สถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ ทำให้ครูมีคุณภาพจริง?
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พฤหัสบดี, 29 ตุลาคม 2009
สถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ ทำให้ครูมีคุณภาพจริง?      

ขออนุญาตนำบทความจากเว็บครูไทย มาให้อ่านนะคะ พอดีได้เข้าไปอ่าน แล้วรู้สึกว่า บางส่วนของบทความมันช่างโดนใจซะจริงๆ  บทความนี้สะท้อนความรู้สึกข้าราชการครูผู้น้อย อย่างดิฉันซะเหลือเกินค่ะ   สถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ ทำให้ครูมีคุณภาพจริง? โดย สายพิน แก้วงามประเสริฐ  วิ วาทะสำคัญในวงการศึกษาขณะนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องแนวคิดของรัฐบาลที่จะตั้ง สถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ เพื่อเป็นหน่วยงานระดับชาติในการผลิต พัฒนาครู และช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนครู ในการปฏิรูปการศึกษารอบสอง  ทำให้เกิดวิวา ทะระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ รัฐบาลฝ่ายหนึ่ง กับที่ประชุมอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏ สถาบันการศึกษาที่ผลิตครู รวมทั้งองค์กรครูอีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของรัฐบาลและกระทรวง ศึกษาธิการที่จะตั้งสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ


แนวคิดที่จะจัดตั้ง สถาบันนี้อาจเป็นผลมาจาก กระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่เห็นว่าการปฏิรูปการศึกษารอบที่ 1 ไม่ประสบความสำเร็จ เด็กมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ โดยใช้คะแนนการทดสอบระดับชาติคะแนน GATT และ PATT เป็นตัวบ่งชี้ความล้มเหลวทางการศึกษา โดยพิจารณาและให้ความสำคัญกับตัวเลขของคะแนนมากกว่าองค์ประกอบอื่นๆ

เมื่อ สังคมให้ความสำคัญกับตัวเลขคะแนนสอบของเด็กเป็นสำคัญ ทำให้ผู้มีบทบาทด้านการศึกษาต้องเต้นเมื่อเห็นคะแนนสอบแต่ละวิชาของนักเรียน ค่อนข้างต่ำ หรือเฉลี่ยแล้วต่ำกว่า ร้อยละ 50 โดยมิได้พิจารณาข้อสอบ หรือไม่ได้พิจารณาด้วยซ้ำว่าเรียนอะไร แล้วไปสอบอะไรเหมือนที่นักวิชาการด้านการศึกษาวิพากษ์วิจารณ์ว่า "เรียนไม่ได้สอบ สอบไม่ได้เรียน" เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อคะแนนของเด็กต่ำ แพะรับบาปทุกครั้งจะหนีใครไปได้นอกจาก "ครู" ทั้งที่ครูมีหน้าที่ปฏิบัติการสอน

คน วางแผนจริงๆ ที่ทำให้การศึกษา หลักสูตร ทิศทางการศึกษา เป็นไปในทิศทางใด เดี๋ยวเปลี่ยนเรื่องโน้นเรื่องนี้ นโยบายออกมาเป็นระยะล้วนแล้วแต่นั่งอยู่ในห้องแอร์ที่กรุงเทพฯ

แต่ แทบไม่มีใครไปแตะต้องพาดพิงถึงว่าวางนโยบายกันอย่างไรการศึกษาจึงไม่สัมฤทธิ ผล สวยงามเหมือนอย่างที่คาดหวังไว้ ถ้าจะตำหนิก็สมควรตำหนิกันมาเป็นลำดับชั้น จนถึงครู จึงจะถือว่ายุติธรรม

การที่มีแนวคิดว่าการศึกษาล้มเหลวเพราะครูนี่แหละ จึงจำเป็นจะต้องตั้งสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่ผลิตครู

แค่ เริ่มคิดก็จะใช้เงินถึง 2,000 ล้านบาทในการตั้งสถาบัน เงินเหล่านี้ส่วนหนึ่งคงเป็นค่าอาคารสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งใช้เป็นเงินเดือนของบุคลากรที่จะทำงานในหน่วยงานใหม่ ดีไม่ดี 2,000 ล้านบาทในปีแรกอาจแทบไม่ได้ใช้เพื่อพัฒนาครูแต่อย่างใด

หากนำเงิน 2,000 ล้านบาท ไปใช้เพื่อพัฒนาการผลิตครู โดยผ่านสถาบันการศึกษาที่มีอยู่แล้วอย่างดาษดื่นทั่วประเทศหลายสิบแห่ง เงินเหล่านี้น่าจะส่งตรงไปยังกระบวนการผลิตครูได้มากกว่า

นอกจากนี้ การที่จะตั้งสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ เพราะเห็นว่าสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่มีหน้าที่ผลิตครูออกมารับใช้สังคม ยังมีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน แล้วทำอย่างไร

ปล่อยให้ไม่มีคุณภาพต่อไป?

ทำไมไม่ชี้แนะ แนะนำเพื่อให้เกิดการพัฒนาในเมื่อมี สมศ.ทำหน้าที่ประเมินภายนอกอยู่แล้ว ก็ควรประเมิน แล้วชี้แนะว่าควรทำอย่างไรจึงจะสามารถผลิตครูให้มีคุณภาพดีได้

ไม่จำเป็นต้องไปตั้งหน่วยงานที่ซ้ำซ้อน และใช้งบประมาณจำนวนมากในยามที่ประเทศยากจนเช่นนี้

ประการ ต่อมาคุณภาพการศึกษาไทย หรือคุณภาพของเด็กถูกนำมาเชื่อมโยงกับคุณภาพของครู ซึ่งถูกตีค่าว่าครูมีคุณภาพหมายถึงการได้คนเก่งๆ มาเป็นครู เพราะเชื่อว่าครูเก่งจะสามารถสอนให้เด็กเก่งได้

แล้วเคยมีสถาบันวิจัยแห่งใดเคยทำวิจัยแล้วหรือไม่ว่าสมมติฐานนี้เป็นจริงๆ

ถ้า เป็นจริงย่อมเป็นเรื่องที่ไม่ยากที่จะพัฒนาคุณภาพหรือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของเด็ก ด้วยการจ้างสถาบันกวดวิชาที่มีชื่อเสียงที่มีติวเตอร์เก่งๆ มาสอนเด็กที่ไม่เก่งให้เก่งทัดเทียมกับเด็กเก่งได้!! โดยไม่ต้องลงทุนตั้งสองพันล้านบาท แล้วยังไม่รู้ว่าเป้าหมายจะสำเร็จหรือไม่?

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เก่งอย่างเดียวยังไม่เพียงพอกับสังคมไทย คือต้องได้คนดีมาเป็นครูด้วย

บาง ทีเก่งกับดีอาจจะไม่ได้ไปด้วยกันเสมอไป หรือเก่งแต่ในตำราเรียนอย่างเดียว แต่ไม่สามารถนำความรู้จากทฤษฎีมาปฏิบัติได้จริงเมื่อออกสู่โลกของการทำงาน แล้ว ก็ไม่น่าจะใช้เป้าหมายของการจัดการศึกษามิใช่?

ส่วนในด้านของ การพัฒนาครูที่มีอยู่แล้วกว่า 6 แสนคน การตั้งสถาบันขึ้นมาก็ไม่อาจหวังว่าครูเหล่านี้จะได้รับการพัฒนาในรูปแบบใด เพราะที่ผ่านมาองค์กรที่ทำหน้าที่พัฒนาครูคือใครไม่ชัดเจน

ที่เห็น เป็นรูปธรรมก็น่าจะเป็น สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ที่จัดอบรมให้กับครูคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ในหลักสูตรที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอน

ส่วน วิชาอื่นๆ การอบรมสัมมนาอย่างเป็นรูปธรรมมีน้อยมาก บางรายการเรื่องที่อบรมน่าสนใจ จัดตามมหาวิทยาลัยบ้าง แต่รับได้ไม่มาก หรืออาจจะเสียค่าลงทะเบียนแพง ทำให้ครูจำนวนหนึ่งเสียโอกาสในการเข้ารับการอบรมและพัฒนา แล้วจะโทษใคร ไม่แคล้วโทษว่าครูไม่รู้จักพัฒนาตนเองอีก ทั้งๆ ที่ควรสำรวจข้อมูลการจัดอบรมสัมมนาเพื่อให้ครูได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปีหนึ่งมีสักกี่ครั้งทั่วถึงหรือไม่

ที่สำคัญน่าสนใจหรือเปล่า หรือแม้แต่คุรุสภาเองก็ต้องทบทวนบทบาทเหมือนกัน ปีหนึ่งๆ ทำอะไรที่เป็นการพัฒนาครู นอกจากทำหน้าที่ออกใบประกอบวิชาชีพครูพร้อมเก็บค่าใบประกอบวิชาชีพจากครู โดยไม่ได้พัฒนาครูและการพัฒนาครูก็ไม่ใช่การออกมาประเมินเพื่อการตัดสิน แต่ควรพัฒนาด้วยการให้ความรู้ แนะนำชี้แนะมากกว่าการจับผิด

การที่ ครูถูกมองว่าไม่มีคุณภาพเพราะสอนแล้วนักเรียนยังได้คะแนนต่ำ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะครูสมัยนี้ไม่ได้สอนหนังสือเพียงอย่างเดียว แม้ว่าจะมีโครงการคืนครูให้กับโรงเรียน โดยการจ้างเจ้าหน้าที่ธุรการให้กับโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศก็ตาม เป็นเพียงการลดภาระงานการโต้ตอบหนังสือราชการให้กับครูที่ต้องทำงานธุรการ ให้กับโรงเรียนเท่านั้น

แต่ครูยังมีภาระหน้าที่ที่จะต้องกรอกข้อมูลนั่นนี่ตามที่หน่วยงานเบื้องบนต้องการเก็บข้อมูล

ครู ต้องประชุมเตรียมวางแผนในกิจการต่างๆ ของโรงเรียน เตรียมเอกสารข้อมูลเพื่อการประเมินภายใน ประเมินภายนอก ไปอบรมเพื่อรับฟังนโยบาย เตรียมการประกวดโรงเรียน แข่งขันสารพัดจะแข่งขัน เข้าค่าย พานักเรียนไปทัศนศึกษาตามนโยบายฟรี 15 ปี และปฏิบัติตามนโยบายเร่งด่วนตามแต่จะสั่งลงมา

รวมทั้งการเป็นครูที่ ปรึกษาในโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีนักเรียนในความรับผิดชอบจำนวนมาก ครูต้องทั้งกรอกข้อมูลเกี่ยวกับเด็กตามแต่ละหน่วยงานจะขอมา รวมทั้งการเยี่ยมบ้านนักเรียน โดยใช้เวลาหลังเลิกเรียนหรือวันหยุดบ้าง

ซึ่ง นโยบายเยี่ยมบ้านเป็นอีกนโยบายหนึ่งที่แต่ละโรงเรียนต้องทำ ทำแล้วกระทรวงศึกษาธิการก็ชื่นชม เขตพื้นที่ก็ยินดี มีการถ่ายรูปออกสื่อต่างๆ ของบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวง

แต่หารู้ ไม่ว่าครูแต่ละคนต้องใช้เวลาตอนไหนไปเยี่ยมบ้าน ระยะทางไกลขนาดไหน อันตรายหรือไม่ โดยเฉพาะครูที่ต้องขี่มอเตอร์ไซค์เข้าไปในท้องถิ่นที่ไกลๆ เนื่องจากโรงเรียนมัธยมศึกษานักเรียนมาจากทุกสารทิศ ในขณะที่สภาพเศรษฐกิจไม่ดี ปัญหายาเสพติดชุกชุม โชคดีที่ยังไม่มีข่าวว่าเกิดเหตุร้ายใดๆ กับครู

กิจกรรมเหล่านี้ล้วน เบียดบังเวลา สมาธิและสติปัญญาที่ควรจะเก็บไว้สำหรับการวางแผนการสอนดูแลแก้ไขพฤติกรรมของ เด็กๆ ให้อยู่ในร่องในรอยที่ควรจะเป็น

อีกทั้งเมื่อโรงเรียนมี กิจกรรมมากมายทั้งภายในและภายนอกที่ไม่ค่อยจะเกี่ยวกับการเรียนการสอนในห้อง เรียนแล้ว การให้ความสำคัญของโรงเรียนจำนวนไม่น้อยจึงหันไปให้ความสำคัญกับกิจกรรม อื่นๆ ที่โดดเด่นมากกว่าการสอน

ดังนั้น เมื่อพิจารณาความดีความชอบ ครูที่ตั้งใจสอน แต่มีกิจกรรมอื่นๆ ไม่โดดเด่น ความดีความชอบย่อมไม่เข้าตากรรมการ จึงทำให้ครูส่วนหนึ่งหันเหไปให้ความสำคัญกับกิจกรรมอื่นๆ มากกว่าการสอน ทั้งที่หัวใจสำคัญของการเป็นครูคือการสอน

สิ่งเหล่านี้ย่อมมีผลต่อ คุณภาพของครู หรือส่งผลทำให้ครูดีๆ จำนวนไม่น้อยเกิดความท้อถอยและเหนื่อยหน่ายต่อระบบราชการที่ไม่เอื้อต่อการ พัฒนาทั้งคุณภาพชีวิตครูและเด็กจนต้องยอมแพ้เออร์ลี่ รีไทร์ไปเป็นจำนวนไม่น้อย

การพัฒนาคุณภาพของครูอาจไม่ได้เริ่มต้นจากการตั้งสถาบันอะไรขึ้นมาสักอย่าง แล้วจะสามารถทำให้ครูมีคุณภาพได้

เพราะ สิ่งที่สำคัญคือ ทำอย่างไรครูดีๆ ที่มีอยู่ในจำนวนกว่า 6 แสนคนได้ทำหน้าที่สอนของตนเองให้เต็มความรู้ความสามารถด้วยความสบายใจ จึงต้องสร้างระบบให้คนดีได้รับการดูแลคุ้มครองอย่างยุติธรรม ให้คนดีได้เชื่อมั่นที่จะทำความดีแล้วได้ดี ไม่ใช่ระบบได้ดีเพราะมีพวก ซึ่งเป็นระบบที่บั่นทอนคุณภาพการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

หากไม่อาจทำลายระบบเล่นพรรคเล่นพวกได้ ถึงตั้งสถาบันที่วิเศษขึ้นมาอย่างไร ก็ไม่อาจทำให้การศึกษาของไทยมีคุณภาพได้

นอก จากนี้แนวคิดที่จะตั้งสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนครู ตั้งแล้วก็ไม่แน่ใจว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร เพราะปัญหานี้ไม่ใช่พึ่งจะเกิดขึ้น พูดกันมานานแต่ยังคงเป็นปัญหาอยู่

วิธี แก้ที่ง่ายและเฉพาะหน้าสุดคือ แบ่งเงินสองพันล้านบาทส่วนหนึ่งมาเป็นเงินเดือนครู แล้วเรียกบรรจุครูเพิ่มขึ้น เป็นทั้งการแก้ปัญหาขาดแคลนครู และแก้ปัญหาบัณฑิตตกงานที่มีอยู่เกลื่อนกลาด อีกทั้งยังก่อให้เกิดการจ้างงานเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นด้วยการลงทุนสร้างอาคารสถานที่สักเท่าไร

ประการ ต่อมาการจะตั้งสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการผลิตครู เป็นการรวมอำนาจ และให้ความสำคัญกับแนวคิดของคนกลุ่มเล็กๆ ไม่กี่คน จะดีกว่าการกระจายอำนาจในการจัดการศึกษา แล้วให้คิดกันอย่างหลากหลายได้อย่างไร

การที่มีมหาวิทยาลัยราชภัฏ กระจายอยู่ทั่วประเทศตามท้องถิ่นต่างๆ มหาวิทยาลัยราชภัฏเหล่านี้ย่อมมีความแตกต่างตามแต่ละท้องถิ่น เข้าใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเอง เมื่อผลิตบัณฑิตออกมาย่อมมีสิ่งโดดเด่นในการรับรู้เข้าใจในสภาพแวดล้อม ประเพณี วัฒนธรรม และสามารถนำภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาผสมผสานกันเป็นองค์ความรู้ นำไปใช้ในการอบรมสั่งสอนให้เด็กของตนมีความรักและความภูมิใจในท้องถิ่นของตน เอง อันเป็นการปลูกฝังให้เด็กเข้าใจในรากเหง้าความมีอัตลักษณ์ของตน ย่อมมีภูมิคุ้มกันในการที่จะอยู่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี

ส่วน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ผลิตบัณฑิตด้านการศึกษา เช่นกัน แต่ละสถาบันเหล่านี้ย่อมมีอัตลักษณ์เป็นของตนเองที่สามารถหล่อหลอมกล่อมเกลา ครูดีๆ เก่งๆ ออกไปรับใช้สังคมรุ่นต่อรุ่น มาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ประสบการณ์เหล่านี้ย่อมมีมากกว่าสถาบันที่จะตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งยังไม่รู้ว่าทำแล้วจะประสบความสำเร็จหรือไม่

ดังนั้นทำไมรัฐจึง ไม่ส่งเสริมสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีมีคุณภาพยิ่งขึ้น ตรงไหนมีรอยรั่ว มีตำหนิที่ต้องแก้ไขต่อเติมเสริมแต่งให้ดีให้มีคุณภาพก็น่าจะทำ มีของดีอยู่แล้ว ไม่ใช้ให้เกิดประโยชน์

มัวแต่ฝันลมๆ แล้งๆ กับสิ่งที่ยังมองไม่เห็น แล้วอีกกี่ปีการศึกษาไทยจะวิ่งตามประเทศเพื่อนบ้านที่การศึกษาล้ำหน้ากว่า ประเทศไทยได้ทันเสียที!!


ที่มา - มติชนรายวัน หน้า 7 - วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11546

แก้ไขเมื่อ 28 ต.ค. 52 19:05:39

จากคุณ: ][NuUnAn--
เขียนเมื่อ: 28 ต.ค. 52 11:45:41
  



      ความคิดเห็นที่ 1  

      มาปูเสื่อ    "- -

      จากคุณ: sproutshift
      เขียนเมื่อ: 28 ต.ค. 52 22:06:59
        

       
       
       
      ความคิดเห็นที่ 2  

      คนที่คิดตั้งสถาบันนี้

       ก็คนเดิมๆ ที่ทำการศึกษาไทยมานับสิบๆปีนี่แหละ

       ผลงานแย่แค่ไหน ก็ยังหน้าทนอยู่ได้น่ะ

        แค่หลักสูตรครู 5 ปี ก็แทบจะไปไม่เป็นแล้ว..

         ผูกขาดอยู่ได้

      จากคุณ: Rarm41
      เขียนเมื่อ: 29 ต.ค. 52 02:25:03
        

       
       
       
      ความคิดเห็นที่ 3  

      อันนี้ความเห็นอีกด้านนะครับ

      "คงเป็นเรื่องเข้าใจผิดว่าสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติตั้งขึ้นมาเพื่อแทนมรภ.หรือจะมาทำหน้าที่ในการผลิตครูเหมือนกับมรภ. เพราะจริง ๆแล้วสถาบันที่จะจัดตั้งขึ้นมาใหม่นี้ไม่ได้ซ้ำซ้อนกับมรภ.เลย

      แต่จะเป็นหน่วยงานระดับชาติ ที่มีการบริหารจัดการคล่องตัว เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐทำหน้าที่ในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับการผลิตและพัฒนาวิชาชีพครู ประกันและรับรองคุณภาพและมาตรฐานสถาบันและพัฒนาครู ตลอดจนพัฒนาระบบการศึกษาและการเรียนรู้ ไม่ผลิตครูระดับปริญญาตรีแต่จะสร้างวิทยากรที่จะมาช่วยในการพัฒนาระบบการศึกษา และที่สำคัญสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติจะมาช่วยกู้วิกฤตวิชาชีพครู รวมทั้งขับเคลื่อนการปฎิรูปการศึกษาการ

      .....สถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติที่จะจัดตั้งขึ้นมานี้เรื่องที่ผู้ใหญ่ในวงการศึกษาคิดกันมานานแล้ว ... เพื่อต้องการให้สถาบันแห่งนี้มาช่วยขับเคลื่อนและกำหนดทิศทางการพัฒนาครูของประเทศในภาพรวม รวมทั้งเป็นเรื่องที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ เห็นด้วยที่มีสถาบันแห่งนี้ เพราะอยากจะเห็นการพัฒนาครูอย่างมีคุณภาพได้จะกระจายไปทั่วประเทศ และครูมืออาชีพจริง ๆ"

      ======================
      ถ้าเป็นแค่หน่วยงานในลักษณะนี้ผมก็เห็นด้วยนะ แต่ไม่รู้ว่าในทางปฏิบัติจะเป็นยังไงเหมือนกัน อย่างประเด็นเรื่องบุคลากร จะเอาคนที่มีความรู้ความสามารถและเข้าใจระบบการศึกษาไทยมาจากไหน ในเมื่่อนักวิชาการส่วนใหญ่ก็อยู่ในกระทรวงศึกษา หรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อยากทราบว่าสถาบันแห่งนี้จะมีการปฏิบัติงานอย่างไร ในการพัฒนาคุณภาพครู เอาแบบเป็นรูปธรรมชัดเจน คิดว่ามีไม่กี่ประเทศที่มีสถาบันในลักษณะนี้ ยกตัวอย่าง สิงคโปร์ ซึ่งพัฒนาคุณภาพครูได้ผล แต่ว่าบริบทของเขาก็ต่างจากเรา ถ้าหากว่าสถานภาพของครูไทยยังอยู่ในลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมแบบนี้ ถึงจะมีสถาบันคุรุศาสตร์ ที่ดีเยี่ยม ก็ยังน่าสงสัยว่าจะมีผลทางบวกอะไรกับการพัฒนาคุณภาพครูได้มากขนาดไหน

      จากคุณ: วิทยา
      เขียนเมื่อ: 29 ต.ค. 52 11:26:12 A:67.180.87.99 X: TicketID:199968
        

       
       
       
      ความคิดเห็นที่ 4  
      ถ้าการจัดตั้งสถาบันนี้ขึ้นมา อย่างที่คุณวิทยากล่าวถึงนะคะ ก็ดีค่ะ ที่จะสร้างขึ้นมาเพื่อพัฒนาศักยภาพครูที่มีอยู่

      ทุกววันนี้เพราะเราไม่ได้มีการพัฒนาศักยภาพครูกันเลย และการบริหารงานในกระทรวงศึกษาบ้านเราแย่มากๆ และยิ่งมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับการบริหารการศึกษายิ่งแล้วใหญ่  สุดท้ายพอมาเกิดปัญหาต่างๆ แล้วก็มาลงที่ครูอย่างดิฉัน คนอื่น บุคคลภายนอก ไม่รู้ระบบการบริหารมันห่วยแตก ก็โทษครูๆ อย่างนี้กำลังใจในการทำงานจะเอามาจากไหน แถมเงินเดือนก็น้อยนิด เช่น ทำงานมา 6 เดือน เงินเดือนขึ้น 190 บาท แถมพ่วงภาระหน้าที่อันมากขึ้น เชื่อไหมคะ ครูส่วนมากบ่นบอกว่าอยากจะลาออกจากครูไปทำอาชีพอื่นแทบทั้งนั้น เห็นแล้วสงสารเด็กๆ

      เรื่องเงินเดือน ก็เป็นปัจจัยหลักๆ กับคนส่วนมากเลยค่ะ อันนี้ดิฉันยอมรับ ถึงตอนนี้ตัวดิฉันเองยังไม่มีปัญหาเรื่องการเงินเท่าไร เพราะยังไม่มีครอบครัว แต่เมื่อใดมีครอบครัวแล้ว ก็คงไม่แตกต่างจากคนอื่น ที่เงินเดือนไม่พอใช้แน่นอน อยู่อย่างพอเพียงตัวคนเดียวได้ค่ะ แต่ทั้งครอบครัวนั้น คงจะไม่ไหว

      แต่ครูโดยมาก บางคนก็ไม่มีคุณภาพ ชีวิตต้องขับเคลื่อนด้วยดีกรี ถ้ามีการพัฒนาครูให้ครูแบบนี้ไม่มี หรือให้มีคุณภาพทางด้านความรู้ตรงตามวิชาเอก ก็จะได้ไม่เกิดปัญหาที่สอบครูภาษาไทย แต่ผลสอบออกมา คะแนนต่ำแสนต่ำ เพราะไม่ได้จบเอกนี้โดยตรง แต่ต้องมาสอนภาษาไทย หรือก็ความรู้ที่สอบไม่ได้สอนนี่ มันลืมไปหมดแล้ว

      อย่างครูประถม ส่วนมากจะต้องสอนหลายวิชา ไม่เหมือนมัธยมที่จบเอกไหนก็สอนแต่วิชานั้น จะว่าไป ถ้าสถาบันนี้ตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาและอบรมครู ดิฉันก็เห็นว่าดีมากๆ เลยค่ะ นอกจากจะพัฒนาให้มีการทบทวนความรู้แล้ว บางครั้งเราก็ได้พัฒนาความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมาด้วย

      แต่ในทางปฏิบัติ ไม่รู้เขาจะจัดตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนาในทางไหนกัน หลายคนก็หลายกระแส

      แก้ไขเมื่อ 29 ต.ค. 52 12:26:04

      จากคุณ: ][NuUnAn--
      เขียนเมื่อ: 29 ต.ค. 52 12:25:13
        

       
       
       
      ความคิดเห็นที่ 5  

      ศาสตาจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ประธานอนุกรรมการสภาการศึกษา ด้านครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เผยความคืบหน้าการจัดตั้งสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ ว่า การจัดตั้งสถาบันมีความคืบหน้าไปมาก ทั้งด้านการจัดทำโครงสร้าง และการร่าง พ.ร.บ.สถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ เหลือเพียงการประชุมนัดสุดท้าย ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 11-12 มิ.ย.52 เพื่อสรุปแนวทางการจัดตั้งทั้งหมดเสนอ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ ให้ความเห็นชอบ

      ทั้งนี้ สถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ จะเป็นสถาบันกลาง ไม่ทำงานซ้ำซ้อนกับคณะศึกษาศาสตร์ คุรุศาสตร์ และคุรุสภา แต่เป็นสถาบันเชื่อมโยงที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการผลิตและพัฒนาครู และสร้างเอกภาพด้านนโยบายและด้านมาตรฐาน ซึ่งช่วยพัฒนาความเข้มแข็งให้กับคณะคุรุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และหน่วยงานที่มีทำหน้าที่ผลิตและพัฒนาครูทั้งหมด

      ศ. ดร.วิจิตร กล่าวอีกว่า หน้าที่สำคัญของสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ ได้แก่ การพัฒนาคณาจารย์ ซึ่งเป็นครูของครู ซึ่งขณะนี้เป็นจุดอ่อนที่สถาบันฝึกหัดครูกำลังประสบปัญหาครูที่มีวุฒิการศึกษาสูงๆ ไม่เหลืออยู่ในสถาบันอุดมศึกษา หน้าที่อีกส่วนคือการพัฒนาครูประจำการ และการผลิตครูที่ออกมาใหม่ในระดับบัณฑิตศึกษาหรือปริญญาโท โดยจะฝึกอบรมคณาจารย์ที่ประจำการที่มีอยู่ประมาณ 6-7 แสนคน โดยสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติจะพัฒนาวิทยากรให้ครอบคลุม 8 กลุ่มสาระ พร้อมทั้งการนิเทศก์และการบริหาร ให้มีวิทยากรที่มากเพียงพอและมีคุณภาพดี เพื่อที่จะไปฝึกอบรมครู 6-7 แสนคนดังกล่าว

      สถาบันนี้จะขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานอิสระอยู่ในกำกับของรัฐบาล เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เป็นสถาบันจิ๋วแต่แจ๋ว โดยใช้ทรัพยากรร่วมกับหน่วยงานอื่นในเครือข่าย ซึ่งงบประมาณที่ใช้ต้องรอสรุปในการประชุมนัดสุดท้าย คาดว่าเริ่มแรกอาจจะต้องใช้งบประมาณ 200-300 ล้านบาท ซึ่งรวมค่าก่อสร้างด้วย ส่วนคณะที่จะมาบริหารจะมาจากนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ ในรูปคณะบุคคล และเป็นการบริหารบุคคลแบบพนักงาน โดยต้องใช้ระบบสรรหาเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ” ศ.ดร.วิจิตร กล่าวเสริม

      ===================

      อ่านดูแล้วเหมือนหน้าที่หลักของสถาบันคุรุศึกษาคืออบรมครูในระบบ รวมทั้งอาจารย์ตามสถาบันราชภัฏหรือสถาบันผลิตครูอื่น ๆ เหมือนจะคล้าย ๆ กับ สสวท แต่ว่าจะทำให้ครอบคลุมหลายวิชาและทำแบบคล่องตัวมากกว่า รวมทั้งคนที่จะมาเรียนในระดับสูงกว่าปริญญาตรีในสาขาเกี่ยวกับการเป็นครู อ่านดูเผิน ๆ ก็เหมือนจะดีนะ แต่ไม่รู้ว่ามีรายละเอียดยังไง และก็ทำไมพวกครูหรือครุสภาถึงไม่ค่อยเห็นด้วย อาจจะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องอำนาจบางอย่างหรือเปล่า

      จากคุณ: วิชัย
      เขียนเมื่อ: 29 ต.ค. 52 12:45:26 A:67.180.87.99 X: TicketID:199968
        

อ้างอิง

http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K8483156/K8483156.html