น้ำตาล ฝิ่นและข้าว : ราชัน กาญจนะวณิช
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พฤหัสบดี, 10 เมษายน 2008

น้ำตาล ฝิ่น และข้าว

ราชัน กาญจนะวณิช
----------------

น้ำตาล ฝิ่น และ ข้าว อะไรเป็นสินค้าออก หรือสินค้าเข้าที่สำคัญของคนไทยทั้งนี้ย่อมแล้วแต่กาลสมัย ตั้งแต่เดิมมา น้ำตาลของไทย คือผลผลิตจากต้นตาลโตนดซึ่งเป็นต้นไม้สูง (BORASSUS FLABELLI FERA) คล้ายต้นมะพร้าว นอกจากใบตาลที่มีลักษณะคล้ายพัด และใช้ประโยชน์ได้ทั้งลำต้น ใบ และลูกตาล คนไทยอาศัยน้ำหวานที่ออกจากงวงหรือช่อดอก เรียกว่า น้ำตาลสด มาทำน้ำตาลปึกและขนมหวานต่าง ๆ ได้ แม้แต่ตาลปัตรที่พระภิกษุในพุทธศาสนาใช้ในพิธีกรรม ก็คือพัดใบตาลที่มีด้ามยาว ต้นตาลโตนดนั้นมีปลูกกันแพร่หลาย แต่ไม่มีทั่วไปในประเทศ ที่ภูเก็ตเคยปลูกกันมากที่หาดสุรินทร์และบางเทา พอใช้ทำขนมหวาน จังหวัดเพชรบุรีปลูกกันมากจนขนมหวานของเพชรบุรีมีชื่อเสียง เช่น ขนมหม้อแกง บ้าบิ่น ปะกริมไข่เต่า ฯลฯ

ส่วนน้ำตาลที่ทำจากอ้อยนั้น ไม่มีหลักฐานว่าเริ่มมีแพร่หลายในสมัยใด ตามประวัติศาสตร์ ในรัชสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร.2) ก็มีเอกสารอ้างอิงว่าไทยมีน้ำตาลที่จะขายให้ จอห์น ครอเฟิร์ด (JOHN CRAWFURD) ผู้แทนอังกฤษได้เป็นจำนวนมาก น้ำตาลที่คนไทยเสนอขายในครั้งนั้น ไม่ใช่น้ำตาลที่ทำจากตาลโตนด เพราะน้ำตาลจากต้นตาลโตนดนั้นมีปริมาณจำกัด และเหมาะสำหรับทำขนมหวานแบบไทยเท่านั้น น้ำตาลที่เสนอขายนั้นคงจะเป็นน้ำตาลที่ทำจากอ้อย ที่ชาวจีนนิยมปลูกในต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ในสมัยรัชกาลที่ 3 ทางอังกฤษได้พยายามส่งทูตพาณิชย์มาเจรจาเพื่อเปิดประตูการค้ากับไทย เริ่มด้วยการส่งนายร้อยเอกเฮนรี เบอร์นี จากปีนังมาเจรจากับไทยเรื่องปัญหาแหลมมลายู ในปี ค.ศ.1825 (พ.ศ.2368) สัญญาที่รัฐบาลไทยลงนามร่วมกับเฮนรี เบอร์นีนั้นเป็นสัญญาระหว่างชาติที่เคารพอธิปไตยของแต่ละฝ่ายที่จะทำการค้าขายตามประเพณี และเคารพสิทธิของรัฐบาลไทยที่จะห้ามมิให้มีการนำฝิ่นเข้ามาจำหน่ายในพระราชอาณาจักรสยาม

 

การทำสัญญากับร้อยเอกเฮนรี เบอร์นี ครั้งนั้นได้เปิดประตูให้ ทูตานุทูตต่าง ๆ จาก 6 ประเทศได้เข้ามาทำสัญญาค้าขายกับไทย ในช่วงปี ค.ศ.1826 ถึง 1830 (พ.ศ.2369 ถึง 2373) ทั้ง ๆ ที่ในสมัยนั้นประเทศสยามยังไม่มีข้าวพอที่จะส่งเป็นสินค้าออกได้แต่น้ำตาลก็ยังคงเป็นสินค้าที่นานาประเทศต้องการ

ในปี ค.ศ. 1840 รัฐบาลไทยได้จับเรือจีน 2 ลำ ที่นำฝิ่นจากสิงคโปร์มาขายในเมืองไทย ก็ได้เกิดกรณีพิพาทเพราะเรือที่นำฝิ่นมานั้นเป็นของคนจีนในบังคับสิงคโปร์ของอังกฤษ ซึ่งในที่สุดฝ่ายไทยก็ต้องปล่อยเรือสองลำนั้นไป เพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากกับอังกฤษ เพราะอังกฤษได้แผ่แสนยานุภาพเข้ามาในเอเชีย จนกระทั่งพม่าได้ถูกปราบไปในปี ค.ศ.1826 (พ.ศ.2369) และแม้แต่จีนก็ต้องยอมจำนนต่ออิทธิพลของอังกฤษในปี ค.ศ.1840 (พ.ศ.2383) เพราะพ่อค้าอังกฤษในสมัยนั้นมีความเห็นว่า ประเทศสยามเป็นประเทศเล็ก ๆ ที่น่าจะยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ประเทศใหญ่เช่นจีนได้ยินยอมไว้แล้ว

ในปี ค.ศ. 1844 (พ.ศ.2387) ได้เกิดกรณีพิพาททางการค้าระหว่างไทยกับนายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ (ROBERT HUNTER) พ่อค้าชาวอังกฤษซึ่งได้ขอให้รัฐบาลอังกฤษส่งเรือรบมาตัดสินข้อพิพาท แต่รัฐบาลอังกฤษมิได้ตอบสนอง

ในปี ค.ศ.1850 (พ.ศ.2393) ทางอังกฤษได้ส่งเซอร์ เจมส์ บรุค (SIR JAMES BROOKE) ในฐานะผู้แทนของสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียของอังกฤษ เข้ามาเพื่อเจรจาทำการค้ากับฝ่ายไทย แต่ในชั้นต้นฝ่ายไทยยังคงยืนยันเงื่อนไขที่ทำไว้ตามสัญญากับร้อยเอกเบอร์นี เมื่อปี ค.ศ.1826 (พ.ศ.2369) แต่เซอร์ เจมส์ บรุค ก็ยืนยันว่าเขามีอำนาจจากสมเด็จพระราชินีอังกฤษ และขอให้ฝ่ายไทยยกเลิกการห้ามส่งข้าวออกนอกประเทศและเรียกร้องให้คนในบังคับอังกฤษขึ้นศาลกงสุลอังกฤษ แต่ฝ่ายไทยก็ยังคงยืนยันที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้กับร้อยเอกเฮนรี เบอร์นี เซอร์ เจมส์ บรุค จึงต้องกลับมือเปล่า ประเทศสยามก็ยังไม่ยอมส่งข้าวไปขายต่างประเทศ จะขายก็แต่น้ำตาลซึ่งเป็นสินค้าออกที่สำคัญส่วนฝิ่นที่อังกฤษถือว่าเป็นสินค้าสำคัญของอินเดียนั้น ทางกรุงรัตนโกสินทร์นั้นไม่ยอมให้นำเข้ามาในประเทศสยาม

การที่ เซอร์ เจมส์ บรุค ต้องเดินทางกลับไปจากประเทศสยามโดยไม่สามารถเจรจาแก้ไขสัญญาเดิมได้เลย จึงเป็นที่เข้าใจกันว่า เซอร์ เจมส์ บรุค คงจะกลับมาอีกพร้อมทั้งเรือรบอังกฤษเพื่อแก้ไขสัญญาให้สำเร็จ แต่เมื่อสิ้นแผ่นดินพระนั่งเกล้าแล้ว ทางอังกฤษเชื่อว่า พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีพระปรีชาสามารถเข้าใจเหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลกได้ดี จึงส่งเซอร์ จอร์น เบาริง (SIR JOHN BOWRING) เป็นผู้แทนสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียเข้ามาเจรจาทำสัญญากับฝ่ายไทยอีกครั้งหนึ่งในปี ค.ศ.1855 (พ.ศ.2398) และไทยก็ได้โอนอ่อนตามคำเรียกร้องของอังกฤษ หลักใหญ่ของสัญญาการค้าใหม่ ก็คือ ภาษีศุลกากรให้เก็บในอัตราร้อยละ 3 และให้อังกฤษมีสิทธินำฝิ่นเข้ามาขายในเมืองไทยได้โดยมิต้องเสียภาษี และให้คนไทยในบังคับอังกฤษขึ้นศาลกงสุลอังกฤษ สัญญาฉบับนี้จึงเป็นแบบฉบับและหลักการที่ประเทศสยามจำเป็นต้องนำมาใช้กับประเทศอื่น ๆ ทั้งจากอเมริกาและยุโรป ในช่วง 50 ปีต่อมา เป็นที่น่าสังเกตว่า เซอร์ จอร์น เบาริง ได้รายงานไว้ว่าน้ำตาลจะเป็นพืชผลทางเศรษฐกิจและสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ตั้งแต่นั้นมาคนจีนในประเทศสยามก็สูบฝิ่นกันได้โดยเสรี แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า หลักฐานทางภูเก็ต แสดง
ว่าได้มีการนำฝิ่นเข้ามาใช้ในหมู่ชาวจีนที่ทำเหมืองแร่ ตั้งแต่ต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

แต่เมื่อถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ก็ปรากฏว่าประเทศสยามได้กลายเป็นลูกค้าที่ต้องซื้อน้ำตาลจากยุโรป ดังปรากฏในเอกสารที่ทางราชการได้เผยแพร่ในการแสดงสินค้านานาชาติ ที่เมืองเซนต์หลุยส์ ในปี ค.ศ.1904  (พ.ศ.2447) ซึ่งกล่าวว่าว ประเทศสยามเคยปลูกอ้อยอย่างกว้างขวางในต้นศตวรรษที่แล้ว แต่อนาคตของอุตสาหกรรมน้ำตาลก็มิได้ขยายตัวดังคำพยากรณ์ของเซอร์ จอร์น เบาริง แต่กลับทรุดลงดังที่ได้เกิดขึ้นในดินแดนหลายแห่ง เพราะไม่สามารถแข่งขันกับการผลิตน้ำตาลจากหัวบีทในยุโรปได้ ถึงแม้จะยังมีการปลูกอ้อยอยู่ในประเทศสยาม ก็เพียงแต่ปลูกใช้เล็ก ๆ น้อย ๆ ร่วมกับการใช้น้ำตาลจากต้นโตนดและจากมะพร้าว ในเอกสารดังกล่าว ยังแสดงตัวเลขการสั่งน้ำตาลทรายจากต่างประเทศ ไว้ด้วยดังนี้ :-


   ค.ศ.1900  ค.ศ.1901   ค.ศ.1902

           บาท        บาท        บาท

น้ำตาล      1,714,833   1,449,630   2,061,257

แต่การส่งข้าวไปขายต่างประเทศ

               ได้ขยายตัวมากขึ้นดังนี้             37,469,597                      60,268,327                        69,846,978


ในยุคที่เกิดสงครามในยุโรปที่กษัตริย์นโปเลียนของฝรั่งเศสได้แผ่อำนาจไปทั่วภาคพื้นทวีป แต่ก็คงมีกองทัพเรืออังกฤษที่สามารถปิดเส้นทางการค้าทางทะเล มิให้ฝรั่งเศสสามารถติดต่อกับดินแดนทางทวีปอเมริกาได้ เช่นเดียวกันกับในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ฝ่ายสหประชาชาติได้ปิดวงล้อมทางทะเล มิให้ฮิตเลอร์นำสินค้าเข้าจากด้านมหาสมุทรแอตแลนติกได้ ชาวยุโรปเคยได้สั่งซื้อน้ำตาลจากหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียนได้ แต่เมื่อเกิดปัญหาที่ทัพเรืออังกฤษขัดขวางการเดินเรือ ชาวยุโรปก็เรียกร้องรสหวานที่เคยได้รับ กษัตริย์นโปเลียนจึงได้ประกาศให้มีการส่งเสริมการผลิตน้ำตาลจากหัวผักกาดบีทเป็นการใหญ่

เมื่อชาวยุโรปหันมาปลูกหัวผักกาดบีทกันมากขึ้นและสามารถใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยจนกระทั่งสามารถผลิตน้ำตาลได้ล้นตลาดในปลายคริสศตวรรษที่ 19 คือต้นรัชกาลที่ห้า คนปลูกไร่อ้อยในประเทศสยามไม่ได้รับการสนับสนุนให้แข่งขันกับน้ำตาลจากต่างประเทศเพราะคนไทยกำลังระดมกำลังปลูกข้าว ก็พากันเลิกทำไร่อ้อย และประเทศสยามก็จำเป็นต้องสั่งซื้อน้ำตาลทรายจากต่างประเทศอยู่หลายสิบปี จนกว่าจะได้มีการฟื้นฟูอุตสาหกรรมน้ำตาลใหม่ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยยอมซื้อน้ำตาลที่ผลิตเองที่แพงกว่าของต่างประเทศ มาในขณะนี้จะเห็นได้จากตารางราคาน้ำตาลทรายทั่วโลก เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2541 ปรากฏว่าประเทศยุโรปไม่สามารถผลิตน้ำตาลมาแข่งขันกับหมู่เกาะแคริบเบียนหรือบราซิลหรือไทยได้ เพราะราคาสูงกว่ามาก และประเทศไทยควรจะส่งเสริมให้มีการผลิตน้ำตาลส่งออกไปขายต่างประเทศให้มากขึ้นในยามที่เรากำลังต้องการเงินตราต่างประเทศไปใช้หนี้ที่รัดพันเราอยู่ในทุกวันนี้ โดยไม่ปล่อยให้การเมืองทำลายอุตสาหกรรมเกษตรแขนงนี้อีก

ราคาน้ำตาลทรายทั่วโลก วันที่ 1 มกราคม 2541

ประเทศ     ราคาต่อกิโลกรัม    คิดเป็นเงินบาท

อังกฤษ     0.7 – 0.8 ปอนด์     59.89 – 68.44

เยอรมันนี         1.89 มาร์ค            53.97

เบลเยี่ยม         46.76 ฟรัง            65.36

นอร์เวย์        11.50 โครน            79.52

สวิสเซอร์แลนด์         1.50 ฟรัง            53.17

แคนาดา           0.845 – 0.995 ดอลลาร์    30.56 – 35.98

สหรัฐอเมริกา           0.887 – 1.0536 ดอลลาร์    45.88 – 55.13

บราซิล          0.62 รีอัล            32.44

อัฟริกาใต้          3.3 แรนต์            34.97

ออสเตรเลีย        1.16 เหรียญ            41.73

นิวซีแลนด์        1.19 เหรียญ            37.08

ฟิจิ (ภายใน)        0.34 เหรียญ            13.95

ฟิจิ (สั่งเข้า)        0.87 เหรียญ            37.47

จีน     6 หยวน            38.58

ฮ่องกง            8.82            59.62

อินเดีย         11.4 รูปี (ราคาควบคุม)           17.36

อินเดีย      15.5 – 16.5 รูปี (ตลาดเสรี)    23.61 – 25.13

อินโดนีเซีย (สั่งเข้า)            1600 – 3000 รูเปีย      8.61 – 16.14

ญี่ปุ่น    215 – 225 เยน     89.12 – 93.27

เกาหลี       713 วอน            24.53

ฟิลิปปินส์        22 เปโซ            27.21

สิงคโปร์               0.90 เหรียญ            27.61

ไต้หวัน       33 เหรียญ            51.16

ไทย         13.5 บาท (ราคาควบคุม)           13.50

(อัตราแลกเปลี่ยน 52.32 – มิตซุย บางกอกโพสต์ 22 ก.พ. 2541)


ในปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวได้เป็นอันดับหนึ่งของโลก และส่งออกน้ำตาลได้อยู่ในชั้นแนวหน้า ส่วนด้านฝิ่นที่เคยถูกอังกฤษบังคับให้สั่งเข้านั้นไทยก็กลายเป็นดินแดนที่มีการส่งยาเสพย์ติดผ่านออกสู่ตลาดโลกแหล่งสำคัญ ถึงแม้ฝิ่นจะไม่เป็นที่นิยมของตลาดโลกในปัจจุบัน แต่อนุพันธ์ของฝิ่นก็ยังครองตลาดอยู่ ภูเก็ตคงไม่มีบาทบาทในปัจจุบันในสินค้าทั้งสามประเภทนี้