ประชาธิปไตย : ราชัน กาญจนะวณิช
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พฤหัสบดี, 10 เมษายน 2008

ประชาธิปไตย

 

ราชัน กาญจนะวณิช
----------------


ผมไดยินคำว่า “ประชาธิปไตย” เป็นครั้งแรกสมัยเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 2 ที่โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ เมื่อได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ในชั้นแรกนั้นผมเข้าใจว่า ระบบประชาธิปไตย คือระบบที่ใช้เสียงส่วนมากเป็นวิธีตัดสินในการดำเนินชีวิตหรือในระบบการปกครอง

ต่อมาอีก 3 ปี เมื่อเพื่อนนักเรียนร่วมชั้นส่วนมากได้พิจารณาเห็นว่าไม่ควรเรียนภาษาฝรั่งเศส เราก็ใช้วิธีการต่อต้านครูผู้สอนด้วยวิธีการต่าง ๆ จนเราชนะไม่เรียนไม่รู้และไม่เข้าใจภาษาฝรั่งเศสสำเร็จตามระบบประชาธิปไตย ชัยชนะของเพื่อนเทพศิรินทร์ในครั้งนั้น ทำให้ผมเริ่มสงสัยว่าการใช้เสียงส่วนมากเป็นเครื่องตัดสินใจนั้นจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาต่างๆ ในทุกกรณีหรือไม่ การใช้เสียงส่วนมากตัดสินใจไม่เรียนภาษาฝรั่งเศสครั้งนั้นเป็นสิทธิของพวกผม และก็เข้าใจว่าไม่มีผลกระทบต่อผู้อื่นโดยตรง แต่เมื่อผมได้ศึกษาถึงระดับมัธยม 7 และ 8 ก็ได้เห็นว่าการตัดสินใจด้วยเสียงส่วนมากในรัฐสภา ซึ่งมีคณะราษฎรเป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวนั้นอาจะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกคณะราษฎร แต่ก็มีหลายครั้งที่มักจะมีผลกระทบอันไม่พึงปรารถนาต่อประชาชนส่วนใหญ่ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะมีเสียงส่วนมากในการพิจารณาตัดสินใจทุกครั้งไป ผมจึงเห็นว่าระบบประชาธิปไตยที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมนั้น น่าจะต้องฟังความเห็นส่วนมากจากผู้ที่เกี่ยวข้องหลายกลุ่มหลายคณะ เช่น การเรียนภาษาฝรั่งเศสของพวกผมนั้น ถ้าฟังความเห็นส่วนมากของคณะครูอาจารย์และความเห็นส่วนมากของผู้ปกครองที่เป็นผู้จ่ายค่าเล่าเรียนแล้ว พวกผมอาจแพ้ก็เป็นได้

เมื่อผมได้มีโอกาสไปศึกษาในมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.2483 จึงได้มีโอกาสได้อ่านได้ฟังคำที่ว่า CHECKS AND BALANCES ในระบบการปกครองในสหรัฐอเมริกา ซึ่งหมายความถึงการแบ่งอำนาจของหน่วยงานต่าง ๆ ให้สมดุลและเกื้อกูลต่อกัน เช่น การแบ่งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยมิให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีอำนาจล้นพ้นเข้ามาเป็นเผด็จการได้ สำหรับประเทศไทยนั้นนอกจากอำนาจ 3 ฝ่ายดังกล่าวแล้ว เรายังมีพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อันเป็นอำนาจตามประเพณีเก่าแก่มาช้านาน การที่รัฐบาลไทยและสภาผู้แทนราษฎรออกพระราชบัญญัติเวนคืนบรรดาศักดิ์และราชทินนามในปี พ.ศ. 2484 ก็แสดงให้เห็นถึงการขาดความสมดุลในอำนาจของฝ่ายต่าง ๆ ผู้ที่มีความรู้ทางกฎหมายหลายท่านมีความเห็นว่าการออกพระราชบัญญัติในครั้งนั้นเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีบัญญัติไว้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้และขัดกับพระราชบัญญัติขนานนามสกุลในการใช้ราชทินนามเป็นนามสกุล

 

ในการศึกษาประวัติศาสตร์ต่าง ๆ พอเชื่อได้ว่าชาวกรีกโบราณเป็นผู้ริเริ่มใช้ระบอบประชาธิปไตย แต่จะเริ่มในปีใดนั้นไม่ปรากฏชัด ผู้ร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตยให้แก่ชาวเอเธนส์คนแรกได้แก่ โซลอน (SOLON) ซึ่งมีชีวิตอยู่ก่อนพุทธกาลแลถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 4 เมื่ออายุได้ 99 ปี โซลอนเป็นคนที่ตั้งอยู่ในความสุจริตและยุติธรรม ในยุคที่บ้านเมืองกำลังปั่นป่วนเพราะคนรวยกับคนจนมีฐานะแตกต่างกันมาก กสิกรและคนจนเกือบทุกคนต้องตกเป็นลูกหนี้ของคนรวย การทำไร่ทำนาก็ต้องแบ่งผลผลิตให้เจ้าหนี้ถึง 1 ใน 6 หรือต้องขายลูกหรือตัวเองเป็นทาส พวกที่อพยพได้ก็อพยพหนีออกนอกประเทศ ไปให้พ้นความทุกข์ยากและความโหดร้ายของเจ้าหนี้ แต่พวกที่มีจิตใจเข้มแข็งก็รวมตัวกันคิดที่จะเปลี่ยนการปกครองลบล้างหนี้ ยึดเอาทรัพย์สมบัติและที่ดินของคนรวยมาจัดสรรแบ่งปันกัน ชาวเอเธนส์จึงเล็งเห็นว่าโซลอนน่าจะเป็นคนที่จะแก้ปัญหาของเมืองเอเธนส์ได้ เพราะคนรวยเห็นว่าโซลอนฐานะดีแต่ไม่ได้เป็นนายทุนหรือเจ้าหนี้และโซลอนก็เป็นผู้ที่มีความสุจริตยุติธรรมที่คนจนฝากความหวังเอาไว้ เมื่อชาวเอเธนส์ประสงค์จะให้โซลอนเป็นกษัตริย์ โซลอนก็ปฏิเสธ เพราะเขาไม่ใฝ่ฝันในตำแหน่งเช่นนั้น  และเขาไม่
ต้องการที่จะเอาใจหรือเกรงใจผู้ที่จะมอบอำนาจให้แก่เขา และเห็นว่าอำนาจและความยุติธรรมต้องเดินคู่กันไป โซลอนจึงรับเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ดีที่สุดให้แก่ชาวเอเธนส์แล้วหรือ เขากลับตอบว่าเขาได้ร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ดีที่สุด ที่ชาวเอเธนส์อาจจะรับได้ โซลอนได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยบางคนก็เล่าว่าได้มีการยกเลิกหนี้สิน และห้ามมิให้เอาอิสรภาพของชีวิตมนุษย์มาเป็นเครื่องค้ำประกันในการกู้ยืม แต่โซลอนก็มิได้โอนอ่อนตามเสียงเรียกร้องของคนจนที่จะให้มีการยึดที่ดินของคนรวยมาจัดสรรแบ่งปันกันใหม่ เขาจึงไม่ได้เป็นขวัญใจของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ทางด้านกฎมายต่าง ๆ นั้น โซลอนก็ได้ยกเลิกกฎหมายต่าง ๆ ที่ เดรโค (DRACO) ได้เคยประกาศใช้เพราะเข้มงวดเกินไป ในสมัยเดรโค การลงโทษส่วนใหญ่คือการประหารชีวิต ผู้ต้องหาว่าเกียจคว้านหรือลักเล็กขโมยน้อยก็เคยถูกลงโทษประหารชีวิตเช่นเดียวกับฆาตกร

ตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ เช่น ผู้พิพากษานั้น โซลอนกำหนดไว้ว่าจะต้องเลือกจากผู้มีทรัพย์สินและเสียภาษีให้รัฐ แต่คนจนที่ไม่มีทรัพย์สมบัติที่จะเสียภาษีไม่มีสิทธิได้รับตำแหน่งในการปกครอง ก็ยังสามารถทำหน้าที่เป็นลูกขุนในการพิจารณาคดีได้ ข้อพิพาทใด ดๆ ที่ผู้พิพากษาได้ตัดสินไปแล้ว ถ้าผู้ถูกลงโทษไม่พอใจก็สามารถอุทธรณ์ต่อศาลที่มีลูกขุนจำนวนมากเป็นผู้พิจารณาได้ ศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงเป็นกำลังสำคัญของมหาชนผู้ยากไร้ โซลอนถือหลักว่าบ้านเมืองจะน่าอยู่เป็นสุขได้ก็ต่อเมื่อประชาชนส่วนใหญ่พร้อมที่จะพิจารณาลงโทษจำเลยอย่างยุติธรรมโดยไม่ปล่อยให้เจ้าทุกข์เรียกร้องความยุติธรรมแต่ผู้เดียว โซลอนได้ตั้งสภาซึ่งมีสมาชิกถึง 400 คน เพื่อพิจารณาปัญหาต่าง ๆ ก่อนที่จะเสนอต่อประชาชน และรักษาไว้ซึ่งสภาสูงที่มีหน้าที่สอดส่องดูแลรักษากฎหมาย โซลอนเป็นผู้นำคนแรกที่ได้ประกาศให้มีพินัยกรรมที่ผู้ตายสามารถยกทรัพย์สินให้แก่ผู้ใดก็ได้ตามใจชอบ เพราะก่อนหน้านั้นมรดกย่อมตกทอดอยู่ภายในสมาชิกภาพของครอบครัว นอกจากนั้นโซลอนยังได้ให้สิทธิแก่สตรีอย่างไม่เคยได้รับมาก่อน กฎหมายต่าง ๆ เหล่านี้โซลอนได้จารึกไว้บนแผ่นไม้และเมื่อได้ประกาศใช้แล้ว โซลอนเองก็ได้เดินทางออกจากเอเธนส์ไปพำนักอยู่ในประเทศอียิปต์

กษัตริย์ครีเซส (CROESUS) ผู้เคยเกลียดชังโซลอน เพราะโซลอนไม่สนใจในทรัพย์สมบัติและความยิ่งใหญ่ของพระราชา ก็ยังร้องเรียกขื่อโซลอนเมื่อถูกกองทัพของพระเจ้าไซรัสจากเปอร์เซียจับเพื่อจะฆ่า พระเจ้าไซรัสจึงสนพระทัยถามกษัตริย์ครีเซสว่าโซลอนนั้นเป็นใครสำคัญไฉน กษัตริย์ครีเซสจึงตรัสว่าเราได้หลงในทรัพย์สินศฤงคารมิได้เชื่อฟังโซลอน มาบัดนี้จะถึงอวสานจึงเข้าใจว่าความหลงของเรานั้นเป็นทุกข์อย่างยิ่งที่จะต้องสูญสิ้นทรัพย์สมบัติ พระเจ้าไซรัสจากเปอร์เซียจึงได้ไว้ชีวิตกษัตริย์ครีเซสผู้ระลึกธรรมได้จนเป็นที่เล่าสืบกันมาว่า โซลอนสามารถช่วยชีวิตกษัตริย์ได้พระองค์หนึ่งและสอนธรรมให้แก่กษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งพร้อม ๆ กัน

ถึงแม้ชาวกรีกโบราณจะได้เป็นผู้เริ่มใช้ระบอบประชาธิปไตยมากว่าสองพันปีแล้ว แต่ระบอบประชาธิปไตยก็มิได้พัฒนาเจริญรุ่งเรืองในประเทศกรีก เพราะการรุกรานและสงครามอันไม่สุดสิ้น

ชัยชนะของสหประชาชาติในสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นเครื่องกระตุ้นให้ระบอบประชาธิปไตยได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นอีก แต่ประเทศที่นิยมลัทธิสังคมนิยมบางประเทศยังคงใช้อำนาจเผด็จการแอบแฝงอยู่ แม้แต่ในประเทศไทยความพยายามที่จะสร้างระบอบประชาธิปไตยก็ถูกยับยั้งโดยอำนาจเผด็จการทหาร นายกรัฐมนตรีที่รักษาตำแหน่งได้นานพอให้มหาชนรู้จักได้ ก็ล้วนแต่มาจากกองทัพบกทั้งสิ้น นับตั้งแต่ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนรัตน์ จอมพลถนอม กิตติขจร พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ตลอดจนพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

ผมเคยไดรับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาเทศบาล และเคยรับตำแหน่งเทศมนตีของเทศบาลเมืองภูเก็ต 2 สมัย ก็ได้ประสบการณ์ในระดับท้องถิ่น เห็นประโยชน์ของระบอบประชาธิปไตย และการมีฝ่ายค้านที่จะคอยตักเตือนมิให้ฝ่ายบริหารหลงอำนาจมากเกินไปแต่ก็ทำให้เห็นจุดอ่อนของการให้เทศมนตรีเข้าไปทำหน้าที่บริหาร แทนที่จะปล่อยให้พนักงานเทศบาลดำเนินงานบริหารภายใต้การควบคุมของคณะเทศมนตรีหรือสภาเทศบาลในระบบของสภาจังหวัดอำนาจบริหารยังคงเป็นของผู้ว่าราชการจังหวัด ฉะนั้นในสมัยที่ผมเป็นประธานสภาจังหวัดภูเก็ตในปี พ.ศ. 2500 สภาจังหวัดจึงทำหน้าที่คล้ายที่ปรึกษาให้แก่จังหวัด

ในการพิจารณาที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในขณะนี้ ระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยจึงจำเป็นที่จะต้องอาศัยการถ่วงดุลระหว่างพระราชอำนาจของกษัตริย์ อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ และฝ่ายทหาร ถ้าจะให้รัฐธรรมนูญนั้นยืนยงอยู่ได้นานพอสมควร และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ รัฐธรรมนูญไทยคงจะไม่เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด แต่น่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดที่คนไทยรับได้ เราเข้าใจผิดมานานแล้วว่า ประชาธิปไตยคือการปกครองของประชาชน เพื่อประชาชน และโดยประชาชนนั้นหมายถึงการเลือกคนธรรมดาเข้าไปปกครองประเทศ คนธรรมดา หรือ COMMON MAN ไม่ใช่ผู้นำที่มีความรอบรู้มีวิสัยทัศน์ หรือซื่อสัตย์พอที่จะชี้ทางนำประเทศชาติให้เจริญไปได้ ในการเดินเรือกัปตันเรือจะต้องเป็นผู้นำ และไม่จำเป็นต้องปรึกษาและเชื่อฟัง เสียงส่วนมากของลูกเรือถ้าเชื่อฟังกระแสแล้ว โคลัมบัสคงไม่สามารถแล่นเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปทวีปอเมริกาได้สำเร็จ เช่นเดียวกันสโมสรไลออนส์ซึ่งจำเป็นจะต้องมีนายกที่เป็นผู้นำไม่ใช่ผู้ตามกระแสเสมอไป