อำพัน : ราชัน กาญจนะวณิช
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พุธ, 09 เมษายน 2008

อำพัน

ราชัน กาญจนะวณิช
----------------

หนังสือเก่า ๆ ที่เล่าถึงเกาะถลางหรือเกาะภูเก็ต มักจะกล่าวถึงความอุดมสมบูรณ์ของภูเก็ตว่า มี ดีบุก อำพัน และไข่มุก ทำให้เป็นที่น่าสนใจว่า ทั้งดีบุกและไข่มุกนั้นยังมีปรากฏอยู่ในภูเก็ต แต่ที่เรียกว่า “อำพัน” นั้นหายไปไหน

ก่อนอื่นเราจะต้องศึกษาเสียก่อนว่า “อำพัน” นั้นคืออะไร พจนานุกรมของอำมาตย์เอก พระอาจวิทยาคม กล่าวว่า อำพัน คือ AMBER-A FOSSIL RESIN OCCURRING GENERALLY IN SMALL DETACHED MASSES IN ALLUVIAL DEPOSITS หรือ อำพันขี้ปลา A KIND OF AMBER USED MEDICINALLY ส่วนพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 กล่าวไว้ว่า อำพัน น. ยางไม้ที่กลายเป็นหิน สีเหลืองใสเป็นเงา อำพันขี้ปลา อำพันทอง น. วัตถุสีเทาและสีเหลือง มีกลิ่นหอม ลอยอยู่ในทะเลหรือริมฝั่งทะเลของประเทศแถบร้อน เข้าใจว่าเป็นขี้ปลาวาฬชนิดหนึ่งใช้เป็นเครื่องยาไทย หนังสือต่างประเทศมักจะเรียก “อำพัน” ที่เก็บได้จากฝั่งทะเลด้านตะวันตกของเกาะภูเก็ต นั้นว่า AMBERGRIS และไม่เรียกว่า AMBER

 

อำพันแท้ที่ใช้เป็นเครื่องประดับนั้นเป็นซาก (FOSSIL) ของยางสนจากต้นสนชนิดหนึ่งซึ่งบัดนี้ได้สูญพันธ์ไปแล้ว ซากยางสนชนิดนี้พบจมทรายอยู่ตามฝั่งทะเลบอลติกในยุโรปตอนเหนือ ประมาณอายุได้ 60 ถึง 70 ล้านปีในยุคเทอร์ซิอารี (TERTIARY) ตามระบบธรณีวิทยา ชื่อภาษาอังกฤษนั้นมาจากภาษาสเปนและอาหรับที่เรียกว่า AMBER ทางด้านแร่บางครั้งถือว่าอำพันเป็นแร่ SUCCINITE ซึ่งมาจากภาษาลาติน SUCCINUM และ SOCCUS ที่แปลว่ายางไม้ ตำนานกรีกโบราณ เล่าว่า อำพันเป็นหยดน้ำตาของบรรดาน้องสาวของเฟอะธัน (PHAETHON) ที่ต้องถูกสาปเป็นต้นไม้หลังจากที่เฟอะธันต้องถูกซีอุส (ZEUS) บันดาลฟ้าผ่าเฟอะธันตาย เพราะเฟอะธันขับรถพระอาทิตย์โดยประมาทจนชาวโลกและชาวสวรรค์ต้องหวั่นไหว นับตั้งแต่สมัย 9,000 ปีก่อนคริสกาล มนุษย์ได้ใช้อำพันเป็นเครื่องประดับและเครื่องยาแก้โรคภัยต่าง ๆ สตรียุคโรมันใช้อำพันเป็นเครื่องปกป้องคาถาสาปแช่งต่าง ๆ ได้พบอำพันตามหลุมฝังศพโบราณทั้งในประเทศอังกฤษและกรีก ในยุดที่กรีกและโรมันรุ่งเรืองได้มีการค้าอำพันส่งไปขายถึงดินแดนในทะเลดำ

ในบรรดาซากยางสนต่าง ๆ อำพันเป็นที่รู้จักกันดีที่สุด เพราะมีสีจากเหลืองอ่อนจนถึงสีน้ำตาลแก่ มีความถ่วงจำเพาะประมาณ 1.05 ทรากยางสนอื่น ๆ เช่น GUM COPAL จากอัฟริกา หรือ KAURI GUM จากนิวซีแลนด์นั้นใช้ในการทำน้ำยาขัดเงาเป็นส่วนใหญ่ โครงสร้างของอำพันนั้นไม่มีผลึก (NON CRYSTALLINE) มีความแข็งแรงเพียง 2.5 และมี REFRACTION INDEX เท่ากับ 1.53-1.55 เป็นฉนวนไฟฟ้าอย่างดี ถ้าถูไถแล้วจะมีประจุไฟฟ้าสถิตได้ง่าย ถ้าใช้กล้อง UV ส่องจะเรืองแสง

ฉะนั้น อำพัน ที่พบที่ภูเก็ตคงไม่น่าจะเป็น AMBER หรือทรากยางสน ส่วนอำพันขี้ปลา หรือ AMBERGRIS นั้นเป็นสารที่เกิดในลำไส้ปลาวาฬชนิด SPERM WHALE ซึ่งเคยพบในทะเลด้านภูเก็ต เมื่อประมาณ 25 ปี มาแล้วก็มีปลาวาฬชนิดนี้ตัวหนึ่งมาเกยหาดนอนตายอยู่ที่หาดสุรินทร์ เข้าใจว่า AMBERGRIS เกิดจากกระดูกปลาหมึกที่เรียกว่าลิ้นทะเล ซึ่งปลาวาฬย่อยได้ไม้ AMBERGRIS สด ๆ มีสีดำ นุ่ม และมีกลิ่นเหม็น แต่เมื่อถูกคลื่นและแสงแดดนาน ๆ เข้า จะเปลี่ยนสีเป็นสีเทาและมีกลิ่นหอม พบกันมากตามฝั่งทะเลในประเทศจีน ญี่ปุ่น อินเดีย อัฟริกา ไอร์แลนด์ ทวีปอเมริกา และตามเกาะต่าง ๆ ในเขตร้อน พบมากที่สุดในหมู่เกาะบาฮามา นอกจากนั้นแล้วก็ได้ AMBERGRIS จากนักล่าปลาวาฬ ส่วนใหญ่ AMBERGRIS ชิ้นหนึ่ง ๆ จะมีน้ำหนักประมาณ 50-60 กรัม แต่ก็เคยมีคนพบที่หนักถึง 200 กิโลกรัม ในทวีปเอเชียก็มีการเก็บเอา AMBERGRIS มาตั้งแต่สมัยโบราณ เพื่อใช้ในการทำยาและทำน้ำหอม และต่อมาการใช้ก็ได้แพร่หลายเข้าไปในยุโรป ในปัจจุบันมีการใช้ผสมเครื่องเทศในการปรุงอาหารและเหล้า ส่วนยุโรปใช้ในการผสมน้ำหอม ส่วนมากจุนำมาตำเป็นผงแล้วละลายในแอลกอฮอล หลังจากเก็บไว้ประมาณ 6 เดือนแล้วจึงกรอง เพื่อผสมในน้ำมันดอกไม้ ทำให้มีกลิ่นหอมคงทนขึ้น

จึงเชื่อได้ว่า อำพัน ที่กล่าวถึงในรายงานเก่า ๆ เกี่ยวกับภูเก็ตนั้น เป็น AMBERGRIS หรือเป็น อำพันขี้ปลา และคงไม่หายไปไหน แต่สมัยนี้หาปลาวาฬดูยาก จึงไม่ค่อยพบ อำพันขี้ปลา