เรือขุดแร่ลำแรกของโลก
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อังคาร, 15 มกราคม 2008
อนุสาวรีย์หลัก ๖๐ ปี เรือขุดแร่ดีบุกลำแรกของโลก
ไชยยุทธ ปิ่นประดับ
----------------
 บริษัททุ่งคาฮาเบอร์ทินเดร็ดยิ่งเบอร์ฮัด  ได้มีโอกาส และมีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลองที่ระลึก ๖๐ ปี ของการทำเหมืองแร่เรือขุดด้วยการสร้างอนุสรณ์ซึ่งปรากฏอยู่  การสร้างอนุสาวรีย์นี้เป็นดำริของอธิบดีที่ใคร่จะเห็นถาวรวัตถุเกิดขึ้นที่เรือขุดลำแรกของโลกได้มาทำการขุดแร่ดีบุกในทะเลจนได้รับความสำเร็จ  ก่อให้เกิดการสร้างเรือขุดมาใช้ในการทำเหมืองดีบุกขึ้นทั่วไปในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์  บริษัททุ่งคาฮาร์เบอร์ทินเดร็ดยิ่งเบอร์ฮัด ร่วมมือโดยรับภาระในการสร้างอนุสรณ์ให้  ทั้งนี้บริษัทถือว่าเป็นดำริที่ดี  บริษัทเองได้เข้ามาดำเนินกิจการทำเหมืองในบริเวณนี้สืบเนื่องมานับเป็นเวลา ๖๒ ปี ได้เห็นความสำเร็จของการทำเหมืองด้วยเรือขุดลำแรก  ซึ่งมีความยินดีเป็นพิเศษที่ได้มีบทบาทช่วยงานฉลอง ๖๐ ปีนี้
 Image
เรือขุดแร่ดีบุกลำแรกของโลก  
ในการดำเนินการก่อสร้างอนุสรณ์ได้ดำเนินการประกวดแบบที่สร้างขึ้นเพื่อให้ได้แบบที่มีความหมายอันเหมาะสมและสวยงาม  ให้ท่านอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต มอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะการออกแบบเป็นเงิน ๓,๐๐๐ บาท การประกวดได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๑๑ กำหนดผู้ส่งแบบเข้าประกวดภายใน ๓๑ สิงหาคม ๒๕๑๑ ต่อมาได้ขยายเวลาออกไปจนถึงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ในปีเดียวกัน  มีผู้ส่งแบบเข้าประกวดรวม ๖ ราย และได้รับคัดเลือกแบบที่เหมาะสมไว้พิจารณา ๒ ราย ซึ่งคณะกรรมการได้พิจารณาให้แบบของนายชวลิต  หัศพงษ์  ได้รับรางวัลที่ ๑ เนื่องจากได้พิจารณาเห็นว่าเป็นแบบที่มีศิลปะพร้อมมูล  ผู้ออกแบบได้นำเอารูปกะพ้อตักดินของเรือขุดและเปลือกหอยมาประยุกต์เข้าด้วยกัน  มองดูมีความหมายลึกซึ้ง  การออกแบบถูกต้องตามหลักวิชา และเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ บริษัทจึงเริ่มลงมือก่อสร้างตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๑๒ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๒ ค่าก่อสร้างทั้งสิ้น ๑๕๐,๑๒๐ บาท ในการก่อสร้างครั้งนี้ได้รับความกรุณาจากคณะกรรมการจังหวัดให้สถานที่ซึ่งเรือขุดลำแรกได้ดำเนินการขุดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐  เป็นที่สร้าง  ตลอดจนได้รับความเอื้อเฟื้อจากบริษัทอ่าวขามตินจำกัด บริษัทซะเทินคินตาคอนโซลิเดเต็ดลิมิเต็ด  บริษัทกำมุนติงทินเดร็ดยิ่งลิมิเต็ด  บริษัทไทยแลนด์สเมลติ้งแอนด์ริไฟรนิ่ง จำกัด โรงกลึงกี่ฮวด และในปัจจุบันนี้บริเวณดังกล่าวนี้ทางเทศบาลเมืองจังหวัดภูเก็ตได้ดัดแปลงเป็นสวนธารณะจัดเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวจังหวัดภูเก็ตเป็นสถานที่ที่มีความเหมาะสมทั้งทางประวัติศาสตร์และอยู่ในที่อันควรแก่การรำลึก

๖๐ ปีของการทำเหมืองดีบุกด้วยเรือขุด
 บิดาแห่งการทำเหมืองดีบุกด้วยเรือขุด  กัปตัน EDWARD THOMAS MILES เกิดในปี พ.ศ.๒๓๙๒  ที่เมืองโฮบาร์ด บนเกาะทาสเมเนีย  ประเทศออสเตรเลีย เริ่มใช้ชีวิตอยู่กับท้องทะเลตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี เขาได้รับประสบการณ์ต่าง ๆ ในการเดินเรือในสมัยนั้น ที่เรียกว่า “WOODEN SHIPS AND IRONMAN” เมื่ออายุได้ ๒๓ ปี ก็ได้รับประกาศนียบัตรในการเดินเรือ ต้องผจญภัยทั้งบนบกและในทะเล เขาเคยเดินเรือสินค้าเต็มลำเรือแล่นผ่านอ่าวฮัดสันในเขตมหาสมุทรอาร์คติกซึ่งเต็มไปด้วยน้ำแข็ง เคยเป็นกลาสีเรือ ARIEL ที่มีชื่อเสียงในการขนส่งชาจีน เมื่อเป็นรองต้นหนเรือ
 กัปตันไมล์ ได้มาเริ่มดำเนินการใหญ่หลายอย่าง เช่น เป็นเจ้าของเรือเดินทะเล เป็นพ่อค้า เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างทางรถไฟ และเป็นสมาชิกรัฐสภาแห่งหนึ่งของเกาะทาสเมเนีย เมื่อเขาประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์เรือขุดลำแรกขึ้นมา  แต่ไม่มีเรือลำใดพร้อมที่จะลากจูงเรือขุดลำนี้ จากเกาะปีนังไปยังเกาะภูเก็ต  ตลอดจนไม่มีบริษัทประกันภัยใดที่จะยอมเสี่ยงรับประกันเรือขุดลำนี้  เขาจึงดำเนินการเองโดยกล่าวว่า “AS ACERTIFICATED MASTER I WILL TOW HER MY SELF IF SHE CAN NOT SAIL INSURED SHE WILL HAVE TO GO UNINSURED BUTSAIL CHEWILL”
 กัปตันไมล์ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.๒๔๘๗  มีอายุได้ ๙๕ ปี เขาได้เห็นความสำเร็จชิ้นสำคัญของเขานั้นคือเรือขุดกลายมาเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในปัจจุบัน
 ในปี พ.ศ.๒๔๔๗  กัปตันไมล์ได้เดินทางมายังเกาะปีนังเป็นครั้งแรก  ได้ทำการค้าขายที่เกาะปีนังประสบความสำเร็จในการขายเรือกลไฟเก่า ๆ ของบริษัท UNION STEAMSHIP COMPANY ขายให้แก่พ่อค้าชาวจีนในระหว่างที่ทำการติดต่อค้าขายกับพ่อค้าจีน  กัปตันไมล์ได้รู้จักกับชาวจีนบางคนที่สนใจในฝั่งทะเลตะวันตกของประเทศไทยตั้งแต่ชายฝั่งเขตแดนพม่าลงไปจนถึงประเทศมลายู  พ่อค้าชาวจีนเหล่านั้นสนใจเป็นพิเศษ ได้แก่ บริเวณอ่าวทุ่งคาที่เกาะภูเก็ต ในสมัยนั้นสมุหเทศาภิบาลได้ปกครองอยู่ที่เกาะภูเก็ตคือพระยารัษฎานุประดิษฐ์ซึ่งมีเชื้อชาติเป็นจีนเคยทำการค้าของภาคใต้  จึงมักจะหารือกับเขาถึงวิธีการสำรวจแหล่งแร่ดีบุกในบริเวณเกาะภูเก็ตโดยใช้วิธีการที่ทันสมัยของประเทศยุโรป  กัปตันไมล์มีประสบการณ์ในการทำเหมืองแร่ดีบุกที่เกาะทาสเมเนียมาแล้ว  เขาจึงสนใจในปัญหาต่าง ๆ ที่พ่อค้าชาวจีนนำมาปรึกษาหารือ  เมื่อเขาทำธุระเสร็จสิ้นลง  กัปตันไมล์จึงเดินทางไปยังเกาะภูเก็ต เขาได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ซึ่งเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็จ  ในระหว่างนั้นกัปตันไมล์ได้ใช้เวลาไปในการสำรวจพื้นที่บนเกาะภูเก็ต และได้ทราบว่าวิธีการทำเหมืองแร่ดีบุกส่วนใหญ่ ทำโดยวิธีล้าสมัยแบบเหมืองเปิด (OPEN CAST MINE) ดำเนินการโดยชาวจีนและทำเป็นกิจการใหญ่  นอกจากที่ตั้งของตัวเมืองแล้วไม่มีที่ว่างจากการทำเหมืองเลย  ราคาโลหะดีบุกที่ซื้อขายกันประมาณ ๑๒๐ ปอนด์ต่อตัน  การทำเหมืองแร่แบบเก่าแก่และง่าย ๆ ของนายเหมืองชาวจีน  แหล่งแร่ที่สมบูรณ์จริง ๆ จะสามารถดำเนินการได้กำไร
 การสำรวจแหล่งแร่ดีบุก  กัปตันไมล์ได้มีโอกาสไปดูเหมืองของชาวจีนผู้หนึ่งอยู่ชายฝั่งทะเลของเกาะภูเก็ต  การสร้างเขื่อนกั้นน้ำเป็นส่วน ๆ แล้วสูบน้ำทะเลออกโดยใช้รหัสทดน้ำแบบโบราณของชาวจีน เมื่อน้ำลดจึงขุดแร่ดีบุกได้  กรรมกรในเหมืองนี้มีประมาณ ๒๐๐–๓๐๐ คน ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนเกือบทั้งหมด
 กัปตันไมล์สนใจการทำเหมืองในทะเลมาก  ดังนั้นเขาจึงตกลงใจพิสูจน์ โดยไปเช่าเครื่องมือเจาะเพื่อตรวจสอบแหล่งแร่จากรัฐบาล  และว่าจ้างช่างไม้ชาวจีน ๒ คน โดยไม่เข้าใจภาษาอังกฤษ ก็เริ่มสำรวจแหล่งแร่ดีบุกในทะเลภายใน ๒-๓ อาทิตย์ต่อมา  เขาประสบความสำเร็จในการสำรวจแหล่งแร่ดีบุก
 การยื่นขอประทานบัตรการทำเหมืองแร่จากรัฐของไทยไม่มีเหตุขัดข้อง  แล้วปัญหาต่อไปอยู่ที่ว่าเขาจะดำเนินการอย่างไร  ข้อนี้กัปตันไมล์จำได้ว่าประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์นั้น  เขาเคยได้เห็นการทำเหมืองทองในแม่น้ำโดยใช้เรือขุดแบบ BUCKET DREDGE เขาจึงได้วิธีคิดดังกล่าวโดยจะใช้วิธีการของเรือขุดดำเนินการขุดแร่ดีบุกในทะเล  การขุดแร่ดีบุกในอ่าวทุ่งคาลึกกว่า ๓๐ ฟุต ซึ่งต้องประสบปัญหาต่าง ๆ
 กัปตันไมล์ได้ไปพบกับพระยารัษฎานุประดิษฐ์และหยั่งเสียงเกี่ยวกับการขอสัมปทานการทำเหมืองแร่จากรัฐบาลโดยการใช้เรือขุดแร่ดำเนินการในระยะแรกพระยารัษฎาฯ ไม่รับข้อเสนอ โดยทั่วไปแล้วรัฐบาลจะต้องได้ค่าตอบแทนและค่าภาคหลวงดีบุกที่ผลิตได้และส่งออกนอกประเทศ  ก็จะสามารถสร้างเมืองให้ใหม่และดีขึ้นได้
 กัปตันไมล์เสนอจะขุดท่าเรือให้ลึกพอที่จะให้เรือใหญ่เข้าได้ ซึ่งเรือจอดขนถ่ายสินค้าอยู่ขณะนี้เรือก็สามารถเข้ามายังท่าเรือโดยไม่ต้องขนถ่ายสินค้าจากเรือเล็ก
 พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ฯ มองดูกัปตันไมล์และเริ่มเข้าใจราง ๆ แล้วจึงถามว่า “แล้วจะคิดค่าตอบแทนจากรัฐบาลเท่าไร” กัปตันไมล์ตอบว่า “ไม่คิดเลย” ดังนั้น “สัมปทานทุ่งคาฮาเบอร์” จึงเริ่มมีการวางรากฐานตั้งแต่บัดนั้น  บริษัท  TONG KAH COMPOUND N.L.  ได้ก่อตั้งขึ้นใน MELBOURNE ในปี พ.ศ.๒๔๕๒ และได้ทำการขุดแร่ในแถบนี้และได้รับผลตอบแทนเป็นกำไรดียิ่ง ได้สร้างที่ทำการรัฐบาลใหม่สวยงามมาก ทั้งนี้เนื่องมาจากส่วนกำไรจาก “TONG KAH COMPOUND N.L.”
 เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จมาถึงได้ทรงพบปะสนทนากับกัปตันไมล์ และหลังจากที่ทรงเจรจาและตรวจตราที่ทำเลของท่าเรือ  กัปตันไมล์ก็ได้รับอนุญาตขอเวลาเพื่อเจรจากับหุ้นส่วนเรื่องการลงทุนต่อไป  กรมพระยาดำรง ฯ ทรงต้องศึกษาและจะต้องทำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  กัปตันไมล์จึงออกเดินทางไปยังทาสเมเนียและผ่านปีนัง  เพื่อนชาวจีนแสดงความจำนงร่วมลงทุนด้วย พ่อค้าชาวจีนหลายคนจึงมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นหลายคน
 ต่อมาอีกไม่นานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย  อนุมัติข้อตกลงสัมปทานการทำเหมืองแร่ดีบุกในบริเวณทุ่งคา  กัปตันไมล์ได้โทรเลขไปถึงหุ้นส่วนในทาสเมเนียเพื่อแจ้งข้อตกลงได้รับอนุมัติแล้วและรีบเดินทางไปยังทาสเมเนีย เพื่อจัดการเรื่องการตั้งบริษัท  จากนั้นบริษัท TONGKAH HARBOURTIN DREDGING COMPANY N.L. ก็ได้ก่อตั้งขึ้น
 การนำเรือไปขุดถึงจุดหมายปลายทางได้ตลอดรอดฝั่งไม่ได้หมายความว่าปัญหาและความเดือดร้อนทุกอย่างจะต้องหมดสิ้นไป แต่ทว่าปัญหาอื่น ๆ ยังมีอยู่  ปัญหาประการแรกคือคนงาน   ภาษา และยังมีปัญหาอีกหลายอย่างเกี่ยวกับการเดินเรือขุดที่จะต้องแก้ไข  หลังจากเรือขุดได้มาถึงเพียงไม่กี่วัน  การทำงานก็เริ่มขึ้นโดยตั้งต้นขุดจากที่ที่เรือขุดมาจอดทอดสมออยู่ในวันแรกมาถึง ก่อนที่จะลงมือจำเป็นจะต้องตรึงเรือให้อยู่กับที่เสียก่อนโดยใช้สมอขนาดใหญ่ ๕ เส้น เส้นหนึ่งอยู่ที่หัวเรือ  อีก ๔ เส้นจะอยู่ข้างละ ๒ เส้น
 ในการดำเนินงานนั้นสิ่งตอบแทนที่เราหวังไว้คือก็คือสินแร่ดีบุกที่บริสุทธิ์  ในเรือขุดจะมีอุปกรณ์อย่างหนึ่งเรียกว่าโต๊ะเก็บแร่   ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่าจะทำอย่างไรดีเราสามารถขุดดีบุกได้แล้ว  แต่ไม่มีหนทางที่จะเก็บมันไว้ได้  ดังนั้นจึงจะต้องเรียกประชุมเพื่อเสนอทางแก้ไขต่าง ๆ แต่ก็ดูเหมือนว่าไม่มีข้อเสนออันใดเป็นที่น่าพอใจเลย  ต่อมาก็มีคนงานชาวจีนผู้หนึ่งซึ่งได้จ้างไว้ควบคุมคนงานที่โต๊ะเก็บแร่  ได้เสนอแนวคิดอันหนึ่งโดยที่ตัวของเขาเองก็ไม่เคยรู้เรื่องเกี่ยวกับโต๊ะเก็บแร่มาก่อนเลย  แต่เขาก็เสนอให้แยกโต๊ะเหล่านี้ออกไปเป็นส่วน ๆ และทำรางขึ้น ๒ ราง ข้าง ๆ กราบเรือทั้ง ๒ ข้าง ลักษณะเหมือนที่ใช้ในการทำเหมืองแร่บนฝั่งและเขาเชื่อว่าจะสามารถเก็บแร่ดีบุกที่ขุดได้ทั้งหมด  กัปตันไมล์จึงซักถามกรรมกรผู้นั้น ๒-๓ ปัญหา เช่น “เราไม่มีแผ่นเหล็กที่จะทำรางแล้วเราจะใช้อะไรทำรางแทน” คำตอบที่ได้ทันทีก็คือ “ใช้ไม้"
 งานดำเนินไปอย่างเร่งรีบจนถึงประมาณปีใหม่ พ.ศ.๒๔๕๑ เรือขุดจึงเริ่มดำเนินกิจการอีกครั้งหนึ่ง ภายใน ๒-๓ วันต่อมาสามารถขุดเอากรวดทรายเหล่านั้นขึ้นมาได้ กรรมกรชาวจีนผู้นั้นให้คำแนะนำพร้อมด้วยลูกน้องของเขาจะช่วยกันใช้จอบด้ามยาว ๆ เขี่ยให้ก้อนกรวดในรางไม้เคลื่อนไปมาซึ่งจะได้สินแร่ดีบุกตกอยู่ในตะแกรงไม้ตามที่ต้องการในวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๑ เราก็ได้แร่ดีบุกที่สะอาดบริสุทธิ์ท่ามกลางความตื่นเต้นของพวกเราทั้งชาวยุโรปและเอเซีย  จำนวนดีบุกที่ได้มีไม่มากนักคือประมาณ ๖ หาบ แต่ในความคิดของพวกเรามันมีค่าเท่ากับทองทีเดียว

หนังสืออ้างอิง
อนุสรณ์เรือขุดแร่ดีบุกลำแรกของประเทศไทย หลัก ๖๐ ปี THE MILESTONE 28 พฤศจิกายน 2512
โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การซื้อและการขาย (แห่งประเทศไทย) จำกัด กรุงเทพ ฯ 2512, 61 หน้า
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อาทิตย์, 30 สิงหาคม 2009 )