ร.๗ เสด็จฯ ภูเก็ต
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
ศุกร์, 23 มีนาคม 2018

 ร.๗ เสด็จฯภูเก็ต ๒๔๗๑

รัชกาลที่ ๗ เสด็จฯภูเก็ต พ.ศ.๒๔๗๑
(มห.ภูเก็จ 2322) 

วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๔๗๑ เวลา ๑๐.๐๐ น. เรือพระที่นั่งถึงอ่าวภูเก็ต เสด็จขึ้นบกไปประทับแรมที่พลับพลา เวลาค่ำเสด็จทอดพระเนตรการตกแต่งโคมไฟ

 

วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ เวลาเช้า เสด็จออกศาลารัฐบาล ม.อ.ท. หม่อมเจ้าสฤษดิเดช สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตอ่านคำถวายชัยแล้วเสด็จทอดพระเนตรสถานที่ราชการโดยที่มีพระราชดำรัสตอบ ความสำคัญว่า “ด้วยประเพณีการปกครองสยามถือสืบมาแต่โบราณว่า พระเจ้าแผ่นดินกับประชาชนย่อมร่วมทุกข์สุขเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” จึงได้เสด็จฯ มาเพื่อที่จะได้ทรงทราบกิจการในมณฑลด้วยพระองค์เองเพื่อประกอบพระราชภารกิจ “ในการปกครองบ้านเมืองให้ประชาชนทั้งหลายในมณฑลนี้มีความเจริญสุขยิ่งขึ้นไป” และรับสั่งเช่นเดิมเกี่ยวกับการที่มีชนต่างด้าวทั้งจีนและฝรั่งมาทำการขุดแร่ด้วยวิธีขุดที่เจริญขึ้นตามลำดับมา “ถ้าการค้าขายและการทำเหมืองแร่ได้ผลมาก รัฐบาลก็ได้ประโยชน์มากขึ้นด้วย ถ้าผลตกต่ำก็ต่ำลงด้วยกัน สำคัญอยู่แต่ให้มีความปรองดองด้วยเห็นอกกันในระวางบุคคลต่างหน้าที่และต่างจำพวก กับช่วยกันรักษาความเรียบร้อยแลความสุขของบ้านเมือง...” [16]เสด็จศาลยุติธรรมประทับบัลลังก์ทรงฟังการชำระคดีถวาย ทรงลงพระบรมนามาภิไธยในคำพิพากษานั้น เวลาบ่ายเสด็จวัดโฆสิตวิหาร ประพาสบริเวณเมืองแล้วไปตามถนนสายตะวันตกถึงอ่าวฉลอง ทอดพระเนตรเรือขุดแร่ดีบุก นายเอ.เลียต หัวหน้าบริษัททุ่งคาฮาร์เบอร์ถวายของและกราบบังคมทูลชี้แจงกิจการแล้วประทับเรือยนต์ไปทอดพระเนตรเรือขุดทำการขุดแร่ในอ่าว แล้วเสด็จกลับสู่ที่ประทับแรม [17]

อนึ่ง การทำเหมืองแร่ดีบุก ในสยามเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องมา ในยุคแรกใช้แรงงานคนเป็นหลัก แล้วจึงใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ตามลักษณะเหมืองแต่ละประเภท เช่น เหมืองรูหรือเหมืองปล่องใช้การเจาะรูหรือปล่องให้คนลอดเข้าไปบนหินดินทรายออกมาเพื่อล้าง หาแร่ เหมืองฉีดใช้เครื่องดูดหินทรายปนแร่ขึ้นมาแล้วฉีดสู่รางกู้แร่ เหมืองสูบและการใช้เรือขุดต้องใช้เครื่องจักรทันสมัยที่มีราคาสูงมาก จึงเป็นของชาวตะวันตกโดยมาก นอกจากนั้น มีเหมืองหาบและเหมืองเจาะงัน เป็นต้น [18] พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จฯ เสด็จฯ ทอดพระเนตรการทำเหมืองประเภทต่าง ๆ ด้วยความสนพระราชหฤทัยและพระราชมานะ ดังจะเห็นได้ต่อไป

วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ เวลา ๑๐.๑๐ น. เสด็จฯ ตำบลกะทู้ ทอดพระเนตรการทำเหมืองแร่ด้วยเรือขุดขนาดใหญ่ของบริษัทกระทู้หินจนถึงเวลา ๑๒.๓๐ น. เสด็จกลับ เวลา ๒๐.๐๐ น. เสด็จเสวยพระกระยาหารค่ำที่ศาลารัฐบาล พ่อค้าจีนและแขกอินเดีย และผู้แทนนายเหมืองแร่เฝ้าฯ หัวหน้าพ่อค้าถวายพระพรชัยมงคล มีพระราชดำรัสตอบ ความตอนหนึ่งว่า “จีนกับไทยที่จริงเหมือนกันญาติกัน ด้วยร่วมศาสนาแลมีจารีตประเพณีคล้ายคลึงกัน...จีนที่เข้ามาอยู่ในประเทศสยามจึงเข้ากันได้สนิทสนม จนถึงร่วมสมพงศ์มีวงศ์วารเป็นไทยอยู่ในประเทศสยามเป็นอันมาก...ส่วนตัวเราก็ชอบจีน และปรารถนาจะรักษาประเพณีอันดีซึ่งมีมาแต่โบราณไว้ให้ถาวรสืบไป...พวกแขกชาวอินเดีย ถึงมีมาอยู่ในประเทศสยามน้อยกว่า จำนวนจีนก็ดีไทยเราถือว่าเป็นพวกที่ได้มีไมตรีกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ ศาสนาและขนบธรรมเนียมต่างๆ ของไทยก็ได้มาจากอินเดียเป็นพื้น...ควรหวังใจได้ว่าจะได้รับความอุปถัมภ์บำรุงในประเทศสยาม ไม่น้อยหน้ากว่าชาวอินเดียไปอยู่ในประเทศอื่น” [19]นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทรงมีพระราชปรารภถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมแต่กลมกลืนกันในสยามหนึ่งเดียว

รัชกาลที่ ๗ เสด็จ ภูเก็ต
  : สถาบันพระะปกเกล้า

ีร.๗ เสด็จฯ ฝั่งตะวันตก

ภาพ ร.๗ เสด็จฯ ภูเก็ต พ.ศ.๒๔๗๑ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี

ประวัติศาสตร์  ประวัติศาสตร์
(มห.ภูเก็จ 2322) 

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อาทิตย์, 25 มีนาคม 2018 )