บ้านอ่าวเก(โลก๊อง) อ.เมือง ภูเก็ต และที่กะทู้(บริเวณหลังศาลเจ้ากะทู้) โดยนำสินแร่มาถลุงเป็นโลหะดีบุก ๙๐%  ส่งไปขายที่ปีนัง ประเทศมลายู
จากการทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ และวงศ์ตระกูลแล้ว นายตันเอ่งกี่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนวิเศษนุกูลกิจ(วิเศษ  อุดมทรัพย์) เป็นกรมการเมืองพิเศษ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑
ขุนวิเศษนุกูลกิจ ได้ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๓ นายเปรม  อุดมทรัพย์และพี่น้องอุดมทรัพย์ ได้จัดตั้งบริษัท “วิเศษนุกูลกิจ” ดำเนินกิจการเหมืองแร่ ดีบุกต่อมา โดยพัฒนามาใช้เครื่องจักรมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องทุ่นแรงสมัยใหม่ จนถึง พ.ศ.๒๕๒๔
จาก พ.ศ.๒๕๒๔ - ปัจจุบัน บริษัทวิเศษนุกูลกิจ จำกัด มีนายสุจินต์  อุดมทรัพย์ ซึ่งเป็นบุตรของนายเปรม  อุดมทรัพย์ เป็นผู้รับช่วงดำเนินกิจการโดยซื้อหุ้นจากญาติ ๆ ทั้งหมดดำเนินงานในตำแหน่ง      กรรมการผู้จัดการ
บริษัทวิเศษนุกูลกิจ จำกัด มีกิจการดำเนินงานในอดีต คือ
๑. เหมืองแร่ที่ ต.เกาะแก้ว ๑ ราง
๒. เหมืองแร่ที่ทับสะแก ๒ ราง
๓. การวัสดุก่อสร้าง บริษัทวิเศษฯ
๔. โรงพิมพ์วิเศษคอมพิวออฟเซ็ท
๕. กิจการโรงแรมวิเศษที่ป่าตอง
๖. กิจการพัฒนาที่ดิน จัดสรรที่ดิน
หน้าที่ในกิจการบ้านเมือง นายเปรม อุดมทรัพย์เคยเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองภูเก็ตประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๐ และนายสุจินต์ อุดมทรัพย์เคยเป็นประธานสภาจังหวัดภูเก็ต(๒๕๓๐–๒๕๓๑)
หน้าที่ในกิจการสาธารณะ ปัจจุบันนายสุจินต์ อุดมทรัพย์เป็นประธานชมรมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในด้านการบำรุงสาธารณประโยชน์ขุนวิเศษนุกูลกิจและตระกูลอุดมทรัพย์มีดังนี้
๑. บริจาคที่ดิน ๑๐ ไร่ เพื่อสร้างโรงเรียนบ้านสามกอง(หน้าที่ว่าการอำเภอกะทู้หลังเก่า)
๒. บริจาคที่ดินบางส่วน เพื่อสร้างโรงเรียนบ้านกะทู้
๓. บริจาคทรัพย์สร้างตึกคนไข้ อนาถา “ตึกวิเศษอุดมทรัพย์” โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
๔. ให้ที่ดินที่ทำกินแก่ลูกจ้างในบริษัท
๕. บริจาคสร้างห้องรักษาพยาบาลคนไข้ ตึกรัตนโกสินทร์ ๒ ห้อง ตึกน้อมเกล้า ๑ ห้อง และสร้างกำแพงส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
๖.   บริจาคทราย  สร้างโบสถ์วัดต่าง ๆ สร้างกำแพงวัดพระนางสร้าง สร้างหอระฆัง และ ประตูวัดเก็ตโฮ่ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต

๓.๑๒ ตระกูล “ดิลกแพทย์”
พระเวชกิจพิศาล (เจิม  ดิลกแพทย์)

 โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต แต่เดิมคือโรงพยาบาลเมืองภูเก็ต เริ่มต้นจากการขออนุญาตจัดตั้งโรงพยาบาลของเจ้าหมื่นเสมอใจราช(ทองดี  โชติกเสถียร) ข้าหลวงหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๔๓๔ และได้รับอนุมัติจากรัฐบาลในปีต่อมา แต่ในระยะแรก ๆ นั้นโรงพยาบาลเมืองภูเก็ตยังขาดงบประมาณที่จะใช้ซื้อเครื่องมือแพทย์และยารักษาโรค รวมทั้งขาดหมอด้วย ในระยะแรก ๆ นั้นไม่มีหมอชาวไทยเลย เป็นแต่หมอชาวต่างประเทศ เช่น หมอแอมเมอร์ ซึ่งเป็นมิชชันนารี หมอแบกซ์ หมอปีเดน หมอคนไทยซึ่งเป็นแพทย์ชั้นหนึ่งคนแรกของเมืองภูเก็ต คือ พระเวชกิจพิศาล(เจิม  ดิลกแพทย์) ได้มาดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุขาภิบาลจังหวัดภูเก็ต(ชื่อเรียกในสมัยนั้น) ซึ่งขณะนั้นตั้งอยู่ ณ บริเวณหน้าวัดโฆษิตวิหารปัจจุบันเป็นโรงรับจำนำและบ้านพักคนงานเทศบาลเมืองภูเก็ต  ใน  ปี พ.ศ.๒๔๕๙ โดยทางกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ส่งมา 
ประวัติการเข้ามาสู่จังหวัดภูเก็ตของหลวงเวชกิจพิศาลนี้มีอยู่ว่า ในสมัยนั้นที่จังหวัดภูเก็ตได้มีบรรดาชาวต่างประเทศเข้ามาอาศัยอยู่หลายคน ซึ่งส่วนมากมาดำเนินกิจการทางด้านเหมืองแร่ ชาวต่างประเทศเหล่านี้ได้ร้องเรียนไปยังทางราชการในพระนคร อ้างว่ามีความเดือดร้อนในด้านการรักษาพยาบาล เพราะในขณะนั้นภูเก็ตยังไม่มีแพทย์(ชั้นหนึ่ง) ขอให้ทางราชการได้พิจารณาจัดส่งแพทย์ต่างประเทศให้มาประจำ ทางราชการก็ได้ส่งหมดแอมเมอร์มา ต่อมาเมื่อหมอแอมเมอร์กลับไป ทางราชการก็ได้ส่งหมดแบกซ์มาแทน และในปี พ.ศ.๒๔๕๙ ก็ได้ส่งพระเวชกิจพิศาล ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราชและเป็นผู้ปกครองโรงพยาบาลศิริราชของโรงเรียนราชแพทยาลัยมาอีกคนหนึ่งโดยให้มาในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุขาภิบาล จังหวัดภูเก็ต จึงนับได้ว่าพระเวชกิจพิศาลเป็นแพทย์ชั้นหนึ่งคนไทยคนแรกของจังหวัดภูเก็ต ดำเนินการรักษาพยาบาลร่วมกับหมอแบกซ์การรักษาพยาบาลในขณะนั้นก็เป็นการรักษาพยาบาลอย่างธรรมดา ไม่มีการรักษาพยาบาลที่นอกเหนือไป เช่นการผ่าตัด
 มีเหตุการณ์ที่ทำให้พระเวชกิจพิศาลกลายเป็นที่ยอมรับของชาวต่างประเทศในจังหวัดภูเก็ต ก็คือพระเวชกิจพิศาลแสดงความสามารถในการผ่าตัดคนไข้ที่ป่วยเป็นแผลเรื้อรังที่เท้าอันเนื่องจากอุบัติเหตุเป็นผลสำเร็จ โดยที่หมอแบกซ์ไม่เห็นด้วย ตั้งแต่นั้นมาความคิดเห็นระหว่างหมอแบกซ์กับพระเวชกิจพิศาลจึงขัดแย้งกัน ต่อมาหมอแบกซ์กลับ ทางราชการได้ส่งหมอบีเดนมาแทน แต่มาในฐานะที่ปรึกษาเท่านั้น และอยู่ได้ไม่นานก็กลับตั้งแต่นั้นก็ไม่มีหมอชาวต่างประเทศมาอีก เพราะว่าพระเวชกิจพิศาลได้รับการยอมรับจากชาวต่างประเทศที่อยู่ในจังหวัดภูเก็ตแล้ว
 เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาจังหวัดภูเก็ต พระองค์ทรงเห็นว่าโรงพยาบาลที่เป็นอยู่ในขณะนั้นอยู่ในสภาพที่เล็กและมีอาณาเขตน้อย ไม่เหมาะกับบ้านเมือง ทรงให้เลือกสถานที่ใหม่ โดยใช้สถานที่เชิงเขารังซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลในขณะนี้ ได้ทรงพระราชทานเงินจำนวนหนึ่งไว้ให้และพระราชทานนามโรงพยาบาลใหม่ว่า “โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต” พระเวชกิจพิศาลจึงได้นำเงินก้อนที่ได้รับพระราชทานมาดำเนินการก่อสร้าง โดยสร้างตึกอำนวยการก่อน แล้วรื้อโรงพยาบาลเก่ามาก่อสร้างตึกต่างๆ จึงนับได้ว่าพระเวชกิจพิศาลเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตนี้เป็นบุคคลแรกและในเวลาต่อมามีคหบดีบางท่านได้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินสร้างตึกพิเศษรับคนไข้เป็นหลัง ๆ ขึ้นอีก
 พระเวชกิจพิศาลได้เอาใจใส่ดูแลสร้างความเจริญให้แก่โรงพยาบาลจนเป็นที่นิยมและไว้วางใจจากพ่อค้าประชาชน ท่านจึงอยู่มาเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้ออกมาตั้งร้าน ชื่อ “เวชกิจวโรสถ" และยึดเอาจังหวัดภูเก็ตเป็นภูมิลำเนาจนสิ้นชีวิต
 ในปี พ.ศ.๒๔๖๑ ทางราชการได้ให้ภูเก็ตเป็นที่ตั้งของกองร้อยเสือป่าของ ๗ จังหวัดภาคใต้ แต่เนื่องจากไม่มีพลพยาบาลประจำกองร้อย พระเวชกิจพิศาลจึงได้เปิดการอบรมพลพยาบาลขึ้น โดยให้แต่ละจังหวัดจัดส่งคนมาอบรมจังหวัดละ ๒ คน กำหนดระยะเวลาอบรม ๒ ปี อบรมเสร็จก็จะได้รับการบรรจุเป็นพลพยาบาลประจำกองร้อยเสือป่า นับได้ว่าพระเวชกิจเป็นคนแรกที่ให้กำเนิดพลพยาบาล
 ในปี พ.ศ.๒๔๖๗ ทางภูเก็ตได้เกิดโรคระบาดขึ้นครั้งใหญ่ คือ โรคฝีดาษ บรรดาผู้คนล้มตายลงเป็นจำนวนมากพระเวชกิจพิศาลได้พยายามให้การรักษาอย่างสุดความสามารถ และในที่สุดก็สามารถปราบโรคระบาดอันร้ายแรงนี้ได้สำเร็จ
 อำมาตย์ตรี พระเวชกิจพิศาล(เจิม  ดิลกแพทย์) เกิดวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๒๙ ที่ตำบลบางกะปิ อำเภออินทรบุรี จังหวัดสิงห์บุรี เป็นบุตรนายคิ้ม นางผัน ดิลกแพทย์  ได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนปทุมคงคา จากนั้นศึกษาวิชาการแพทย์ที่โรงเรียนราชแพทยาลัย ได้ประกาศนียบัตรประโยคแพทย์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐ จากนั้นก็เข้ารับราชการตำแหน่งแพทย์ฝึกหัดโรงเรียนราชแพทย์ สังกัดกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการบรรจุเป็นแพทย์ประจำโรงเรียนราชแพทย์ในปี พ.ศ.๒๔๕๑ เป็นแพทย์ผู้ฝึกหัดหรือครูแพทย์ฝึกหัดชั้นที่ ๑ โรงเรียนราชแพทย์ พ.ศ.๒๔๕๗  เป็นผู้ปกครองโรงเรียนศิริราชพยาบาลของโรงเรียนราชแพทยาลัย
 ๑๕ มกราคม ๒๔๕๙ ย้ายไปรับราชการกระทรวงมหาดไทย ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุขาภิบาลจังหวัดภูเก็ต จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๗๐ ได้ลาออกจากราชการ ตั้งร้านตรวจรักษาโรคและจำหน่ายยา ชื่อร้าน  “เวชกิจวโรสถ”  
ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนเวชกิจพิศาล เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๔๕๓
ได้รับพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์โท เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๔๕๔
ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงในราชทินนามเดิม เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๕๖
ได้รับพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์เอก เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๔๕๗
ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระในราชทินนามเดิม เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๖๔
ได้รับพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์ตรี เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๔๕๘
เครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญที่ได้รับได้แก่เหรียญบรมราชภิเศกเข็มไอยราพตเสือป่า
มงกุฎสยามชั้นที่ ๕(เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย)
ช้างเผือกชั้นที่ ๕(เบญจมาภรณ์ช้างเผือก)
และเหรียญบรมราชภิเศกเงิน
อำมาตย์ตรี พระเวชกิจพิศาล(เจิม  ดิลกแพทย์) มีบุตรธิดารวม  ๑๒ คน บุตรชายเพียงคนเดียวในจำนวนนี้ คือ นายแพทย์จินดา   ดิลกแพทย์
อำมาตย์ตรี พระเวชกิจพิศาล(เจิม ดิลกแพทย์) เป็นบุคคลหนึ่งที่ทรงไว้ซึ่งจรรยาแพทย์ที่สมบูรณ์ เพียบพร้อมไปด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้ที่มีความเดือดร้อน มีเมตตากรุณาต่อผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ชอบเสียสละเพื่อกิจการงานอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม มีจิตใจฝักใฝ่ทางศาสนาและให้ความช่วยเหลือในด้านศาสนกิจเป็นประจำเรื่อยมา เป็นบุคคลหนึ่งที่เริ่มก่อตั้งพุทธสมาคมจังหวัดภูเก็ตขึ้น และได้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมเรื่อยมา
 พระเวชกิจพิศาล(เจิม ดิลกแพทย์) ใช้เวลาชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่จังหวัดภูเก็ตกระทำกิจการงานอันเป็นประโยชน์ให้กับชาวภูเก็ตหลายต่อหลายชิ้น จึงกล่าวได้ว่า พระเวชกิจพิศาล(เจิม  ดิลกแพทย์) เป็นพรรพชนคนสำคัญคนหนึ่งของเมืองภูเก็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นผู้บุกเบิกในด้านสาธารณสุขและโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต


๓.๑๓ ตระกูล “วานิช”
          เจียร  วานิช

 เป็นบุคคลตัวอย่างคนหนึ่งซึ่งสามารถสร้างชีวิตของตนเองและประสบความสำเร็จมาได้ด้วยความมานะพยายาม ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และสนใจต่อประโยชน์ของส่วนรวมตลอดมา ทั้งในจังหวัดพังงาอันเป็นบ้านเกิด จังหวัดภูเก็ตอันเป็นที่ตั้งสำนักงานบริษัทเจียรวานิช     โรงงานยาง โรงงานน้ำมันมะพร้าว ฯลฯ       และจังหวัดกระบี่ในฐานะผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของประเทศไทย
 นายเจียร  วานิช เกิดที่จังหวัดพังงา เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม  ๒๔๔๙ บิดาชื่อ นายฮวด  มารดาชื่อนางอิ๋วอึ่น แซ่เอี๊ยบ มีพี่ชายคนเดียวชื่อนายเชี่ยว  แซ่เอี๋ยบสำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่   ๔   สมรสกับนางวรรณี เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๔๗๖ มีบุตรชายคนเดียวคือ นายเอกพจน์  วานิช
 นายเจียร  วานิช  เริ่มต้นชีวิตการทำงานมาตั้งแต่อยู่กับมารดาที่พังงาขณะมีอายุประมาณ ๕ ขวบ มารดารับจ้างตัดเสื้อและทำขนมขาย ให้นายเจียรนำขนมออกขายเรื่อยมา  เมื่อโตขึ้นก็เปลี่ยนอาชีพไปตัดไม้และขายปลา จนอายุได้ ๑๖ ปี เปลี่ยนไปทำรถม้ารับจ้างบรรดาทุกคนในตลาดทำให้มีรายได้ดีขึ้น เงินที่ได้ก็นำมาฝากมารดาไว้เรื่อย ๆ จนสามารถนำไปซื้อเรือและออกไปทำโป๊ะจับปลาที่เกาะปันหยีและเกาะหมากน้อยในอ่าวพังงา
เมื่อสามารถซื้อเรือไว้ได้หลายลำแล้ว นายเจียรก็ได้ติดต่อเข้ารับจ้างขนอุปกรณ์การทำเหมืองของบริษัทฝรั่งและเป็นที่พอใจของนายจ้าง จึงตกลงทำสัญญาให้เป็นผู้รับเหมาในการขนฟืน ล้างแร่ ขนแร่ และรับเหมาก่อสร้างให้แก่บริษัทแต่ผู้เดียว ทำให้นายเจียรมีฐานะมั่นคงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขั้นเป็นคหบดีคนหนึ่งของจังหวัดพังงา และขยายงานเรื่อยมา ได้ซื้อเรือสำเภาหลายลำเพื่อขนส่งสินค้า ต่อมาเปลี่ยนเป็นเรือยนต์รับขนส่งสินค้าระหว่างพังงา กันตัง ภูเก็ตและปีนัง
 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองประเทศไทยอยู่ในภาวะขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นอย่างมาก นายเจียร เป็นผู้หนึ่งที่สามารถซื้อสินค้าจำเป็นต่าง ๆ ตลอดจนยารักษาโรคเข้ามาได้เป็นจำนวนมาก ในระยะนั้นรัฐบาลจัดตั้งบริษัทจังหวัดขึ้นตามจังหวัดต่าง ๆ นายเจียรได้รับแต่งตั้งให้เป็น “ผู้จัดการบริษัทจังหวัด” อยู่ ๓ ปี จึงลาออก เนื่องจากมีงานส่วนตัวอยู่มาก
 จากนั้น นายเจียรก็เริ่มขยายงานของตนให้ใหญ่ขึ้น โดยการสร้างสวนยางและนำยางพันธุ์ใหม่จากมาเลเซียเข้ามาปลูก เปิดการทำเหมืองแร่ดีบุก เมื่อกิจการใหญ่โตมากขึ้น จึงได้ย้ายมาเปิดสำนักงานบริษัท เจียรวานิช จำกัด ขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต สร้างโรงงานยาง โรงงานน้ำมันมะพร้าว และทำการเดินเรือ จนกระทั่งเป็นเอเย่นต์เรือต่างประเทศด้วย
 ในช่วงนี้ นายเจียรได้หันมาสนใจกับงานสาธารณประโยชน์ ไม่ว่าทางราชการจังหวัดพังงาหรือจังหวัดภูเก็ตมีความประสงค์จะทำการใดอันเป็นสาธารณประโยชน์แล้ว นายเจียรต้องมีส่วนเข้าร่วมด้วยเสมอ  เช่นออกเงินบูรณะถ้ำฤาษีที่จังหวัดพังงาเป็นเงินหลายแสนบาท
 ตั้งแต่ปี ๒๕๐๙ เป็นต้นมา นายเจียร ได้ไปบุกเบิกอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มที่อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ โดยเริ่มต้นจากตั้งบริษัทไทยอุตสาหกรรมน้ำมัน และสวนปาล์ม จำกัด อันเป็นบริษัทน้ำมันปาล์มแห่งแรกของประเทศไทยเริ่มสำรวจพื้นที่และบุกเบิกเปิดป่าสำหรับปลูกปาล์มน้ำมันในปี พ.ศ.๒๕๑๑ จากนั้นก็สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๑๕ และส่งเสริมให้ชาวบ้านสร้างสวนปาล์มของตนเอง
 นายเจียร  วานิช ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๒๔ ด้วยคุณความดีของนายเจียรในฐานะผู้สร้างคุณประโยชน์แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติอย่างมากมายชาวสวนปาล์มและชาวบ้านแถบอำเภอปลายพระยาได้ร้องเรียนให้ทางบริษัทสร้างอนุสาวรีย์ของนายเจียร วานิชขึ้นไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ของนายเจียร  วานิชขึ้นไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่คนรุ่นหลังสืบไป

นายเอกพจน์  วานิช
 (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว)

 บุตรคนเดียวของนายเจียร – นางวรรณี วานิช เกิดที่อำเภอเมือง จังหวัดพังงา เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๗๗ จบการศึกษาชั้นประถมจากจังหวัดพังงา ศึกษาต่อจนจบไฮสกูลจากประเทศมาเลเซีย จากนั้นก็กลับมาช่วยธุรกิจทางบ้าน อันได้แก่เหมืองแร่ สวนยางพารา ฯลฯ เป็นกำลังสำคัญที่สุดของนายเจียรในการบริหารงานของบริษัทเจียรวานิช จำกัด และบริษัทในเครือให้รุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ และเป็นกำลังสำคัญของนายเจียรในการก่อตั้งอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มขึ้นในประเทศไทย หลังจากนายเจียรได้เสียชีวิต นายเอกพจน์ วานิชได้เข้ามาบริหารงานในกิจการทุก ๆ ด้าน เนื่องจากนายเอกพจน์เป็นผู้บุกเบิกกิจการด้านปาล์มน้ำมันมาเป็นเวลานาน ทั้งช่วยเหลือให้ประชาชนในแถบพื้นที่ใกล้เคียงได้ประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น ตลอดจนเป็นผู้นำทางด้านการเกษตรใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในประเทศไทยจนประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับจากบุคคลในวงการเกษตรเป็นอย่างมาก ในปี พ.ศ.๒๕๒๗ ทางสมาคม วิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้มอบประกาศนียบัตรในฐานะผู้ส่งเสริมอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันให้แก่นายเอกพจน์ วานิช
 ในด้านการให้ความร่วมมือช่วยเหลือส่วนรวมสังคมส่วนรวมนั้น นายเอกพจน์ ได้ร่วมบริจาคทรัพย์เพื่อช่วยเหลือสังคม และการกุศลมิได้ขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดภูเก็ต พังงา และจังหวัดใกล้เคียง เช่น การสร้างห้องผู้ป่วยให้แก่โรงพยาบาล สมทบทุนสร้างวัดและโรงเรียนทุนการศึกษา  ฯลฯ    นอกจากนี้นายเอกพจน์  วานิช ยังได้บริจาคเงินสร้างศาลาประชาคมที่จังหวัดภูเก็ต     และสนามเด็กเล่น “เจียรวานิช” ให้แก่จังหวัดภูเก็ตด้วย
 นายเอกพจน์ วานิช เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ คือ กำนันตำบลสองแพรก จังหวัดพังงา             ประธานกรรมการของยุนิวานิชกรุ๊ป(กิจการน้ำมันปาล์ม) ประธานกรรมการบริษัทสหยาง จำกัด บริษัทโรงพยาบาลเอกชน จำกัด และประธานกรรมการบริษัทเจียร วานิช จำกัด และในปี พ.ศ.๒๕๒๘ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง  “วุฒิสมาชิก”
 เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับ ได้แก่เบญจมาภรณ์ช้างเผือก ตริตาภรณ์มงกุฎไทย ตริตาภรณ์ช้างเผือก ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก
 ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘
 สมรสกับนางบุญรอด มีบุตรธิดา ๘ คนได้แก่ นางพจนา มาโนช นางกาญจนา จิตฤดีอำไพ นางสาวพรชฎา  วานิช นางสาวอังคณา  วานิช  นางสาวอัญชลี วานิช  นางสาวอรนุช  วานิช นายอภิรักษ์  วานิช และนางสาวรจนา  วานิช


 
นางอัญชลี  (วานิช)เทพบุตร 

 

เกิดเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์  ๒๕๐๔ เป็นทายาทคนที่ ๕ ของนายเอกพจน์  วานิช ที่จังหวัดภูเก็ต จบการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่โรงเรียนราชินี จบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทกฎหมายทั่วไป และปริญญาโทกฎหมายพาณิชย์นาวีจากมหาวิทยาลัยทูเลน สหรัฐอเมริกา
 เมื่อกลับจากประเทศสหรัฐอเมริกาในปี  ๒๕๓๐ ได้เข้าบริหารงานที่บริษัทเจียรวานิช จำกัด หลังจากการยุบสภาในวันที่ ๒๙ เมษายน  ๒๕๓๑ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นผู้หญิงคนเดียวในจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นผู้ชายทั้งสิ้น ๙ คน ได้รับคะแนนเป็นที่ ๒ หลังจากนั้นในปี พ.ศ.๒๕๓๕ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดภูเก็ต และได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน ๓ สมัยติดต่อกัน
 จากนั้นเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีสมาชิกสตรีตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบลและอำเภอ เพื่อส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยจัดส่งเสริมให้ทำอุตสาหกรรมในครัวเรือน ในหมู่บ้านเพื่อรวมกลุ่มสมาชิกแต่ละหมู่บ้านเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว เช่น การทำเครื่องจักรสาน การเลี้ยงหมู การเลี้ยงไก่ ตลอดจนการทำขนม ผลไม้เชื่อม เพื่อจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว
 นอกจากนี้ ได้เป็นนายทะเบียนในคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดภูเก็ต
 ในการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติครั้งที่ ๖ ซึ่งจังหวัดภูเก็ตเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ นางสาวอัญชลี วานิช ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองประธานคณะกรรมการกองประชาสัมพันธ์
 ตำแหน่งหน้าที่การงานในกิจการของครอบครัว ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารบริษัทเจียรวานิช จำกัดและบริษัทในเครืออันได้แก่บริษัทภูเก็ตโรงงานยาง จำกัด บริษัทเจียรวานิชการขนส่ง จำกัด บริษัทภูเก็ตโหงวฮก จำกัด บริษัทไทยอุตสาหกรรมน้ำมันและสวนปาล์ม จำกัด บริษัทสยามปาล์มน้ำมันและอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัทเจียรวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด

 

๓.๑๔  ตระกูล “เอกวานิช”
 นายโสภณ  เอกวานิช
 


นายโสภณ  เอกวานิช  เกิด เดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๐ เป็นบุตรคนที่ ๗ ของนายก้อง       และนางงวดเกี่ยน    เอกวานิช อยู่บ้านเลขที่ ๒๒/๒ หมู่ ๕ ถ.วิชิตสงคราม ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต
 นายก้อง  เอกวานิช เป็นบุตรคนที่ ๑ ของนายโท เอกวานิช  นายโท  เอกวานิช เป็นบุตรคนเดียวของ นายก๋วน เอกวานิช ซึ่งอพยพมาจาก มณฑลฮกเกี้ยนของประเทศจีนเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๑หรือประมาณ ๑๖๐ ปีมาแล้ว ตอนแรกมาเป็นกุลีเหมือง ที่จังหวัดภูเก็ต ต่อมาค่อยมีฐานะดีขึ้นจึงมีที่ดินทำเหมืองแร่ดีบุกของส่วนตัว     เมื่อนายก๋วน เอกวานิช เสียชีวิต นายโท  เอกวานิช ก็ดำเนินกิจการสืบต่อมา นายโท มีบุตร ๖ คน นายโท และลูก ๆ ได้ทำกิจการเหมืองแร่และขยายกิจการทำสวนยางและอื่น ๆ นายก้อง เอกวานิช ซึ่งเป็นบุตรคนโตและน้อง ๆ ก็ได้สืบกิจการต่อมา นายก้อง  เอกวานิช มีบุตร ๑๒ คน ผู้หญิง ๖ คน ผู้ชาย ๖ คน เมื่อนายก้อง เอกวานิช เสียชีวิต นายโสภณ และพี่  ๆ น้อง ๆ ได้ทำกิจการต่าง ๆ สืบทอดกันมาจนถึง พ.ศ.๒๕๐๓ จึงได้หยุดการทำเหมือง และหันมาทำกิจการด้านโรงแรมและร้านอุทยานอาหารไทนาน นายโสภณ เอกวานิช มีภรรยาชื่อ นางชื่นจิต เอกวานิช และมีบุตรด้วยกัน ๔ คน นับว่าเป็นคหบดีที่ได้จัดกิจกรรมด้วยการบริจาคทรัพย์เพื่อสังคม และสาธารณกุศลอย่างสม่ำเสมอ ได้จัดตั้งมูลนิธิเอกวานิช เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๙ เพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษา สถานศึกษาในระดับต่าง ๆ   ในจังหวัดภูเก็ตและได้บริจาคที่ดิน      ให้กับโรงเรียนวิชิตสงคราม
 

๓.๑๕  ตระกูล “จิรายุส”
 นายเจียะออ แซ่เจี่ย

 

 ต้นตระกูล  “จิรายุส” คือนายเจียะออ(แซ่เจี่ย) จิรายุส อพยพมาจากมณฑลฮกเกี้ยน ประเทศจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองภูเก็ตเมื่ออายุได้ ๓๐ ปีเศษ โดยมารับจ้างเชื่อมบัดกรีสังกะสี แล้วขยับขยายมาเปิดร้านขายพวกอะไหล่รถยนต์  คือ ร้านฮกฮวด กิจการรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับจนมีฐานะอยู่ในขั้นคหบดีคนหนึ่งของภูเก็ต และได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติตลอดมา จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น “ขุนจีรกิจการี” กรมการพิเศษจังหวัดภูเก็ต ถือศักดินา ๔๐๐ เมื่อวันที่ ๘ พถศจิกายน  พ.ศ.๒๔๗๔ และได้รับพระราชทานนามสกุลว่า “จิรายุส” เมื่อปี     พ.ศ. ๒๔๗๖     นายวีระ     จิรายุส   (เอ็งฉ้วน  แซ่เจี่ย)    ซึ่งขณะนั้นอายุเพียง ๑๐ ขวบได้เดินทางจากมณฑลฮกเกี้ยน     มาอยู่กับขุนจีรกิจการี(เจียะออ จิรายุส) ผู้เป็นอาที่ภูเก็ต นายวีระ  ได้เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนฮั่วบุ๋น(ภูเก็ตไทยหัวในปัจจุบัน) ต่อมาได้ไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยจุงหลิง  รัฐปีนัง แต่เรียนได้ไม่จบเนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ เสียก่อน จึงได้เดินทางกลับมาภูเก็ต เริ่มต้นชีวิตการทำงานโดยช่วยงานที่ร้านฮกฮวดด้วยความขยันหมั่นเพียร เมื่อขุนจีรกิจการี ถึงแก่กรรม อาสะใภ้คือนางฉ้ายอิ่ม  จิรายุส ซึ่งให้ความรักความเอ็นดูนายวีระเสมือนลูกชาย เนื่องจากท่านมีลูกสาวเพียงคนเดียว คือ นางอรนุช(จิรายุส) กี่ศิริ จึงมอบหมายให้นายวีระช่วยบริหารงานในร้านฮกฮวดต่อไป กิจการก็ดำเนินไปด้วยดีและได้ขยายกิจการออกไปโดยจัดตั้งเป็นบริษัทฮกฮวดจำกัด จำหน่าย พวกอะไหล่รถยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า ฮาร์ดแวร์สโตร์ต่าง ๆ
 ในปี พ.ศ.๒๕๑๖ บริษัทฮกฮวด จำกัด ได้ขยายกิจการตั้งโรงงานอัดแก๊สออกซิเย่นขึ้น และขยับขยายเข้าไปสู่กิจการเหมืองแร่ดีบุกในปี ๒๕๐๗ โดยทำเหมืองในที่ต่าง ๆ ถึง ๖ แห่ง คือ เกาะแก้ว ท่าจีน ลายัน ม่าหนิก และที่พังงา นอกจากนี้ยังได้ริเริ่มกิจการบ้านจัดสรรพพร้อมที่ดินเป็นรายแรกของภูเก็ต คือ หมู่บ้านจีรกิจ(อยู่ทางไปอ่าวมะขาม) สำหรับเหมืองแร่นั้น ตอนนี้ยังคงทำอยู่แต่เหลือเพียงแห่งเดียว เนื่องจากพื้นที่การทำเหมืองหมดลงไปทุกวัน จากนั้นนายวีระ จิรายุส ก็หันมาลงทุนในกิจการโรงแรมในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ คือ โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน ซึ่งเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองภูเก็ต ทั้งนี้เพราะเล็งเห็นว่าต่อไปภูเก็ตจะเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกและธุรกิจท่องเที่ยวจะเป็นรายได้หลักของจังหวัดแทนธุรกิจเหมืองแร่ซึ่งกำลังจะหมดไปทุกวัน ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๒๘ ได้ขยายกิจการไปเปิดโรงแรมอีกแห่งที่หาดป่าตอง คือ โรงแรมป่าตองเมอร์ลิน
 และในปี ๒๕๓๒ ได้ขยายงานออกไปในด้านอุตสาหกรรมการผลิตรองเท้าเพื่อการส่งออก โดยตั้งเป็นบริษัท วี.อาร์. ฟุตแวร์ จำกัด ขึ้นที่ ต.ม่าหนิก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ทั้งนี้ได้นำเอาเทคนิควิทยาการการผลิตที่ทันสมัยจากต่างประเทศมาใช้ในการผลิตด้วย
 กิจการโรงแรมและโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในเครือบริษัทฮกฮวด ได้มีส่วนในการสร้างความเจริญให้กับท้องถิ่น สร้างงานให้แก่ชาวภูเก็ต นอกเหนือไปจากการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวและการอุตสาหกรรมในจังหวัดภูเก็ต
 นายวีระ จิรายุส ได้สมรสกับนาง ลำไพ เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๔๙๕ มีบุตร-ธิดา รวม ๕ คน ซึ่งทุกคนก็ได้ตั้งรกรากอยู่ในภูเก็ต มีทั้งรับราชการและช่วยบริหารงานในกิจการต่าง ๆ ของครอบครัว คือ
 ๑. นางนันทนา (จิรายุส) วงศ์สัตยานนท์  จบนิเทศศาสตรบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทด้านการโฆษณาจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ สหรัฐฯ สมรสกับนายชาญ  วงศ์สัตยานนท์ และเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของโรงแรมทั้งสองแห่ง
 ๒. นายสมชัย  จิรายุส จบการศึกษาปริญญาตรีด้านการบริหารธุรกิจจาก มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสต์ รัฐมิสซูรี สหรัฐฯ สมรสกับนางพรศรี(ยงจินดารัตน์) จิรายุส ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการโรงแรมทั้งสองแห่ง และรองกรรมการผู้จัดการโรงงานวี. อาร์. ฟุตแวร์
 ๓. นางสาวกาญจนา  จิรายุส จบการศึกษาปริญญารัฐศาสตรบัณฑิต  จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของโรงแรมทั้งสองฝ่าย
 ๔. นพ.สมนึก  จิรายุส แพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชมหาวิทยาลัยมหิดล สมรสกับ ม.ล.อนุพร(สุขสวัสดิ์) จิรายุส รับราชการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
 ๕. นายสมบูรณ์  จิรายุส ปริญญาตรีเศรษฐศาสตรบัณฑิต  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจ   มหาวิทยาลัยแดกเซลล์ ฟิลาเดลเฟีย สหรัฐฯ เป็นรองกรรมการผู้จัดการโรงงาน วี.อาร์.ฟุตแวร์ และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการโรงแรมทั้งสองแห่ง
 กิจการทั้งหมดนี้มีนายวีระ  จิรายุส หัวหน้าครอบครัวเป็นประธานกรรมการ บริษัท ในด้านสังคม นายวีระ จิรายุสได้ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือกิจกรรมของทางราชการและสาธารณะชนตลอดมาอาทิ การให้ความช่วยเหลือโรงเรียนต่าง ๆ ด้านทุนการศึกษา การให้ทุนอาหารกลางวันแก่นักเรียนที่ขาดแคลนการบริจาคอุปกรณ์การเรียนการสอนตลอดการทำนุบำรุงด้านศาสนาและงานสาธารณะอื่น ๆ
 นายวีระ  จิรายุส ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เบญจมาภรณ์ มงกุฎไทย เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลทั้งนี้เป็นผลจากการอุทิศตนเพื่อประโยชน์แก่สังคมและทางราชการตลอดมานั่นเอง


๓.๑๖ ตระกูล “บุญเปกข์ตระกูล”
นายรอด บุญเปกข์ตระกูล
ผู้บุกเบิกร้านเส้งโห(ตำนานคนรักหนังสือเมืองภูเก็ต)

 

 เมื่อวันที่ ๘ เมษายน  พ.ศ.๒๔๕๔ ในครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างยากจนครอบครัวหนึ่งในเมืองภูเก็ต ได้ให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง บิดา มารดา ได้ให้ชื่อว่า “เด็กชาย บุ่นล็อก”
 เมื่อเรียนหนังสือได้แค่ชั้น ป.๒ บิดาก็ถึงแก่กรรม จึงไม่มีโอกาสได้ศึกษาต่ออีก จำต้องจบชีวิตวัยเรียนลงแค่นี้      เด็กชายบุ่นล๊อกได้ต่อสู้อุปสรรคต่าง ๆ ด้วยความยากลำบาก แต่ด้วยความมุมานะเพียรพยายาม จึงได้ประกอบอาชีพเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้า แต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก จึงเปลี่ยนอาชีพมาเป็นคนขายถ้วยชามและของใช้ในครัวอื่น
 ด้วยเป็นคนที่มีนิสัยรักการอ่านหนังสือทุกประเภทแต่เนื่องจากว่ากรุงเทพฯ กับภูเก็ตนั้นห่างไกลกันเหลือเกินในความรู้สึกของผู้คนสมัยนั้นคนมีเงินย่อมไม่ลำบากใจในการหาหนังสืออ่าน แต่คนหาเช้ากินค่ำโดยทั่วไปนั้นจะหาหนังสืออ่านสักเล่มช่างลำบากเสียจริง พอมีเงินอยู่บ้างก็หาซื้อหนังสืออ่านไม่ได้จึงได้ปรึกษากับน้องชายว่าควรจะเอาหนังสือมาขายคนภูเก็ตกันดีกว่า ยังไม่มีใครคิดทำมาก่อนเลยบนเกาะเล็กๆ นี้
 เมื่อมีความคิดเห็นพ้องต้องกันแล้ว ก็ตัดสินใจเขียนจดหมายสั่งไปซื้อหนังสืออ่านเล่นพวกลำตัด เล่มละ ๕ สตางค์ ๑๐ สตางค์ มาลองขายดู ถ้าหากขายไม่ได้ก็คิดว่าเก็บไว้อ่านเองก็ได้ เพราะตนเองก็เป็นหนอนหนังสืออยู่แล้ว ในสมัยนั้นคนภูเก็ตที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวจีน จะทำการค้าหรือดำเนินกิจการเหมืองแร่ มักจะนิยมตั้งชื่อให้มีคำว่า “โห” อยู่ด้วย เช่น อี่โห จิ้นโห อยู่โห ไค่โห
 คำว่า “โห” แปลว่า “สามัคคี” แต่ด้วยเกรงว่าจะขาดทุนเหมือนหลายร้านที่มี คำว่า “โห” อยู่ ก็เลยคิดว่าควรมีคำอะไรใส่ลงไปอีกสักคำให้มันมีความหมายดีขึ้นก็เลยใส่คำว่า “เส้ง” ซึ่งแปลว่า “ชัยชนะ” ลงไปข้างหน้า ก็เลยกลายเป็น “เส้งโห”   หนังสือชุดแรกเดินทางออกจากกรุงเทพฯ โดยขบวนรถไฟสายใต้มาที่สถานีรถไฟ กันตัง จังหวัดตรัง แล้วขนถ่ายใส่เรือกลไฟเดินทางสู่ภูเก็ต ใช้เวลาอีก ๑ คืน จึงถึงภูเก็ต
 ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๘ ป้าย “เส้งโห” ถูกยกขึ้นติดที่หน้าร้าน หนังสืออ่านเล่นชุดแรกถูกนำมาแขวนหน้าร้าน ผู้คนในเมืองภูเก็ตทีเดินผ่านไปผ่านมาย่านถนนถลางในวันนั้น บ้างก็เดินผ่านไปอย่างไม่ใยดี ไม่หันมามองเสียด้วยซ้ำว่าร้านนี้มีอะไรใหม่ ๆ มาขายบ้าง บ้างก็หยุดมองแล้วก็เดินผ่านไป  ใจของหนุ่มน้อยร่างเล็ก ๆ ผอมบาง เต้นไม่เป็นส่ำ วันแรกของการดำเนินกิจการย่อมมีความวิตกกังวลด้วยความอยากรู้ว่า จะมีใครหนอมาซื้อสินค้าของตน  หนังสือไม่เหมือนสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันทั่ว ๆ ไปบางคนเห็นหนังสือเป็นของฟุ่มเฟือย ไร้สาระเสียด้วยซ้ำ คนอ่านหนังสือไม่เป็นยิ่งเมินหน้าหนีไปเลย  แต่…สำหรับคนรักหนังสือเห็นแล้วน้ำลายสอ ด้วยเห็นอาหารสมองที่ตนปรารถนาอยู่ตรงหน้า ต่างพากันเดินเข้าร้านควักเงิน ๕ สตางค์ ๑๐ สตางค์ ซึ่งมีค่ามากมายเมื่อ ๖๐ กว่าปีก่อน แลกกับหนังสือที่ตนรัก พ่อค้าหนังสือหนุ่มดีใจแทบกระโดด เมื่อมีลูกค้าเข้าร้าน หนังสือขายได้แม้จะไม่หมดเกลี้ยง ระยะแรก ๆ คนไม่ค่อยเข้าร้านนัก เนื่องจากการอ่านหนังสือของคนภูเก็ตในสมัยนั้นมีน้อยมาก ตำนานของร้านหนังสือที่เก่าแก่ที่สุดของภูเก็ตเริ่มต้นขึ้นแล้ว  ต่อมา ลูกค้าซึ่งเป็นข้าราชการบอกให้เจ้าของร้านสั่งหนังสือพิมพ์เข้ามาขายด้วย จึงได้ลองสั่งหนังสือพิมพ์รายวันเจริญกรุงฉบับละ ๒ สตางค์กับไทยเขษมรายสัปดาห์ราคาปกเล่มละ ๗๐ สตางค์ เข้ามาขายดู ก็ปรากฏว่าขายได้  เมื่อเห็นว่าธุรกิจด้านนี้ ไปได้แน่แล้ว ก็ตัดสินใจสั่งหนังสือต่าง ๆ เข้าร้านมากมาย อาทิ ไทยใหม่ ประชาชาติ ศรีกรุง สยามราษฎร์ เดลิเมล์ เสรีภาพ ประชากร      เดลิเมล์     เสรีภาพ  ประชากรเดลิเมล์วันจันทร์ เดลิเมล์เบื้องหลังข่าว เสียงอ่างทอง หนังสือภาพยนต์เล่มละสิบสตางค์ พงศาวดารไทยต่าง ๆ ขุนศึกของไม้ เมืองเดิม ผู้ชนะสิบทิศของยาขอบ หนังสือของคณะสุภาพบุรุษ และของสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ เล่มละสิบสตางค์ และที่นิยมอ่านกันมากและขายได้มากก็คือชุดสามเกลอ  พล  นิกร กิมหงวนของ ป.อินทรปาลิต หนังสือดังกล่าวข้างต้นบ้างก็ล้มหายตายจากวงการหนังสือเมืองไทยไปแล้วบ้างก็เปลี่ยนหัวหนังสือเป็นชื่ออื่นไปแล้ว  กิจการของร้านเส้งโห ดำเนินมาได้เรื่อย ๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ การคมนาคมไม่สะดวก หนังสือพิมพ์มาถึงอาทิตย์ละครั้งบ้าง ๔-๕ วันครั้งบ้าง การขายหนังสือพิมพ์รายวันจึงต้องขายเป็นชุด ๆ ละ ๔-๕ ฉบับ ไม่แยกขายเป็นวัน ๆ เพราะถ้าทำอย่างนั้นเล่มแรก ๆ ของเที่ยวนั้นก็จะขายไม่ออก เนื่องจากข่าวมันไม่สดเสียแล้ว ถ้าเป็นฤดูมรสุม เรือกลไฟจากกันตังมายังท่านเรศร์ซึ่งกลายมาเป็นบริเวณสะพานหินในปัจจุบันนี้นั้น แทนที่จะคืนเดียวถึง ก็กลายเป็น ๒-๓ วัน แล้วเวลาที่เรือเทียบท่าก็ไม่ใช่กลางวันเสมอไป บางทีก็ถึงเอาค่ำมืดดึกดื่นเจ้าของร้านก็ต้องไปคอยรับสินค้าที่ท่าเรืออย่างใจจดใจจ่อ ร้านเส้งโหสมัยนั้นไม่ใช่แต่จะขายหนังสือให้กับคนภูเก็ตเท่านั้น แต่จัดส่งไปยังอำเภอและจังหวัดใกล้เคียงด้วย เช่น ตะกั่วป่า พังงา กระบี่ ระนอง
 กิจการของนายรอด บุญเปกข์ตระกูล    หรือที่คนภูเก็ตรู้จักกันในนาม “แป๊ะบุ่นล๊อก” เจริญก้าวหน้าไปด้วยดีเสมอมา ด้วยความขยันขันแข็ง ซื่อสัตย์สุจริตต่อผู้ซื้อหนังสือและต่อสำนักพิมพ์ที่จัดส่งหนังสือมาให้ โดยยึดแนวการทำงานอย่างมั่นคงเสมอมาว่า “ทำการค้าต้องซื่อตรงการเงินต้องเชื่อถือได้” เพื่อนร่วมเดินทางของแป๊ะบุ่นล๊อก หลายเล่มล้มหายตายจากไปจากบรรณพิภพ เพื่อนใหม่หลายเล่มมาแทนที่มากมายราวดอกเห็ดจนเต็มแผง เต็มตู้ในร้าน ณ บ้านเลขที่ ๑๐๒  ถนนถลาง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ยังคงมีร้านหนังสือเก่าแก่ที่สุดของภูเก็ตชื่อ “เส้งโห” อยู่ในวันนี้  ร้านหนังสือมากมายในเมืองไทย เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แต่ร้านเส้งโหยังคงอยู่นับถึงปัจจุบันนี้(พ.ศ.๒๕๓๒) มีอายุถึง ๖๔ ปีแล้ว คนภูเก็ตภาคภูมิใจที่มีร้านหนังสือที่มีอายุยืนยาวขนาดนี้ วันนี้….แม้แป๊ะบุ่นล็อกจะได้จากร้านเส้งโหอันเป็นที่รักซึ่งเกิดจากหยาดเหงื่อแรงงานแห่งความเพียรพยายามของตนไปแล้ว เมื่อ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๘
 ร้านเส้งโหในปัจจุบันได้ขยายกิจการเป็นร้านเส้งโห ๒๙  ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกถนนมนตรีกับถนนหลวงพ่อ เป็นร้านหนังสือที่มีหนังสือมากมายให้ซื้อหา สมใจคนภูเก็ตและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ