การปกครองในภูเก็ต
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อังคาร, 15 มกราคม 2008

การปกครองในภูเก็ต


มานะ สามเมือง
-------
 
พัฒนาการทางด้านการปกครองของภูเก็ตตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ในบางช่วงยังคงไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน นับตั้งแต่ปรากฏชื่อ “จังซีลอน” ในหนังสือภูมิศาสตร์ของปโตเลมี
 ในสมัยอาณาจักรศรีวิชัยมีอำนาจควบคุมดินแดนต่าง ๆ แถบเกาะสุมาตรา รวมถึงแหลมมลายูและได้รวมอาณาจักรตามพรลิงค์(นครศรีธรรมราช)เข้าไว้ด้วย ภูเก็ต(เมืองถลางในขณะนั้น)ในฐานะเมืองบริวารของ นครศรีธรรมราชจึงตกอยู่ในอำนาจการปกครองของอาณาจักรศรีวิชัยนานถึง 600 ปี


 ในปี พ.ศ.1772 อาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมอำนาจและตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของอาณาจักร     ศิริธรรมนคร  เมืองภูเก็ต (ซึ่งมีชื่อเรียกว่า ตะกั่วถลาง) ถูกผนวกเข้าเป็นหัวเมืองหนึ่งของอาณาจักรศิริธรรมนคร


 ราวปี พ.ศ.1800 อาณาจักรสุโขทัย มีอำนาจแผ่ขยายจนสามารถครอบครองพื้นที่ต่างๆ จนถึงแหลมมลายู บรรดาเมืองต่าง ๆ อันรวมถึงเมืองถลาง จึงขื้นกับอาณาจักรสุโขทัยตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
 ต่อมาประมาณ พ.ศ. 1893 กรุงศรีอยุธยามีอำนาจเหนือสุโขทัย บรรดาเมืองขึ้นต่างๆ ของสุโขทัยจึงอยู่ในการปกครองของกรุงศรีอยุธยารวมถึงหัวเมืองปักษ์ใต้ทั้งหมด ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ. 2148-2163) ปรากฎชื่อเมืองถลางเป็นเมืองขึ้นกับฝ่ายกลาโหม


 การจัดการปกครองในสมัยอยุธยาในระยะแรกได้จัดให้นครศรีธรรมราชมีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นนอก ในขณะที่ภูเก็ตอยู่ภายใต้การดูแลของนครศรีธรรมราชในช่วงอยุธยาตอนปลาย ภูเก็ตมีเจ้าเมืองปกครองอยู่ที่บ้านลิพอนและบ้านดอน (ภูเก็ตในขณะนั้นใช้ชื่อเมืองถลาง)
 หลังจากเสียกรุงครั้งสมัย พ.ศ. 2310 มีผู้ตั้งตนขึ้นเป็นหัวหน้าก๊กต่าง ๆ ทางใต้มีก๊กนครศรีธรรมราชและภูเก็ตก็รวมอยู่ในก๊กนครศรีธรรมราช เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงรวบรวมก๊กต่าง ๆ กลับเข้าเป็นปึกแผ่น อาณาจักรเดียวกันหลัง ภูเก็ตก็เป็นเมืองหนึ่งในกรุงธนบุรี


 สมัยรัตนโกสินทร์ยังคงยึดรูปแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย คือ มีการปกครองในส่วนกลางการปกครองส่วนภูมิภาค
 ในส่วนภูมิภาคได้กำหนดให้มีหัวเมืองชั้นนอกแบ่งเป็นหัวเมืองใหญ่ ซึ่งถือเป็นเมืองที่อยู่ใกล้กันมีเจ้าเมืองเป็นผู้ดูแลบังคับบัญชา
 ในส่วนของภูเก็ตซึ่งถือเป็นเมืองชั้นรองโดยมีนครศรีธรรมราชเป็นหัวเมืองใหญ่ ดังนั้นภูเก็ตจึงอยู่ภายใต้การดูแลของนครศรีธรรมราช
การจัดตั้งมณฑลภูเก็ต


 มณฑลภูเก็ตตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2437 โดยการรวมหัวเมืองภาคใต้ชายฝั่งตะวันตกทั้งหมด 7 เมือง คือ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตะกั่วป่า ระนอง ตรัง และสตูล ซึ่งขณะนั้นมณฑลภูเก็ตมีพื้นที่ประมาณ 28,000 ตร.กม. มีประชากรประมาณ 100,000 คน โดยมีที่ว่าการของมณฑลอยู่ที่ภูเก็ต มีข้าหลวงมณฑลคนแรกคือพระยาทิพโกษา (โต โชติกเสถียร)  ซึ่งเป็นข้าหลวงที่มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปมณฑลภูเก็ต ให้มีความเจริญก้าวหน้า จนปี พ.ศ. 2437 ได้มีการจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้น โดยมีพระยาทิพโกษาเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลคนแรกระหว่างปี 2437 - 2441


 พระยาทิพโกษา ถือได้ว่ารากฐานการปฏิรูปมณฑลภูเก็ตในหลาย ๆ ด้าน กล่าวคือ เป็นผู้ดำเนินการแบ่งเขตการปกครองออกเป็น เมือง อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน และจัดตั้งคณะผู้ปกครองมณฑลหรือ “กองมณฑล” คือ มีข้าหลวงใหญ่เป็นประธาน มีข้าหลวงฝ่ายมหาดไทย อัยการ สรรพากรและตำรวจภูธร เป็นผู้ช่วยเหลือในเมืองต่าง ๆ มีผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้รับผิดชอบ มีกรมการเมือง 2 คณะเป็นผู้ช่วยเหลือคือ กรมการในทำเนียบและกรมการนอกทำเนียบ ในอำเภอมีกรรมการอำเภอเป็นผู้รับผิดชอบ กรรมการอำเภอประกาอบด้วยนายอำเภอเป็นหัวหน้า ปลัดอำเภอ สมุหบัญชีและเสมียนพนักงานอีกจำนวนหนึ่งเป็นผู้ช่วยเหลือ ตำบลและหมู่บ้านอยู่ในความรับผิดชอบของกำนันและผู้ใหญ่บ้านซึ่งมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกในตำบลและหมู่บ้าน
 การปฏิรูปการปกครองในมณฑลภูเก็ตซึ่งวางรากฐานโดยพระยาทิพโกษา (โต โชติกเสถียร) ได้ประสบความสำเร็จ ตามเป้าหมายในสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ฯ(คอซิมบี้ ณ ระนอง พ.ศ. 2444-2456)


 ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตแบ่งการปกครองออกเป็น 3 อำเภอ 17 ตำบล 107 หมู่บ้าน ดังนี้
1.  อำเภอเมือง แบ่งเขตการปกครองเป็น 8 ตำบล 44 หมู่บ้าน 1 เทศบาล 1 องค์การบริหารจังหวัด 1 สุขาภิบาล 6 องค์การบริหารส่วนตำบล
2.  อำเภอถลาง แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 6 ตำบล 45 หมู่บ้าน 2 สุขาภิบาล 6 องค์การบริหารส่วนตำบล
3.  อำเภอกะทู้ แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 3 ตำบล 18 หมู่บ้าน 1 เทศบาล 1 สุขาภิบาล 1 องค์การบริหารส่วนตำบล

ลักษณะการบริหารแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ
 การบริหารราชการส่วนกลาง มีส่วนราชการสังกัดส่วนกลางของกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ  อยู่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จำนวน 68 หน่วยงาน ทั้งส่วนที่เป็นส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ


 การบริหารราชการส่วนภูมิภาค มีส่วนราชการสังกัดส่วนภูมิภาคของ กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ มาตั้งสำนักงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต 2 ระดับคือ


1.  ระดับจังหวัด ประกอบด้วยส่วนราชการจังหวัด จำนวน 35 หน่วย มีหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของผู้ว่า ราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัด


2.  ระดับอำเภอ ประกอบด้วยส่วนราชการระดับอำเภอ 3 อำเภอ 17 ตำบล และ 107 หมู่บ้าน มีหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอทำหน้าที่เป็นปรึกษาของนายอำเภอ


3.  การบริหารส่วนท้องถิ่น จังหวัดภูเก็ตมีการปกครองและการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น 4 รูปแบบคือ


3.1  องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต      1 แห่ง
3.2   เทศบาล มี 2 แห่ง คือ
 เทศบาลเมือง ภูเก็ต พื้นที่ 12 ตร.กม.  เทศบาลตำบลป่าตอง พื้นที่ 16.4 ตร.กม 3.3 สุขาภิบาลมี 4 แห่ง คือ 
   1) สุขาภิบาลกะรน อำเภอเมืองภูเก็ต
   2) สุขาภิบาลกะทู้ อำเภอกะทู้
   3) สุขาภิบาลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง
   4) สุขาภิบาลเชิงทะเล อำเภอถลาง

 องค์การบริหารส่วนตำบลมี 13 อบต.  (ปี 2540)
   1) อบต. วิชิต พื้นที่ 56 ตร.กม. 
   2) อบต. รัษฎา พื้นที่ 35 ตร.กม. 
   3) อบต. ฉลอง พื้นที่ 30 ตร.กม. 
   4) อบต. ราไวย์ พื้นที่ 30 ตร.กม.
   5) อบต. กะรน พื้นที่ 12.72 ตร.กม.
   6) อบต. เกาะแก้ว พื้นที่ 48 ตร.กม.
   7) อบต. เทพกระษัตรี พื้นที่ 74.4 ตร.กม.
   8) อบต. ศรีสุนทร พื้นที่ 45.1 ตร.กม.
   9) อบต. เชิงทะเล พื้นที่ 32.9 ตร.กม.
  10) อบต. ป่าคลอก พื้นที่ 57.5 ตร.กม.
  11) อบต. ไม้ขาว พื้นที่ 29.2 ตร.กม.
  12) อบต. สาคู พื้นที่ 10.7 ตร.กม.
  13) อบต. กมลา พื้นที่ 18.794 ตร.กม.
       รวม 13 อบต.  พื้นที่ 415,814 ตร.กม.
อบต. ชั้น 1 มี  2 แห่ง      คือ  อบต. วิชิต, รัษฎา
อบต. ชั้น 2 มี  4 แห่ง     คือ อบต.ฉลอง,ราไวย์,เชิงทะเล, ไม้ขาว
อบต. ชั้น 3  มี  6 แห่ง คือ อบต. กะรน, เกาะแก้ว,เทพกระษัตรีศรีสุนทร, ป่าคลอก, กมลา
อบต. ชั้น 4 มี 1 แห่ง คือ อบต. สาคู

 

ที่มา :  สำนักงานจังหวัดภูเก็ต 
           บรรยายสรุปข้อราชการจังหวัดภูเก็ต

 

 

*ภูเก็จ 33
*สารานุกรม เล่ม 7
*รายงานสัมมนาประวัติศาสตร์ถลาง