บุคคลสำคัญในภูเก็ต๒
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
จันทร์, 28 มกราคม 2008

บุคคลสำคัญในภูเก็ต

ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร  พระครูวิสุทธิวงศาจาริย์ญาณมุนี(พ่อท่านแช่ม) พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี 

ประสิทธิ  ชิณการณ์  สกุล  ณ นคร  เฉ่ง  เลิศกิจสมบูรณ์  เลียบ  ชนะศึก  ไชยยุทธ  ปิ่นประดับ  จิ้ว  ประโมงกิจ  ประชา  ตัณฑวณิช  ตระกูล ณ ถลางและประทีป ณ ถลาง 

(ตระกูลรัตนดิลก  ณ  ภูเก็ต  พระยาถลาง(เจิม)  ตระกูล “โชติกเสถียร”  พระยาทิพโกษา (โต โชติกเสถียร)  ตระกูล “ตันฑเวทย์”  หลวงอำนาจนรารักษ์(ตันค๊วด  ตันฑเวทย์(พระราชทาน ตัณฑะเวส ) ตระกูล “ตัณฑัยย์” พระอร่ามสาครเขตร ตระกูล  “ตัณฑวณิช”  หลวงบำรุงจีนประเทศ ตระกูล “หงษ์หยก”
หลวงอนุภาษภูเก็ตการ ตระกูล  “ทองตัน”  ขุนชนานิเทศและหลวงชนาทรนิเทศ ตระกูล “อุปัติศฤงค์”  ฮั่นก๋วน  แซ่หงอ ตระกูล “ตันบุญ ณ ระนอง”  ขุนเลิศโภคารักษ์ (ตันเค่หลิ่ม หรือ หลิ่ม  ตันบุญ ตระกูล “อุดมทรัพย์”  ขุนวิเศษนุกูลกิจ  ตระกูล “ดิลกแพทย์”  พระเวชกิจพิศาล (เจิม  ดิลกแพทย์)  ตระกูล “วานิช”  เจียร  วานิช  นายเอกพจน์  วานิช อัญชลี  (วานิช)เทพบุตร  ตระกูล “เอกวานิช” โสภณ  เอกวานิช  ตระกูล “จิรายุส” เจียะออ แซ่เจี่ย  ตระกูล “บุญเปกข์ตระกูล” รอด บุญเปกข์ตระกูล อ้วน สุระกุล สุนัย  ราชภัณฑารักษ์  มานิต  วัลยะเพ็ชร์  หลวงพิทักษ์ทวีป  เกษม  สุทธางกูร นะหุษ รักแต่งาม ประจวบ  ไมพานิช จตุพุฒิ ไมพานิช เจ็ว นามสกุล แซ่ตัน(ตันสัตยาเลิศ) คุณหญิงกาญจนา ณ ระนอง ติลก ถาวรว่องวงศ์ บัณฑิต  คันฉ่อง พระคีรีรัฐธรรมคณี (เจ้าคณะจังหวัดภูเก็ต) บันลือ  ตันติวิท ครรชิต   ตัมพานุวัตร  ไมตรี  บุญสูง อาทร  ต้องวัฒนา ราชัน  กาญจนะวณิชย์ เกียติ วงศ์กสิกิจ  สมจิตร  ช่อผล  อุทัย   สุขศิริสัมพันธ์ )

บุคคลสำคัญของจังหวัดภูเก็ต
 โดยเนื้อที่และจำนวนประชากรของจังหวัดภูเก็ต เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ ของประเทศไทยแล้ว ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่ค่อนข้างเล็กมาก แต่เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญอย่างยิ่งไม่ว่าทางสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการเมืองการปกครอง มาตั้งแต่สมัยโบราณ จนกระทั่งปัจจุบัน และต่อไปในอนาคต ซึ่งเนื้อหาสาระได้ปรากฏในส่วนอื่น ๆ ของหนังสือเล่มนี้แล้ว
 ดังนั้นบุคคลสำคัญของท้องถิ่นภูเก็ตจึงมีปริมาณและคุณภาพอยู่เป็นจำนวนมากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบุคคลสำคัญของจังหวัดใหญ่อื่น ๆ ดังปรากฏหลักฐานอยู่แล้ว    ขอประมวลสรุป ผลงานของบุคคล สำคัญดังกล่าว เป็นส่วน ๆ ไปตามลำดับ และที่เสนอนี้เป็นเพียงจำนวนหนึ่ง จากจำนวนบุคคลสำคัญของท้องถิ่นภูเก็ตที่พอรวบรวมได้เท่านั้น ทั้งนี้ เนื้อหาบางตอนมีผู้เขียนไว้แล้ว   บางตอนนำสาระมารวบรวมเรียบเรียงใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าประสงค์ของหนังสือเล่มนี้

๑. บุคคลสำคัญในอดีต

ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร

พ่อท่านแช่มวัดฉลอง

พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี

 

๒.บุคคลสำคัญทางวัฒนธรรม


    ๒.๑ ประวัติและผลงาน


          นายประสิทธิ  ชิณการณ์

 

ประวัติส่วนตัว
นายประสิทธิ  ชิณการณ์
เกิดเมื่อวันที่๒๗ มิถุนายน  ๒๔๖๗  ณ  หมู่ที่ ๑ ตำบลฉลอง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็จเป็นบุตรนายบุญสู่(แดง) และ นางกิ่มติ๋ว มีน้องสาว ๒ คน คือ นางเหลี๋ยนสิ้ม และนางเหลี่ยนหลุยปัจจุบันพักอยู่บ้านเลขที่   ๖๘ ถนนดีบุกตำบลตลาดใหญ่อำเภอเมืองจังหวัดภูเก็ตประสิทธิ ชิณการณ์ สมรสกับ มณี บุตรนายอ้อนและนางชื่น ที่ตำบลฉลองมีบุตร ๑ คน คือนายศาณิต เป็นข้าราชการวิทยาลัยชุมชนภูเก็ตและบุตรี ๑  คน คือนางนิภาวรรณ ศรีเบญจพลางกูร

ประวัติการศึกษา
พ.ศ.๒๔๘๐ จบมัธยมศึกษา   จากโรงเรียนภูเก็จวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๔๘๔ - ๒๔๘๗  เป็นครูประชาบาลโรงเรียนประชาบาลตำบลราไวย์(วัดสว่างอารมณ์) ภูเก็ต พ.ศ.๒๔๔๗ - ๒๔๙๓ ทำงานส่วนตัวในสวนยางพาราตำบลฉลอง อำเภอเมือง จังหวัด ภูเก็ต
ประวัติการทำงาน
พ.ศ.๒๔๙๓-๒๔๙๔ เป็นสมุหบัญชีบริษัทโฮ่ยเซี้ยงจำกัด และบริษัทในเครือโฮ่ยเซี้ยงจำกัด    พ.ศ.๒๔๙๕-๒๕๓๒   เป็นเลขานุการบริษัทโฮ่ยเซี้ยงจำกัดและบริษัทในเครือบริษัท โฮ่ย  เซี้ยงจำกัด      พ.ศ.๒๕๐๙ เป็นกรรมการดำเนินงานจัดสร้างอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร   พ.ศ.๒๕๒๓ - ๒๕๒๕ เป็นอนุกรรมการวัฒนธรรม จังหวัดภูเก็จ   พ.ศ.๒๕๒๓-๒๕๒๕ เป็นประธานกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ(คนแรก) พ.ศ.๒๕๒๗-๒๕๓๔ เป็นประธานกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์      เมืองภูเก็จครั้งที่ ๒
พ.ศ.๒๕๒๙ - ๒๕๓๐ อนุกรรมการวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็จ
ผลงานที่โดดเด่น
เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ ท่านอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็จ อ้วน สุระกุล ได้มอบจดหมายของ ท้าวเทพกระษัตรี จากประเทศอังกฤษจำนวน ๖ ฉบับให้ประสิทธิ ชิณการณ์ อ่านและเผย แพร่ ท่านเกิดแรงบันดาลใจจึงได้ประพันธ์ร้อยกรอง“ยอดนารีศรีถลาง”
ยอดเอ๋ยยอดนารี
นามท้าวเทพกระษัตรีศรีถลาง
กับท้าวศรีสุนทรอ่อนสำอาง
เป็นตัวอย่างกุลสตรีผู้ดีงาม
องอาจหาญต้านไพรีเช่นวีรชาติ
ชาญฉลาดรอบรู้ศัตรูขาม
เสียสละความสุขตนเป็นผลตาม
ให้เกิดความดีอยู่คู่เมืองเอย
ดอกเอ๋ยดอกจันทน์กะพ้อ
แผ่กิ่งก้านบานช่อพุ่มสาขา
ส่งกลิ่นหอมเยือกเย็นเป็นอัตรา
ปวงประชาสุขสมปรารมภ์รัก
มุกเอ๋ยมุกดีปลอดไฝฝ้าราคี
สมศรีศักดิ์งามเด่นอยู่คู่เมืองรุ่งเรืองนัก
เป็นประจักษ์พยานที่ความดีเอย
ประสิทธิ ชิณการณ์มอบบทร้อยกรองต้นแบบดังข้างต้นให้ประพันธ์  ทิมเทศจัดทำทำนองแล้วปรับปรุงเป็นเนื้อร้องกลายเป็นเพลงประจำจังหวัดภูเก็จที่เริ่มความว่า “ท้าวเทพกระษัตรีศรีสุนทร  นามกรยอดนารีศรีถลาง  เป็นเทวีที่ควรเทิดน้ำใจนาง และตัวอย่างกุล สตรีนารีสมัย”
ประสิทธิ ชิณการณ์ เป็นนักประพันธ์เรื่องสั้นที่มีสำนวนการเขียนแนวเดียวกับไม้เมืองเดิมหรือยาขอบ ช่วงแรกส่งลงพิมพ์เผยแพร่ในสวนอักษร ประมวญสาส์น และเอกชน ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๑ ส่งลงพิมพ์ใน แม่บ้านการเรือน ดังนี้ คือ   สองหญิง,    ยังไม่สิ้นซากรัก,  สาปสวรรค์,     บางบอน,     ยักษ์ไม่มีเขี้ยว, ทำเพื่อใคร,  ซอยตลิ่งชัน,   ผู้ร้ายที่รัก, วิมานนิมิตร, ค.ร.น., หมอเจิดตัดสินใจ นอกจากเรื่องสั้นแล้ว ประสิทธิ ชิณการณ์ ได้เรียบเรียงเรื่องต่าง ๆ  ที่เกี่ยวกับงานวัฒนธรรมทุกสาขาให้หน่วยงานต่าง ๆ   และลงพิมพ์ในหนังสือปักษ์ใต้และหนังสืออื่น ๆ  มาตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๙๔ เป็นต้นมา ผลงานเหล่านั้นเป็นประโยชน์ต่องานวัฒนธรรมและการศึกษา เช่น ชีวิตไทยถิ่นภูเก็จ   บทละครอิงประวัติศาสตร์ ในโทรทัศน์เรื่อง ยอดนารีศรีถลาง และถลางแตก บทความทางวัฒนธรรมอื่น ๆ อีกจำนวนมาก เช่น ประเพณีกินผัก ประเพณีพ้อต่อ อาถรรพณ์พ่อท่านแช่ม เชี้ยม สันนิษฐานเรื่องยี่เกรำมะนา ภูเก็จในทัศนะของชาวเกาหลี ฯลฯ ปริวรรตจดหมายเหตุเมืองถลาง อันเป็นต้นเหตุให้เกิดการก่อสร้างอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี  ท้าวศรีสุนทร หนังสือที่ระลึกในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร เป็นต้น
      งานประพันธ์เรื่องยาวที่สุดคือ นวนิยายเกร็ดพงศาวดารเมืองถลางเรื่องชีวประวัติของพระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง เจ้าพระยาถลาง ลงพิมพ์ใน น.ส.พ. ปักษ์ใต้ครั้งแรกตั้งแต่ฉบับที่ ๒๐๐๑ ปีที่ ๓๑
เกียรติประวัติที่ได้รับ
      คุณประสิทธิ    ชิณการณ์   ได้รับเลือกให้เป็นบุคคลดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมภาคใต้ ประจำปี พุทธศักราช   ๒๕๓๐    สาขามนุษยศาสตร์(จังหวัดภูเก็ต)       จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

 


๒.๒ ประวัติและผลงาน


      นายสกุล  ณ นคร


ประวัติส่วนตัว 
     นายสกุล ณ นคร เกิดเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๖๔ อายุ ๗๐ ปี เป็นชาวภูเก็จโดยกำเนิด ปัจจุบันอยู่ที่ร้านวิวัฒน์     พาณิชย์ ๑๗ ถนนรัษฎา อำเภอเมือง
จังหวัดภูเก็ต
   นายสกุล ณ นคร แต่งงานกับ  นารี ตันทอง เมื่อ  พ.ศ.๒๔๘๗  มีบุตรชาย ๓ คน  คือนายชัยสิงห์ นายศักดิ์สิงห์ นายพงษ์สิงห์ บุตรี ๒ คน คือ  นางสาวสุนทรี  และนางสาวนวลน้อย
ประวัติการทำงาน
พ.ศ.๒๔๗๕ ศึกษาจบชั้น ป.๓ จากโรงเรียนปลูกปัญญา จังหวัดภูเก็ต
พ.ศ.๒๔๘๐ ศึกษาจบชั้น ม.๖ จากโรงเรียนภูเก็จวิทยาลัย
พ.ศ.๒๔๘๒ ศึกษาจบชั้น ม.๘ จากวังสมเด็จบูรพา กทม.
พ.ศ.๒๔๘๕ จบอาชีวะชั้นสูง จากโรงเรียนช่างกลปทุมวัน กทม.
พ.ศ.๒๔๘๘ เป็นผู้ช่วยและนายช่างประจำเรือขุดแร่บริษัทแร่และยางไทยจำกัดสาขาตะกั่วป่าจังหวัดพังงา พ.ศ.๒๔๙๐ เป็นพนักงานช่างและแผนที่รังวัด    บริษัทกำมะราติน เตรดยิงลิมิเตด ภูเก็ต พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นเลขานุการบริษัทเหมืองแร่กมลาจำกัด
ภูเก็ต พ.ศ.๒๕๐๙ เป็นกรรมการสร้างอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร พ.ศ.๒๕๑๐ เจ้าของธุรกิจในเครือ “วิวัฒน์พาณิชย์” ในเขตเทศบาลเมืองภูเก็ต
ผลงานที่โดดเด่น
ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานองค์การบริหารส่วนตำบลรัษฎา ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ตามคำสั่ง ปว.๒๒๒/๒๔ ๒๔๙๙–๒๕๒๔ เป็นสมาชิกสภาตำบลรัษฎา ๒๕๑๐ ถึงปัจจุบันเป็นนายกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ร่วมใจรัษฎา ๒๕๒๓–๒๕๒๕  เป็นอนุกรรมการวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต  ๒๕๒๖ เป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็จ ๒๕๒๗–๒๕๒๘ เป็นประอนุกรรมการกิจกรรมประวัติศาสตร์ ๒๐๐ ปี  วีรสตรีเมืองถลาง เคยเป็สมาชิกสภาจังหวัดภูเก็จ ทั้งการเลือกตั้งและแต่งตั้งรวม ๖ สมัย เคยเป็นนายกสมาคมศิษย์เก่าภูเก็จวิทยาลัย ๒ สมัย คุณสกุล ณ นคร ได้ประพฤติปฏิบัติตนตามระเบียบของสังคมด้วยดีตลอดมามีคุณธรรมและศีลธรรมอันดี จนได้รับการคัดเลือกเป็นนายกยุวพุทธิกสมาคมภูเก็จหลายสมัยจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ผลงานด้านการเขียน
นามแฝงและแนวเรื่อง    บัณฑิตอิสระ-กึ่งวิชาการ เช่น กรณีโรงงาน “แทนทาลัม”,        นุสรณ์รัษฎาบุคลาธิษฐาน ธรรมาธิษฐาน ชีวิตเป็นอยู่ของสังคม นักสังคมสงเคราะห์ไร้อันดับ แต่…บุญเลิศ รตะเสรี  นงค์ แก้วน้อย คุณครูผู้ไม่เคยสงสารตัวเอง,นักข่าวหมายเลข๐ข่าว และวิจารณ์ เช่น น้ำลด-ตอผุด ที่ดินท่าฉัตรไชย ๒,๘๐๐ ไร่ ผลประโยชน์พึงได้ อาชีพบริหารนักท่องเที่ยวควรเป็นอาชีพของใครปกป้องคนดีเป็นหน้าที่ของใคร, หิ่งห้อย ล้อเลียนเสียดสีสังคม ทำนองรักดอกหยอกเจ้าเล่น,   สมาชิกสภาตำบลกลไกพื้นฐาน ประวัติศาสตร์หน้าใหม่จุดบอดของการละเลยไม่ให้ความเป็นธรรมกับระดับชาวบ้านบุญชบา จินตนาการ เรื่องเก่านำมาเล่าเทียบใหม่,  ธรรมสาธกให้ธรรมะกระจายออกไป เช่น ความดีที่ต้องทบทวน จะอยู่หรือจะไปฟื้น-ชื่อที่ไม่ตาย,      ปักษ์ใต้ว่า  ข้อเสนอแนะชัยสิงห์ ชกคนละมุม,    พุทธชาติรักไทยอาสาพัฒนา
เกียรติคุณที่ได้รับ
รับพระราชทานเกียรติคุณบัตรจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เนื่องในวันเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง เมื่อ ๑๔ มีนาคม ๒๕๓๒ โดยได้อุทิศเงิน เพื่อพัฒนาในกิจการของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติได้รับมอบโล่เชิดชูเกียรติผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมภาคใต้  สาขามนุษยศาสตร์ ประจำปี ๒๕๓๒ จังหวัดภูเก็ตจากฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรี   ในวันที่  ๑๓ เมษายน ๒๕๓๓ ณ ศูนยวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

๒.๓ ประวัติและผลงาน


      นายเฉ่ง  เลิศกิจสมบูรณ์


ประวัติส่วนตัว
ชื่อนายเฉ่ง เลิศกิจสมบูรณ์ อายุ ๖๒ปี เกิดวันที่๑๔ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๑  สถานที่เกิด อ.เมือง จ.ภูเก็ต ที่อยู่ปัจจุบัน ๓๖ ถนนเจ้าฟ้า อ.เมือง จ.ภูเก็ต อาชีพปัจจุบัน อาชีพอิสระและรับจ้างงานช่างทั่วไป สถานที่ทำงาน ๓๖ ถนนเจ้าฟ้า อ.เมือง จ.ภูเก็ต ภรรยาชื่อ นางกิ้ม เลิศกิจสมบูรณ์(ถึงแก่กรรม) มีบุตร  ๓ คนคือ นางพนิดา  ผกามาศ  นางสาวปิยะตา เลิศกิจสมบูรณ์
นายปรีชา  เลิศกิจสมบูรณ์
ประวัติการศึกษา
คุณวุฒิความรู้ และความสามารถ
           ชีวิตในเยาว์วัยได้ศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนประถมใกล้บ้านพัก และขณะเดียวกันได้ศึกษาเล่าเรียนภาษาจีนที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งสถานศึกษาจากทางราชการจนแตกฉาน หลังจากนั้นได้ศึกษาด้วยตนเองตลอดมาแม้ในปัจจุบันมีความรู้ทันสมัยหลายสาขาทั้งสังคม เศรษฐกิจและการเมือง
 ชีวิตในวัยหนุ่ม ได้ประกอบอาชีพทางการก่อสร้างทั่วไป ทั้งสร้างบ้านฮวงซุ้ย และอื่น ๆ ในขณะเดียวกันก็มีความสนใจทางศิลปะการทำลวดลายประตูศาลเจ้า(อ๊าม) และลวดลายพระจีน(เทพเจ้าของจีน) คิดดัดแปลงจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนเป็นที่รู้จักทั่วไป
 ชีวิตในปัจจุบัน มิได้ประกอบอาชีพทางแกะสลักทำพระจีนโดยตรง แต่จะทำด้วยใจศรัทธาจริงๆ อาจได้รับค่าตอบแทนเป็นรางวัลบ้างเป็นกรรมการและที่ปรึกษาศาลเจ้าหลายแห่งในจังหวัดภูเก็ต

ผลงานที่โดดเด่น
ผลงานทางช่างฝีมือมีจำนวนมาก ได้แก่
๑. ประติมากรรมรูปพ่อท่านแช่ม
๒. จัดทำลวดลายฮวงซุ้ยของคหบดีต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดอื่น ๆ
๓.  จัดทำลวดลายประตูศาลเจ้าต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ต
๔. จัดทำลวดลายประกอบอาคารที่พักอาศัยของคหบดีต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ต
๕. แกะสลักพระจีน ทำลวดลายบนรูปพระจีน ตั้งแต่รูปขนาดเล็กมากประมาณเท่าหัวแม่มือ จนถึงขนาดโตกว่าคนจริง ปัจจุบันที่ปรากฏอยู่ในศาลเจ้าขนาดใหญ่ ๗ แห่ง ในจังหวัดภูเก็ตเป็นผลงานของนายเฉ่ง เลิศกิจสมบูรณ์ เกินกว่าร้อยละ ๙๐ นอกจากนี้ยังปรากฎอยู่ตามอาคารบ้านเรือนที่ผู้เป็นเจ้าของอาคารมีความเลื่อมใสศรัทธาสักการะบูชาอีกเป็นจำนวนมาก และผลงานยังปรากฏอยู่ในจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดพังงา กระบี่  ระนอง และตรัง อีกมาก และแม้ในต่างประเทศ เช่น สหพันธรัฐมาเลเซีย ก็มีหลายรูปเช่นกันประมาณว่ารวมทั้งหมดเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า ๓,๐๐๐ รูป การทำลวดลายพระจีนของบุคคลผู้นี้ได้คิดประดิษฐ์วิธีทำลวดลายด้วยวัสดุและรูปแบบที่เป็นแบบเฉพาะของตนขึ้น ซึ่งยังไม่เคยปรากฏกรรมวิธี และรูปแบบอย่างนี้ของบุคคลอื่น  ๆ  มีความประณีตสวยงามยิ่งนัก
๖. เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รู้จักคิดดัดแปลง พัฒนาทางช่างฝีมือตลอดมานอกจากจะมีผลงานทางการก่อสร้างทำลวดลายจีน และแกะสลักพระจีนแล้ว ยังได้คิดค้นประดิษฐ์เครื่องขูดมะพร้าวชนิดสมบูรณ์แบบขึ้นเป็นครั้งแรก ประมาณ ๒๐ ปีมาแล้ว ก่อนหน้านั้นการขูดมะพร้าวที่บ้านมักขูดด้วยกระต่ายขูดมะพร้าวถ้าในตลาดหรือเชิงธุรกิจการค้า มักใช้เครื่องขูดชนิดโต๊ะซึ่งต้องนำผลมะพร้าวมากะเทาะเอาเฉพาะเนื้อมะพร้าวใส่เครื่องขูดทีละชิ้น ซึ่งกว่าจะเสร็จก็เสียเวลานานมาก บุคคลผู้นี้ได้ประดิษฐ์เครื่องขูดมะพร้าวต้นแบบที่สามารถขูดมะพร้าวได้ทั้งซีก(ไม่ต้องกะเทาะเฉพาะเนื้อ)  ได้มีผู้มาว่าจ้างให้ขูดมะพร้าว และดูรูปแบบเครื่องขูดมะพร้าวนี้ หลังจากนั้นประมาณ ๔-๕ ปี เครื่องขูดมะพร้าวรูปแบบอย่างนี้ได้มีผู้ประดิษฐ์ตาม ในเชิงธุรกิจมีวางจำหน่ายทั่วไป
ผลงานช่างทางอื่น ๆ ที่ควรบันทึกเอาไว้อีกได้แก่ การประดิษฐ์กลไกอัตโนมัติสำหรับเครื่องกรองน้ำ ก็อกน้ำ เครื่องสูบน้ำ กริ่งประตู กลอนประตู ซึ่งเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพแต่ราคาถูกมาก นับเป็นผลงานที่ควรยกย่องอีกประเภทหนึ่ง
เกียรติคุณที่ได้รับ
ได้รับโล่เชิดชูเกียรติจาก ฯพณฯ สัญญา  ธรรมศักดิ์ เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๓๓ ในฐานะบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมภาคใต้สาขาการช่างฝีมือ(การแกะสลัก) ประจำปี ๒๕๓๒ จังหวัดภูเก็ต

๒.๔ ประวัติและผลงาน


      นายเลียบ  ชนะศึก

 

ประวัติส่วนตัว
ชื่อนายเลียบ ชนะศึก เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม      ๒๔๖๙   ณ       บ้านเหรียง ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ที่อยู่ปัจจุบันและเป็นที่พักอาศัยสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันมีพี่สาว ๑ คน คือนางลาภ เป็นบุตรนายคลอ และนางเอี่ยม มีภรรยาคนแรก ชื่อ นางเสนอ มีบุตรี ๓ คน คือ นางบุญบาย แต่งงานกับนายชนะ บุรีรักษ์   คนที่  ๒  คือนางเบญแต่งงานกับนายวิริยะ ก่ออินทร์ ส่วนคนที่ ๓ คือ นางเนียน แต่งงานกับนายแปว ธรรมดี เมื่อต้องหย่ากับภรรยาคนแรกจึงมีภรรยาเป็นคนที่สอง คือ นางจับจิตต์ นางสกุลเดิม สณฑ์เพชร มีบุตร จำนวน ๖ คน ชาย ๒ คน หญิง ๔ คน คือนายยืนยง ชนะศึก อาชีพธุรกิจการท่องเที่ยว แต่งงานกับนางนภารัตน์ คนที่ ๒ นางสาวอมฤต ชนะศึก อาชีพธุรกิจโรงแรม คนที่ ๓ นางสาวสมหญิง ชนะศึก   เป็นครูโรงเรียนถลางวิทยา คนที่ ๔ นางสาวคมขำ ชนะศึก อาชีพธุรกิจการโรงแรม คนที่  ๕  นางสมใจ   อาชีพ    ธุรกิจการโรงแรม แต่งงานกับนายนิยม ประดิษฐ์ขวัญ และคนที่ ๖นายสมยศ ชนะศึก เป็นนักศึกษา
ประวัติการศึกษา
พ.ศ.๒๔๘๑ จบ ป.๔ จากโรงเรียนวัดพระนางสร้าง อำเภอถลาง ภูเก็ต
พ.ศ.๒๔๘๔ จบมัธยมปีที่ ๓ จากโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย จังหวัดภูเก็ต
ประวัติการทำงาน
พ.ศ.๒๔๘๕ ทำงานส่วนตัว ทำสวน ทำนาที่บ้านเหรียง อำเภอถลาง จ.ภูเก็ต
พ.ศ.๒๔๘๗ เป็นแพทย์สมุนไพรมาจนปัจจุบัน
พ.ศ.๒๕๑๕ - ๒๕๒๙ เป็นแพทย์ประจำตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จ.ภูเก็ต
พ.ศ.๒๕๒๓ เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ
พ.ศ.๒๕๒๓เป็นกรรมการดำเนินงานของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต
พ.ศ.๒๕๒๕ เป็นวิทยากรสาธิตการละเล่น ตลอดเวลา ๑๐ คืน ในงานเทศการปีใหม่ไทยของจังหวัดภูเก็ต   ณ  ศูนย์กีฬาสะพานหิน จ.ภูเก็ต
พ.ศ.๒๕๓๒ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมของอำเภอถลางจากศูนย์วัฒนธรรมอำเภอถลาง โรงเรียนเมืองถลาง
พ.ศ.๒๕๒๓-ปัจจุบัน เป็นวิทยากรการละเล่นให้กับผู้สนใจ นักศึกษาผู้เรียนพื้นฐานวัฒนธรรมไทยและคติชนวิทยาของวิทยาลัยครูภูเก็ต(สถาบันราชภัฏภูเก็ต)
ผลงานที่โดดเด่น
๑. เป็นผู้เก็บรวบรวมเอกสารโบราณ “บุด” ของจังหวัดภูเก็ตไว้ศึกษาเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า ๕๐ ฉบับ นับได้ว่าเป็นบ้านเอกชนที่รักษาหนังสือบุดได้มากที่สุดในจังหวัดภูเก็ต และหนังสือบุดเหล่านั้นได้บริการแก่ผู้สนใจมาโดยตลอด
๒. เป็นวิทยากรทางด้านวัฒนธรรมให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท
๓. แต่งนิราศอีสาน นิราศวนเหนือ และบทประพันธ์เบ็ดเตล็ดอีกมากรายการ
๔. เป็นผู้ประสานงานทางวัฒนธรรมในเขตอำเภอถลางให้กับศูนย์วัฒนธรรม อำเภอถลาง โรงเรียนเมืองถลาง และศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต วิทยาลัยครูภูเก็ต(สถาบันราชภัฏภูเก็ต)
๕. มีความรู้ทางด้านการละเล่นของเด็กในจังหวัดภูเก็ต- พังงา เป็นอย่างดีสามารถเล่าถ่ายทอดอธิบายและสาธิตด้วยความชำนาญ เช่น      โพน
โพนโพนโยนแล้วถาวัง
โพนโพนโยนเล่นท่าวัง
อ้ายแก้วสายนั่งตะฟ้าตากฝน  อ้ายแก้วฉายหนังตากฟ้าตากฝน
อ้ายสายมนชนช้างไก่เถื่อน
ไก่เถื่อนเอยมาเล่นเดือนยี่
เดือนสิบนี้ดอกไม้เราบาน
ผัวไปไหน ผัวไปทำการ  
ค่ำไม่รู้ชู้ไม่เห็น
จัดหมากคำหนึ่งไปตั้งหัวกระรอก
ตอกหัวช้าง นกอีร้างเกาะหัวช้างโขน
นกอินทรี เกาะผีตายโหง
กู้วักกูแว้ง นุ่งผ้าชายพก นุ่งผ้าชายแพงมมาตำทองงู  ทองงูเอยมาเล่นฝ่ายท่า
๖.เป็นวิทยากรทางด้านการละเล่นท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
๗.สามารถเป็นวิทยากร สาธิตและแสดงการละเล่นพื้นเมืองอันยังความบันเทิงให้แก่ผู้สนใจได้ด้วยความชำนาญ เช่น บทหนังตะลุงประตก บทโนรา เพลงตนโหย้ง  เพลงนา เพลงเปล และถนัดมากในการเล่นลิเกป่า ว่ามาลัยทุกงานศพตลอดเวลามานานไม่ต่ำกว่า ๔๐ ปี
๘. นายเลียบ ชนะศึก มีความสามารถละเล่นพื้นเมือง  “ลิเกป่า” เป็นอย่างดี
๙. นายเลียบ ชนะศึก จะร่วมเป็นเพื่อนงานศพทุกงานตลอดคืน กิจกรรมที่ช่วยให้เจ้าภาพและผู้เข้าร่วมเป็นเพื่อนงานศพพึงใจในผลงานการแสดง “ว่ามาลัย” ติดต่อกันมาเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า ๔๐ ปี
ผลงานที่โดดเด่น
สาธิตการละเล่นของเด็กให้กับนักศึกษาและผู้สนใจในเทศกาลต่าง ๆ มาสม่ำเสมอจนกล่าวได้ว่า ไม่มีผู้ใดในจังหวัดภูเก็ต ที่สามารถถ่ายทอดและสาธิตการละเล่นได้มากเท่า นายเลียบ ชนะศึก
        การแสดง “ลิเกป่า” ในงานและเทศกาลต่าง ๆ ก็กระทำเพื่อความสนุกสนานบันเทิงเริงรื่น เป็นการอาสาเพื่อนันทนาการแก่ผู้อื่น
การ “ว่ามาลัย” เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่นายเลียบ ชนะศึกถือเป็นกิจที่ต้องกระทำให้กับเจ้าภาพผู้สูญเสียทุกงานศพสม่ำเสมอมาตลอดเวลาไม่ต่ำกว่า  ๔๐    ปีโดยถือเป็นการกุศลทีไม่เคยได้รับสินจ้างรางวัลแต่ประการใด
        นายเลียบ ชนะศึก เป็นผู้ที่มีผลงานเด่นมาก ทางด้านกีฬาและนันทนาการ เป็นผู้รอบรู้และเก็บรวบรวมวรรณกรรมมุขปาฐะในอำเภอถลางได้มากที่สุด
        ผลงานดีเด่นประจักษ์อยู่ในสมญา ขุมทรัพย์วัฒนธรรมถลาง คือ เลียบ ชนะศึก
เกียรติคุณที่ได้รับ
 พ.ศ.๒๕๓๒ ได้รับการเชิดชูเกียรติจากศูนย์วัฒนธรรมอำเภอถลาง เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมอำเภอถลาง ซึ่งเป็นผู้ที่ภาคภูมิใจยิ่ง ถึงกับกล่าวว่า ก่อนตายจะต้องทำอะไรเพิ่มอีกสักชิ้นหนึ่ง เพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน ไม่ว่างานใดที่ชุมชนร้องขอ เลียบ ชนะศึก จักต้องเข้าร่วมทุกเทศกาลและงานประเพณีของชุมชน และจากการที่สามารถถ่ายทอดงานวัฒนธรรมท้องถิ่นถลางให้กับผู้สนใจได้ตลอดเวลา ไม่เคยหวงความรู้ ไม่เคยปิดบังอำพราง ผู้รับความรู้ทางด้านวัฒนธรรมไม่เคยผิดหวัง ทั้งยังได้รับความเพลิดเพลินบันเทิงใจทุกครั้งที่ไปขอข้อมูลทางวัฒนธรรมจนกระทั่งมีสมญารู้กันว่า ขุมทรัพย์วัฒนธรรมถลาง ต้อง เลียบ ชนะศึก และอีกครั้ง ที่ เลียบ ชนะศึก ภาคภูมิใจถึงกับได้บันทึกจารึกไว้เหนือเกล้าเพียงเมื่อได้รับหนังสือทางราชการที่ส่งตรงไปถึง คือ การเข้าเฝ้า ฯ รับพระราชทานโล่เชิดชูเกียรติ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ในวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๓๔ ในฐานะบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมภาคใต้สาขากีฬาและนันทนาการ   จังหวัดภูเก็ต     

๒.๕ ประวัติและผลงาน


      นายไชยยุทธ  ปิ่นประดับ


ประวัติส่วนตัว
ชื่อนายไชยยุทธ  ปิ่นประดับ
สถานที่เกิด บ้านเลขที่ ๘๐ ถ.วิชิตสงคราม   หมู่ที่ ๗(หมู่บ้านทุ่งทอง) เกิดวันที่  ๖ เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๑ ปัจจุบันอายุ ๖๐  ปี
เชื้อชาติ   ไทย   สัญชาติ    ไทย
สถานที่อยู่ปัจจุบัน   บ้านเลขที่ ๓๕ หมู่ที่ ๒ ถ.วิชิตสงคราม อ.กะทู้ จ.ภูเก็ตรหัสไปรษณีย์ ๘๓๑๒๐ โทรศัพท์(๐๗๖) ๓๒๑๒๔๖
บิดาชื่อ นายฮวด ปิ่นประดับ มารดาชื่อ นางเลี่ยนเตี้ยง ปิ่นประดับ
 ปัจจุบันมารดายังมีชีวิตอยู่ ส่วนบิดาถึงแก่กรรมไปแล้ว ชีวิตครอบครัว สมรสกับนางสุลี เสงี่ยม   เป็นชาวตำบลกะทู้  จ.ภูเก็ต
มีบุตรธิดารวม ๓ คน เป็นผู้ชาย ๒ คน และผู้หญิง ๑ คน คือ๑.นางสุชาดา ศักดิ์ดาศาวิทย์ อายุ ๓๔ ปี ได้สมรสแล้ว สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาการตลาดจากวิทยาลัย  ธุรกิจบัณฑิต กรุงเทพฯ
 ๒. นายเฉลิมชัย  ปิ่นประดับ อายุ ๓๒ ปี ได้สมรสแล้ว สำเร็จการศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ป.ว.ช.) แผนกช่างโลหะ      วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต
๓. นายปิยะ  ปิ่นประดับ อายุ ๒๔ ปี  สำเร็จการศึกษาประกาศนียบัตร วิชาชีพชั้นสูง (ป.ว.ส.) แผนกช่างก่อสร้าง วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต
ประวัติการศึกษา
จบการศึกษาภาคบังคับระดับประถมศึกษา(ป.๔)  จากโรงเรียนบ้านบางทอง    ต.กะทู้ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เมื่อ ปี  พ.ศ.๒๔๙๕ หลังจากนั้นไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น เนื่องจากการเจ็บป่วยของบิดา  ประกอบกับ สงครามโลกครั้งที่ ๒ เพิ่งสงบลง ฐานะทางครอบครัวยากจนมาก       นายไชยยุทธ ปิ่นประดับ ต้องช่วยงานพ่อแม่ โดยการทำขนมขาย ร่อนหาแร่ ในลำคลอง และเหมืองแร่ดีบุก ทั้งนี้เพื่อหารายได้มาช่วยครอบครัว  และช่วยส่งเสียให้น้องได้มีโอกาสเล่าเรียน
ประวัติการทำงาน
จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาได้ไม่นานนายไชยยุทธ ปิ่นประดับ ก็ได้มีโอกาสเข้าไปฝึกทดลองงานในโรงหล่อกลึงเหล็กของบริษัทอนุภาษและบุตร จำกัด ลาออกจากโรงหล่อกลึงเหล็กสมัครเข้าทำงานในเหมืองแร่ดีบุกของ บริษัทอนุภาษและบุตร จำกัด ในตำแหน่งเป็นหัวหน้ากะ ควบคุมคนงานประมาณ ๑๑-๑๒ คน ต่อมาเหมืองแร่ดีบุกแห่งนี้หมดเนื้อที่ในการขอสัมปทานทำเหมืองแร่ดีบุกจึงได้เลิกกิจการประมาณกลางปี พ.ศ.๒๔๙๘ ได้สมัครเข้าทำงาน  บริษัท กะทู้ติน เทร็ดดิง  จำกัดโดยมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยพนักงานขับรถขุดตักดิน(EXCAVATER) สร้างทำนบถมดินเพื่อทำถนน  และขุดคู   คลองระบายน้ำ ในบางครั้งถ้าเครื่องจักรเกิดความชำรุดเสียหายไม่มากมายนัก ก็ต้องช่วยซ่อมเครื่องจักรกลด้วย   จึงทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในเครื่องจักรกลทุ่นแรงมากยิ่งขึ้น   
วันที่ ๑๕ พฤษภาคม  ๒๕๐๔ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นพนักงานขับรถขุดตักดิน ของเทศบาลเมืองภูเก็ต ได้ทำการขุดลอกคลองในเขตเทศบาลเมืองภูเก็ตตั้งแต่                 ปากอ่าวหลังสะพานหิน ไปจนถึงหน้าวัดโฆษิตวิหารรวมระยะทางหลายกิโลเมตร                 และขุดคูระบายน้ำในตัวเมืองภูเก็ต
วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๐๗  สมัครเข้าเป็นพนักงานขับรถขุดดินขององค์การบริหาร              ส่วนจังหวัดภูเก็ต ต่อมาจึงได้ขอลาออก
วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๑๐ เป็นพนักงานขับรถขุดสะเทินน้ำ สะเทินบกในบริษัทติลก จำกัด  
ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงาน และฝึกงานเครื่องจักรกลที่เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา ๑ เดือน ๗ วัน เมื่อ เดือนสิงหาคม ๒๕๑๑ พ.ศ.๒๕๒๓ - ๒๕๓๔  เป็นผู้จัดการ บริษัทบูกิ๊ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นธุรกิจเกี่ยวกับการกำจัด แมลง มด ปลวก ฯลฯ และจำหน่ายเครื่องสุขภัณฑ์         ในห้องน้ำ
 ต่อมา นายไชยยุทธ ปิ่นประดับ มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ       จึงลาออกจากบริษัทมา
ทำงานส่วนตัวบ้างเล็กน้อย และทำงานช่วยเหลือสังคม
พ.ศ.๒๕๓๖ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ    การศึกษา    การศาสนา     และ
วัฒนธรรม อ.กะทู้
พ.ศ.๒๕๓๗ ได้รับการแต่งตั้งจากจังหวัดภูเก็ต      ให้เป็นคณะทำงานจัด         ZONE
ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม  จ.ภูเก็ต  เพื่อศึกษาหาแนวทางในการจัด              ZONE
ประวัติศาสตร์         และงานด้านวัฒนธรรม
จ.ภูเก็ต
พ.ศ.๒๕๓๗ ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะทำงานเพื่อการจัดสร้างศิลาจารึกหรือวัตถุ โลหะจารึกเฉลิมพระเกียรติ    เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง   ครองราชย์ปีที่ ๕๐ พ.ศ. ๒๕๓๘ - จนถึงปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งจากสำนักงานคณะกรรมการ วัฒนธรรมแห่งชาติให้เป็นคณะอนุกรรมการวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต และเป็น คณะอนุกรรมการวัฒนธรรมภาค ๔  พ.ศ.๒๕๔๐ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการบริหาร  สภาวัฒนธรรม รองประธานจังหวัดภูเก็ต และประธานสภาวัฒนธรรม อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต
พ.ศ.๒๕๔๐ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้เสนอชื่อ นายไชยยุทธ ปิ่นประดับ
ไว้ในทำเนียบผู้มีความรู้ความสามารถในท้องถิ่นทั้งนี้เพราะนายไชยยุทธปิ่นประดับได้กระทำคุณประโยชน์ให้แก่ท้องถิ่นและอนุเคราะห์ แก่ ท.ท.ท. ดังนี้
๑. เป็นผู้ริเริ่มเสนอให้สภาจังหวัดภูเก็ต จัดตั้งตำรวจท่องเที่ยวขึ้นในจังหวัดภูเก็ต เพื่ออำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว
๒. ให้การสนับสนุนค้นคว้าข้อมูล เพื่อการจัดทำเอกสารประเพณีกินผัก( กินเจ) ภูเก็ตและประเพณีผ้อต่อ
๓. ได้เป็นผู้ผลักดันให้งานประเพณีกินผัก เป็นงานประเพณีประจำจังหวัดภูเก็ต และบรรจุไว้ในแผนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
๔. เป็นผู้สนับสนุนและค้นคว้าข้อมูล เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของชาวจีนในจังหวัดภูเก็ตเพื่อจัดทำเป็นเอกสารเผยแพร่
นายไชยยุทธ ปิ่นประดับ  ได้อุทิศตนเพื่องานส่วนรวมของสังคม ในด้าน การดูแลรักษา อนุรักษ์โบราณสถานของศาลเจ้าซึ่งเป็นของส่วนรวมประกอบกับ ประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดภูเก็ตเป็นคนไทยเชื้อสายจีนการดำรงชีวิตจึงยึดถือ และปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีของจีน  ในปัจจุบันภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ผู้คนจากทุกมุมโลกได้หลั่งไหลเข้าสู่ภูเก็ต จึงจำเป็นจะต้องฟื้นฟูประเพณีท้องถิ่นที่ดีงามรวมทั้งด้านสถาปัตยกรรม   ที่ได้สืบทอดกันมาช้านานอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติให้ปรากฏแก่สายตาของคนไทย และต่างชาติตลอดไป       ในปี พ.ศ.๒๕๓๘ นายไชยยุทธ ปิ่นประดับ  ได้เดินทางไปทัศนศึกษาที่กรุงปักกิ่ง เมืองจูโจว   มณฑลหูหนาน  เมืองซีอาน  มณฑลซานซี เมืองฉีฝู  มณฑลชานตง  ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของวัฒนธรรม และประเพณีของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้าน           สถาปัตยกรรมเพื่อนำมาเป็นแบบอย่างในการก่อสร้างศาลเจ้ากะทู้ ให้ผสมกลมกลืน            กับศิลปวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวจีนในเมืองภูเก็ต นอกจากนี้นายไชยยุทธ ปิ่นประดับได้ทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับ  ประเพณีกินผักของจังหวัดภูเก็ต เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบถึง  ประวัติความเป็นมาของพิธีกรรมและกิจกรรมของประเพณีกินผัก  ที่ได้สืบทอดกันมา  
พ.ศ.๒๕๑๙ เป็นต้นมาได้รับแต่งตั้ง       เป็นกรรมการงานประเพณีกินผักของศาลเจ้ากะทู้และงานประเพณีถือศีลกินเจจังหวัดภูเก็ต พ.ศ.๒๕๒๒ จัดทำโครงการพิพิธภัณฑ์แร่ให้แก่โรงเรียนบ้านกะทู้ และจัดพิพิธภัณฑ์ สินแร่ดีบุก และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ โดยได้มอบสินแร่พลวงสินแร่ยิบซั่ม น้ำมันปิโตรเลียม น้ำมันดิบ และน้ำมันชนิดต่าง ๆ ที่กลั่นแล้วซึ่งทางโรงเรียนได้นำไปดำเนินการจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้าน               ทรัพยากรธรรมชาติสู่ประชาชน พ.ศ.๒๕๒๖ ได้รับการแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการฝ่ายแผนการจัดงาน    ๒๐๐   ปี วีรสตรีเมืองถลางนอกจากนี้ยังได้ให้ความร่วมมือกับจังหวัดในการจัดงานวีรสตรีเมืองถลาง ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน 
พ.ศ.๒๕๒๗ เป็นอนุกรรมการประวัติศาสตร์ อ.กะทู้    พ.ศ.๒๕๒๙ ถึง ๒๕๓๖  ได้รับเลือกเป็นกรรมการสุขาภิบาลกะทู้
พ.ศ.๒๕๓๐ ได้เสนอตั้งชื่อถนนสายกะทู้-สามกอง  ชื่อ ถนนพระภูเก็ต(แก้ว) ต่อสำนักงานสุขาภิบาลกะทู้ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต โดยมีเหตุผลว่า             ได้ค้นคว้าทางประวัติศาสตร์และพงศาวดาร ของบริเวณที่ตั้งถนนแล้วสมควรที่              จะนำชื่อบุตรของพระยาถลาง(เจิม) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองภูเก็ตครั้งหนึ่ง คือ“พระยาภูเก็ตแก้ว”   มาเป็นชื่อถนนสายนี้ ทั้งนี้เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของบ้านเก็ตโฮ่ปัจจุบันประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งเมืองภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว เมื่อมีถนนขึ้นมาแต่ยังไม่มีชื่อเรียกที่เหมาะสมและได้นำชื่อทางประวัติศาสตร์มาจารึกเป็นชื่อถนนไว้จะทำให้นักท่องเที่ยวสนใจแวะค้นคว้าความเป็นมาของเมืองภูเก็ตยิ่งขึ้นเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในทางอ้อมได้ อีกทางหนึ่ง
พ.ศ.๒๕๓๘  นายไชยยุทธ  ปิ่นประดับได้จัดทำโครงการจัดตั้ง พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชาวเหมืองแร่ กะทู้ ณ โรงเรียนบ้านกะทู้ โดยปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจาก พิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ จากองค์การไลฟ์ จี ที แซด(Life GTZ) ประเทศสหพันธสาธารณรัฐเยอรมัน เป็นเงิน ๔๒๐,๐๐๐ บาท และจาก สส.อัญชลี  วานิช(เทพบุตร)  เป็นเงิน ๑๕๓,๐๐๐ บาท การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชาวเหมืองแร่กะทู้มีวัตถุประสงค์ดังนี้
          ๑. เพื่อให้เยาวชนใช้เป็นแหล่ง ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ เกี่ยวกับวิถีชีวิตของ                บรรพบุรุษ
          ๒. เพื่อสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษสู่เยาวชน
          ๓. เพื่อเผยแพร่ความรู้วิชาการทำเหมืองแร่ดีบุกทุกชนิด ที่เคยมีในชุมชนกะทู้ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายของคนทั่วไป
          ๔. เพื่อเก็บรวบรวมอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำเหมืองแร่ รวมทั้งโบราณ วัตถุที่บ่งชี้ถึงวิถีชีวิตของคนที่อยู่ใน   ชุมชน
กะทู้
          ๕.เพื่อให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกแก่เยาวชน  ในการฟื้นฟู  บำรุงรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมของชุมชนกะทู้     
พ.ศ.๒๕๔๑ ร่วมกับโรงเรียนกะทู้วิทยา เป็นวิทยากรบรรยายที่ศูนย์อนุรักษ์มรดกท้องถิ่นกะทู้(พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชาวเหมืองแร่กะทู้)       ให้กับผู้มาเยี่ยมชมได้แก่ โรงเรียนนานาชาติ
พ.ศ.๒๕๔๑ เป็นผู้ติดต่อประสานงานผ่าน สส.อัญชลี วานิช(เทพบุตร) และ       กระทรวงการต่างประเทศในการขอข้อมูลจากประเทศจีนเกี่ยวกับที่อยู่ของ            พระราชาธิราชเจ้าเก้าพระองค์เพื่อนำไปจัดทำ    และเรียบเรียง เรื่องประเพณีกินผักจังหวัดภูเก็ต
พ.ศ.๒๕๑๘ ให้การสนับสนุนการก่อตั้งวิทยาลัยชุมชน วิทยาเขต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ตำบลกะทู้
พ.ศ.๒๕๑๙ ประสานงาน   ติดต่อขอรับบริจาคที่ดินเพื่อปลูกสร้างอาคารเรียนโรงเรียนบ้านไม้เรียบ(ตันติโกวิทบำรุง)
พ.ศ.๒๕๒๐ ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาของคณะกรรมการผู้            ปกครองนักเรียน โรงเรียนกะทู้วิทยา 
พ.ศ.๒๕๒๑   เป็นกรรมการตรวจสอบพื้นที่เพื่อปลูกสร้างโรงเรียนบ้านบางทอง แห่งใหม่ ในท้องที่หมู่ที่ ๗ ตำบลกะทู้ จำนวนเนื้อที่ ๒๘ ไร่  และติดต่อประสานงานกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่อของบประมาณสนับสนุนการก่อสร้างโรงเรียน
พ.ศ.๒๕๒๒ เป็นคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาท้องถิ่น  ระดับจังหวัดได้ร่วมพิจารณาวางแผนเตรียมรับนักเรียนของสำนักงานองค์การบริหารส่วน จังหวัดภูเก็ต 
พ.ศ.๒๕๒๓ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการการศึกษา ระดับประถม    ศึกษา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต  ได้มีส่วนในการจัดกิจกรรมหารายได้ช่วยเหลือการแข่งขันกีฬาโรงเรียนในสังกัดกลุ่มโรงเรียนกะทู้ และเป็นกรรมการเปิดซองประกวดราคาการประมูลก่อสร้างอาคารเรียนและรื้อถอนอาคารเรียนเก่า
พ.ศ.๒๕๓๒ ได้รับการแต่งตั้งจากจังหวัดภูเก็ตให้เป็นคณะกรรมการห้องสมุด            ประชาชน จ.ภูเก็ต  และห้องสมุดเฉลิมราชกุมารี ต.ป่าตอง  อ.กะทู้  นายไชยยุทธ             ปิ่นประดับได้เสนอความเห็นในการจัดห้อง  “ภูเก็ต” ในห้องสมุดเฉลิมราชกุมารี พ.ศ.๒๕๓๒ เป็นคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ในการหารายได้สมทบทุน            สร้างอาคารเรียนใหม่    โรงเรียนภูเก็ตไทยหัว
พ.ศ.๒๕๔๐ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการประเมินสถานศึกษาสังกัด            สำนักงานการประถมศึกษา อ.กะทู้ ทำการวิเคราะห์สภาพปัจจุบันของสถานศึกษา            เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการเร่งรัดสถานศึกษาให้ได้เกณฑ์มาตรฐาน
         นอกจากนี้นายไชยยุทธ  ปิ่นประดับ  ได้บริจาคทรัพย์   อุปกรณ์การเรียน  อาทิ   แร่ยิบซั่ม สินแร่ หิน ครุภัณฑ์ห้องสมุด  เครื่องดนตรี หนังสือ ให้แก่หน่วยงาน            การศึกษามาโดยตลอด
          พ.ศ.๒๕๑๘ เป็นคณะกรรมการดำเนินการจัดหาเงินบูรณะ ซ่อมแซมปฏิสังขรณ์  สร้างโบสถ์     และเมรุเผาศพ วัดเก็ตโฮ่ (วัดอนุภาษกฤษฎาราม)  หมู่  ๑  ต.กะทู้ นายไชยยุทธ ปิ่นประดับ  ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดภูเก็ต(สจ.)  เขต อ.เภอกะทู้ จ.ภูเก็ต สองสมัยติดต่อกัน   คือในปี พ.ศ.๒๕๑๘ - พ.ศ.๒๕๒๓ และในปี พ.ศ.๒๕๒๓ - พ.ศ.๒๕๒๘โดยได้รับมอบหมายหน้าที่จากสภาจังหวัดภูเก็ต ให้ควบคุมดูแลในด้านงบประมาณ  ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้การดำเนินงาน ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต            เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลังให้การสนับสนุนและช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ เพื่อประโยชน์ของท้องถิ่นเป็นกรรมการฝ่ายโยธาการศึกษา ของสภาจังหวัดภูเก็ต
พ.ศ.๒๕๑๘  ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการแก้ไขและบรรเทาเหตุน้ำท่วมเมืองภูเก็ต
พ.ศ.๒๕๒๑ เป็นคณะกรรมการ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค และ            บริโภคในจังหวัดภูเก็ต
พ.ศ.๒๕๒๓ นายไชยยุทธ ปิ่นประดับ ได้รับเชิญจากคุณอำนาจ มีกุล ซึ่งดำรง            ตำแหน่งเลขาธิการสโมสรไลออนส์ภูเก็ต       ให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสโมสรไลออนส์ภูเก็ต นับว่าเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมอยู่ในองค์กรสมาคมสโมสรไลออนส์สากลที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีสมาชิกทั่วโลก    ๑,๕๐๐,๐๐๐ คน จากทุกมุมโลก เป็นองค์กรการกุศลช่วยเหลือผู้ยากไร้  และด้อยโอกาสสร้างเสริม ความซื่อสัตย์ต่อกันระหว่างสมาชิกด้วย กันนายไชยยุทธ  ปิ่นประดับ  ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสโมสรไลออนส์ภูเก็ต  เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๒๓  เป็นต้น
มาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา  ๑๗  ปีเศษ               คุณสุนทร จิรพัฒนโสภณ เป็นนายกสโมสรไลออนส์ภูเก็ต ได้มอบหมายให้ร่วม            ทำกิจกรรมต่างๆ ให้กับสโมสรตลอดมา ในระหว่างการเป็นสมาชิก ๑๐ ปี ได้รับเข็ม  ๑๐๐%หลายครั้งแสงให้เห็นว่า นายไชยยุทธ ปิ่นประดับ เป็นบุคคล  เสียสละ อุทิศตนเพื่อส่วนรวม เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ยากไร้ที่ด้อยโอกาส ยังได้แบ่งเวลาส่วนหนึ่งเพื่อบริการสังคมอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่เริ่มเข้าเป็นสมาชิกสโมสรไลออนส์ภูเก็ต จนกระทั่งถึงปัจจุบัน  นอกจากนี้ยังได้พัฒนาตน              เสาะแสวงหาความรู้เพิ่มเติมจนได้รับยกย่องจากทางสโมสรไลออนส์ในการเขียนบทความสารคดีลงในวารสารของสโมสรเป็นประจำ           นายไชยยุทธ  ปิ่นประดับ ได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการอำนวยการ  ๑  ปีและ ๒ ปีมา  
๔ สมัยประธานฝ่ายการศึกษา ๔ สมัยประธานฝ่ายหนังสือสารานุกรไทยสำหรับ             เยาวชนฉบับพระราชทาน ๒  สมัย  สังคมสงเคราะห์ ๑ สมัยนอกเหนือจากนี้ยัง            ได้ทำหนังสือสูจิบัตร และหนังสือ ที่ระลึกให้กับสโมสรไลออนส์ภูเก็ต ๑๕ สมัย จึงได้รับโล่และเกียรติบัตรจากสโมสรไลออนส์ภูเก็ต เกียรติบัตรจากผู้ว่าการภาค ๓๑๐บี พร้อมโล่  และยังได้รับโล่ LION OF THE YEAR มาถึง ๓ ครั้ง
นอกจากนี้นายไชยยุทธ ปิ่นประดับได้อุทิศตนในการทำนุบำรุง ศาลเจ้าในตำบลกะทู้เสมอมานับเป็นระยะเวลา ๓๐ ปี แล้วอาทิ การจัดงานในวันสำคัญประจำปีของแต่ละศาลเจ้า              
เกียรติคุณที่เคยได้รับ
ปี พ.ศ.๒๕๑๘ - ๒๕๒๓ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดภูเก็ต เขต อ.กะทู้
ปี พ.ศ.๒๕๒๓ - ๒๕๒๘ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดภูเก็ต เขต อ.กะทู้
ปี พ.ศ.๒๕๒๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการประถมศึกษา     อ.กะทู้     จ.ภูเก็ต
ปี พ.ศ.๒๕๒๕ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎไทย ชั้นที่ ๕                                             จากพระบาทสมเด็จพระปรมินมหาภูมิพลอดุยเดชฯ
ปี พ.ศ.๒๕๒๘ ได้รับประกาศเกียรติคุณผู้บำเพ็ญประโยชน์ ในงานฉลอง ๒๐๐ ปี                                วีรสตรีเมืองถลาง จากจังหวัดภูเก็ต ปี พ.ศ.๒๕๓๖ ได้รับโล่เกียรติยศ และใบประกาศเกียรติคุณ “นักธุรกิจตัวอย่างแห่งปี”                    จาก ฯพณฯ  รองนายกรัฐมนตรี  ณ   ห้องบอลลูมโรงแรมสยาม  อินเตอร์คอนติเนนตัล
ปี พ.ศ.๒๕๔๐ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต
ปี พ.ศ.๒๕๒๓ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสโมสรไลออนส์ภูเก็ต
ปี พ.ศ.๒๕๒๔- ๒๕๒๕ ได้รับโล่ไลออนส์ดีเด่นประจำปี
ปี พ.ศ.๒๕๒๕ - ๒๕๒๖ ได้รับโล่ไลออนส์ดีเด่นประจำปี
ปี พ.ศ.๒๕๒๖ - ๒๕๒๗ ได้รับโล่ไลออนส์ดีเด่นประจำปี
ปี พ.ศ.๒๕๒๘ - ๒๕๒๙ ได้รับโล่ไลออนส์ดีเด่นประจำปี
ปี พ.ศ.๒๕๓๐ - ๒๕๓๑ ได้รับเกียรติบัตรจากสโมสรไลออนส์ภูเก็ต
ปี พ.ศ.๒๕๓๑ - ๒๕๓๒ ได้รับโล่ไลออนส์ดีเด่นประจำปี
ปี พ.ศ.๒๕๓๒ - ๒๕๓๓ ได้รับเกียรติบัตรจากสโมสรไลออนส์ภูเก็ต
ปี พ.ศ.๒๕๓๔ - ๒๕๓๕ ได้รับโล่ครบ ๑๐ ปี จากไลออนส์สากลภาครวม ๓๑๐
ปี พ.ศ.๒๕๓๖ - ๒๕๓๗  ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณไลออนส์ผู้ให้การส่งเสริม                                                           การศึกษา

๒.๖ ประวัติและผลงาน


      นางจิ้ว  ประโมงกิจ

ประวัติส่วนตัว
ชื่อนางจิ้ว นามสกุล ประโมงกิจ
อายุ ๖๐ ปี เกิดวันที่ เดือน พ.ศ.๒๔๗๗
ประวัติการศึกษา
จบการศึกษาสูงสุดชั้นประถมปีที่ ๒ โรงเรียนบ้านเกาะสิเหร่ ต.รัษฎา อ.เมือง ภูเก็ต
ชีวประวัติส่วนตัวและครอบครัว
กลุ่มชนดั้งเดิมที่ร่อนเร่อยู่ในท้องทะเลฝั่งอันดามัน ๓ เผ่า คือ เผ่าเลใต้(โอรังลาโอด) เผ่ามอแกล๊นและเผ่ามาซิง(เค็ม) เรือง่าม ได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ตามชายหาดบนเกาะลิเป๊ะสตูล เกาะจำเกาะลันตากระบี่ หมู่เกาะสุรินทร์ พังงา และที่มีมากที่สุดก็คือที่เกาะภูเก็ตที่บ้านแหลมหลาบ้านสะปำ บ้านราไวย์ และที่บ้านเกาะสิเหร่ สมเด็จพระศรีนครินทรา พระบรมราชชนนี ได้พระราชทานนามสกุลให้เผ่าชาวเลใต้ที่เกาะสิเหร่ว่า ประโมงกิจ ครอบครัวของนายอาจและนางจำปา จึงได้ใช้นามสกุลประโมงกิจ ครอบครัวนี้กำเนิด “แม่เพลงแห่งอันดามัน” คือ จิ้ว เป็นบุตรีสุดท้องเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๗ จิ้ว ประโมงกิจ เร่ร่อนตามพ่อและแม่ออกหาอาหารในท้องทะเลอันดามัน ยามว่างก็มีโอกาสเรียนการร่ายรำที่เรียกว่า “รองเง็ง” จากยายปาซิ้ว สามารถจำบทเพลงและท่วงทำนองการร่ายรำได้มากที่สุด  จิ้ว ประโมงกิจ จึงได้รับความไว้วางใจเป็นครูของครูในโรงเรียนต่าง ๆ เช่น โรงเรียนสตรีภูเก็ต โรงเรียนพิบูลสวัสดี โรงเรียนบ้านเกาะสิเหร่    โรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญา เป็นต้น
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จิ้ว ประโมงกิจ ได้แต่งงานตามพิธีของเผ่าเลใต้ กับนายมะเก็นประโมงกิจ ปลูกสร้างกระท่อมน้อยอยู่ที่หาดกลางเกาะสิเหร่ และเมื่อถูกไล่ที่ก็ได้เดินทางพร้อมกับสมาชิกเผ่ามาพำนักอยู่ในที่ดินเอกชนบริเวณแหลมตุ๊กแก เกาะสิเหร่ ระยะทางห่างจากที่เดิมทางทะเลประมาณ ๑ กิโลเมตร ระยะทางเดินเท้าประมาณ ๓ กิโลเมตร นางจิ้ว ประโมงกิจ มีบุตรีจำนวน ๑๒ คน คือ ทันลอย เม้ะจิง ทมิล อีตัม อีเกิน ทเมศ ธานินทร์ ธานี บุญชู บุญศรี ชูศักดิ์ และแหวง สถานที่อยู่ปัจจุบัน อยู่บ้านเลขที่ ๗๖ หมู่ที่ ๔ บ้านแหลมตุ๊กแก เกาะสิเหร่ ตำบลรัษฎา อำเมือง จังหวัดภูเก็ต รหัสไปรษณีย์ ๘๓๐๐๐
อาชีพ หาปลา หอย และเต้นรองเง็ง สถานที่ทำงานเป็นสถานที่เดียวกับที่อยู่คือบ้านเลขที่   ๗๖    หมู่ ๔  บ้านแหลมตุ๊กแก    เกาะสิเหร่ ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต รหัสไปรษณีย์ ๘๓๐๐๐
เกียรติคุณและรางวัลที่เคยได้รับ
รางวัลชนะเลิศในการรำรองเง็งของจังหวัดสตูล ประมาณ พ.ศ.๒๕๒๐
เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รำรองเง็งถวายในพระตำหนัก สวนจิตรลดา ประมาณ ปี พ.ศ.๒๕๒๑
 รำรองเง็ง        ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อพระองค์เสด็จเยี่ยมเผ่าเลใต้ที่เกาะสิเหร่ เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๓  ผู้มีผลงานดีเด่นในการอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี พ.ศ.๒๕๓๕ จากการคัดเลือกของคณะกรรมการวันอนุรักษ์มรดกไทย กรมศิลปากร แม่จิ้ว ประโมงกิจ เข้าเฝ้ารับพระราชทานโล่และเข็มที่ระลึกจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ การมีส่วนร่วม/บทบาทในการดำเนินงานเพื่อการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยทางด้านนาฏศิลป์รองเง็งมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๘ จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา ๔๗ ปี หากนับในช่วงวัยรุ่นที่ร่วมรำกับคณะรองเง็งชุดเก่าก็มากว่า ๕๐ ปี เป็นหัวหน้าคณะรองเง็งชาวเลเกาะสิเหร่ที่ได้รับชื่อเสียงขจรขจายทั่วฝั่งอันดามัน ความบันเทิงของชาวใต้ฝั่งทะเลอันดามันนอกจากจะมีหนังตะลุง ลิเกป่า และโนราแล้ว รองเง็ง เป็นกิจกรรมบันเทิงที่ชาวใต้รับเข้าเป็นกิจกรรมของงาน คณะของจิ้ว ประโมงกิจ จึงรับงานเฉลี่ยเดือนละ ๓ ครั้งตลอดมา เมื่อ วารสาร อสท. ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ.๒๕๐๔ หน่วยงานทางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้นำรองเง็งเผยแพร่มากยิ่งขึ้นเป็นที่ตื่นตาตื่นใจแก่แขกที่ร่วมงานจิ้ว ประโมงกิจ มีความสามารถในการดั้นกลอนสดเป็นทำนองเพลงรองเง็งมีปฏิภาณไหวพริบที่ต่อกลอนเพลงรองเง็ง ในช่วงวัยรุ่นและวัยสาว สามารถรำ “ลงตงห้อย” อันเป็นนาฎศิลป์รองเง็งที่เยี่ยมยุทธได้เป็นระยะเวลายาวนาน สามารถร้องเพลงรองเง็งนับเป็นร้อย ๆ เพลงโดยไม่ซ้ำเนื้อเพลงได้ตลอดทั้งคืน ออกงานเพื่อการกุศลจนไม่สามารถนับจำนวนครั้งได้ งานของหมู่บ้านช่วงกลางเดือน ๖ และกลางเดือน ๑๑ ของทุกปี จิ้ว ประโมงกิจ จะต้องเป็นแม่เพลงในช่วงเช้าทั้ง ๓ วันติดต่อมาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า ๕๐ ปี จนถึงปัจจุบัน นาฎศิลป์พื้นเมืองอันเป็นเอกลักษณ์ของซียิปซี(Sea Gypsy) เผ่าเลใต้บนเกาะสิเหร่ ที่ขจรกระจายเต็มสายตาและเร้าเริงรื่นชื่นไพเราะเสนาะโสตารมณ์ ให้กล่าวขวัญถึงเสมอคือ รองเง็ง ของ คณะจิ้ว ประโมงกิจการยักไหล่ ส่ายสะเอวย้ายสะโพกสับสลับปลายเท้าเต้นร่ายไปตามเสียงรำมะนาคู่ ฆ้อง กรับ ฉิ่ง และไวโอลินเริ่มแรกด้วย วูก้าลากูดัว แต่ถัดจากนั้นไป เสียงร้องเลื่อนไหลดังฟังชัดของแม่เพลงรองเง็ง จิ้ว ประโมงกิจ ก็หวามเข้าห้วงอารมณ์แห่งความสุนทรีย์
ประสบการณ์รองเง็งฝังอยู่ในสายเลือดมาตั้งแต่เด็ก ได้รับแรงบันดาลใจเพิ่มขึ้นตอนช่วงสาวเมื่ออยู่ที่เกาะลิเป๊ะ เกาะบริวารในเครือหมู่เกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล   เมื่อกลับเกาะสิเหร่ภูมิลำเนาเดิมของตน จิ้ว ประโมงกิจ จึงได้มีสมาชิกร่วมวงรองเง็งเกาะสิเหร่เพิ่มมากขึ้นสืบมาจนบัดนี้

๒.๗ ประวัติและผลงาน


      นายประชา  ตัณฑวณิช

 

ประวัติส่วนตัว
นายประชา  นามสกุล  ตัณฑวณิช
วันเดือนปีเกิด วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๗๒ อายุ ๖๙ ปี สถานที่เกิด ๙๘ ถนนกระบี่ ตำบลตลาดเหนือ  อำเภอเมือง  จังหวัดภูเก็ต
ที่อยู่ปัจจุบัน ๙๘ ถนนกระบี่ ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต โทรศัพท์(๐๗๖) ๒๑๗๒๑๘
บิดาชื่อขุนชินสถานพิทักษ์ ถึงแก่กรรม มารดาชื่อนางชินสถานพิทักษ์     ถึงแก่กรรม
ภรรยาชื่อ นางจรูญรัตน์  ตัณฑวณิช
บุตรชาย ๒ คนคือ ๑. นายประจักษ์  ตัณฑวณิช  อายุ ๓๗ ปี  ๒. นายฆเนศ  ตัณฑวณิช  อายุ ๓๒ ปี  อาชีพ ธุรกิจการท่องเที่ยวสถานที่ปฏิบัติงาน ๑๖๐/๕ ถนนเยาวราช ตำบลตลาดใหญ่   อำเภอเมือง   จังหวัดภูเก็ต  โทร.(๐๗๖) ๒๑๓๒๐๓
ประวัติการศึกษา
พ.ศ.๒๔๘๑ โรงเรียนฮั่วบุ่น อำเภอเมือง ภูเก็ต  ป.๑
พ.ศ.๒๔๘๑–๒๔๘๔โรงเรียนปลูกปัญญา อำเภอเมือง ภูเก็ต ป.๑–ป.๔
พ.ศ.๒๔๘๕–๒๔๘๘โรงเรียนภูเก็จวิทยาลัย อำเภอเมือง ภูเก็ต ม.๑–๔
พ.ศ.๒๔๘๙  ซิลเซเวีย  ปีนัง  มาเลเซียระดับ ๗
พ.ศ.๒๔๙๐เอส ซี อเคาร์ติ้ง เอลซีซี สิงคโปร์
พ.ศ.๒๕๑๖ ฝึกฝนภาษาอังกฤษ ที่ นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา
ประวัติการทำงาน
ปี พ.ศ.๒๔๙๒–๒๔๙๕ ทำงานในเหมืองแร่เหมืองคลองขุด บางเทา  อำเภอถลาง  ภูเก็ต
ปี พ.ศ.๒๔๙๖ ผู้จัดการเหมืองแร่บางเนียง ตะกั่วป่า พังงา
ปี พ.ศ.๒๕๐๐ หัวหน้าฝ่ายระเบิดหิน บริษัทบูรพาเศรษฐกิจ นางย่อน  คุระบุรี  พังงา
ปี พ.ศ.๒๕๐๔ หัวหน้าฝ่ายระเบิดหิน  บริษัท ฟาอีสต์ คอนสตรัคชั่น
ปี พ.ศ.๒๕๐๕ ครูพลศึกษาโรงเรียนดาวรุ่งวิทยา อำเภอเมือง ภูเก็ต
ปี พ.ศ.๒๕๐๖ ผู้จัดการเหมืองแร่บางปอ ทุ่งมะพร้าว อำเภอท้ายเมือง พังงา
ปี พ.ศ.๒๕๐๗ หัวหน้าสำรวจแร่ สตู ปูโล บางม่วง ตะกั่วป่า พังงา
ปี พ.ศ.๒๕๑๒ หัวหน้าสำรวจแร่ทองคำ ที่อุดรธานีและเลย
ปี พ.ศ.๒๕๑๓ ผู้จัดการเหมืองแร่ฟลูออไรท์ เชียงใหม่
ปี พ.ศ.๒๕๑๕ หัวหน้าสำรวจแร่ที่กาญจนบุรี
ปี พ.ศ.๒๕๑๖ ผู้ดูแลกองมรดกขุนชินประชา เรือขุดแร่บางเนียง ตะกั่วป่า พังงา
ปี พ.ศ.๒๕๑๗ กรรมการบริษัทชินชิปปิ้ง
ปี พ.ศ.๒๕๒๐ เครือข่ายการขายตั๋วเครื่องบินบริษัทเดินอากาศไทยในประเทศมาเลเซีย
ปี พ.ศ.๒๕๓๓ที่ปรึกษาโรงแรมเซาร์เธิร์น อิน

ผลงานและผลงานดีเด่น
๑. สะสมสิ่งของในกุดังตึกชินประชา มาทำความสะอาดและตกแต่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.    ๒๕๑๖
๒. สะสมภาพ  ใส่กรอบภาพใหม่ให้คล้ายของเดิม   ประดับตกแต่งไว้ตามฝาผนังตึกชินประชา
๓.  สะสมเงินเหรียญที่ขุดพบในเหมืองแร่    มีเหรียญเงินและเหรียญทองแดง   เหรียญโปรตุเกส
๔. สะสมเครื่องเงินจัดตั้งแสดงไว้ในตู้
๕. สะสมเครื่องถ้วยเคลือบ    ประมาณ ๒๐๐ ใบ
๖. สะสมโต๊ะเก้าอี้เครื่องมุก ไว้ข้างห้องโถง SKY LIGHT
๗. จัดเก็บและรักษาโทรศัพท์รุ่นแรกของภูเก็ต พยายามแก้และซ่อมให้ใช้การได้
๘. จัดเก็บเครื่องพิมพ์ดีดรุ่นเก่า
๙. สะสมพัดลมที่ใช้น้ำมันก๊าด
๑๐.สะสมและซ่อมแซมอาคารให้ใช้กระเบื้องกาบกล้วยแบบโบราณไว้ให้มากที่สุดเท่าที่วัสดุจะเอื้ออำนวย
๑๑. สะสมโอ่งและที่ขังน้ำตกแต่งไว้ในที่ที่เหมาะสม
๑๒. สะสมแจกันและดัดแปลงภาชนะอื่น ๆ ดัดแปลงเป็นแจกัน
 จากการสะสมสิ่งของสมบัติวัฒนธรรมทั้งของบรรพบุรุษให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม และสิ่งของที่หามาใหม่ ตกแต่งไว้ในคฤหาสน์ขุนชินประชา ผู้มาแวะเยี่ยมเยือนต่างชื่นชมในการเก็บรักษาสมบัติวัฒนธรรมมีผู้เข้าเยี่ยมชมจากสารพัดทิศของคนทั่วโลกที่มาเยี่ยมเยือนสืบเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๖ มาจนบัดนี้ ตัวอย่าง เช่น อธิบดีกรมสรรพากร อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี อธิบดีกรมศิลปากร รมว.กลาโหม ผู้จัดการ บดท. เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ม.จ.วิภาวดี รังสิต พิสมัย  วิไลศักดิ์  ศรัณญู  เงากระจ่าง มลฤดี ยมาภัย จอมพลประพาส  จารุเสถียร พล.อ.อ.หริน  หงสกุล  พล.อ.อ.ทวี  จุลทรัพย์  ดร.สมเกียรติ  อ่อนวิมล
จากการสะสมรักษาสมบัติวัฒนธรรมได้สมบูรณ์ ทำให้บริษัทถ่ายทำภาพยนต์ทั้งภายในไทยและต่างประเทศมาขออนุญาตถ่ายทำประกอบฉากภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น มัสยา  อินเดียน่าโจนส์
สารคดีทั้งไทยและต่างประเทศมาถ่ายทำจำนวนมากเรื่อง เช่น รายการที่นี่กรุงเทพ(ที่นี่ภูเก็ต) จน ดร.สมเกียรติ  อ่อนวิมล มีแนวคิดที่จะเปลี่ยนชื่อรายการที่นี่กรุงเทพ เป็นที่นี่….(ตามสถานที่ไปถ่ายทำ) สารคดีชาวจีนในเมืองไทยของสารคดีโลกสลับสี ภาพยนต์เรื่องอินเดียน่าโจนส์ภาค ๒ เป็นต้น
ตึกชินประชาเป็นสถานที่ที่ให้การศึกษาของนักเรียนนักศึกษาและผู้เชี่ยวชาญในการอนุรักษ์โบราณสถานและโบราณวัตถุ การฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานอนุรักษ์ การฝึกอบรมบุคลากรทางการท่องเที่ยว
เกียรติคุณที่เคยได้รับ
เกียรติบัตรการอนุรักษ์สมบัติวัฒนธรรมของกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ
เกียรติบัตรที่ปรึกษาและสนับสนุนการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วัดพระทอง
เกียรติบัตรสนับสนุนการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง รับพระราชทานจากพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
  
๓. บรรพชนผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่จังหวัดภูเก็ต

 

๓.๑ ตระกูล ณ ถลาง และประทีป ณ ถลาง

 

 ตระกูล ณ  ถลาง และ ตระกูล ประทีป ณ ถลาง เป็นตระกูลเก่าแก่ที่มีบทบาทในการปกครองและสร้างสรรค์ความเจริญให้กับเมืองถลาง ภูเก็จและหัวเมืองใกล้เคียงมาเป็นเวลากว่าหนึ่งศตวรรษ และมีบุตรหลานสืบต่อวงศ์ตระกูลมาจนถึงปัจจุบัน ประวัติความเป็นมา สถานภาพ บทบาท และความเสื่อมสลายอำนาจจากหัวเมืองภาคใต้ชายฝั่งทะเลตะวันตกของตระกูลนี้คือ เรื่องราวที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของภาคใต้ การเมือง การปกครอง สังคม และเศรษฐกิจและเป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงนโยบายของรัฐบาลกลางที่มีต่อหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันตกในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ได้อย่างชัดเจน
ต้นตระกูลเมืองถลางทั้งสองตระกูลนี้ สืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองไทรบุรี ดังปรากฏในพงศาวดารเมืองถลาง ว่า “เมืองถลางแต่ก่อนนั้น จอมร้างบ้านตะเคียนเป็นเจ้าเมือง เมียจอมร้างเป็นแขกเมืองไทรบุรี หม่าเสี้ย ลูกมะหุ่มเฒ่าแต่ก่อน ผัวตายเป็นหม้ายอยู่ มะหุมน้องบากมา เอาเงินมรดกห้าพันเศษ หม่าเสี้ยขัดใจไม่อยู่เมืองไทรมาอยู่เมืองถลางได้กับจอมร้างเป็นผัว… “ส่วนจอมร้างและจอมเฒ่าพี่น้องต่างมารดากัน สืบเชื้อสายหรืออ้างว่าสืบเชื้อสายมาจากมะหุม ซึ่งก็คือสุลต่านองค์ใดองค์หนึ่งของไทรบุรี จึงพอจะสรุปได้ต้นตระกูลเมืองถลางทั้งสองตระกูลนี้ สืบเชื้อสายโดยตรงมาจากเจ้าเมืองไทรบุรี
 สุนัย ราชภัณฑารักษ์ สันนิษฐานว่า จอมร้างเป็นเจ้าเมืองถลางอยู่ที่บ้านตะเคียนในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์(พ.ศ.๒๓๐๑–๒๓๑๐) จอมร้างบ้านตะเคียนมีบุตรหญิง ๓ คนคือ นางจัน บุตรสาวคนโตคือ ท้าวเทพกระษัตรี คนรองชื่อมุก คือ ท้าวศรีสุนทร คนที่สามชื่อ หม่า บุตรชายสองคน ชื่อ อาด(อาจ) ได้เป็นพระยาถลางต่อจากจอมร้างได้ไม่กี่ปี ก็ถูกผู้รายยิงตายคนสุดท้องชื่อ เรือง ได้เป็นที่หลวงพล
 บุคคลที่มีบทบาทที่สำคัญในการสร้างสถานภาพและบทบาทของตระกูลเจ้าเมืองถลางให้มั่นคงและมีอิทธิพลในเกาะถลางและหัวเมืองใกล้เคียง ก็คือ ท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทร วีรสตรีคนสำคัญของเมืองถลางทั้งสองท่านนี้ กำเนิดขึ้นในช่วงเวลาที่บ้านเมืองปั่นป่วน รัฐบาลกลางกำลังอ่อนแอเพราะพ่ายแพ้ต่อการสู้รบกับพม่า ทำให้ศูนย์อำนาจจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาและศูนย์อำนาจจากนครศรีธรรมราช ไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาอำนาจของตนเหนือเกาะถลางไปชั่วคราวถลางตกอยู่ภายใต้การครอบครองของศูนย์อำนาจจากภายนอกคือ ไทรบุรี อยู่ระยะหนึ่ง
 ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เมืองถลางกลายเป็นสนามทางการเมืองที่สำคัญ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับระหว่างประเทศ เนื่องจากมีดีบุกมากและปริมาณความต้องการดีบุกของประเทศตะวันตกสูงขึ้น ดีบุกกลายเป็นสินค้าออกที่สำคัญ ทำให้ศูนย์อำนาจต่าง ๆ ต้องการที่จะเข้าไปมีสิทธิ์มีส่วนในการเป็นเจ้าของผลผลิตดีบุกจากเมืองถลาง ทั้งรัฐบาลกลางของไทย พม่า ไทรบุรี พ่อค้าชาวอังกฤษ และนครศรีธรรมราช ทำให้ตระกูลเจ้าเมืองถลางต้องดิ้นรนด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อรักษาสถานภาพและผลประโยชน์ดั้งเดิมของตนเอาไว้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าอำนาจอิทธิพลจากภายนอกที่เข้มแข็งกว่าด้วยหลายต่อหลายครั้งที่ตระกูลเจ้าเมืองถลางต้องมีเรื่องขัดแย้งกับขุนนางผู้ใหญ่ที่รัฐบาลไทยส่งออกไปเร่งส่วยดีบุกและส่วยอื่น ๆ อยู่ที่ปากพระแขวงเมืองตะกั่วทุ่ง สภาวการณ์ เช่นนี้ ทำให้ท้าวเทพกระษัตรีต้องพยายามสร้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับตระกูลเจ้าเมืองอื่นเช่นไทรบุรี ตะกั่วทุ่ง นครศรีธรรมราช ตลอดจนเจ้านายในส่วนกลาง และการไปสร้างความสัมพันธ์กับพ่อค้าชาวอังกฤษซึ่งเข้ามารับซื้อดีบุกและตั้งห้างในเกาะภูเก็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับ ฟรานซิส ไลท์หรือพระยาราชกปิตัน เพื่อสร้างดุลยภาพทางอำนาจขึ้นบนเกาะถลาง เพื่อรักษาบทบาทของตนและตระกูลในฐานะผู้ปกครองเมืองถลาง
 การแต่งงานครั้งแรกของท้าวเทพกระษัตรีกับหม่อมศรีภักดีหรือนายภักดีภูธร ลูกจอมนายกองจากเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งทางเมืองนครศรีธรรมราชส่งมาเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองตะกั่วทุ่งก็คือความพยายามที่จะรักษาสถานภาพของครอบครัวและสร้างความสัมพันธ์กับเมืองนครศรีธรรมราช ภายหลังจากหม่อมศรีภักดีถึงแก่กรรมไม่นานนักท้าวเทพกระษัตรีก็ได้แต่งงานใหม่กับพระยาพิมล(ขัน) อดีตเจ้าเมืองกระบุรีและกรมการเมืองคนสำคัญของเมืองชุมพร ทั้งนี้ ก็เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับขุนนางอิทธิพล
 ความสำเร็จในการรักษาเมืองถลางให้รอดพ้นจากการรุกรานของพม่า ในขณะที่เมืองถลางไม่มีเจ้าเมือง  มีแต่ข้าหลวงของรัฐบาลกลางมาประจำอยู่ที่ปากพระ ซึ่งข้าหลวงเหล่านี้ยังประสบกับความพ่ายแพ้แก่พม่า ยิ่งทำให้ชัยชนะที่มีต่อพม่าของท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทรและตระกูลเจ้าเมืองถลางดูโดดเด่นขึ้น พลังความสามัคคีของชาวถลางภายใต้การนำของวีรสตรีทั้งสองเป็นที่ประจักษ์ทั้งแก่รัฐบาลกลางและอังกฤษเป็นอย่างดี จากฝ่ายรัฐบาลกลางคือการปูนบำเหน็จคุณความดีให้เป็นท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร ส่วนอังกฤษก็คือ ทำให้ข้อเสนอของฟรานซิส  ไลท์ ที่ให้อังกฤษยึดเกาะถลางเป็นสถานีการค้าและเมืองขึ้นตกไปและเปลี่ยนใจไปเลือกยึดเกาะปีนังแทน
 ชัยชนะในการทำศึกกับพม่าในครั้งนี้ ทำให้ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร กลายเป็นประมุข ของกลุ่ม   ตระกูลเมืองถลางอย่างแท้จริง ทั้งในด้านวัยวุฒิและฐานะที่สืบเชื้อสายโดยตรงมาจากจอมร้าง ทำให้อำนาจในการปกครองเมืองถลางกลับคืนมาเป็นของตระกูลเจ้าเมืองถลางโดยตรงอีกครั้งหนึ่ง หลักจากที่ตำแหน่งนี้ต้องตกไปเป็นของคนนอกตระกูลมาชั่วระยะหนึ่ง พระยาถลางคนต่อมา คือ พระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง(เทียน) บุตรชายของท้าวเทพกระษัตรีซึ่งเกิดกับหม่อมศรีภักดี พระยาถลางเทียนนี้ถือกันว่าเป็นต้นตระกูล ประทีป ณ ถลาง หลังจากพระยาถลา(เทียน) ถึงแก่กรรมแล้ว ผู้ที่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นพระยาถลางคนต่อมา คือ พระยาถลาง(ทองพูน หรือบุญคง) บุตรของพระยาถลาง(อาด) ผู้สืบสายตรงมาจากจอมร้างบ้านตะเคียน พระยาถลาง(ทองพูนหรือบุญคง) นี้ถือกันว่าเป็นต้นตระกูล  ณ ถลาง
 หลังจากเสียเมืองถลางแก่พม่าเมื่อ พ.ศ.๒๓๕๒ ตระกูลเมืองถลางทั้ง ๒ สาย ต้องตกต่ำและตกอับอีกวาระหนึ่ง เพราะผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ฟื้นฟูเมืองถลางขึ้นใหม่ที่กราภูงาไม่ใช่คนในตระกูลเมืองถลางทั้งสองสายนี้ หากเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตะกั่วทุ่ง คือ พระยาวิเชียรภักดี(ซึ่งยังไม่ทราบแน่ว่าเป็นคนเดียวกับพระยาถลาง(เจิม) เชื้อสายแขกอินเดีย  ชาวเมืองมัทราสซึ่งเป็นเจ้าเมืองถลางที่เกาะภูเก็จระหว่างปี พ.ศ.๒๓๖๗–๒๓๘๐หรือไม่) แต่เนื่องจากกลุ่มตระกูลเมืองถลางยังคงมีอิทธิพลอยู่ พระวิเชียรภักดีจึงขอให้นายฤทธิ์(บุตรของเจ้าพระยาสุรินทราชา แต่งงานกับคุณทุ่มธิดาพระยาถลาง(เทียน) ตั้งแต่ก่อนถลางล่ม และหลบหนีไปอยู่พังงาตอนที่ถลางล่ม) เป็นหลวงวิชิตภักดีผู้ช่วยราชการเจ้าเมืองถลาง เมื่อมีการฟื้นฟูเมืองถลางขึ้นมาอีกครั้ง กลุ่มตระกูล ณ ถลางก็สามารถสถาปนาอำนาจของตนในท้องถิ่นขึ้นมาได้อย่างมั่นคงอีกครั้ง พระยาถลาง(เจิม) ซึ่งแต่งงานกับคุณแสง วงศ์ญาติคนหนึ่งของท้าวเทพกระษัตรี ได้เป็นพระยาถลาง(เจิม-๒๓๗๐–๒๓๘๐) พระยาถลางคนต่อจากพระยาถลางเจิมก็คือ พระยาถลาง(ฤกษ์หรือ ฤทธิ์-๒๓๘๐–๒๓๙๑) ซึ่งเกี่ยวข้องกับกลุ่มตระกูลเมืองถลาง โดยแต่งงานกับธิดาของพระยาถลาง(เทียน) ต่อจากพระยาถลาง(ฤกษ์) ก็มีเชื้อสายของตระกูล จันทโรจวงศ์ ซึ่งเกี่ยวดองกับตระกูลประทีป ณ ถลาง โดยการสมรส เป็นเจ้าเมืองสืบต่อมาอีก ๓ คน คือ พระยาถลาง(ทับ จันทโรจวงศ์ –พ.ศ.๒๓๙๑–๒๔๐๕) พระยาถลาง(คิน จันทรโรจวงศ์ –พ.ศ.๒๔๐๕–๒๔๑๒) และพญาถลาง(เกต จันทโรจวงศ์ –พ.ศ.๒๔๑๒–๒๔๓๓) นับเป็นเวลานานถึง ๔๒ ปี และเพื่อเป็นการสร้างรากฐานทางตระกูลเมืองถลางให้มั่นคงขึ้น บุตรสาวคนโตของพระยาถลาง(ทับ) คือคุณหญิงเปี่ยม   ก็ได้สมรสกับพระยาภูเก็จ(ทัด รัตนดิลก ณ ภูเก็ต –พ.ศ.๒๓๙๔–๒๔๒๑)
 ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๙๖ เป็นต้นมา เมืองภูเก็จซึ่งเป็นแหล่งแร่ดีบุกได้ขยายตัวกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ทัดเทียมกับเมืองถลาง จากการขยายตัวของธุรกิจเหมืองแร่และการค้าดีบุก ทำให้มีการแบ่งการปกครองบนเกาะถลางออกเป็น ๒ ส่วน เจ้าเมืองแต่ละเมืองมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน คือ เมืองถลางปกครองโดยตระกูลจันทรโรจวงศ์ เมืองภูเก็จปกครองโดย   พระยาภูเก็จ    (ทัด)  ตระกูลรัตนดิลก ณ ภูเก็ต
 จนปี พ.ศ.๒๔๐๔ เมืองถลางกลายเป็นเมืองบริวารของเมืองภูเก็จ อิทธิพลและความมั่งคั่งของตระกูลเมืองถลางทั้งสองตระกูล ค่อย ๆ ถูกถ่ายโอนไปยังตระกูลอื่น ๆ เมื่อสิ้นสุดสมัยของพระยาถลาง (หนู ณ ถลาง–๒๔๓๓–๒๔๓๘) หลานทวดของพระถลาง(ทองพูนหรือบุญคง) ก็มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองหัวเมืองเป็นระบอบมณฑลเทศาภิบาล เมืองถลางถูกยุบลงเป็นอำเภอถลางขึ้นกับเมืองภูเก็ต จากนั้นคนในตระกูลทั้งสองต้องอพยพโยกย้ายไปรับตำแหน่งราชการในต่างเมืองต่างอำเภอ ตามกฎแห่งการหลีกเลี่ยงของของกระทรวงมหาดไทย คือจะไม่บรรจุข้าราชการไปรับราชการในท้องถิ่นบ้านเกิดของตน เพราะเกรงจะไปสร้างอิทธิพลตามระบบอุปถัมภ์
 ตระกูลเมืองถลางทั้งสองตระกูล คือ “ณ ถลาง” และ “ประทีป ณ ถลาง” เกิดขึ้นและมีอำนาจอิทธิพลจากการควบคุมไพร่พลหาผลประโยชน์จากการผลิตดีบุกและผูกขาดผลประโยชน์อื่น ๆ ด้วย สามารถสร้างและรักษาสถานภาพและบทบาทในฐานะกลุ่มตระกูลใหญ่มาได้ไม่น้อยกว่าศตวรรษ ด้วยเหตุผลหลายประการ คือ ความสามารถสืบทอดอำนาจกันได้แม้จะมีความผันผวนทางการเมืองการปกครองอยู่ตลอดเวลา ด้วยเงื่อนไขฐานของเศรษฐกิจเหมืองแร่ ตลอดจนความเป็นตัวกลางผ่านอำนาจของฝ่ายหญิงในกลุ่มเครือญาติถลางเปิดโอกาสให้คนต่างผลประโยชน์ ต่างชาติพันธุ์ ต่างศาสนา และต่างตระกูลเข้ามาสืบทอดอำนาจได้อย่างเปิดกว้าง ตลอดเหตุผลที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่ง คือการแสดงวีรกรรมเอาชนะพม่าโดยการนำของท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๘
 การเสื่อมและสิ้นอำนาจของตระกูลนี้ไปจากเมืองถลางและเกาะภูเก็จ ส่วนใหญ่จะเกิดจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป เมื่อสภาวะการทำเหมืองแร่ดีบุกเปลี่ยนแปลงไป มีการลงทุนการทำเหมืองแร่ดีบุกเปลี่ยนแปลงไป มีการลงทุนการทำเหมืองแบบใหม่โดยใช้แรงงานกุลีจีน ตระกูลเมืองถลางไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับเทคนิคกรรมวิธีใหม่ ๆ ของการผลิตแร่ดีบุกและรูปแบบใหม่ของธุรกิจเมืองแร่ได้ ประกอบกับกระแสการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศได้เปลี่ยนไปในลักษณะที่ไม่สามารถเอื้ออำนายต่อการดำรงอยู่ของตระกูลทั้งสองนี้ในฐานะผู้ปกครองเมืองถลางอีกต่อไปแล้ว ตระกูล “ณ ถลาง” และ “ประทีป ณ ถลาง” จึงเสื่อมและสิ้นอำนาจไปจากเมืองถลางและภูเก็จไปในที่สุด.