พม่าเสียเมือง สำนวนพม่าบันทึก
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พฤหัสบดี, 08 ตุลาคม 2009
พม่าเสียเมือง ฉบับ"คนพม่า"บันทึก      

ได้มีโอกาสอ่านกระทู้ของคุณ Navarat C. ที่เล่าเรื่องราวพร้อมภาพประกอบเรื่องพิธีกรรมสำเร็จโทษของเจ้านายพม่า (บันทึกได้สวยงามน่าอ่านจริงๆค่ะ) รวมไปถึงเรื่องราวของพม่าเสียเมืองฉบับที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้บันทึกไว้ ก็พลันนึกถึงเรื่องพม่าเสียเมืองซึ่งเป็นบทหนึ่ง ในหนังสือโยเดียกับราชวงศ์พม่า ซึ่งเขียนโดยคุณมิคกี้ ฮาร์ท ชาวพม่าซึ่งสนใจและได้บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ไทย-พม่าตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 จนถึงพม่าเสียเมืองให้แก่อังกฤษ โดยอ้างอิงจากพงศาวดารพม่า ไทยและลาว เพื่อเชื่อมโยงและประมวลข้อมูล ให้ผู้อ่านได้เข้าใจเรื่องราวประวัติศาสตร์พม่าทั้งหมด

ดิฉันจึงอยากจะขอยกเรื่องราวบางส่วน เพื่อให้ผู้อ่านลองอ่านสนุกๆดูว่า ฉบับพม่าบันทึกนั้นเหมือนหรือต่างอย่างไร กับฉบับที่เล่าขานกันมาเนิ่นนานในฝั่งไทย

แก้ไขเมื่อ 08 ต.ค. 52 16:05:20

จากคุณ: Aliz in Wonderland
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 14:06:48
ถูกใจ: peaun, jassb1, หนุ่มรัตนะ, raveeyos, Pnatt_nara, thezircon, Canossa, Fiorina, กัมม์, Jaded Nomad, คิดถึงแมวม้วน



      ความคิดเห็นที่ 1  

      ==ประวัติศาสตร์พม่า พม่าหรืออังกฤษเขียนกันแน่===

      ข้าพเจ้าขออธิบายถึงสาเหตุที่พม่าเสียกรุง โดยอิงข้อมูลจากการบันทึกของพม่าโดยตรง มิใช่ประวัติศาสตร์ฉบับที่ต่างชาติบันทึก นักศึกษาประวัติศาสตร์ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ไม่มีข้อมูลของพม่าให้ศึกษามากนัก เพราะการบันทึกของพม่าส่วนใหญ่เป็นภาษาพม่าหมด จึงเข้าใจและเป็นที่รับทราบกันเฉพาะในหมู่คนพม่าเท่านั้น และในสมัยที่อังกฤษเข้ายึดครองพม่า สื่อต่างๆอาทิ หนังสือพิมพ์ก็ตกอยู่ในมือชาติตะวันตกแต่เพียงผู้เดียว จะบิดเบือนข้อมูลอย่างไรก็ได้ จะเผยแพร่ให้ชาวโลกได้รับทราบแบบไหนก็ได้ ฉะนั้น คนนอกจึงไม่มีโอกาสที่จะรู้ข้อมูลและได้ศึกษาเรื่องราวพม่าเสียกรุงอย่างแท้จริง ได้เพียงแค่ศึกษาจากการบันทึกที่เขียนโดยชาวอังกฤษทั้งนั้น

      จากคุณ: Aliz in Wonderland
      เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 14:08:50
        

       
       
ความคิดเห็นที่ 2  

==รัชกาลพระเจ้ามินดุง==

ในรัชกาลพระเจ้ามินดุง ดูเหมือนว่า รัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลพม่าไม่มีปัญหาต่อกันอย่างเป็นทางการ แต่ลึกๆแล้วรัฐบาลอังกฤษก็ระแวงพม่าไม่น้อยทีเดียว สิ่งที่รัฐบาลอังกฤษกังวลมากที่สุดก็คือพระเจ้ากะนอง พระเจ้ากะนองทรงเป็นพระมหาอุปราช ในรัชกาลพระเจ้ามินดุง พระองค์ได้ทรงส่งนักเรียนจำนวน 90 คน ไปเรียนวิชาอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ที่ประเทศอิตาลี ฝรั่งเศส และเยอรมนี นอกจากนี้ ยังทรงสร้างโรงงานผลิตอาวุธขึ้นถึงสามโรง สามารถผลิตระเบิดใต้น้ำได้สำเร็จ

พระเจ้ากะนองทรงเข้าพระทัยดีว่า การที่พม่ารบแพ้อังกฤษ ก็เพราะอาวุธยุทโธปกรณ์ของอังกฤษล้วนแล้วแต่ทันสมัย พิสัยยิงก็ไกลกว่าอาวุธพม่ามาก เรือรบอังกฤษล่องมากลางแม่น้ำ ปืนที่กองทัพพม่ามีอยู่ก็ไม่สามารถยิงไปถึง แต่ปืนใหญ่ของอังกฤษยิงถึงฝั่งได้สบายเลย ต่อให้กองทัพพม่าเข้มแข็งเพียงใดก็ตายอยู่ดี  ฉะนั้น อาวุธที่จะพิชิตเรือรบกลางแม่น้ำได้ก็คือระเบิดใต้น้ำ

รัฐบาลอังกฤษเล็งเห็นว่า หากปล่อยให้พม่าเป็นแบบนี้ โดยรัฐบาลอังกฤษไม่ลงมือทำอะไรสักอย่าง อาจจะเป็นภัยบั่นทอนรัฐบาลอังกฤษในอนาคตได้

จากคุณ: Aliz in Wonderland
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 14:10:18
  

 
 
 
ความคิดเห็นที่ 3  

==เจ้าชายเมียนกุนกับเจ้าชายเมียนกุนไต...กบฎเพื่อใคร==

แต่ทุกอย่างก็ดำเนินไปอย่างสงบ ไม่มีลางบอกเหตุร้ายใดๆ จนถึงวันพฤหัสบดี แรม 7 ค่ำ เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2409 เวลาบ่าย 2 นาฬิกา เจ้าชายเมียนกุนกับเจ้าชายเมียนกุนไตสองพี่น้อง พระโอรสในพระเจ้ามินดุงก็ก่อกบฎ ยึดราชบัลลังก์รัตนะบุญ และประหารชีวิตพระเจ้ากะนอง พระมหาอุปราชาผู้เป็นอาที่รัฐสภาได้สำเร็จ แต่เข้ายึดพระราชวังไม่ได้ จึงหนีออกจากเมือง ลงเรือไปขอลี้ภัยอยู่กับรัฐบาลอังกฤษที่เมืองย่างกุ้ง  หลังจากนั้นรัฐบาลอังกฤษได้ส่งต่อไปให้ประทับที่บังกาลอร์

เหตุการณ์ที่พระโอรสในพระเจ้ามินดุงก่อกบฏครั้งนี้ สาเหตุมาจากแรงยุยงภายนอก แต่ไม่ทราบอย่างเป็นทางการว่าเป็นฝีมือของฝ่ายไหนเท่านั้น ก่อนหน้านั้น มีข่าวลือแพร่สะพัดออกมาว่า องค์รัชทายาทองค์น่าจะเป็นพระโอรสของพระเจ้าแผ่นดินมากกว่าพระอนุชา  ทำให้เหล่าบรรดาโอรสพระเจ้ามินดุงก็หวั่นไหวไปว่า ตำแหน่งรัชทายาทควรเป็นของเขามากกว่าพระเจ้าอา ข่าวลือนี้มีต้นตอมาจากนอกวัง หลังจากนั้นไม่นาน ก็เกิดกบฏขึ้น ทั้งๆที่เจ้าชายเมียนกุนหนึ่งผู้ก่อกบฏเป็นพระชามาดา (ลูกเขย) ของพระมหาอุปราช  จะสังเกตว่าจุดประสงค์แท้จริงที่แอบแฝงอยู่ ก็คือการสังหารพระเจ้ากะนองเพื่อหยุดยั้งการผลิตระเบิดใต้น้ำอานุภาพสูงให้ได้ และก่อนหน้านี้ ก็มีเหตุการณ์ที่น่าสงสัยเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น ก็คือหลังจากพระมหาอุปราชทรงทดลองระเบิดใต้น้ำที่ทะเลสาบอ่องเปนแลได้สำเร็จ สมเด็จพระสังฆราชได้ประท้วงไม่รับภัตตาหารที่พระเจ้าแผ่นดินถวาย โดยอ้างว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นคนบาป เพราะการอนุญาตให้ผลิตอาวุธผิดศีลข้อปาณาติบาต หลังจากนั้นไม่นาน พระมหาอุปราชาก็ถูกกบฏปลงพระชนม์ และรัฐบาลอังกฤษก็อนุญาตให้นักโทษกบฏลี้ภัย ไม่ยอมส่งตัวให้รัฐบาลพม่าไต่สวน แถมยังส่งไปให้อยู่ในที่ที่ปลอดภัย ถ้าเช่นนั้น เรื่องราวที่เกิดขึ้น น่าจะเป็นฝีมือของใคร?

จากคุณ: Aliz in Wonderland
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 14:12:57
  

 
 
 
ความคิดเห็นที่ 4  

==พม่าเริ่มเจรจาการค้ากับฝรั่งเศส==

หลังจากพระมหาอุปราชสวรรคต การทดลองผลิตอาวุธทุกชนิดก็หยุดชะงักไป องค์พระเจ้ามินดุงเองก็ไม่ทรงดำเนินการอะไรต่อ แต่อังกฤษก็ยังไม่เลิกระแวงพม่า เพราะเหตุว่าเกงหวุ่นเมงจีซึ่งเป็นนายกเสนาบดีคณะรัฐบาลพม่าเข้าไปพบรัฐบาลอิตาลีและฝรั่งเศสเพื่อเปิดการค้าระหว่างประเทศ หลังจากการไปเยือนประเทศอังกฤษตามคำเชิญของรัฐบาลอังกฤษ ผลที่ตามมาคือ ท่านทูตจากอิตาลีและฝรั่งเศสได้เข้าเฝ้าพระเจ้ามินดุงและขอลงนามในสนธิสัญญาการค้ากับประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2415 แต่สุดท้ายฝรั่งเศสไม่ได้ตกลงในสนธิสัญญาการค้ากับพม่า เพราะในสนธิสัญญาการค้าข้อหนึ่งที่รัฐบาลฝรั่งเศสต้องการ ก็คือขอทำการค้าเหมืองอัญณี ซึ่งข้อนี้เป็นเอกสิทธิ์ของพระเจ้ามินดุง

จากคุณ: Aliz in Wonderland
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 14:16:15
  

 
 
 
ความคิดเห็นที่ 5  

==พระเจ้ามินดุงสวรรคต==

รูปอัฐิเจดีย์ของพระเจ้ามินดุง

 
 

จากคุณ: Aliz in Wonderland
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 14:20:53
  

 
 
 
ความคิดเห็นที่ 6  
==เหตุการณ์หลังพระเจ้ามินดุงสวรรคต==

พระเจ้ามินดุงสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2421 ซึ่งพระเจ้าสีป่อพระโอรสองค์หนึ่งของพระองค์ขึ้นครองราชย์สืบต่อ แต่การขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าสีป่อไม่สู้จะดีนัก เพราะมีพระโอรสกับพระธิดาถึงกว่าสี่สิบพระองค์ของพระเจ้ามินดุงถูกประหารชีวิต เหตุร้ายที่เกิดขึ้นนั้นไม่พ้นความรับผิดชอบของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ ทั้งๆที่พระองค์ไม่ทรงทราบเรื่องเลย และประชาราษฎร์บางส่วนไม่เชื่อว่าพระองค์เป็นคนสั่งประหาร เพราะต่างรู้กันดีว่าพระองค์เคยทรงผนวชมาก่อน และทรงเป็นคนธรรมะธัมโมมาก ประชาชนจึงพากันเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้ต้องเป็นคำสั่งมาจากอัครมเหสีของพระองค์คือพระนางศุภยาลัตเป็นแน่

ถ้าตามความเห็นของนักประวัติศาสตร์พม่า มองว่าบุคคลที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์สั่งฆ่าโอรสธิดา ร่วมบิดากับพระเจ้าสีป่อนั้น ไม่น่าจะใช่พระนางศุภยาลัต ธิดาองค์กลางในพระเจ้ามินดุงและพระนางอะแลนันดอว์ (มเหสีกลาง) แต่น่าจะเป็นฝีมือของพระนางอะแลนันดอ กับเกงหวุ่นเมจี อัครเสนาบดี คบคิดกันเสียมากกว่า เพราะพระนางอะแลนันดอเอง มีแต่พระธิดาสามคน คือพระนางศุภยาจี ธิดาองค์โต (ภาษาพม่า จี แปลว่าใหญ่) พระนางศุภยาลัต และพระนางศุภยาเล

และตนเองก็ไม่ใช่ตำแหน่งอัครมเหสีใหญ่เสียด้วย ดังนั้น การจะเป็นใหญ่ได้ ก็ต้องผลักดันให้ลูกสาวแต่งงานกับกษัตริย์สักองค์ ซึ่งกษัตริย์องค์นั้น ย่อมต้องอยู่ในอาณัติของพระนางด้วย พูดง่ายๆก็คือเป็นหุ่นเชิดนั่นเอง

และใครเล่าจะเหมาะเท่ากับพระเจ้าสีป่อ ซึ่งในเวลานั้นเป็นรัชทายาทลำดับท้ายๆ เกิดแต่พระมารดาซึ่งเป็นเพียงพระสนมเท่านั้น ทั้งหมดนี้เป็นการวางแผนอย่างรอบคอบของพระนางอะแลนันดอว์

ตรงนี้ขอนอกเรื่องเล่าถึงพระนางอะแลนันดอว์สักเล็กน้อยหลายท่านเข้าใจว่าอะแลนันดอ นั้นคือชื่อ แท้จริงแล้วคือชื่อตำแหน่งมเหสีกลาง

พม่าแบ่งตำแหน่งมเหสีออกเป็น 3 ตำแหน่งคือ มเหสีใต้ มเหสีเหนือและมเหสีกลาง โดยตำแหน่งมเหสีใต้ คือตำแหน่งที่ใหญ่ที่สุด เรียกได้ว่าเป็นอัครมเหสี

แก้ไขเมื่อ 08 ต.ค. 52 14:47:19

จากคุณ: Aliz in Wonderland
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 14:23:15
  

 
 
 
ความคิดเห็นที่ 7  
พระนางอะแลนันดอว์เองนั้น ถึงแม้ว่าพระองค์จะเป็นเพียงมเหสีกลาง แต่ท่าน"ทรง"อิทธิพลในรัตนปุระ มัณฑเลย์มิใช่น้อยเลย เห็นได้จากการร่วมมือกับเสนาบดีเกงหวุ่นเมงจี เพื่อผลักดันพระเจ้าสีป่อ เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ได้สำเร็จ
ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากรัชทายาทองค์อื่นๆที่มีความสำคัญเหนือกว่า อยู่ในลำดับที่สูงกว่า แต่ท่านก็ก้าวผ่านข้อครหานั้นมาได้

จริงๆแล้ว พระธิดาองค์ที่ถูกวางตัวไว้ให้เป็นมเหสี คู่กับพระเจ้าสีป่อ คือพระนางศุภยาจี ธิดาองค์โต เพราะตามธรรมเนียม พี่ก็ต้องออกเรือนก่อนน้อง แต่เมื่อพระนางศุภยาลัตทอดพระเนตรเห็นพระเจ้าสีป่อ ก็เกิดอาการ"ตกหลุมรัก"เข้าอย่างจัง ถึงขนาดเอ่ยปากกับพี่สาวว่า ฉันนี่แหละ ที่อยากแต่งงานกับพระเจ้าสีป่อ พี่อย่าขัดฉัน
(พระนางศุภยาลัต ทรงมีอุปนิสัยที่เด็ดเดี่ยว ไม่ยอมใคร มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์) สุดท้าย พระนางก็เป็นฝ่ายยึดพระเจ้าสีป่อเป็นพระสวามีได้สำเร็จ และได้ทรงสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์และมเหสีแห่งมัณฑเลย์ ถัดจากพระเจ้ามินดุง

ท่ามกลางเสียงไม่พอใจดังอื้ออึง พระนางอะแลนันดอว์ จึงมีคำสั่งให้ประหารพระโอรสและพระธิดาของพระเจ้ามินดุงทั้งหมด โดยเหตุการณ์นี้พระเจ้าสีป่อและพระนางศุภยาลัตมิได้ล่วงรู้เลย

เหตุการณ์นี้ ทำให้รัฐบาลอังกฤษมีโอกาสโจมตีพระเจ้าแผ่นดินพม่าได้อีกครั้ง โดยนายชอว์ (Mr. Shaw) ผู้แทนรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งอยู่ที่เมืองมัณฑเลย์ ส่งจดหมายมาขอให้มีการอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากคณะรัฐบาลพม่า อัครเสนาบดีเกงหวุ่นเมงจี ได้ส่งจดหมายอธิบายว่า การกระทำเช่นนี้ก็เพื่อปกป้องชีวิตประราษฎร์ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ซึ่งอาจะต้องตายมหาศาล หากการชิงราชบัลลังก์นั้นลุกลามใหญ่โตจนต้องเปิดศึกรบกัน จึงยอมแลกกับสี่สิบชีวิตของพระโอรสและพระธิดาจะดีกว่า แต่รัฐบาลอังกฤษก็ไม่พอใจคำอธิบายของเกงหวุ่นเมงจี และสั่งให้ผู้แทนของตนถอนออกจากกรุงมัณฑเลย์ทันที

แก้ไขเมื่อ 08 ต.ค. 52 17:24:15

แก้ไขเมื่อ 08 ต.ค. 52 15:00:25

จากคุณ: Aliz in Wonderland
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 14:26:14
  

 
 
 
ความคิดเห็นที่ 8  

==รัชกาลพระเจ้าสีป่อ==

การปกครองบ้านเมืองในรัชกาลพระเจ้าสีปอ ถือว่ามีเจริญความก้าวหน้าและพัฒนาขึ้นมากทีเดียว โดยการปกครอง จะแบ่งออกเป็น ๑๔ กระทรวง ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน คือ
1.กระทรวงเกษตร
2.กระทรวงแรงงาน
3.กระทรวงกลาโหม (ทหารบก)
4.กระทรวงการค้า
5.กระทรวงศาสนา
6.กระทรวงการคลัง
7.กระทรวงสรรพากร
8.กระทรวงยุติธรรม
9.กระทรวงไต่สวนอาชญากรรม
10.กระทรวงกลาโหม (ทหารเรือ)
11.กระทรวงต่างประเทศ
12.กระทรวงการปกครองชาวต่างชาติ
13.กระทรวงมหาดไทย
14.กระทรวงโรงงานอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ พระเจ้าสีป่อยังทรงรับสั่งให้บรรดาเสนาอำมาตย์ทั้งหลายเขียนรายงานวิจัย ว่าจะทำอย่างไร จะเปลี่ยนแปลงวิธีการปกครองแบบไหน จึงจะทำให้ประเทศพัฒนาได้ทุกด้านมาถวาย

ในรัชกาลนี้ มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับชาวยุโรปเป็นอย่างดี โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศสและอิตาลี มีการส่งทูตานุทูตไปเยือนประเทศฝรั่งเศส อิตาลี และอินเดีย มีการจ้างครูฝึกทหารจากอิตาลีและฝรั่งเศสมาสอนวิชาการรบ และเทคโนโลยีต่างๆให้แก่ทหารพม่า

จากคุณ: Aliz in Wonderland
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 14:28:38
  

 
 
 
ความคิดเห็นที่ 9  

==ภาพถ่ายรัฐสภาหน้าพระราชวังมัณฑเลย์==

 
 

จากคุณ: Aliz in Wonderland
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 14:30:02
  

 
 
 
ความคิดเห็นที่ 10  

ปาดดด ครับ   กำลังมันครับ

จากคุณ: Dalre2006
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 14:52:09
  

 
 
 
ความคิดเห็นที่ 11  

เมียนมาร์ วีก โดยแท้

ขอโหวตและให้กำลังใจครับ

 
 

จากคุณ: jassb1
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 15:02:46
ถูกใจ: หนุ่มรัตนะ

 
 
 
ความคิดเห็นที่ 12  

ไม่ค่อยมีใครพูดถึงคุณงามความดีของพระเจ้าสีป่อมากนัก ทั้งๆที่ในรัชกาลพระองค์ มีความเจริญก้าวหน้าในเมืองมัณฑเลย์หลายด้าน อาจเป็นเพราะ"ผู้ดี"ได้สร้างภาพ ตั้งธงไปเสียแล้วว่าพระเจ้าสีป่อ อ่อนแอ ขี้ขลาด ไม่เอาไหน กลัวเมีย ฯลฯ ทั้งๆที่ในสมัยพระองค์นั้นมีการลงนามในข้อตกลงการค้าและการพัฒนาขึ้นมากมาย

ในเวลานั้น พระเจ้าสีป่อทรงมีความสนิทสนมกับรัฐบาลฝรั่งเศสมากกว่า จึงได้ทรงลงพระนามในข้อตกลงว่าด้วยการพัฒนาประเทศระหว่างรัฐบาลพม่ากับรัฐบาลฝรั่งเศส เช่น การสร้างทางรถไฟระหว่างเมืองมัณฑเลย์กับเมืองโตงกิน (Tongkin) การเปิดธนาคารที่เมืองมัณฑเลย์ และขอให้พระเจ้าสีป่ออนุญาตให้ฝรั่งเศลทำการค้าอัญมณีกับสิทธิการปลูกชา โดยรัฐบาลฝรั่งเศสให้เงินรัฐบาลพม่ากู้เพื่อสร้างทางรถไฟเป็นข้อแลกเปลี่ยน ส่วนการคืนหนี้นั้น ฝ่ายรัฐบาลพม่าอนุญาตให้รัฐบาลฝรั่งเศสเก็บภาษีอากรจากการค้าน้ำมันจนกว่าจะคืนเงินกู้ได้หมด และจะขายอาวุธให้แก่รัฐบาลพม่าด้วย

รัฐบาลอังกฤษได้ทราบเรื่องนี้ จึงพยายามขัดขวางทุกอย่างไม่ให้รัฐบาลฝรั่งเศสกับรัฐบาลพม่าทำสำเร็จ ส่วนสมาคมหอการค้าอังกฤษในพม่าก็พยายามผลักดันรัฐบาลอังกฤษให้ยึดพม่าให้เร็วที่สุด เพราะเกรงว่าจะเสียสิทธิทางการค้าให้แก่ฝรั่งเศส จึงพยายามทุกวิถีทางให้เปิดศึกกับพม่าให้ได้

จากคุณ: Aliz in Wonderland
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 15:05:12
  

 
 
 
ความคิดเห็นที่ 13  
==ผู้ดีแผลงฤทธิ์==

ในห้วงเวลานั้นเอง เจ้าหน้าที่กรมการตรวจสอบการตัดไม้ของพม่า ตรวจพบว่าบริษัทบอมเบย์เบอร์มา (Bombay Burma Company) ซึ่งได้รับสัมปทานตัดไม้ในเขตตองอูจากรัฐบาลพม่า ได้ตัดไม้จำนวนกว่า 80,000 ต้นในระยะเวลาสองปี แต่ทางบริษัทได้ส่งรายงานถึงเจ้าหน้าที่พม่าว่า ได้ตัดไปเพียง 30,000 ต้น จึงจะจ่ายภาษีเพียงแค่จำนวนสามหมื่นต้นที่ได้ตัดไปเท่านั้น เจ้าหน้าที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง จึงแจ้งทางบริษัทว่า จะต้องจ่ายค่าปรับในการตัดไม้เกินเป็นเงิน 2,300,000 รูปี

ทางบริษัทไม่พอใจที่รัฐบาลพม่าสั่งปรับ จึงไปฟ้องรัฐบาลอังกฤษว่ารัฐบาลพม่ารังแกบริษัท ลอร์ดดัฟฟรินซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่ (Lord Dufferin, Chief Governor)  จึงส่งสาส์นมาถึงรัฐบาลพม่าว่า
1.สำหรับคดีไม้นั้น รัฐบาลพม่าจะต้องรอผู้แทนที่ข้าหลวงใหญ่จะส่งมาไต่สวน
2.ห้ามไต่สวนคดีก่อนผู้แทนมาถึง
3.รัฐบาลพม่าต้องอนุญาตผู้แทนที่ข้าหลวงใหญ่จะส่งมา เข้ามาในเมืองมัณฑเลย์พร้อมอาวุธครบมือ
4.รัฐบาลอังกฤษจะขอเป็นผู้ควบคุมดูแลการติดต่อระหว่างประเทศของพม่าแต่เพียงผู้เดียว

แก้ไขเมื่อ 08 ต.ค. 52 15:12:37

จากคุณ: Aliz in Wonderland
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 15:11:58
  

 
 
 
ความคิดเห็นที่ 14  

เมื่อพระนางศุภยาลัต อัครมเหสีทรงทราบเรื่อง ก็ทรงกริ้วอย่างยิ่ง พระนางตัดสินพระทัยอย่างแน่วแน่ว่าจะต้องรบกับอังกฤษ โดยพระนางทรงให้เหตุผลว่า การกระทำเช่นนี้เห็นได้ชัดว่าอังกฤษจ้องจะรังแก และกอบโกยผลประโยชน์จากประเทศเรา หากเราไม่รบ และยอมอังกฤษ เขาก็จะไม่เกรงใจเรา จะปฏิบัติต่อเราเหมือนเป็นทาส  หากเป็นเช่นนั้น เรายอมตายในศึกก็ยังมีศักดิ์ศรีดีกว่ายอมตายอย่างเป็นหมา

แต่เสนาบดีเกงหวุ่นเมงจีไม่เห็นด้วยกับพระองค์ ที่จะรบกับอังกฤษ และทูลแนะนำให้เจรจากับอังฤษ เรื่องนี้เป็นเหตุให้พระนางศุภยาลัตกับเสนาบดีแตกกัน เพราะท่านเสนาบดีแค้นมาก ที่พระนางตำหนิเสนาบดีอย่างรุนแรงว่าเป็นคนขี้ขลาด ให้ไปหาลองยี (ผ้านุ่ง) มานุ่งเสีย (ประวัติศาสตร์พม่าบันทึกไว้แบบนี้จริงๆ) แต่สุดท้ายสมาชิกในรัฐสภาต้องยอมตกลงตามความเห็นของเสนาบดี เพราะนับถือท่านเกงหวุ่นเมงจี ฐานะผู้อาวุโส รวมถึงพระเจ้าสีป่อเอง ก็ค่อนข้างจะทรงเห็นคล้อยไปตามเกงหวุ่นเมงจี ด้วยทรงไม่อยากมีปัญหากับอังกฤษ

จากคุณ: Aliz in Wonderland
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 15:16:36
  

 
 
 
ความคิดเห็นที่ 15  

เสนาบดีเกงหวุ่นเมงจีมีจดหมายไปถึงรัฐบาลอังกฤษว่า

ข้อหนึ่ง    พระเจ้าอยู่หัวยอมความในคดีไม้ ขอให้แล้วไป และไม่ต้องเสียค่าปรับใดๆ

ข้อที่สอง  พระเจ้าอยู่หัวอนุญาตผู้แทนเข้ามาอยู่ในเมืองมัณฑเลย์เหมือนเดิม

ข้อที่สาม  กรณีการเจริญสัมพันธ์ไมตรีของพม่ากับนานาประเทศนั้น เป็นสิทธิส่วนพระองค์ของพระเจ้าอยู่หัว หากมีความจำเป็นต้องควบคุมการติดต่อของพระราชวังพม่ากับประเทศอื่น การควบคุมนี้น่าจะมาจากการตัดสินของประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย ไม่ใช่รัฐบาลอังกฤษจะมาบังคับได้

แหม ฟังดูเกงหวุ่นเมงจีพูดแล้ว เหมือนจะเป็นคนดี แต่โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ

จากคุณ: Aliz in Wonderland
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 15:19:27
  

 
 
 
ความคิดเห็นที่ 16  

==ชักศึกเข้าบ้าน พระเอกหลงโรง==

เมื่อรัฐบาลอังกฤษทราบความในจดหมายโดยเฉพาะข้อสุดท้ายก็ไม่พอใจยิ่ง จึงประกาศเปิดศึกกับพม่าอีกครั้ง ในเดือนพฤศจิกายน นายพลแปรนเดอร์กัสท์ (General Prendergast) เริ่มเดินทัพ พร้อมรบกับพม่า แต่การเผชิญหน้ารบกันนั้นยังไม่กระทำเต็มที่ เพราะมีสาเหตุสามประการที่กองทัพพม่ายังสับสนอยู่

หนึ่งก็คือยังไม่ได้รับคำสั่งอย่างเป็นทางการจากพระราชวังว่าจะให้รบกับอังกฤษหรือไม่ สองก็คือได้รับคำสั่งส่วนตัวจากเสนาบดีเกงหวุ่นเมงจีว่าไม่ให้กองทัพพม่ารบกับอังกฤษ สาม มีข่าวลือออกมาว่า รัฐบาลอังกฤษจะให้พระเจ้าญองรัม   ซึ่งเป็นพระโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้ามินดุง และลี้ภัยอยู่ที่ประเทศอินเดียในขณะนั้นขึ้นครองราชย์แทนพระเจ้าสีป่อ (ประชาชนส่วนใหญ่พากันเชื่อข่าวลือนี้ เพราะประชาชนได้เห็นชายคนหนึ่งแต่งกายลักษณะเหมือนพระโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน นั่งอยู่ที่หัวเรือในกระบวนเรือรบของอังกฤษ ซึ่งล่องมาตามแม่น้ำอิระวดี จึงพากันเชื่อข่าวลือว่าชายคนนั้นคือเจ้าชายญองรัมจริงๆ

แม้แต่เสนาบดีเกงหวุ่นเมงจีก็เชื่อว่าเป็นเจ้าชายด้วย และเกงหวุ่นเมงจีเคยเจรจาตกลงกับนายพล Sladen ผู้ช่วยนายพลแปรนเดอร์กัสท์ว่าจะแต่งตั้งเจ้าชายญองรัมเป็นกษัตริย์หลังจากจับพระเจ้าสีป่อได้แล้ว ซึ่งเกงหวุ่นเมงจีก็เห็นด้วย เพราะกำลังไม่พอใจพระเจ้าสีป่อและพระนางศุภยาลัตที่กำลังมีข้อพิพาทกับตน

จากคุณ: Aliz in Wonderland
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 15:23:55
  

 
 
 
ความคิดเห็นที่ 17  

ทหารบางส่วนไม่ยอมอยู่เฉยๆ และแอบสู้กับกองทัพอังกฤษเท่าที่พอจะทำได้ ทหารส่วนนั้นล้วนแต่เป็นกองทัพส่วนพระองค์ของพระนางศุภยาลัต เมื่อกองทัพอังกฤษใกล้มาถึงเมืองสะไก กองทัพพม่าก็เตรียมพร้อมรบอย่างถวายชีวิต แต่ก็ยังไม่ได้เริ่มยิงปืนแม้แต่นัดเดียว เพราะได้รับคำสั่งอย่างเป็นทางการจากเสนาบดีเกงหวุ่นเมงจีว่าไม่สู้ ไม่ให้ยิง ถึงนาทีนี้ พระนางศุภยาลัตต้องทรงยอมตามเสนาบดีเกงหวุ่นเมงจี เพราะคณะรัฐมนตรีทั้งหลายพากันเห็นด้วยกับคำอธิบายของท่านเสนา

โดยเสนาบดีเกงหวุ่นเมงจีอ้างว่า “การที่กองทัพอังกฤษยกทัพมาครั้งนี้ มิใช่จะมาทำศึก แต่ตั้งใจจะมาเข้าเฝ้าขอเจรจากับพระองค์เท่านั้น ไม่ได้จะมายึดเมือง หากพระองค์สามารถให้สิ่งที่เขาต้องการได้ เขาก็จะกลับไปเอง พระองค์ก็ไม่ต้องเสียแผ่นดิน และเสียทหารกำลังทหารด้วย ฉะนั้น พระองค์อย่าไปต่อต้านอังกฤษเลย ยอมให้เขามาเจรจาดีกว่า”

จากคุณ: Aliz in Wonderland
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 15:26:00
  

 
 
 
ความคิดเห็นที่ 18  

เข้ามาร่วมรับรู้อีกบริบทหนึ่งด้วยอีกคนครับ

"กษัตริย์และราชินีองค์สุดท้ายของพม่ากับบัลลังก์ที่ว่างเปล่า"

 
 

จากคุณ: หนุ่มรัตนะ
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 15:27:59
  

 
 
 
ความคิดเห็นที่ 19  

พระนางศุภยาลัตเองก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง จึงรีบทรงมีพระบัญชาให้สร้างหอสูงไว้สำหรับสังเกตการณ์ (ใครเคยไปเที่ยวพระราชวังมัณฑเลย์ คงเคยเห็นหอคอยอยู่หลังหนึ่ง ใครๆมักจะนึกว่าหอนี้มีไว้เพื่อพระเจ้าสีป่อและพระนางศุภยาลัตไว้ชมดาวเดือน แท้จริงแล้ว ท่านสร้างไว้เพื่อคอยดูความเคลื่อนไหวและการลาดตระเวนพลของฝั่งอังกฤษ) ท่านมักจะขึ้นไปบนหอนี้เสมอๆ เพื่อคอยประเมินสถานการณ์กับเหล่ากองทหารที่ถือข้างท่าน

คราใดที่เห็นกองทัพอังกฤษเคลื่อนประชิดมัณฑเลย์เข้ามาทุกทีๆ ก็ให้ใจเสียยิ่งนัก

จากคุณ: Aliz in Wonderland
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 15:30:10
  

 
 
 
ความคิดเห็นที่ 20  

ความที่ทุกฝ่าย "เชื่อ" อย่างที่เสนาบดีเกงหวุ่นเงจีนกล่าวอ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ จนถึงวันที่กองทัพอังกฤษ เดินทัพไปจนถึงภายในพระราชวังมัณฑเลย์อย่างง่ายดาย และล้อมกำแพงไว้ทุกด้าน ไม่มีใครล่วงรู้เลยว่า บัดนี้ ได้เสียแผ่นดินไปแล้ว ยังเชื่ออยู่ว่าอังกฤษจะเข้าเจรจากับพระเจ้าอยู่หัว

กองทัพอังกฤษเคลื่อนไปล้อมตำหนักพระเจ้าสีป่อและพระนางศุภยาลัต แม่ทัพได้เชิญทั้งสองพระองค์ลงมาเบื้องล่าง พร้อมกับกล่าวว่า "You are under arrested" เท่านั้นเอง

พระเจ้าสีป่อทรงประทับนิ่งด้วยความตกพระทัย ส่วนพระนางศุภยาลัต ทรุดลงกับพื้น ตีอกชกหัว ร่ำไห้ พร่ำรำพันว่า ข้าเสียแผ่นดินไปแล้ว ข้าเสียไปแล้ว....

จากคุณ: Aliz in Wonderland
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 15:57:30
  

 
 
 
ความคิดเห็นที่ 21  

==ภาพการวางอาวุธของทหารพม่า==

 
 

จากคุณ: Aliz in Wonderland
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 15:58:13
  

 
 
 
ความคิดเห็นที่ 22  

กระทั่งตอนเย็น กองทัพอังกฤษนำพระเจ้าสีป่อกับพระมเหสีศุภยาลัตลงเรือไปเมืองย่างกุ้งแล้ว ประชาชนก็ยังไม่รู้ว่าเสียแผ่นดินไปแล้ว คิดแต่เพียงว่าเดี๋ยวพระเจ้าญองรัมก็ขึ้นครองราชย์แทน แม้แต่เกงหวุ่นเมงจีก็ยังเชื่อแบบนั้น และตัวเองก็รู้อยู่แก่ใจว่าการจับพระเจ้าสีป่อและพระนางศุภยาลัตนั้นเป็นการวางแผนของตนเอง แต่เสนาบดีมารู้ภายหลังว่าเสียรู้อังกฤษเสียแล้ว เพราะบุคคลที่แต่งกายเป็นเจ้าชาย และนั่งมากับเรืออังกฤษนั้น ไม่ใช่เจ้าชายญองรัม แต่อย่างใด เป็นเพียงล่ามภาษา ชาวเมาะละแหม่งชื่อว่านายบะตัน

ทุกอย่างเป็นเพียงแผนการณ์หลอกลวงของรัฐบาลอังกฤษทั้งนั้น แท้จริงแล้ว พระเจ้าญองรัมสวรรคตไปก่อนหน้านั้นแล้ว ตามการบันทึกของพระธิดาพระเจ้าญองรัม นามว่าเจ้าหญิงถิปตินมะจี ได้กล่าวว่าพระเจ้าญองรัมสวรรคตที่เมืองกัลกัตต้า เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2428 ขณะพระชนมายุได้ 38 พรรษาเท่านั้น ในขณะที่อังกฤษยกทัพขึ้นมัณฑเลย์เมื่อเดือนพฤศจิกายน หลังพระเจ้าญองรัมสวรรคตไปแล้วประมาณ 6 เดือน

จากคุณ: Aliz in Wonderland
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 15:59:16
  

 
 
 
ความคิดเห็นที่ 23  

==ผู้ดีอังกฤษ==

หากวิเคราะห์อย่างตรงไปตรงมาโดยยึดตามข้อเท็จจริงที่มีการบันทึกไว้ จะพบว่าผู้ดีอังกฤษนั้นไม่ได้เป็นผู้ดีอย่างที่กล่าวอ้างเลย ในการรบกับพม่านั้น คุณภาพของอาวุธ ความยิ่งใหญ่ของกองทัพ รวมไปถึงกำลังทหารของอังกฤษเหนือชั้นกว่าพม่ามาก แต่วิธีการรบนั้นสกปรกจริงๆ

การยึดประเทศพม่าไม่ได้มีสาเหตุมาจากการที่พระเจ้าแผ่นดินพม่ากินเหล้าเมายา ทำร้ายราชานุวงศ์ ทำร้ายประชาราษฎร์ รวมถึงชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ที่มัณฑเลย์ รวมไปถึงการที่พม่าไม่ยอมเจรจาสงบศึกกับรัฐบาลอังกฤษ ดังที่อังกฤษกล่าวหาแต่อย่างใด และอังกฤษยังลงข่าวผิดๆดังกล่าวในหนังสือพิมพ์ที่ประเทศอินเดีย และอังกฤษด้วย  

ในหนังสือ A Lord Randolf Churchill เขียนโดยวินสตัน ชาร์ชิล (Winston Churchill) ซึ่งเคยเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง กล่าวในหนังสือหน้าที่ 517 อย่างชัดเจนว่า “เตรียมทัพยึดประเทศพม่าโดยด่วน เพราะรัฐบาลฝรั่งเศสแทรกแซงขัดขวางผลประโยชน์ของรัฐบาลอังกฤษในประเทศพม่า” จะเห็นว่ารัฐบาลอังกฤษต้องการเปิดศึกกับพม่า ด้วยต้องการปกป้องผลประโยชน์ของตนเองทั้งนั้น แต่ทำเป็นอ้างเหตุผลต่างๆนาๆและโยนความผิดให้พม่า

หมายเหตุ ในสมัยนั้นลอร์ดรันดอล์ฟเชอร์ชิลเป็นข้าราชการ ตำแหน่งเลขาธิการรัฐอินเดีย (Lord Randolf Churchill, Secretary for the State of India) การบันทึกของนายเชอร์ชิลสอดคล้องกับข่าวในหนังสือพิมพ์รายวันซึ่งตีพิมพ์ในประเทศอังกฤษ และประเทศอินเดียว่าลอร์ดดัฟฟรินซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่ (Lord Arls Dufferin, Chief Governor) ส่งรายงานรัฐบาลอังกฤษทางโทรเลขว่า ณ เวลานี้มีเหตุการณ์สมควรยึดประเทศพม่าโดยการเปิดศึก เพราะพระเจ้าแผ่นดินพม่าปฏิเสธการขอเจรจาคดีป่าไม้อย่างสิ้นเชิง ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงรัฐบาลพม่าพยายามประณีประณอม โดยให้คำตอบไปว่า รัฐบาลพม่ายกเลิกค่าปรับจำนวนเงินสองล้านสามแสนรูปีให้แก่บริษัทบอมเบย์เบอร์มา

จากคุณ: Aliz in Wonderland
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 16:01:35
ถูกใจ: bangkokguy

 
 
 
ความคิดเห็นที่ 24  

==ภาพความเจริญทางวัฒนธรรมของพม่า วัดสวยในสมัยพระเจ้าสีป่อ==

วัดนี้ตั้งอยู่เชิงเขามัณฑเลย์

 
 

จากคุณ: Aliz in Wonderland
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 16:03:17
ถูกใจ: bangkokguy

 
 
 
ความคิดเห็นที่ 25  
เอาละซิ

ความเข้าใจเก่าๆเรื่อง พระนางศุภยาลัต เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง

และเริ่มคล้อยตามเห็นด้วย

1 พระนางและพระสวามี มิน่ามีส่วนร่วมคิดเรื่องประหารหมู่เครือญาติ
ดังที่ มีพวกเจ้าพม่าที่รอดมาได้ เคยพูดไว้ พระนางไม่น่าทำ พระนางแค่ขี้หึง

คนจัดซะทุกอย่างคือ อเลนันดอ ผู้ต้องรีบเร่ง กำจัด พระญาติ

ความจริงพระนางอเลนันดอ เองก็เคยพยายามทำมาแล้วสมัยพระเจ้ามินดุงยังไม่สวรรคต

2 ตามธรรมชาติของคน  พระนางศุภยาลัต ทรงลุกขึ้นสู่ กับอังกฤษ

3 ทางพม่าเองเช่นเจ้ากะนอง ก็พยายามเตรียมตัวสู้อยู่แล้วตั้งแต่สมัยพระเจ้ามินดุง

4 พออังกฤษมันชนะ มันก็เปลี่ยนจุดสนใจของชาวโลก ไปที่การฆ่าพระญาติ สร้างเรื่องเขียนเรื่องจน พระนางและพระสวามี เป็นตัวร้ายทำให้ พม่าพัง มันเข้ามาช่วย ยิ่งทำให้ผมเกลียดคนอังกฤษเข้าไปใหญ่

5 พวกเราเองก็มั่วแต่มอง เรื่องพระนางร้ายอย่างงู้นอย่างงี้ ตามหนังสือ พม่าเสียเมืองที่อ่านเอามันส์  และมั่นใจว่าแทบจะหลายคน ลืม ความลำบาก ขมขื่นของทั้งสองพระองค์ ช่วงที่ตกอยู่ในที่นั่ง ที่พวกอังกฤษ จุดไฟเผาอยู่ใต้บันลังก์

6 แล้วดูมันทำกับ วัง ของเค้า ประเทศของเค้าที่มีผลมาถึงปัจจุปัน

7 ตามที่ผมเคยลงไว้ ในหนังสือ glass palace ของ amita พอฝรั่งมันมาพูดกับพระนางว่า  พระนางเป็นฆาตรกร  พระนางถามกลับว่า ถ้าเราเป็นฆาตรกร แล้ว queen victoria ของพวกเจ้า หล่ะ เป็นอะไร ประโยคคำตอบของพระนางสั้นแต่อธิบายได้ว่า พระนางพูดน้อย ต่อยหนัก พอสมควร  (ถ้า conversation นี้มีจริง)

8 พวกรัตนชาติ ที่หายไป  ผมว่าก็อยู่บนมงกุฎของพวกโจรนั่นแหล่ะ
9 อยากขอโทษพระนางศุภยลัต จัง เรื่องที่ คิดว่าพระองค์เลวซะหมด แบบละคอน น้ำเน่า

แก้ไขเมื่อ 08 ต.ค. 52 16:27:35

จากคุณ: tinglee tingamee
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 16:21:13
ถูกใจ: thezircon, bangkokguy

 
 
 
ความคิดเห็นที่ 26  

==ที่ว่าฉบับ"คนพม่า"บันทึก ก็คืออ้างอิงมาจากฉบันนี้ค่ะ พงศาวดารโคนบ่องเซกมหาราชวงษ์หลวง เขียนโดยเจ้าชายมองติน==

 
 

จากคุณ: Aliz in Wonderland
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 16:31:13
  

 
 
 
ความคิดเห็นที่ 27  

ขอบคุณค่ะ คุณ tinglee tingamee ดิฉันเพียงแต่อยากเสนออีกมุมมองหนึ่งส่วนตัวเชื่ออย่างหนึ่งว่า คนเราคงไม่มีใครเล้วเลวไปเสียทั้งหมด ถ้าขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์ ใครๆก็มีสำนึกรักชาติของตนทั้งนั้น บางครั้งประวัติศาสตร์บ้านเราปนเปไปกับนิยาย ใส่สีตีไข่กันจนมัน พระเอกแสนดี ออกโง่ นางร้ายก็ร้ายเสียจนเหลือเชื่อ ขยำรวมกัน สุดท้ายเลี่ยงบาลีไปเรียกว่าตำนาน

จากคุณ: Aliz in Wonderland
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 16:45:43
  

 
 
 
ความคิดเห็นที่ 28  

เข้ามาแบบฉุกละหุก มีเวลาอ่านแค่สองย่อหน้าแรก
ไว้จะมาอ่านต่อ
แค่สองย่อหน้าแรก ก็น่าสนใจแล้ว
ที่บอกว่าพม่าส่งคนไปเรียนต่างประเทศเพื่อเรียน
เรื่องการทำอาวุธ ยังสงสัยเลยว่า แล้วสมัยที่ ร. ๕
ส่งพระเจ้าลูกยาเธอหลายองค์ไปเรียนที่ต่างประเทศ
พวกฝรั่งไม่ขัดขวางหรือระแวงมั่งเหรอ

จากคุณ: Canossa
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 16:49:32
  

 
 
 
ความคิดเห็นที่ 29  

ดีค่ะ  ได้อ่านจากคนพม่าเอง  

หนังสือเล่มนี้คนเขียนๆปีไหนคะ  (ฉบับคุณมิกกี้  และเจ้าชาย)  ถ้าเคยอ่านพงศาวดารของไทยจะเห็นว่าคนเขียนจะไม่ใส่ข้อมูลในเชิงไม่ดีของเจ้าของตนค่ะ (รายละเอียดในทางลบมักไม่เขียน  มันเหมือนโครงกระดูกในตู้  อันนี้เคยอ่านจากหนังสือบันทึกของมจ.พูนฯ  ละเอียดมากหนังสือราชการไม่พูดถึงเลยแต่ของท่านมี  คงเพราะท่านไม่คิดว่าวันนึงจะถูกตีพิมพ์)

ส่วนตัวคิดว่าอังกฤษจงใจยึดพม่าชัดเจน  

รออ่านต่อนะคะ

จากคุณ: ป้ามีมี่
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 17:00:08
  

 
 
 
ความคิดเห็นที่ 30  
ขอบคุณค่ะ คุณป้ามีมี่ ที่เสนอแนะข้อมูล ส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นแบบนั้นนะคะ ใครๆก็ไม่อยากว่าคนของตัวเองใช่มั้ยคะ ประวัติศาสตร์บ้านไหนก็ต้องว่าคนของเราดีไว้ก่อน

เท่าที่เคยอ่านพงศาวดารพม่าบางช่วง พม่าเองก็บันทึก"แง่ลบ"ของกษัตริย์ตัวเองอยู่หลายช่วงทีเดียวค่ะ

อย่างช่วงที่กล่าวถึงการสำเร็จโทษพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ด้วยการบั่นพระศอ เพราะทรงเสวยน้ำจัณฑ์จนเสียสติ หรือการกล่าวถึงความไม่เอาไหนของพระเจ้านันทบุเรง หรือเรื่องพระมหาอุปราช (ลูกของพระเจ้านันทบุเรง ที่ชนช้างกับพระนเรศวร) ที่ขยันหาเรื่องให้พ่อร้อนใจ ด้วยการมีเรื่องกับอาๆๆไปทั่ว

ข้อมูลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มาจากฝั่งพม่าทั้งนั้นค่ะ น่าจะมีอย่างอื่นอีก เดี๋ยวนึกก่อนนะคะ

แก้ไขเมื่อ 08 ต.ค. 52 17:22:43

จากคุณ: Aliz in Wonderland
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 17:21:36
  

 
 
 
ความคิดเห็นที่ 31  

==หน้าปกโยเดียกับราชวงศ์พม่าค่ะ คุณป้ามีมี่==

 
 

จากคุณ: Aliz in Wonderland
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 17:38:06
  

 
 
 
ความคิดเห็นที่ 32  

ขอบคุณนะคะ  อยากอ่านจัง  สมัยอ่านเที่ยวเมืองพม่า  สมเด็จท่านได้อ่านข้อมูลทางฝั่งฝรั่ง  ตัวท่านเองก้พยายามresearchนะคะ  ถึงขนาดตามเจอเจ้านายพม่าแต่ท่านก็อายุมากแล้ว  ท่านว่าหูท่านตึงแล้ว  ต้องตะโกนใส่เพื่อคุยกัน

จากคุณ: ป้ามีมี่
เขียนเมื่อ: 8 ต.ค. 52 18:07:44
  

 
 
 


อ้างอิง
http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K8409694/K8409694.html