ทุพลภาพ : ราชัน กาญจนะวณิช
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อาทิตย์, 16 มีนาคม 2008

ทุพพลภาพ

ราชัน กาญจนะวณิช

-----------------

นับตั้งแต่ผมกลับมาเข้ารับราชการในประเทศไทย ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2490 เหตุการณ์ต่าง ๆ ทำให้รู้สึกว่าไม่มีความสงบในวงราชการของไทย ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ได้มีรัฐประหารโดยคณะทหารร่วมกับนักการเมืองอนุรักษ์นิยมซึ่งได้ทำให้วงราชการปั่นป่วนยิ่งขึ้น เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล ก็ย่อมีการเปลี่ยนตัวอธิบดีและข้าราชการสำคัญ ๆ ไปด้วย วงการเมืองของไทยแตกเป็นสี่ก๊ก คือฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ร่วมกับหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ฝ่ายคณะรัฐประหาร ฝ่ายอนุรักษ์นิยมของนายดวง อภัยวงศ์ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการเก่าและนักการเมืองใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ และคณะทหารฝ่ายจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยที่ทั้งสามฝ่ายหลังได้พยายามกำจัดอิทธิพลฝ่ายแรก รวมทั้งหัวหน้าเสรีไทยจากภาคอีสานที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์

 

ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2491 ได้มีการปราบปรามนายทหารเสนาธิการที่พยายามเปลี่ยนระบบทหารไม่ให้เข้าไปค้าขาย และต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ก็มีการพยายามล้มอำนาจรัฐบาลที่เรียกกันว่า กบฏวังหลวง จนกระทั่งได้เกิดฆาตกรรมอดีตรัฐมนตรี 4 นายและบุคคลสำคัญอื่น ๆ อีก 2-3 นาย เมื่อกำจัดอำนาจของนายปรีดี พนมยงค์ได้สำเร็จแล้ว คณะรัฐประหารก็ลงมือปราบปรามกองทัพเรือ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 เพราะกองทัพเรือไม่สนับสนุนคณะรัฐประหาร

ความแตกแยกในคณะรัฐประหารเองก็เริ่มเป็นรอยร้าวมากขึ้น เพราะการใช้อำนาจแย่งกันทำมาหากินโดยมิชอบ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2493 จอมพลผิน ชุณหวัณ และพลเอกเผ่า ศรียานนท์ ในสำนักราชครูจึงได้ชักชวนให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลเอกสฤษดิ์ ธนรัตน์ จับหลวงกาจสงครามส่งตัวออกนอกประเทศ

การปราบปรามกองทัพเรือนั้นปิดฉากลงในช่วง 29 มิถุนายน ถึง 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2494 เมื่อเกิด กบฏแมนฮัตตันขึ้น คณะรัฐประหารจึงมีอำนาจเด็ดขาดในระยะต่อมา

ผมเดินทางมาฝึกหัดงานที่ภูเก็ตในต้นเดือนกรกฎาคม ในระหว่างที่เหตุการณ์ยังไม่สงบดี และรีบไปรายงานความเคลื่อนไหวทางการเมืองให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตทราบเพราะเคยทำงานร่วมกันมาในระหว่างสงคราม ภายในปีเดียวกันนั้นเองก็มีเครื่องบินของทางราชการขนยาเสพติดไปส่งขึ้นเรืออเมริกันที่ข้างสนามบินไม้ขาว นายเหมืองชาวภูเก็ตคนหนึ่งได้ออกไปช่วยเหลือ จนได้แหวน “เกียรติยศ” เป็นเครื่องตอบแทน ผู้ว่าเองก็บอกว่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยไม่ได้

อย่างไรก็ดี หลังจากรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 มานั้น ประเทศไทยได้ใช้รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2492 เป็นหลัก ซึ่งยังเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาวิจารณ์ความไม่ชอบธรรมของคณะรัฐมนตรีได้อยู่ ในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 คณะรัฐประหารจึงได้ถือโอกาสในระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกำลังทรงเสด็จกลับประเทศไทย ทำการรัฐประหารตัวเองทางวิทยุเพื่อล้มอำนาจรัฐสภาและพระราชอำนาจ กลับมาใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2475 โดยมีสมาชิกสภาประเภท 2 ขึ้นอีก บรรดาข้าราชการประจำที่ขวนขวายจะก้าวหน้าในตำแหน่งหรือหาทรัพย์สินจึงต้องเข้าไปอยู่ในอาณัติหรือสังกัดของผู้นำคณะรัฐประหารคนหนึ่งคนใดเพราะทหารและตำรวจได้เข้าไปแทรกแซงในหน่วยราชการ การธนาคาร และบริษัทการค้าต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

ในสภาวะทางการเมืองเช่นนี้ ผมรู้สึกโล่งใจที่ไม่ต้องรับราชการอยู่ในกรุงเพทฯ และไม่ต้องเข้าไปอยู่ใต้อำนาจของผู้นำคณะรัฐประหารคนหนึ่งคนใด เพื่อน ๆ ของผมที่มีการศึกษาดี ก็ยังทนทานอิทธิพลของผู้ใหญ่ที่ชอบทำมาหากินโดยมิชอบในยุคนั้นไม่ได้ การย้ายมาอยู่ภูเก็ตจึงเป็นการหลีกภัยมาหาความสงบ อย่างน้อยก็จนกว่าความผันผวนทางการเมืองและความเสื่อมโทรมทางจริยธรรมจะบรรเทาลง

เดิมเมื่อผมมาฝึกหัดงานที่บริษัททุ่งคาฮาเบอร์ ทิน เดรดยิ่ง ลิมิเต็ด ที่ภูเก็ตนั้นสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 10 ซอยสะพานหินมีพนักงานฝ่ายบริหารเพียง 4 คน คือมีวิศวกรเพียงคนเดียวที่ทำงานให้บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ ทิน เดรดยิ่ง ลิมิเต็ด สาขาภูเก็ตโดยตรง เพื่อควบคุมการบำรุงรักษาเรือขุดและโรงซ่อม ส่วนอีก 3 คนนั้นเป็นพนักงานบริหารของสำนักงานเขต ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมกิจการของบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ ทิน เดรดยิ่ง ลิมิเต็ด ทั้งที่ภูเก็ตและร่อนพิบูลย์ กิจการของบริษัทชะเทินคินตา คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ซึ่งมีประทานบัตรและที่ดินในจังหวัดภูเก็ตประมาณ 4,000 ไร่ ตลอดจนกิจการของบริษัทกำมุนติง ทิน เดรดยิ่ง ลิมิเต็ด ที่จังหวัดพังงา ส่วนกิจการของบริษัทไทยแลนด์ ทินไมนส์ และยะลาไมนส์ ในจังหวัดยะลานั้นขึ้นตรงต่อสำนักงานในประเทศมาลายา พนักงานบริหารของสำนักงานเขตเป็นผู้อำนวยการเสียคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งเป็นสมุบัญชีเขต ส่วนคนที่ 3 เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตทางด้านทั่ว ๆ ไป ตลอดจนการสำรวจเพื่อแสวงหาแหล่งแร่เพิ่มเติม ซึ่งต้องอาศัยนักธรณีวิทยาจากประเทศมาลายามาช่วยบริหารเป็นครั้งคราว เพราะงานสำรวจมิใช่งานประจำผมมาฝึกหัดงานนั้นตำแหน่งผู้ช่วยว่างอยู่ เมื่อผมจึงต้องรับหน้าที่เป็นผู้ช่วย ตลอดจนงานก่อสร้างถนน สะพานและเรือขุดที่จังหวัดพังงาตามข้อตกลงกับทางราชการ การทำหน้าที่รักษาการแทนนั้นปกติใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน แต่การฝึกหัดงานให้ครบทุกด้านนั้นจะใช้เวลา 3 ปี

เมื่อนายวอเรน เจ. พาร์สัน ผู้อำนวยการเขตจะเดินทางกลับจากการพักผ่อนในยุโรป วิศวกรช่างกลคือ นายวอลเตอร์ ดรินเนน ซึ่งมีอายุใกล้เคียงกันก็ได้ลาออก ทางสำนังานในกัวลาลัมเปอร์จึงได้ส่งนายเรจินัลด์ เยทส์ เป็นหนุ่มชาวออสเตรเลียซึ่งเคยมีอาชีพประจำเรือล่าปลาวาฬมาก่อน นายเรจินัลด์ เยทส์ เป็นคนพูดจาโผงผางไม่นุ่มนวลเหมือนวิศวกรคนเก่าซึ่งเป็นชาวสก็อตแลนด์ ที่ได้ผ่านงานมากว่า 20 ปีแล้ว ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2496 นายวอเรน เจ. พาร์สัน ผู้อำนวยการเขตได้ป่วยจนเป็นอัมพาตไม่สามารถใช้แขนขาได้ แต่โชคดีที่นายวอเรน เจ. พาร์สัน ทำหน้าที่เป็นรองกงสุลอังกฤษประจำจังหวัดภูเก็ต ทางสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษในกรุงเทพฯ จึงได้ส่งเครื่องบินพิเศษมารับนายวอเรน เจ. พาร์สัน ไปรักษาตัวที่ปีนัง และต่อมานายวอเรน เจ. พาร์สัน ก็เดินทางไปรักษาตัวต่อที่ประเทศออสเตรเลีย ก่อนออกเดินทางไปรักษาตัวนั้น นายวอเรน เจ. พาร์สัน ได้ขอให้ผมช่วยดูแลกิจการของบริษัทแทนทั้ง ๆ ที่ในขณะนั้นผมยังคงเป็นข้าราชการสังกัดกรมโลหกิจซึ่งได้มาฝึกหัดงานอยู่กับบริษัทยังไม่ครบหลักสูตร

งานควบคุมการก่อสร้างดัดแปลงเรือขุดที่จังหวัดพังงานั้น ก็เป็นงานที่ผมทำโดยตรงอยู่แล้ว แต่งานดัดแปลงเรือขุดที่ร่อนพิบูลย์ นครศรีธรรมราชนั้นก็ทำให้ผมต้องเสียเวลาเพิ่มเติม เพราะการเดินทางจากภูเก็ตไปร่อนพิบูลย์ในปี พ.ศ. 2496 นั้นไม่สู้จะสะดวกนัก โดยปกติแล้วนายวอเรน เจ. พาร์สัน จะเดินทางไปตรวจงานที่ร่อนพิบูลย์โดยใช้เรือยนต์ รถยนต์ และรถไฟ กล่าวคือเมื่อเลิกงานตอนเย็น 16.30 นาฬิกาแล้ว นายพาร์สัน ก็จะขึ้นเรือยนต์ “วิจิแลนด์” ความยาว 11 เมตรใช้เครื่องยนต์ดีเซลเครื่องเดียววิ่งไปจังหวัดกระบี่ เมื่อถึงจังหวัดกระบี่หลังเที่ยงคืน นายพาร์สันก็จะเช่ารถจิ๊ปหรือรถสองแถวเดินทางตามถนนลูกรังไปยังอำเภอห้วยยอดจังหวัดตรัง เพื่อจับรถไฟเที่ยวเช้าไปลงที่สถานีร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งนี้เพื่อจะได้ทำงานโดยไม่เสียเวลาโดยเอาเวลานอนกลางคืนเป็นเวลาเดินทางด้วยเรือยนต์ รถยนต์ รถไฟ

วิธีเดินทางอีกวิธีหนึ่งซึ่งนายรอบบ์สมุห์บัญชีชอบใช้ ก็คือเดินทางจากภูเก็ตไปยังจังหวัดสงขลาด้วยเครื่องบิน บ.ด.ท. แล้วเช่ารถยนต์ไปอำเภอหาดใหญ่ ตอนค่ำจะมีรถด่วนออกจากหาดใหญ่และไปถึงสถานีร่อนพิบูลย์ในตอนเช้ามืด วิธีนี้สำบุกสำบันน้อยกว่า แต่เสียเวลาทำงานไปหนึ่งวันและเสียเวลานอนไปหนึ่งคืนด้วย การรีบร้อนเดินทางไปทำงานตามแบบของชาวต่างประเทศเช่นนั้น ทำให้สามารถใช้พนักงานได้น้อยคน

ในช่วงที่นายพาร์สันป่วยเป็นอัมพาตไปนั้น ผมเองก็ไม่ค่อยสบายและแพทย์ที่โรงพยาบาลมิชชั่นภูเก็ต ลงความเห็นว่าผมเป็นแผลที่ปอดไม่ควรทำงานหนัก แต่งานขอผมกลับหนักยิ่งขึ้น

ในระหว่างที่เรามีพนักงานบริหารเหลืออยู่ที่ภูเก็ตเพียง 3 คนนั้น คืนวันหนึ่งหลังจากที่นายรอบบ์และผมพร้อมภรรยาของเราได้กลับมาจากงานเลี้ยงพิธีแต่งงานของพนักงาน เมื่อเข้านอนไปได้ไม่กี่ชั่วโมง ผมก็ตื่นขึ้นเพราะไฟฟ้าดับ ไฟฟ้าที่เราใช้ในเวลากลางคืนนั้นเป็นไฟฟ้าที่มาจากโรงไฟฟ้าเล็ก ๆ ของบริษัทซึ่งอยู่หลังบ้านพักของวิศวกรช่างกลโดยอยู่ถัดไปจากบ้านพักของผม หลังจากไฟฟ้าดับไปสักครู่หนึ่ง ก็ได้ยินเสียงติดเครื่องและไฟฟ้าก็กลับเดินเป็นปกติ หลังจากนั้นไม่นานก็ปรากฏว่าไฟฟ้าดับลงอีกและอีกประมาณ 5 นาทีต่อมา ผมก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น ผมจึงควานหาไฟฉายแล้วรีบลงจากบ้านพักไปดูที่บริเวณโรงไฟฟ้า ก็พบว่านายเรจินัลด์ เยทส์ วิศวกรช่างกลของบริษัทได้ถูกยิงที่หน้าอก นายรอบบ์สมุห์บัญชีก็ตามมาทีหลังพร้อมทั้งถือไม้กอล์ฟมาด้วย ผมถามนายรอบบ์ว่าจะไปเล่นกอล์ฟที่ไหนนายรอบบ์ก็ตอบว่าเอาติดมือมาไว้ถ้าเผื่อจำเป็นก็จะใช้เป็นอาวุธตีผู้ร้าย จากนั้นเราก็เรียกคนขับรถเพื่อนำตัวนายเรจินัลด์ เยทส์ ส่งโรงพยาบาล และติดต่อคุณสง่า ยิ้มพัฒน์ พนักงานของบริษัทผู้ทำหน้าที่ติดต่อกับทางราชการให้ไปแจ้งความกับตำรวจ

นายเรจินัลด์ เยทส์ ถูกยิงที่หน้าอกก็จริงแต่บาดเจ็บไม่สาหัส เพราะกระสุนถูกข้างมิได้ทะลุเข้าไปถูกอวัยวะภายใน เนื่องจากนายเรจินัลด์ เยทส์เป็นชาวออสเตรเลียทางกระทรวงมหาดไทยจึงได้ส่งให้ทางตำรวจรีบสอบสวนและให้จับผู้ต้องสงสัยว่าเป็นมือปืนให้ได้โดยด่วน ภายในเวลาไม่ถึง 10 วันทางตำรวจก็จับผู้ต้องหาได้ เป็นพนักงานเชื่อมโลหะในโรงซ่อมของบริษัท ซึ่งได้สารภาพว่าเป็นผู้ยิงนายเรจินัลด์ เยทส์ เพราะถูกตำหนิติเตียนในการทำงาน เมื่อตำรวจนำตัวผู้ต้องหามายังที่เกิดเหตุ ผมรู้สึกผิดสังเกตที่ผู้ต้องหาไม่รู้ทิศทางที่นายเยทส์ต้องเดินจากบ้านพักลงไปแก้ไขเครื่องกำเนิดไฟฟ้า นายเรจินัลด์ เยทส์เองก็ยืนยันว่าเขาไม่มีความขัดแย้งกับพนักงานที่ถูกจับกุม และขอเดินทางออกจากประเทศไทยเพื่อย้ายไปทำงานในประเทศมาลายา และถ้าไม่ให้ย้ายก็จะลาออกกลับประเทศออสเตรเลีย ทางบริษัทจึงยินยอมให้นายเรจินัลด์ เยทส์ย้ายไปอยู่ในมาลายาได้ ก่อนออกเดินทางนายเยทส์ได้เขียนหนังสือถึงผู้พิพากษาหัวหน้าศาลยืนยันว่า เขาไม่เคยทำให้ผู้ต้องหาโกรธเคืองและไม่เชื่อว่าผู้ต้องหาเป็นผู้ทำร้ายเขา

ผมมาฝึกหัดงานและทางบริษัทก็ได้ให้ผมควบคุมงานก่อสร้างและงานบริหารบางประเภทที่ผู้ช่วยผู้อำนวยการเคยทำมาก่อน แต่ด้วยเหตุจำเป็น ผู้อำนวยการป่วยผมจึงต้องฝึกฝนทำงานแทนผู้อำนวยการด้วย เมื่อวิศวกรช่างกลเกิดย้ายไปโดยปัจจุบันทันด่วนผมจึงได้ฝึกหัดงาน 3 ตำแหน่งไปพร้อม ๆ กัน และภาวนาให้นายรอบบ์สมุห์บัญชีมีสุขภาพแข็งแรง เพราะผมไม่อาจรับงานทางด้านบัญชีได้อีก นายรอบบ์เองก็มักจะปรึกษาผมอยู่เกือบทุกวันเกี่ยวกับปัญหาการตีความตามประมวลรัษฎากรของไทย ซึ่งแตกต่างกับของประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ งานทางด้านวิศวกรช่างกลนั้นไม่ต้องใช้ความรู้อะไรมาก เพราะทางบริษัทมีลุงหีด ศิริพรควบคุมเรือขุดอยู่แล้ว นอกจากว่าในกรณีที่มีอะไรชำรุด จะต้องเตรียมคนจัดการซ่อม เพราะบริษัทมีเป้าหมายให้เดินเรือขุดให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 600 ชั่วโมง ฉะนั้นจึงมีเวลาซ่อมจำกัด งานที่เสียเวลาและกำหนดเวลาซ่อมได้ยากก็คือหม้อน้ำรั่ว ซึ่งมักจะเกิดในเวลากลางคืนและถูกลุกหีดเรียกขอความช่วยเหลือหลังเที่ยงคืน และต้องรอจนความร้อนลดลงเสียก่อน จึงจะเปลี่ยนท่อหม้อน้ำ (BOILER TUBE) ของเครื่องจักรไอน้ำได้

ในระหว่างที่ผมรับงานสามตำแหน่งอยู่นั้น หัวหน้ากองของผมที่กรมโลหกิจก็ได้มีหนังสือถึงผม ขอให้กลับไปรับหน้าที่ตามเดิมในกรุงเทพฯ โดยให้เหตุผลว่าได้ขอตำแหน่งชั้นเอกไว้ให้ เมื่อผมเรียนให้ท่านทราบว่าผมยังไม่อาจละทิ้งหน้าที่ไปได้ เพราะทางบริษัทไม่มีพนักงานบริหารเพียงพอที่จะดำเนินงานได้ ท่านหัวหน้ากองก็ขอให้ผมรับหน้าที่ควบคุมเหมืองทดลองที่ทางราชการจะเปิดขึ้นที่ภูเขาหลังหมู่บ้านสะปำที่จังหวัดภูเก็ต ในปี พ.ศ.2496 นั้น ทางรัฐบาลอเมริกันได้ให้เงินช่วยเหลือทางราชการ ทางกรมโลหกิจจึงเริ่มวางโครงการที่จะเปิดเหมืองทดลองด้วยการเจาะอุโมงค์ภูเขาที่สะปำ เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาตัวอย่าง และจะให้ผมมีผู้ช่วยด้วยอีกคนหนึ่ง ผมก็ได้รายงานให้ทราบว่าทั้ง ๆ ที่ผมมีงานอยู่เต็มมือแล้ว ผมก็ยินดีที่จะไปตรวจเหมืองทดลองนี้ได้วันละครั้ง แต่ผมไม่สามารถไปเฝ้าดูเหมืองทดลองได้ทั้งวัน แต่ในความคิดเห็นของผมนั้น ผมเห็นว่าโครงการเหมืองทดลองนี้เป็นการใช้เงินภาษีของชาวไทยหรืออเมริกันอย่างไร้ประโยชน์ เพราะชาวภูเก็ตได้ประกอบอาชีพทำเหมืองแร่มาหลายร้อยปีแล้วด้วยวิธีการต่าง ๆ จนมีความชำนาญอย่างยิ่งไม่จำเป็นที่ทางราชการจะต้องมาทำเหมืองตัวอย่างให้ดู โดยเฉพาะทางด้านเหมืองอุโมงค์นั้นที่ยะลาก็มีเหมืองของบริษัทไทยแลนด์ ทินไมนส์ ซึ่งดำเนินการมาก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง และถ้าได้รับความช่วยเหลือปรับปรุงอัตราค่าภาคหลวงให้อยู่ในอัตราประมาณร้อยละสิบเหมือนเมื่อก่อนสงครามแทนที่จะเป็นร้อยละ 26 ก็จะดำเนินการได้เป็นเหมืองอุโมงค์ระดับนานาชาติ ที่จะผลิตโลหะดีบุกได้โดยไม่ต้องส่งแร่ไปถลุงยังต่างประเทศ นอกจากนั้นทางราชการก็ยังมีเหมืองทองที่จังหวัดนราธิวาสที่ยึดมาจากบริษัทฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. 2484 หลังกรณีพิพาทกับอินโดจีน ซึ่งน่าจะมีการบูรณะมากกว่า ยิ่งกว่านั้นที่ภูเก็ตเองก็มีเบอร์ พรประสิทธิ์ วิศวกรเหมืองแร่ซึ่งทำหน้าที่เป็นนายช่างตรวจเหมืองที่สามารถควบคุมการเจาะอุโมงค์ทดลองเล็ก ๆ ได้อยู่แล้ว ในใจผมจึงไม่เห็นด้วยกับโครงการเหมืองทดลอง ซึ่งจะเป็นเหมืองตัวอย่างที่จะสอนให้ประชาชนได้รับเอาเป็นแบบฉบับ ผมเห็นว่าทางราชการควรจะมีหน้าที่ควบคุมให้เหมืองต่าง ๆ ดำเนินงานตามแผนผังโครงการมิปล่อยให้มูลดินทรายหรือน้ำขุ่นลงในทางน้ำสาธารณะมากกว่าที่จะไปทำเหมืองทดลองเล่น ๆ ถ้าคิดจะทำเหมืองก็ควรตั้งบริษัท หรือใช้องค์การเหมืองแร่ที่มีอยู่แล้วเปิดเหมืองจริง ๆ หรือฟื้นฟูบูรณะเหมืองแร่ต่างชาติที่ได้ยึดมาแล้วมากกว่า เมื่อทางราชการเร่งเร้าให้ผมกลับกรุงเทพฯ โดยที่ผมยืนยันว่าผมมีแผลที่ปอดและไม่ควรทำงานหนัก และนายแพทย์ผู้รับรองนั้นก็เป็นนายแพทย์คณะเซเวนธ์เดย์แอดเวนติสท์ ที่เคร่งครัดในศาสนา

ในระหว่างนั้นยงลาภและผมก็กำลังหวังว่าเราจะได้บุตรสักคน เพราะในการคลอดบุตรคนแรกนั้นยงลาภก็ต้องพักฟื้นอยู่นาน หลังจากที่ต้องเสียบุตรคนแรกไป และเราก็ได้ขอให้อาจารย์อุดมศรี บูรณศิริ สถาปนิกผู้ออกแบบสร้างบ้านของเราที่ซอยไปดีมาดี ถนนสุขุมวิทที่กรุงเทพฯ ให้ดัดแปลงบ้านชั้นล่างเป็นโรงรถ ครัว ห้องอาหาร และห้องนั่งเล่นเพิ่มเติมจากเดิมที่มีเพียงห้องนอน 2 ห้องและห้องน้ำเท่านั้น และอาจารย์อุดมศรีก็แจ้งว่าได้ดัดแปลงเสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2496 บ้านหลังนี้เราสร้างไว้ก็ยังไม่เคยได้เข้าไปพักหรืออยู่แต่อย่างใด และผมคิดว่าถ้าทางราชการมีงานหรือโครงการที่เหมาะสมเมื่อใด เราก็จะย้ายกลับกรุงเทพฯ เมื่อเลิกฝึกหัดงานที่ภูเก็ตครบกำหนด 3 ปี

ทางพ่อของผมก็ป่วยเนื่องด้วยแคนเซอร์ในลำไส้ใหญ่ต้องผ่าตัด นายแพทย์สมาน มันตาภรณ์ ก็ลงความเห็นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2496 ว่าจะอยู่ได้อีกไม่นาน

หลังจากที่ผมได้ลาป่วยครบกำหนดแล้ว ท่านหัวหน้ากองประสงค์จะให้ผมลาป่วยต่อไปได้โดยไม่รับเงินเดือน แต่อยู่มาวันหนึ่งก็ได้รับหนังสือแจ้งว่าทางราชการได้ให้ผมออกจากราชการด้วยเหตุผลทุพพลภาพ

เมื่อนายวอเรน เจ. พาร์สัน รักษาตัวจนสุขภาพเป็นปกติกลับมาทำงานได้จึงรับรองว่าทางบริษัทจะว่าจ้างผมให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยของผู้อำนวยการเขต โดยให้ผมมีสิทธิและผลประโยชน์ตอบแทนเสมอกับพนักงานบริหารชาวยุโรปหรือออสเตรเลีย ที่บริษัทส่งมาจากต่างประเทศ โดยมีเงื่อนไขว่าผมต้องผ่านการตรวจสุขภาพอย่างละเอียดจากแพทย์ของบริษัทที่สำนักงานใหญ่ที่กรุงลอนดอนในประเทศอังกฤษ เมื่อทำงานครบ 3 ปีแล้วโดยนับจากวันที่ผมมาเริ่มฝึกหัดงาน

เมื่อนายวอเรน เจ. พาร์สัน รายงานไปให้ทางสำนักงานในกรุงกัวลาลัมเปอร์ทราบแล้ว ประมาณเดือนเศษ มร.เดวิด มิทเชล ผู้แทนจากสำนักงานใหญ่ก็ได้นำสัญญาว่าจ้างมาให้ผมเซ็น เมื่อผมได้อ่านสัญญาแล้ว ก็ปรากฏว่าสัญญาที่จะให้ผมเซ็นนั้นเหมือนกับสัญญามาตรฐานที่ใช้กับพนักงานบริหารจากต่างประเทศทุกประการ นอกจากข้อเดียวเท่านั้นที่ไม่มีปรากฏในสัญญา คือสัญญาข้อที่กำหนดว่าเมื่อทำงานครบ 3 ปีแล้วจะให้หยุดพักผ่อน 6 เดือน โดยทางบริษัทจะออกค่าเดินทางไปยังประเทศอังกฤษ และเมื่อได้รับการตรวจสุขภาพเป็นที่พอใจแล้ว จึงอาจจะต่อสัญญาอีก 3 ปี ผมจึงเรียนผู้แทนบริษัทว่าสัญญานี้ยังบกพร่องเพราะขาดการหยุดพักผ่อนดังที่ปรากฏในสัญญามาตรฐานของพนักงานบริหารอื่น ๆ ผู้แทนบริษัทจึงอธิบายว่า ที่ได้ตัดข้อความเกี่ยวกับการพักผ่อน 6 เดือนออก เพราะเกรงว่าจะเป็นตัวอย่างให้พนักงานชาวอินเดียซึ่งมีอยู่จำนวนมากในประเทศมาลายา เรียกร้องผลประโยชน์เช่นเดียวกันโดยจะขอกลับประเทศอินเดียเมื่อครบสัญญาและบอกว่าสำหรับตัวผมนั้นถือเป็นกรณีพิเศษ เป็นการตกลงกันอย่างสุภาพบุรุษ ที่บริษัทจะจ่ายค่าเดินทางไปประเทศอังกฤษให้เมื่อทำงานครบ 3 ปี นับตั้งแต่ผมเริ่มมาฝึกหัดงาน ผมจึงขอบคุณและเรียนให้ผู้แทนบริษัททราบว่าถ้าจะตกลงกันแบบสุภาพบุรุษแล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องมีสัญญาแต่ประการใด เพราะการมีสัญญาเขียนไว้เพียงบางข้อนั้นตามความรู้สึกของผมแล้ว ก็สู้ไม่มีสัญญาเลยเสียจะดีกว่า ผู้แทนบริษัทก็ตอบว่าถ้าผมคิดเช่นนั้นก็ไม่เป็นไร และนำสัญญานั้นกลับไป

ผมจึงเป็นพนักงานบริหารของบริษัทในเครือบริษัทแองโกล-โอเรียนเตล คนเดียวที่ไม่มีสัญญาว่าจ้าง ตลอดเวลาที่ได้ทำงานมาเกือบ 30 ปี โดยถือขอ้ตกลงแบบสุภาพบุรุษเป็นหลัก และคณะกรรมการของบริษัทจัดการตลอดจนท่านประธานกรรมการของบริษัทลอนดอนทิน คอร์ปอเรชั่นในประเทศอังกฤษ ก็ได้ปฏิบัติตนสมเป็นสุภาพบุรุษอย่างสมบูรณ์ตลอดจนกระทั่งบริษัทต้องเลิกกิจการไป